วันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ดร

วังวรดิศ

วันที่ ๒๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๕

ที่ ๙/๘๕

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

เมื่อหม่อมฉันเขียนจดหมายเวรฉบับที่ ๗/๘๕ เสร็จแล้ว ได้ลงมือร่างจดหมายเวรฉบับที่ ๘/๘๕ ต่อมา หมายจะทูลสนองลายพระหัตถ์เวรฉบับที่ ๑๒/๘๕ กับฉบับที่ ๑๓/๘๕ รวมกันในจดหมายฉบับนั้น พอร่างสนองฉบับที่ ๑๒/๘๕ แล้ว ก็ได้ข่าวว่าเขาจะรับกลับกรุงเทพ ฯ มีเวลาเตรียมตัวเพียง ๒ วันก็ต้องละกิจอื่นหมดมาเตรียมตัวร่างจดหมายเวรที่กำลังค้างอยู่กับทั้งโน้ตอธิบายที่ได้จดไว้ ก็เลยพลัดพรายหายไป กลับมาถึงกรุงเทพฯ ค้นไม่พบ แต่เห็นจะไม่หายสูญ ถึงกระนั้นจดหมายฉบับนี้ต้องเขียนด้วยความทรงจำ ไม่ได้อาศัยลายพระหัตถ์หรือโน้ตที่ได้จดไว้

๑. ท่านตรัสถามถึงตำนานเมืองธาราบริวัตร เรื่องตำนานของเมืองธาราบริวัตรนั้นมีอยู่ในหนังสือพงศาวดารมณฑลอีสาน ซึ่งหม่อมอมรวงศวิจิตร (ปฐมคะเนจร) แต่งไว้ หอพระสมุดพิมพ์เมื่อพ.ศ. ๒๔๕๗ อยู่ที่หน้า ๘๕ แห่ง ๑ ที่หน้า ๑๕๔ แห่ง ๑ ความต่อกันมีเนื้อความว่าในรัชกาลที่ ๓ เมื่อราวปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๘๘ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ยกบ้านท่ากระสัง ริมฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงขึ้นเป็นเมือง เมืองนั้นอยู่ใกล้ปากน้ำเซลำเภา จึงขนานนามว่าเมืองเซลำเภา เป็นเมืองขึ้นของเมืองนครจำปาศักดิ์ ทรงตั้งนักเป็นพระณรงคภักดี เจ้าเมืองเซลำเภา ก็เมืองเซลำเภานั้นมีอาณาเขตตามริมแม่น้ำโขงยาวมาก ทางเดินถึง ๓ วันจึงตลอดอาณาเขต เป็นเหตุให้ท้าวพระยาที่เป็นกรรมการเมืองเซลำเภา เที่ยวหาที่ตั้งบ้านเรือนทำมาหากินอยู่ห่าง ๆ กันเป็นหลายแห่ง จำเนียรกาลนานมาก็เกิดหมู่บ้านเป็นฐานของพวกเชื้อวงศ์ และบริวารของผู้ที่ไปเริ่มตั้งอยู่กันเป็นหลักแหล่งหลายแห่ง

ถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๒๘ เจ้านครจำปาศักดิ์กราบทูลขอให้หลวงนรา (คำปุ๋ย) บุตรพระณรงคภักดี (อิน) เจ้าเมืองเซลำเภาคนก่อนเป็นพระยาภักดีศรีสิทธิสงคราม เจ้าเมืองเซลำเภา แต่พระยาภักดีฯ คนนี้อยู่ในสกูลที่ได้ลงไปตั้งถิ่นฐานอยู่ทางปลายเขตเมืองเซลำเภาข้างใต้ ไม่ปรารถนาจะอพยพครอบครัวและบริวารของตนย้ายขึ้นมาอยู่ที่ตัวเมืองเซลำเภาเดิม ทูลขอตั้งตำบลเวิน (เวิน คือ น้ำวน) ท้องที่ตนอยู่ขึ้นเป็นเมืองอีกเมืองหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่โปรดการที่ตั้งหัวเมืองเล็กน้อยขึ้นใหม่ จึงไม่พระราชทานพระบรมราชานุญาต เพียงให้เปลี่ยนชื่อเมืองเซลำเภา เป็นเมืองธาราบริวัตร พระยาภักดีศรีสิทธิสงครามเจ้าเมือง ก็ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านเวินฆ้องเป็นตัวเมืองธาราบริวัตร แต่พวกกรมการและพลเมืองซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ เมืองเซลำเภาเดิม โดยมากไม่ยอมอพยพย้ายลงไปอยู่ที่เมืองธาราบริวัตรใหม่ เมืองจึงแยกกันเป็น ๒ แห่ง คนในท้องถิ่นยังเรียกเมืองเดิมว่าเมืองเซลำเภา เรียกเมืองที่ตั้งใหม่ว่าเมือง ธาราบริวัตร เป็นเช่นนั้นมาจนถึงสมัยเมื่อพระยามหาอำมาตย์ ฯ (หรุ่น ศรีเพ็ญ) ออกไปเป็นข้าหลวงประจำอยู่ที่เมืองนครจำปาศักดิ์ นัยว่าพระยามหาอำมาตย์ ฯ ใช้อำนาจตราจุลราชสีห์ที่ตัวถือโดยตำแหน่งเป็นสมุหมหาดไทยฝ่ายเหนือนั้นตั้งหลวงภักดี ชื่อบุญจัน ซึ่งเป็นบุตรของเจ้าเมืองเซลำเภาแต่ก่อนคนหนึ่งซึ่งปกครองคนอยู่่ ณ เมืองเซลำเภาเดิม ให้เป็นที่พระภักดีภุมเรศนายกองส่วยผึ้ง และให้มีกรมการทุกตำแหน่งเหมือนอย่างปกครองเมือง ขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทยทางตัวพระยามหาอำมาตย์ แต่นั้นการปกครองเมืองธาราบริวัตรกับเมืองเซลำเภาเดิม ก็แยกขาดจากกันมาจนเสียเมืองทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแก่ฝรั่งเศส

ถวายรายงาน

๒. หม่อมฉันจะทูลเล่าถึงเรื่องที่หม่อมฉันกลับมากรุงเทพ ฯ ต่อไป การที่หม่อมฉันกลับมากรุงเทพ ฯ ครั้งนี้ พวกลูกทางกรุงเทพ ฯ เขาคิดอ่านกันโดยหม่อมฉันไม่ได้ทราบก่อน เริ่มจะได้ทราบนั้นเมื่อวันศุกร์ที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ เวลาเช้าประมาณ ๙ น. มีคนเอาหนังสือมาส่งให้ที่บ้านซินนามอนฮอลซอง ๑ ในนั้นมีโน้ตภาษาอังกฤษของเลขานุการเจ้าเมืองปีนัง บอกว่ามีโทรเลขส่งจากเมืองไทย ถึงหม่อมฉันฉบับหนึ่งอยู่ที่สำนักงานไปร ไตทะกูมา ให้หม่อมฉันส่งคนไปรับ หม่อมฉันออกจะตกใจด้วยเป็นเวลาเขาห้ามปรามกวดขัน มิให้มีการคมนาคมหรือไปมาถึงกันในระหว่างเมืองมลายูกับเมืองไทย ไฉนจึงมีผู้ส่งโทรเลขไปให้หม่อมฉันได้ และส่งไปโดยอนุญาตของรัฐบาลญี่ปุ่นด้วย เห็นว่าคงต้องเป็นโทรเลขในการสำคัญอันใดอันหนึ่งจำจะต้องรับโทรเลขเช่นนั้น แต่ไม่มีผู้ชายที่จะให้ไป หญิงพิลัยกับหญิงเหลือ เธอรับอาสาจะไปรับโทรเลขนั้น เธอกล้าไปถึงศาลารัฐบาล และได้พบตัวเลขานุการของเจ้าเมือง เขาบอกว่าโทรเลขนั้นส่งมาโดยทางราชการด้วยสายโทรเลขของกรมทหารญี่ปุ่น แต่สถานีไปรไตทะกูมานั้นตั้งอยู่ที่ฝั่งแหลมมลายูมิได้อยู่ที่เกาะปีนัง หญิงพิลัยกับหญิงเหลืออุตส่าห์ทนความลำบากข้ามไปถึงที่สถานีโทรเลขเดิมที่สถานีรถไฟตำบลไปร ไปรู้ความจากพนักงานโทรเลขว่าที่สถานีเดิมนั้น เลิกรับส่งโทรเลขกับเมืองไทยมาเสียนานแล้ว โทรเลขที่มีถึงหม่อมฉันนั้นอยู่ที่สถานีโทรเลขกรมทหารญี่ปุ่นทางไปสักครึ่งไมล์ เจ้าหญิงมองหาพาหนะอันใดที่จะไปให้ถึงที่สถานีโทรเลขนั้นก็หาไม่ได้ นอกจากจะขึ้นนั่งอาศัยไปท้ายรถจักรยานของผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งเธอรังเกียจ จึงเป็นอันจนใจต้องกลับมาเปล่าเสียวันหนึ่ง ด้วยเดชะบุญหม่อมฉันได้เคยคุ้นกับนายร้อยทหารญี่ปุ่นคนหนึ่งในกรมทะราบูไต คือพนักงานในการที่เกี่ยวข้องกับเมืองไทย เขาเคยมีแก่ใจมาบอกปวารณา รับช่วยอุปการะไว้ในเวลาเดือดร้อน ปรึกษากันดูกับลูก เห็นว่าจำเป็นแล้วที่ต้องอาศัยพึ่งนายร้อยคนนั้น

