วันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๕ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๕

ที่ ๖/๘๕

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับที่ ๒/๘๕ ที่ ๓/๘๕ ที่ ๔/๘๕ ซึ่งส่งร่วมซองกันมา ๓ ฉบับ และจะทูลสนองลายพระหัตถ์นั้นรวมกันในจดหมายฉบับนี้

๑) ขอบพระเดชพระคุณทั้งพระองค์ท่านและพระญาติเป็นอย่างยิ่ง ที่โปรดประทานพรวันเกิดมาในลายพระหัตถ์ ขอรับพระพรไว้ด้วยความเคารพและยินดีทั้ง ๒ สถาน การทำบุญวันเกิดปีนี้ แม้เป็นอภิลักขิตมงคลอายุครบ ๘๐ ปี ก็ไม่สามารถจะทำอะไรให้แปลกกว่าปีก่อนๆ ได้ หม่อมฉันคิดจะนิมนต์พระลังกาที่มีอยู่ ๒ รูป มาสวดพระปริตและฉันเพลเหมือนอย่างเคยนิมนต์มา ๒ ปีแล้ว ต่อนั้นจะเลี้ยงกลางวันญาติมิตรที่มาอำนวยพร ก็จะมีสักสี่ห้าคนพอชื่นใจเป็นธรรมปิติสำเร็จงานเพียงเท่านั้น หม่อมฉันคิดอีกอย่าง ๑ ว่าจะนั่งฉายรูปให้ลูกหลานเหลนสักรูป ๑ ก็พอเหมาะดีด้วยได้ทราบว่ากรุงเทพ ฯ พวกลูกเขาจะทำบุญให้หม่อมฉันในวันเกิดนั้นที่วังวรดิศ จะได้ให้รูปเป็นของสนองคุณ หญิงใหญ่บอกมาว่าวันทำบุญจะเชิญเสด็จท่านไปทรงจุดเทียนแทนตัวหม่อมฉันก็ถูกใจอีก

นึกดูก็ชอบกลอย่าง ๑ ด้วยแต่ปีนี้ไปจะมีพระเจ้าลูกเธอของทูลกระหม่อม พระชันษาครบ ๘๐ ปีทุกปีไปจนหมดจำนวน พ.ศ. ๒๔๘๕ นี้ หม่อมฉันกับสมเด็จพระพันวัสสา พ.ศ. ๒๔๘๖ พระองค์ท่าน พ.ศ. ๒๔๘๗ กรมหลวงทิพยรัตน์ พ.ศ. ๒๔๘๘ พระองค์ประดิษฐา พ.ศ. ๒๔๘๙ พระองค์สร้อย ดั่งนี้ ขอให้เป็นได้ดังนั้นเถิด จะได้เพิ่มพระเกียรติ์ทูลกระหม่อมว่ามีพระเจ้าลูกเธอพระชนมายุยืนมากพระองค์ยิ่งกว่าพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลอื่น ๆ

๒) ซึ่งทรงแนะมาให้ใช้เลขที่หมายฉบับจดหมายเวรนั้นชอบแล้ว ประเดี๋ยวนี้ไม่มีกำหนดแน่ว่าจะเขียนเมื่อใด แม้เขียนแล้วก็ยังไม่รู้ว่าจะต้องคอยไปอีกสักเท่าใดจึงจะส่งได้ หม่อมฉันได้ฝากจดหมายเวรเขาไปทิ้งไปรษณีย์เมื่อเร็ว ๆ นี้อีก ๑ ฉบับ ๆ ที่สุดลงวันที่ ๑๖ พฤษภาคม จึงจะหมาย “เบอ” จดหมายเวรฉบับนี้เป็นที่ ๖/๘๕

