- คำอธิบาย ว่าด้วยบทละคร อิเหนาฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ
- เล่มที่ ๑
- เล่มที่ ๒
- เล่มที่ ๓
- เล่มที่ ๔
- เล่มที่ ๕
- เล่มที่ ๖
- เล่มที่ ๗
- เล่มที่ ๘
- เล่มที่ ๙
- เล่มที่ ๑๐
- เล่มที่ ๑๑
- เล่มที่ ๑๒
- เล่มที่ ๑๓
- เล่มที่ ๑๔
- เล่มที่ ๑๕
- เล่มที่ ๑๖
- เล่มที่ ๑๗
- เล่มที่ ๑๘
- เล่มที่ ๑๙
- เล่มที่ ๒๐
- เล่มที่ ๒๑
- เล่มที่ ๒๒
- เล่มที่ ๒๓
- เล่มที่ ๒๔
- เล่มที่ ๒๕
- เล่มที่ ๒๖
- เล่มที่ ๒๗
- เล่มที่ ๒๘
- เล่มที่ ๒๙
- เล่มที่ ๓๐
- เล่มที่ ๓๑
- เล่มที่ ๓๒
- เล่มที่ ๓๓
- เล่มที่ ๓๔
- เล่มที่ ๓๕
- เล่มที่ ๓๖
- เล่มที่ ๓๗
- เล่มที่ ๓๘
เล่มที่ ๒๑
ช้า
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงองค์อายันกัศมาหรา |
แต่พบอุณากรรณวันนั้นมา | ให้สงสัยวิญญาณ์อยู่ไม่วาย |
ทั้งรูปร่างจริตผิดบุรุษ | เหมือนน้องนุชบุษบาโฉมฉาย |
จะเจรจาพาทีก็ขวยอาย | จะว่าชายหรือหญิงยังกริ่งใจ |
แต่ควรคิดเป็นนิจนิรันดร์มา | จะสวดมนต์ภาวนาก็หาไม่ |
อุตส่าห์ฝืนอารมณ์ข่มใจ | ปะตาปามาได้สิบวัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ พระจึงมีมธุรสพจนา | ตรัสแก่อนุชาเฉิดฉัน |
อันองค์มิสาอุณากรรณ | ว่าจะไปอภิวันท์พระราชา |
พี่นึกอางขนางอยู่อย่างนี้ | เกลือกจะกล่าวบุตรีกระมังหนา |
เขาสิรุ่งเรืองฤทธา | กลัวศรีปัตหราจะปลงใจ |
ก็จะเสียสุริย์วงศ์เทเวศร์ | จะตามไปฟังเหตุดูจงได้ |
จำจะลาปะตาปาไป | เจ้าจะเห็นกระไรอนุชา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ยาหยังอาหยันก็หรรษา |
ยิ้มพลางทางทูลสนองมา | พระจินดาดังนี้ก็สมควร |
แล้วเสว่าแก่พี่เลี้ยงประสันตา | ทำทีกิริยาแย้มสรวล |
ถึงอารมณ์น้องนี้ก็รีรวน | พระมีบัญชาชวนก็ชอบใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ประสันตาทำเฉยเฉลยไข |
ซึ่งอุตส่าห์มาบวชบัดนี้ไซร้ | เพราะเสียของต้องใจจึงจำเป็น |
ใช่จะปลงลงจิตศรัทธา | จะสวดมนต์ภาวนาก็เต็มเข็ญ |
ทั้งต้องอดโภชนาเวลาเย็น | ทำให้แสบท้องเล่นไม่ต้องการ |
คราวนี้เห็นทีจะพ้นเคราะห์ | ถึงปีเถาะโชคดีกว่าปีขาล |
ซึ่งพระเสาร์ทับลัคน์เล็งอังคาร | ก็ยักย้ายจากสถานถอยลง |
จะสึกไปกาหลังครั้งนี้ | เห็นจะพบสบที่ต้องประสงค์ |
แม้นมิเหมือนอย่างนั้นมั่นคง | จะให้ลงโทษถองสักสองพัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | อายันตรัสพลางทางสรวลสันต์ |
ดีแต่จะว่าเล่นเช่นนั้น | พูดคล่องต้องกันเป็นพ้นไป |
เป็นดาบสไม่งดปากคำ | จะกลัววาจากรรมก็หาไม่ |
ว่าพลางทางสั่งเสนาใน | เร่งให้เตรียมพลมนตรี |
จะลาปะตาปาไปกาหลัง | เที่ยวฟังข่าวคราวนางโฉมศรี |
สั่งเสร็จเสด็จจรลี | มายังที่อาศรมศาลา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึงถวายนมัสการ | พระอาจารย์ผู้ทรงสิกขา |
ว่าข้าไม่สบายวิญญาณ์ | จะขอลาปะตาปาไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระมุนีมีศรัทธาเลื่อมใส |
ยิ้มพลางทางว่าไปทันใด | แต่บวชได้เท่านี้ก็ดีครัน |
แล้วอวยอนุญาตประสาทพร | จงถาวรเป็นสุขเกษมสันต์ |
ขอให้ประสบพบกัน | ปราศจากไภยันอันตราย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อายันชอบในฤทัยหมาย |
ชำเลืองดูอนุชาแล้วยิ้มพราย | ต่างถวายอัญชลีลามา |
จึงผลัดผ้าคากรองเปลือกไม้ | แล้วแต่งตามวิสัยโจรป่า |
บรรดาพวกซึ่งปะตาปา | ก็สึกหาลาพรตพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ ครั้นแล้วอำลาพระดาบส | ลงจากบรรพตปัจจาหงัน |
มาทรงรถแก้วแพรวพรรณ | ให้ยกพลขันธ์ไคลคลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ กราวนอก เชิด
ชมดง
๏ เดินทางมาข้างเชิงเขา | เวลาบ่ายบังเงาเงื้อมผา |
ชมสัตว์จัตุบาทนานา | เกลื่อนกลาดดาษดาพนาลัย |
อ้อยช้างเป็นรอยช้างชัก | กิ่งก้านรานหักลงใหม่ใหม่ |
หูกวางกวางกินระบัดใบ | แล้วแล่นโลดโดดไล่ลองเชิง |
ชงโคโคเข้าอยู่เงาร่ม | บ้างตามติดชิดชมถึกเถลิง |
ตาเสือเสือซุ่มในซุ้มเซิง | ทหารยิงวิ่งเปิงเข้าป่าไป |
ซุ้มหมูหมูหยุดยืนเบียด | เห็นตัวกลัวเกลียดไม่เข้าใกล้ |
พระเร่งพหลพลไกร | มาในพนมพนาวัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
ร่าย
๏ ครั้นถึงด่านกาหลังธานี | จึงให้หยุดโยธีทัพขันธ์ |
ลงจากรถแล้วแพรวพรรณ | ขึ้นสู่สุวรรณพลับพลาชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึงสั่งปะหรัดกะติกา | ให้ไปหาขุนด่านนายใหญ่ |
บอกเขาว่าเราเป็นชาวไพร | จะเข้าไปเฝ้าองค์พระทรงธรรม์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ปะหรัดกะติกาคนขยัน |
รับสั่งแล้วมาขึ้นม้าพลัน | ขับควบเข้าอรัญรีบมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงเห็นขุนด่าน | นั่งอยู่กลางบ้านก็เข้าหา |
แล้วแถลงแจ้งความตามกิจจา | โดยดังบัญชาพระภูวไนย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ขุนด่านได้ฟังไม่สงสัย |
รีบเขียนสารพลันทันใด | แล้วขึ้นม้าควบไปยังธานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงแจ้งแก่เสนา | ว่าบัดนี้มิสาระปันหยี |
เป็นโจรไพร่มีใจภักดี | จะมาเฝ้าธุลีบทมาลย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ดะหมังได้ฟังขุนด่าน |
แจ้งคดีถี่ถ้วนทุกประการ | ก็เข้ามาสู่สถานพระโรงชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึงถวายอภิวาทบาทบงสุ์ | พระผู้พงศ์เทวาเป็นใหญ่ |
ทูลว่าโจรป่าพนาลัย | ชื่อปันหยีมีใจจงรัก |
จะเข้ามาประณตบทมาลย์ | สู่บรมสมภารพระทรงศักดิ์ |