รุ่งขึ้นวันเสาร์ที่ ๓ ตุลาคม หญิงพูนกับหญิงเหลือไปหานายร้อยที่สำนักงานของเขา เล่าเรื่องที่มีมาแต่หนหลังให้เขาฟัง เขาก็รับจะเรียกเอาโทรเลขนั้นมาให้ และตัวนายร้อยเองนำโทรเลขมาให้ในตอนกลางวัน ๆ นั้น แต่โทรเลขเป็นภาษาญี่ปุ่น ก็เลยวานให้นายร้อยช่วยแปลเป็นภาษาอังกฤษ อ่านคำแปลได้ความว่าโทรเลขนั้นเป็นโทรเลขของผู้ใหญ่คนใดคนหนึ่งในฝ่ายญี่ปุ่นมีถึงผู้ใหญ่ฝ่ายญี่ปุ่นอีกคนหนึ่ง ชื่อเรียงเสียงไรไม่ปรากฏทั้งสองฝ่าย ขึ้นความว่าให้บอกหม่อมฉันว่ารัฐบาลไทยปรารถนาจะให้หม่อมฉันกับพระองค์หญิงประเวศและครอบครัวกลับกรุงเทพฯ รัฐบาลญี่ปุ่นก็รับจะสงเคราะห์ให้ได้กลับไปโดยสะดวกทั้งตัวหม่อมฉันและพระองค์หญิงประเวศ กับบริวารทั้งปวง จะให้อาชวดิศไปรับที่ต่อแดน ณ ตำบลปาดังเบซา และจะมีจดหมายตามมา ขอให้หม่อมฉันเตรียมตัว และให้ออกจากปีนังวันศุกร์ที่ ๙ ตุลาคม เวลาเช้า ความในโทรเลขมีเท่านั้น สังเกตเห็นมีชื่ออาชวดิศรู้ว่าพวกที่บ้านหม่อมฉันคงรู้เห็นด้วยในการที่ส่งโทรเลขฉบับนั้น เพื่อจะให้หม่อมฉันมีเวลาเตรียมตัว ๖ วัน แต่เหตุไฉนจึงกำหนดให้ออกจากปีนังวันที่ ๙ ตุลาคม คิดไม่เห็น ปรึกษานายร้อยทางเขาก็ไม่รู้วี่แววว่าจะมีการรับหม่อมฉันกลับ เขาแนะนำว่าควรถือโทรเลขนั้นเป็นความลับไว้ก่อน ต่อเมื่อได้รับจดหมายจึงค่อยเตรียมตัวโดยเปิดเผย เขารับจะไปเที่ยวสืบสวนว่าจดหมายส่งไปทางไหน และจะรีบเร่งเอาจดหมายมาให้หม่อมฉันโดยเร็ว รอมา ๒ วันก็ไม่ได้รับข่าวจากนายร้อย หม่อมฉันจึงให้หญิงพูนไปกระซิบทูลพระองค์หญิงประเวศให้ทรงทราบ เธอก็ตรัสว่าเต็มพระทัยที่จะกลับกรุงเทพฯ

ถึงวันพุธที่ ๗ ตุลาคม เวลาเช้านายทหารญี่ปุ่นคนหนึ่ง ชื่อนายร้อยโททุทสะดากับล่ามไปหาที่ซินนามอนฮอล ถือจดหมายชายดิศฉบับ ๑ ชายแอ๊วฉบับ ๑ ชายใหม่ฉบับ ๑ และบอกว่าตัวเขาลงไปจากสถานทูตญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ เพื่อไปรับหม่อมฉันพร้อมกันกับลูก ในการที่จะเดินทางจากปีนังผ่านไปในแดนที่ญี่ปุ่นปกครอง เขาจะเป็นผู้ดูแลให้ได้ความสะดวกทุกอย่าง ลูกชายดิศกับชายใหม่จะไปคอยรับอยู่ที่ต่อแดนพามาเมืองสงขลาให้ทันลงเรือวลัย ซึ่งกำหนดจะออกในวันศุกร์ที่ ๙ ตุลาคม กลับมากรุงเทพฯ ทางทะเลก็เป็นอันรู้ว่าเหตุใดในโทรเลขจึงกำชับให้ออกจากปีนังวันที่ ๙ ปรึกษากันต่อไปถึงทางที่จะออกจากปีนังจะมาทางรถไฟก็ได้อย่างหนึ่ง จะมาทางรถยนต์ก็ได้อีกอย่างหนึ่ง นายร้อยโททุทสะดาเขาเห็นว่ามารถไฟไม่สะดวกเหมือนรถยนต์ เพราะรถไฟที่ญี่ปุ่นใช้อยู่ทางนั้นมีแต่รถ ๔ ล้อ ชั้นที่ ๒ กับชั้นที่ ๓ ไม่สบาย และยังต้องมาขนของเปลี่ยนรถที่ปาดังเบซา จะถึงสงขลาต่อเวลายามหนึ่งลำบากในการที่จะลงเรือ สู้มารถยนต์ไม่ได้ ต้องเดินทางเพียง ๘ ชั่วโมงเป็นอย่างช้า และบรรทุกของหนเดียว ไม่ต้องรื้นขนจนถึงเรือคงจะถึงเมืองสงขลาตอนบ่าย หม่อมฉันก็เห็นชอบด้วย จึงตกลงว่าจะกลับรถยนต์ หม่อมฉันมีรถยนต์ของหม่อมฉันเองอยู่หลังหนึ่ง ขออนุญาตเอาออกจากปีนังใช้ขากลับมา ขอให้รัฐบาลญี่ปุ่นช่วยจัดรถเก๋งถวายพระองค์หญิงประเวศหลังหนึ่ง รถเก๋งบรรทุกคนบริวารหลังหนึ่ง กับรถบรรทุกสิ่งของต่าง ๆ ๒ หลัง เขาก็รับจะไปจัดหารถและจัดการตามที่ตกลงกันไว้นั้น ตั้งแต่เวลานั้นก็จัดของลงหีบปัดชุลมุนกันทั้งกลางวันกลางคืน ข่าวที่จะกลับก็แพร่หลาย มีคนมาส่งและมีพระมาสวดอวยชัยให้พร เป็นอันว่าหาเวลาว่างมิได้นอกจากเวลากินกับนอน น่าสงสารแต่พวกลูกจ้างที่เคยรับใช้อยู่ มันพากันร้องไห้ไม่เลือกหน้าทั้งเด็กผู้ใหญ่ ที่จริงมันก็น่าวิตกด้วยผู้อื่นที่เขาจะมาอยู่ต่อไป เขาจะจ้างไว้ใช้หรือจะไล่เสียก็รู้ไม่ได้

เกิดเหตุขัดข้องเป็นข้อสำคัญขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๘ ตุลาคม ด้วยพระองค์หญิงประเวศให้มาบอกว่า เธอมีอาการประชวนด้วยเส้นประสาทกำเริบให้หมอมาตรวจ หมอว่าจะเดินทางไม่ได้ เพราะฉะนั้นเธอจะต้องเสด็จอยู่ปีนังต่อไปยังกลับไม่ได้ หม่อมฉันก็จนใจมิรู้ที่จะทำอย่างไร ด้วยครัวเรือนของหม่อมฉันเองได้รับปากผู้ไปรับเป็นมั่นคง สมบัติพัสถานได้รวบรวมเก็บลงหีบร่ำลาพวกพ้องหมดแล้ว จะคืนคำไม่กลับมาด้วยอ้างเหตุที่พระองค์หญิงประเวศประชวร ดูจะเสียหายด้วยทำให้เขาลำบากยากเย็นเปล่า ๆ จึงต้องตกลงปลงใจกลับมาแต่ครัวเดียว ปล่อยพระองค์หญิงประเวศไว้ที่ปีนังชั่วคราว ด้วยผู้ที่จะดูแลอุปการะเธอก็มีอยู่บ้าง คือพระยารัษฎาธิราชภักดี (คอยู่จ๋าย) เป็นต้น เมื่อเธอหายประชวรแล้วจึงจะคิดรับกลับมา แต่ก็เสียใจมาก เข้ามาเสียด้วยกันหมดก็จะสะดวกขึ้นมาก

ถึงวันศุกร์ที่ ๙ ตุลาคม เวลาเช้า ๙ น. หม่อมฉันขึ้นรถยนต์ของหม่อมฉันเองด้วยกันกับหญิงพูนนั่งข้างใน นายร้อยโททุทสะดานั่งข้างหน้า เขาเอาคนของรัฐบาลญี่ปุ่นมาขับรถ คนอื่นนอกจากนั้นตั้งแต่หญิงพิลัยเป็นต้น บรรดาที่มาด้วยขึ้นรถออมนิบัสที่รัฐบาลญี่ปุ่นเขาจัดให้หลังหนึ่ง สิ่งของทั้งปวงที่เอามาด้วยรวมลงในรถบรรทุกของหลังเดียวหมด ยังมีหีบสมุดและของอื่นฝากไว้ที่ปีนังอีกหลายหีบ เขารับว่าจะส่งตามเข้ามาภายหลัง ออกจากซินนามอนฮอลยังต้องขับรถไปบอกเจ้าพนักงานตามสถานที่ต่าง ๆ ก่อนแล้วจึงเอารถลงเรือข้ามมาที่ฝั่งได้ แต่นายร้อยโททุทสะดาเขาเป็นธุระจัดการต่างๆ ตามข้อบังคับให้หมดทุกอย่าง เราไม่ต้องทำอะไรเป็นแต่นั่งมาเหมือนกับหุ่น การที่ตรวจตัวคนตรวจสิ่งของที่เอาออกจากปีนัง หรือตามด่านทางที่ผ่านมาในแดนญี่ปุ่นปกครองเขายกเว้นให้หมดทุกอย่าง มาหยุดกินกลางวันที่อำเภอสุไหง ปัตตานี แล้วแล่นต่อมา ถึงแดนเมืองไทยพบชายดิศกับชายใหม่ไปคอยรับหม่อมฉัน ชวนชายดิศขึ้นรถนั่งมาด้วยอีกคนหนึ่ง แต่มาถูกลำบากในแดนเมืองของตัวเองแสนสาหัส ด้วยเมื่อก่อนหม่อมฉันจะมาฝนตกห่าใหญ่หลายวัน น้ำกัดถนนและสะพานหักพังต้องขับรถลุยโคลนมาช้าๆ บางแห่งก็ติดบ้างและต้องข้ามสะพานเขาทำชั่วคราวก็หลายแห่ง มาได้ช้าจนมืดค่ำลงกลางทาง มาถึงเมืองสงขลาได้ต่อยามหนึ่ง ต้องนั่งเป็นหุ่นมาในรถถึง ๑๒ ชั่วโมง ด้วยเดชะบุญทนมาได้จนถึงเมืองสงขลา แต่เมื่อเดินลงเรือไฟเล็กมาขึ้นเรือไฟใหญ่ หัวเข่าทั้งสองข้างยันไม่อยู่ ต้องมีคนประคองให้เดินจึงขึ้นลงได้