๓) ก่อนทูลถึงลักษณะรดน้ำแต่งงานบ่าวสาวสนองลายพระหัตถ์จะทูลอธิบายคำ “ขันหมาก” ก่อน ดูเหมือนจะเข้าใจกันอยู่โดยมากว่า ที่เรียกขันหมากแต่งงานบ่าวสาวนั้น คือหาหมากใส่ขันขนาดขันล้างหน้า ไปเลี้ยงแขกที่มาช่วยงาน แต่ที่จริงภาษาไทยเหนือเขาเรียกพานว่าขัน ชาวเชียงใหม่ยังเรียกอยู่ เพราะฉะนั้น ขันหมาก - ก็คือ - พานหมากนั่นเอง มิใช่เอาหมากใส่ขันล้างหน้า ลักษณะแต่งงานบ่าวสาวมีพรรณาไว้ในบทเสภาเรื่องขุนข้างขุนแผน เมื่อแต่งงานพลายแก้วกับนางพิมพ์แห่ง ๑ แต่งงานพระไวยกับนางศรีมาลาแห่ง ๑ คนแต่งต่างคนกัน และน่าจะแต่งต่างเวลากัน แต่กล่าวความยุติต้องกันว่า เวลาบ่ายพระสงฆ์มานั่งที่อาสนะแล้ว (บ่าวนำพา) เจ้าบ่าวกับเพื่อนบ่าวหลายคนไปนั่งอยู่ที่หน้าพระสงฆ์ก่อน สาวนำจึงนำเจ้าสาวกับเพื่อนสาวห้อมล้อมออกมานั่งที่หน้าพระสงฆ์ห่างกันกับพวกเจ้าบ่าว ขณะนั้นพระเถรผู้เป็นประธานสงฆ์ (ลุกขึ้นจากอาสน์สงฆ์) ออกมาเอามงคลสวมให้เจ้าบ่าวกับเจ้าสาว (มงคลคู่นั้นน่าจะล่ามสายสิญจ์ที่พระสวดมนต์ด้วย) แล้วพระ (ให้ศีล) สวดมนต์ (ถ้าสวด ๗ ตำนานตามแบบ ถึงคาถา สุนกฺขตฺตํ ท้ายสวดมนต์) พอขึ้น ชยนฺโต คนก็ตีฆ้องชัย พระเถรผู้เป็นประธานก็ (เอาโอหรือจอกตักน้ำในบาตร) สาดน้ำมนต์รดบ่าวสาว (คงเป็นเพราะพระจะสาดให้ถูกทั้ง ๒ คน เมื่อนั่งอยู่ห่างกันไม่ถนัด จึงเป็นประเพณี) พวกเพื่อนบ่าวก็พากันเบียดรุนเจ้าบ่าวให้เลื่อนเข้าไปเคียงกับเจ้าสาว เลยถือเป็นโอกาสที่เพื่อนบ่าวจะต้องถูกหยอกเอินเพื่อนสาว เคยเป็นธรรมเนียมเช่นนั้นมาเสมอ ถึงพวกเพื่อนสาวเตรียมตัวเอาหนามซ่อนสำหรับกันตัว เมื่อเพื่อนบ่าวเบียด พอเจ้าบ่าวกับเจ้าสาวเข้าไปนั่งชิดกันแล้ว พระก็หยุดสาดน้ำมนต์ แล้วบ่าวสาวพากันกลับไปผลัดเครื่องแต่งตัว แต่งงานบ่าวสาวซึ่งท่านเคยทอดพระเนตรคนเมืองสุพรรณเขาจะแต่งตามแบบโบราณ เช่นทูลพรรณนามาดอกกระมัง

