วันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ น

๑๖/๘๕

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๕ ตุลาคม ๒๔๘๕

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

บรรเลง

๑. บรรเลงนี่แหละเป็นน้ำเนื้อหนังสือเวร มีอะไรก็เขียนกราบทูลบรรเลง เพราะจะคอยลายพระหัตถ์เวรอย่างแต่ก่อนไม่ได้ ถ้ามีข้ออื่นด้วยก็นับว่าเป็นอติเรกลาภ

๒. การคิดด้วยมันสมองจะต้องเป็นของใหม่ แต่ก่อนเห็นกันว่า ความคิดออกจากหัวใจทั้งนั้น ทางอินเดียก็มีมาก และทางฝรั่งเป็นต้นว่า พูดเรื่องหญิงชายรักกันก็เห็นทำเป็นหัวใจ ตกเป็นว่าความคิดเกิดแต่หัวใจทั้งนั้น แต่นี่เป็นมาทางตะวันตก ส่วนทางตะวันออกยังนึกไม่ออกหรือไม่รู้ ได้ถามพวกเพื่อนซึ่งเขารู้ภาษาญี่ปุ่น เขาก็บอกว่าทางญี่ปุ่นเก่าก็ถือว่าความคิดเกิดแต่หัวใจเหมือนกัน

๓. อ่านหนังสือพิมพ์ข้างไทย พบคำว่า “อำเภอเวียงคุก” อยู่ในเมืองหนองคาย คำว่า “คุก” จะแปลว่ากระไร ต้องเป็นคำตรงข้ามกับทางเรา ทุกวันนี้เป็นของซึ่งไม่พึงปรารถนา คำนี้ทำให้นึกถึงคำ “ดอกทอง” ว่าเดิมจะเป็นคำดี ไม่ใช่หยาบที่ถึงแก่จะเอามาด่ากันเสียดอกกระมัง ตัวอย่างก็มี เช่น “นามสกุล” ก็คือ “โคตร” นั่นเอง แต่เอา “โคตร” ไปใช้เปนคำหยาบเสียแล้วก็ต้องตั้งเปลี่ยนเรียกใหม่

๔. เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ค่ำแล้ว ชายดิศกับหญิงหลุยมาที่บ้านคลองเตย ชายดิศบอกว่าฝ่าพระบาทจะเสด็จกลับบางกอก ประทับที่วังวรดิศ เกล้ากระหม่อมก็ดีใจ จะได้มีโอกาสไปเฝ้าบ้าง ที่ปีนังนั้นไกลมาก

๕. เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน องค์ธานีเธอส่งสมุด “วารสาร” มาให้ สมุดนี้ได้ตีพิมพ์มาทีหนึ่งแล้ว จัดว่าเป็นของ “สยามสมาคม” ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น “สมาคมค้นวิชาประเทศไทย” ยาวไม่น้อย เดี๋ยวนี้เขาชอบยาว ๆ กัน เช่น ชื่อพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาก็ยาวๆ พระราชกฤษฎีกาซึ่งออกเมื่อเร็วๆ นี้ก็มีชื่อว่า “พระราชกริสดีกากำหนดคุณสมบัติ พื้นความรู้ และวิธีคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตังปลัดอำเภอประจำตำบล ในกรมมหาดไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕” อันชื่อยาวๆ นั้น ถ้าใครเรียกไม่หมดก็เสียไป เห็นได้ว่าเดี๋ยวนี้จำเริญกว่าแต่ก่อนมาก ถ้าชื่อแต่ก่อนตั้งไว้สั้นไปก็ต้องต่อ

กราบทูลบรรเลงถึงชื่อก็เลยไป ที่จริงตั้งใจจะกราบทูลถึง “บทเห่เรือจับระบำ” จะเทียบคำบทเห่กับแหล่เทศน์ถวาย ด้วยได้กราบทูลมาทีหนึ่งแล้ว ว่าไม่ใครก็ใครคงเอาอย่างกันข้างหนึ่ง เผอิญในสมุดนั้นมิพระวิจารณ์ของฝ่าพระบาทในเรื่อง “เห่ช้าลูกหลวง” มาด้วย ทำให้นึกได้ จึงจะเทียบถวายในบัดนี้

บทเห่

“เห่เอยเห่สวรรค์ เมื่อวสันต์ฤดูฝน
นักขัตฤกษ์เบิกบน ให้มืดมนเมฆา
เทวาวลาหก ให้ฝนตกลงมา
ฝูงเทพเทวา กับนางฟ้าฟ้อนรำ
เล่นฝนตีโทนทับ ร้องรับจับระบำ
เป็นคู่เคียงเรียงรำ ระรวยทำท่วงที”

แหล่เทศน์

“แกะเป็นเรื่องเมืองสวรรค์ เมื่อวสันตฤดูฝน
นักขัตฤกษ์เบิกบน ก็มืดมนเมฆา
เทวดาวลาหก ให้ฝนตกลงแสนห่า
ฝูงเทพเทวา กับนางฟ้าฟ้อนรำ
หันเหียนเวียนวง ต่างองค์จับระบำ
เป็นคู่คู่ดูขำ เยื้องทำท่าที”