บัดนี้ยกพลมาหยุดพัก | สำนักอยู่นอกธานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระผู้ผ่านกาหลังกรุงศรี |
ได้ฟังชื่นชมยินดี | จึงมีพระราชบัญชา |
ตำมะหงงจงไปจัดแจง | ตกแต่งแห่แหนให้หนักหนา |
ครั้งนี้ปันหยีจะเข้ามา | ให้เหมือนเมื่อมิสาอุณากรรณ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ตำมะหงงรับสั่งแล้วผายผัน |
ออกมาศาลาลูกขุนพลัน | ก็สั่งกันทั่วทุกพนักงาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | เสนาสองนายฝ่ายทหาร |
ครั้นรุ่งเร่งรัดจัดการ | พนักงานสำหรับแขกเมือง |
เกณฑ์แห่แตรสังข์ฆ้องกลอง | ทวนทองธงเทียวเขียวเหลือง |
ตามกระบวนถ้วนกองนองเนือง | ยกออกจากเมืองเนื่องไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงกองทัพปันหยี | เห็นโยธีแน่นนันต์ไม่นับได้ |
คูค่ายรายรอบพลับพลาชัย | แลไปไม่สิ้นสุดตา |
ทั้งสองเสนีนึกคร้ามครั่น | จึงพากันคลาไคลเข้าไปหา |
แจ้งคดีพี่เลี้ยงมิได้ช้า | โดยดังบัญชาพระภูมี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ยะรุเดะได้ฟังถ้วนถี่ |
จึงนำทั้งสองเสนี | มาเฝ้ายังที่พลับพลาชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | เสนากาหลังบังคมไหว้ |
ทูลว่าพระองค์ทรงภพไตร | ให้มารับเข้าไปในบุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมยงค์องค์มิสาระปันหยี |
จึงตอบคำทั้งสองเสนี | เรานี้ตั้งใจจำนงมา |
หวังจะเป็นข้าบาทบงสุ์ | พระผู้พงศ์อสัญแดหวา |
แต่ไม่แจ้งราชกิจจา | ด้วยเป็นชาวป่าพนาลัย |
จำจะต้องเรียนรู้ดูฉบับ | กฎหมายสำหรับกรุงใหญ่ |
ราชกิจผิดพลั้งประการใด | จะอาศัยทั้งสองเสนา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | อำมาตย์ยิ้มพลางทางว่า |
ไพเราะเพราะรสวาจา | ท่วงทีกิริยาก็เพราพริ้ง |
กระนี้หรือช่างว่าเป็นชาวไพร | ไม่เห็นสมที่ไหนแต่สักสิ่ง |
ชะรอยจะเสแสร้งไม่แจ้งจริง | เป็นน่านึกตรึกกริ่งวิญญาณ์ |
ซึ่งตั้งใจจำนงจงรัก | สามิภักดิ์ในศรีปัตหรา |
พระก็มีมิตรจิตคิดเมตตา | จึงให้ข้าทั้งสองออกมารับ |
ขอเชิญเข้าไปในธานี | โยธีเตรียมพร้อมเสร็จสรรพ |
กระบวนแห่หน้าหลังคั่งคับ | ว่าแล้วลากลับออกมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | มิสาระปันหยีสุกาหรา |
จึงตรัสสั่งสังคามาระตา | อันจะเข้าพาราครานี้ |
จงระมัดประหยัดหูตา | ใครอย่าเหลียวดูชาวกรุงศรี |
เขาจะว่าชาวดงพงพี | เข้าบุรีตื่นรูปชาวใน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สังคามาระตาอัชฌาสัย |
จึงทูลว่าทั้งปวงพอไว้ใจ | เห็นจะไม่ละเมิดพระวาจา |
แต่ระเด่นกุดารัศมี | ผู้เดียวนี้ยิ่งยวดนักหนา |
ได้จะดูสิ่งใดไม่พริบตา | ทั้งปากก็อ้ารับแมงวัน |
แล้วกลัวจะเป็นที่ไม่ห้ามได้ | ด้วยแยบยลกลในกวดขัน |
เห็นจะยิ่งกว่าคนทั้งนั้น | จะติดพันหางคิ้วพรูมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ปันหยียิ้มพลางทางว่า |
จำเป็นจำตั้งกิริยา | ด้วยเป็นการออกหน้าแต่ละวัน |
เจ้าอย่าปรารมภ์ถึงพี่ | แต่กุดารัศมีแลพี่พรั่น |
ใจเพื่อนเลื่อนลอยอยู่อย่างนั้น | ระวังกันหมั่นเตือนสติไว้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สังคามาระตาเฉลยไข |
ม้าน้องเดินรองม้าทรงไป | ไกลม้ากุดารัศมีนัก |
มิรู้ที่จะเตือนให้เพื่อนรู้ | เห็นอะไรได้ดูแล้วหูหนัก |
อันจะเตือนด้วยปากเห็นยากนัก | แม้นเตือนด้วยปฏักจึงจักดี |
บรรดาคนเฝ้าอยู่ทั้งนั้น | ก็สรวลขึ้นพร้อมกันอึงมี่ |
แต่กุดารัศมีนั้นเสียที | เจ็บใจมิรู้ที่จะเจรจา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | มิสาระปันหยีสุกาหรา |
จึงสั่งพระพี่เลี้ยงปูนตา | จงตรวจตราพลไกรไพร่นาย |
ให้นุ่งห่มโอ่อ่ากว่าทุกที | สิ่งไรไม่มีเร่งขวนขวาย |
ถ้วนทุกหมู่หมวดประกวดกาย | อย่าให้อายมิสาอุณากรรณ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ปูนตาพี่เลี้ยงคนขยัน |
รับสั่งพระองค์ทรงธรรม์ | ถวายบังคมคัลแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ยานี
๏ เร่งรัดจัดแจงแต่งกระบวน | เลือกล้วนเหล่าทหารอาสา |
เกณฑ์แห่ขัดกระบี่ขี่ม้า | ใส่เสื้อสีกุหร่าโพกชมพู |
อันพลเดินหน้าหลังทั้งนั้น | เสื้อม่วงเหมือนกันเป็นคู่คู่ |
ทนายปืนพื้นเสื้อปัศตู | ใส่กางเกงมัสรู่ริ้วแดง |
บรรดาเสนานายทหาร | ใส่เสื้อสีน้ำตาลก้านแย่ง |
ขุนหมื่นอาสาม้าแซง | เสื้อกำมะหยี่แดงขลิบทอง |
พวกสันทัดอาชากิดาหยัน | ใส่เสื้อเขียวคั่นเป็นชั้นช่อง |
เหล่าระเด่นใส่เสื้อโหมดตอง | เกี้ยวสีทับทิมกรองกรุยกราย |
พวกพี่เลี้ยงใส่เสื้อริ้วตาด | เจียระบาดหน้าครุยฉุยฉาย |
จัดกระบวนถ้วนทั้งไพร่นาย | มาเตรียมท่าคอยถวายบังคมคัล ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | ปันหยีเพราเพริศเฉิดฉัน |
ครั้นจวนเวลาจรจรัล | ก็ผายผันมาสรงคงคาลัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ชมตลาด
๏ ไขสุหร่ายโปรยปรายดังสายฝน | ต้องสกนธ์ซ่านเซ็นเย็นใส |
ทรงสุคนธ์ปนปรุงจรุงใจ | น้ำดอกไม้เทศทาอ่าองค์ |
ตั้งพระฉายส่องทรงหวีสุวรรณ | สางเสยเกศกันกวดขนง |
แล้วกรายกรนาดนวยระทวยทรง | เสด็จลงไปดูโยธา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ร่าย
๏ พระหัตถ์เบื้องขวาพลางพัด | พระหัตถ์ซ้ายสะบัดปลายเกศา |
มาจัดพลพวกเสนา | ให้สีเสื้อผ้าสลับกัน |
ที่แดงล้วนแดงแต่งตามหมู่ | ที่เขียวเขียวดูเป็นคู่คั่น |
ครั้นเสร็จเสด็จจรจรัล | ขึ้นสู่สุวรรณพลับพลาชัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