ที่ลูกเขาคิดให้มาเรือทางทะเลก็เป็นเดชะบุญอีก พอมาถึงเมืองสงขลา ก็ได้ข่าวว่าน้ำท่วมพัดทางรถไฟพังที่ตำบลศาลายา รถไฟเดินได้เพียงพระปฐมเจดีย์ ถ้าหม่อมฉันมาทางรถไฟก็เห็นจะมาติดอยู่เพียงหัวหิน บางทีจะยังมาไม่ถึงกรุงเทพฯ ทั้งได้เคยฟังเขาเล่าว่ามารถไฟเดี๋ยวนี้ลำบากมาก ด้วยต้องนอนค้างทางและเปลี่ยนรถถึง ๔ วัน มารถไฟคงจะบอบช้ำเหน็ดเหนื่อย แต่มาเรือวลัยได้ความสุขสำราญทั้งกินนอนและอากาศดีไม่มีคลื่นตลอดทางจนถึงกรุงเทพฯ ก็มาได้เห็นและได้ความคุ้นเคยอย่างแปลกประหลาด เรือวลัยจอดที่หน้าวัดโชตนาราม ลงเรือไฟเล็กดูพระนครเวลากำลังน้ำท่วมมาจนถึงท่าเกษมที่บางขุนพรหม แล้วลงเรือพายมาตามถนนจนถึงวังวรดิศ อย่างว่า “ไม่เคยรับ” ต่อมาถึงวันศุกร์ที่ ๑๖ หม่อมฉันลงเรือพายจากวังวรดิศไปทางถนนราชดำเนินและพายเข้าประตูวิเศษไชยศรีไปจนถึงประตูวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ยกเรือข้ามพระระเบียงเข้าไปลอยในลานวัดลงเรือต่อไป จอดเทียบบันไดพระอุโบสถ บูชาพระแก้วมรกตแล้วลงเรือไปเทียบที่บันไดทางขึ้นปราสาทพระเทพบิดร ไปถวายบังคมพระบรมรูป เวลาที่ไปมาจากวังวรดิศกับพระบรมมหาราชวังถึงชั่วโมงหนึ่ง ถึงวันอาทิตย์ที่ ๑๘ หม่อมฉันไปเฝ้าสมเด็จพระพันวัสสาฯ ลงเรือที่วังวรดิศไปตามคลองแสนแสบถึงวังสระปทุม วันนั้นกลับมาเหนื่อยเพลียด้วยต้องตากแดดไปตามทาง หม่อมฉันยังปรารถนาจะไปในเวลาน้ำท่วมนี้แต่อีกแห่งเดียว คือที่ตำหนักปลายเนิน แต่ฟังคำคุณโตและพวกหลานที่อยู่ตำหนักว่าทางไปมาลำบาก และต้องใช้เวลาไปถึง ๒ ชั่วโมงจึงถึงก็ออกท้อใจ ฝ่ายพระองค์ท่านก็คงอยากเสด็จมาวังวรดิศ แต่นึกว่าเราคิดถึงอายุสังขารของเราจะดีกว่า รอไว้พบกันเมื่อน้ำแห้งเถิด

บรรเลง

๓. หม่อมฉันเคยถวายเรื่องบรรเลงมาในจดหมายเวรฉบับที่ ๖/๘๕ ๒ เรื่อง แต่จดหมายฉบับนั้นดูน่าจะหายเสียแล้วในระหว่างทาง จึงคัดเรื่องที่บรรเลงถวายซ้ำมาในจดหมายฉบับนี้ คือเรื่องเมืองอู่ทองเรื่อง ๑ กับเรื่องพระเจดีย์ยุทธหัตถีเรื่อง ๑ ดังต่อไปนี้

เรื่องเมืองอู่ทอง

ในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับแรกพิมพ์เมื่อรัชกาลที่ ๔ มีนิทานเล่าถึงเรื่องต้นวงศ์ของพระเจ้าอู่ทองอยู่ข้างต้น ว่ามีพระเจ้าแผ่นดินองค์ ๑ ครองเมืองเชียงรายอยู่ในแดนลานนา อยู่มาพวกมอญเมืองสะเทิ่มยกกองทัพมาตีเมืองเชียงราย พระเจ้าเชียงรายเห็นว่าข้าศึกมีกำลังมากมายใหญ่หลวงนักจะสู้ไม่ไหวก็ทิ้งเมืองเชียงราย พาไพร่บ้านพลเมืองอพยพหนีข้าศึกมาทางแม่น้ำพิง มาเห็นเมืองแปบร้างอยู่ทางฝั่งตะวันตกใต้เมืองกำแพงเพชร จึงตั้งอยู่ ณ ที่นั่น และสร้างเมืองขึ้นเป็นราชธานีให้ชื่อว่า “เมืองไตรตรึงส์” (อยู่ที่ตำบลวังพระธาตุ) แล้วเสวยราชย์สืบวงศ์มา ๓ ชั่ว ถึงรัชกาลพระเจ้าไตรตรึงส์องค์ที่ ๓ มีชายทุคตะเข็ญใจคน ๑ รูปร่างวิกลเป็นปมเปาไปทั่วทั้งตัวจนเรียกกันว่า “แสนปม” ตั้งทำไร่เลี้ยงชีพอยู่ที่เกาะอันหนึ่งข้างใต้เมืองไตรตรึงส์ ก็นายแสนปมนั้นมักไปถ่ายปัสสาวะที่โคนต้นมะเขือในไร่ของตนเนืองๆ ครั้นมะเขือออกลูก เผอิญมีผู้ได้ไปส่งทำเครื่องเสวยที่ในวัง ราชธิดาองค์ ๑ เสวยมะเขือนั้น ทรงครรภ์ขึ้นมาโดยมิได้มีวี่แววว่าเคยคบชู้สู่ชาย แล้วคลอดบุตรเป็นชาย พระเจ้าไตรตรึงส์ใคร่จะรู้ว่าใครเป็นบิดาของบุตรนั้น พอกุมารเจริญถึงขนาดรู้ความ ก็ประกาศสั่งให้บรรดาชายชาวเมืองไตรตรึงส์หาของมาถวายกุมารราชนัดดา และทรงอธิษฐานว่าถ้ากุมารเป็นบุตรของผู้ใด ขอให้ชอบของผู้นั้น นายแสนปมถูกเรียกเข้าไปด้วยไม่มีอะไรจะถวายได้แต่ข้าวสุกก้อน ๑ ถือไป แต่กุมารเฉพาะชอบข้าวสุกของนายแสนปม เห็นประจักษ์แก่ตาคนทั้งหลาย พระเจ้าไตรตรึงส์ได้ความอัปยศอดสู ก็ให้เอากุมารหลานชายกับนางราชธิดาที่เป็นมารดา ลงแพปล่อยลอยน้ำไปเสียด้วยกันกับนายแสนปม แต่เมื่อแพลอยลงไปถึงไร่ของนายแสนปม พระอินทร์จำแลงเป็นลิงเอากลองสาระพัดนึกลงมาให้นายแสนปมใบ ๑ บอกว่าจะปรารถนาสิ่งใดก็ให้ตีกลองนั้นจะสำเร็จได้ดังปรารถนา ๓ ครั้ง นายแสนปมตีกลองครั้งแรกปรารถนาจะให้ปมเปาที่ตัวหายไป ก็หายหมดกลับมีรูปโฉมเป็นสง่างาม ตีครั้งที่ ๒ ปรารถนาจะมีบ้านเมืองสำหรับครอบครอง ก็เกิดเมืองขึ้นที่ใต้บ้านโคนข้างใต้เมืองไตรตรึงส์ทางฝั่งตะวันออก ตีครั้งที่ ๓ ปรารถนาเปลทองคำสำหรับให้กุมารนอน ก็เกิดเปลทองคำขึ้นดังปรารถนา เพราะกุมารมีบุญได้นอนเปลทองคำของนฤมิตผิดกับคนอื่น จึงได้นามว่า “เจ้าอู่ทอง” ส่วนนายแสนปมก็ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ ทรงนามว่า “พระเจ้าศิริชัยเชียงแสน” ครองเมืองที่นฤมิตนั้นขนานนามว่า “เมืองเทพนคร” เมื่อพระเจ้าศิริชัยเชียงแสนสิ้นชีพ เจ้าอู่ทองได้รับรัชทายาทครองเมืองเทพนครมาได้ ๖ ปี พระเจ้าอู่ทองปรารภหาที่สร้างราชธานีใหม่ให้บริบูรณ์พูนสุขกว่าเมืองเทพนคร ให้ข้าหลวงเที่ยวตรวจตราหาที่ เห็นว่าที่ตำบลหนองโสนเหมาะดี พระเจ้าอู่ทองจึงย้ายจากเมืองเทพนครลงมาสร้างพระนครศรีอยุธยา ราชาภิเษกทรงพระนามว่า “สมเด็จพระรามาธิบดี” เรื่องพระราชพงศาวดารตั้งต้นต่อนิทานนี้ เริ่มความแต่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ สร้างกรุงศรีอยุธยา เมื่อปีขาล พ.ศ. ๑๘๙๓