อะไรต่อไปอีกก็ไม่จำได้แม่น เอาโน่นชนนี่ปนกันยุ่ง ต่อไปก็จำได้แม่น แต่ต้นแห่งบทรามสูร จะเทียบถวายตามมีตามเกิด

บทเห่

“เห่เอยเห่นาม เทพรามสูรมาร
มีมือถือขวาน อยู่วิมานมณีนิล
หน้าเขียวเขี้ยวงอก สีเหมือนดอกอินทนิล
เมืองสวรรค์ชั้นอินทร์ เกรงสิ้นทุกเทวา
เลี้ยวรอบขอบพระสุเมรุ ตรวจตระเวนเวหา
เห็นนางเอกเมขลา ถือจินดาดังไฟ”

ลางคนก็ว่ายักไปที่ตรงรูปร่าง แต่ข้างต้นนั้นเหมือนกัน ว่า

“มีมือถือขวาน อยู่วิมานเมฆี
หน้าเขียวเขี้ยวขาว ดูเหมือนดาวโรหิณี
ในเมืองสวรรค์ชั้นโลกีย์ ย่อมกลัวฤทธีทุกเทวา”

ต่อไปก็เข้าคำเดิมซึ่งว่ากัน เห็นได้ว่าอย่างหลังนี้เป็นแก้ ทีจะแก้เพราะดอกอินทนิลนั้นเป็นสีม่วงไม่ใช่เขียว แต่เขียวหรือม่วงก็หมายความว่าผิวดำนั่นเอง แหล่งที่เถียงกันมีถมไป ถ้าจะว่าที่ถูกแล้วรามสูรไม่ใช่เทวดาไม่ใช่ยักษ์ เป็นอวตารตนหนึ่ง มีสัญชาติเป็นพราหมณ์ แต่ผู้แต่งบทจะรู้ไม่ได้ คำ “วสันต์” ก็เหมือนกัน เราเข้าใจว่าหมายถึงฤดูฝน แต่ไม่ใช่ เป็นชื่อฤดูอันหนึ่งซึ่งเขาแบ่งหก มีวสันตะ คิมหะ วัสสานะ สรทะ เหมันตะ สิสิระ ฤดูหกนี้เราจะว่าไม่รู้ก็ใช่ที เพราะเรามีฤดูสารท แต่ฤดูของเราแบ่งสาม เราก็ยึดเอาแบ่งสามเป็นที่ตั้งจึ่งหลงไป ทางฝรั่งเขาถือเอาวสันตะว่าเป็นฤดูสปริง แต่จะถูกหรือไม่ถูกไม่ทราบ ฤดูของฝรั่งเขาแบ่งสี่ ตกลงเป็นในระยะปีหนึ่ง จะแบ่งเป็นกี่ฤดูและฤดูละกี่เดือนก็ได้ตามแต่จะแบ่ง อันถ้อยคำนั้นยากนัก ถ้าไม่ได้คิดและไม่สอบสวนก็มีแต่ผิด นี่ว่าถึงผู้รู้ ส่วนผู้ไม่รู้นั้นจะเห็นอย่างไรไม่ทราบ

เห็นบทกล่อมในหนังสือนั้นมีกล่าวถึงนกแก้วกินลูกจันทน์ ทำให้นึกถึงบทสุวรรณหงส์อันได้เคยเห็นมาและจำได้ว่า “เจ้านกแก้วเอย นกแก้วคอขวั้น จับจิกลูกจันทน์ พัลวันพูดพลอด เห็นนางพลางทัก ว่าสาวรักสาวกอด สาวชาวตลาดยอด กอดคอเจ้าแก้วเอย” ออกจะตื่นใจที่เห็นคำบทนี้ว่าเรารู้ความจริงแล้ว เพราะเหตุที่สอนกันให้นกแก้วพูดเป็นว่า “เจ้าสาวต่อยอด” ไม่ได้ความ นกโนรีก็มีในบทกล่อมต่อจากบทนกแก้วไป ในเรื่องสุวรรณหงส์ก็มี แต่จำไว้ไม่ได้ถ้วนถี่ จำได้แต่ว่า “มันร้องสีแสสีแสก ส่งเป็นภาษาแขก ว่าหัสรีมันจุกเอย” บทสุวรรณหงส์ลางทีจะถ่ายเอาคำกล่อมมา ที่ชื่อว่านกโนรีนั้นก็ทีเป็นภาษาแขก

ย้อนหลัง

๖. ตามที่กราบทูลมาถึงผลลางสาด บัดนี้ได้ทราบว่าเหลือง เป็นทีว่าสุกถึงสามหน ต้นที่ใกล้เรือนจึงรอให้เหลืองถึงสามหน ส่วนต้นที่ไกลเรือนนั้นเหลือเพียงสองหนก็เก็บออกสู่ตลาด เพราะทนค้างคาวและนกไม่ไหว