โทน
๏ บรรจงทรงสอดสนับเพลา | ปักเนาปีกแมงทับสลับไหม |
ภูษาแย่งยกกระหนกใน | กรวยเชิงอำไพพื้นแดง |
สอดใส่ฉลองพระองค์ตาด | เจียระบาดอย่างเทศทองแล่ง |
ห้อยหน้าซ่าโบะครุยแครง | ปั้นเหน่งถมยาแดงประดับเพชร |
ตาบทิศทับทรวงดวงกุดั่น | สังวาลวรรณเนาวรัตน์ตรัสเตร็จ |
ธำมรงค์รายริมทับทิมเม็ด | ทองกรข้างละเจ็ดเส้นทรง |
ตาดสุวรรณพันโพกเกศา | ห้อยอุบะบุหงาตันหยง |
ถือเช็ดหน้าเหน็บกริชฤทธิรงค์ | แล้วเสด็จมาทรงอัสดร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
โทน
๏ ม้าเอยม้าที่นั่ง | พ่วงพีมีกำลังดังไกรสร |
ทำพยศย่องย่ำซ้ำซ้อน | ปากอ่อนหักหกวกเวียน |
ย่อท้ายร่ายเรียงซ้ายขวา | เยื้องอกยกหน้าดั่งม้าเขียน |
ผูกเครื่องสุวรรณวาวดาววิเชียร | บังเหียนพู่ห้อยพร้อยพราย |
อนุชาขี่ม้ารองทรง | ม้าพี่เลี้ยงเคียงองค์ผันผาย |
ม้าระเด่นเต้นตามเรียงราย | ม้าเสนาสองนายนำพล |
อันม้าแห่แลม้ากิดาหยัน | แน่นนันต์คับคั่งทั้งถนน |
แซ่สำเนียงเสียงประโคมเสียงคน | ให้เร่งม้าเร่งพลเข้านคร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
ร่าย
๏ บัดนั้น | หญิงชายชาวเมืองสโมสร |
นั่งแน่นสองข้างทางจร | เรือนร้านบ้านบ่อนทุกตำบล |
ครั้นเห็นเกณฑ์แห่มาแต่ไกล | คับคั่งทั้งในแถวถนน |
สีเสื้อสีผ้าพวกพล | สลับปนเป็นทีเหมือนสีรุ้ง |
หญิงชายยัดเยียดเบียดกัน | แน่นนันต์มรคาตามุ่ง |
บ้างวิวาทวาทากับป้าลุง | ขึ้นเสียงเถียงถุ้งทะเลาะกัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ปันหยีเพราเพริศเฉิดฉัน |
เห็นสาวสาวชาวบุรีนี่นัน | แต่งตัวประกวดกันดังนางใน |
ทำเป็นพูดกับอนุชา | ใครสบตาก็ยักคิ้วให้ |
ประปรายซ้ายขวาทุกหน้าไป | หญิงไม่หาญรอต่อตา |
แต่ระเด่นกุดารัศมี | สำรวมอินทรีย์ไม่เริงร่า |
เจ็บคำสังคามาระตา | ก้มหน้าแลดูดินไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หญิงชายชาวเมืองน้อยใหญ่ |
เห็นรูปทรงปันหยีก็ชอบใจ | ให้คิดรักใคร่ผูกพัน |
บ้างว่าเหมือนอสัญแดหวา | หยาดฟ้ามาแต่สรวงสวรรค์ |
ถ้าได้เหมือนโฉมอุณากรรณ | เป็นคู่ตุนาหงันข้าชอบใจ |
เสียดายเป็นชายทั้งสองข้าง | จะได้นางที่งามไหนมาให้ |
ลางคนว่าบุญเราพ้นไป | จึงได้มาเห็นเป็นขวัญตา |
บ้างว่าปันหยีงามจริงอยู่ | แต่ดูอุณากรรณเห็นงามกว่า |
งามดังจะหายไปกับตา | อันปันหยีนี้ข้าเห็นพานคลาย |
ต่างวิวาทถุ้งเถียงดุดัน | ไม่ตกลงกันทั้งสองฝ่าย |
คนหนึ่งจึงว่าอย่าวุ่นวาย | จะช่วยปรับเปรียบปรายให้เป็นกลาง |
อันโฉมอุณากรรณกับปันหยี | งามดีแต่ละกลคนละอย่าง |
อุณากรรณนั้นดีเป็นทีนาง | รูปร่างกิริยาละม่อมละไม |
แต่ขี่ม้าดูหน้าเห็นชายก้ม | จะสมเป็นบุรุษนั้นหาไม่ |
งามเหมือนพระจันทร์อันอำไพ | ดูได้ทั่วทั้งหญิงชาย |
อันปันหยีนี้งามมีสง่า | ท่วงทีขี่ม้าก็เฉิดฉาย |
ขึงขังมั่นคงเป็นทรงชาย | หูตาสอดส่ายเป็นพ้นไป |
งามเหมือนดังองค์พระสุริยา | ข้าอดตาไม่กล้าแลดูได้ |
ลางคนคิดรักอักอ่วนใจ | ถ้ามีผัวก็ได้ตีกัน |
ผู้หญิงเถียงกันอึงมี่ | ซึ่งคิ้วปันหยีที่คมสัน |
บ้างว่ายักหยอกคนนั้น | บ้างเถียงกันว่ายักหยอกตัว ฯ |
ฯ ๒๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ปันหยีได้ฟังก็ยิ้มหัว |
ชาวเมืองนี้กล้าเป็นน่ากลัว | แต่ละคนจะชั่วไปเมื่อไร |
พระแลมาให้สบตาพี่เลี้ยง | แล้วกล่าวเกลี้ยงเสแสร้งแถลงไข |
ดูเหมือนจะมีที่ต้องใจ | หมายไว้ไหนบ้างอย่าพรางกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ประสันตาแสนกลคนขยัน |
ยิ้มพลางทางกระซิบทูลพลัน | นึกไว้ได้สำคัญสักพันคน |
กลัวจะพ้องต้องกันที่มั่นหมาย | เห็นคิ้วตาประปรายเป็นหลายหน |
น่าจะหลงงงงวยมาด้วยกล | ได้ยินความตามถนนเนื่องมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ปันหยีสรวลสันต์หรรษา |
เอาพลูรอยกัดซัดประสันตา | พลางกะระตาม้าคลาไคล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ มาถึงศาลาใหญ่ใกล้ประตู | ให้โยธาหยุดอยู่อาศัย |
พระเสด็จลงจากมโนมัย | สองเสนาในนำมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เข้ายังพระโรงรัตน์รูจี | ถวายบังคมศรีปัตหรา |
พระพลางชม้ายชายตา | แลดูมิสาอุณากรรณ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พระองค์ทรงพิภพไอศวรรย์ |
เห็นปันหยีเข้ามาบังคมคัล | พิศพักตร์ผิวพรรณโสภา |
งามจริตกิริยามารยาท | ท่วงทีองอาจเป็นหนักหนา |
จึงมีมธุรสพจนา | ดูราปันหยีชาญชัย |
เจ้าเป็นเชื้อวงศ์พงศ์กษัตริย์ | ครอบครองสมบัติบุรีไหน |
มานี้มีกิจสิ่งใด | จงบอกไปให้แจ้งแห่งคดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | ปันหยีประณตบทศรี |
ทูลสนองบัญชาว่าข้านี้ | ไม่รู้จักชนนีบิดร |
จากมาแต่น้อยคุ้มใหญ่ | อาศัยไพรสณฑ์สิงขร |
ครั้นเที่ยวมาพบพระนคร | จึงมาชลีกรพระราชา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ประไหมสุหรีทูลศรีปัตหรา |
หรือปันหยีนี้อิเหนานัดดา | เห็นคล้ายพระเชษฐากุเรปัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ศรีปัตหรารังสรรค์ |
ฟังประไหมสุหรีทูลพลัน | ทรงธรรม์สงสัยในวิญญาณ์ |
จึงซักไซ้ไต่ถามปันหยีไป | เราไม่เห็นสมเป็นชาวป่า |
ทั้งรูปทรงส่งศรีกิริยา | น่าจะเป็นกษัตราเลิศไกร |
จงอยู่ด้วยกันเถิดในธานี | พ่อหามีโอรสกุมารไม่ |
จะเลี้ยงเจ้าเป็นบุตรสุดสายใจ | รักใคร่ให้เหมือนอุณากรรณ |
ทั้งสองปองเสมอดังดวงเนตร | เป็นศรีนคเรศเขตขัณฑ์ |
แม้นมีปัจจามิตรติดพัน | จะได้ช่วยป้องกันธานี |
อันกุมารทั้งแปดคนนั้น | ล้วนคมสันรูปทรงส่งศรี |
