วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๕ น

๒๓/๘๕

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๘๕

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ย้อนหลัง

๑) เรื่องแก้ตัวหนังสือ ได้ยินคำบอกว่าชายขาวบ่นว่า “ศุกรวรรณดิศ” แก้เป็น “สุกรวันดิส” กลายเป็นหมูป่า (ของ) ดิสไป แล้วก็ได้ยินว่าชายดำบ่นอีกว่า “กาฬวรรณดิศ” แก้เป็น “กาลวันดิส” กลายเป็น เวลาป่า (ของ) ดิสไป ก็จะไปแก้มันทำไม ที่เขาไม่แก้ชื่อกันก็มี ทำไมไม่เอาอย่างเขาบ้าง แต่นี่เป็นกาลนานมาแล้ว เกล้ากระหม่อมเห็นว่าการเปลี่ยนเซ็นชื่อนั้นสำคัญที่สุด จะต้องบอกกล่าวให้รู้ทั่วกัน ใบบอกนั้นออกจะต้องตีพิมพ์

เรียน

๒) “เหรา” ได้ทรงสังเกตหรือเปล่าว่าเป็นสัตว์อะไร สังเกตได้แต่ว่าเป็นสัตว์น้ำ บางทีก็เอาไปเข้าคู่กับจระเข้ บางทีก็เอาไปเข้าคู่กับมังกร

ธงตะเข้แปลว่ากระไร เก่ามากทีเดียว

บรรเลง

๓) หมาเลี้ยงซึ่งเป็นผัวอีดำและอีแตนั้น เดิมฝรั่งเลี้ยงไว้ให้ชื่อทิป แล้วมาเปลี่ยนเป็นซิบ ฝรั่งเจ้าของเดิมจะเอาไปยิงเสีย เพราะไปได้หมาฝรั่งมาเลี้ยง คนขับรถขอเอาไปแต่ก็เลี้ยงไว้ไม่ไหว รู้ว่าเกล้ากระหม่อมชอบหมาจึ่งส่งมาให้ อีดำออกลูกหลายตัว ที่ชายใหม่เอามาเลี้ยงก็ลูกอ้ายซิบกับอีดำเหลือลูกอยู่อีกตัวหนึ่งชื่ออ้ายหยุ่น ดู “เปอเฟกต์” ดี อ้ายซิบก็ทีจะรู้สึกว่าอ้ายหยุ่นเป็นลูก และอ้ายหยุ่นก็รู้สึกกลัวพ่อ

สนองลายพระหัตถ์เวร ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน

๔) ได้รับลายพระหัตถ์เวรลงวันนี้ ดีใจที่จะได้กราบทูลสนองตามที่เคยมา

๕) ตรัสเล่าเรื่องญี่ปุ่นลบศักราชนั้นดี ได้เป็นความรู้อย่างหนึ่ง ศักราช “ชิมอิ” เห็นจะใหม่ ที่นับเอาพระเจ้าแผ่นดินองค์ต้น แต่ใครจะไปรู้แน่ว่าองค์ต้นหรือไม่ใช่ ญี่ปุ่นก็เอาอย่างจีน จีนถือเอาปีรัชกาล (“๒๒ หลังศก”) ดีอยู่ มหาศกะหรือจุลศกะก็เป็นคนเป็นพระราชา ยังปรากฏคำว่า “ราช” อยู่ข้างท้าย เรามาเข้าใจว่า “ศก” เป็นปีนั้นหลง ความหลงนั้นเป็นมาแต่อินเดียแล้ว ที่พระเจ้าแผ่นดินตั้งปีรัชกาลใหม่เอากลางๆ นั้นอาการหนัก แต่ไม่เป็นไร ใครจะถือว่าศักราชเท่าไรก็ได้ แม้แต่เมืองลังกากับเรายังนับพุทธศักราชก็ต่างกันไป สุดแต่ฝ่ายใดจะถือว่าเท่าไรก็ตามกันไปเท่านั้น

ที่กราบทูลว่าพบพูดถึงลบศักราชทางเรา เข้าใจว่าเห็นเขากล่าวถึงว่าพระร่วงลบศักราช เห็นจะเอาเป็นแน่ได้ว่าการลบศักราชทางเรานั้นเคยมีมาจริง จึงพูดเอาครั้งพระเจ้าปราสาททองเป็นว่าลบศักราช แต่ที่จริงครั้งนั้นไม่ได้ลบศักราชเลย

