วันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ดร

ที่ ๑๔/๘๕

วังวรดิศ

วันที่ ๒๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๕

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

จดหมายที่ ๑๔/๘๕ ของหม่อมฉันฉบับนี้จะสนองลายพระหัตถ์เวรฉบับที่ ๒๓/๘๕ ซึ่งลงวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน กับฉบับที่ ๒๔/๘๕ ซึ่งลงวันที่ ๓ ธันวาคม

สนองลายพระหัตถ์ฉบับที่ ๒๓/๘๕

๑. กถาว่าด้วยหนังสือแบบใหม่ กับเลขแบบใหม่ ขอประทานเป็นกัณฑ์ยก ไม่วินิจฉัยในจดหมายเวร

๒. ตัวเหรานั้น หม่อมฉันก็ยังไม่เคยคิดว่าจะเป็นสัตว์อย่างไร เคยพิจารณาลักษณะหน้าตาแต่ที่หัวเรือสุวรรณเหรา ซึ่งอยู่ในพิพิธภัณฑสถาน เป็นสัตว์พวกมังกรทำนองเดียวกับเสี้ยวกางกับยักษ์ แต่ก็เห็นจะมีมาเก่าแก่ อาจจะตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ทูลได้เพียงเท่านี้

๓. เรื่องลบศักราชนั้น กิริยาที่ทำอย่างจีนและญี่ปุ่น ดูตรงกับที่เรียกว่า “ลบศักราช” แต่อย่างเช่นไทยเรา เปลี่ยนใช้ศักราชต่างๆ เป็นสมัยๆ มหาศักราชบ้าง จุลศักราชบ้าง พุทธศักราชบ้าง รัตนโกสินทรศกบ้าง เป็นการ “เปลี่ยน” มิใช่ลบ แม้คำ “ศักราช” ที่ถูกก็แปลว่าปีของพระยาศักเป็นศักราชอย่าง ๑ เราเอามาใช้ปนเปกันไปเสียจนกลายเป็นสามัญนาม อย่างที่พระเจ้าปราสาททองทำ ที่เปลี่ยนปีกุนสัมฤทธิศก ไม่ใช่ลบและไม่ใช่เปลี่ยน ดูเป็นแต่แก้ให้เลอะ ที่พม่าไม่ทำตามนั้นถูกต้องของเขาด้วย น่าประหลาดใจแต่ว่าพวกโหรในสมัยนั้น มี “พระโหราทายหนู” เป็นต้น ทำไมไม่คิดเห็นว่า การที่แก้จะพาให้ยุ่งแต่เขาก็อาจจะคิดเห็น เป็นแต่ไม่กล้าขัดพระราชประสงค์ก็เป็นได้

๔. คำว่า “ฉาน” และคำว่า “สยาม” เดิมเป็นคำเดียวกัน ข้อที่กลายเป็นต่างกันนั้นเพราะเหตุใดพอจะคิดเห็นได้ เพราะเป็นคำชาวประเทศต่าง ๆ เรียกผิดสำเนียงกันนั่นเอง ที่จริงในพวกไทย จะเป็นไทยใหญ่ก็ดี ไทยน้อยก็ดี ย่อมเรียกตัวเองว่าไทยเหมือนกันทุกจำพวก คำว่า ฉาน และคำว่า สยาม พวกชาวประเทศอื่นที่มิใช่ไทยเรียก เพราะสำเนียงชาวต่างประเทศต่างกัน ชื่อที่เรียกจึงเป็นเสียงต่างกัน อาจจะยกตัวอย่างซึ่งยังมีอยู่จนทุกวันนี้ เช่นญี่ปุ่น เขาเรียกตัวของเขาเองว่า นิปปอน จีนเรียกว่า ยิปัน ไทยเรียกว่าญี่ปุ่น ฝรั่งเรียกว่า ยะแปน ชวา มลายู ชาวอินเดียและอาหรับก็น่าที่จะเรียกเป็นอย่างไปต่างๆ กัน ฉันใดก็เหมือนกับในสมัยอันหนึ่งซึ่งชาวต่างประเทศเรียกชาวแว่นแคว้นสุโขทัย ลานนาและลานช้างว่า สยาม หรือ ฉาน หรืออาจจะเป็นเสียงอื่นคล้าย ๆ กัน เมื่อไทยอพยพลงมาอยู่ในดินแดนเหล่านั้น ก็คงเรียกไทยอยู่อย่างนั้นแต่มันเหลือที่จะค้นเสียแล้วว่าคำที่ถูกจะเป็นอย่างไร

