วันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๕ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๕

ที่ ๗/๘๕

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวร “ดุจว่าเลื่อนลอยมาโดยนภากาศ” เพราะมิได้คาดว่าจะอาจส่งมาได้ มาถึงพร้อมกัน ๔ ฉบับ คือฉบับที่ ๑๐/๘๕ ลงวันที่ ๑ กรกฎาคม ฉบับที่ ๑๑/๘๕ ลงวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ฉบับที่ ๑๒/๘๕ ลงวันที่ ๓ สิงหาคม และฉบับที่ ๑๓/๘๕ ลงวันที่ ๒๓ สิงหาคม รวมมาในซองเดียวกัน และซองก็ผนึกอย่างบริสุทธิ์ไม่มีรอยแคะไค้อย่างใดด้วย หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรอีกมีความยินดีเพียงใดทรงนึกดูเถิด

ทางฝ่ายหม่อมฉันตั้งแต่เขียนจดหมายเวรฉบับที่ ๖/๘๕ เมื่อกลางเดือนมิถุนายนแล้ว ต้องเก็บรออยู่เกือบ ๒ เดือนจึงส่งไปได้ก็ออกท้อใจ แต่นั้นมาถึงได้ออกปากแก่ลูกว่า “เสด็จอากับพ่อเห็นจะต้องเลิกเขียนจดหมายเวรถึงกันเสียดอกกระมัง เพราะเขียนก็ส่งไม่ได้ด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย” ในระหว่างนั้นหม่อมฉันนึกถึงเรื่องซึ่งควรเขียนในจดหมายเวรได้หลายเรื่อง ก็ไม่มีใจจะเขียนสำรองไว้ แต่มาบัดนี้เดชะบุญกลับมีโอกาสที่จะกลับเขียนจดหมายได้อีก คิดดูถ้าเขียนทูลสนองลายพระหัตถ์ทั้ง ๔ ฉบับ กับทูลบรรเลงเรื่องที่สะสมไว้ในจดหมายเวรฉบับเดียวกันจะยืดยาวนัก จึงจะเขียนจดหมายฉบับที่ ๗/๘๕ ของหม่อมฉันทูลสนองลายพระหัตถ์ฉบับที่ ๑๐/๘๕ กับที่ ๑๑/๘๕ แต่ ๒ ฉบับก่อน

ทูลสนองลายพระหัตถ์ฉบับที่ ๑๐/๘๕

๑) หม่อมฉันไม่ได้รับหนังสือพิมพ์ข่าว ทั้งที่ออกในปีนังนี้หรือในเมืองไทย หรือประเทศใด ๆ ในโลกมาเกือบปีหนึ่งแล้ว หนังสือพิมพ์ที่ไหนว่ากระไร หม่อมฉันจึงไม่รู้ ต่อนานๆ จึงได้ยินคนอื่นเขาเล่าถึงข่าวในหนังสือพิมพ์สักครั้งหนึ่ง การที่ทรงเลือกหนังสือพิมพ์ตัดท้ายลายพระหัตถ์เวรประทานมาบ้าง ถึงนาน ๆ ครั้งหนึ่งก็ยังดีเพราะคงมีสาระทั้งนั้น ถ้าทรงเห็นอะไรในหนังสือพิมพ์ที่คาดว่าหม่อมฉันจะชอบรู้ ตัดส่งประทานมาเพียงเท่านั้นก็จะขอบพระคุณ

๒) การที่เอาสำเนาจดหมายของผู้อื่น มีถึงผู้ตายมารวมพิมพ์แจกในงานศพนั้น ถ้าทำถูกก็อาจจะเป็นของดีมีประโยชน์ได้ คือต้องเล่าประวัติเป็นประธานเหมือนอย่างว่า “บาลี” เอาจดหมายของผู้อื่นตัดแต่งบางวรรคบางตอน หรือแม้ทั้งฉบับแทรกเป็นแห่งๆ เหมือนอย่างว่า “อัตถกถา” สำหรับให้เห็นความในเรื่องเล่าชัดขึ้น เชิดชูเกียรติ์ผู้ตายในเรื่องนั้น ที่เอาสำเนาจดหมายลงทั้งหมดเป็นเพราะผู้รวมประสงค์แต่จะให้คนชมผู้ตายว่า “ดี” เท่านั้น ไม่ได้คิดหรือมีความรู้ตลอดไปจนถึงว่าตรงไหนจะทำให้เสื่อมเสียอย่างไรบ้าง จึงเป็นเช่นที่ทรงปรารภ

๓) โทรเลขถวายพระพรวันประสูติของทูลกระหม่อมชาย หม่อมฉันก็ต้องหยุด ฝ่ายท่านก็ต้องหยุดไม่ได้ประทานมาเมื่อวันเกิดของหม่อมฉันเหมือนกัน ในหมู่ที่เกิดสงครามขึ้นทางตะวันออกนี้พวกญาติที่แยกกันอยู่ต่างด้าวเห็นจะเป็นห่วงกันหมด ทูลกระหม่อมชายก็คงต้องย้ายจากตำหนักเดิม ไปอยู่อรัญวาสเหมือนอย่างตัวหม่อมฉันเคยย้ายไป แต่จะเป็นอย่างไรต่อมาก็ไม่รู้ ได้แต่คาดว่าคงปลอดภัย หม่อมฉันเคยได้ยินครั้งหนึ่ง ก็เป็นแต่ข่าวเล่าลือว่าไทยมีอยู่เมืองชวารวม ๒๒ หรือ ๒๓ คน และปลอดภัยด้วยกันหมด รู้เพียงเท่านั้น

๔) ที่ว่ากลับมีรถไฟเดินระหว่างกรุงเทพ ฯ กับปีนังเสมอเหมือนอย่างเมื่อก่อนสงครามนั้น ที่นี่ก็ลือกันหลายครั้งหลายกำหนดมาแล้ว แต่เปล่าทั้งนั้น หม่อมฉันเห็นว่าสงครามยังมีอยู่ตราบใด คงยังกักทางคมนาคมของมหาชนอยู่ตราบนั้น

