วันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ น (๒)

๑๙/๘๕

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๔๘๕

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์เวรที่ ๑๐/๘๕ ลงวันที่ ๒๓ ตุลาคม ได้รับประทานแล้ว

๑) ตามที่ตรัสถึงวัด ว่าทำในแบบและนอกแบบนั้นจับใจเป็นอันมาก เกล้ากระหม่อมก็เคยคิดอุโบสถวัดศรีราชานอกแบบไปทีหนึ่ง เป็นนอกแบบเอามากๆด้วย เหตุด้วยเจ้าพระยาสุรศักดิ์มีศรัทธาจะสร้างโบสถ์วัดศรีราชา มาวานเกล้ากระหม่อมเขียนแบบ แต่ท่านกล่าวโทษว่าโบสถ์เล็กสัปบุรุษจะเข้าไปทำบุญก็เข้าไม่ได้ ส่วนฝ่ายสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ซึ่งท่านเป็นผู้กำกับวัดนั้นอยู่ ท่านไม่อยากให้เปลี่ยนสีมาเดิม เกล้ากระหม่อมก็เห็นว่าทำได้ ให้ความประสงค์ทั้งสองฝ่ายเป็นไปตามต้องการ คือเอาสีมาไว้ในประธาน แล้วทำเฉลียงเป็นที่สัปบุรุษเข้าไปทำบุญได้ แล้วท่านผู้กำกับยังต้องการหน้าต่างเตี้ยๆ ซึ่งลมจะพัดผ่านหมู่พระสงฆ์ซึ่งประชุมกันนั้นได้ด้วย เกล้ากระหม่อมก็ทำตามเป็นอันชอบใจทั้งผู้สร้างและผู้กำกับสิ้นแล้ว เกล้ากระหม่อมเห็นรูปเป็นสมัยใหม่หมดก็เลยเลิกไม่ทำช่อฟ้าใบระกา จนท่านไขศรีไปถามว่า “โบสถ์อยู่ที่ไหน” ด้วยสำคัญว่าที่นั่นไม่ใช่โบสถ์ ทำให้เกิดรู้สึกว่าทำนอกแบบนั้นใช้ไม่ได้

๒) วัดบวรนิเวศซึ่งทรงคาดว่าเพราะเชิญพระวัดสระตะพานมา องค์ใหญ่จนเข้าโบสถ์ไม่ได้จึ่งทำหลังขวางขึ้นนั้นไม่ขัดขวางอะไร แต่หลังขวางนั้นจะต้องทำทีหลัง ที่ต่อหลังขวางออกไปสองข้างก็ปรากฏว่าทำทีหลัง เพราะก่อผนังคาบใบสีมาไว้ครึ่งหนึ่ง

วัดบางอ้อช้างนั้นเกล้ากระหม่อมก็นึกได้ว่ามีศาลาดี เคยไปเที่ยวและไปเลี้ยงอาหารกลางวันกันบนนั้น แต่เห็นจะทีหลังท่านสมภารองค์ที่ไปเชิญพระศาสดาลงมามาก

การเล่นพระจับฉ่ายนั้นเขาเล่นกันมานานแล้ว ไปเห็นที่วัดพระธาตุเมืองสรรค์เขาก็ตั้งพระระเบียงจับฉ่าย

๓) ข้อพระดำรัสเรื่องกฐินพระราชทานนั้น เห็นชอบด้วยพระดำรัสเป็นอย่างยิ่ง แต่จะพูดขอตัวไปโดยตรงก็ขัดขวาง ด้วยเขาไม่ได้บอกมาโดยตรง หากรู้มาด้วยทางลัดก็ต้องพูดไปทางลัด จะสำเร็จหรือไม่ก็ไม่ทราบ ส่วนข้ออื่นนั้นไม่เป็นไร เขาไม่ได้บังคับมา จะไปก็ได้หรือไม่ไปก็ได้

๔) พระดำรัสเรื่องพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปวัดต่างๆ นั้นดีมาก ทำให้แจ้งใจในท้องเรื่องขึ้นมาก หนังสือเรื่องพระราชพิธี ๑๒ เดือนนั้น ก็รู้อยู่ว่าเป็นหนังสือสำคัญแต่ไม่ได้ดู ออกจะทรุดไปมาก

๕) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เข้ม) ก็เข้าไปอยู่ที่กุฏิหมู่ตำหนัก เห็นจะลอกเอาแบบพระพิมลธรรม(ยิ้ม)

ที่ตั้งพระอัฐิกรมสมเด็จพระปรมานุชิตก็เห็นไม่ควรอยู่ที่ตรงนั้น ได้พูดกับท่านเจ้าเผื่อนก็แลไม่เห็น มาได้ความจากพระดำรัส เมื่อครั้งท่านยังมีพระชนม์อยู่ ท่านคงรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๔ ที่ตรงนั้น ห้องที่ประทับก็มีแต่ไม่ตั้ง มาตั้งที่อาสน์สงฆ์ข้างประตู ออกจะ “ผิดมนุษย์ม้วย”

๖) ตรัสถึงตั้งศพในเรือนฝรั่งชอบกลมาก เรือนก็ทำสำหรับอยู่ แล้วจะเอาธุระอย่างหนึ่งไปใช้กับธุระอย่างหนึ่งนั้น ย่อมจะขัดขวางอยู่เอง แม้เรือนอยู่อย่างไทยก็ไม่ได้ เว้นแต่จะมีท้องพระโรง นั่นก็ไม่ใช่ธรรมดาแล้ว แม้เป็นวัดก็ไม่ใช่จะตั้งได้ทุกวัดไป ลางวัดก็จะตั้งได้ ลางวัดก็ไม่ได้

๗) เรื่องไปรดน้ำบ่าวสาวผิดนั้น ได้กราบทูลมาก่อนแล้ว การที่ให้คนขับรถไปสืบบ้านที่เชิญนั้นก็ได้ทำ เกล้ากระหม่อมเรียกว่า “สวนสนาม” เว้นแต่ได้ทำต่อเมื่อใบแดงพูดวิปริต ไม่ได้ตั้งเป็นกำหนดไว้

การที่เขาพาคู่บ่าวสาวมาให้รดน้ำนั้นก็เป็นสองนัย นัยหนึ่งพามาเพื่อความสะดวกเช่นตรัส อีกนัยหนึ่งพามาให้รดน้ำเพื่ออาศัยความมีบุญ จำเป็นต้องระวัง

บรรเลง

๘) “เมรุ” สุเมรุ (เป็น “สิเนรุ” ก็ได้) ทั้ง “สุทัศน์” ก็ว่าเขาพระสุเมรุ นี่ว่าไปตามที่นึกได้ จะใช้คำอะไรก็ตามใจทั้งนั้น

คำว่า “สวรรค์” คือเมืองของเทวดานั้น พวกอินเดียคิดว่าตั้งอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ ถ้าเป็นเช่นนั้นเมืองเทวดาก็เล็กกว่าเมืองมนุษย์มาก คำว่าอากาศ” นั้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง เป็นของลอยตัว “ฟ้า” เป็นคำไทย หมายถึงสวรรค์ และอากาศปนกัน ถ้าจะว่าที่ถูกแล้วจะชี้สวรรค์เปะปะไปไม่ได้

ความเห็นเกล้ากระหม่อมซึ่งเกิดขึ้นภายหลัง เห็นว่าจะทำอะไรซึ่งชื่อว่าเมืองสวรรค์แล้วจะต้องไม่เหมือนกับเมืองมนุษย์.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