วันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๔๘๕

ที่ ๑๑/๘๕

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

บรรเลง

๑. เห็นดอกไม้ปักขวดบนที่บูชาไหว้พระ แต่ไม่รู้จักว่าดอกอะไรจึงถามแม่โตแกบอกว่าดอก “หว้าชมพู่” แล้วอธิบายว่าเป็นภาษาพระวิมาดา ตรัสเรียกเช่นนั้น ท่านทรงพระเมตตาประทานต้นมา แกว่าทำไมเรียกซ้อนกันอย่างนั้นก็ไม่ทราบ

มานึกดูก็เห็นชอบกล คำ “ชามฺพุการุกฺขํ” เราก็แปลกันว่าต้นหว้าหรือ “ชมพูทวีป” เราก็ว่ามีไม้หว้าเป็นที่หมาย “ชามฺพุ” ควรจะว่าต้นชมพู่แต่ก็ไม่ว่า เป็นเหตุให้สงสัยว่าต้นหว้าคือต้นชมพู่นั่นเองกระมัง หากผู้รู้จะเรียกชื่อดอกไม้นั้นเป็นดังนั้น พระวิมาดาเธอจึงตรัสเรียกตามก็เป็นได้ หมายความว่าไม้หว้าก็คือชมพู่ แต่หลักก็น้อยเต็มทีที่จะคิดเช่นนั้น

อีกทางหนึ่งนึกถึงวัดบางหว้าใหญ่บางหว้าน้อย วัดบางหว้าใหญ่นั้นก็ลาไปเสียแล้ว คงเหลือแต่วัดบางหว้าน้อย แต่ก็ไม่ได้เรียกกันว่าวัดบางหว้าน้อย เรียกเป็นวัดบางว้ากันเสียด้วยซ้ำ จะเป็นด้วยอำนาจไม้โทที่ออกจากบางหว้า หรือเป็นบางหว้าจริง ๆ ออกจากละว้าหรืออะไรเทือกนั้นก็ไม่ทราบ ฟังคำที่เรียกกันว่าวัดบางว้าใหญ่บางว้าน้อยก็มี จะถือเอาว่าต้นหว้าเป็นชมพู่ก็ไม่ถนัด ตกลงไม่ได้เรื่อง

เรื่องเช่นนี้มีนิทานประกอบ ครั้งหนึ่งเขาเกณฑ์ให้พระราชาคณะผู้ใหญ่ แปลเวสสันตรชาดก สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ท่านปรารภแก่เกล้ากระหม่อม ว่าท่านคิดจะรับแปลกัณฑ์มหาพน เกล้ากระหม่อมห้ามว่าอย่าเอาเข้าไป จะต้องแปลชื่อต้นไม้งอมทีเดียว ท่านเห็นชอบด้วยเพราะท่านเคยพบที่เราแปลผิดมาแล้ว เป็นต้นว่า “ขทิร” เราแปลกันว่าต้นตะเคียน ท่านพบว่า “ขทิร” นั้นมีหนาม ต้นตะเคียนไม่มีหนาม จึงทราบว่าแปลผิด แล้วยังอื่นอีก นี่เป็นตัวอย่าง เหตุฉะนั้นท่านจึงเห็นชอบด้วย เลี่ยงไปรับแปลกัณฑ์กุมารบรรพ

อีกเรื่องหนึ่งได้รับหนังสือหญิงเหลือแต่นานแล้ว เธอตื่นที่แขกรู้จักดอกบุนนาก เกล้ากระหม่อมบอกเธอว่า “สารภี พิกุล บุนนาก” เป็นต้นนั้น เป็นชื่อมาทางอินเดียทั้งนั้น แขกจึงรู้จัก

๒. เมื่อวันที่ ๙ เดือนนี้ ได้ไปเผาศพนายนกยูง สุรินทราชา ที่วัดเทพศิรินทร์ แต่ไป ๑๗.๓๐ น. ภายหลังเวลาซึ่งเขาบอกกำหนดมาชั่วโมงหนึ่ง แต่ไปถึงเห็นอะไรทุกอย่างตั้งที่อยู่พร้อม มีเจ้าภาพและเจ้าพนักงานประจำอยู่ ถามว่าจะเปิดไฟเมื่อไร เขาบอกว่ายามหนึ่ง ทำบุญ ๕๐ วันไม่ได้ไป เป็นแต่ส่งพวงหรีดไปให้