๗. ที่กราบทูลว่า “เจริญโลภธรรม” ตามคำกรมหมื่นมหิศรว่านั้นแปลว่าเห็นชอบตามนั้น ด้วยไม่ผิดจากความคิดปุถุชนไป

รายการ

๘. เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ได้รับหมายกำหนดการเฉลิมพระชันษาเถื่อนๆ แต่ครั้นรุ่งขึ้นก็ได้รับหมายทางราชการ อันได้แบ่งส่งมาถวายให้ทราบฝ่าพระบาทด้วยในคราวนี้แล้ว

ควรจะกราบทูลให้ทรงทราบเสียด้วย ว่าที่หมายกำหนดการเปลี่ยนวิธีเขียนหนังสือไปนั้น เพราะรัฐบาลให้เปลี่ยนด้วยต้องการจะให้เรียนภาษาไทยได้ง่าย เลิกพยัญชนะ ๑๓ กับสระ ๑๕ เปลี่ยนนานแล้ว ควรจะกราบทูลให้ทรงทราบแต่ไม่ได้กราบทูล

๙. เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน สำนักพระราชวังมีหมายมา ว่าสมเด็จพระพันวัสสาจะทรงทำบุญพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า กับสมเด็จพระศรีพัชรินทรา ที่โบสถ์วัดพระแก้ว วันที่ ๒๗ กันยายน เวลา ๑๐.๐๐ น.

๑๐. ผัน ณ นคร น้องเจ้าจอมสว่าง ณ นคร เจ้าจอมในรัชกาลที่ ๕ มาหาเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ยื่นใบดำให้ฉบับหนึ่ง บอกจะทำบุญให้เจ้าจอมสว่าง ณ ที่อยู่ ในวันที่ ๒๕ และ ๒๖ ครั้นวันที่ ๒๗ จะชักศพไปวัดเทพศิรินทร์ พระราชทานเพลิงเวลา ๑๖.๐๐ น. พ้องกับงานสมเด็จพระพันวัสสาทรงทำบุญพระบรมอัฐิ แต่ต่างเวลากัน

ไปงาน

๑๑. (๑) งานเฉลิมพระชันษา ไปแต่เซ็นชื่อ นอกกว่านั้นไม่ได้ไป

(๒) สมเด็จพระพันวัสสาทรงทำบุญพระบรมอัฐินั้นได้ไป แต่ไม่ได้เสด็จมา

(๓) เผาศพเจ้าจอมสว่างนั้นไม่ได้ไป เป็นแต่ส่งเครื่องขมาศพไป

กราบทูล

๑๒. หญิงอามเอา “เซอคุลา” สำนักพระราชวังซึ่งได้รับให้ดู กล่าวด้วยเจ้าเขียนข่าวราชการไปลงหนังสือพิมพ์ข่าว แต่หนังสือฉบับนี้เกล้ากระหม่อมไม่ได้รับ

๑๓. เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ได้รับหนังสือบริษัทตีพิมพ์บางกอกไตมส์ บอกว่าหนังสือพิมพ์บางกอกไตมส์จะเลิกตั้งแต่วันพรุ่งนี้ไป เงินที่ให้ไว้เต็มปีจะแบ่งคืนให้ ให้ไปรับ หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ฝ่าพระบาทก็ทรงรับ แต่เขาจะกราบทูลให้ทรงทราบเมื่อไรนั้นไม่ทราบ

๑๔. ที่บางกอกน้ำท่วมจะมากกว่าปี ๒๔๖๐ เสียอีก เมื่อเสด็จกลับจะได้ทอดพระเนตรเห็น ที่บ้านปลายเนินอยู่ดีกินดี เพิ่งจะท่วมเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ท่วมเอามากเสียด้วย

เรียน

๑๕. จะได้ว่าฝ่าพระบาททรงพระวินิจฉัยชื่อพระสิงห์ว่า สิงหฬะ ทำให้เข้าใจว่าชาวเชียงใหม่เขาเรียก “พระสิหิงค์” กันว่า “พระสิงค์” เช่นนั้นถูกหรือไม่

พระสิหิงค์นั้นเดี๋ยวนี้มีสามองค์ คือที่นครศรีธรรมราช พระที่นั่งพุทไธสวรรย์และเชียงใหม่ จำคำพระองค์เจ้าประดิฐวรการได้ว่าในตำนานว่าทูตเอาทูนหัวว่ายน้ำไป จะต้องเป็นองค์เล็ก ถ้าโตก็คอหัก หนังสือซึ่งหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ส่งมาให้ก็ได้อ่าน ในนั้นกล่าวว่าพระสิหิงค์เกิดที่ลังกา แต่ทูตลังกาไม่รู้เรื่องเลย ข้อนั้นไม่สำคัญอะไร อาจเป็นทูตลังกา “โซด” ก็ได้.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