นิทานเรื่องนายแสนปมนี้ ที่เป็นมูลเหตุให้คนทั้งหลายเข้าใจกันว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ซึ่งสร้างกรุงศรีอยุธยาทรงพระนามเดิมว่า “อู่ทอง” เพราะมีบุญญาภินิหารได้บรรทมเปลทองของนฤมิตเมื่อยังทรงพระเยาว์ คำที่เรียกกันในหนังสือต่างๆ ว่า “พระเจ้าอู่ทอง” จึงถือกันว่าเป็นพระนามส่วนพระองค์ทำนองเดียวกับ “พระสังข์” ในนิทานที่ชอบเล่นละครกัน

แต่เรื่องพระเจ้าอู่ทองยังมีในหนังสืออื่นอีก ในหนังสือพงศาวดารเหนืออธิบายความไปอีกอย่างหนึ่ง ว่าเมื่อพระยาแกรกผู้มีบุญสิ้นพระชนม์แล้ว ราชวงศ์ได้ครองเมือง (ชื่อไรไม่กล่าว) สืบมาสามชั่วถึงชั่วที่ ๓ มีแต่ราชธิดา ไม่มีราชวงศ์ที่เป็นชายจะครองเมือง โชดกเศรษฐีกับกาลเศรษฐี (ทำนองจะเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่) จึงปรึกษากันให้ลูกชายของโชดกเศรษฐีชื่อว่า “อู่ทอง” อภิเษกกับราชธิดาแล้วครองเมืองนั้น อยู่มาได้ ๖ ปีเกิดห่า (โรคระบาด) ลงกินเมืองผู้คนล้มตายมากนัก พระเจ้าอู่ทองจึงอพยพผู้คนพลเมืองหนีห่ามาสร้างกรุงศรีอยุธยา แม้ในเรื่องนี้คำ “อู่ทอง” ก็ว่าเป็นชื่อคน

ยังมีพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งทรงแต่งพระราชทานดอกเตอร์ดีน มิชชันเนรีอเมริกัน ส่งไปลงพิมพ์ไว้ในหนังสือ “ไชนีสริปอสิตอรี” ในเมืองจีนเมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๓๙๔ แต่พระบรมราชาธิบายมีเพียงว่าพระเจ้าอู่ทองซึ่งสร้างกรุงศรีอยุธยานั้น เป็นราชบุตรเขยของพระเจ้าศิริชัยเชียงแสน ได้รับราชสมบัติสืบพระวงศ์ทางพระมเหสี ครองเมือง (ชื่อไรมิได้มีในพระราชนิพนธ์) อยู่ได้ ๖ ปีเกิดห่าลงกินเมืองจึงย้ายมาตั้งกรุงศรีอยุธยา เรื่องพระเจ้าอู่ทองที่พบในหนังสือเก่ามิได้กล่าวว่าคำ “อู่ทอง” เป็นชื่อเมืองแต่สักเรื่อง ๑ แม้ตัวหม่อมฉันก็ไม่เคยคิดว่ามีเมืองชื่อว่า “อู่ทอง” มูลเหตุที่จะพบเมืองอู่ทองนั้น เกิดแต่เมื่อปีแรกหม่อมฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ไปตรวจราชการเมืองสุพรรณบุรี เป็นครั้งแรกที่เจ้านายเสด็จไปเมืองนั้นดังเล่าในนิทานเรื่องอื่นแล้ว หม่อมฉันถามชาวเมืองสุพรรณถึงของโบราณต่างๆ ที่มีในเขตเมืองนั้น เขาบอกว่ามีเมืองโบราณร้างอยู่ในป่าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เมืองสุพรรณฯ แห่งหนึ่ง เรียกกันว่า “เมืองท้าวอู่ทอง” ผู้หลักผู้ใหญ่เล่ากันมาว่าพระเจ้าอู่ทองเสวยราชย์อยู่ที่เมืองนั้นก่อน อยู่มาห่าลงกินเมืองพระเจ้าอู่ทองจึงพาผู้คนหนีห่าย้ายไปสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และเล่าต่อไปว่า เมื่อพระเจ้าอู่ทองหนีห่าครั้งนี้ พาผู้คนไปข้ามแม่น้ำสุพรรณตรงที่แห่งหนึ่งยังเรียกกันว่า “ท่าท้าวอู่ทอง” อยู่จนทุกวันนี้ หม่อมฉันได้ฟังก็เกิดอยากไปดูเมืองท้าวอู่ทอง แต่เขาว่าอยู่ไกลนัก ถ้าจะเดินบกไปจากเมืองสุพรรณฯ จะต้องแรมทางสัก ๒ คืนจึงจะถึง ทางที่จะไปได้สะดวกนั้นต้องไปเรือ เข้าคลองสองพี่น้องที่ใกล้กับแดนเมืองนครไชยศรี ไปทางคลองจนถึงบ้านสองพี่น้องที่อยู่ชายป่าแล้วขึ้นเดินบกต่อไปวันเดียวก็ถึง หม่อมฉันไม่สามารถจะไปดูเมืองท้าวอู่ทองได้ในคราวนั้น แต่ผูกใจไว้ว่าจะไปดูให้ได้สักครั้งหนึ่ง

ต่อมาอีกสักสองสามปี จะเป็นปีใดหม่อมฉันจำไม่ได้ หม่อมฉันจะไปตรวจเมืองสุพรรณบุรีอีก ครั้งนี้จะไปดูอำเภอสองพี่น้อง อันเป็นอำเภอใหญ่อยู่ข้างใต้เมืองสุพรรณ หม่อมฉันนึกขึ้นถึงเมืองท้าวอู่ทอง จึงสั่งให้เขาเตรียมพาหนะสำหรับเดินทางบก กับหาที่พักแรมไว้ที่เมืองท้าวอู่ทองด้วย เมื่อตรวจราชการที่อำเภอสองพี่น้องแล้วหม่อมฉันก็ขี่ม้าเดินบกไป ทางที่ไปเป็นป่าเปลี่ยวแต่มีไม้แก่นชนิดต่างๆ มาก ถึงมีหมู่บ้านตั้งอยู่ในป่านั้นแห่งหนึ่ง ชาวบ้านหากินแต่ด้วยทำเกวียนส่งไปขายยังที่อื่นๆ เพราะหาไม้ต่างๆ สำหรับทำเกวียนได้ง่ายในป่านั้น หม่อมฉันพักร้อนกินกลางวันที่บ้านนั้นแล้วเดินทางต่อไป พอตกเย็นก็ถึงบ้านจระเข้สามพันอันเป็นที่พักแรมอยู่ริมลำน้ำชื่อเดียวกัน ใต้เมืองท้าวอู่ทองลงมาไม่ห่างนัก รวมระยะทางที่เดินบกไปจากบ้านสองพี่น้องเห็นจะราวสัก ๗๐๐ เส้น

วันรุ่งขึ้นหม่อมฉันเข้าไปดูเมืองท้าวอู่ทอง เมืองตั้งอยู่ทางฟากตะวันตกลำน้ำจระเข้สามพัน ดูเป็นเมืองเก่าแก่ใหญ่โต มีป้อมปราการก่อด้วยศิลา แต่หักพังไปเสียเกือบหมดแล้ว ยังเหลือคงรูปแต่ประตูเมืองแห่งหนึ่งกับป้อมปราการต่อจากประตูนั้นบ้างเล็กน้อย แนวปราการด้านหน้าตั้งบนที่ดอนดูเป็นตระพักสูงราว ๖ ศอก แล้วเป็นแผ่นดินต่ำต่อไปสัก ๕ เส้นถึงริมน้ำจระเข้สามพัน มีรอยถนนจากประตูเมืองตรงลงไปถึงท่าเรียกว่า “ท่าพระยาจักร” พิเคราะห์ดูลำน้ำจระเข้สามพันเดิมเห็นจะเป็นแม่น้ำใหญ่ที่สูงซึ่งสร้างปราการจะเป็นตลิ่ง ครั้นนานมาเกิดมีช่องทางพาสายน้ำไหลไปเสียทางอื่น แม่น้ำเดิมก็ตื้นเขินแคบเข้าโดยลำดับจนเกิดแผ่นดินที่ราบมีขึ้นริมตลิ่ง ก็ต้องทำถนนต่อออกไปจากเมืองจนถึงท่าเรือ ความที่ว่านี้เห็นได้ด้วยมีสระขุดขนาดใหญ่สัญฐานเป็น ๔ เหลี่ยมรีอยู่ทั้งสองข้างถนน คงขุดสำหรับขังน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง น่าจะเป็นเพราะเมืองกันดารน้ำหนักขึ้นนั้นเองเป็นเหตุให้เกิดห่า (เช่นอหิวาตกโรคเป็นต้น) ลงกินเมืองเนืองๆ มิใช่เพียงแต่ครั้งเดียว พระเจ้าอู่ทองจึงต้องทิ้งเมืองย้ายมาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา ข้างในเมืองท้าวอู่ทองเมื่อหม่อมฉันไปดู เป็นแต่ที่อาศัยของสัตว์ป่าได้เห็นอีเก้งวิ่งผ่านหน้าม้าไปใกล้ๆ แต่สังเกตดูพื้นที่เป็นโคกน้อยใหญ่ต่อๆ กันไปทุกทาง และตามโคกมีก้อนหินและอิฐหักปนอยู่กับดินแทบทั้งนั้น เพราะเคยเป็นที่โบราณสถานเช่นพระเจดีย์วิหาร เมื่อบ้านเมืองยังดีเห็นจะมีมาก หม่อมฉันดูเมืองแล้วให้คนแยกย้ายกันไปเที่ยวค้นหาของโบราณที่ยังมีทิ้งอยู่ในเมืองท้าวอู่ทอง พบของหลายอย่างเช่นพระเศียรพระพุทธรูปเป็นต้นเป็นแบบเดียวกันที่พบที่พระปฐมเจดีย์ แม้เงินเหรียญตราสังข์ซึ่งเคยพบแต่ที่พระปฐมเจดีย์ชาวบ้านก็เคยขุดได้ที่เมืองท้าวอู่ทอง ดูประหลาดนักหนา ใช่แต่เท่านั้น แม้เทวรูปโบราณที่นับถือกันในสมัยภายหลังมา ก็มีรูปพระวิษณุแบบเก่าที่ทำใส่หมวกแทนมงกุฎอยู่ที่ท่าพระยาจักรองค์หนึ่ง ซึ่งคนถือว่าศักดิ์สิทธิ์ ไม่กล้าย้ายเอาไปที่อื่น ซากของชั้นหลังเช่นพระเจดีย์แบบสมัยกรุงสุโขทัยก็มี เมื่อหม่อมฉันได้เห็นเมืองท้าวอู่ทองเป็นดังว่ามา คิดว่าน่าจะเป็นเมืองตั้งมาแต่ในสมัยเมื่อเมืองที่พระปฐมเจดีย์เป็นราชธานีของประเทศ (ที่นักปราชญ์เขาค้นได้ในจดหมายเหตุจีนว่าชื่อ “ทวาราวดี”) จึงใช้สิ่งของแบบเดียวกันมาก ใจหม่อมฉันก็เริ่มผูกพันกับเมืองท้าวอู่ทองมาตั้งแต่ไปเห็นเมื่อครั้งแรก