๕) เรื่องประดิทินกำหนดเวลาเปลี่ยนมีชื่อ ชวด ฉลู เป็นต้นนั้น หม่อมฉันก็เห็นว่าถ้าอย่าให้ผิดประดิทินทางโคจรของพระอาทิตย์ หรือพระจันทร์แล้ว จะกำหนดขึ้นปีใหม่เดือนไหนก็ได้เหมือนกัน และเคยมีมาแล้วยังแลเห็นได้ด้วยชื่อเดือน ประเพณีเดิมคงจะเปลี่ยนขึ้นใหม่เมื่อเดือนอ้าย จึงให้ชื่อเดือนนั้นหมายความว่าเดือนที่ ๑ หรือเดือนต้นของปี แต่ภายหลังจีนก็เลื่อนไปเปลี่ยนปีต่อเดือนที่ ๓ ไทยเราก็เลื่อนไปเปลี่ยนปีต่อเดือนที่ ๕ เมื่อไทยจะใช้ประดิทินสุริยคติกาล ก็เปลี่ยนขึ้นปีใหม่ต่อเดือนเมษายน อันเป็นเดือนที่ ๔ ตามปีสุริยคติ เมื่อเร็วๆ นี้มาเปลี่ยนเป็นขึ้นปีใหม่ของไทยเมื่อขึ้นเดือนมกราคม อันเป็นเดือนที่ ๑ ก็ไม่เห็นเป็นไร คนพูดกันอยู่คราวหนึ่งแล้วชินเข้าก็เงียบไป เมื่อคนรุ่นหลังซึ่งเคยเห็นแต่ปีเดือนอย่างเปลี่ยนใหม่ก็คงเลยเป็นตำรา ไม่รู้สึกการที่เปลี่ยนกำหนดนั้นเลย ไม่ต้องว่าถึงเขาอื่นแม้ตัวหม่อมฉันเอง เคยนับวันอย่างขึ้นแรมมาแต่เด็กจนเปลี่ยนประดิทินเป็นอย่างสุริยคติเมื่อ ร.ศ. ๑๐๘ จนทุกวันนี้ “จะเป็นขึ้นแรมกี่ค่ำก็จำไม่ได้” ด้วยไปใช้ชินในทางสุริยคติเสียแต่อย่างเดียว อีกประการ ๑ การที่เปลี่ยนเวลาขึ้นปีใหม่นั้นเป็นแต่เลื่อนเดือนเท่านั้นปียังอยู่ เคยชื่ออย่างไรก็คงอยู่อย่างนั้น มีที่จะยุ่งยากอยู่แต่เมื่อว่าถึงเหตุการณ์ที่ล่วงมาแล้ว อันเกิดขึ้นในระหว่างเดือนมกราคมกับเดือนเมษายน จะเกิดทุ่มเถียงกันว่าเกิดปีไหนและศักราชเท่าใด แต่ก็คงใช้ตามจดหมายเหตุเดิมไม่มีใครคิดทอน

๖) กำแพงกับค่ายคูนั้นผิดกัน หม่อมฉันเคยเอาใจใส่พิจารณาคิดเห็นดังจะทูลต่อไปนี้ แต่เพื่อสะดวกแก่คำอธิบายจะเรียกสิ่งซึ่งสร้างล้อมบริเวณทุกชนิดรวมกันว่า “เขื่อน” ต่อไป ลักษณะเขื่อนนั้นดูเหมือนสร้างโดยเจตนาต่างกันเป็น ๒ อย่าง อย่าง ๑ จะเรียกว่า “เขื่อนกัน”” สำหรับกีดกันเพียงแต่มิให้มนุษย์หรือแม้สัตว์เดรัจฉานเข้าไปในบริเวณ เบื้องต้นแต่สะด้วยหนาม ทำรั้วและระเนียดด้วยไม้ ตลอดจนก่อเป็นกำแพงด้วยอิฐปูน เขื่อนอีกอย่างหนึ่งนั้นจะเรียกว่า “เขื่อนป้อง” สำหรับต่อสู้ป้องกันมิให้ศัตรูเข้าไปได้ถึงในบริเวณ ค่ายและเมืองอยู่ในพวกนี้ ผิดกับ “เขื่อนกัน” ในข้อสำคัญที่ “เขื่อนป้อง” ต้องมีคูกับเชิงเทินรอบ แต่เขื่อนกันหาต้องมีไม่ “ค่าย” นั้น แม้อย่างต่ำที่เจ๊กตั้งต้มเหล้าเถื่อนที่ในป่า ย่อมขุดคูเอาดินในคูขึ้นทำเป็นเชิงเทินยังตัวเมื่อต่อสู้ศัตรู ค่ายที่ตั้งกองทัพก็ขุดคูเอาดินในคูทำเชิงเทินอย่างเดียวกัน ผิดกันแต่เพิ่มปักเสาไม้เป็นระเนียดบนแกใกล้เชิงเทิน สูงพอบังตาศัตรูมิให้เห็นคนข้างใน และทำช่องรายที่ระเนียดสำหรับสอดปืนยิงศัตรูได้ด้วย ค่ายพระเจ้าหงสาวดีที่สมเด็จพระนเรศวรปีนก็คงเป็นค่ายอย่างนี้ อันอาจจะวิ่งขึ้นเชิงเทินทางข้างนอกไปปีนเสาระเนียดซึ่งไม่สู้สูงนัก เห็นพอจะเหนี่ยวพระองค์โหนข้ามเข้าไปได้ หม่อมฉันเคยได้พิจารณารอยค่ายครั้งสมเด็จพระนเรศวร รบกับพวกหงสาวดี ยังมีอยู่ที่ในแขวงเมืองกาญจนบุรี และเมืองสุพรรณหลายแห่ง ก็มีคูและเชิงเทินทั้งนั้น เป็นแต่เสาระเนียดผุหายเสียหมดแล้ว เมืองสร้างชั้นเดิมก็ทำอย่างค่ายเช่นพรรณนามา ผิดกันแต่คูลึกและกว้างใหญ่ บางแห่งก็เอาแม่น้ำเป็นคู เชิงเทินก็กว้างใหญ่และถมสูงมาก กำแพงเมืองกอบนอกใกล้เชิงเทินสูงขนาดเพียงเสมอหัวไหล่คนยืน มีใบเสมาบังตัวคนอยู่บนกำแพงนั้น สร้างลักษณะอย่างนี้ทั้งเมืองสุโขทัยและเมืองกำแพงเพชร จึงเห็นว่าเป็นแบบเดิม อันขยายส่วนออกมาจากค่ายนั้นเอง