เป็นในสุริย์วงศ์พงพี | ของมิสาระปันหยีหรือไร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ปันหยีนบนิ้วสนองไข |
ซึ่งโปรดปรานีทั้งนี้ไซร้ | พระคุณใหญ่ยิ่งล้นคณนา |
อันพระองค์สงสัยไต่ถาม | จะทูลความให้สิ้นกังขา |
ใช่เชื้อเนื้อหน่อกษัตรา | ข้าเป็นชาวป่าพนาลี |
ซึ่งราชกุมารทั้งแปดองค์ | ล้วนวงศ์กษัตริย์เรืองศรี |
เป็นเชลยได้มาทุกธานี | พระภูมีจงทราบหฤทัย |
ทูลพลางทางแลแปรผัน | สพานกรอุณากรรณพยักให้ |
แล้วแย้มยิ้มพริ้มพักตร์เป็นนัย | อุณากรรณอายใจก็ก้มพักตร์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวกาหลังสุริย์วงศ์ทรงศักดิ์ |
พระเร่งชื่นชมภิรมย์นัก | ด้วยสองโอรสรักร่วมใจ |
จึงจัดของต่างต่างอย่างดี | สำหรับที่ลูกหลวงประทานให้ |
เหมือนกับอุณากรรณชาญชัย | สั่งให้อยู่ปันจะรากัน |
แล้วตรัสอำนวยอวยพร | จงสถิตสถาวรเกษมสันต์ |
ครั้นเสร็จเสด็จจรจรัล | เข้าปราสาทสุวรรณรูจี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | อุณากรรณผู้รุ่งรัศมี |
กลัวปันหยีจะชวนพาที | ก็หนีเข้าไปในวัง ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ปันหยีนึกในใจหวัง |
องค์ศรีปัตหรานี้น่าชัง | ไม่ระวังระไวพระทัยเบา |
อุณากรรณมาอยู่ไม่ทันไร | ควรหรือไว้ใจให้ไปเฝ้า |
พระบุตรีสององค์นงเยาว์ | ผ่านเกล้าจะได้อายแก่ไพร่ฟ้า |
คิดพลางทางเสด็จจรจรัล | จากท้องพระโรงคัลข้างหน้า |
มาทรงพาชีลีลา | เสนากาหลังนำไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ ถึงปันจะราติกาหรัง | นิเวศน์วังลูกหลวงอาศัย |
ลงจากอาชาคลาไคล | เข้าในที่สำนักตำหนักจันทน์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เอนองค์ลงกับที่ไสยาสน์ | ภูวนาถครวญใคร่ใฝ่ฝัน |
ให้แสนเสนหาอุณากรรณ | หมายมั่นว่าเหมือนบุษบา |
ทั้งทรวดทรงส่งศรีไม่เพี้ยนผิด | ยิ่งคิดสงสัยเป็นหนักหนา |
แล้วจะเป็นยาหยีของพี่ยา | ดวงพักตร์ลักขณาละม้ายนัก |
อกเอ๋ยจะทำเป็นไฉน | จึงจะได้สิ้นแหนงแจ้งประจักษ์ |
จะชวนสนิทติดพันผูกรัก | พบพักตร์ก็เมินสะเทินไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ คิดพลางทางสั่งกิดาหยัน | ไปคอยดูอุณากรรณให้จงได้ |
เวลาเฝ้าแม้นผูกอาชาไนย | ข้างเราจึงให้ผูกม้า ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายองค์อุณากรรณวิยาหยา |
เสด็จจากปราสาทพระธิดา | กลับไปดาหาปาตี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึงเข้าในห้องทอง | แล้วบอกสองพี่เลี้ยงถ้วนถี่ |
ปันหยีซึ่งบวชอยู่คิรี | บัดนี้มาเฝ้าพระทรงธรรม์ |
เห็นน้องแล้วทำยิ้มพริ้มพราย | กิริยาแยบคายคมสัน |
ละม้ายเหมือนเชษฐากุเรปัน | น้อยอายจิตคิดพรั่นหวั่นวิญญาณ์ |
แล้วตรัสสั่งกิดาหยันทันที | เวลาเราเฝ้าศรีปัตหรา |
จงคอยดูปันหยีไม่ลีลา | จึงให้ผูกม้าจะคลาไคล ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กิดาหยันบังคมประนมไหว้ |
ออกมาสั่งกันทันใด | ตามในบัญชาทุกสิ่งอัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | จึงชาวม้าต้นคนขยัน |
ครั้นเวลาเฝ้าพระทรงธรรม์ | ก็ไปปันจะรากันทันใด |
จึงถามชาวม้าว่าปันหยี | สั่งให้ผูกพาชีหรือหาไม่ |
เขาบอกว่าไม่สั่งอาชาไนย | กลับไปก็ให้เร่งผูกม้า ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | กิดาหยันปันหยีสุกาหรา |
เห็นข้างอุณากรรณผูกอาชา | ก็รีบมาสั่งให้ผูกพาชี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | อุณากรรณผู้รุ่งรัศมี |
ครั้นเวลาเฝ้าพระภูมี | รู้ว่าปันหยีไม่จรจรัล |
จึงเข้าที่สระสรงทรงเครื่อง | แล้วย่างเยื้องยุรยาตรผาดผัน |
มาทรงม้าเหลืองเครื่องสุวรรณ | เสนากิดาหยันก็ตามมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | มิสาระปันหยีสุกาหรา |
รู้ว่าอุณากรรณไคลคลา | ก็รีบมาแต่งองค์ทรงสำอาง |
แล้วเสด็จมาทรงพาชี | กั้นกลดกำมะหยี่หักทองขวาง |
เร่งขับอาชามาตามทาง | กิดาหยันวิ่งวางตามไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ รีบมาทันม้าอุณากรรณ | พอถึงปราการกั้นประตูใหญ่ |
ต่างองค์ลงจากอาชาไนย | พระแย้มยิ้มปราศรัยไปมา |
ไหนเล่าเราพูดกันวันนั้น | ที่ปัจจาหงันภูผา |
เจ้ารับคำมั่นสัญญา | ครั้นมาพบพักตร์ไม่ทักทาย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อุณากรรณเพราเพริศเฉิดฉาย |
ขัดสนจนจิตคิดละอาย | จำเป็นต้องอุบายบอกไป |
นึกอยู่ว่าจะใคร่ทักเจ้า | จริงจริงใช่เราจะแก้ไข |
ด้วยเป็นหน้าที่นั่งก็จนใจ | จึงมิได้เหมือนคำสัญญา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ปันหยีเยื้องย่างเข้าหา |
กุมกรอุณากรรณเดินมา | กั้นกลดรจนาอันเดียวกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อุณากรรณขวยอายไม่ผายผัน |
สะบัดมือปันหยีเสียพลัน | อย่ากุมกรจรจรัลไม่ชอบใจ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ปันหยียิ้มพลางแถลงไข |
เคืองขัดสะบัดมือพี่ยาไย | ทำเหมือนมิใช่เป็นชาย |
ว่าพลางย่างเยื้องจรจรัล | เคียงองค์อุณากรรณผันผาย |
สัพยอกหยอกยิ้มพริ้มพราย | ทอดกรกรีดกรายดำเนินมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลงช้า
๏ ครั้นถึงที่ท้องพระโรงคัล | อภิวันท์องค์ศรีปัตหรา |
หมอบเมียงเคียงกันทั้งสองรา | ตรงหน้าที่นั่งภูวไนย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พระองค์ทรงพิภพเป็นใหญ่ |
เห็นสองโอรสยศไกร | จึงปราศรัยด้วยสุนทรวาจา |
เจ้าดวงยิหวาพ่อทั้งคู่ | พิศดูน่ารักเป็นนักหนา |