๕. พระบาทที่วัดบวรนิเวศตั้งติดผนังหลังวิหารพระโต ได้ยินว่าทูลกระหม่อมทรงได้มาจากเมืองเหนือ คงตั้งเมื่อทำเฉลียงพระวิหารด้านหลังในเวลาเมื่อรื้อวิหารพระชินสีห์แล้ว เห็นจะไม่ตรงที่ตั้งพระชินสีห์ทีเดียว เป็นแต่ได้ศูนย์กัน

๖. ที่พระอุบาลี (เผื่อน) ได้เปนเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนแล้วไม่เข้าไปอยู่ที่กฏิในหมู่ตำหนักนั้น หม่อมฉันนึกขึ้นว่าเป็นเหตุที่ชอบกลหนักหนา ด้วยวัดพระเชตุพนเคยมีพระราชาคณะในวัดนั้นเองได้เป็นเจ้าอาวาสแต่ก่อนมาแต่ ๒ องค์ คือ สมเด็จพระวันรัตอาจารย์ของกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ เป็นเจ้าอาวาสมา แต่เป็นพระพิมลธรรมในสมัยกรุงศรีอยุธยาองค์ ๑ สมเด็จพระวันรัตองค์นั้นถึงมรณภาพเมื่อปลายรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๒ ก็ทรงตั้งกรมสมเด็จพระปรมานุชิตเป็นเจ้าอาวาส เสด็จประทับมาตลอดรัชกาลที่ ๒ รัชกาลที่ ๓ จนรัชกาลที่ ๔ จึงสิ้นพระชนม์ เมื่อกรมสมเด็จพระปรมานุชิตสิ้นพระชนม์มีพระธรรมเจดีย์ (อุ่น) เป็นอาวุโสอยู่ในวัดพระเชตุพน อยู่กฏิต่างหากอย่างพระอุบาลี (เผื่อน) เดี๋ยวนี้ นัยว่าไว้ครองกฐินแต่มิได้เป็นเจ้าอาวาส ทูลกระหม่อมโปรดให้พระพิมลธรรม (ยิ้ม) เมื่อยังเป็นพระพรหมมุนีย้ายจากวัดสุทัศน์มาอยู่วัดพระเชตุพน ไม่มีที่อื่นอยู่ จึงโปรดให้เข้าไปอยู่ในกฏิใหญ่หลัง ๑ ในบริเวณตำหนัก เรียกว่าเป็นตำแหน่งผู้รักษาพระอัฐิ กรมสมเด็จพระปรมานุชิต แต่ทำการเป็นเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน เป็นเช่นนั้นอยู่องค์เดียวเท่านั้น เมื่อพระพิมลธรรม (ยิ้ม) และพระธรรมเจดีย์ (อุ่น) ถึงมรณภาพแล้วโปรดให้สมเด็จพระวันรัต (สมบุญ) ย้ายจากวัดราชบุรณะมาเป็นเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน และอยู่กฏิใหญ่ในบริเวณตำหนักประกอบกัน แต่นั้นเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนก็อยู่ที่กฏิใหญ่ในบริเวณตำหนักสืบมาทุกองค์ และประหลาดที่ย้ายมาจากวัดอื่นหมดทุกองค์เพิ่งมามีพระราชาคณะในวัดพระเชตุพนได้เป็นเจ้าอาวาสเมื่อถึงพระอุบาลี (เผื่อน) นี้ จึงมีปัญหาว่าจะควรอยู่กฏิใหญ่ ในบริเวณตำหนักเหมือนอย่างเจ้าอาวาสที่ย้ายมาจากวัดอื่นหรืออยู่ ณ กฏิเดิมที่เคยอยู่ในวัดพระเชตุพนมาแต่ก่อน ไม่ใช่แต่เพียงขี้เกียจขนของ