แต่มีแบบใหม่ซึ่งคิดแก้ไขจากแบบเดิมเมื่อภายหลังทั้งเขื่อนกันและเขื่อนป้อง คือแก้ไขเขื่อนกันให้คนภายในอาจจะต่อสู้ “ศัตรูซึ่งเกิดขึ้นเป็นปัจจุบันทันด่วน” ในบ้านเมือง ตัวอย่างที่ได้เห็น เช่นที่เมืองระนอง กำแพงบ้านเจ้เมืองแลดูข้างนอกถือปูนเป็นผนังทึบเหมือนกำแพงบ้านอย่างสามัญ เข้าไปในบ้านแล้วดูจากข้างใน จึงเห็นก่อรวงกำแพงเป็นช่องๆ รอไว้สำหรับสอดปืนยิงได้รอบบ้านเมื่อเกิดเหตุการณ์ เช่นพวกกรรมกรจีนเคยเป็นขบถเหมือนครั้งก่อน ก็จะกระทุ้งตรงช่องที่รวงให้ทะลุแล้วเป็นที่ต่อสู้ศัตรูได้ อีกแห่งหนึ่งเห็นอังกฤษทำไว้ในบริเวณโรงโปลิศที่เมืองมลิวัน เอาไม้แก่นปักระเนียดทำอย่างคอกใหญ่ ๆ สองชั้น คอกชั้นในมีหอคอยสำหรับผู้บังคับการดูได้รอบตัว ใต้หอคอยลงมาเป็นที่เก็บเงิน เงินที่เก็บนั้นเอาเทกองไว้กับพื้นไม่ใส่ถุง เขาบอกว่าถึงพวกผู้ร้ายเข้าไปได้ก็จะเอาเงินไปได้แต่เพียงคนละกำมือ ไม่เอาไปได้มากเหมือนใส่ถุง คอกชั้นนอกมีหอคอยทุกมุม มีตะพานคนขึ้นรายรักษาทุกด้าน และมีช่องสำหรับคนยืนกับพื้นยิงปืนรายรอบอีกชั้นหนึ่ง เขาชี้แจงว่าเวลาปกติคนย่อมอยู่แยกย้ายอยู่กันตามสบาย เวลาเกิดเหตุร้ายจะรวมกันเข้าต่อสู้ที่ในคอกนั้น ตัวอย่างที่ได้เห็นอีกแห่งหนึ่งนั้นชอบกลนักหนา คือที่พระราชวังพม่า ณ เมืองมัณฑะเล เขื่อนพระราชวังชั้นนอกเอาไม้ซุงปักเป็นระเนียดสูงราวสัก ๑๐ ศอก แต่รื้อเสียหมดแล้วเขาเหลือไว้ให้ดูหน่อยเดียว ได้แต่สันนิษฐานว่า เมื่อยังบริบูรณ์ก็เห็นจะมีที่สำหรับคนประจำต่อสู้ศัตรู นึกขึ้นใกล้ๆ กำแพงพระบรมมหาราชวังก็เป็นเครื่องป้องกันบ้านอย่างเดียวกันนั้นเอง เพราะไม่มีทั้งคูและเชิงเทินอย่างกำแพงเมือง

กำแพงเมืองแบบที่คิดทำขึ้นชั้นหลังนั้น ลักษณะก็คือแก้เขื่อนเมืองอย่างเดิมด้วยตัดเชิงเทินข้างหน้าเสีย ก่อกำแพงรับใบเสมาขึ้นไป แต่แผ่นดินตรงอกไก่เชิงเทิน แต่คงมีทั้งคูและเชิงเทินไว้ข้างใน ประสงค์จะไม่ให้ศัตรูปีนเข้าไปในเมืองได้โดยลำพังตัวเหมือนอย่างเชิงเทินก็เป็นเช่นนั้นได้จริง จึงเห็นคุณตั้งแต่ชั้นแรก คงเป็นของทำยากด้วยใช้หินก่อกำแพง จึงทำแต่ถิ่นที่หาหินได้ง่ายหรือมีกำลังผู้คนมาก เช่นที่นครธมเป็นต้น ในเมืองไทยก็มีแต่เมืองศรีสัชนาลัยแห่งเดียว เพราะในถิ่นที่สร้างเมืองพื้นเป็นศิลาแลงอยู่ทั่วไป พระนครศรีอยุธยาแต่เดิมปราการก็เป็นเชิงเทินเหมือนอย่างสุโขทัย จนถึงสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์แต่งพระนคร เมื่อเสร็จศึกช้างเผือกแล้ว จึงแปลงปราการพระนครเป็นกำแพง แต่หาหินยากจึงก่อด้วยอิฐ พระนครในกรุงเทพฯ นี้สร้างตามอย่างพระนครศรีอยุธยา แต่เดิมก็มีเชิงเทินถมดินอยู่ข้างในเพิ่งรื้อเสียในรัชกาลที่ ๕ เค้าที่หม่อมฉันสำเหนียกเป็นดังทูลมานี้

๗) คำว่า “สัตว์” นั้น ถ้าว่าทางวิชาก่อนประวัติศาสตร์ หมายความว่าสิ่งซึ่งมีชีวิต อันมีลักษณะผิดกับสิ่งอื่นด้วย ต้องหายใจอย่าง ๑ กับต้องกินอาหารอย่าง ๑ พฤกษชาติเขาก็นับว่าเป็นสัตว์ คำที่เรียกต่างกันว่า มนุษย์ก็ดี ต้นไม้ก็ดี เป็นแต่ชื่อของประเภทสัตว์ แม้พระพุทธเจ้าเมื่อตรัสรู้แล้ว ถ้าว่าตามทางวิทยาศาสตร์ก็ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่นั่นเอง

ทูลสนองลายพระหัตถ์ฉบับที่ ๑๒/๘๕

๘) วินิจฉัยเรื่องต้นชมพู่กับต้นหว้านั้น มาเป็นเรื่องให้หม่อมฉันออกสนุกเริ่มด้วยสืบได้ความว่าภาษามลายูก็เรียกลูกชมพู่ว่า “ชมบู่” เหมือนกับไทย คิดเห็นว่าจะได้ชื่อนั้นมาจากที่อื่นด้วยกันทั้งไทยและมลายู หม่อมฉันนึกขึ้นได้ถึงทางที่จะสืบไป จึงสั่งให้เขาไปซื้อลูกชมพู่มาจากตลาดพวก ๑ ถึงเวลาบ่ายหม่อมฉันไปที่วัดมหินทรารามของชาวลังกา เอาลูกชมพู่ไปให้ท่านคุณรัตนผู้เป็นอธิการดูแลแล้วถามว่า “ลูกไม้อย่างนี้ที่เมืองลังกามีหรือไม่” ท่านบอกว่า “มี” ถามว่าชาวลังกาเรียกว่าอย่างไร ท่านตอบว่าเรียกว่า “ซัมพู” ถามต่อไปว่าที่ในพระบาลีเรียกว่า “ชมฺพูรุกฺโข” นั้น หมายความว่าต้นชมพู่นี้หรือ ท่านตอบว่าต้นชมพู่นี้เอง เหมือนเช่นเรียกน้ำอัฐบานอย่างหนึ่งว่า “ชมฺพูปาณี” ก็คือน้ำคั้นจากลูกชมพู่นี้เอง ถามต่อไปว่าคำ “ชมฺพูทีโป” หมายความว่าชมพู่นี่หรือ ท่านตอบว่าไม่ใช่ชมพู่เช่นนี้ เป็นต้นไม้พวกเดียวกันแต่อีกพันธุ์หนึ่งต่างหาก ก็ติดอยู่เพียงนี้ด้วยจะถามต่อไปถึงต้นหว้าหม่อมฉันก็ไม่รู้จักเรียกในภาษาอังกฤษ จะเรียกเป็นภาษาไทยว่า ต้นหว้า ท่านคุณรัตนก็คงไม่เข้าใจ จึงสอบได้แต่เพียงนั้น เมื่อกลับมาถึงบ้านหม่อมฉันก็เปิดดูอภิธานบาลีของจิลเดอส์ มีศัพท์ Jambu แปล Rose-Apple ก็ตรงกับชมพู่ แต่แกแยกศัพท์ชมพูทวีปไว้ต่างหาก ใช้สระอุว่า Jambudipo แปลเพียงว่ากำหนดส่วนหนึ่งของโลก ไม่ได้แปลศัพท์ชมพูด้วย หม่อมฉันค้นในคาถามหาชาติต่อไป ในกัณฑ์มัทรีตรงที่เรียกกันว่า “แหล่ต้นหว้า” นั้น คาถาก็ขึ้นว่า “อิเมเตชมฺพุกา รุกขา” ใช้สระอุเหมือนกัน ในกัณฑ์จุลพนมีคาถาแห่ง ๑ ว่า “อมฺหากปิตฺพุกา ปนสา สาลาชมฺพู วิเภทกา” ทูลกระหม่อมทรงแปลว่า “มะม่วง มะขวิด ขนุนป่า และหว้าปรู ชมพู่อยู่ปนกับต้นรัง” ดังนี้ ดูมีเค้าต่างกันแต่ด้วยสระ