งานนี้แปลกมาที่เมื่อวันที่ ๑๔ มีลูกชายนายนกยูง สุรินทราชา เอาถาดรองถ้วยกับทั้งถ้วยชามาให้ ถาดนั้นเป็นของทำจำเพาะให้ มีจารึกด้วย ไม่ได้คิดว่าจะได้รับจึงกราบทูลว่าแปลก

เรียน

๓. เรื่องต้นไม้มาอยู่ที่นี่อีก บานแผละพระบัญชรพระที่นั่งดุสิต ซึ่งเขียนเป็นต้นไชยพฤกษ์กับพุทธรักษานั้น ทรงทราบหรือไม่ว่าเขียนเมื่อไร กะหน้าว่าไม่เกินรัชกาลที่ ๔ ตามที่กราบทูลเพื่อเรียนนี้ด้วยสงสัย แต่ก่อนมาไม่เห็นมีชื่อต้นไม้หรือดอกไม้หมายเป็นความเลย

๔. กับอยากเรียนให้รู้ว่า ตำแหน่งพระเสนาพิมุข เจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น อันมีในกฎหมายนั้น อย่างไรกันแน่ ในต้นหมวดศักดินานั้นมีบานพแนกเป็นแผ่นดิน สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แต่เข้าใจว่ากรมอาสาญี่ปุ่นมีขึ้นทีหลังแผ่นดินนั้นมาก หรือจะมีมาก่อนแต่เป็นญี่ปุ่นเก๊ ๆ กับอย่างอื่นก็มีอาการเหมือนกัน เช่นชื่อเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดีก็เป็นแต่เจ้าพระยาธรรมาธิบดี เห็นได้ว่าคำ “อธิกรณ” นั้นเติมเข้าทีหลัง อยากฟังพระกระแสพระดำริในข้อนี้ว่ามีอย่างไร ได้ตัดหนังสือพิมพ์บางกอกไตมส์ วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ส่งมาถวายด้วยแล้ว ที่จริงไม่ควรตัดถวายเพราะได้ทรงรับอยู่แล้ว แต่เพราะทางคมนาคมไม่สะดวกเกรงจะไม่ได้ทรงรับจึงตัดส่งมาถวาย ในนั้นมีกล่าวเรื่องญี่ปุ่นว่าได้เห็นรูปเขียนที่มูเซียมบางกอก มูเซียมก็ได้ย้ายไปหลายหน แต่ไม่เห็นมีเขียนสักแห่งเดียว แม้เรื่องใช้ธง “อาทิตย์อุทัย” เขาก็หารกันป่นไปในเมืองญี่ปุ่นนั้นเองแล้ว

มือบอนที่เห็นรูป “มหาทูตพิเสสยี่ปุ่น” (นี่เขียนตามที่เขาเขียนจ่าหน้าตัวโตๆ ไว้ที่บนหัวหนังสือพิมพ์) มีไปบูชาพระมงคลบพิตร เห็นขันจึงได้ตัดส่งมาถวายด้วย ม้าหมู่เครื่องบูชานั้นเห็นกระทรวงศึกษาจะจัดไป เพราะเห็นมีดอกไม้ทีจะเย็บเป็น “เสมาธรรมจักร” อยู่ข้างหลังที่คุกก็เห็นเป็นเสื่อปูแล้ว มีหมอนรองถาดคลุมผ้า เห็นเป็นนึกให้หมอบกราบ