ครั้นถึงสมัยเมื่อสร้างเมืองนครปฐมขึ้นที่ตำบลพระปฐมเจดีย์ หม่อมฉันออกไปตรวจการบ่อยๆ สังเกตเห็นที่พระปฐมเจดีย์มีรอยลำน้ำเก่า ๒ สาย สายหนึ่งวกวนขึ้นไปทางทิศเหนือ อีกสายหนึ่งวกวนไปทางทิศตะวันตก หม่อมฉันอยากรู้ว่าลำน้ำสายไปข้างเหนือนั้นจะขึ้นไปถึงเมืองท้าวอู่ทองหรือไม่ จึงวานพระยานครพระราม (ม.ร.ว. เล็ก) เมื่อยังเป็นนายอำเภอพระปฐมเจดีย์ ให้ตรวจแนวลำน้ำนั้นว่าจะขึ้นไปถึงไหน ด้วยแกเคยอยู่ในกรมแผนที่ ทำแผนที่เป็น พระยานครพระรามตรวจได้ความว่าแนวลำน้ำนั้นขึ้นไปผ่านหน้าเมืองกำแพงแสน ซึ่งเป็นเมืองโบราณเมืองหนึ่ง แล้วมีร่องรอยต่อขึ้นไปข้างเหนือจนไปต่อกับลำน้ำจระเข้สามพันที่ตั้งเมืองท้าวอู่ทอง ใช่แต่เท่านั้น สืบถามที่เมืองสุพรรณ ยังได้ความต่อไปว่าลำน้ำจระเข้สามพันนั้นยืนยาวต่อขึ้นไปทางเหนืออีกไกลมาก และมีของโบราณ เช่นสระน้ำสรงราชาภิเษกเป็นต้น อยู่ริมลำน้ำนั้นหลายแห่ง แต่ลำน้ำเดิมตื้นเขินยังมีน้ำแต่เป็นตอนๆ คนจึงเอาชื่อตำบลที่ยังมีน้ำเรียกเป็นชื่อลำน้ำนั้นกลายเป็นหลายชื่อ

ส่วนลำน้ำที่พระปฐมเจดีย์อีกสายหนึ่งซึ่งไปทางตะวันตกนั้น ตรวจเมื่อภายหลังก็ได้ความรู้อย่างแปลกประหลาด ว่าไปต่อกับแม่น้ำราชบุรีที่ตำบลท่าผาและมีวัดพุทธาวาศ พวกชาวอินเดียที่มาตั้งเมือง ณ พระปฐมเจดีย์ ก่อสร้างด้วยศิลาปรากฏอยู่ที่พงตึกทางฟากตะวันตกเหนือปากน้ำนั้น เป็นอันพบหลักฐานแน่นอนว่าเมืองโบราณที่พระปฐมเจดีย์นั้นตั้งอยู่ที่แม่น้ำ ๒ สายประสบกัน และอยู่ใกล้ปากน้ำที่ออกทะเลด้วย เพราะเคยขุดพบสายโซ่และสมอเรือทะเลที่ตำบลธรรมศาลา อยู่ห่างพระปฐมเจดีย์มาทางทิศตะวันออกไม่ไกลนัก เพราะเป็นเมืองมีทางคมนาคมค้าขายทั้งทางบกทางทะเลและทางแม่น้ำบริบูรณ์ เมืองเดิมที่พระปฐมเจดีย์จึงได้เป็นราชธานีของประเทศทวาราวดี

หม่อมฉันคิดวินิจฉัยเรื่องเมืองท้าวอู่ทอง เห็นว่าเมื่อแรกตั้งคงเป็นเมืองในอาณาเขตของประเทศทวาราวดี มีมาก่อนสมัยพระเจ้าอู่ทองหลายร้อยปี และคงมีชื่อเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง หม่อมฉันอยากรู้ชื่อเดิมของเมืองท้าวอู่ทอง คิดหาที่ค้นนึกขึ้นได้ว่าในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง ตอนข้างท้ายมีชื่อเมืองขึ้นของกรุงสุโขทัยในสมัยพระเจ้ารามคำแหงบอกไว้ทุกทิศ จึงไปตรวจดูชื่อเมืองขึ้นทางทิศใต้ในศิลาจารึกนั้น มีว่า “เบื้องหัวนิอนรอด (ทิศใต้ถึงเมือง) คณฑี พระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งทะเลสมุทรเป็นที่แล้ว” ดังนี้ ก็เมืองเหล่านั้นหม่อมฉันเคยไปแล้วทั้ง ๗ เมือง รู้ได้ว่าในศิลาจารึกเรียกเรียงเป็นลำดับกันลงมา ตั้งแต่ต่อเมืองกำแพงเพชร คือเมืองคณฑีอยู่ที่ใกล้บ้านโคนทางฝั่งตะวันออกแม่น้ำพิง ยังเป็นเมืองร้างมีวัดวาของโบราณปรากฏอยู่ ตรงที่อ้างในนิทานเรื่องนายแสนปมว่าเป็นเมืองเทพนครที่พระบิดาของพระเจ้าอู่ทองนฤมิต ก็แต่ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง มีมาก่อนนิทานเรื่องนายแสนปมตั้ง ๑๐๐ ปี ก็เป็นอันลบล้างข้อที่อ้างว่าเป็นเมืองเทพนคร และลบล้างต่อไปจนความข้อที่ว่าพระเจ้าอู่ทองครองเมืองเทพนครนั้นอยู่ก่อนลงมาสร้างกรุงศรีอยุธยา ต่อเมืองคณฑีลงมาออกชื่อ “เมืองพระบาง” เมืองนั้นก็ยังเป็นเมืองร้างปรากฏอยู่ทางฝั่งตะวันตกแม่น้ำพิง ข้างหลังตลาดปากน้ำโพบัดนี้ แม้ในหนังสือพระราชพงศาวดารตอนรัชกาลสมเด็จพระอินทราชาธิราชก็มีว่า เมื่อเมืองเหนือเป็นจลาจล สมเด็จพระอินทราชาธิราชเสด็จยกกองทัพขึ้นไปตั้งอยู่ที่เมืองพระบาง ต่อเมืองพระบางลงมาถึง “เมืองแพรก” คือเมืองสรรค์ก็ยังมีเมืองโบราณอยู่จนบัดนี้ ในกฎหมายและพงศาวดารทางกรุงศรีอยุธยาก็เรียกว่าเมืองแพรก เพราะตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน้อยซึ่งแยกจากแม่น้ำพิงไปทางทิศตะวันตก เห็นจะมาเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองสรรค์เมื่อภายหลัง ต่อเมืองแพรกลงมาถึง “เมืองสุพรรณภูมิ” พิเคราะห์ตามแผนที่ตรงกับเมืองท้าวอู่ทอง มิใช่เมืองสุพรรณบุรีซึ่งสร้างเมื่อภายหลัง ต่อเมืองสุพรรณภูมิไปในจารึกก็ออกชื่อเมืองราชบุรี ข้ามเมืองโบราณที่พระปฐมเสียหากล่าวถึงไม่ ข้อนี้ส่อให้เห็นว่าจารึกแต่ชื่อเมืองอันเป็นที่ประชุมชน เมืองร้างหากล่าวถึงไม่

