- คำอธิบาย ว่าด้วยบทละคร อิเหนาฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ
- เล่มที่ ๑
- เล่มที่ ๒
- เล่มที่ ๓
- เล่มที่ ๔
- เล่มที่ ๕
- เล่มที่ ๖
- เล่มที่ ๗
- เล่มที่ ๘
- เล่มที่ ๙
- เล่มที่ ๑๐
- เล่มที่ ๑๑
- เล่มที่ ๑๒
- เล่มที่ ๑๓
- เล่มที่ ๑๔
- เล่มที่ ๑๕
- เล่มที่ ๑๖
- เล่มที่ ๑๗
- เล่มที่ ๑๘
- เล่มที่ ๑๙
- เล่มที่ ๒๐
- เล่มที่ ๒๑
- เล่มที่ ๒๒
- เล่มที่ ๒๓
- เล่มที่ ๒๔
- เล่มที่ ๒๕
- เล่มที่ ๒๖
- เล่มที่ ๒๗
- เล่มที่ ๒๘
- เล่มที่ ๒๙
- เล่มที่ ๓๐
- เล่มที่ ๓๑
- เล่มที่ ๓๒
- เล่มที่ ๓๓
- เล่มที่ ๓๔
- เล่มที่ ๓๕
- เล่มที่ ๓๖
- เล่มที่ ๓๗
- เล่มที่ ๓๘
เล่มที่ ๑๙
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ปันหยีมีศักดิ์สูงส่ง |
สถิตที่แท่นสุวรรณบรรจง | คิดคะนึงถึงองค์บุษบา |
เจ้าจะอยู่แห่งหนตำบลใด | ทั่วทุกกรุงไกรพี่เที่ยวหา |
จนสิ้นแผ่นดินแดนชวา | ไม่ได้ข่าวดวงยิหวายาใจ |
จะข้ามไปเมืองมะละกาเกาะ | สืบเสาะให้สิ้นสงสัย |
จึงสั่งประสันตาทันใด | จงเข้าไปพาราบาหลี |
บอกแก่ระตูผู้ผ่านเมือง | ให้แจ้งความตามเรื่องถ้วนถี่ |
เราจะยืมกำปั่นวันพรุ่งนี้ | จะข้ามไปธานีมะละกา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ บัดนั้น | ประสันตารับสั่งใส่เกศา |
มาขึ้นมโนมัยไคลคลา | บ่าวไพร่พร้อมหน้าตามไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงลงจากอาชา | เข้าไปหาระตูผู้เป็นใหญ่ |
ทูลว่าปันหยีชาญชัย | สั่งใช้ให้ข้าเข้ามา |
ยืมเรือใหญ่น้อยสักร้อยลำ | ให้นำมาจอดทอดท่า |
จะข้ามไปยังเกาะมะละกา | เที่ยวเล่นให้ผาสุกใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ระตูฟังแจ้งแถลงไข |
จึงสั่งเสนาทันใด | จงจัดนาวาให้บัดนี้ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ดะหมังรับสั่งใส่เกศี |
มาเร่งรัดจัดแจงทำบาญชี | เรือของใครมีก็เก็บมา |
ทั้งเชือกเสาเพลาใบรอกกว้าน | ต้นหนคนงานให้เร่งหา |
บ้างตกแต่งดอกหมันเอาชันยา | ทำประทุนหลังคาทาดำ |
บ้างบรรทุกอับเฉาข้าวเสบียง | ชำรุดรั่วรอยเพรียงเอียงคว่ำ |
ให้เร่งรัดผลัดเปลี่ยนได้ครบลำ | มาอดอยู่ปากน้ำพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ประสันตาก็รีบผายผัน |
มาทูลพระองค์ผู้ทรงธรรม์ | เรือนั้นยืมได้ดังบัญชา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ปันหยีมีจิตหรรษา |
จึงแต่งองค์ทรงเครื่องรจนา | พระหัตถ์ขวากุมกริชฤทธี |
แล้วชวนโฉมยงหลงหนึ่งหรัด | กับสุรางค์นางกษัตริย์สาวศรี |
พร้อมหมู่แสนสุรเสนี | จรลีไปลงนาวา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
จำปาทองเทศ
๏ ลมดีพระก็ใช้ใบไป | พระอุ้มองค์อรไทขนิษฐา |
ขึ้นนั่งยังท้ายเภตรา | ชมหมู่มัจฉาในสาชล |
พิมทองล่องลอยแลคร่ำ | วาฬผุดพ่นน้ำดังฝอยฝน |
ฉนากฉลามว่ายตามวน | โลมาหน้าคนนนทรี |
พระชี้ชมศิลาปะการัง | ที่เขียวดังมรกตสดสี |
ที่ลายคล้ายราชาวดี | แดงเหลืองเลื่อมสีเหมือนโมรา |
บ้างปริ่มน้ำรำไรไคลจับ | งอกสลับกับกัลปังหา |
ชมพลางแล่นเลียบเกาะมา | หมายมุ่งมะละกาธานี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ โล้
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | เกนหลงหนึ่งหรัดมารศรี |
ชมหมู่มัจฉาในวารี | มากมีหลายอย่างต่างกัน |
บรรดานางเชลยไม่เคยเห็น | ก็ตื่นเต้นปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
ทั้งสี่พี่เลี้ยงแลกำนัล | ชวนกันชมไม้ในเกาะเกียน |
เขียวขอุ่มพุ่มใบเหลืองสลับ | เหมือนฉากพับแต้มลายระบายเขียน |
บ้างดูระลอกกลอกกล้ิงวิงเวียน | เมาคลื่นอาเจียนไม่สมประดี |
บางคนคว้าหาส้มดมพิมเสน | บ้างบ่นว่ากรรมเวรอะไรนี่ |
บ้างบนตัวกลัวตายวายชีวี | ที่ใครดียิ้มเยาะเพื่อนกัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ปันหยีปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
ลมดีแล่นข้ามมาสามวัน | กำปั่นถึงเกาะมะละกา |
จึงให้ม้วนใบยอดทอดสมอ | หยุดรอเรียงลำขนานหน้า |
แล้วยกธงสำคัญสัญญา | อย่างเรือลูกค้ามาแต่ไกล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | กรมการด่านคอยน้อยใหญ่ |
เห็นเภตราดาดาษประหลาดใจ | จึงลงเรือแล่นใบออกไปดู ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึงถามไปทันที | เรือนี้ไปไหนมาทอดอยู่ |
สุหรัดหรือชวามลายู | จงบอกไปให้รู้เรื่องความ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ประสันตาตอบไปไม่เข็ดขาม |
เรานี้ชาวชวาพยายาม | อุตส่าห์ข้ามมาชมเวียงชัย |
หวังจะกินข้าวเมืองมะละกา | ข้าวชวาเบื่อแล้วกินไม่ได้ |
นายเราชาวดงพงไพร | ชื่อปันหยีมีใจภักดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ขุนด่านได้ฟังถ้วนถี่ |
จึงใช้ใบกลับมาธานี | แล้วเข้าไปยังที่ศาลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงแจ้งคดี | แก่ดะหมังเสนียาสา |
ตามซึ่งข้อความที่ถามมา | ให้ทราบกิจจาทุกสิ่งไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ทั้งสองเสนาผู้ใหญ่ |
ครั้นแจ้งก็พากันคลาไคล | เจ้าไปพระโรงรจนา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึงกราบทูลระตูภูมี | บัดนี้ปันหยีโจรป่า |
ใช้ใบกำปั่นข้ามมา | เข้าทอดท่าหน้าด่านปากน้ำ |
ประมาณเรือใหญ่น้อยสักร้อยเศษ | ถามเหตุก็บอกเป็นความขำ |
มีปืนสำหรับรบมาครบลำ | ท่วงทีที่ทำเห็นชอบกล |
นัยว่าจะมาชมธานี | ร้ายดีไม่แจ้งเหตุผล |
เขาลือนามขามเดชทุกตำบล | เที่ยวประจญปล้นเมืองมามากมาย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | รายาหวาดหวั่นขวัญหาย |