ทำไมจะบอกข้าหลวงผู้รักษากรุงก่าให้เข้าใจเสียได้ ว่าการเก็บอ้ายพังๆ ไว้ได้นั้นก็เป็นเกียรติยศแล้ว แต่ไม่จำเป็นจะต้องอวดแขกเมืองทุกคนไป อวดแต่คนที่เขาเอาใจใส่เท่านั้น เพราะคนที่ไม่ได้เอาใจใส่ ถ้าถูกเข้าเพียงห้านาทีก็รู้สึกใจเหมือนว่าชั่วโมงหนึ่ง เหตุดังนั้นจึงควรเลือก มีคำพวกนักเรียนนอกเขาพูดเป็นความว่าเก็บกองอิฐไว้ทำไม รื้อทำสนามเตนนิสเสียดีกว่า ข้อนั้นไม่ประหลาดอะไร เพราะธรรมดาใจคนย่อมไม่เหมือนกัน มีคำบุราณกล่าวไว้ว่า “ลางเนื้อชอบลางยา” นั่นเป็นถูกที่สุด แต่ข้าหลวงได้ยินคำพวกนักเรียนนอกนั้นหรือเปล่า อ่านหนังสือพิมพ์ (ข้างไทย) ก็พบเขาพูดเรื่องปราสาทหินพิมาย เก็บเอาความเห็นของบุคคลมาลง ความเห็นหนึ่งว่าควรจะรื้อลงเสียให้ราบเป็นหน้ากลอง เพราะเป็นแบบเขมรเอาไว้เสียเกียรติยศ อีกความเห็นหนึ่งว่าแผ่นดินผืนนั้นเป็นของเขมรเขาก็สร้างอะไรของเขาไว้เราเอาแผ่นดินผืนนั้นมาได้ แล้วรักษาการก่อสร้างบนแผ่นดินผืนนั้นไว้ก็เป็นเกียรติยศดี ส่วนเกล้ากระหม่อมก็มีความเห็นเป็นไปเสียในทางช่าง ไม่เกี่ยวแก่บ้านเมือง ว่าเลี้ยงไว้ดูดีกว่ารื้อ นี่เป็นตัวอย่างที่ความเห็นมีต่างๆ แต่อย่างไรควรก็เอาแน่ไม่ได้

รายการ

๕. เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ได้รับใบแดง (เปรียบ) ขององค์อาทิตย์ เชิญรดน้ำแต่งงานหม่อมราชวงศ์ดิลกลาภ ทวีวงศ์ กับนางสาวชม้าย ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ที่พระราชวังดุสิต วันที่ ๑๙ กรกฎาคม เวลา ๑๕.๒๖ น. งานนี้ไม่ได้ไป เป็นแต่มีหนังสือไปให้พร

๖. เมื่อวันที่ ๒๑ มีดอกไม้ธูปเทียนคู่มา เด็กคนใช้บอกว่าของนายพลเอก อุ่ม พิชเยนทรโยธิน ลาตาย กำหนดว่าจะพระราชทานน้ำอาบศพพรุ่งนี้ เวลาบ่าย ๕ โมง คิดจะไปก่อนเวลากำหนดมา เหตุนั้นก็คงไม่ได้เห็นสิ่งซึ่งประกอบยศบริบูรณ์ แต่ลางทีจะกราบทูลทีหลังแต่ลางอย่างได้บ้างตามที่เคยมา ท่านผู้นี้ย้ายไปอยู่ที่วังเก่าของกรมพระนเรศร และได้ทำบญฉลองอายุ ๗๐ เมื่อต้นปีนี้

๗. ในวันเดียวกันนั้นเอง ได้รับหมายสำนักพระราชวัง ว่าประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เสด็จจะไปเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วเป็นฤดูฝนในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม

๘. รุ่งขึ้นวันที่ ๒๒ ได้รับหมายและหนังสือถึง ๔ ฉบับ คือ

(๑) หมายสำนักพระราชวัง บอกกำหนดวันที่ ๒๒ กรกฎาคม เวลา ๑๗.๐๐ น. พระราชทานอาบน้ำศพ นายพลเอก อุ่ม พิชเยนทร์

(๒) หมายสำนักพระราชวัง สั่งให้ข้าราชการในพระราชสำนักไว้ทุกข์ให้เจ้าพระยาพิชเยนทร์ ๑๕ วัน

(๓) หนังสือมาแต่สำนักราชเลขานุการในพระองค์ บอกว่าวันที่ ๒๑ กรกฎาคม เวลา ๑๐.๓๐ น. นายพลเอก อุ่ม พิชเยนทร ถึงอสัญกรรมด้วยโรคโลหิตดันสูงและหัวใจพิการ กำหนดพระราชทานอาบน้ำศพวันที่ ๒๒ กรกฎาคม เวลา ๑๗.๐๐ น.

(๔) ใบดำ ของบุตรหลานนายพลเอก อุ่ม พิชเยนทร์ บอกวันเวลาถึงอสัญกรรมกับกำหนดวันเวลาพระราชทานอาบน้ำศพ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