หม่อมฉันนึกว่าเหตุไฉนในจารึกจึงเรียกชื่อเมืองท้าวอู่ทองว่าเมืองสุพรรณภูมิ ก็ศัพท์ ๒ ศัพท์นั้นเป็นภาษามคธ คำ “สุพรรณ” แปลว่าทองคำ “ภูมิ” แปลว่าแผ่นดิน รวมกันหมายความว่า “แผ่นดินอันมีทองคำมาก” ถ้าใช้เป็นชื่อเมืองก็ตรงกับว่าเป็นเมืองอันมีทองคำมาก พอนึกขึ้นเท่านั้นก็คิดเห็นทันทีว่าชื่อ “สุพรรณภูมิ” นั้นตรงกับชื่อ “อู่ทอง” ในภาษาไทยนั่นเอง เพราะคำว่า “อู่” หมายความว่าที่เกิดหรือที่มีก็ได้ เช่นพูดกันว่า “อู่ข้าวอู่น้ำ” มิได้หมายแต่ว่าเปลสำหรับเด็กนอนอย่างเดียว และคำที่เรียกกันว่าท้าวอู่ทองก็ดี พระเจ้าอู่ทองก็ดี หมายความว่าเจ้าเมืองอู่ทองใครได้เป็นเจ้าเมือง พวกเมืองอื่นก็เรียกว่า ท้าวอู่ทองหรือพระเจ้าอู่ทอง เช่นเรียกว่า ท้าวกุเรปัน ท้าวดาหา หรือพระเจ้าเชียงใหม่และพระเจ้าน่าน มิใช่ชื่อตัวบุคคล คิดต่อไปว่าเหตุไฉนจึงเปลี่ยนชื่อเมืองสุพรรณภูมิเป็นเมืองอู่ทอง เห็นว่าเมืองนั้นเดิมพวกพราหมณ์ตั้งชื่อว่าสุพรรณภูมิในสมัยเดียวกันกับตั้งชื่อเมืองราชบุรีและเมืองเพชรบุรี ต่อมาน่าจะร้างเสียสักคราวหนึ่ง เนื่องจากเหตุที่พระเจ้าราชาธิราชเมืองพุกามมาตีเมืองราชธานีที่พระปฐมเจดีย์ในระหว่าง พ.ศ. ๑๖๐๐ ต่อมาพวกไทยลงมาจากข้างเหนือ อาจเป็นพวกพระเจ้าศิริชัยเชียงแสนก็ได้ มาตั้งเมืองสุพรรณภูมิขึ้นอีก เรียกชื่อกันเป็นภาษาไทยจึงได้นามว่า “เมืองอู่ทอง” แต่ในจารึกของพระเจ้ารามคำแหงใช้ชื่อตามธรรมเนียมเดิมจึงเรียกว่าเมืองสุพรรณภูมิ

พอหม่อมฉันโฆษณาความที่คิดเห็นเรื่องเมืองอู่ทองให้ปรากฏ พวกนักเรียนโบราณคดีก็เห็นชอบด้วยหมด เมืองนั้นจึงได้ชื่อเรียกกันว่า “เมืองอู่ทอง” แต่นั้นมาถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อค้นพบพระเจดีย์ยุทธหัตถี ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชสร้างไว้ตรงที่ชนช้างชนะพระมหาอุปราชาเมืองหงสาวดี ณ ตำบลหนองสาหร่ายในแขวงเมืองสุพรรณ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชศรัทธาอุตสาหะเสด็จเดินป่าจากพระปฐมเจดีย์ ไปนมัสการพระเจดีย์นั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ ได้เสด็จแวะทอดพระเนตรเมืองอู่ทองในระหว่างทางประทับแรมอยู่ที่ในเมืองคืน ๑ ทรงพระราชดำริเห็นว่าวินิจฉัยเรื่องเมืองอู่ทองมีหลักฐานมั่นคง ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๖๘ เมื่อทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้านิภานพดลเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม จึงพระราชทานนามว่า เจ้าฟ้ากรมขุนอู่ทองเขตร์ขัติยนารี ชื่อเมืองอู่ทองก็เพิ่มขึ้นในทำเนียบหัวเมืองอีกเมือง ๑ ด้วยประการฉะนี้.

เรื่องพระเจดีย์ยุทธหัตถี

การที่ค้นพบพระเจดีย์ยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีเกี่ยวข้องกับตัวหม่อมฉันอยู่บ้าง และเหตุที่ค้นพบก็อยู่ข้างแปลกประหลาด จึงจะเล่าไว้ในนิทานเรื่องนี้ด้วย

เรื่องสมเด็จพระนเรศวรได้ทรงทำยุทธหัตถี คือขี่ช้างชนกันตัวต่อตัวกับพระมหาอุปราชาเมืองหงสาวดี ฟันพระมหาอุปราชาสิ้นชีพบนคอช้าง มีชัยชนะอย่างมหัศจรรย์ และได้ทรงสร้างพระเจดีย์ไว้ตรงที่ทรงชนช้างองค์หนึ่งนั้น เป็นเรื่องที่เลื่องลือเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรสืบกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่มาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ หาปรากฏว่ามีใครได้เคยเห็น หรือรู้ว่าพระเจดีย์องค์นั้นอยู่ที่ไหนไม่ มีแต่ชื่อเรียกกันว่า “พระเจดีย์ยุทธหัตถี” หนังสือเก่าที่กล่าวถึงพระเจดีย์ยุทธหัตถีก็มีแต่ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงชนะยุทธหัตถีแล้ว “ตรัสให้ก่อสร้างพระเจดีย์สถานสวมศพพระมหาอุปราชาไว้ ณ ตำบลตระพังกรุ” เพียงเท่านี้

ตัวหม่อมฉันรักรู้โบราณคดีตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาตั้งแต่ก่อนเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย นึกอยากเห็นพระเจดีย์ยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมานานแล้ว แต่ไม่สามารถจะไปเที่ยวค้นหาได้ เมื่อเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยจึงให้สืบถามหาตำบลตระพังกรุว่าอยู่ที่ไหน ได้ความว่าแต่โบราณอยู่ในเขตเมืองสุพรรณบุรี แต่เมื่อย้ายเมืองกาญจนบุรีจากเขาชนไก่มาตั้งที่ปากแพรกในรัชกาลที่ ๓ โอนตำบลตระพังกรุไปอยู่ในเขตเมืองกาญจนบุรี แต่ในเวลานั้นเมืองกาญจนบุรีก็ยังขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหม ก็ไม่กล้าไปค้นต้องรอมาอีกสัก ๓ ปี จนโปรดให้รวมหัวเมืองซึ่งเคยขึ้นในกระทรวงกลาโหมและกรมท่า มาขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยแต่กระทรวงเดียว มีโอกาสที่จะค้นหาพระเจดีย์ยุทธหัตถี หม่อมฉันจึงสั่งพระยากาญจนบุรี (นุช) ซึ่งเคยรับราชการอยู่ใกล้ชิดกับหม่อมฉัน เมื่อยังเป็นที่หลวงจินดารักษ์ ให้หาเวลาว่างราชการออกไปยังบ้านตระพังกรุเอง สืบถามว่าพระเจดีย์ที่สมเด็จพระนเรศวรทรงสร้างมีอยู่ในตำบลนั้นหรือไม่ ถ้าพวกชาวบ้านไม่รู้ก็ให้พระยากาญจนบุรีเที่ยวตรวจดูเองว่ามีพระเจดีย์โบราณที่ขนาดหรือรูปทรงสัณฐานสมกับเป็นของพระเจ้าแผ่นดินจะได้ทรงสร้างมีอยู่ในตำบลตระพังกรุบ้างหรือไม่ พระยากาญจนบุรีไปตรวจอยู่นานแล้วบอกรายงานมาว่า บ้านตระพังกรุนั้นมีมาแต่โบราณ เป็นที่ดอนต้องอาศัยใช้น้ำบ่อ มีบ่อน้ำกรุอิฐข้างในซึ่งคำโบราณเรียกว่า “ตระพังกรุ” อยู่หลายบ่อ แต่ถามชาวบ้านถึงพระเจดีย์ที่สมเด็จพระนเรศวรทรงสร้างแม้คนแก่คนเฒ่าก็ว่าไม่เห็นมีในตำบลนั้น พระยากาญจนบุรีไปเที่ยวตรวจดูเองก็เห็นมีแต่พระเจดีย์องค์เล็กๆ อย่างที่ชาวบ้านชอบสร้างกันตามวัด ดูเป็นของสร้างใหม่ทั้งนั้น ไม่เห็นมีพระเจดีย์แปลกตาซึ่งสมควรจะเห็นว่าเป็นของพระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง หม่อมฉันได้เห็นรายงานอย่างนั้นก็จนใจ มิรู้ที่จะค้นหาพระเจดีย์ยุทธหัตถีต่อไปอย่างไรจนตลอดรัชกาลที่ ๕

