วันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๕ น

๒๐/๘๕

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๔๘๕

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

รายการ

๑) เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ได้รับหมายสำนักพระราชวัง สั่งให้ไปทอดกฐินพระราชทานที่วัดราชประดิษฐ์ ได้มีหนังสือขอตัวไปตามที่เห็นชอบด้วยพระดำริแต่วันที่ ๒๕ แต่มีไปทางลัด ตามเหตุที่ขัดข้องได้กราบทูลมาแล้ว อาจจะเป็นด้วยกระชั้นไปก็ได้ เพราะได้มีไปสามวันเท่านั้น ที่จริงจะไม่เป็นสามวันก็ได้ ไปโอ้เอ้ช้าเสียที่ไหน เพราะ “น้ำท่วมฟ้าปลากินดาว” ก็ได้

กราบทูล

๒) “ทวารกะ” เดิมเข้าใจว่ามีแต่เมืองพระกฤษณะที่ว่าจมทะเล นั่นเป็นเมืองอยู่ทางเหนือ แล้วทีหลังจึ่งมาทราบว่าทางใต้อินเดียก็มีเมือง “ทวาราวดี” คำนั้นเรามาเข้าใจกันว่าน้ำล้อมรอบ ทำให้เห็นว่ากรุงเก่าจะเติมชื่อกรุงขึ้นเป็น “ทวาราวดีศรีอยุธยา” เมื่อขุดขื่อหน้าแล้ว แต่ไม่จำเป็น เป็น “กันเอาอัน” ให้เหมือมอินเดียมากกว่า แม้ในฉันท์อนิรุทก็มีว่า “เสด็จแสดงเนาในกรุงทวารพดีสมยา คือ พิษณุโลกบปาน” พิษณุโลกก็ไม่ใช่ว่าเป็นเมืองที่มีน้ำล้อมรอบ เห็นได้ว่าคำ “ทวาราวดี” มีมานานแล้ว ว่าไปตามเคยเท่านั้นเอง

๓) ขอบพระเดชพระคุณที่ประทานสมุด “อุทานธรรม” ซึ่งพระศาสนโศภณแต่งนั้นมา ที่จริงสมุดเล่มนี้เกล้ากระหม่อมได้รับแล้ว แต่เป็นอย่างเก่า ที่ประทานมานั้นเป็นฉบับแก้ใหม่ไม่ซ้ำกัน

ย้อนหลัง

๔) ตามที่ตรัสว่าภาษาอังกฤษแปล “มหาทูต” มาจากคำญี่ปุ่นนั้น สอบภาษาญี่ปุ่นได้ความไม่ตรง ได้ความแต่อย่างนี้

Shi-se-tsu ว่าทูตประเทศ

Ko-Shi ว่าทูตหลวง

Tai Shi ว่าทูตใหญ่

นี่เป็นคำเก่าแต่ก็เอาใช้กับคำใหม่ ทูตหลวงก็เอาใช้กับ Minister ทูตใหญ่ก็เอาใช้กับ Ambassador ลางที Grand Envoy จะใช้คำทูตใหญ่นั้นเองก็ได้ หรือผู้ที่สอบสวนไปจะไม่รู้พอก็ได้

บรรเลง

๕) มีกระแสพระดำรัสถึงการค้นเรื่องมอญๆ มี “ตาร้อยปม” ทำให้นึกถึง “ตาแสนปม” ของเรา สงสัยว่าจะเป็นนิทานแบบพ่อผู้มีบุญ จึงวานเขาค้นทางมอญตามเสด็จ เขาก็ไปพบเป็นที่ศรีปราชญ์เข้าทางมอญมีเหมือนกัน จึ่งคิดว่า “ศรีปราชญ์ ศรีธนญชัย” ก็เป็นชื่อภาษามคธสังสกฤต เรื่องของคนทั้งสองนั้นอาจเป็นนิทานแบบก็ได้

ในโคลงที่ว่าใครแต่งโต้ตอบกับศรีปราชญ์บทหนึ่ง ปรากฏว่าพระเจ้าแผ่นดินนั้นพระฉวีดำดั่งนี้

“รังษีบสีใส สักหยาด
ดำแต่นอกในแผ้ว ผ่องเนื้อนพคุณฯ”

แต่จะเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดนั้นไม่แน่ เราเข้าใจกันว่าสมเด็จพระนารายณ์ แต่ในคำให้การชาวกรุงเก่าว่าครั้งพระศรีสุริเยนทราธิบดีก็เป็นพระเจ้าเสือไป

เราถนัดชื่อฉายา พระนารายณ์ก็ฉายา พระศรีสุริเยนทร์นั้นไม่ทราบ แต่ไพเราะนัก ขุนหลวงเสือหรือพระเจ้าเสือนั้นเป็นฉายาแน่

พระนามพระเจ้าแผ่นดินนั้น เดิมคิดว่า รามาธิบดีเป็นเอก ราเมศวรเป็นโท แต่ฝ่าพระบาทประทานพระนามพระเจ้าแผ่นดินมาเป็นราเมศวร ทำให้รู้สึกว่าคิดผิดไป สมเด็จพระบรมราชาและสมเด็จพระอินทราชา หรือนครินทราชานั้น เป็นตำแหน่งเดิม เมื่อได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว คงจะเปลี่ยนเป็นรามาธิบดีหรือราเมศวร

๖) เลี้ยงเป็ดให้กินแหนนั้นเห็นจะเข้าใจหลง หลงมาจากคำว่า “เป็ดไซ้แหน” แต่ที่จริงเป็ดเห็นจะหาต้องการกินแหนไม่ จะเป็นด้วยทิ้งบ่อในบ้านไว้ให้สกปรกแล้วก็เลี้ยงเป็ด คำ “เป็ดไซ้แหน” ก็ไม่ได้หมายความว่ากิน

๗) ที่บ้านปลายเนินน้ำท่วมลดลง ลางเวลาน้ำก็ลดจนเห็นถนนลางแห่ง ลางเวลาน้ำก็ขึ้นท่วม จะอย่างไรก็ให้นึกดีใจ แล้วนึกถึงคำในเมืองเราว่า “สเทินน้ำสเทินบก” ที่จริงก็เข้าใจว่าไปไม่รอด แต่ก็ไม่เข้าใจดี เพิ่งจะเข้าใจดีว่าจะใช้พาหนะอะไรก็ไปไม่ได้ทั้งนั้น

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