หม่อมฉันเคยคิดดูถึงคติที่รดน้ำในพิธีต่าง ฯ ว่าจะเกิดแต่ประสงค์อย่างใดเป็นมูลเดิม เห็นวัตถุที่ประสงค์ร่วมกันได้มากแต่ “เพื่อจะเปลี่ยนฐานะของบุคคลหรือวัตถุที่มีการรดน้ำนั้นเป็นอย่างอื่น เช่นรดน้ำแต่งงานบ่าวสาว ก็เปลี่ยนฐานะของเจ้าบ่าวเจ้าสาวจากเป็นโสดไปเป็นผู้มีเรือน การรดน้ำโกนจุกก็เปลี่ยนฐานะจากเด็กเป็นหนุ่มสาว การรดน้ำราชาภิเษกก็เปลี่ยนฐานะของผู้รับอภิเษกให้เป็นพระราชาธิบดี แม้รดน้ำในการบริจาคทานเช่นพระเวสสันดรหลั่งน้ำเมื่อให้ช้างเผือก ก็หมายว่าสละฐานะที่เป็นเจ้าของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ทรงหลั่งน้ำในพระหัตถ์พระพุทธเทวะปฏิมากร ก็คือเปลี่ยนฐานะที่พระองค์ทรงเป็นเจ้าของวัดพระเชตุพน สละถวายเป็นพุทธบูชาสิทธิ์ขาด ตรวจน้ำทำบุญอยู่ในสละบุญอันตนได้กระทำส่วนหนึ่งให้แก่เปรต ที่สมเด็จพระนเรศวรทรงหลั่งน้ำแสดงอิสรภาพที่เมืองแครง ก็หมายเปลี่ยนฐานะจากเป็นมิตรภาพกลับเป็นศัตรูแต่เวลานั้นมา ทูลตามคิดดูโดยเดา มิได้อาศัยตำรับตำราอันใด ทูลมาสำหรับทรงคิดเล่น ส่วนการรดน้ำมนต์แก้ไข้เจ็บนั้นเป็นคติอีกทางหนึ่งต่างหาก มูลน่าจะมาแต่การรักษาไข้เจ็บด้วยรดน้ำ เช่นคนไข้ไปนั่งให้พระรดน้ำมนต์เสกพลางรดพลางอย่างอาบน้ำให้จนหมดมลทิน ยังรดกันเช่นนั้นอยู่จนทุกวันนี้ รดน้ำสังเขปมาจากรดเป็นโอสถ อย่างนี้จัดเป็นรดน้ำมนต์เพื่อเป็นสวัสดิมงคลไปด้วย แม้ที่สุดจนประพรมช้างมาวัวควาย แม้น้ำมนต์พิธี เช่นพิธีตรุษเป็นต้น ว่าที่จริงก็อยู่ใน “ประเภทโอสถ” เหมือนกัน ถ้าว่าโดยย่อไถลเลยไปถึงที่รดน้ำในพิธีต่าง ๆ ดูต่างกันเป็น ๒ ประเภท คืออยู่ในประเภทภิเษกอย่าง ๑ อยู่ในประเภทโอสถอย่าง ๑ ด้วยประการฉะนี้

๔) ที่กรมพระสมมตตรัสว่า “ไม่มีสมาธิ” นั้น มีมูลอยู่ข้างขบขันควรทูลบรรเลงได้ คือครั้งงานสมเด็จพระปิตุฉาฯ ขึ้นตำหนักใหม่ที่ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อในรัชกาลที่ ๕ เวลานั้นกำลังเล่นฉายรูปกัน กรมหลวงประจักษ์เอากล้องเข้าไปฉายรูปอะไรต่ออะไรวุ่นที่ตำหนัก ครั้นถึงเวลาที่สมเด็จพระมหาสมณะถวายเทศนา กรมหลวงประจักษ์ฉายพระรูปกำลังเทศน์ด้วยแสงแม๊กนิเซียม พอแสงดัง “พิ๊พิ๊” ท่านก็วางคัมภีร์ลงกับตัก ตรัสว่า “ไม่มีสมาธิ เทศน์ต่อไปไม่ได้” สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสเล้าโลม แล้วขับกรมหลวงประจักษ์ออกไปเสียจากห้องนั้น ท่านจึงเทศน์ต่อไป

๕) ประตูวังหน้าที่มีกระดานจำหลักนั้น หม่อมฉันนึกได้ ทำเป็นประตูไม้อยู่ข้างใน มีเสา ๒ เสา มีขื่อ ๒ ชั้น มีเสาตั้งอยู่ระหว่างขื่อที่ตรงกลาง เอากระดานกรุช่อง ๓ ข้างเสาดั้ง กระดานนั้นดูเหมือนจำหลักลายภาพจับ ทาดินแดงหมดทุกตัวไม้ มีประตูก่อด้วยอิฐปูนเหมือนอย่างครอบอยู่ข้างนอกประตูไม้ หลังคาเป็นซุ้ม แต่รูปสัณฐานจะเป็นอย่างไรหม่อมฉันจำไม่ได้

