วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๘๕

ที่ ๑๐/๘๕

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

บรรเลง

๑. อันน้ำใจคนนั้นไม่แน่นอนย่อมกลับกลอก นี่คิดเอาตัวขึ้นเป็นที่ตั้ง โดยได้อ่านหนังสือพิมพ์เห็นความที่เขาลงนั้นขบขัน คิดจะตัดมาถวาย แต่ต่อไปก็ไม่ตัดด้วยเห็นว่าจะทรงเสียเวลาเปล่าๆ

๒. ในการตีพิมพ์หนังสือแจกงานศพ เห็นว่าถ้าใครคิดเอาจดหมายของจำเพาะตัว มิมีอะไรก็อะไรซึ่งไม่ควรตีพิมพ์อยู่ในนั้น เว้นเสียแต่ทำโดยตั้งใจว่าจะตีพิมพ์

๓. ในวันที่ ๒๙ เป็นวันประสูติของทูลกระหม่อมชาย ควรจะมีโทรเลขแสดงความดีใจไปถวาย แต่ก็ไม่ได้มีไปเพราะส่งไปไม่ได้

๔. อ่านหนังสือพิมพ์ เขาว่าวันที่ ๑ กรกฎาคม จะมีรถไฟเดินแต่บางกอกถึงสิงคโปร์ตามเคย จึงได้ทำหนังสือเวรเตรียมส่งถวายตามเคย

๕. “สิงค” ก็คือ “สิงห” นั่นเอง แต่ทางบ้านใกล้กับเราใช้เขา “สิงค” กัน เช่นชื่อพระเจดีย์ในเมืองแปรก็เรียกกันว่า “พระธาตสิงคุดร” เราก็พลัดเรียก “สิงห” เป็น “สิงค” ไปบ้างเป็นลางอย่าง แต่ที่จริงเราแม่นภาษามคธสังสกฤตกว่าพวกใกล้บ้านเรามาก คำว่า “สิงค” นั้นแปลว่า เขา คือเขาของสัตว์เดียรัจฉานต่าง ๆ จนรูปฤษีซึ่งเขาเป็นกวางก็เรียกว่า “อีสีสิงคดาบส” ที่แท้สัตว์ซึ่งเกิดขึ้นในโลกตลอดถึงคนด้วยเรียกว่า “สัตว์โลก” กระทั่งพระเจ้าอันยังไมได้ตรัสรู้ก็เรียกว่า “พระโพธิสัตว์” ที่เรียกว่า “เดียรฉาน” นั้นดอกจึงหมายถึงต่ำลงไปกว่าคนอีกชั้นหนึ่ง จะพูดว่ามีชีวิตก็ไม่ถนัด แม้ต้นไม้เกล้าก็เห็นเป็นว่ามีชีวิต

๖. นึกถึงประดิทิน อย่างที่มีชื่อปีเช่น ชวด ฉลู ขาล เถาะ จะต้องเข้ากับที่นับเดือน ๕ เดือน ๖ ถ้าขับอย่าง เมษายน พฤษภาคม จะเอาชื่อปีเข้าประกอบนั้นไม่เข้ากัน

๗. คำว่า “จอก” ทางปักษ์ใต้เขาเรียกว่า “ลูกขัน” เข้าใจดีทีเดียว ไม่ต้องถามความหมาย ที่เราเรียกว่า “จอก” เห็นจะเป็นเพราะลอยอยู่ในน้ำ คำว่า “ถ้วย” ก็ตกเป็นว่า ลูกชาม แต่ความจริงทั้งถ้วยทั้งชามไม่จำเป็นต้องทำด้วยเครื่องเคลือบ แต่เพราะล้างง่ายจึ่งทำ นัยหนึ่งก็เข้าใจกันว่าถ้วยนั้นคือเครื่องเคลือบ อะไรก็ไม่สำคัญเท่าความหมาย ลงหมายว่ากระไรแล้วถึงศัพท์จริงจะเป็นอย่างไรก็แพ้ เช่น “เวทนาสงสาร” เป็นต้น เป็นแต่เพื่อรู้ว่าไปทางไหนกันเท่านั้น

๘. กำแพงเมืองทีจะมาแต่ค่ายคู อันค่ายคูก็จะทำให้เป็นที่เข้ายากเท่านั้น ไม่ใช่ที่ต่อสู้ แต่ข้อนี้ไม่สู้แน่ใจ อยากจะฟังพระดำริ

ข่าว

๙. เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม คุณหญิงเนื่อง วิเศษกุล เอาใบดำมาให้ ในใบดำนั้นว่าจะทรงพระกรุณาโปรดทำบุญ ๕๐ วัน พระราชทานศพนายนกยูง สุรินทราชา วิเศษกุล ณ ศาลาบัณณรสภาค วัดเบญจมบพิตร วันที่ ๘ กรกฎาคม ครั้น ณ วันที่ ๙ พระราชทานเพลิงที่วัดเทพศิรินทร์ และในวันที่ ๒ กรกฎาคม ก็มีหมายสำนักพระราชวังส่งมา ว่าวันที่ ๙ กรกฎาคม ๑๔.๐๐ น. ยกศพไปวัดเทพศิรินทร์พระราชทานเพลิง แต่งปกติติดตรา.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