๖) เรื่องที่ตรัสบอกว่ามี “มหาดเล็กไล่กา” มาแต่รัชกาลที่ ๓ แล้วนั้น “หูผึ่ง” เพราะยังไม่เคยได้ยินมาเลย แต่ทหารสก็อตแห่โสกันต์นั้นจำได้ เป็นอันว่าตัวเจ้าพระยาพิชเยนทร์เองเคยเป็นทหารสก็อต ที่กะหน้าว่าพ่อเคยเป็น “มหาดเล็กไล่กา” นั้นผิดไปถนัดใจ

๗) ตัว ฉ กับตัว ส จะเป็นตัวเดียวกันก็ว่าได้ เช่น “สลาก” ก็เป็น “ฉลาก” นี่ว่าถึง “ฉาน” กับ “สยาม” ที่จะใคร่รู้ก็คือคำ “สยาม” จะเป็นไทยหรือไม่ใช่ และคำนั้นจะเก่าใหม่เพียงไร แต่ในพระอธิบายก็ปรากฏแล้วว่าเป็นคำเก่าและเป็นชื่อของพวกไทยมาแต่เดิม

คำว่า “เสียม” นั้นเป็นภาษาเขมร แต่อังกฤษก็เขียนเช่นนั้น

๘) “ผ้าม่วง” นั้นพระดำริว่าเป็นภาษาอื่น ดีอยู่ เป็นอีกทางหนึ่งซึ่งควรสอบสวนภาษาจีน จะสอบดู

๙) ฝันว่าการบูชาที่วัดบวรนิเวศ มีการบูชาพระบาทด้วย ให้สงสัยว่าจะเป็นที่ตั้งพระชินสีห์เดิมมาก็ได้ หอไตรและการเปรียญกับศาลาฤษีสี่หลังนั้นสร้างคราวเดียวกับพระเจดีย์แน่

คำว่า “ฝัน” หมายถึงนึกตื่น ๆ ไม่ต้องหลับจึ่งฝัน

๑๐) ท่านเจ้าเผื่อนเข้าใจว่าไม่ได้ย้ายเข้าไปอยู่กุฏิในหมู่ตำหนัก การย้ายกุฏิเห็นว่าไม่ใช่อย่างอื่น นอกจากต้องขนของลำบาก ไม่เห็นว่าจะเป็นเรื่องเสงี่ยมเจียมตัว

๑๑) “สวรรค์” แปลว่าเลิศนั้นเกล้ากระหม่อมยังไม่ทราบ ดีอยู่ ดูพจนานุกรมของอาจารย์ชิลเดอในคำว่า “สัคค” ก็แปลให้ไว้ว่า a branch และ friend, companion.

คำว่า “ขึ้นสวรรค์ทั้งเป็น” นั้นมีจริงๆ ท่านพวกคนกล้าเช่น “ยุทิสฐิระ” ก็เกณฑ์ให้ไปไต่เขาพระเมรุแต่ยังเป็น ๆ การนั้นจึงมาเป็นคำว่า “พิราลัย” ทางเราหมายความว่าไปสู่ที่อยู่แห่งคนกล้า (คือตาย)

คำถามของอุบาสิกาคนหนึ่ง เข้าทีมาก พระยาราชศุภมิตรเคยเอามาเล่าว่ากล่าวถ้าเทพยบุตร์องค์หนึ่งขึ้นวิมานสวรรค์แล้วมีนางฟ้าเป็นบริวารตั้งหมื่น ถ้าเช่นนั้นผู้หญิงจะมิขึ้นสวรรค์มากกว่าผู้ชายหรือ

เมื่อเกล้ากระหม่อมไปเที่ยวเมืองชวา เขาพาไปดูเขาไฟ ต้องบอกเขาว่าอย่าพามาดูอีกเลย เห็นทีเดียวพอแล้ว เห็นเป็นเมืองนรกสิ้น ทูลกระหม่อมชายยังได้ทรงคะเนต่อไปอีก ว่าสวรรค์นรกทั้งสองอย่างเป็นของคนชาวเขาคิด