ดังทองรองรับกับจินดา | ใต้ฟ้าจะหาไหนทัน |
ทั้งสององค์จงสนิทร่วมพิสมัย | สิ่งใดอย่ารังเกียจเดียดฉันท์ |
จงคิดว่าร่วมอุทรกัน | ขวัญตายาจิตของบิดา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | ปันหยีอภิวันท์ด้วยหรรษา |
แลดูอุณากรรณสบตา | ให้หน้าแล้วยิ้มพริ้มไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระองค์ทรงภพสบสมัย |
ครั้นเสร็จว่าราชการกรุงไกร | ก็เข้าในปราสาทรัตน์รูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | อุณากรรณแกล้งหนีปันหยี |
ดำเนินเดินด่วนจรลี | ไปยังที่ตำหนักพระธิดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | มิสาระปันหยีสุกาหรา |
แต่คอยอุณากรรณทุกวันมา | จักชวนไปเคหาสักครั้ง |
พบทีไรก็ชวนเป็นหลายหน | แต่ก่นผัดเพี้ยนว่าทีหลัง |
ลางทีก็หนีเข้าในวัง | บ้างบอกว่ายังกังวลใจ |
แต่คอยคอยจนสายหนักหนา | จะกลับออกมาก็หาไม่ |
จึงมาทรงอาชาคลาไคล | กลับไปที่อยู่พระภูมี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | อุณากรรณผู้รุ่งรัศมี |
จึงเสด็จมาทรงพาชี | ไปดาหาปาตีตำหนักจันทร์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ปันหยีเพราเพริศเฉิดฉัน |
พระทัยให้คิดผูกพัน | ถึงองค์อุณากรรณเป็นพ้นนัก |
จึงสั่งพระพี่เลี้ยงปูนตา | จงไปหาอุณากรรณมีศักดิ์ |
บอกว่าเราจะใคร่พบพักตร์ | ขอเชิญน้องรักมาบัดนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ปูนตารับสั่งใส่เกศี |
บังคมแล้วรีบจรลี | ไปดาหาปาตีทันใด ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงเข้าไปหา | ตำมะหงงเสนาผู้ใหญ่ |
แล้วบอกยุบลแต่ต้นไป | โดยในเนื้อความทุกสิ่งอัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ตำมะหงงได้ฟังแล้วผายผัน |
เข้าไปทูลองค์อุณากรรณ | ว่าปันหยีให้มาเชิญไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อุณากรรณรัศมีศรีใส |
ได้ฟังก็คิดสะดุ้งใจ | เสด็จไปยังห้องสองนารี |
ครั้นถึงจึงแจ้งกิจจา | ว่าบัดนี้มิสาระปันหยี |
ให้มาเชิญน้องไปวันนี้ | สองพี่จะคิดประการใด |
ท่วงทีปันหยีทำแหลมหลัก | จะรู้จักว่าหญิงหรือไฉน |
ทำเทียมเลียมเล่นเป็นกลใน | พบปะทีไรก็เฝ้าดู |
ชวนให้ไปบ้านเป็นหลายครั้ง | น้องยังบิดเบือนเชือนอยู่ |
พรั่นจิตคิดเกรงจะล่วงรู้ | ให้ละอายอดสูเป็นพ้นไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สองนางพี่เลี้ยงเฉลยไข |
ซึ่งปันหยีมีความกินใจ | มิไปเขาจะเห็นสมร้าย |
ไปแก้สงสัยเสียดีกว่า | ให้สิ้นจินดาที่มุ่งหมาย |
สิ่งใดอย่าให้เห็นแยบคาย | แม่ระมัดประหยัดกายให้จงดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อุณากรรณผู้รุ่งรัศมี |
ฟังพี่เลี้ยงปลอบเห็นชอบที | จึงเข้าที่สระสรงคงคา |
สำอางองค์ทรงเครื่องสรรพเสร็จ | กิดาหยันตามเสด็จพร้อมหน้า |
มาทรงพาชีลีลา | ปูนตาพี่เลี้ยงนำไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นมาถึงปันจะรากัน | ที่ปันหยีอยู่อาศัย |
จึงเสด็จลงจากมโนมัย | ดำเนินเข้าในทวารา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลงช้า
๏ เมื่อนั้น | มิสาระปันหยีสุกาหรา |
ครั้นเห็นอุณากรรณมา | สมดังจินดาก็ยินดี |
พระจึงเสด็จยุรยาตร | จากอาสน์สุวรรณเรืองศรี |
มากุมกรพาจรลี | ทำทีแย้มยิ้มพริ้มไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อุณากรรณนึกพรั่นหวั่นไหว |
สะบัดมือปันหยีเสียทันใด | ข้างปันหยีก็ไม่วางมือ |
เจ้าเดินไปก่อนก็เป็นไร | ข้าเดินตามไปไม่ได้หรือ |
ไม่พอใจเจ้าอย่ายุดยื้อ | สะบัดมือผินผันเสียทันที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ปันหยีปรีดิ์เปรมเกษมศรี |
พาองค์อุณากรรณจรลี | มานั่งร่วมแท่นที่รจนา |
จึงเรียกเกนหลงมาแล้วว่าไป | เจ้ารู้จักกันไว้กับเชษฐา |
อุณากรรณเจ้าจงเมตตา | รักใคร่กัลยาเหมือนข้านี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อุณากรรณรับคำปันหยี |
ลูบหลังลูบหน้ากุมารี | เราจงเป็นพี่น้องกัน |
วันเมื่อพบพี่ที่บนเขา | เป็นไรเจ้าจึงกันแสงศัลย์ |
สององค์พูดจาปราศรัยกัน | เสนหาผูกพันแต่นั้นมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | มิสาระปันหยีสุกาหรา |
จึงตรัสแก่อุณากรรณอนุชา | เจ้ามาวันนี้พี่สำราญ |
เราจะชวนกันชนไก่เล่น | ให้เป็นผาสุกเกษมศานต์ |
พวกเจ้าเขาก็เคยชำนาญ | ในการเล่นไก่แต่ไรมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อุณากรรณกะหมันวิยาหยา |
จึงตอบปันหยีมิได้ช้า | ไก่ชนของข้าไม่มี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึงองค์มิสาระปันหยี |
จึงตอบว่าข้าจะให้ไก่ดีดี | ของเรามีไม่ตรึกอย่าร้อนใจ |
ว่าแล้วชวนเชิญอุณากรรณ | จรจรัลรอเรียงเคียงไหล่ |
หลงหนึ่งหรัดลัดเดินไปทางใน | ยังสนามเล่นไก่พร้อมกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ สามองค์ทรงนั่งร่วมอาสน์ | พร้อมหมู่อำมาตย์กิดาหยัน |
พระหยิบยกพานสลามาพลัน | สู่องค์อุณากรรณอนุชา |
แล้วสั่งประสันตาให้จัดไก่ | บัดเดี๋ยวก็ได้มานักหนา |
เลาเหลืองส่งเนื่องกันเข้ามา | เจ้าเลือกตามอัชฌาที่ชอบใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อุณากรรณรัศมีศรีใส |
จึงสั่งตำมะหงงทันใด | จงเลือกไก่ชนเล่นตามที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ตำมะหงงรับสั่งใส่เกศี |
ทำถามประสันตาว่าไหนดี | ส่งมาข้างนี้จะเลือกลอง ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ประสันตาตัวดีไม่มีสอง |