จึงว่าปันหยีนี้หยาบคาย | ชิงชัยได้หลายพารา |
บัดนี้เที่ยวมาถึงเมืองเรา | จำจะเอาใจไว้ดีกว่า |
แต่งรับตามอย่างกษัตรา | จงไปเชิญขึ้นมาบัดนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนารับสั่งใส่เกศี |
ก้มเกล้ากราบงามสามที | มาสั่งตามมีบัญชาการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ให้เหล่าชาววังจัดแจง | ตกแต่งปราสาทราชฐาน |
ทอดราชอาสน์ดาดเพดาน | ผูกม่านสุวรรณบรรจง |
บ้างทำถนนหนทาง | แผ้วถางให้สะอาดกวาดผง |
ที่ไหนลุ่มทุ่มถมดินลง | บรรจงปรายโปรยโรยทราย |
ให้ชาวบ้านร้านริมถนนนั้น | จัดสรรสินค้ามาเรียงขาย |
สักหลาดตาดโหมดมากมาย | อัตลัดผ้าลายมะละกา |
บ้างขายเครื่องหีบหมากนากทอง | กระจกส่องเครื่องแก้วกะหลาป๋า |
เพชรนิลมณีมีราคา | แม่ค้านั่งขายเนืองนอง ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายมหาเสนาทั้งสอง |
ให้เกณฑ์แห่หน้าหลังตั้งกอง | แตรสังข์ฆ้องกลองมลายู |
ธงฉานธงชายปลายสะบัด | เป็นขนัดรายเรียงเคียงคู่ |
ครบถ้วนทุกหมวดตรวจดู | พร้อมหมู่โยธาแล้วคลาไคล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงบอกกะระตาหลา | ว่ารายายินดีจะมีไหน |
ให้ข้ามาเชิญพระทรงชัย | ขึ้นไปประพาสพารา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึงพระพี่เลี้ยงกะระตาหลา |
มาทูลปันหยีด้วยปรีดา | เจ้าเมืองมะละกาให้เชิญไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | มิสาระปันหยีศรีใส |
จึงว่าเราจะเข้าไปเวียงชัย | จงแต่งให้หลายอย่างต่างกัน |
ทั้งสีเสื้อสีผ้าแลธงเทียว | แดงเขียวเหลืองลายสลับคั่น |
สั่งเสร็จเสด็จจากแท่นสุวรรณ | จรจรัลไปสรงวาริน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ทรงสุคนธ์ปนปรุงกลิ่นเกลา | สนับเพลาเชิงช่อเฉิดฉิน |
ทรงภูษายกแย่งนาคิน | ฉลององค์ติดอินทรธนูเนา |
เจียระบาดตาดปักอย่างนอก | มะลิเลื้อยลายดอกฉลุเฉลา |
ทับทรวงจำหลักลายพรายเพรา | งามเงาเนาวรัตน์จำรัสเรือง |
ทองกรเก้าคู่ชมพูนุท | ประดับบุษราคัมน้ำเหลือง |
ธำมรงค์รจนาค่าเมือง | อร่ามเรืองเฟื่องห้อยพลอยเพชร |
ตาดสุวรรณพันโพกเกศา | แต่งอย่างโจรป่าปันจุเหร็จ |
ทรงอุบะเพชรพรายกระจายเม็ด | แล้วเสด็จมาทรงอัสดร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
ร่าย
๏ พรั่งพร้อมโยธากิดาหยัน | ถวายบังคมคัลอยู่สลอน |
เสียงประโคมเซ็งแซ่แตรงอน | ให้เคลื่อนพลนิกรเดินทาง ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
โทน
๏ ม้าเอยม้าต้น | ผ่านดำขำขนสองอย่าง |
อกผายท้ายพีเป็นมะปราง | ชันหูชูหางอย่างม้ายนต์ |
ยกเท้าก้าวสอดขอดข้อ | หกมุ่นม้วนคอย่อย่น |
ป่วนปั่นหันคว้างมากลางพล | เริงรนร่านร้องลำพองมา |
อนุชาขี่ม้าที่นั่งรอง | ม้าพี่เลี้ยงเคียงสองซ้ายขวา |
ม้าระเด่นเต้นตามรัถยา | กิดาหยันเสนาก็ตามไป |
สนั่นเสียงฆ้องกลองเซ็งแซ่ | ทหารแห่ถือทวนธงไสว |
สารวัดรัดเร่งพลไกร | เข้าในนครมะละกา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
ร่าย
๏ บัดนั้น | หญิงชายชาวเมืองมาหนักหนา |
นั่งแน่นสองข้างมรคา | ตั้งหน้าชะแง้แลดู |
บ้างกระซิบถามไถ่กันไปพลาง | ชวารูปร่างอย่างไรอยู่ |
บ้างแย้มบานหน้าต่างเปิดประตู | คอยดูตามทางคลาไคล |
เห็นพลแห่หน้าในตาริ้ว | ทวนทองธงทิวปลิวไสว |
สีเสื้อสลับจับกันไป | ดังสีรุ้งที่ในนภา |
เห็นปันหยีขี่ม้ามากลางพล | งามจริงยิ่งคนในใต้หล้า |
เหมือนหนึ่งเทวัญในชั้นฟ้า | มิใช่โจรป่าพนาลี |
ชะรอยกษัตริย์สุริย์วงศ์ | หากแกล้งแปลงองค์เป็นปันหยี |
บรรดาสาวสาวชาวธานี | ยินดีปรีดาด้วยรูปทรง |
บ้างชม้อนช้อยชายหางตา | เสนหาอาลัยใหลหลง |
ทำเอียงอายชายสไบเลื่อนลง | ต้องจิตพิศวงวิญญาณ์ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | มิสาระปันหยีสุกาหรา |
ชำเลืองเนตรดูชาวพารา | สบตาก็ยิ้มพริ้มพราย |
เห็นหน้าไหนดีเป็นทีท่วง | ก็หน่วงม้าเต้นเขม้นหมาย |
บุ้ยบอกพี่เลี้ยงแล้วภิปราย | มลายูแยบคายชอบกล |
ตรัสพลางกะระตะอาชา | ไว้หน้าเงยงามมาตามถนน |
ถึงทวารในไพชยนต์ | ก็ลงจากม้าต้นไคลคลา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ เข้าในพระโรงรูจี | เห็นเสนีเฝ้าแหนแน่นหนา |
สดองค์ลงพลันไม่วันทา | นั่งน้อมกายาพอเป็นที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระตูผู้ผ่านกรุงศรี |
ครั้นเห็นปันหยีก็ยินดี | จึงมีพจนารถประภาษไป |
เชิญขึ้นมานั่งบัลลังก์อาสน์ | บิตุราชจัดแจงแต่งให้ |
มาเถิดเจ้ามาอย่าเกรงใจ | พ่อไม่มีจิตคิดฉันทา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ปันหยีกล่าวแกล้งแสร้งว่า |
จะร่วมอาสน์กับราชรายา | กลัวตุหลาปาปาจะเกิดมี |
ข้านี้ชาวดงพงไพร | ไม่พอใจที่สูงศักดิ์ศรี |
อันรายาโปรดมาทั้งนี้ | พระคุณพ้นที่จะพรรณนา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระตูได้ฟังก็หรรษา |
ไพเราะเพราะรสวาจา | ยิ่นแสนเสนหาเป็นพ้นคิด |
จึงเลื่อนองค์ลงจากราชอาสน์ | ตรัสประภาษโดยความสุจริต |
เจ้ามาไยมิใช่พาณิช | มีกิจสิ่งใดจึงไคลคลา |
จะมาเมืองนี้หรือจะไปไหน | พอใกล้จึงแวะขึ้นมาหา |
อนึ่งทางกลางทะเลแล่นมา | กันดารโดยมรคาสาชล |
พวกพลมนตรียังพร้อมเพรียง | หรือเสบียงอาหารขัดสน |
หรือขอบเขตพระนครร้อนรน | จลาจลบ้านเมืองเคืองใจ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ปันหยียิ้มพลางแถลงไข |
เมื่อมาท่าทางชลาลัย | ใช้ใบได้ลมตลอดมา |
ด้วยมีใจจงรักภักดี | ทั้งไพร่พลมนตรีก็ชื่นหน้า |
ข้าอยู่ไพรไม่มีพารา | จึงเที่ยวทางนาวาให้สบาย |
จะใคร่เห็นยศอย่างต่างประเทศ | ชมนิเวศน์เวียงวังทั้งหลาย |
