วันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๔๘๕

ที่ ๓/๘๕

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์เวรได้รับ ๓ ฉบับ บัดนี้จะกราบทูลสนองฉบับที่ ๒ ซึ่งลงวันที่ ๑๙ เมษายน นั้นต่อไป

สนองลายพระหัตถ์

๑. ที่ตรัสว่า “ปัญญาทึบ” นั้นทราบแต่ต้นแล้วว่าไม่สู้ตรงตามที่ตรงนั้นก็อย่างที่กรมพระสมมตตรัสว่า “ไม่มีสมาธิ” อันคำสมาธินั้นจะประกอบด้วยปัญญาก็ได้

๒. นายฉากนั้นเกล้ากระหม่อมก็รู้จัก ที่มีเมียเป็นฝรั่งนั้นสมแล้ว พระยาธรรมศาสตร์กินหมากอย่างไทยไม่สมจะมีเมียเป็นฝรั่งเลย

๓. ที่เรียกชื่อว่ากวาง “ฉอมเบิค” นั้นสุดที่เราจะรู้ได้และจะช่วยได้ พูดถึงกวางก็นึกถึงครั้งเขียนพัดรองถวายกรมพระกำแพงเพชร เพื่อการศพเจ้าจอมมารดาวาด จะทำเป็นรูปพระพายด้วยเหยียดเอาคำวาดเป็นลม แต่จะทำเป็นรูปพระพายทรงม้าอย่างไทย ก็จะไปโดนเข้ากับที่ทำไว้ ณ ศาลาหม่อมเฉื่อย จึงคิดทำยักไปเสียเป็นอย่างอินเดีย ซึ่งตามตำราว่าพระพายขี่ม้าถือธง แต่ประมาทไปหาได้ดูกวางไม่ เขียนพุ้ยไปเป็นรูปม้า ด้วยคิดว่ารูปมันจะอย่างม้า แต่ครั้นไปที่บ้านพระยาเทพหัสดิน ที่นั่นเขาเอากวางมาขังคอกไว้ เห็นเข้าก็เสียใจ รูปมันไม่เป็นม้าเลย มันไปข้างพวกหนู การกระทำอะไรนั้นช่างมักจะแสดงความเขลาด้วยอย่างนี้

๔. ซุ้มประตูพระนครนั้น จะกราบทูลลัดแลงให้ทรงทราบต่อไปอีกว่า ซุ้มไม้ซึ่งเขียนไว้ที่ผนังหน้าโบสถ์วัดพระแก้วนั้น เป็นฝีมือพ่อเจ้ากรมแดง (หมื่นศิริธัช) เขียนทั้งซ้ายทั้งขวาทั้งสองห้อง ซุ้มประตูอย่างที่ข้างนบเป็นหอรบนั้น ทำไว้ที่หลังพระบรมมหาราชวังทางวัดพระเชตุพนก็มีเหมือนกับที่ตรัสบอก ที่ประตูไชยเมืองโคราชก็มี ที่นั่นเล่นเอาหูผึ่งด้วยไม่เคยรับ ที่เมืองสงขลาก็มี แต่เห็นที่นั่นหูไม่ผึ่ง เพราะรู้เช่นทางข้างจีนมาแล้ว แต่เล็กกว่าที่เมืองจีนเป็นปนอย่างไทยไป ความตั้งใจก็เห็นจะทำอย่างไทย เว้นแต่จะหาช่างไทยในเวลานั้นได้ยาก ที่จันทบุรีนั้นได้เคยเห็นแต่จำไม่ได้ ยังมีซุ้มประตูอีกอย่างหนึ่งที่เป็นฝรั่งซึ่งมีโถตั้งอยู่บนนั้น เข้าใจว่าเป็นรัชกาลที่ ๒ แล้วยังมีซุ้มประตูที่วังหน้าอีก ไม่เหมือนกับที่วังหลวง แต่จะเป็นครั้งไหนก็ขยับจะคะเนไม่ถูกด้วยไม่ได้ดูสังเกต จะต้องเป็นไม่ก่อนรัชกาลที่ ๓ หรือจะเป็นครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าทรงทำขึ้นด้วยซ้ำ แต่เดี๋ยวนี้ก็รื้อเสียหมดแล้ว ได้เห็นแผ่นฉลักไม้ซึ่งเขารื้อออกมาจากประตูที่วังหน้าเห็นเก่ามาก แต่เข้าใจว่าเป็นของเก่าแต่ครั้งยังเป็นซุ้มไม้ เพราะอยู่ในที่ควรอยู่ซุ้มประตูเมืองซึ่งเป็นยอดอย่างเทศนั้น ทราบแน่ว่าเจ้าพระยามหินทร์ “โอม” ขึ้น

