วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๕ น

๒๒/๘๕

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๔๘๕

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

จะกราบทูลสนองลายพระหัตถ์เวรที่ ๑๑/๘๕ ซึ่งยังค้างอยู่นั้นต่อไป

สนองลายพระหัตถ์ที่ ๑๑/๘๕ ต่อ

๑) ขอขอบพระเดชพระคุณที่โปรดอธิบายถึงการเปลี่ยนชื่อเกาะสิงคโปร์ ตามพระอธิบายถึงการเปลี่ยนชื่อเกาะสิงคโปร์นั้นมีเหตุผล แต่แล้วก็พาให้เปลี่ยนอะไรต่ออะไรไปอีก จะเปลี่ยนอะไรก็ตามที แต่ที่เอาเวลาในประเทศญี่ปุ่นมาใช้ที่ปีนังนั้นไม่เห็นด้วย มีแต่จะทำให้ยากไปเท่านั้น แปลว่าผู้ให้เปลี่ยนนั้นคิดเลื่อนไปถึงยศ ที่ควรแล้วที่ไหนก็ใช้เวลาที่นั่นเป็นถูก สิงคโปร์กับบางกอกเวลาผิดกัน ๒๐ นาที

๒) คำว่า “กหลาป๋า” นั้นเคยได้ยิน บัดนี้มารู้คำแปลเสียด้วยว่าแปลว่ามะพร้าว “กหลาป๋า” ทั้ง “ยักะกรา” และ “บตาเวีย” นั้น ก็ทราบมาแต่ก่อนแล้วว่าเป็นเมืองเดียวกัน แต่คำ “ยักะกรา” นั้น เรารู้พลาดไปเสียหน่อยแต่ก็พอคะเนได้

ที่ประทานคำแปล “ยักกัตตรา” ว่า ชัยเขตร นั้น ทำให้นึกถึงเมืองเขมร คำว่า “ชัยศรี” (ซึ่งเขาเอาเข้าต่อท้ายชื่อพระขรรค์ว่า “พระขรรค์ชัยศรี” นั้น ส่งให้นึกถึง “นครชัยศรี” ของเรา ทางเขมรเขาว่า พวกเขมรรบกับพวกจามชนะที่ตรงนั้น จึงชื่อว่า “ชัยศรี” ทางเราไม่มีเล่ากันว่ากระไร เห็นจะไม่มีอะไรนอกจาก “รับพร่าอาทานอย่าง” คำ “ชยะ” ก็ไม่ได้แปลว่าชนะ เลื่อนไปเป็น “มงคล” เสียด้วย

๓) เรื่องชื่อเรานั้นเข้าในหลักที่เกล้ากระหม่อมถือ ว่าจะเขียนเปลี่ยนอะไรก็เขียนเปลี่ยนแต่ในคำพูด จะเขียนเปลี่ยนชื่ออะไรที่ท่านแต่ก่อนท่านตั้งไว้ไม่ได้ ถ้าตรัสปรึกษาเกล้ากระหม่อมก็จะต้องกราบทูลความเห็นเช่นนั้น

๔) หญิงไอก็มาบอกแล้ว ว่าพอฝ่าพระบาททรงเห็นหน้าก็ตรัสถึงอีแต เรื่องอีแมว ที่ตรัสเล่าก็เป็นธรรมดาที่มันจะคิดไปอย่างไร อาการหนักที่จะพูดให้มันเข้าใจไม่ได้ แต่ก็ไม่เป็นไร พอมันเข้าใจเมื่อไรก็หายเมื่อนั้น

๕) เรื่องชื่อนั้นทรงสังเกตถูกแล้วว่าต้องการสองพยางค์ แต่ยายตา นายนาง พ่อแม่ เอาไปกินเสียพยางค์หนึ่ง เช่น “แม่เผล่” เป็นต้น ชื่อจึงเหลือแต่พยางค์เดียว เว้นแต่คำกล้ำ เช่น ละเมียด ละม้าย เป็นต้น นั่นจะจัดว่าเป็นชื่อสองพยางค์หรือพยางค์เดียวก็ได้ แต่ไม่มีคำอย่างนั้นมากนัก

คนแต่งหนังสือเขาก็สังเกตชั้นคน ถ้าเป็นคนชั้นเก่าเขาตั้งชื่อให้ว่า “นายเยี่ยม นายยอด” เป็นต้น ถ้าเป็นคนชั้นใหม่ เขาตั้งชื่อให้ว่า “นายเมตตา นายกรุณา นายมุทิตา นายอุเบกขา” เป็นต้น ให้นึกชอบใจในการแต่งของเขา