๖) นามฉายาของพระนั้น มีหลักทั้งพวกถือพระพุทธศาสนากับในพวกถือศาสนาคริสต์ ตั้งเหมือนกันชอบกลอยู่ คือถือว่าบรรดาผู้ที่บวชแล้วย่อมสละฐานะของตนเมื่อยังเป็นคฤหัสถ์หมดทุกอย่าง ออกแต่เป็นบรรพชิตเสมอกันทุกคนหมด เพราะฉะนั้นเมื่อคนถือศาสนาอื่นเข้ารีตแล้วสมัครจะบวช เขาเปลี่ยนชื่อเดิมเป็นชื่อซึ่งหมายว่าเป็นผู้ถือศาสนาคริสตัง มักเอาชื่อของนักบุญตนใดตนหนึ่งมาขนานให้เป็นชื่อต่อไป ไทยเราถือพระพุทธศาสนาตามฝ่ายใต้ ซึ่งถือว่าภาษามคธเป็นภาษาบาลีของศาสนา ชื่ออันจะเป็นเครื่องหมายของพระพุทธศาสนาจำต้องเป็นภาษามคธ ก็ไทยเรามักมีชื่อเป็นภาษาไทย เช่นว่า ดำ แดง ขาว เป็นต้นอยู่ก่อนแล้ว เมื่อบวชจึงขนานนามใหม่เป็นภาษามคธให้เข้ากับพระบาลี คือหลักแสดงว่าเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา อันนี้เป็นมูลของนามฉายา ถ้าหากไม่มีประเพณีขนานนามฉายา เมื่อกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญทรงผนวชก็ต้องใช้พระนาม “ยอช” อันเป็นนามนักบุญในศาสนาคริสตังสวดญัตติขัดอยู่ หม่อมฉันเห็นว่านามฉายาควรมี ที่สมเด็จพระวันรัตน์ (เฮง) ตินามฉายาจะติเฉพาะที่คิดให้แปลกออกนอกแบบไปต่างๆ เท่านั้น

๗) ซึ่งหลานหญิงวิสาขาถือว่า วันวิสาขบูชา (จะเป็นในเดือน ๖ ก็ตาม หรือเดือน ๗ ก็ตาม หรือจะตรงกับวันที่เท่าใดเดือนไหนตามปฏิทินสุริยคติก็ตาม) เป็นวันเกิดของตัวนั้น ถูกต้องกับหลักฐานด้วยประการทั้งปวง หม่อมฉันอนุโมทนาด้วย

๘) ที่ไม่ทำพิธีวิสาขบูชา ณ วัดเทพศิรินทร์ปีนี้ประหลาดใจหม่อมฉันมาก คิดดูก็ไม่เห็นว่าน่าจะเป็นเพราะเหตุใด แต่หวังใจว่าจะไม่เป็นเพราะสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์อาพาธ หรือเพราะภัยพิบัติอย่างใด

๙) การเปิดสังฆสภาที่วัดมหาธาตุนั้น หม่อมฉันอ่านพิจารณาดูในหมายเข้าใจได้แต่ว่า เนื่องกับการแก้ไขพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ พระราชบัญญัติใหม่เป็นอย่างไรหม่อมฉันก็ไม่เคยเห็น และไม่สู้จะเอาใจใส่นัก รู้แต่เพียงเท่านั้นก็ต้องพอใจ

๑๐) สงสารหญิงจงกลที่ต้องผ่าไส้ตัน บุญหนักหนาที่เธอเรียกหญิงอี่กับหญิ งอามไปปรึกษา ถ้าช้าไปก็อาจเป็นภัยใหญ่หลวง น่ายินดีที่เป็นการเรียบร้อยปลอดภัยได้ตลอด ในครัวเรือนหม่อมฉันทั้งลูกตัวลูกเขยและหลาน ก็ต้องผ่าไส้ตันมาหลายคน แต่หมอในกรุงเทพ ฯ เขาชำนาญการผ่าและรักษาจนไม่น่ากลัวเสียแล้ว