นึกถึงเมื่อครั้งรื้อซุ้มประตู “วิมานเทเวศร” จะแก้เป็นยอดปรางค์ มีคนออกความเห็นว่า ถ้าจะแก้ก็ต้องก่อใหม่ กระทั่งรากให้เป็นสี่เหลี่ยม แต่ที่ว่านั้นเป็นเห็นประตูซึ่งเป็นสองชั้น กับทั้งนึกถึงการตีทรงยอดปรางค์ด้วย เกล้ากระหม่อมบอกว่าไม่จำเป็น แต่เมรุเก่าๆ เขาทำกบาลเป็นสี่เหลี่ยมรีมียอดยังได้แล้วเกล้ากระหม่อมก็ตีเส้นทรงให้เป็นได้กัน

๕. เรื่องพระบรมรูปหล่อที่เมืองนอกนัน ลืมนึกถึงพระบรมรูปทรงม้าไป แต่พระบรมรูปรัชกาลที่ ๕ ในหอพระเทพบิดรนั้น เป็นของที่ควรทำที่เมืองนอก ด้วยโอกาส แต่ตามที่ทรงนับว่าหล่อที่เมืองนอกสามองค์นั้นถูกแล้ว ที่กราบทูลว่าแม้จะใหญ่เท่าไรก็หล่อในนี้นั้น ถึงจะใหญ่เราก็ปิดทอง เอาขี้รักอุดรอยต่อเสียได้ไม่ต้องคิดเชื่อม

๖. ชื่อวัดนั้นเดิมหมายเอาตำบล กับสิ่งพิเศษในที่นั้นตามที่ตรัสจริง ยังนึกถึงปัญหาของพระสารประเสริฐเรื่อง “หนองโสน” อันได้ตรัสตัดเสียนั้นได้ดี ถูกที่สุดที่เป็นเอาความว่าชื่อหนองนั้นคนเลี้ยงควายตั้ง ไม่ใช่นักปราชญ์ตั้ง อันนั้นก็เหมือนกับชื่อวัด ชอบใจเปนอย่างยิ่ง วัดที่มีชื่อหรูหรานั้นเป็นของใหม่

ในการที่ทำหน้าบันเป็นนารายณ์ทรงครุฑนั้น หมายเป็นพระราชลัญจกรของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งพระองค์เป็นผู้สร้างวัดนั้น เป็นไอยราพตก็มี ไม่ใช่ตราของวัด แต่ผู้สร้างวัดลางทีก็ไม่เข้าใจ สำคัญว่าบันหน้าจะต้องเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑก็มี

๗. เรื่องหนังสือปลอมนั้นเป็น “จรี” ไม่ใช่ “โจระ” แน่ เสียใจที่ไม่ได้สืบเอาตัวมาลงโทษ แต่ก็ต้องตามใจผู้ถูกปลอม

๘. เรื่องบทละครครั้งกรุงธนบุรีนั้น ได้กราบทูลต่อไปอีกในหนังสือเวรฉบับหลัง ซึ่งจะเอาเป็นที่สุดไม่ได้ แต่อย่างไรก็ดี เห็นด้วยตามพระดำริที่ว่า ทรงแต่ชั่วตอน แม้ที่จดไว้ในบทก็เช่นนั้น