๙) เจ้าพระยาพิชเยนทรกับพระยาสุรินทราชาตาย หม่อมฉันรู้สึกอาลัยอยู่ ด้วยเคยอยู่กับหม่อมฉันมาแต่เด็กและหม่อมฉันนำเข้ารับราชการทั้ง ๒ คน เจ้าพระยาพิชเยนทร์นั้นบิดาดูเหมือนชื่อกลั่น (หรืออะไรจำไม่ได้แน่) เป็นทหารมหาดเล็ก ภายหลังปรากฏว่าเป็นเชื้อสายสืบสาวลงมาจากพระยากลาโหม (ทองอินทร์) วังหน้ารัชกาลที่ ๑ แต่หม่อมฉันไม่ทราบ นายกลั่นนำลูกชายมาให้หม่อมฉันแต่ยังเด็ก ๓ คน คนใหญ่ชื่อมุ่ย โกนจุกแล้ว คนกลางชื่ออุ่ม (คือเจ้าพระยาพิชเยนทร์) ยังไว้จุก หม่อมฉันทำพิธีโกนจุกให้ที่บ้านเก่า น้องคนเล็กชื่อเชย เมื่อหม่อมฉันไปอยู่กรมยุทธนาธิการ ส่งไปเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบกทั้ง ๓ คน นายมุ่ยตายแต่ยังหนุ่ม นายเชยได้เป็นนายทหารรับสัญญาบัตร ดูเหมือนจะเป็นหลวงชัยเดชะ แต่ก็ตายแต่ยังหนุ่ม เหลือแต่นายอุ่มได้เป็นหลวงสรสิทธิยานุการ ไปเป็นองครักษ์สมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เมื่อทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชอยู่ในยุโรปหลายปี จึงเลยได้ดีทางทหารจนเป็นเจ้าพระยาพิชเยนทร์ เมื่อรัชกาลที่ ๗ พระยาสุรินทราชานั้น เป็นลูกพระอินทราชาเจ้าเมืองพนัสนิคม ชื่อตัวว่ากระไรหม่อมฉันลืมไปเสียแล้ว พระอินทราชาคนนั้นเป็นชาวกรุงเทพฯ เคยอยู่กับเจ้าพระยาภาณุวงศ์ จึงนิยามส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนภาษาฝรั่ง พอเสร็จการเรียนบิดาก็พามาให้หม่อมฉันเมื่อเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย หม่อมฉันให้เข้ารับราชการในกรมสรรพากร ต่อมาสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ เมื่อยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชตรัสขอไปอยู่ในสำนักทอดหนึ่ง ถึงรัชกาลที่ ๖ ได้กลับมารับราชการกระทรวงมหาดไทยอีก จนได้เป็นพระยาสุรินทราชา สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต แล้วทูลกระหม่อมชายย้ายเอามาเป็นอธิบดีกรมสาธารณสุขในรัชกาลที่ ๗ คุณหญิงเนื่องสุรินทราชาก็นับเป็นเครือญาติกับหม่อมฉัน ด้วยเป็นหลานพระอนุรักษ์โยธาซึ่งป็นลูกพี่น้องของคุณตา เมื่อหม่อมฉันยังเป็นเด็กต้องคมและไปลาโกนจุก พระอนุรักษ์โยธินเป็นบิดาของแม่ผาด ภรรยาพระบริหารหิรัญราชกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นน้องพระยาวรพุฒิโภคัย มีลูกได้เป็นคุณหญิงถึง ๓ คน คนใหญ่เป็นคุณหญิงฤทธิรงค์รณเฉท (สุข ชูโต) คนที่ ๒ เพิ่งตายเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นคุณหญิงเพชรพิสัยศรีสวัสดิ์ (แม้นวสันตสิงห์ น้าหญิงเหลือ) คนที่ ๓ เป็นคุณหญิงสุรินทราชา ทั้งเจ้าพระยาพิชเยนทร์และพระยาสุรินทราชาจึงสนิทชิดชอบกับหม่อมฉัน เขามารดน้ำปีใหม่เสมอไม่ขาด หม่อมฉันคิดถึงความหลังจึงเกิดความอาลัย

๑๐) รูปต้นชัยพฤกษ์กับพุทธรักษา ที่เขียนแผละพระบัญชรพระที่นั่งดุสิตฯ นั้น หม่อมฉันไม่ได้เคยเอาใจใส่สังเกตเลยทีเดียวได้แต่คิดคาดว่าคงเขียนในรัชกาลที่ ๕ ดังพระดำริ