ไม่มีธุระเรื่องเคืองระคาย | ชมแล้วจะผันผายคืนไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | รายาได้ฟังก็สงสัย |
วาจาจริตผิดชาวไพร | จะเป็นในสุริย์วงศ์กษัตรา |
ชะรอยเที่ยวมาหาอิสตรี | คิดว่าลูกเรามีกระมังหนา |
แล้วจึงกล่าวรสพจนา | ดูราปันหยีมียศ |
ตัวพ่อนับวันจะอันตราย | วางวายชีวิตปลิดปลด |
ไร้ราชบุตรีโอรส | จะสืบสายสูญหมดไม่มีใคร |
เชิญเจ้าครองครองพารา | ไอศูรย์สวรรยาจะยกให้ |
เป็นเอกในเศวตฉัตรชัย | ให้เย็นใจไพร่พลโยธา |
จะได้พึ่งเดชาอานุภาพ | ปราบปรามปัจจามิตรทุกทิศา |
เรานี้จะไปปะตาปา | ทรงพรตอยู่ป่าพนาลี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมยงองค์มิสาระปันหยี |
จึงว่าข้าเคยอยู่แต่พงพี | อันธานีไม่คู่ควรครอง |
ซึ่งจะให้ว่าการพารา | จะเสียใจไพร่ฟ้าหม่นหมอง |
โภไคยไอศูรย์ไม่ปูนปอง | จะเที่ยวท่องสัญจรดอนดง ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | รายายิ่งคิดพิศวง |
จะวอนว่าเท่าไรด้วยใจจง | ก็ไม่ปลงลงตามบัญชาการ |
พระจึงตรัสสั่งเสนา | ให้จัดแจงโอชากระยาหาร |
มาเลี้ยงปันหยีแลกุมาร | ทั้งโยธาบริวารบัดนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กรมวังรับสั่งใส่เกศี |
มาบอกวิเสทพลันทันที | ตามมีพระราชบัญชาการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พวกวิเสทสับสนอลหม่าน |
บ้างจัดแจงเจียนตองรองจาน | เทียบของคาวหวานครบครัน |
แล้วยกไปเลี้ยงโยธา | บ้างเลี้ยงเหล่าเสนากิดาหยัน |
บ้างยกเครื่องเสวยปันหยีนั้น | มาตั้งในพระโรงคัลทันใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | เจ้ากรุงมะละกาเป็นใหญ่ |
จึงตรัสแก่ปันหยีชาญชัย | เชิญให้เสวยโภชนา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | มิสาระปันหยีสุกาหรา |
กับระเด่นสังคามาระตา | เสร็จเสวยโภชนาสาลี |
แล้วลาระตูภูวไนย | มิได้ประณตบทศรี |
สององค์มาทรงพาชี | เสนีแห่แหนแน่นมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เดินทางมากลางนคเรศ | พระชายเนตรชำเลืองแลหา |
พระกรรณตรับฟังข่าวบุษบา | จนมาถึงที่ท่าสำเภา |
ลงจากอาชาม้าที่นั่ง | มายังหลงหนึ่งหรัดโฉมเฉลา |
อุ้มนางขึ้นวางบนเพลา | ชมพลางสร้อยเศร้าวิญญาณ์ |
ยิ่งคะนึงถึงองค์อัคเรศ | อาดูรพูนเทวษถวิลหา |
ทอดถอนฤทัยไปมา | จนจวนเวลาราตรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงนางหวันยิหวาสาวศรี |
เป็นบุตรตำมะหงงเสนี | เคหาอยู่ที่ทางไป |
ได้เห็นปันหยีทั้งไปมา | กัลยาประดิพัทธ์พิสมัย |
ให้แสนเสนหาอาลัย | รัญจวนครวญใคร่เป็นไมตรี |
นอนนั่งตั้งแต่ตะลึงหลง | ในรูปทรงมิสาระปันหยี |
ครั้นค่ำย่ำฆ้องก็จรลี | มาอาบน้ำขัดสีกายา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ชมตลาด
๏ ทาแป้งแต่งกายอายอบ | จันทน์ปรุงฟุ้งตลบกลิ่นบุหงา |
ลูบไล้น้ำดอกไม้เทศทา | ส่องกระจกผัดหน้านวลผจง |
กันกวดกระหมวดมวยรวยรับ | สีขี้ผึ้งเสร็จสรรพกันขนง |
สะอิ้งเอวพรรณรายสายสอดวง | ห้อยอุบะตันหยงพู่พวง |
นุ่งตานีอย่างนอกดอกไหม | ห่มริ้วทองช่องไผ่พื้นม่วง |
สอดสีซับในหงอนไก่ดวง | ทีท่วงไว้วางเหมือนนางใน |
ใส่แหวนรังแตนเพชรเม็ดแตง | แวววับจับแสงแขไข |
ต่างหูห้อยพลอยเพชรอำไพ | งามวิไลพิศเพียงขวัญตา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ ครั้นเสร็จพอเวลาบิดาหลับ | ซุบซิบกันกับทาสา |
ลอบลงจากเรือนแล้วไคลคลา | บ่าวถือของสลาไปตามนาย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ มายังตีนท่าหน้าบ้าน | เดินตามสะพานผันผาย |
ลงเรือน้อยค่อยเลื่อนเคลื่อนคลาย | ทาสีถือท้ายพายไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โล้
๏ ครั้นถึงนาวาปันหยี | จึงประทับเข้าที่กำปั่นใหญ่ |
แล้วคิดขวยเขินสะเทินใจ | เอาสไบบังแสงอัคคี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ประสันตาแลเห็นนางสาวศรี |
ก็รู้แจ้งใจที่ในที | จึงมาทูลปันหยีด้วยพลัน |
ข้าเห็นสตรีขี่เรือน้อย | มาจอดลอยคอยอยู่ข้างกำปั่น |
ใครกระไรไว้บ้างเมื่อกลางวัน | จึงรักใคร่ผูกพันตามมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ปันหยียิ้มพลางทางว่า |
รำคาญวานไปบอกอนุชา | จงรับมาอย่าให้เปล่าไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ประสันตารีบมาหาช้าไม่ |
ทูลองค์อนุชาชาญชัย | ลาภใหญ่มาถึงพระภูมี |
พระเชษฐาโปรดปรานประทานนาง | รูปร่างอย่างไรไม่รู้ที่ |
มาจอดคอยลอยเรืออยู่ตรงนี้ | จงจรลีไปรับนงเยาว์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สังคามาระตาโฉมเฉลา |
จึงว่าภาษาไม่เหมือนเรา | ข้างเขาเจรจามลายู |
จะพาทีด้วยนางอย่างไร | พรั่นใจให้คิดอดสู |
จะพูดมาอย่างไรก็ไม่รู้ | เอ็นดูจงขับให้กลับใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ประสันตาตอบตามอัชฌาสัย |
ถึงว่าภาษามิเข้าใจ | พูดมิได้ก็อย่าเจรจา |
อาหารประทานมาถึงปาก | ทำลำบากคนใช้ไยหนักหนา |
ซื้อยังขอแถมเหน็บแนมมา | ได้เปล่ายังว่ามิรับไว้ |
แต่ให้รบเร้าเฝ้าเตือน | ทำบิดเบือนเหมือนเข้าหอใหม่ |
วิบากกรรมแล้วจำแข็งใจ | ได้เช่นก็จะย่ามตามรอย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สังคามาระตาตอบถ้อย |
จะอุตส่าห์แข็งใจไปสักน้อย | ยิ้มพลางคลาดคล้อยดำเนินไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ชาตรี
๏ ถึงนาวาน้อยก็ค่อยย่าง | นั่งลงใกล้นางแล้วปราศรัย |
สาวน้อยถอยหนีพี่ไย | จะเล่าให้เจ้าฟังแต่หลังมา |
พี่สู้ข้ามคงคามหารณพ | หวังจะพบนวลนางต่างภาษา |
โฉมงามทรามสวาทเพียงบาดตา | นางในเมืองชวาไม่เหมือนน้อง |