บรรเลง

๑๑) วิสาขบูชาที่เมืองปีนังปีนี้อยู่ข้างร่องแร่ง โดยพฤติการณ์ตามวัดไม่แต่งประทีป และไม่มีการประชุมชนไหว้พระฟังธรรมเดินเทียนเหมือนทุกปีที่ล่วงมาแล้ว เป็นแต่เปิดโบสถ์วิหารให้สัปบุรุษไปบูชาพระได้อย่างย่อยกันไปตลอดวัน หม่อมฉันจึงทำพิธิวิสาขบูชาในครัวเรือนที่ซินนามอนฮอลอย่างที่เคยทำที่วังวรดิศมาแต่ก่อน แต่ที่นี่ไม่มีท้องพระโรง จึงทำพิธีที่ห้องกลางในเรือนชั้นบน ตั้งพระพุทธรูปกับเครื่องบูชาที่หน้าพระ ถึงเวลาเช้าวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๗ หม่อมฉันกับลูกหลานบริวารชนประชุมพร้อมกัน ต่างคนต่างจุดธูปเทียนบูชาถวายดอกไม้พระแล้ว หม่อมฉันนำสวดถวายเครื่องบูชาและสวดถวายอภิวาทพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้า แล้วลุกขึ้นยืนสวดพร้อมกันต่อไป สวด นโม อิติปิโสภควา กาพย์ภาษาไทย “องค์ใดพระสัมพุทธวิสุทธสันดาน” สวากฺขาโต ภควตาธมฺโม กาพย์ภาษาไทย “สงฆ์ใดสาวกศาสดา” สวดจบแล้วกราบ ๓ หน ต่อนั้นหม่อมฉันเทศน์แสดงคุณพระศาสนาให้ฟังกัณฑ์ ๑ เป็นเสร็จพิธี ถึงเวลาบ่ายหม่อมฉัน (ไม่มีรถยนต์จะใช้) ขึ้นรถจักรยานอย่าง ๓ ล้อไปวัดลังกาด้วยกันกับหญิงเหลือ (เพื่อจะนิมนต์มาทำบุญวันเกิดด้วย) ได้บูชาพระในวิหารและพระลังการดน้ำมนต์ให้ตามเคย ส่วนหญิงพูนกับหญิงเหลือ เธอเดินไปบูชาพระที่วัดศรีสว่างอารมณ์ แต่ที่วัดนั้นเป็นเวลาว่างพระสงฆ์ หม่อมฉันขอถวายพระกุศลที่ได้ทำวิสาขบูชาแด่พระองค์ท่าน กับทั้งพระญาติด้วย

๑๒) เมื่อเร็ว ๆ นี้หม่อมฉันได้เห็นการพิธีของพวกทมิฬ อีกอย่าง ๑ เรียกตามภาษาของเขาว่าพิธี “ถะรัตติ” ซึ่งหม่อมฉันไม่เคยเห็นและไม่เคยรู้ด้วยซ้ำไปว่ามีแบบแผนพิธีเช่นนั้น แต่จะต้องทูลนิทานเบื้องต้นก่อน

ทมิฬลูกจ้างที่บ้านหม่อมฉันมันมีลูกหญิง ๒ คน คนพี่ชื่อกันยุมาคนน้องชื่อ “วัลลี” เด็ก ๒ คนนั้นอยู่บ้านหม่อมฉันมาแต่น้อย จนพูดภาษาได้คล่องเหมือนกับไทย เด็กกันยุมาแต่งงานไปเมื่อสัก ๒ ปีมาแล้ว หม่อมฉันเคยเล่าเรื่องแต่งงานถวายไปคงยังทรงจำได้ ต่อมาถึงปีกลายผู้ปกครองมาขออนุญาตทำพฺิธีแต่งงานเด็กวัลลีที่ซินนามอนฮอลเหมือนหนหลัง หม่อมฉันออกปากทักว่า “มันยังเล็กนัก อายุเพียง ๑๒ ปี จะให้มันมีผัวอย่างไร” ยายแม่แก้ว่าเมื่อตัวแกเองแต่งงานเด็กกว่านั้นอีก หม่อมฉันก็จนใจ ด้วยเคยได้ยินอยู่ว่าประเพณีชาวอินเดียมักให้แต่งงานแต่ยังเด็ก ถึงแต่ยังเป็นทารกก็มี แต่เขามีวินัยกรรมด้วยส่งตัวให้อยู่กับผัวต่อเมื่อมีระดูแล้ว เมื่อเด็กวัลลีแต่งงานแล้วจึงยังอยู่กับแม่และคงรับใช้สอยอยู่ที่บ้านหม่อมฉันอย่างเดิมมาจนเดี๋ยวนี้ ที่แต่งงานแต่ก่อนนั้นเป็นแต่ทำพิธี ถึงกระนั้นก็ไม่ได้ผลดี คงเป็นเพราะชาตาไม่เหมือนกัน ตั้งแต่แต่งงานแล้วอ้ายผัวมาเยี่ยมทีไรก็มีแต่มาหยิบยืมปลอกลอกเอาสมบัติของเมียไปจำนองจนเกือบจะหมดตัว และที่สุดตัวอ้ายผัวก็เลยหายไม่รู้ว่าหนีไปอยู่ที่ไหน แม่ของเด็กวัลลีว่าจะรออีก ๓ เดือน พอครบกำหนดทิ้งขว้างตามกฎหมาย แล้วก็จะไปขอลบทะเบียนแต่งงาน เด็กวัลลีจึงเป็น “แม่ร้าง” อยู่ในเวลานี้ ครั้นเมื่อเดือนพฤษภาคมนี้ ผู้ปกครองมาขออนุญาตมีงานทำขวัญเด็กวัลลีด้วยเริ่มมีระดู หม่อมฉันเห็นแปลก แต่คิดดูก็น่าจะมีเค้ากันกับที่ไทยเราโกนจุกเด็กหญิงเมื่ออายุ ๑๑ ปี และพม่าทำพิธีเจาะหูเด็กหญิงเมื่ออายุราวนั้น คงเนื่องกับเข้าเขตเป็นสาว แต่พวกทมิฬกำหนดเมื่อมีระดูอันเป็นตัวหลักของความเป็นสาวเป็นเวลาทำพิธี อย่างทมิฬน่าจะเป็นแบบเดิมของการพิธีนั้น แต่ไทยกับพม่ารู้สึกว่าอุจาด และจะทำพิธีให้เด็กได้คราวละหลายคน จึงเปลี่ยนไปกำหนดอายุใกล้ๆ กับจะมีระดู ลักษณะการพิธีนั้น หม่อมฉันวานหญิงพิลัยให้ช่วยไปถามคำให้การ เด็กวัลลีจดมาให้ ได้ความว่า–เมื่อมีระดูครั้งแรก พ่อแม่ต้องไปเชิญหญิงผู้ใหญ่คน ๑ มาอาบน้ำสระผมและทาขมิ้นให้เด็กหญิงนั้น แล้วให้เด็กหญิงนั้นกินน้ำมันงาไข่ไก่และขนมบำรุงทุกวันจนครบ ๑๖ วัน ในระว่าง ๑๖ วันนี้ห้ามมิให้เด็กหญิงนั้นเข้าใกล้ผู้อื่นโดยเฉพาะผู้ชาย ต้องใช้ผ้าห่มคลุมปิดหน้าอยู่เสมอ จะออกนอกเรือนไปไหนต้องถือมีดกับใบไม้อย่าง ๑ เรียกว่าใบวาแปละ สำหรับกันผีทำร้าย ต่อมีระดูแล้วได้ ๑๖ วันจึงทำขวัญ ในระหว่างนั้นพ่อแม่ไปหาปุโรหิตให้มาอำนวยการพิธี ต้องเอาผ้าผืนที่เด็กนุ่งเมื่อมีระดูไปให้ปุโรหิตดูเป็นสำคัญ กับเอาเงินกำนลไปให้ปุโรหิตด้วย และขอให้ปุโรหิตเป็นผู้บอกญาติเชิญให้มาทำขวัญ