๑๒) เรื่องหมายพระราชทานกฐินนั้นเกล้ากระหม่อมได้มีหนังสือแปรหมายไปแต่จะตกลงอย่างไรก็เงียบ คนที่พอจะใช้ให้ไปฟังได้ก็เจ็บ จึงวานคนในสำนักพระราชวังนั้นเองให้เขาช่วยสืบก็ได้ความมาว่า ได้ออกหมายเปลี่ยนให้ชายภาณุพันธยุคลไปทอดแทนแล้ว ส่วนที่ฝ่าพระบาทขอพระองค์ของฝ่าพระบาทนั้นดี เจาะเอาสูงทีเดียว

๑๓) เรื่องเมือง “ทวารวดี” จะเป็นอย่างไรมาเรารู้แน่ไม่ได้ แต่สืบมาจากอินเดียเป็น “รับพร่าอาทาน” อย่างนั้นแน่

๑๔) เรื่องพระเจ้าอู่ทองนั้นดีมาก แม้ในพระราชพงศาวดาร (สองเล่ม) ก็ว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชเป็นพี่พระมเหสีพระเจ้าอู่ทองมาแต่เมืองสุพรรณ ต้องเข้าใจว่า “สุพรรณภูมิ” เพราะเมืองสุพรรณบุรีเวลานั้นยังไม่เกิดและก็เป็นการปรากฏว่าเมืองสุพรรณภูมิยังตั้งมาอีกนาน ไม่ใช่พระเจ้าอู่ทองยกหนีห่ากันมาหนองโสนหมด

คำว่า “พระ” นั้นเห็นได้ว่าตั้งใจจะให้แทน “ฟ้า” เหมือนกับ “พญา หวา พวา” อะไรเหล่านั้น เพราะถ้ามีตัว ฟ แล้วคงเรียก “เจ้าฟ้าขวัญ” พระเจ้าเสือไม่รู้พระองค์แน่นอน ว่าเป็นลูกลับของสมเด็จพระนารายณ์

๑๕) เรื่องพระนามพระเจ้าแผ่นดิน ถ้าจะยึดเอาหลักเมืองเขมร เห็นพระปรางค์ฉลักเป็นรูปทางพระศิวะก็มี ทางพระวิษณุก็มี ทางพระพุทธรูปก็มี สังเกตไม่ได้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่ดีใจในข้อที่ว่าพระนามลงท้ายว่า “ราชา” นั้น ทรงพระดำริเห็นด้วย ว่าเมื่อเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้วจะต้องเปลี่ยน

๑๖) กับดีใจที่ตรัสบอก ว่าที่หน้าตำหนักใหญ่วังวรดิศมีนกกวักมาลง ทำให้ได้รู้ว่าอาหารนกกวักคืออะไร เป็นแต่เขาบอกว่า เขาเห็นนกกวักตามกอหญ้าชายเฟือย ที่แท้ก็คือมันกินกุ้งเล็กปลาน้อยอย่างนกยางนั่นเอง

๑๗) เคยได้ยินว่า กรมหลวงประจักษ์ หัดพระที่หมากแข้งให้สวดมนต์ แต่จะสวดอย่างไรนั้นไม่ทราบ

๑๘) การใช้เลขฝรั่งแทนเลขไทยนั้นฝันว่ากรรมการแก้หนังสือไทยปรึกษาคนทั้งปวงก่อน ว่าจะใช้เลขไทยหรือเลขฝรั่งดี แล้วประกาศว่าจะใช้อย่างไรก็ได้ ที่ถึงเปลี่ยนเครื่องพิมพ์นั้นแปลว่ายึดเอา “แฟแช่น” หนักมือไป ได้ตัดหนังสือพิมพ์ซึ่งเขาพูดเรื่องเลขฝรั่งถวายมาทอดพระเนตรเล่นแล้ว

เขาว่าเมื่อวานนี้ (วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน) มีหนังสือพิมพ์คัดประกาศสั่งให้ใช้เลขสากลประจำหนังสือไทย ยังไม่ได้อ่าน ถ้ากระไรก็จะเอาไว้กราบทูลให้ทรงทราบฝ่าพระบาทในคราวหน้า

หนังสือซึ่งจะประทานมา จะเขียนหรือดีดพิมพ์อย่างไรก็ได้ แม้จะผิดก็คงรู้ว่าตั้งใจอย่างไร นิทานอันเล่าถึงเขียนหนังสือไม่แจ่มแจ้งก็มีถมไป เช่น “น้ำพิงกได” เป็นต้น และคำว่า “ป้วย” ก็เป็นเรื่องเขียนหนังสือไม่ถูกนั่นเอง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