ส่งไก่ให้พลางพูดคะนอง | จงเลือกเอาตามต้องอัธยา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ตำมะหงงยิ้มพลางทางว่า |
จักษุเราซมซานพานชรา | จะพึ่งแว่นแทนตาก็งมเงา |
นี่เนื้อเคราะห์กรรมตำมะหงง | มาโดนดงส่งส่วยให้กินเปล่า |
ถึงเลือกไก่ได้ก่อนก็ดูเดา | จะสู้เขาเจ้าของคงจะแพ้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ประสันตาตอบความตามกระแส |
น้อยหรือเชิงชั้นช่างผันแปร | แยบแก่ชอบกลเป็นพ้นไป |
ทำประหนึ่งเสือเฒ่าเจ้าเล่ห์ | สมคะเนจะเทพกหรือไฉน |
เพียงนี้พวกเราพอเข้าใจ | นี่จะมาลวงใครให้งวยงง ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึงมหาเสนาตำมะหงง |
ตอบมาว่ากันตรงตรง | หรือมาหลงคิดเพลินจนเกินดี |
นักเลงเล่นเช่นเธอเจรจา | ได้ยินว่ามีอยู่หรือที่นี่ |
อวดฉลาดเหลือปัญญาพาที | กรรมแล้วนายนี้จะเคยใจ |
ว่าพลางเปรียบจับรับมาดู | ได้คู่เขียวด่างพอชนได้ |
ทั้งสองข้างต่างคนจะเอาชัย | ถ้อยทีมิให้เสียเปรียบกัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ประสันตาแสนกลคนขยัน |
แสร้งสำรวลชวนติดเดิมพัน | ลวงล่อต่อกันอึงไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ตำมะหงงทำเฉยเฉลยไข |
เมื่อกี้ไม่ทันเห็นจะเป็นใคร | มาหลอกไล่ต่อรองร้องอึง |
ตบเพลาเข้าพลางหัวเราะร่า | เชิงเล่นเช่นว่าพอรู้ถึง |
ทั้งเสียเปรียบต่ำสั้นไม่พรั่นพรึง | นี่แน่สองเอาหนึ่งจงต่อมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ประสันตายิ้มพลางทางว่า |
เช่นนี้ดอกหรือชาวชวา | หมายได้แล้วสิหนามากล้ารอง |
จะต่อให้สมนึกนั้นลึกนัก | เหลือรักพวกเราผู้เจ้าของ |
แม้นติดใจก็เอาไปถือลอง | จะแข็งใจลองดูสักที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ตำมะหงงว่าใครเล่าเมื่อกี้ |
จะไล่อันขันก้อต่อตี | กลับว่าดังนี้ไม่เข้าใจ |
อันจริตพวกเราชาวชวา | สุดแต่ลั่นวาจาแล้วฟังได้ |
แม้นละศาสนาไม่อาลัย | จะพูดบ้างก็ได้เหมือนกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ประสันตาตอบไปขมีขมัน |
ถึงละศาสนาดังว่านั้น | ก็เข้ารีตเดียวกันอย่าติเรา |
อะไรเล่นเช่นนั้นเป็นโทโส | ไก่โตกว่ากลับว่าเล็กเล่า |
พวกนักเลงพร้อมอยู่จงดูเอา | แยบยลคนเก่าสุดปัญญา |
สองสองรองหรือจะชนให้ | พันเหรียญเจียนได้แต่ในข้า |
ที่จะรองสองเอาหนึ่งรำพึงมา | ต่อนัดหน้าจึงค่อยพาที ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ตำมะหงงว่าอย่าเย้ยไม่เคยหนี |
แม้นต่อมาเหมือนว่ากันนี้ | เว้นแต่ไม่มีจะไม่ชน |
เสียแรงได้บากหน้ามา | จะหลับตากล้าสู้ดูสักหน |
เสียเปรียบเห็นทั่วทุกตัวคน | ก็จำชนด้วยได้มาถึงวัง ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ สองฝ่ายเปรียบได้แล้ววางหาง | ในกลางสังเวียนหน้าที่นั่ง |
ซ้อนซ้องสองหมู่ดูประดัง | กิดาหยันเตือนตั้งนาฬิกา |
พวกนักเลงเล่นเห็นไก่เกี้ยว | ลอดเลี้ยวผูกพันประจัญหน้า |
สำรวลสรวลซ้อมมือมา | ถ้อยทีรับว่าได้กัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ แทงวิสัย
๏ บัดนั้น | ประสันตาลิ้นลมคมสัน |
เห็นไก่เป็นต่อแต่ต้นอัน | ก็เปรียบเปรยเย้ยหยันไปมา |
ที่จะรอดตัวไปอย่าพึงคิด | หมายชนะสนิทไม่ผิดว่า |
ไหนจะทนไปถึงครึ่งนาฬิกา | กลัวแต่จะลาไปกลางทาง ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ตำมะหงงว่าดีแต่ถากถาง |
อย่าประมาทชาติไก่ทำคาง | ขนข้างเหี่ยวแห้งแข้งมีพิษ |
ยังไม่ถึงทีเธออย่าเพ่อหมาย | ไม่มีลายพ่ายแพ้แต่สักหนิด |
พอตกคำมาลำให้เหมือนคิด | จิกติดโปรยประฉะแทง |
ต้องเสนียดถูกสนักหักเห | ซวนเซซ้ำตีด้วยฝีแข้ง |
ตำมะหงงร้องอ๋อถูกพอแรง | ประสันตายิ้มแห้งรำคาญใจ |
นาฬิกาจมล่มพอได้อัน | ถ้อยทีถลันเข้ากันไก่ |
ตำมะหงงป้องพักตร์ทักว่าใคร | ประสันตาหลอกให้แล้วออกมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ถ้อยทีประทับให้หลับนอน | ปันป้อนข้าวน้ำประคบหน้า |
บ้างพัดจัดปีกเป่าตา | เลือดเลือกเกลือกหน้าด้วยผ้าบาง ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ สองฝ่ายให้น้ำสรรพเสร็จ | เสียเคราะห์ทำเคล็ดเด็ดหาง |
ดีดมือถือไก่เข้าไปวาง | ในกลางสังเวียนสนามพลัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ แทงวิสัย
๏ ไก่ข้างปันหยีก็พ่ายแพ้ | ยกสร้อยวิ่งแต้ตัวสั่น |
พวกข้างมิสาอุณากรรณ | ก็โห่สนั่นด้วยปรีดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | อุณากรรณกะหมันวิยาหยา |
ชำเลืองดูปันหยีแล้วแลมา | กระหยิบตาห้ามว่าอย่าอึงไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สังคามาระตาเฉลยไข |
เป็นธรรมเนียมเขาแล้วห้ามเขาไย | พวกชายเล่นไก่จำกระนั้น ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ปันหยีสำรวลสรวลสันต์ |
จึงสั่งประสันตาไปพลัน | ให้เอาคู่อื่นนั้นเข้ามา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ประสันตารับสั่งใส่เกศา |
ก็จับไก่นั้นดังบัญชา | พูดแชแก้หน้าพาที |
คู่นี้แลเราจะเอาชนะ | กะได้ไม่แคลงเหมือนเมื่อกี้ |
จะเอาชัยไว้ก่อนก็ไม่ดี | ดูดังเรานี้ไม่อัธยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ตำมะหงงว่าแพ้ยังแก้หน้า |
นี่แน่นายคนดีมีอัชฌา | พูดจาเหลือเลือกเป็นเปลือกไป |
แม้นคู่นี้ชนะเราเหมือนเจ้าว่า | จะต้องตัดตำราไม่เล่นไก่ |
ถึงแพ้นึกว่าค้ากำไร | ด้วยมีชัยไว้ก่อนไม่ร้อนรน |
กลัวแต่จะหลงประตูบ้าน | เหื่อกาฬจะตกดังเม็ดฝน |