แต่หม่อมฉันรู้มาตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๕ ว่าสมเด็จพระนเรศวรมิได้ทรงสร้างพระเจดีย์องค์นั้นสวมศพพระมหาอุปราชา อย่างว่าในหนังสือพระราชพงศาวดารเพราะในหนังสือพงศาวดารพม่า ซึ่งพระไพรสณฑ์สาลารักษ์ (อองเทียน) กรมป่าไม้ แปลจากภาษาพม่าให้หม่อมฉันอ่าน ว่าครั้งนั้นพวกพม่าเชิญศพพระมหาอุปราชากลับไปเมืองหงสาวดี หม่อมฉันพิจารณาดูรายการที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร ก็เห็นสมอย่างพม่าว่า เพราะรบกันวันชนช้างนั้น เดิมสมเด็จพระนเรศวรตั้งขบวนทัพหมายจะตีปะทะหน้าข้าศึก ครั้นทรงทราบว่ากองทัพหน้าของข้าศึกไล่กองทัพพระยาศรีไสยณรงค์ซึ่งไปตั้งขัดตาทัพมาไม่เป็นขบวน ทรงพระราชดำริเห็นได้ทีก็ตรัสสั่งให้แปรกระบวนทัพเข้าตีโอบด้านข้างข้าศึกในทันที แล้วทรงช้างชนนำพลออกไล่ข้าศึกด้วยกันกับสมเด็จพระเอกาทศรถ มีแต่กองทัพที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ ตามเสด็จไปด้วย แต่กองทัพที่ตั้งอยู่ห่างได้รู้กระแสรับสั่งช้าไปบ้างหรือบางทีที่ยังไม่เข้าใจพระราชประสงค์ก็จะมีบ้าง ยกไปช้าไม่ทันเวลาดังพระราชประสงค์หลายกอง ซ้ำในเวลาเมื่อสมเด็จพระนเรศวรไล่กองทัพหน้าข้าศึกที่แตกพ่ายไปนั้น เผอิญเกิดลมพัดฝุ่นฟุ้งมืดมนไปทั่วทั้งสนามรบ จนคนเห็นตัวกันมิใคร่ถนัด ช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศวรกับช้างทรงของสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นช้างชนกำลังบ่มมันต่างแล่นไล่ข้าศึกไปโดยเร็ว จนกองทัพพลเดินเท้าที่ตามเสด็จล้าหลัง มีแต่พวกองครักษ์ตามติดช้างพระที่นั่งไปไม่กี่คนนัก พอฝุ่นจางลงสมเด็จพระนเรศวรจึงทรงทราบว่าช้างพระที่นั่งพาทะลวงเข้าไปจนถึงในกองทัพหลวงของข้าศึก ด้วยทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชากับพวกเสนาขี่ช้างยืนพักอยู่ด้วยกันในร่มไม้ ณ ที่นั้น ความมหัศจรรย์ในพระอภินิหารของสมเด็จพระนเรศวรเกิดขึ้นในขณะนี้ที่ทรงพระสติปัญญาว่องไวทันเหตุการณ์คิดเห็นในทันทีว่าทางที่จะสู้ข้าศึกได้เหลืออยู่อย่างเดียวแต่เปลี่ยนวิธีรบให้เป็นจอมพลชนช้างกันตัวต่อตัว อันนับถือกันว่าเป็นวิธีรบของกษัตริย์ซึ่งแกล้วกล้า พอนึกได้ก็ขับช้างพระที่นั่งเข้าไปชวนพระมหาอุปราชาให้ทำยุทธหัตถี ฝ่ายพระมหาอุปราชาก็มีขัตติยมานะ จะไม่รับก็ละอายจึงได้ชนช้างกัน เมื่อสมเด็จพระนเรศวรฟันพระมหาอุปราชาสิ้นชีพบนคอช้างนั้น ทั้งพระองค์เองกับสมเด็จพระเอกาทศรถอยู่ในที่ล้อม สมเด็จพระนเรศวรก็ถูกปืนบาดเจ็บที่พระหัตถ์ นายมหานุภาพควาญช้างพระที่นั่งก็ถูกปืนตาย หมื่นภักดีศวรกลางช้างของสมเด็จพระเอกาทศรถก็ถูกปืนตายในเวลาทรงชนช้างชนะมังจาปะโร แต่เห็นจะทรงเสี่ยงภัยอยู่ในที่ล้อมไม่ช้านัก กองทัพพวกที่ตามเสด็จก็ไปถึง แก้เอาออกจากที่ล้อมกลับมาค่ายหลวงได้ทั้ง ๒ พระองค์ ส่วนพวกกองทัพหงสาวดีกำลังตกใจกันอลหม่าน ด้วยพระมหาอุปราชาผู้เป็นจอมพลสิ้นชีพก็รีบเลิกทัพเชิญศพพระมหาอุปราชกลับไปเมืองหงสาวดีในวันนั้น ฝ่ายทางข้างไทยต่อมาอีก ๒ วัน กองทัพที่สมเด็จพระนเรศวรให้ไปตามตีข้าศึกจึงได้ยกไป ไปทันตีแตกพ่ายแต่ทัพหลังของพวกหงสาวดี ได้ช้างม้าศาสตราวุธมาดังว่าในหนังสือพระราชพงศาวดาร ส่วนกองทัพหลวงของข้าศึกนั้นรอดไปได้ เรื่องที่จริงเห็นจะเป็นดังนี้ สมเด็จพระนเรศวรจึงทรงพระพิโรธพวกแม่ทัพนายกอง มีเจ้าพระยาจักรีเป็นต้นที่ไม่ยกไปทันตามรับสั่ง ถึงวางบทให้ประหารชีวิตตามอัยการศึก เพราะพวกนั้นเป็นเหตุให้ข้าศึกไม่แตกพ่ายไปหมดทุกทัพ

แม้จะมีคำถามว่า ถ้าพระเจดีย์ยุทธหัตถีมิได้สร้างสวมศพพระมหาอุปราชาหงสาวดี ดังว่าไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดาร เหตุใดสมเด็จพระนเรศวรจึงทรงสร้างพระเจดีย์องค์นั้น ข้อนี้ก็มีหลักฐานในหนังสือพระราชพงศาวดารพอจะคิดเห็นเหตุได้ ด้วยเมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จกลับมาถึงพระนคร สมเด็จพระพนรัตน์วัดป่าแก้วซึ่งเป็นตำแหน่งพระสังฆราชฝ่ายขวา พาพระสงฆ์ราชาคณะ ๒๕ รูปเข้าไปเฝ้าเยี่ยมถามข่าวตามประเพณี เห็นข้าราชการที่ถูกตัดสินประหารชีวิตต้องจำอยู่ที่ในวัง สมเด็จพระพนรัตน์ทูลถามสมเด็จพระนเรศวรว่าเสด็จไปทำสงครามก็มีชัยชนะข้าศึก เหตุไฉนพวกแม่ทัพนายกองจึงต้องราชทัณฑ์เล่า สมเด็จพระนเรศวรทรงเล่าเรื่องที่รบกันให้สมเด็จพระพนรัตน์ฟัง แล้วตรัสว่าข้าราชการเหล่านั้น “มันกลัวข้าศึกมากกว่าโยม ละให้แต่โยมสองคนพี่น้องฝ่าเข้าไปในท่ามกลางข้าศึก จนได้ทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา มีชัยชนะแล้วจึงได้เห็นหน้ามัน นี่หากบารมีของโยม หาไม่แผ่นดินก็จะเป็นของหงสาวดีเสียแล้ว”

สมเด็จพระพนรัตน์ถวายพระพรว่า ซึ่งข้าราชการเหล่านั้นจะกลัวข้าศึกยิ่งกว่าพระองค์เห็นจะไม่เป็นไปได้ ที่เกิดเหตุบันดาลให้เสด็จเข้าไปมีชัยชนะโดยลำพังพระองค์ในท่ามกลางข้าศึกนั้น น่าจะเป็นเพราะพระบารมีบันดาลจะให้พระเกียรติปรากฏไปทั่วโลก เปรียบเหมือนเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ใต้ต้นศรีมหาโพธิ ในวันที่จะตรัสรู้พระโพธิญาณนั้น เทวดาก็มาเฝ้าอยู่เป็นอันมาก เมื่อพระยามารยกพลมาผจญถ้าหากเทวดาช่วยรบพุ่งพระยามารให้พ่ายแพ้ไปก็จะไม่สู้อัศจรรย์นัก เผอิญเทวดาพากันหนีไปหมด ยังเหลือแต่พระพุทธเจ้าพระองค์เดียวทรงสามารถปราบพระยามารกับทั้งรี้พลให้พ่ายแพ้ได้ จึงได้พระนามว่าสมเด็จพระพิชิตมารโมลีศรีสรรเพชดาญาณเป็นมหัศจรรย์ไปทั่วอนันตจักรวาฬ ที่พระองค์ทรงชนะสงครามครั้งนี้ก็คล้ายกัน ถ้าหากมีชัยชนะด้วยกำลังรี้พลพระเกียรติก็จะไม่เป็นมหัศจรรย์เหมือนที่มีชัยด้วยทรงทำยุทธหัตถีโดยลำพังพระองค์กับสมเด็จพระอนุชาธิราช จึงเห็นว่าหากพระบารมีบันดาลเพื่อเฉลิมพระเกียรติ ไม่ควรทรงโทมนัสน้อยพระราชหฤทัย สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงฟังสมเด็จพระพนรัตน์ถวายวิสัชนา ก็ทรงพระปิติโสมนัสสิ้นพระพิโรธ สมเด็จพระพนรัตน์จึงทูลขอชีวิตข้าราชการไว้ทั้งหมด แต่ในหนังสือพระราชพงศาวดารขาดความอยู่ข้อ ๑ ซึ่งมีวัตถุและหลักฐานปรากฏอยู่ ว่าสมเด็จพระพนรัตน์ได้ทูลแนะนำให้สมเด็จพระนเรศวรเฉลิมพระเกียรติที่มีชัยครั้งนั้น ด้วยบำเพ็ญพระราชกุศลตามเยี่ยงอย่างพระเจ้าทุษฐคามนี ที่ชาวลังกานับถือว่าเป็นวีรมหาราช อันมีเรื่องอยู่ในคัมภีร์มหาวงศ์คล้ายกันมาก ในเรื่องนั้นว่า เมื่อ พ.ศ. ๓๓๘ พระยาเอฬารทมิฬมิจฉาทิษฐิยกกองทัพจากอินเดียมาตีได้เมืองลังกาแล้วครอบครองอยู่ถึง ๔๐ ปี ในเวลาที่เมืองลังกาตกอยู่ในอำนาจมิจฉาทิษฐินั้น มีเชื้อวงศ์ของพระเจ้าเทวานัมปิยดิศองค์ ๑ ทรงนามว่าพระยากากะวรรณดิศ ได้ครองเมืองอันหนึ่งอยู่ในโรหะนะประเทศตอนกลางเกาะลังกา พระยากากะวรรณดิศมีโอรส ๒ องค์ องค์ใหญ่ทรงนามว่า ทุษฐคามนี องค์น้อยทรงนามว่า ดิศกุมาร ช่วยกันซ่องสุมรี้พลหมายจะตีเอาเมืองลังกาคืน แต่พระยากากะวรรณดิศถึงแก่พิราลัยไปเสียก่อน ทุษฐคามนีกุมารได้เป็นพระยาแทนพระบิดา พยายามรวบรวมกำลังได้จนพอการแล้วยกกองทัพไปตีเมืองอนุราธบุรีราชธานี ได้รบกันพระยาเอฬารทมิฬถึงชนช้างกันตัวต่อตัว ทุษฐคามนีกุมารฟันพระยาเอฬารทมิฬสิ้นชีพบนคอช้าง ก็ได้เมืองลังกาคืนเป็นของราชวงศ์ที่ถือพระพุทธศาสนา ในการฉลองชัยมงคลครั้งนั้นพระเจ้าทุษฐคามนีให้สร้างพระเจดีย์องค์ ๑ ขึ้นตรงที่ชนช้างชนะ แล้วสร้างพระมหาสถูปอีกองค์ ๑ เรียกว่ามริจิวัตเจดีย์ขึ้นที่ในเมืองอนุราธบุรี เป็นที่คนทั้งหลายสักการบูชาเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าทุษฐคามนีสืบมา สมเด็จพระนเรศวรจึงทรงสร้างพระเจดีย์ยุทธหัตถีขึ้นตรงที่ทรงชนช้างองค์ ๑ แล้วทรงสร้างพระเจดีย์ใหญ่อีกองค์ ๑ เรียกว่า “พระเจดีย์ชัยมงคล” ขึ้นที่ “วัดเจ้าพระยาไทย” อันเป็นที่สถิตของพระสังฆราชาฝ่ายขวา จึงมักเรียกกันว่า “วัดป่าแก้ว” ตามนามเดิมของพระสงฆ์คณะนั้น พระเจดีย์ชัยมงคลยังปรากฏอยู่ทางข้างตะวันออกของทางรถไฟเห็นได้แต่ไกลจนบัดนี้ เหตุที่สร้างพระเจดีย์รู้มาแล้วแต่ในรัชกาลที่ ๕ ว่าเป็นดังเล่ามา เป็นแต่ยังไม่รู้ว่าพระเจดีย์ยุทธหัตถีอยู่ที่ไหน