ครั้นถึงวันงานปุโรหิตมาจัดห้องที่จะทำพิธี ตั้งที่บูชามีตุ๊กตารูปผู้หญิงปั้นด้วยแป้ง ๑ ตัว ตะเกียงน้ำมันปั้นด้วยแป้งจุดไฟได้ ๑ ดวง ขนมทำด้วยแป้ง ๘ แผ่น ของเหล่านี้ปุโรหิตจัดทำมาทั้งนั้น และยังมีขันใส่น้ำขมิ้นลอยพริกแห้ง ๒ เมล็ด ขัน ๑ มะพร้าวปอกเปลือกผล ๑ แป้งห่อผ้าขาว ๓ ห่อ กับดอกไม้สดวางบนที่บูชานั้น ข้างหน้าที่บูชาลงมาจัดที่สำหรับเด็กเจ้างานนั่ง เอาข้าวสารโรยกับพื้นก่อนแล้วเอากระดานวางทับ ปูผ้าขาวบนกระดานนั้น ต่อที่นั่งออกมาผูกชิงช้าพื้นไม้กระดานประดับด้วยดอกไม้ทั้งแผ่นกระดาน และเชือกที่แขวนชิงช้าไว้

ครั้นถึงเวลาทำพิธีปุโรหิตมานั่งในห้องทำพิธี ยื่นผ้าขาวผืน ๑ ให้เด็กเจ้างานไปนุ่งแล้วให้อาบน้ำ เวลาอาบน้ำนั้นพวกผู้หญิงที่ได้รับเชิญ เข้าไปรดน้ำราดหัวให้ทีละคน และมีหญิงผู้ใหญ่ ๒ คนช่วยถูตัวสระผมและทาขมิ้นให้เด็กเจ้างาน อาบน้ำเสร็จผลัดผ้านุ่งผ้าขาวอีกผืน ๑ เจิมหน้าด้วยขมิ้นแล้วจุดธูปเทียนถวาย ดอกไม้และกระยาบวชบูชาที่ในห้องอาบน้ำนั้นก่อน แล้วจึงออกมานั่งที่บนกระดานตรงหน้าพระในห้องทำพิธี ปุโรหิตสอนให้ทำการต่างๆ ตามกระบวนพิธี คือให้เด็กเจ้างานนั่งทับขา เอามือทั้ง ๒ ข้างวางบนขา ปุโรหิตร่ายมนต์บูชาพระ แล้วเอาขนมที่ทำด้วยแป้ง ๘ แผ่นนั้นมาวางบนหัวเด็กเจ้างาน ๒ แผ่น วางบนไหล่ข้างละแผ่น วางบนขาข้างละแผ่น และวางบนมือข้างละแผ่น แล้วยกขันน้ำขมิ้นที่ลอยพริกแห้งมาเวียนบนหัวแล้วเอาน้ำในขันเจิมหน้าให้ ต่อนั้นยกตะเกียงและตุ๊กตากับมะพร้าวผล ๑ ซึ่งได้กล่าวมาข้างต้น ถึงตอนนี้ผ่ามะพร้าวเสียก่อน เอาเวียนบนหัวเด็กเจ้างานทีละสิ่งจนครบ แล้วเรียกผู้หญิงผู้ใหญ่ ๓ คน ให้เข้าไปทำขวัญด้วยของเหล่านั้นเวียนรอบหัวเจ้าของงานคนละสิ่ง

เมื่อทำขวัญดังว่ามาเสร็จแล้ว สั่งให้เด็กเจ้างานหมอบลง ให้หญิงผู้ใหญ่ดื่มน้ำมันงา และกินไข่ไก่ดิบให้มีกำลังเสียก่อนทั้ง ๓ คน แล้วให้เอาแป้งที่ห่อผ้าขาวไว้ถือคนละห่อ ทุบเด็กเจ้างานที่บั้นเอวครั้ง ๑ ที่สีข้าง ๆ ละครั้ง เพื่อให้เจริญกำลังแข็งแรงต่อไป เสร็จพิธีตอนนี้แล้ว ให้เด็กเจ้างานไปผลัดผ้าแต่งตัวใหม่ด้วยเครื่องสีมาขึ้นนั่งบนชิงช้า นัยว่าถ้าเด็กนั้นแต่งงานแล้ว (ตั้งแต่ก่อนมีระดู) สามีเป็นผู้อุ้มขึ้นชิงช้า ถ้ายังไม่ได้แต่งงานให้พี่เขยทำแทน เมื่อเด็กเจ้างานขึ้นนั่งบนชิงช้ามีคนไกวอยู่เสมอ ในขณะนั้นญาติและบรรดาผู้ที่มาช่วยงานพากันเข้าไปให้พรและให้ของทำขวัญเรียงตัวจนหมด แล้วเด็กเจ้างานจึงลงจากชิงช้ามากราบตีนขอพรต่อพ่อแม่ และญาติผู้ใหญ่เมื่อได้พรแล้วเป็นการเสร็จพิธี

เมื่อเสร็จพิธีแล้วเลี้ยงแขกที่ไปช่วยงาน การเลี้ยงนั้นผู้ชายกินแห่ง ๑ ผู้หญิงกินแห่ง ๑ ไม่ปะปนกัน และของเครื่องทำพิธีต่าง ๆ ที่ปุโรหิตทำมานั้น เมื่อเสร็จการพิธีแล้ว ปุโรหิตเก็บเอาไปทิ้งน้ำทั้งหมด กระบวนพิธีวิจิตรพิสดารดังทูลพรรณนามาฉะนี้

เจ้างานเขาถวายผลไม้ต่าง ๆ อย่างเครื่องเลื่อนแก่หม่อมฉัน ๆ ก็ให้เงินทำขวัญเด็กวัลลี แต่ลงไปดูต่อเมื่อเวลาเขาเลี้ยงแขก เห็นแขกนั่งเรียงกัน ผู้ชายแถว ๑ ผู้หญิงแถว ๑ แต่ละคนมีใบตองแผ่น ๑ วางตรงหน้า ผู้เลี้ยงเอาข้าวสุกตักลงวางบนใบตอง กับข้าวอะไรมีต่อมาก็เอามาตักราดบนข้าวสุกทุกสิ่งระคนปนกันไป แต่ก็เห็นกินกันอย่างเบิกบานทั่วทั้งนั้น