ว่าแล้ววางไก่เข้าให้ชน | จะทนทานที่ไหนชาติบาโย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ไก่ข้างปันหยีก็หนีพลัน | ถูกลำหนักหักหันวิ่งโร่ |
ตำมะหงงว่าแน่แพ้ทั้งโต | กิดาหยันก็โห่ขึ้นสามลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ปันหยีคิดฉงนเป็นนักหนา |
วันนี้มีแต่อัปรา | แต่ก่อนเล่นมาไม่เคยมี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สังคามาระตาเรืองศรี |
แยบคายเชิงชั้นขยันดี | ยิ่งแก้ยิ่งมีแต่แพ้ไป |
ให้คิดอัศจรรย์เป็นหนักหนา | จึงว่าถึงแพ้ก็แต่ไก่ |
ชาวเราโห่บ้างก็เป็นไร | แล้วตบเพลาเร่งให้โห่พลัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | กุดารัศมีไม่มีพรั่น |
จึงถามว่าไก่แพ้เขานั้น | มาเตือนกันให้โห่ทำไม ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สังคามาระตาแถลงไข |
ตัวอยู่เอาหูไว้แห่งใด | แพ้ชนะก็โห่ไปเถิดรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | กุดารัศมีก็หรรษา |
ได้ฟังสังคามาระตา | เฉยหน้าแล้วโห่ขึ้นทันใด ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เห็นคนทั้งปวงเขาสรวลหมด | จึงถามว่าแกล้งปดหรือไฉน |
รบเร้าให้โห่เอาชัย | เป็นไรจึงสรวลไม่ช่วยกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ปันหยีสำรวลสรวลสันต์ |
เสนาข้าเฝ้าทั้งนั้น | ก็สรวลขึ้นพร้อมกันสนั่นไป |
แล้วจึงให้จัดสิ่งของ | ริ้วทองตาดโหมดล้วนใหม่ใหม่ |
บรรดาเสื้อผ้าทั้งนี้ไซร้ | ไก่แพ้พี่ให้อนุชา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อุณากรรณยิ้มพลางทางว่า |
มิใช่ไก่ของเราเอามา | อันจะให้เสื้อผ้านั้นผิดไป |
เล่นแต่พอสนุกด้วยกัน | จะได้ว่าพนันก็หาไม่ |
จะรังเกียจเดียดฉันท์ฉะนั้นไย | ทำกระนี้เหมือนไม่ปรานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมยงองค์มิสาระปันหยี |
จึงว่าไม่ฉันทาอย่าพาที | ถึงไก่พี่ไก่เจ้าก็เข้าใจ |
เจ้าจะเห็นอะไรกับข้าวของ | ประสารักพี่ปองจะใคร่ให้ |
เจ้าจงเมตตาอาลัย | อย่าถือใจจงรับของพี่ยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อุณากรรณกะหมันวิยาหยา |
จึงรับสิ่งของทั้งนั้นมา | ให้แก่ขนิษฐานารี |
วันนี้พี่เล่นชนไก่ | มีชัยกะกังปันหยี |
ได้สินพนันมากมี | พี่ให้มารศรีจงรับไว้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | มิสาระปันหยีศรีใส |
จึงสั่งบาหยันทันใด | เร่งให้ยกเครื่องเลี้ยงมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | บาหยันรับสั่งใส่เกศา |
ถวายอัญชลีแล้วลีลา | เร่งรีบเข้ามาสั่งกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ฝ่ายฝูงสุรางค์นางสาวสรรค์ |
ครั้นแจ้งก็แต่งกายพลัน | แล้วเชิญเครื่องเนื่องกันทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ชุบ
๏ จึงตั้งสุพรรณภาชน์บรรจง | ถวายองค์อุณากรรณปันหยี |
คอยอยู่งานพระแส้ปัดพัชนี | ทำทีชม้ายชายหางตา |
กิดาหยันก็ยกเครื่องเสวย | มาเลี้ยงเหล่าเชลยถ้วนหน้า |
แล้วเลี้ยงหมู่อำมาตย์มาตยา | กับพวกพลโยธาทั้งนั้น ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ปันหยีเพราเพริศเฉิดฉัน |
จึงชวนมิสาอุณากรรณ | เกษมสันต์เสวยโภชนา |
อันเหล่าเชลยทั้งสองฝ่าย | กับเสนาตัวนายถ้วนหน้า |
กินเลี้ยงเคียงกันเป็นหลั่นมา | พูดเล่นเจรจาสำราญใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เสร็จเสวยโภชนาสาลี | ปันหยียิ้มแย้มแจ่มใส |
จึงชวนอุณากรรณทันใด | จะขับรำเล่นให้สำราญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อุณากรรณกล่าวคำอ่อนหวาน |
ข้านี้ขับรำไม่ชำนาญ | แต่ได้มาถึงบ้านก็จำเป็น |
พี่รำเถิดข้าจะขับให้ | ท่าทางอย่างไรจะได้เห็น |
เวลาจวนจรจรัลตะวันเย็น | เลิกเล่นแล้วจะลาคลาไคล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ปันหยีฟังชอบอัชฌาสัย |
เสด็จลุกขึ้นพลางว่าไป | เจ้าขับให้ชอบใจเถิดจะรำ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อุณากรรณท่วงทีคมขำ |
เอาพัดทองป้องโอษฐ์แล้วกล่าวคำ | ขับเป็นลำนำมโหรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
เขนง
๏ เจ้าดวงยิหวาเอย | ไม่ควรเลยจะอางขนางหนี |
ชะรอยกรรมจึงนำจรลี | ปานนี้จะเป็นประการใด |
จะเที่ยวมะงุมมะงาหรา | จะรู้แห่งตามหาหนไหน |
ตั้งแต่จะโศกาอาลัย | ด้วยแรมร้างห่างไกลมา เอย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
น้ำค้าง
๏ หรือหนึ่งจะมาตามเรา | หรือเจ้าจะคืนยังเคหา |
จะพะว้าพะวังวิญญาณ์ | ห่วงหน้าห่วงหลังกังวลใจ |
แต่เราท่องเที่ยวมาเดียวดาย | ไม่วายเศร้าสร้อยละห้อยไห้ |
หรือเจ้าจะสำราญบานใจ | พร้อมกันอยู่ในบ้าน เอย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | ปันหยีปรีดิ์เปรมเกษมศานต์ |
ฟังเสียงอุณากรรณให้บันดาล | ซาบซ่านเสนาะเพราะจับใจ |
พ่างเพียงศรแผลงมาแทงจิต | ยิ่งฟังยิ่งคิดพิสมัย |
บรรดาคนทั้งสิ้นได้ยินไป | รัญจวนใจไม่เป็นสมประดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อุณากรรณผู้รุ่งรัศมี |
ยิ้มพลางทางว่าไปทันที | เป็นไรจึงพี่ไม่รำไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ปันหยียืนตะลึงหลงใหล |
คืนได้สมประดีก็อายใจ | ภูวไนยขับเทียบเปรียบเปรย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ดอกไม้ไทร
๏ เจ้าสายสุดที่รักพี่ | แม้นได้เหมือนฉะนี้นะน้องเอ๋ย |
จะถนอมเนื้อนวลไว้ชวนเชย | เมื่อไรเลยจะล้างแรมรัก |
ของพี่มีแล้วก็หายไป | เจ็บใจพี่เพียงอกหัก |