๙. คำ “มหาราช” เดี๋ยวนี้ใช้มากขึ้น ให้นึกสงสัย จึงได้กราบทูลถามมาที่ตรัสว่ามีแต่ครั้งพระนารายณ์มาแล้วนั้น ทีเขาก็เทียบเอา “ดิเกรต” ในภาษาฝรั่งนั่นเอง แต่ที่เราใช้กันทุกวันเห็นจะมากไปกว่า “ดิเกรต” ของฝรั่งอีก เหมือนหนึ่งได้เห็นตามร้านเจ๊กเป็นอันมาก ตั้งตู้ใส่ถ้วยเงินขาย ก็เข้าใจได้ว่าขายดี เพราะการให้รางวัลกันทุกวันนี้ให้กันด้วยถ้วยเงินเป็นอันมาก ที่มีท้ายพระนามพระเจ้าแผ่นดินว่า “ที่ ๑ ที่ ๒” เป็นต้นนั้น เป็นทางข้างฝรั่ง ที่เอามาใช้กับพระเจ้าแผ่นดินไทยก็ใช้ได้ดอก แต่ไม่จำเป็น เพราะไทยเราใช้ฉายากัน เช่น “พระเจ้าเสือ พระเจ้าท้ายสระ พระเจ้าบรมโกศ” เป็นต้น

ชื่อคนสมัยไหนก็เห็นจะรู้ได้เท่ากับที่ช่างเขาทำอะไรไว้ อ่านหนังสือพิมพ์พบคนชื่อว่า “เมตตา” ทำให้นึกถึงสมเด็จพระวันรัตน์ (เฮง) ท่านติการใช้ชื่อฉายาพระว่าท่านไม่เห็นเป็นชื่อ

๑๐. เรื่องห่มสไบสพักสองบ่า ตามที่ตรัสอ้างถึงนางละครนั้นถูก การห่มสไบสพักสองบ่าก็เป็นสองอย่าง เอาชายไว้ข้างหน้าอย่างหนึ่ง เอาไว้ข้างหลังอย่างหนึ่ง แต่ประหลาดที่รูปเขียนไม่มีมีแต่หนัง เว้นแต่ชายผ้าห่มนั้นสั้นเพียงตะโพก ทีจะเหมาะเขียนชายแต่เพียงนั้น นางเมขลาละครสมัยใหม่ลางทีก็ทำเช่นนั้น เข้าใจว่าเอามาจากนางหนังนั่นเอง

รัดเกล้าก็ประหลาด รูปเขียนก็ไม่มี มีแต่นางละครกับนางหุ่น ได้เห็นหน้าหุ่นใส่ลุ้งไว้ไม่ได้เอาออกเล่น ว่าเป็นหุ่นครูมีหน้าคู่เป็นพระกับนาง ประดับด้วยเครื่องทองคำทั้งสองหน้า หน้านางใส่รัดเกล้า แต่รัดเกล้านั้นเป็นมาลา (คือ “อุณหิศ” อย่างที่ลิงไล่ มีหนุมานเป็นต้น) เห็นได้ว่าข้างบนว่างจึงเติมชั้นและปักเครื่องใหญ่ ๆ จะว่าเป็นของใหม่ไม่ได้ แต่ทำไมรูปเขียนจึงไม่มี

๑๑. คำ “รอง” นั้นสงสัยว่าคำ “สำรอง” เป็นสองคำผสมกัน คือ “สำ” กับ “รอง” คำ สำ ก็เห็นว่าคือคำ “ส่ำ” หรือ “ซ้ำ” นั่นแอง เป็นคำเดียวกัน ถ้าจะเอาตัวอย่างก็เช่น “สำกัน” ก็คือ ซ้อนซ้ำกัน” “รอง” ก็หมายความว่า “รับ” หรือโยกไปอีกทีหนึ่งก็ว่า “เตรียมรับ” คิดว่าไม่ผิด แต่ความหมายย่อมเคลื่อนไปได้ไม่ประหลาดเลย เช่นคำว่า “หลวง” เป็นต้น เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่าของพระราชาไปได้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