๑๑) เรื่องออกญาเสนาภิมุขยะมาดาญี่ปุ่น ที่อาจารย์ญี่ปุ่นคน ๑ เอาไปเล่าดังพิมพ์ไว้ในหนังสือพิมพ์นั้นเหลวยิ่งกว่ากุ ดูแกไม่ได้อ่านหนังสือเรื่องยะมาดา ที่เขาเขียนไว้แต่ก่อนเสียเลย เรื่องตามพงศาวดารนั้นว่าตั้งแต่ฝรั่งโปรตุเกสสามารถแล่นเรือจากยุโรปมาถึงอินเดียได้เมื่อ พ.ศ. ๒๐๔๑ แต่นั้นโปรตุเกสก็เที่ยวค้าขายตามประเทศทางตะวันออกนี้จนถึงญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นก็ยอมให้ค้าขายโดยดี ก็ลักษณะการค้าขายของพวกโปรตุเกสครั้งนั้น เที่ยวตั้งสถานีตามเมืองที่มีสินค้ามาก และตั้งสอนศาสนาคริสตังไปด้วยกัน พวกญี่ปุ่นอยู่เกาะชำนาญการเดินเรือทะเลอยู่แล้วแต่ยังไม่เคยไปถึงเมืองไกล เมื่อได้สมาคมกับฝรั่งโปรตุเกส ก็คิดอ่านต่อเรือกำปั่นไปเที่ยวค้าขายยังนานาประเทศตามอย่างโปรตุเกสบ้าง ญี่ปุ่นเริ่มมาค้าขายถึงเมืองไทยในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ รัฐบาลไทยก็อนุญาตให้ตั้งสถานีการค้าที่พระนครศรีอยุธยาเหมือนอย่างอนุญาตแก่ชาวต่างประเทศชาติอื่น เมื่อมีญี่ปุ่นมาอยู่จำนวนคนมากขึ้น ก็จัดให้มีหัวหน้าควบคุมกันเป็นกองอาสาสำหรับช่วยราชการในเวลามีศึกสงคราม อย่างเดียวกับชาวต่างประเทศชาติอื่น เช่นพวกฝรั่งโปรตุเกสและแขกจามเป็นต้น จึงเกิดพวกอาสาญี่ปุ่นขึ้นด้วยประการฉะนี้ ยะมาดาได้เป็นหัวหน้าพวกอาสาญี่ปุ่นจะเป็นในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ หรือในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรมไม่ทราบแน่ แต่ในสมัยรัชกาลพระเจ้าทรงธรรมนั้น มีเหตุเกิดขึ้นทางเมืองญี่ปุ่น ด้วยความปรากฏแก่รัฐบาลว่าพวกญี่ปุ่นที่ไปมาค้าขายยังต่างประเทศไปเข้ารีตถือศาสนาคริสตังมีมาก แล้วพาศาสนานั้นเข้าไปสั่งสอนในบ้านเมือง ให้ญี่ปุ่นเกิดวิวาทกันเองด้วยศาสนา จึงตั้งกฎหมายห้ามมิให้พวกญี่ปุ่นที่ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ตามต่างประเทศกลับไปเมืองญี่ปุ่น และในเมืองญี่ปุ่นก็ห้ามมิให้ผู้คนไปยังต่างประเทศ แต่นั้นจึงมีญี่ปุ่นที่ไปเที่ยวแขวนอยู่ตามต่างประเทศ ในเมืองนี้ก็มีพวกญี่ปุ่นที่เข้ารีตถือศาสนาคริสตังและที่มิได้เข้ารีตแขวนอยู่มาก ยะมาดาอยู่ในพวกที่ค้างอยู่ในเมืองไทยนี้ บางทีจะได้มียศเป็นขุนนางไทยเพียงชั้นหลวง โดยเป็นเจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น ที่ยะมาดาได้เป็นคนใหญ่คนโตนั้น เพราะเข้าไปเป็นพวกของพระเจ้าปราสาททอง เอาพวกอาสาญี่ปุ่นไปช่วยเป็นกำลังเมื่อชิงราชสมบัติ ด้วยความชอบในครั้งนั้น พระเจ้าปราสาททองจึงทรงตั้งเป็นออกญาเสนาภิมุข แต่ต่อมาไม่ไว้วางพระราชหฤทัย จึงใช้ราโชบายให้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช และตั้งคนอื่นเปนเจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น ยะมาดาก็ต้องพาครอบครัวกับพรรคพวกของตนลงไปอยู่ ณ เมืองนครศรีธรรมราช จนเลยตายที่เมืองนั้น หนังสือที่ฝรั่งแต่งว่าลูกชายได้เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชต่อมา แต่น่าสงสัยว่าลูกชายจะได้เป็นแต่เพียงกรมการผู้ใหญ่เช่นปลัดหรือยกกระบัตร เพราะในจดหมายเหตุนั้นกล่าวต่อมาว่า แต่ลูกยามาดาเข้ากับไทยไม่ได้จึงพาญี่ปุ่นพวกพ้องที่ยังเหลืออยู่ อพยพจากเมืองนครศรีธรรมราชไปอาศัยอยู่กรุงกัมพูชา สิ้นเรื่องยะมาดาเพียงนี้เท่านี้ ส่วนกรมอาสาญี่ปุ่นนั้น ก็พอคิดเห็นได้ว่าเมื่อการคมนาคมขาดกับเมืองญี่ปุ่นแล้ว พวกญี่ปุ่นที่อยู่ในเมืองไทยก็คงล้มตายหมดไป มีแต่พวกญี่ปุ่นปนไทยมากขึ้นโดยลำดับ ที่สุดก็กลายเป็นไทยเหลือแต่ชื่อกรมว่าอาสาญี่ปุ่นสืบมา ชื่อ “เสนาภิมุข” พิเคราะห์ดูเป็นศักดิ์สูง ยศที่เป็นออกญาก็สูงเกินเจ้ากรมอาสา หม่อมฉันจึงเห็นว่าน่าจะประดิษฐ์ขึ้นเมื่อตั้งยะมาดาเป็นออกญาเสนาภิมุข แล้วจึงเลยใช้เป็นชื่อเจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น แต่ให้เป็นเพียงหลวงสืบมา

๑๒) คำพูด “ทูต” หมายความว่าผู้สื่อสาร ใช้คำประกอบให้รู้ว่าทูตเป็นอย่างไร ตามที่เคยสำเหนียกมามี “ราชทูต” “เทวทูต” “สมณทูต” “สารันตทูต” ก็แต่คำว่า “มหาทูต” เช่นเรียกท่านผู้ที่ไปบูชาพระมงคลบพิตรนั้น หม่อมฉันไม่เคยได้ยินมาแต่ก่อน พิจารณาดูๆเหมือนเราจะเอาคำที่เขาเรียกในภาษาอังกฤษ “Grand Envoy” มาแปลให้ตรงศัพท์จึงว่า “มหาทูต” แต่คำ Grand Envoy ภาษาอังกฤษนั้นก็แปลมาจากคำภาษาญี่ปุ่นอีกชั้นหนึ่ง คำภาษาญี่ปุ่นว่ากระไร และความหมายในประเพณีญี่ปุ่นว่าตำแหน่งหน้าที่ผิดกับ Ambassador ที่เราแปลว่าเอกอัครราชทูตเป็นอย่างไร หม่อมฉันนึกอยากรู้ แต่ไม่มีทางที่จะค้นก็จนใจ