เหตุที่จะพบพระเจดีย์ยุทธหัตถีนั้นก็อยู่ข้างแปลกประหลาด ดูเหมือนจะเป็นในปีแรกรัชกาลที่ ๖ พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาลลักษณ์) เมื่อยังเป็นที่หลวงประเสริฐอักษรนิติ ช่วยเที่ยวหาหนังสือไทยฉบับเขียนของเก่า อันกระจัดกระจายอยู่ในพื้นเมืองให้หอพระสมุดสำหรับพระนคร วันหนึ่งไปเห็นยายแก่กำลังรวบรวมเอาสมุดไทยลงใส่กระชุที่บ้านแห่งหนึ่ง ถามว่าจะเอาไปไหน แกบอกว่าจะเอาไปเผาไฟทำสมุกสำหรับลงรัก พระยาปริยัติฯ ขออ่านดูหนังสือในสมุดเหล่านั้นก่อน แกก็ส่งมาให้ดูทั้งกะชุ พระยาปริยัติฯเห็นเป็นหนังสือเรื่องพงศาวดารอยู่เล่ม ๑ จึงขอยายแก่เอามาส่งให้หม่อมฉันที่หอพระสมุดฯ หม่อมฉันเห็นเป็นสมุดของเก่าเขียนตัวบรรจงด้วยเส้นรง (มิใช่หรดารที่ชอบใช้กันในชั้นหลัง) ประมาณสมัยสร้างหนังสือนั้นเห็นจะถึงรัชกาลที่ ๑ หรือก่อนนั้น แต่พอเปิดออกอ่านก็ประหลาดใจ ด้วยขึ้นต้นมีบานแผนกว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตรัสสั่งให้รวบรวมจดหมายเหตุต่างๆ แต่งหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับนั้น เมื่อวันพุธเดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีวอก จุลศักราช ๑๐๔๒ (พ.ศ. ๒๒๒๓) แปลกกับหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับอื่นๆ ที่มีในหอพระสมุดฯ หม่อมฉันจึงให้เรียกว่า “พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ” เพื่อเป็นเกียรติยศแก่ผู้ได้มา

ต่อมาหม่อมฉันอ่านหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐเทียบกับฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม สังเกตได้ว่าฉบับหลวงประเสริฐแต่งก่อน ผู้แต่งฉบับพิมพ์ ๒ เล่มคัดเอาความไปลงตรงๆ ก็มี แต่งแทรกลงใหม่ก็มี ถึงกระนั้นบางแห่งเรื่องที่กล่าวในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐแตกต่างกันกับฉบับพิมพ์ ๒ เล่มก็มี เสียแต่ฉบับหลวงประเสริฐเหลืออยู่แต่สมุดไทยเล่มเดียว ความกล่าวตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาไปจนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนเรศวร ต้นฉบับเดิมเห็นจะเป็น ๒ เล่มสมุดไท เมื่อหม่อมฉันอ่านไปถึงตอนสมเด็จพระนเรศวรชนช้าง เห็นในฉบับหลวงประเสริฐว่า พระมหาอุปราชามาตั้งประชุมทัพอยู่ตำบลตระพังกรุ แล้วมาชนช้างกับสมเด็จพระนเรศวรที่ตำบลหนองสาหร่าย เมื่อ ณ วันจันทร์ เดือนยี่ แรม ๒ ค่ำ ปีมะโรง จุลศักราช ๙๕๔ (พ.ศ. ๒๑๓๕) พอเห็นอย่างนั้นหม่อมฉันก็นึกขึ้นว่าได้เค้าจะค้นพระเจดีย์ยุทธหัตถีอีกแล้ว รอพอพระยาสุพรรณ (อี๋ กรรณสูตร) ซึ่งภายหลังได้เป็นพระยาสุนทรบุรี สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครไชยศรี เข้ามากรุงเทพฯ หม่อมฉันเล่าเรื่องพระเจดีย์ยุทธหัตถีให้ฟังแล้วสั่งให้ไปสืบดู ว่าตำบลชื่อหนองสาหร่ายในแขวงเมืองสุพรรณยังมีหรือไม่ ถ้ามีให้พระยาสุพรรณออกไปเองจนถึงตำบลนั้น สืบถามดูว่ามีพระเจดีย์โบราณอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่งแห่งใดบ้าง พระยาสุพรรณออกไปสืบอยู่ไม่ถึงเดือนก็มีรายงานบอกมาว่าตำบลหนองสาหร่ายนั้นยังมีอยู่ใกล้กับลำน้ำท่าคอยทางทิศตะวันตกเมืองสุพรรณ (คือลำน้ำเดียวกันกับลำน้ำจระเข้สามพันที่ตั้งเมืองอู่ทองนั้นเอง แต่อยู่เหนือขึ้นไปไกล) พระยาสุพรรณได้ไปที่ตำบลนั้นสืบถามถึงพระเจดีย์โบราณ พวกชาวบ้านบอกว่ามีอยู่ในป่าตรงที่เรียกกันว่า “ดอนพระเจดีย์” องค์ ๑ พระยาสุพรรณถามต่อไปว่าเป็นพระเจดีย์ของใครสร้างไว้ รู้หรือไม่ พวกชาวบ้านตอบว่าไม่รู้ว่าใครสร้าง เป็นแต่ผู้หลักผู้ใหญ่บอกเล่าสืบมาว่า “พระนเรศวรกับพระนารายณ์ชนช้างกันที่ตรงนั้น” ก็เป็นอันได้เรื่องที่สั่งให้ไปสืบ พระยาสุพรรณจึงให้พวกชาวบ้านพาไปยังดอนพระเจดีย์ เมื่อแรกไปถึงไม่เห็นมีพระเจดีย์อยู่ที่ไหน เพราะต้นไม้ขึ้นปกคลุมพระเจดีย์มิดหมดทั้งองค์ จนผู้นำทางเข้าไปถางเป็นช่องให้มองดูจึงแลเห็นอิฐที่ก่อฐานรู้ว่าพระเจดีย์อยู่ตรงนั้น ถ้าไม่รู้จากชาวบ้านไปก่อน ถึงใครจะเดินผ่านไปใกล้ๆ ก็เห็นจะไม่รู้ว่ามีพระเจดีย์อยู่ตรงนั้น หม่อมฉันนึกว่าคงเป็นเพราะเหตุนั้นเอง จึงไม่รู้ว่ามีพระเจดีย์ยุทธหัตถียังมีอยู่ เลยหายไปกว่าร้อยปี พระยาสุพรรณระดมคนให้ช่วยกันตัดต้นไม้ที่ปกคลุมพระเจดีย์ออกหมดแล้ว ให้ช่างฉายรูปพระเจดีย์ส่งมาให้หม่อมฉันด้วยกันกับรายงาน สังเกตดูเป็นพระเจดีย์มีฐานทักษิณเป็น ๔ เหลี่ยม ๓ ชั้น ขนาดฐานทักษิณชั้นล่างกว้างยาวราว ๘ วา แต่องค์พระเจดีย์เหนือฐานทักษิณชั้นที่ ๓ ขึ้นไปหักพังเสียหมดแล้ว รูปสัณฐานจะเป็นอย่างไรรู้ไม่ได้ ประมาณขนาดสูงของพระเจดีย์เมื่อยังบริบูรณ์ เห็นจะราวเท่ากับพระปรางค์ที่วัดราชบูรณะในกรุงเทพฯ พอหม่อมฉันเห็นรายงานกับรูปฉายที่พระยาสุพรรณส่งมา ก็สิ้นสงสัย รู้แน่ว่าพบพระเจดีย์ยุทธหัตถีเป็นแน่แล้วมีความยินดีแทบเนื้อเต้น รีบนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระปีติโสมนัส ตรัสว่าพระเจดีย์ยุทธหัตถีเป็นอนุสาวรีย์เฉลิมเกียรติของเมืองไทยสำคัญอย่างยิ่งแห่ง ๑ ถึงอยู่ไกลไปลำบากก็จะเสด็จไปสักการบูชา จึงทรงพระอุตสาหะเสด็จไปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ ด้วยประการฉะนี้.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