มาพบโฉมฉายละม้ายนัก | พี่รักเจ้าดังดวงตาเอย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | อุณากรรณกระหมันวิยาหยา |
ฟังปันหยีขับจับวิญญาณ์ | คิดถึงเชษฐายิ่งอาลัย |
เหมือนเมื่อพระขับกล่อมน้อง | ที่ในถ้ำทองยังจำได้ |
คิดพลางทางสะท้อนถอนใจ | โศกเศร้าฤทัยแสนทวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ปันหยีปรีดิ์เปรมเกษมศรี |
จึงสั่งเหล่าเชลยล้วนตัวดี | ให้ขับทีละคู่สู้กันไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | กุดารัศมีเฉลยไข |
ข้านี้โฉดเขลาไม่เข้าใจ | จะขับร้องไม่ได้จงเมตตา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ปันหยียิ้มพลางทางว่า |
จะให้จะหรังวิสังกา | เขาบอกให้ว่าอย่าทุกข์ร้อน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สังคามาระตาชาญสมร |
จึงประดิษฐ์คิดกล่าวบทกลอน | แล้วสอนให้ขับขึ้นฉับพลัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ลีลากระทุ่ม
๏ เกิดมามิเสียที | ฉลาดดีหน้าตาก็คมสัน |
หูไวผิดเพื่อนไม่เหมือนกัน | สารพัดอัศจรรย์กว่าคน |
ทั้งรูปร่างจริตติดโอ่โถง | เคยเล่นนอกออกโรงมาหลายหน |
ขับรำทำได้อยู่ตามจน | ดีจริงยิ่งคนที่มา เอย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เกิดมามิเสียที | อะไรเล่าเมื่อกี้ที่สอนให้ |
ไม่รู้ที่จะว่ากระไร | ข้าลืมไปเสียแล้วนะเจ้า เอย ฯ[๑] |
ฯ ๒ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | มิสาระปันหยีสุกาหรา |
ทั้งพวกพี่เลี้ยงแลเสนา | สรวลสันต์หรรษาทุกคนไป |
แล้วสั่งคนเพลงนักเลงเล่น | ให้ทำเป็นครึ่งท่อนกลอนปรบไก่ |
โต้ตอบตามทำนองว่องไว | เล่นไปจนเพลาราตรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
ช้า
๏ กิดาหยันจุดเทียนประทีปทอง | ระย้าแก้วเรืองรองรัศมี |
แขวนรอบอร่ามรูจี | จับสีพักตราอุณากรรณ |
ยิ่งงามผุดผาดประหลาดตา | ดังโฉมนางฟ้ากระยาหงัน |
นวลละอองผ่องเพียงดวงจันทร์ | ผิวพรรณโสภาน่ารัก |
ยิ่งพิศยิ่งคิดกินแหนง | คลางแคลงหฤทัยไม่ประจักษ์ |
ท่วงทีขวยอายเห็นคล้ายนัก | เหมือนพระน้องรักดังคนเดียว |
พระดูทั่วสารพางค์ไม่วางตา | เสนหาป่วนปั่นกระสันเสียว |
ทำสนิทสนมกลมเกลียว | กอดเกี้ยวเย้าหยอกไปมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | อุณากรรณป้องปัดหัตถา |
พลางสะเทินเขินขวยวิญญาณ์ | จึงว่าค่ำแล้วจะลาไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ปันหยีว่าจะด่วนไปไหน |
กุมกรอุณากรรณไว้ | อย่าเพ่อคลาไคลอนุชา |
เราเล่นด้วยกันวันนี้ | แสนสำราญใจพี่เป็นหนักหนา |
ปานนี้ยังไม่ควรจะด่วนลา | เล่นอีกเจ้าอย่าเพ่อไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อุณากรรณกล่าวกลแก้ไข |
แต่เช้ามาข้าไม่สบายใจ | พี่ให้ไปหาแล้วก็จำมา |
บัดนี้ปวดเศียรให้เวียนวิง | จริงจริงใช่จะแกล้งแสร้งว่า |
คราวหลังจึงจะค่อยไคลคลา | กลับมาเล่นอีกให้สำราญ |
ว่าพลางทางลาลีลาศ | ยุรยาตรย่างเยื้องจากสถาน |
มาทรงมโนมัยชัยชาญ | บริวารแวดล้อมคลาไคล ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ปันหยียิ่งคิดพิสมัย |
แลตามอุณากรรณไป | จนไกลเลี้ยวลับนัยนา |
ให้เปลี่ยวเปล่าหฤทัยถวิลหวัง | จะใคร่ตามไปยังวังดาหา |
แต่รัญจวนป่วนใจไปมา | พระราชาไม่เป็นสมประดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อุณากรรณผู้รุ่งรัศมี |
ครั้นถึงวังดาหาปาตี | ก็จรลีเข้ายังห้องใน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึงเรียกสองพี่เลี้ยงกัลยา | เข้ามาแล้วแจ้งแถลงไข |
น้องไปบ้านปันหยีวันนี้ไซร้ | เห็นเขาจะแจ้งใจในแยบยล |
เล่นเลียมเทียมทำสัพยอก | ยั่วเย้าเฝ้าหยอกเป็นหลายหน |
พรั่นนักกลัวจักรู้กล | เราจะคิดผ่อนปรนประการใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สองนางพลางทูลเฉลยไข |
อันจะแก้กินแหนงนั้นไซร้ | จำจะให้ไปเชิญปันหยีมา |
พูดจาปราศรัยทำสนิท | เหมือนถ้อยทีมีจิตเสนหา |
แม้นจะไปอย่าให้ไคลคลา | ชวนเสวยโภชนาสาลี |
ให้เหล่าราชธิดามารับใช้ | ทำให้เหมือนกันกับปันหยี |
แม้นแจ้งว่ามีอิสตรี | เห็นทีจะสิ้นสงกา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อุณากรรณกระหมันวิยาหยา |
ได้ฟังทั้งสองสนองมา | ชอบในวิญญาณ์อารมณ์ |
จึงว่าพี่ตรึกตรองป้องปิด | ท่วงทีที่คิดสนิมสนม |
ตรัสพลางทางเข้าที่บรรทม | แต่ปฐมยามก็หลับไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ เมื่อนั้น | มิสาระปันหยีศรีใส |
ให้เร่าร้อนรัญจวนป่วนใจ | อาลัยในองค์อุณากรรณ |
จึงแสร้งเสเสด็จยุรยาตร | ลงไปประพาสสะตาหมัน |
หอมกลิ่นมาลาหลายพรรณ | แสงบุหลันสว่างกระจ่างฟ้า ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ช้า
๏ ขึ้นบนตำหนักน้อยในสวน | เอนองค์ลงรัญจวนครวญหา |
ยอกรขึ้นก่ายพักตรา | ถวิลถึงบุษบายาใจ |
โอ้ว่ายาหยีของพี่เอ๋ย | ไฉนเลยจะรู้ว่าอยู่ไหน |
ให้คลางแคลงแหนงจิตเป็นพ้นไป | สงสัยในองค์อุณากรรณ |
ให้ละม้ายคล้ายคลึงพระน้องรัก | ทั้งรูปทรงวงพักตร์ไม่ผิดผัน |
เขาก็มีสุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์ | จะสำคัญมั่นใจก็ใช่ที ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ แต่เรรวนครวญคิดไปมา | จนจันทราเลื่อนลับอับศรี |
จึงเสด็จจากสวนมาลี | ไปเข้าที่บรรทมภิรมยา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
https://vajirayana.org/system/files/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B2_264950.pdf