ข่าวเบ็ดเตล็ด

๑๓) เดือนกันยายน ลมใต้ฝุ่นเคยเกิดในทะเลจีนเสมอทุกปี เกิดที่นั่นบ้างที่นี่บ้าง ปีนี้จะเกิดที่ไหนไม่ทราบ แต่ขอบใต้ฝุ่นมากระทบเกาะปีนังเมื่อคืนวันที่ ๑๐ กันยายน เวลา ๒๒ นาฬิกา พัดเอาต้นไม้ใหญ่รายริมถนนและตามบ้านหักโค่นหลายต้น เรือนพังก็มี แม้เรือนซินนามอนฮอลที่หม่อมฉันอยู่ก็ไม่ปลอดภัยทีเดียว ด้วยตึกหลังในทางซีกตะวันตกถูกลมพัดเอากระเบื้องมุงหลังคาปลิวไปสัก ๑๐๐ แผ่น น้ำฝนตกลงนองในห้องที่หญิงพิลัยอยู่ จนแผ่นกระดาษที่ทำฝ้าเพดานหล่นลงตรงหน้าเตียงนอน เป็นบุญที่ไม่ถูกตัวเธอ ต้องย้ายไปอยู่ห้องด้านตะวันออก ที่หม่อมฉันอยู่เมื่อท่านเสด็จมา ต้นไม้ในลานบ้านก็ถูกลมหักโค่นและกิ่งขาดหลายต้น แต่ไม่เสียหายเท่าใดนัก ประหลาดที่หม่อมฉันเองไม่รู้จนรุ่งเช้า เมื่อเวลาเกิดพายุหม่อมฉันเข้านอนแล้วยังไม่หลับ ได้ยินเสียงดังปัง เรียกหญิงเหลือก็ไม่ขาน ลงจากเตียงมาพบเธอที่ประตูห้อง เธอบอกว่าลมพายุพัดบานประตูเปิด หม่อมฉันก็เชื่อกลับเข้านอน เลยหลับไปตลอดรุ่ง เป็นเช่นนั้นด้วยหูหนวกนั่นเอง จึงไม่ได้ยินเสียงกระเบื้องหลังคาพัง

๑๔) หม่อมฉันพบของแปลกอย่าง ๑ ด้วยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ลูกหญิงเธอปรารภแก่หม่อมฉันว่า นมวัวกลักตราหมีที่หม่อมฉันกินเวลาเช้านั้นบกพร่องไปมากแล้ว เกรงว่าถ้าหมดจะหาซื้อไม่ได้ เธออยากให้หม่อมฉันลองกินนมวัวอย่างทำเป็นผงเรียกว่า–กลิม เป็นของทำที่เมืองคะนาดา ถ้าชอบกินจะได้หานมอย่างนั้นสำรองไว้ เพราะยังพอหาได้ในตลาด หม่อมฉันก็ลองกินนมกลิมมาได้สักสัปดาหะหนึ่งแล้ว ดูรสอร่อยไม่เลวกว่านมตราหมีและถูกกับธาตุของหม่อมฉัน ไม่ปวดท้องไส้อย่างไร ก็เลยให้อนุมัติตามความเห็นของเธอ เป็นมูลที่หม่อมฉันจะรู้จักกินนมกลิมที่จะทูลลักษณะต่อไป ตามคำที่เขาโฆษณานั้น ว่านมกลิมนี้เขาไม่ได้เอาธาตุอย่างหนึ่งอย่างใดออกจากนมวัว และมิได้เอาธาตุอย่างหนึ่งอย่างใดเพิ่มเข้า เป็นแต่เอานมสดอันบริสุทธิ์ผึ่งให้น้ำที่ปนอยู่กับนมระเหยไปหมด เหลือแต่ธาตุของนม เพราะฉะนั้นเมื่อเอาน้ำเจือลงก็กลับเป็นนมตามเดิม จึงบริสุทธิ์จากโทษทั้งปวง คิดดูลักษณะที่ทำดังว่า ก็เหมือนตกปลาสดทำปลาแห้งนั่นเอง แต่เขาคงคิดเร่งให้น้ำระเหยเร็วด้วยวิธีอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นใช้กำลังไฟฟ้าเป็นต้น และปิดวิธีนั้นไว้เป็นความลับ จึงสามารถทำนมวัวกลิมจำหน่ายได้มากมาย มีบริษัทอเมริกันชื่อว่าทำขายแข่ง สังเกตดูมีรสแปลกไป ไม่บริสุทธิ์เหมือนอย่างนมกลิม ๆ เห็นจะขายไปได้แพร่หลายมาก เขาจึงบอกสรรพคุณพิมพ์เป็นสมุดเล่มเล็กน้อยด้วยภาษาต่าง ๆ ถึง ๒๙ ภาษา มีภาษาไทยด้วย เหน็บให้ไว้ทุกกลัก หม่อมฉันจึงส่งมาถวายทอดพระเนตรตัวอักษรต่าง ๆ ด้วยเล่ม ๑ เข้าใจว่าที่ในกรุงเทพ ฯ ก็เห็นจะมีนมกลิมขาย

บรรเลง

๑๕) เรื่องที่หม่อมฉันรวบรวมไว้สำหรับจะทูลบรรเลงนั้น คือวินิจฉัยในเรื่องพงศาวดารคิดได้ใหม่หลายเรื่อง คงจะทูลต่อไป–

เรื่องที่ ๑ เปลี่ยนชื่อเมืองสองแควเป็นเมืองพิษณุโลกเมื่อใด อธิบายเรื่องนี้ในจารึกสุโขทัยไม่มีเรียกชื่อพิษณุโลกเลย เพราะฉะนั้นชื่อนั้นต้องเกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นได้เค้าในกฎหมายลักษณะลักพา ที่พระเจ้าอู่ทองตั้งเมื่อสร้างกรุงศรีอยุธยาแล้วได้ ๕ ปี ยังเรียกเมืองพิษณุโลกว่าเมืองสองแคว ดังหม่อมฉันเคยทูลอธิบายในเรื่องเมืองเชลียงนั้น พบเค้าอีกแห่ง ๑ ในลิลิตยวนพ่าย อันแต่งราวในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ เรียกชื่อเมืองพิษณุโลกเป็นหนังสือเก่าที่สุดซึ่งเรียกชื่อนั้น จึงลงความเห็นได้เป็นเบื้องต้นว่า ตั้งชื่อเมืองพิษณุโลกเมื่อในระหว่างรัชกาลพระเจ้าอู่ทองกับรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ คิดต่อไปว่าในระยะที่ว่านั้น มีเหตุอันใดในเรื่องพงศาวดาร ซึ่งจะเป็นมูลให้เปลี่ยนชื่อเมืองสองแควเป็นเมืองพิษณุโลกบ้างหรือไม่ ก็แลเห็นเหตุที่เปลี่ยนชื่อเมืองด้วยเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถยังเป็นพระราเมศวรราชโอรส ได้ทรงครองเมืองเหนือทั้งปวงอันเคยเป็นอาณาเขตของราชวงศ์พระร่วง อยู่ ณ เมืองสองแคว ครั้นได้รับรัชทายาทเสด็จลงมาอยู่ ณ พระนครศรีอยุธยา แยกเมืองเหนือให้มีเจ้าเมืองครองเป็นอิสระแก่กัน พระยาเชลียงเป็นกบฏ เอาเมืองศรีสัชนาลัยไปยอมขึ้นต่อพระเจ้าติโลกราช แล้วนำกองทัพเมืองเชียงใหม่ลงมา เที่ยวตีเมืองเหนือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถต้องยกกองทัพขึ้นไปรบพุ่งอยู่หลายปี จึงขับพวกเชียงใหม่ไปจากเมืองเหนือได้