๗. เรื่องแปลศัพท์ สวรรค์ หม่อมฉันออกจะเห็นด้วยกับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ด้วยในครั้งพุทธกาล คำว่า สวรรค์ และ นฤพาน มีในพุทธวัจนมาแล้ว พระพุทธเจ้าคงไม่ทรงพรรณนาแก่เวนัยสัตว์ว่าสวรรค์มีนางฟ้าเป็นบริวารและอยู่ในวิมานหรูหราต่างๆ คำพรรณนาสวรรค์ให้วิตถารไปต่าง ๆ อย่างเช่นเข้าใจกันในชั้นหลังคงเกิดในสมัยเมื่อคณาจารย์ต่าง ๆ ประสงค์จะให้คนเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามีมาก ประดิษฐ์อธิบายสวรรค์ให้เข้ากับโลภธรรมของมนุษย์เท่านั้นเอง เหมือนอย่างจี้เข้าที่คันก็เลยผูกพันกับสวรรค์อย่างนั้นสืบกันมา

๘. คำว่า “พระ” หม่อมฉันไปพบเค้าชอบกลที่เมืองพม่าอย่าง ๑ ในหนังสืออธิบายขนบธรรมเนียมในราชสำนักเมืองพม่า เขาว่าคำอันใดใช้เนื่องด้วยพระราชา เช่นชื่อเครื่องราชูปโภค เป็นต้น ธรรมเนียมพม่าต้องเติมคำว่า “ดอ” ต่อข้างท้ายทุกสิ่งทุกอย่าง ดูตรงกับคำ “พระ” ที่ไทยเราเติมเข้าข้างหน้า เช่นว่า พระแท่น พระที่บรรทม และพระราชดำรัสเป็นต้น อีกอย่าง ๑ พม่าเรียกเจดีย์วัตถุด้วยคำย่อว่า พยา ก็ตรงกับคำว่า พระ ที่ไทยเราพูด เช่นว่าไหว้พระสวดมนต์เป็นต้น ว่าโดยย่อ คำพระดูใช้กว้างขวางในประเทศต่าง ๆ ยิ่งกว่าคำว่า ฟ้า ซึ่งใช้แต่ไทยชาติเดียว ขอให้ทรงพิจารณาดูเถิด

สลองลายพระหัตถ์ฉบับที่ ๒๔/๘๕

๙. คำว่า “ลืม” กับ “หลง” ดูเหมือนจะหมายกิริยาต่างกัน ลืมดูหมายว่าสำคัญของที่มีว่าไม่มี เช่นกินข้าวแล้วสำคัญว่ายังไม่ได้กินหรือได้พูดว่ากระไรแล้วสำคัญว่าไม่ได้พูด เป็นต้น หลง นั้นกลับกัน คือสำคัญว่าของที่ไม่มีเป็นของมี ดังเช่นเวลาบ้ากามได้ยินเสียงกุก สำคัญว่าผู้หญิงที่ตัวรักเข้ามา หรือว่าอย่างต่ำเห็นเงาสำคัญว่าผีเป็นต้น ความลืมอันเกิดแต่ชราภาพมักจะเกิดแต่เมื่ออายุยังไม่แก่นัก แต่ความหลงนั้นต้องแก่หงำทีเดียวจึงจะเกิดขึ้น ขอให้ทรงพิจารณาดูเถิด

๑๐. คาถาของกรมหลวงประจักษ์ ฯ นั้น หม่อมฉันก็จำได้ และจะทูลประมูลว่าจำได้จนจบ อันมีต่อไปอีกวรรค ๑ ว่า

“สีขเรเถรสฺส ควตุสพฺพธา”

๑๑. หม่อมฉันคิดวิธีเขียนจดหมายเวรต่อไปดังนี้ ด้วยนายสมบุญหายเจ็บแล้ว แต่เขามีตำแหน่งไปทำงาน ว่างแต่วันอาทิตย์ หม่อมฉันจึงจะอาศัยบอกให้เขาเขียนในวันอาทิตย์ ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ ๒๐ ธันวาคมนี้เป็นต้นไป เห็นจะถวายจดหมายเวรได้ทุกสัปดาหะ เว้นแต่ฉบับไหนเป็นวินิจฉัยเรื่องยาวจะเอาเรื่องเป็นสำคัญ แม้จะต้องข้ามเวลาไปสักสัปดาหะ ๑ ก็ตาม.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