๖) เรื่องมหาดเล็กกับข้าหลวงทะเลาะกัน เคยได้ยินตรัสเล่า แล้วไม่ทราบว่าที่ไหน จากพระดำรัสกรมหลวงสรรพสิทธิก็เคยได้ยิน แต่นั่นดูเป็นฝ่ายชายรู้คิด ยั่วให้หญิงด่าเท่านั้น ส่วนตัวเองนั่งหัวเราะ ครั้นผู้หญิงเหนื่อยเข้าไม่ด่าก็ว่า “อีดอกทอง” แล้วผู้หญิงก็ด่าไปอีกแล้วฝ่ายชายก็นั่งหัวเราะเสียอีก เอาจนผู้หญิงเหนื่อยจนด่าไม่ออก

คำด่านั้นเลยถือกันเอามาว่าเป็นคำหยาบ ตามความรู้สึกของเกล้ากระหม่อม แม้พูดไปตรงๆ ก็ไม่รู้สึกอะไร แต่ถ้าพูดหลบคำหยาบไปเช่น “สองบาท” ว่า “กึ่งตำลึง” เป็นต้น กลับทำให้นึกถึงคำหยาบไปเสียด้วยซ้ำ

๗) เรื่องเทวดานางฟ้าจับระบำนั้น เกล้ากระหม่อมก็คิดอยู่เหมือนกันว่าเทศน์แกะบายศรีถ่ายเอาบทเห่ไป แต่เสียทีที่ไม่ได้คิดถึงอายุ จึงกราบทูลไปเป็นไม่รู้แน่

ขอให้ทรงสังเกต บทเห่โดยมากเป็นบทกล่อมตามธรรมดา ไม่เป็นกล่อมในพิธี มีพระกรงบรรทม และกล่อมนั้นเข้ากับดนตรีด้วย

๘) เรื่องแก้อักขระวิธีนั้น ถ้าจะทรงวินิจฉัยด้วยสนุกก็ทรงวินิจฉัยไปเถิด แต่ถ้าจะเอาประโยชน์แล้วเห็นจะป่วยการ ลูกบอกว่าพจนานุกรมนั้นตีหลายแห่งเพื่อจะให้แล้วเร็ว คำแก้ลางคำก็ไม่เหมือนกัน ได้สังเกตหนังสือซึ่งแก้แล้วก็ไม่ลงกันแม้แต่ในฉบับเดียวกัน

๙) น้ำท่วมเมื่อปีเถาะ เกล้ากระหม่อมก็นึกได้ ว่าในพิพิธภัณฑ์มีกระดานประดับมุกอยู่ มีศักราชด้วยพร้อม พูดกันก็แต่ว่า “ปีเถาะน้ำมาก ไม่รู้ว่าเถาะไหน คิดจะเขียนหนังสือไปถามเอาศักราชที่หลวงบริบาล แต่นึกได้ว่าเวลาน้ำท่วม ไปมาลำบาก ไว้น้ำลดแล้วจึงถามก็ได้ ไม่ต้องการเร็วอะไร แต่ได้รับลายพระหัตถ์เวรก็ตรัสบอกศักราชมาเสร็จ ว่าปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๗๔ สมตามที่อยากรู้ เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า

๑๐) ตำนานพระสิหิงค์นั้น ไม่ทรงเชื่อตอนที่กล่าวไว้ในนครศรีธรรมราช แต่ทรงเชื่อในตอนที่กล่าวไว้ในเชียงใหม่ แท้จริงก็ควรจะเชื่อเพียงเท่านั้น เพราะพระบาทสมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสีหนาทไปได้มาไว้ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

ที่แท้จะใคร่ทราบว่าทางเชียงใหม่เขาเรียกกันว่า “พระสิงห์” ถูกหรือไม่เท่านั้น อื่นๆ ก็เป็นเครื่องประดับ

การเขียนประวัตินั้นเชื่อยาก คนเขียนก็เกิดทีหลัง ไม่รู้เรื่องที่เป็นมาจริง ได้ยินแต่เขาเล่าให้ฟังก็เก็บมาเขียน ให้นึกอ่อนใจตั้งแต่ตำนานพระชินราชพระชินศรี พูดว่าบ้าน “ปขาวหาย” เปลี่ยนเป็น “เต่าหาย” ฝ่าพระบาทยังทรงแปลว่า “เต่าไห” ต่อไปอีกด้วย ทำให้เห็นจริงมากกว่า ยังซ้ำที่ว่า “พระเหลือ” อีกด้วย เห็นเข้าก็ตกใจ “พระเหลือ” แก่กว่าพระชินราชพระชินศรีเป็นไหนๆ

รายการ

๑๑) เมื่อวันที่ ๑๔ ได้รับหมายสำนักพระราชวัง ว่าวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะไปเปลื้องเครื่องพระแก้ว.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