ต่อไปนี้เป็นวินิจฉัยคิดขึ้นใหม่–คงเป็นเพราะสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงปรารภว่า ถ้าเสด็จกลับลงมาอยู่พระนครศรีอยุธยา พวกเมืองเชียงใหม่ก็คงเบียดเบียนเมืองเหนืออีก จึงปรากฏในพงศาวดาร (ฉบับหลวงประเสริฐ) ว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดให้พระบรมราชาราชบุตร (พระองค์ใหญ่) ครองพระนครศรีอยุธยา แต่ข้อนี้ไม่มีในพงศาวดารฉบับอื่น กล่าวยุติต้องกันหมด แต่ว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จขึ้นไปเสวยราชย์อยู่ ณ เมืองพิษณุโลก และประทับอยู่ที่นั่นตลอดมาถึง ๒๕ ปีจนสวรรคตที่เมืองนั้น หรือว่าอีกอย่างหนึ่ง ครั้งนั้นเมืองสองแควได้เป็นราชธานีของเมืองไทยอยู่ถึง ๒๕ ปี ก็พระเจ้าแผ่นดินเมืองไทยตั้งแต่พระเจ้าอู่ทองมา ย่อมทรงพระนามเฉลิมพระเกียรติ์ว่า สมเด็จพระรามาธิบดี เทียบด้วยองค์พระนารายณ์วายุกูรทุกพระองค์ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถย้ายไปเอาเมืองสองแควเป็นราชธานี ชะรอยจะทรงพระราชดำริว่า ถ้าเรียกชื่อเมืองตามเดิมมหาชนจะเห็นว่าเป็นเมืองเลวไม่สมพระเกียรติยศจึงเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองพิษณุโลก ให้สมกับเป็นที่ประทับขององค์พระนารายณ์วายุกูร หม่อมฉันคิดเห็นว่ามีเหตุอย่างเดียวและมีสมัยเดียว ที่จะเปลี่ยนชื่อเมืองสองแควเป็นเมืองพิษณุโลก