ทูลเพิ่มเติม

๑๓) หม่อมฉันร่างจดหมายมาถึงตรงนี้ เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ยังไม่มีวี่แววว่าจะส่งจดหมายไปได้เมื่อใด จึงเขียนเรื่องทำบุญวันเกิดเมื่อวันที่ ๒๑ ทูลเพิ่มเติม หม่อมฉันได้ทูลโปรแกรมกะว่าจะทำบุญอย่างไรไปบ้างข้างต้นจดหมายฉบับนี้แล้ว การที่ได้ทำก็เป็นไปตามโปรแกรมโดยเรียบร้อย มีแปลกแต่ท่านพระลังกา ๒ องค์ สวดพระปริตซึ่งเป็นมงคลวิเศษกว่าเคยสวดมาแต่ก่อนหลายบท เพราะหม่อมฉันนิมนต์ตั้งแต่วันวิสาขบูชามีเวลาเตรียมนาน และเตรียมจะมาเทศน์มงคลวิเศษด้วย แต่หม่อมฉันขอให้งดเสีย เพราะเดี๋ยวนี้หูตึงหนักลงฟังก็คงไม่ได้ยินถนัด

ที่หม่อมฉันได้บำเพ็ญศีลทานการกุศล เมื่อตรงวันเกิดอายุครบ ๘๐ ปี หม่อมฉันขอถวายพระกุศลแก่พระองค์ท่านกับทั้งญาติให้ทรงอนุโมทนาด้วย

๑๔) เมื่อก่อนทำบุญวันเกิดหม่อมฉันได้ตรวจดูว่าเจ้านายที่พระชันษาถึง ๘๐ ปีจะมีมาแต่ก่อนสักกี่พระองค์ ได้ความดังจะทูลต่อไปนี้ –

เจ้านายวังหลวง

รัชกาลที่ ๑

พระองค์เจ้าหญิงพลับ พระชนมายุ ๘๑ ปี

รัชกาลที่ ๒

พระองค์เจ้าหญิงแม้นเขียน พระชนมายุ ๙๐ ปี

พระองค์เจ้าหญิงยี่สุ่น พระชนมายุ ๘๑ ปี

พระองค์เจ้าหญิงปุก พระชนมายุ ๘๑ ปี

รัชกาลที่ ๓

พระองค์เจ้าหญิงนิเวศ พระชนมายุ ๘๓ ปี

กรมหลวงวรเสรฐสุดา พระชนมายุ ๘๐ ปี

รัชกาลที่ ๔

ตัวหม่อมฉันเป็นแรกที่จะมีอายุถึง ๘๐ ปี

เจ้านายวังหน้า

รัชกาลที่ ๑

พระองค์เจ้าหญิงดวงจันทร์ พระชนมายุ ๘๖ ปี

กรมขุนนรานุชิต พระชนมายุ ๘๐ ปี

ในหนังสือราชสกุลวงศ์ว่ากรมขุนนรา ฯ ประสูติปีระกา พ.ศ. ๒๓๓๒ ในพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ ว่าสิ้นพระชนม์ในวังพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ สวรรคต เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๐๘ ถ้าคำนวณตามศักราช ๒ แห่งนี้ พระชนมายุเพียง ๗๖ ปี แต่กล่าวกันมาเป็นแน่นอนว่า กรมขุนนรา ฯ พระชนมายุถึง ๘๐ เพราะฉะนั้นปีประสูติที่ลงในหนังสือราชสกุลวงศ์น่าจะผิด บางทีพระชนมายุจะกว่า ๘๐ ปีถ้วน แต่จะมีเศษอีกเท่าใดทราบไม่ได้

รัชกาลที่ ๒

กรมสมเด็จพระปวเรศ ฯ พระชนมายุ ๘๓ ปี

รัชกาลที่ ๓

พระองค์เจ้าหญิงอรุณ พระชนมายุ ๘๑ ปี

รัชกาลที่ ๔

พระองค์เจ้าหญิงภัควดี พระชนมายุ ๘๖ ปี

พระองค์ภัควดีประสูติปีฉลู พ.ศ. ๒๓๙๖ เพิ่งสิ้นพระชนม์เมื่อสัก ๒ ปีมานี้ แต่สอบไม่ได้ที่นี่ว่าปีใด พระชนมายุอาจจะเป็น ๘๖ หรือ ๘๗ ปีก็ได้

พระองค์เจ้าหญิงเฉิดโฉม พระชนมายุ ๘๖ ปี ยังมีพระชนม์อยู่

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