เรื่องที่ ๒ ที่ทูลกระหม่อมทรงเฉลิมพระเกียรติวังหน้าเปนอย่างพระเจ้าแผ่นดิน ตรัสว่าเอาอย่างสมเด็จพระนเรศวรทรงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเอกาทศรถ หม่อมฉันนึกขึ้นมาเป็นปัญหาว่าสมเด็จพระนเรศวรเอาแบบอย่างมาแต่ไหนหรือทรงประดิษฐ์คิดขึ้นใหม่ ค้นไปพบแบบอย่างมีในเรื่องพงศาวดารตามฉบับหลวงประเสริฐ ฯ และมีในศิลาจารึกรับรองด้วย คือเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จขึ้นไปเสวยราชย์ ณ เมืองพิษณุโลกเมื่อ พ.ศ. ๒๐๐๔ ตรัสให้พระราชบุตรองค์ใหญ่ ตามคำในหนังสือพงศาวดารฉบับนั้นว่า “พระเจ้าแผ่นดินเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชา” ดังนี้ ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๐๑๕ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมีพระราชโอรส ประสูติที่เมืองพิษณุโลกอีกพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเชษฐา พระมารดาเห็นจะเป็นเจ้าในราชวงศ์พระร่วง แต่สมเด็จพระเชษฐาเด็กกว่าสมเด็จพระบรมราชามาก ถึงทรงผนวชเป็นสามเณร พร้อมกับราชบุตรของสมเด็จพระบรมราชา ชะรอยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจะทรงพระราชดำริถึงการปกครองพระราชอาณาเขตเห็นว่าเมืองเหนือราชวงศ์พระร่วงยังมีมาก พลเมืองก็ยังถือตัวว่าเป็นชาวเมืองหลวงเดิม ถ้ากดเอาลงเป็นหัวเมืองขึ้นพระนครศรีอยุธยา อาจเกิดจลาจลได้อีกเหมือนเมื่อครั้งพระยาเชลียงเป็นขบถ จึงทรงสถาปนาสมเด็จพระเชษฐาเป็นพระมหาอุปราชเมืองเหนือ พ.ศ. ๒๐๒๘ ที่ทรงจัดอย่างนั้น คงจะได้ทรงตรัสปรึกษาสมเด็จพระบรมราชาเห็นชอบด้วย ครั้นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จสวรรคต สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ จึงสถาปนาพระเชษฐาให้เสวยราชย์ ณ เมืองพิษณุโลกอย่างเป็นพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์ ๑ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเชษฐาธิราช เพราะเป็นมหาอุปราชอยู่ก่อนแล้ว และเป็นรัชทายาทด้วย เมืองไทยจึงมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์อยู่ครั้ง ๑ ข้อนี้มีหลักฐานประกอบอยู่ในศิลาจารึกที่ฐานรูปพระอิศวรเมืองกำแพงเพชร (เดี๋ยวนี้อยู่ในพิพิธภัณฑสถาน) อันหล่อในสมัยนั้น ว่าผู้หล่อขอถวายพระราชกุศลแด่ “พระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๒ พระองค์” ดังนี้ และยังมีเค้าเงื่อนอย่างอื่นอีก เช่นกรมมหาดไทยและกรมกลาโหมฝ่ายเหนือ ก็เห็นจะเกิดขึ้นในตอนนั้น ด้วยในทำเนียบมีตำแหน่งอธิบดีถือตราพระราชสีห์ และคชสีห์ และมีปลัดทูลฉลอง ปลัดบาญชี กับทั้งหัวพันนายเวร เทียบตรงกันกับตำแหน่งทางวังหลวง ส่อว่าเป็นข้าราชการของพระเจ้าแผ่นดิน มิใช่เจ้าประเทศราช แต่มีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์เช่นนั้นอยู่เพียง ๓ ปี ถึง พ.ศ. ๒๐๓๔ สมเด็จพระบรมราชาธิราชสวรรคต สมเด็จพระเชษฐาธิราชเสด็จลงมาเสวยราชย์ ณ พระนครศรีอยุธยา ทรงพระนามว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ก็โปรดให้สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร ราชโอรสพระองค์ใหญ่ซึ่งประสูติ ณ เมืองพิษณุโลกครองเมืองเหนือต่อมา แต่ลดศักดิ์ลงมาเพียงเป็นมหาอุปราชเหมือนอย่างครั้งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถครองเมื่อยังเป็นพระราเมศวร เมื่อสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูรได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ครองราชสมบัติอยู่เพียง ๔ ปี พระราชโอรสก็ยังทรงพระเยาว์ จะให้ใครครองเมืองเหนือไม่ปรากฏในพงศาวดาร แต่น่าสันนิษฐานว่าโปรดให้พระชัยราชา ซึ่งเป็นน้องยาเธอต่างพระชนนี ๆ อาจจะเป็นชาวเมืองเหนือด้วย ขึ้นไปครองเมืองเหนือ เพราะฉะนั้นเมื่อสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูรสวรรคต พระชัยราชาจึงมีกำลังลงมาชิงราชสมบัติจากพระรัษฎาธิราชกุมารได้ ในรัชกาลสมเด็จพระชัยราชาธิราชจะโปรดให้ใครครองเมืองเหนือก็หาปรากฏชื่อไม่ ในพงศาวดารเรียกแต่พระยาพิษณุโลก แต่เห็นได้ว่าคงเป็นคนสำคัญและเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย จึงได้เป็นตัวนายทัพหน้านำเสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่ทั้ง ๒ ครั้ง ต่อมาถึงรัชกาลสมเด็จพระแก้วฟ้า ขุนวรวงษาชู้ของท้าวศรีสุดาจันทร์พระชนนีเป็นขบถ พวกข้าราชการได้ขุนพิเรนทรเทพเป็นหัวหน้าปราบขบถได้ แล้วเชิญพระเทียรราชาซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นน้องยาเธอต่างพระชนนีกับพระชัยราชาธิราชขึ้นเสวยราชย์ ทรงพระนาทว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ในพงศาวดารว่าเมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์พูนบำเหน็จผู้มีความชอบครั้งนั้น ทรงพระราชดำริว่าขุนพิเรนทรเทพมีความชอบยิ่งกว่าเพื่อนและเป็นเชื้อราชวงศ์พระร่วง จึงทรงตั้งเป็นพระมหาธรรมราชา ได้อุปภิเษกกับพระวิสุทธิกษัตรีราชธิดาแล้วให้ขึ้นไปครองเมืองเหนือ อยู่ ณ เมืองพิษณุโลก ตามที่ว่าจะเป็นแต่จะให้เข้าใจว่าพระราชทานบำเหน็จชั้นสูงสุดซึ่งสมควรจะพระราชทานได้แต่ที่จริงถ้าพิจารณาตามเรื่องที่มีมา ซึ่งเคยตั้งเจ้านายชั้นราชโอรสไปครองเมืองเหนือมาแต่ก่อน สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ก็มีราชโอรส เหตุไฉนไม่ตั้งพระราเมศวรไปครองเมืองเหนือ เห็นว่าน่าจะเป็นด้วยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์มิได้เป็นญาติกับราชวงศ์พระร่วงทางฝ่ายพระชนนี จะให้พระราเมศวรขึ้นไปครองเมืองเหนือเกรงชาวเมืองจะไม่สวามิภักดิ์ แต่ขุนพิเรนทรเทพเป็นเชื้อราชวงศ์พระร่วง (เห็นจะเป็นราวชั้นหม่อมเจ้า) และมีความชอบมาก แม้จะพระราชทานบำเหน็จอย่างไรก็ได้ ถึงกระนั้นศักดิ์ส่วนตัวก็ยังไม่สมกับจะครองเมืองเหนือ จึงให้อุปภิเษกกับพระราชธิดาให้ทรงศักดิ์เป็นเจ้าเพราะเป็นราชบุตรเขย แล้วสถาปนาเป็นพระมหาธรรมราชาอย่างเจ้าประเทศราช ขึ้นไปครองเมืองเหนือด้วยกันกับพระราชธิดา เพื่อจะเชื่อม ๒ ราชวงศ์ให้เกี่ยวกันต่อไป ก็สมพระราชประสงค์ ด้วยมีสมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถเกิดขึ้น เมื่อพระมหาธรรมราชาได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ก็โปรดให้สมเด็จพระนเรศวรขึ้นไปครองเมืองเหนืออย่างพระมหาอุปราช พึงเห็นได้ว่าการปกครองเมืองเหนือราโชบายเป็นอย่างเดียวกันสืบมาตั้งแต่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถถึง ๕ รัชกาล ถึงรัชกาลสมเด็จพระนเรศวร ถ้าบ้านเมืองเหมือนอย่างแต่ก่อนก็คงโปรดให้สมเด็จพระเอกาทศรถขึ้นไปครองเมืองเหนือ แต่ในเวลานั้นเมืองเหนือร้างด้วยกวาดคนลงมาอยู่ในกรุงฯ เสียหมดเมื่อสู้ศึกพระเจ้าหงสาวดี สมเด็จพระนเรศวรจึงเอาแบบอย่างครั้งสมเด็จพระบรมราชธิราชที่ ๓ ทรงสถาปนาสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ เมื่อเป็นราชอนุชา ให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินครองเมืองเหนือนั้น มาทรงสถาปนาสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นพระเจ้าแผ่นดินอย่างเดียวกัน แต่เสด็จประทับอยู่ในราชธานี บางทีจะโปรดให้ว่ากล่าวชาวเมืองเหนือที่รวมมาอยู่ในราชธานีด้วยก็ได้ จึงมีพระราชกฤษฎีกาของสมเด็จพระเอกาทศรถปรากฏอยู่ในกฎหมายลักษณะขบถศึกบท ๑ ตั้งเมื่อภายหลังพระนเรศวรทรงทำยุทธหัตถีปี ๑ โปรดให้ยกหนี้หลวงพระราชทานแก่บรรดาผู้ที่ได้ “เกณฑ์เข้าขบวนทัพ ได้รบพุ่งด้วยพระบาทบงกชลักษณะอัครบุริโสดม บรมหน่อนราเจ้าฟ้านเรศ เชษฐาธิบดี มีชัยชนะพระมหาอุปราชา” ดังนี้ ดูเป็นยกหนี้พระราชทานพวกวังหน้าที่ขึ้นต่อพระองค์ ถ้ายกทั่วไปหมดน่าจะต้องเป็นพระราชกฤษฎีกาของสมเด็จพระนเรศวร การปกครองเมืองเหนือก็เลิกวิธีเก่ามาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนเรศวร แต่นั้นแยกกันเป็น ๗ หัวเมืองขึ้นต่อพระนครศรีอยุธยา

ด้วยมีเรื่องในพงศาวดารดังทูลมา หม่อมฉันจึงเห็นว่าการที่สมเด็จพระนเรศวรทรงสถาปนาสมเด็จพระเอกาทศรถ ให้เป็นอย่างพระเจ้าแผ่นดินนั้น ทรงอนุโลมตามเยี่ยงอย่างซึ่งเคยมีมาแล้ว หาได้คิดประดิษฐ์ขึ้นใหม่ไม่

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