พี่จะขอฝากฝังไมตรีจิต | อย่าคิดเคืองระคางหมางหมอง |
จะอยู่ไยที่ในสัดจอง | ขอเชิญดำเนินน้องไปห้องใน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | หวันยิหวานารีศรีใส |
ฟังพูดภาษาชวาไป | ไม่เข้าใจในรสวาจา |
นางสะทกสะเทินเมินเมียง | อายเอียงก้มพักตร์กินสลา |
ชายชำเลืองเนตรรับจับตา | เยื้อนยิ้มในหน้าไม่พาที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
โลม
๏ ดวงเอยดวงสมร | งามงอนจริตติดใจพี่ |
สาวสวรรค์ขวัญตาจงปรานี | อย่าให้เสียทีพี่ลงมา |
ว่าไรก็ไม่ตอบถ้อย | ทำแต่ชม้อยเมียงหน้า |
พระฉวยฉุดยุดนางกัลยา | ขึ้นมายังที่ห้องใน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ นั่งแอบแนบชิดชมนาง | พระพลางกล่าวแกล้งแถลงไข |
วันนี้เห็นน้องต้องฤทัย | นึกอยู่ว่าจะใคร่เป็นไมตรี |
พี่ผูกใจจึงไปดลจิตเจ้า | เผอิญให้ขวัญข้าวมาถึงนี่ |
จะขืนขัดตัดใจไปไยมี | สนทนาพาทีด้วยพี่ชาย |
อันชวากับนางมลายู | พอจะรู้ภาษากันง่ายง่าย |
อย่าทำขวยเขินสะเทินอาย | เจ้าสายสุดที่รักจงเมตตา |
ว่าพลางตระโบมโลมเล้า | สัพยอกหยอกเย้าหรรษา |
เชยคางชมปรางปรีดา | กลิ่นมาลาฟุ้งจรุงใจ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ น่าเอยน่าสรวล | มาทำลามลวนด่วนได้ |
วางข้าอย่ายุดมือไว้ | ว่าไรไม่รู้ภาษากัน |
นางสะบิ้งสะบัดปัดกร | งามงอนจริตบิดผัน |
ทำชม้อยชายตาเมียงมัน | เกียดกันด้วยกลมารยา |
อย่ามายั่วเย้าเซ้าซี้ | เป็นน่าบัดสีหนักหนา |
พลั้งจิตผิดไปได้ลงมา | เห็นนาวาแล้วจะลาไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
โลม
๏ น้องเอยน้องน่ารัก | ทำเหมือนไม่สมัครพิสมัย |
หรือผิดภาษาน้องมิต้องใจ | เสนหาอาลัยเหมือนกัน |
พี่จะสอนภาษาชวาให้ | แจ้งใจเจ้าแล้วจึงผายผัน |
จะทำให้เขินค้างอยู่กลางคัน | ยังมิทันที่จะได้เป็นไมตรี |
ว่าพลางจุมพิตชิดชวน | อย่าหยิกข่วนหนักนักผลักมือพี่ |
พระสัมผัสพุ่มพวงดวงมาลี | หยอกเย้าเซ้าซี้ด้วยปรีดา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ น้อยเอยน้อยใจ | ทำเล่นเห็นไม่รู้ภาษา |
ก่นแต่เลียมลอดสอดคว้า | อนิจจาไม่คิดเกรงใจ |
น้องรักน้องอุตส่าห์มาถึงนี่ | จะเมตตาปรานีก็หาไม่ |
อัปยศอดสูเป็นพ้นไป | นางค้อนควักผลักไสไปมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
โลม
๏ ทรามเอยทรามสงวน | งามกระบวนยวนยั่วเสนหา |
พี่รักเจ้าเท่าเทียมชีวา | ไม่ประจักษ์วาจาก็จำจน |
อันท่วงทีกิริยามลายู | พึ่งจะรู้แยบคายสายสน |
ว่าพลางเหน็บแนมแกมกล | คลึงเคล้าเสาวคนธ์มณฑาทอง |
พระอิงแอบแนบเนื้อนวลนาง | เชยปรางปรีดิ์เปรมเกษมสอง |
รสรักประจักษ์ใจในทำนอง | ค่อยประคองเคียงชมภิรมย์ใจ |
อัศจรรย์บันดาลพายุพัด | คลื่นซัดสาครกระฉ่อนไหว |
กำปั่นจอดทอดท่าชลาลัย | ระลอกใหญ่ฟัดฝืนคลื่นแคลง |
มัจฉาชมชลวนว่าย | โบกบ่ายเข้าบังฝั่งแฝง |
นาคราชผาดผุดพลิกแพลง | สำแดงเดชาวราฤทธิ์ |
ทั้งสองเกษมสันต์หรรษา | ดังอำมฤตฟ้ายาจิต |
คลึงเคล้าเฝ้าแอบแนบชิด | แสนสนิทชิดชมภิรมย์ใจ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ โลม
๏ เมื่อนั้น | หวันยิหวานารีศรีใส |
วันทาแล้วลาคลาไคล | กลับไปยังบ้านบิดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ เมื่อนั้น | มิสาระปันหยีสุกาหรา |
ครั้นอรุณรุ่งแสงสุริยา | ก็ใช้ใบเภตรากลับไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โล้
๏ ครั้นมาถึงท่าบาลี | พรั่งพร้อมโยธีทัพใหญ่ |
จึงขึ้นบกยกพลคลาไคล | เข้าในป่าระหงดงดอน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
ชมดง
๏ เดินเอยเดินทาง | ตามหว่างแนวเนินสิงขร |
พฤกษาสองข้างที่ทางจร | บ้างระบัดใบอ่อนออกผกา |
ปริงปรางลางต้นผลดก | คณานกจับจิกเป็นภักษา |
ลดาวัลย์พันพุ่มอัมพา | สาวหยุดย้อยระย้ายมโดย |
มะสังรังเรียงเคียงขานาง | ยูงยางพะยอมหอมโหย |
วายุพัดสะบัดโบกโบย | เกสรร่วงโรยโปรยปราย |
หอมกลิ่นถวิลถึงบุษบา | อนิจจาจำร้างเพราะนางหาย |
สร้อยเศร้าเปล่าเปลี่ยวอยู่เดียวดาย | พลางเร่งพลนิกายจรจรัล ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
ร่าย
๏ ร้อนแรมมาในอรัญวา | ก็ถึงภูผาปัจจาหงัน |
แลเห็นอาศรมพระนักธรรม์ | ให้หยุดพลขันธ์อยู่ชายไพร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ พระจึ่งสั่งพี่เลี้ยงประสันตา | ให้เร่งรัดเสนาน้อยใหญ่ |
ตั้งที่ประทับพลับพลาชัย | แทบใกล้แนวเนินคิรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ประสันตารับสั่งใส่เกศี |
ออกมาเกณฑ์กันทันที | ตามมีพระราชบัญชา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนานายไพร่พร้อมหน้า |
บ้างถางที่ทุบปราบไปมา | ตัดไม้เกี่ยวคาวุ่นไป |
ปลูกสุวรรณพลับพลาสิบห้าห้อง | ทำท้องพระโรงขวางกว้างใหญ่ |
มุขลดหลังคาพาไล | ที่ข้างหน้าข้างในครบครัน |
แล้วเกณฑ์กองร้อยคอยเหตุการณ์ | ทุกด้านเดินตรวจกวดขัน |
นั่งยามตามเพลิงผลัดกัน | รายรอบสุวรรณพลับพลา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | มิสาระปันหยีสุกาหรา |
จึงเสด็จยุรยาตรคลาดคลา | ขึ้นยังพลับพลาทันใด ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ช้า
๏ ทอดองค์ลงกับที่บรรจถรณ์ | เร่าร้อนรัญจวนหวนไห้ |
คิดถึงบุษบายิ่งอาลัย | เที่ยวหาแห่งใดไม่พานพบ |
พระแน่นอนถอนจิตเจ็บใจ | ทั้งบกเรือเหนือใต้ก็ไปจบ |
จนสิ้นแดนมะละกามหารณพ | ไม่พานพบพนิดาดวงจันทร์ |
หรือชะรอยเทวาพาน้อง | ไปสู่ห้องวิมานเมืองสวรรค์ |
หรือสิงสัตว์พยัคฆาในอารัญ | พาไปขบคั้นให้บรรลัย |
จึงสูญสิ้นชื่อระบือนาม | จะมีใครบอกความก็หาไม่ |
แม้นตายก็จะตายตามไป | ไม่อยู่ให้หนักพื้นพสุธา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ ครวญพลางพระทางคะนึงใน | ทำไฉนจะพบดวงยิหวา |
อย่าเลยจะไปปะตาปา | สำรวมจิตรักษาอารมณ์ |
เดชะบุญบวชเคร่งบำเพ็ญฌาน | จะบันดาลให้พบประสบสม |
พระอาวรณ์ร้อนใจเกรียมตรม | จนบรรทมหลับไปกับไสยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ ครั้นรุ่งรางสร่างแสงอโณทัย | ภูวไนยแต่งองค์ทรงภูษา |
พร้อมหมู่กิดาหยันเสนา | เสด็จมาอาศรมพระมุนี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงจึงเข้าวันทา | พระมหาดาบสฤาษี |
แล้วถวายธูปเทียนมาลี | ด้วยใจยินดีปรีดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อายันผู้ทรงสิกขา |
แจ้งการด้วยญาณปรีชา | จึงมีวาจาถามไป |
ซึ่งเจ้าจากสถานบ้านเมือง | ระคายเคืองข้องเข็ญเป็นไฉน |
หรือวิบัติพลัดพรากสิ่งใด | จึงเที่ยวมาในพนาลี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | โฉมยงองค์มิสาระปันหยี |
จึงสนองวาจาพระมุนี | ข้านี้ไม่สบายวิญญาณ์ |
จะใคร่ปะตาปาเป็นดาบส | สร้างพรตพรหมจรรย์ให้หรรษา |
พระนักสิทธ์จงคิดเมตตา | อย่าให้สูญศรัทธาที่จงใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อายันยิ้มพลางแถลงไข |
แรกรุ่นรูปร่างอย่างนี้ไซร้ | จะปะตาปาได้สักกี่วัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ปันหยีเพราเพริศเฉิดฉัน |
ยิ้มพลางทางดูตากัน | ต่างถวายอภิวันท์แล้วออกมา |
จึงนุ่งคากรองครองเปลือกไม้ | ตามวิสัยฤาษีชีป่า |
พระอาจารย์ให้นามสมญา | ชื่อกัศมาหราอายัน |
สังคามาระตานั้นก็ทรงพรต | ชื่อดาบสยาหยังรังสรรค์ |
นุ่งหนังเสือลายพรายพรรณ | จุณจันทน์เจิมพักตร์เพียงโยคี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | บรรดาระเด่นทุกกรุงศรี |
ทั้งพระพี่เลี้ยงผู้ภักดี | ก็บวชตามภูมีด้วยปรีดา |
แต่ประสันตาคนคะนอง | ว่าจะลองบวชตามวาสนา |
จะแข็งใจสำรวมวาจา | ไปกว่าจะสิ้นเคราะห์ร้าย |
อันพวกเสนากิดาหยัน | ต่างบวชด้วยกันมากหลาย |
เอาผ้าเปลือกไม้เข้าพันกาย | แล้วถวายวันทาพระอาจารย์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระมุนีมีพรตห้าวหาญ |
จึงสอนสั่งให้นั่งจำเริญฌาน | จงอุตส่าห์ทรมานระงับใจ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | บรรดาอายันบวชใหม่ |
รับคำอำลาแล้วคลาไคล | ต่างไปกุฎีที่สำราญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ช้า
๏ อายันปันหยีสำรวมจิต | พยายามตามกิจอธิษฐาน |
ข้าได้ปะตาปาสมาทาน | เดชะฌานแผ่ผลภาวนา |
ขอให้ได้ดังจิตพิศวาส | ร้อนอาสน์องค์ปะตาระกาหลา |
ไปดลใจนงนุชบุษบา | ให้มาประสบพบพาน |
สถิตแห่งหนตำบลใด | ทุกนิเวศน์เวียงชัยราชฐาน |
ถึงจะอยู่กระยาหงันชั้นวิมาน | จงบันดาลให้ได้คืนมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ ครั้นเสร็จตั้งจิตพิษฐาน | มัสการกราบงามสามท่า |
เข้านั่งบำเพ็ญภาวนา | ด้วยใจศรัทธายินดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
ช้าปี่
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงองค์อุณากรรณเรืองศรี |
แต่พลัดพรากจากระเด่นมนตรี | มาอยู่บุรีประมอตัน |
เมื่อวันปันหยีปะตาปา | ให้เร่าร้อนอุราโศกศัลย์ |
แสนคะนึงถึงองค์พระทรงธรรม์ | ครวญคร่ำรำพันโศกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
โอ้
๏ โอว่าปานนี้พระพี่เจ้า | จะโศกเศร้ารัญจวนหวนหา |
ตั้งแต่ไปแก้สงสัยมา | ไม่เห็นขนิษฐาในถ้ำทอง |
พระจะแสนโศกสร้อยละห้อยไห้ | ร้อนราชหฤทัยหม่นหมอง |
จะดั้นด้นค้นคว้าเที่ยวหาน้อง | ทุกประเทศเถื่อนท้องพนาลี |
อกเอ๋ยทำไฉนจะได้รู้ | ว่าน้องอยู่ประมอตันกรุงศรี |
แม้นใครทูลแถลงแจ้งคดี | เห็นทีจะรีบมาด้วยอาลัย |
หรือสุดคิดที่จะติดตามหา | จะคืนสมจินตะหราหรือไฉน |
ทิ้งน้องไว้เดียวเปลี่ยวใจ | ว่าพลางร่ำไห้ไปมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
ยานี
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงองค์ปะตาระกาหลา |
สถิตยังกระยาหงันชั้นฟ้า | คะนึงถึงนัดดาดวงใจ |
กูแกล้งพรากจากกันก็ช้านาน | ต่างทุกข์ทรมานหม่นไหม้ |
อุณากรรณโศกาอาลัย | อยู่ในประมอตันพารา |
อย่าเลยจะให้พานพบ | ประสบกับอิเหนาเชษฐา |
คิดแล้วสำแดงแผลงฤทธา | เหาะมาประมอตันทันที ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ กลม
ร่าย
๏ ครั้นถึงจึงเข้าในไพชยนต์ | บอกยุบลอุณากรรณเรืองศรี |
แถลงเล่ากิจจาด้วยปรานี | บัดนี้อิเหนากุเรปัน |
ตั้งแต่มะงุมมะงาหรา | โศกาวิโยคโศกศัลย์ |
คิดถึงคะนึงนางไม่ว่างวัน | เที่ยวทุกขอบขัณฑเสมา |
เมื่อเจ้ามานิ่งนอนใจ | ทำไฉนจะพบพระเชษฐา |
แม้นยกออกเดินอรัญวา | ไปทิศบูรพาจะพบพาน |
ว่าแล้วองค์ท้าวเทเวศร์ | สำแดงเดชเดชาศักดาหาญ |
คลับคล้ายหายไปมิทันนาน | กลับคืนสถานพิมานบน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | อุณากรรณครั้นแจ้งเหตุผล |
จึงเรียกสองพี่เลี้ยงนฤมล | มาบอกยุบลด้วยใจภักดิ์ |
บัดนี้องค์ปะตาระกาหลา | ลงมาเล่าแถลงแจ้งประจักษ์ |
บอกว่าพระโฉมยงทรงลักษณ์ | เที่ยวตามน้องรักทุกพารา |
ให้เรานี้กรีพลออกเดินไพร | จึ่งจะได้พบองค์พระเชษฐา |
เล่าพลางทางทรงโศกา | กัลยาไม่เป็นสมประดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
๏ บัดนั้น | พี่เลี้ยงเล้าโลมนางโฉมศรี |
องค์พระอัยกาปรานี | มาช่วยชี้บอกเหตุให้เรา |
ที่นี้จะได้พบพระเชษฐา | แม่อย่าวิโยคโศกเศร้า |
ขอเชิญโฉมยงนงเยาว์ | เสด็จขึ้นไปเฝ้าแล้วทูลลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อุณากรรรณกระหมันวิยาหยา |
ฟังสนองต้องตามวิญญาณ์ | ยินดีปรีดาเป็นพ้นไป |
ครั้นรุ่งรางสร่างแสงสุริยง | ก็แต่งองค์ทรงเครื่องแจ่มใส |
ชวนสองพี่เลี้ยงคลาไคล | ขึ้นไปเฝ้าองค์พระทรงธรรม์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลงช้า
ช้า
๏ เมื่อนั้น | เจ้ากรุงประมอตันเขตขัณฑ์ |
สถิตเหนือแท่นแก้วแพรวพรรณ | ครั้นเห็นอุณากรรณขึ้นมา |
จงมีมธุรสพจนารถ | ตรัสประภาษชมโฉมโอรสา |
งามทรงวงพักตร์ลักขณา | โสภาผิวเนื้อนวลละออง |
อันบุรุษสุดสิ้นในดินแดน | จะหาไหนไม่แม้นเสมอสอง |
พ่อจะมอบไอศูรย์ปูนปอง | ให้ครอบครองสวรรยาราชัย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | อุณากรรณกราบก้มบังคมไหว้ |
ยิ้มพลางทางทูลสนองไป | ซึ่งภูวไนยโปรดปรานี |
จะให้ครองนคเรศเขตขัณฑ์ | พระคุณนั้นจะรับใส่เกศี |
แต่จะขอกราบลาฝ่าธุลี | ไปเที่ยวหาอิสตรีที่พึงใจ |
ได้แล้วจึงจะกลับคืนมา | อยู่รองบาทาคุ้มตักษัย |
พระจงเมตตาให้คลาไคล | ลูกไปไม่ช้าจะมาพลัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระผู้ผ่านโภไคยไอศวรรย์ |
ได้ฟังมิสาอุณากรรณ | ทรงธรรม์จึงมีบัญชาการ |
ลูกรักของพ่อผู้ร่วมใจ | จะไปไยให้ยากจากสถาน |
มรคาท่าทางก็กันดาร | จงอยู่ครองศฤงคารสำราญใจ |
พ่อจะให้ไปขอธิดา | กรุงกษัตริย์นานาน้อยใหญ่ |
ให้แต่งมาส่งถึงกรุงไกร | ก็จะได้ดังจิตที่คิดปอง ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อุณากรรมก้มเกล้าทูลสนอง |
ซึ่งทรงพระดำริตริตรอง | จะขอสู่คู่ครองให้ลูกยา |
เกลือกจะมิชอบจิตที่คิดไว้ | ถึงกันดารเดินไพรก็ไม่ว่า |
ขอกราบบาทบิตุราชบังคมลา | ไปเที่ยวหาแต่ตามอำเภอใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระตูประมอตันเป็นใหญ่ |
ทั้งประไหมสุหรีมีอาลัย | จะทัดทานเท่าไรก็ไม่ฟัง |
จนจิตจึงกล่าวพจนารถ | อนุญาตให้ไปดังใจหวัง |
แสนสวาทราชบุตรสุดกำลัง | ลูบหลังลูบหน้าด้วยอาวรณ์ |
สองกษัตริย์อำนวยอวยชัย | จงไปเป็นสุขสโมสร |
แม้นได้คู่สู่สมสยมพร | จงกลับคืนพระนครอย่าอยู่ช้า |
ว่าพลางทางสั่งตำมะหงง | ให้ไปด้วยองค์โอรสา |
เป็นผู้ใหญ่ต่างใจต่างตา | อย่าให้พระลูกยามีเหตุการณ์ |
อันโยธีที่จะไปในกระบวน | เลือกล้วนเข้มแข็งกำแหงหาญ |
ทั้งม้ารถคชไกรชัยชาญ | เร่งรัดจัดการให้พร้อมไว้ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ตำมะหงงเสนาผู้ใหญ่ |
รับสั่งบังคมแล้วคลาไคล | ออกไปจากท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ยานี
๏ เร่งรัดจัดพลทวยหาญ | ล้วนชำนาญการณรงค์แข็งขัน |
ขุนช้างผูกช้างยืนยัน | พลายพังดั้งกันล้วนตัวดี |
ขุนม้าผูกม้าอาชาไนย | ทหารใส่เสื้อดำประจำขี่ |
ขุนรถเร่งเทียมพาชี | สารถีถือเขนเขียนทอง |
ขุนพลเร่งรัดจัดพล | เคยผจญข้าศึกสยบสยอง |
ทัพหน้าทัพหลังให้ตั้งกอง | คับคั่งทั้งท้องสนามใน |
บ้างถืออาวุธหอกดาบ | กำซาบทวนธนูหางไก่ |
เตรียมทั้งรถแก้วแววไว | มาประทับเทียบไว้กับเกยลา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | อุณากรรณกระหมันวิยาหยา |
อภิวาทสองราชกษัตรา | แล้วลามายังปราสาทชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงจึงเข้าในห้อง | บรรทมเหนือแท่นทองผ่องใส |
ตรึกตราอยู่ที่จะคลาไคล | จนหลับไปในราษราตรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ ครั้นบรรทมตื่นฟื้นองค์ | พระสุริยงเรืองรองผ่องศรี |
เสด็จจากแท่นทองจรลี | มาเข้าที่สระสรงสาคร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ทรงสุคนธ์ปนทองศรีประเทือง | ให้หนุนเนื้อเรื่อเรืองเหลืองอ่อน |
ผัดพักตร์ผิวพรรณดังจันทร | เสยเส้นผมงอนงามปลาย |
ทรงภูษาไว้วางหางหงส์ | พี่เลี้ยงช่วยบรรจงโจงถวาย |
ฉลององค์โหมดตองทองพราย | ห้อยหน้าริ้วรายดอกดวง |
เจียระบาดตาดติดครุยทอง | ซ่าโบะกรองช่องไผ่พื้นม่วง |
สังวาลแววแก้วประดับทับทรวง | ทองกรกุดั่นดวงจินดา |
ทับทิมธำมรงค์ทรงเบื้องซ้าย | แพรวพรายเพชรรัตน์พระหัตถ์ขวา |
ทรงห้อยสร้อยสนจำปา | เหน็บกริชเทวาแล้วคลาไคล ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
ร่าย
๏ มายังเกยรัตน์รูจี | เสนีกราบก้มบังคมไหว้ |
เสด็จทรงรถแก้วแววไว | ให้เคลื่อนพลไกรจรจรัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
โทน
๏ รถเอยรถทรง | ดุมวงเวียนเฉวียนฉวัดผัดผัน |
กระหนกกระหนาบกาบแก้วแพรวพรรณ | ธงสุวรรณปักลายงอนงาม |
เทียมด้วยอาชาพลาหก | ผาดผกว่องไวในสนาม |
ทหารแห่ซ้ายขวาอาสาจาม | เครื่องสูงแทรกตามตาริ้วเรียง |
ธงชายปลายปลิวเป็นทิวถ้อง | ฆ้องกลองแตรสังข์ประดังเสียง |
ช้างดั้งช้างกันน้ำมันเมียง | ม้าแซงแข่งเคียงเป็นคู่ไป |
ตำมะหงงเสนีขี่อาชา | คุมกองทัพหน้าเป็นนายใหญ่ |
เร่งรีบพหลพลไกร | เข้าในพนมพนาวา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
ชมดง
๏ เดินทางพลางคิดพิศวง | ให้คะนึงถึงองค์พระเชษฐา |
แกล้งฝืนสมประดีทำปรีดา | ชมพรรณพฤกษาในอารัญ |
บุหรงร้องก้องดงส่งเสียง | บ้างจับไม้ม่ายเมียงผินผัน |
จากพรากจับเจ่าเหงางัน | ถวิลวันพระพรากจากไป |
แอ่นเคล้าเคล้าเคียงเรียงคู่ | ร่วมภิรมย์สมสู่ตามวิสัย |
ให้ขวยเขินเมินพักตร์ละอายใจ | เชือนชมมิ่งไม้นานา |
สาวหยุดยมโดยลำดวนดง | ลมส่งหอมซาบนาสา |
เหมือนกลิ่นซ่าโบะพระพี่ยา | ซึ่งเปลี่ยนไว้เมื่อลาไปธานี |
ยิ่งสะท้องถอนใจอาลัยหลง | กันแสงทรงโศกเศร้าหมองศรี |
ให้รีบรถคชพลพาชี | จรลีไปตามมรคา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
ร่าย
๏ ครั้นถึงแดนพาราปะตาหรำ | มีละหานธารน้ำที่เชิงผา |
จึงสั่งตำมะหงงเสนา | ให้ตั้งพลับพลาทันใด ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ตำมะหงงรับสั่งบังคมไหว้ |
มาเร่งพหลพลไกร | ให้ปลูกพลับพลาชัยที่ใกล้ธาร |
ตั้งค่ายรายป้อมล้อมวง | แล้วปลงม้ารถคชสาร |
เกณฑ์กองป้องกันภัยพาล | นายทหารสี่หมวดให้ตรวจตรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อุณากรรณกระหมันวิยาหยา |
เสด็จจากรถทรงอลงการ์ | ขึ้นสู่พลับพลาพนาลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | ขุนด่านปะตาหรำกรุงศรี |
ตั้งกองป้องกันไพรี | อยู่ที่ทางร่วมมรคา |
ได้ยินเสียงม้ารถคชไกร | ก็สำคัญมั่นใจว่าโจรป่า |
ร้องเรียกพวกพลกล่นเกลื่อนมา | แต่ล้วนแกล้วกล้าในการยุทธ์ |
นายไพร่พร้อมจิตไม่คิดกลัว | จัดแจงแต่งตัวอุตลุด |
จับปืนกำซาบคาบชุด | ถืออาวุธถ้วนหน้าแล้วคลาไคล ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ กราวเขน
๏ ครั้นถึงกองทัพชัยที่ใกล้ธาร | ชาวด่านโห่สนั่นหวั่นไหว |
พร้อมหน้าประดากันเข้าไป | ระดมยิงปืนไฟเป็นโกลา |
บ้างหน่วงน้าวเกาทัณฑ์ลั่นธนู | บ้างร่ายรำหอกคู่เข้าหน้า |
หมายมุ่งพุ่งตรงตรวยมา | จะเข่นฆ่ากองทัพให้ยับลง ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายมหาเสนาตำมะหงง |
ได้ยินเสียงปืนลั่นสนั่นดง | ก็ขับพลรณรงค์กลางแปลง |
ทหารเข้าตีประดาราวี | ทะลวงไล่ไพรีด้วยเข้มแข็ง |
พลกริชต่อกริชประชิดแทง | ปืนต่อปืนแย้งยิงกัน |
บ้างล้มบ้างตายก่ายกอง | เลือดนองท้องป่าพนาสัณฑ์ |
กองทัพได้ทีตีประจัญ | บุกบั่นลุยไล่มิได้ยั้ง |
ชาวด่านแตกยับสับสน | กองหน้ามาปนกองหลัง |
เสียกระบวนรวนเรพ่ายพัง | ก็วิ่งหนีเข้ายังพนาลี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงท้าวปะตาหรำเรืองศรี |
กับทั้งระตูทุกบุรี | บรรดาที่อยู่ใกล้หนทางไป |
แจ้งว่ามิสาอุณากรรณ | ยกพวกพลขันธ์ทัพใหญ่ |
มาหักหาญรานรุกชิงชัย | ต่างตระหนกตกใจเป็นพ้นคิด |
ด้วยเดชปะตาระกาหลา | ลงมาบันดาลดลจิต |
ทุกระตูย่อท้อไม่ต่อฤทธิ์ | นึกจะใคร่เป็นมิตรไมตรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ จึงจัดแจงแต่งเครื่องบรรณาการ | ทั้งธิดากุมารมีศรี |
ต่างองค์ทรงสั่งเสนี | ให้คุมของทั้งนี้ไคลคลา |
ไปขอออกแก่องค์อุณากรรณ | ผูกพันไมตรีเสียดีกว่า |
อย่าให้ปัจจามิตรติดพารา | ไพร่ฟ้าประชากรจะร้อนรน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีกราบงามสามหน |
รับสั่งบังคมแล้วจรดล | ออกไปจัดเครื่องต้นบรรณาการ |
ให้เชิญราชธิดาโฉมยง | ขึ้นทรงรถสุวรรณกั้นม่าน |
อันโอรสราชกุมาร | ขี่ม้าเบาะอานพรายพรรณ |
เกณฑ์แห่แตรสังข์ฆ้องกลอง | ประโคมครึกกึกก้องไหวหวั่น |
ยกพลนิกรจรจรัล | พร้อมกันทั้งหกเวียงชัย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ กลองโยน เชิด
๏ มาถึงที่ประทับพลับพลา | จึงไปหาตำมะหงงผู้ใหญ่ |
เล่าแถลงแจ้งความทั้งปวงไป | ตามในคดีซึ่งมีมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ตำมะหงงได้ฟังก็หรรษา |
จึงนำทั้งหกเสนา | เข้ามายังที่พลับพลาชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึงประณตบทบงสุ์ | ตำมะหงงทูลแจ้งแถลงไข |
บัดนี้ระตูทุกกรุงไกร | มีใจจำนงจงรัก |
แต่งราชโอรสหญิงชาย | มาถวายพระโฉมยงทรงศักดิ์ |
ระตูวะละหงิดสามิภักดิ์ | ถวายสองเยาวลักษณ์บุตรี |
ชื่อระเด่นจินดาอรสา | พักตราแช่มช้อยเจริญศรี |
อันองค์ขนิษฐานารี | ชื่อจินดารัศมีโสภา |
บุตรท้าวสัจหนูภูธร | นามกรกะระตาวิยาหยา |
องค์หนึ่งชื่อยาหยาสัตรา | วงพักตร์ลักขณาละกลกัน |
บุตรระตูบุหราตันหยง | ชื่อระเด่นนาหงสุหวัน |
อันองค์อนุชาน้อยนั้น | ชื่อสุหงันอระสายาใจ |
ระตูบุตรสัดดะกันภูมี | ถวายราชบุตรีศรีใส |
ชื่อรัตนาวาตีทรามวัย | ทรงลักษณ์วิไลลาวัณย์ |
ท้าวล่าสำถวายธิดา | ชื่อระเด่นกุสุมาเฉิดฉัน |
ระตูปะตาหรำทรงธรรม์ | ถวายเครื่องสุวรรณบรรณาการ |
ทั้งสาตราอาวุธนานา | รี้พลโยธาทวยหาญ |
ขอเป็นข้าไปกว่าจะวายปราณ | จงทราบบทมาลย์พระภูมี ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | อุณากรรณผู้รุ่งรัศมี |
จึงกล่าวพจนาวาที | ปราศรัยเสนีทั้งปวงไป |
ซึ่งกรุงกษัตริย์ทรงยศ | เอาโอรสธิดามาให้ |
เป็นทางราชไมตรีนี้ไซร้ | เราขอบใจระตูทุกพารา |
ตรัสพลางทางสั่งให้รางวัล | เงินทองแพรพรรณเสื้อผ้า |
แต่ล้วนอย่างดีมีราคา | ประทานให้เสนาทุกธานี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ บัดนั้น | เสนาทั้งหกกรุงศรี |
รับของประทานด้วยยินดี | แล้วถวายอัญชลีลาไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | อุณากรรณรัศมีศรีใส |
ครั้นเสนีทูลลาคลาไคล | ทรามวัยพลางทอดทัศนา |
เห็นสุหรันอระสาโฉมเฉลา | ยังเยาว์ได้ห้าชันษา |
ให้คิดถึงยาหยีสียะตรา | เสนหาก็เอาเป็นโอรส |
ยิ่งอาดูรพูนเทวษถึงเชษฐา | แต่มิให้กิจจานั้นปรากฏ |
กลั้นความโศกศัลย์รันทด | เสด็จไปทรงรถรัตนา |
ให้เคลื่อนจัตุรงคโยธี | แสนสุรเสนีซ้ายขวา |
รถประเทียบเรียบกันเป็นหลั่นมา | เดินตามมรคาพนาลัย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ เที่ยวเตร่เร่ตามพระเชษฐา | ไม่รู้ว่าจะไปหนไหน |
แรมร้อนนอนทางมากลางไพร | ก็ได้หลายทิวาราตรี |
ครั้นเย็นก็หยุดโยธา | อยู่ยังชายป่าพนาศรี |
จึงชวนสองพี่เลี้ยงนารี | จรลีขึ้นสู่พลับพลาทอง ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เสด็จนั่งเหนืออาสน์อำไพ | เปลี่ยวเปล่าเศร้าใจหม่นหมอง |
จนเวลาพลบค่ำย่ำฆ้อง | ไม่วายนึกตรึกตรองถึงพี่ยา |
จึงว่าแก่พี่เลี้ยงทั้งสองศรี | แต่เรายกโยธีออกเที่ยวหา |
หลายวันแต่สัญจรมา | ไม่พบพระเชษฐายาใจ |
ฟังข่าวเหล่าเชลยมาทุกเมือง | จะรู้เรื่องกิจจาก็หาไม่ |
จะเสาะหาแห่งหนตำบลใด | จึงจะได้พบองค์พระภูมี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สองนางประณตบทศรี |
ทูลว่าพระเชษฐาธิบดี | เห็นทีจะเที่ยวอยู่ไพรวัน |
เทเวศร์บอกเหตุให้ตามหา | ข้างทิศบูรพาพนาสัณฑ์ |
นัยจะได้ประสบพบกัน | จงกลั้นโศกาอาวรณ์ |
เร่งทรงคิดปิดป้องความใน | ให้เขาสิ้นสงสัยเสียก่อน |
เชิญระเด่นกุสุมาบังอร | มาแนบนอนพูดเล่นเจรจา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อุณากรรณตอบคำพี่เลี้ยงว่า |
อดสูจิตคิดอายกัลยา | จะนิทราด้วยนางอย่างไร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สองพี่เลี้ยงทูลแถลงไข |
เมื่อแปลงองค์เป็นชายจะอายไย | จะเป็นที่สงสัยแก่เสนา |
เขาจะว่าทรามวัยมิใช่ชาย | จึงเฉยเชือนเอื้อนอายเสนหา |
ธรรมเนียมบุรุษในโลกา | ย่อมปองปรารถนานารี |
แต่นางมาอยู่ก็หลายวัน | ไม่คิดกันควันความก็ใช่ที่ |
ธรรมดาฝอยไว้ใกล้อัคคี | อันจะมิติดเชื้ออย่าสงกา |
แม้นใครรู้แจ้งว่าแปลงองค์ | เห็นโฉมยงจะไม่พบพระเชษฐา |
จะระคนปนศักดิ์ด้วยชายช้า | จำเป็นอุตส่าห์แข็งใจ |
เชิญเสด็จไปหานางเทวี | แล้วชวนมาพาทีตามได้ |
แต่สองต่อสองที่ห้องใน | ข้างนอกนั้นใครจะรู้กล ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อุณากรรณจึงตอบอนุสนธิ์ |
จะปลอบนางอย่างไรในแยบยล | ให้อายจิตคิดจนใจน้อง ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พี่เลี้ยงก้มเกล้าทูลสนอง |
พระพี่ปลอบอย่างไรในถ้ำทอง | จงกล่าวคำทำนองให้เหมือนกัน |
แล้วว่าบนตัวไว้สามปี | ไม่ร่วมรสฤดีด้วยสาวสรรค์ |
ทำเชิงชายเล่นแต่เช่นนั้น | อย่าให้ใครทันสงกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อุณากรรณกระหมันวิยาหยา |
ฟังพี่เลี้ยงกล่าววาจา | แย้มยิ้มไปมาไม่พาที |
สองนางรบเร้าเฝ้าว่าวอน | จึงจำจรจากอาสน์เรืองศรี |
ปะจินดาพาเสด็จจรลี | ไปเข้าที่สระสรงคงคา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
ชมตลาด
๏ สำอางองค์ทรงเครื่องสุคนธาร | น้ำกุหลาบซาบซ่านมังสา |
ทรงปรัดผัดผิวพักตรา | ดังจันทราทรงกลดหมดราคี |
ทรงภูษาลายทองท้องม่วง | ดอกดวงโกสุมส่าหรี |
ฉลององค์อินทรธนูรูจี | ซ่าโบะสีทับทิมริมขลิบทอง |
ทองกรกาบเก็จเพชรรัตน์ | ธำมรงค์ทรงพระหัตถ์ทั้งสอง |
อุบะบุหงาห้อยร้อยกรอง | สอดฉลองพระบาทยาตรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลงฝรั่ง
ร่าย
๏ ครั้นถึงจึงเผยม่านทอง | ค่อยย่องเข้าไปในรถา |
นั่งชิดพิศดูนางไสยา | สไบปิดพักตราจาบัลย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ชาตรี
๏ กรประคองต้ององค์นงลักษณ์ | เลิกสไบจากพักตร์แล้วรับขวัญ |
พลางปลอบวนิดาลาวัณย์ | อย่าทรงกันแสงเลยนะทรามวัย |
จงหักห้ามความโศกเสียบ้าง | คิดคะนึงถึงทางพิสมัย |
บิตุรงค์ขององค์อรไท | ท่านไม่มีจิตคิดเมตตา |
จึงให้เจ้ามาเป็นเชลยพี่ | เมื่อกระนี้ยังแค่นกันแสงหา |
รักจริงหรือจะให้เจ้าไกลมา | จะต่อฤทธิ์พี่กว่าจะสุดรู้ |
มาตรแม้นพ่ายแพ้ก็จำเป็น | จึงจะเห็นประจักษ์ว่ารักอยู่ |
ส่วนท่านทำได้ไม่เอ็นดู | โฉมตรูจะร่ำรักไย |
มาร่วมรักกับพี่ดีกว่า | จะทำเช่นบิดาเจ้าหาไม่ |
จะพันตูสู้ตายมิให้ใคร | อย่าร้องไห้ไปเลยนะเทวี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นกุสุมาโฉมศรี |
จับใจในรสวาที | ค่อยคลายโศกีที่อาวรณ์ |
สุรเสียงเพียงอำมฤตรส | มาดับความกำสรดสายสมร |
จะใคร่ตอบบัญชาอันสุนทร | บังอรขวยเขินสะเทินใจ |
ถอยองค์ออกไปให้ห่าง | แล้วนางบังคมประนมไหว้ |
กราบกัมพักตร์อยู่ไม่ดูไป | มิได้ตอบรสพจมาน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
โลม
๏ เมื่อนั้น | อุณากรรณกล่าวคำอ่อนหวาน |
โฉมเฉลาเยาวยอดยุพาพาล | พี่แสนรักหักหาญมาหาน้อง |
ควรหรือสาวน้อยถอยหนี | ทำทีระคางหมางหมอง |
โลมลูบปฤษฎางค์พลางประคอง | นวลละอองจงฟังวาจา |
พี่ก็ยังไม่เคยมีคู่ | ให้อดสูแก่ใจหนักหนา |
รักเจ้าเท่าเทียมชีวา | อนิจจาไม่คิดปรานี |
แต่พักตราแก้วตาก็ไม่ดู | โฉมตรูขัดแค้นสิ่งไรพี่ |
เชิญชม้ายชายเนตรมาข้างนี้ | จะเล่าคดีให้น้องฟัง |
พี่นี้มีทุกข์กังวล | ได้ออกปากบนแต่หนหลัง |
แม้นมิเสร็จสิ้นทุกข์ที่รึงรัง | ก็ยังไม่ร่วมรักด้วยนางใด |
แม้นพ้นกำหนดสามปี | จึงร่วมรสฤดีสตรีได้ |
อย่าทำห่างเหินสะเทินไป | พี่ตั้งใจจะฝากชีวัน ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นกุสุมาสาวสวรรค์ |
ได้ฟังวาจาอุณากรรณ | เห็นความรักผูกพันมั่นคง |
จึงเหลือบแลแปรพักตร์ผันหา | ชายตาพินิจพิศวง |
กราบก้มบังคมทูลบาทบงสุ์ | พระโฉมยงจงโปรดปรานี |
น้องไกลบิดามาตุราช | มาสนองรองบาทบทศรี |
แม้นเหมือนพระวาจาพาที | ก็จะมีความสุขสืบไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
โลม
๏ นงเอยนงลักษณ์ | พี่รักเจ้าจริงอย่าสงสัย |
ไม่คิดแต้มแต่งแกล้งใส่ไคล้ | สิ่งใดมิจริงไม่เจรจา |
แต่วันเห็นโฉมเจ้าเยาวลักษณ์ | ให้มีจิตคิดรักเป็นหนักหนา |
จะใคร่พบประสบสนทนา | แต่ว่าพี่ยังอดสูใจ |
คิดคิดอยู่เป็นนิจนิรันดร์ | หลายวันแล้วพี่พึ่งมาได้ |
ว่าพลางชวนนางอรไท | บรรทมในแท่นที่ไสยา |
สององค์ทรงเยาวแน่งน้อย | ก็ค่อยสนิทเสนหา |
สำรวลสรวลเล่นเจรจา | จนนิทราหลับไปในราตรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ ตระ
ร่าย
๏ ครั้นจวนจะใกล้รุ่งราง | แสงทองส่องสว่างพนาศรี |
โลมนางพลางลาจรลี | กลับมายังที่พลับพลาพลัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึงชำระสระสรงทรงเครื่อง | แล้วเสด็จย่างเยื้องผายผัน |
ขึ้นทรงรถแก้วแพรวพรรณ | ให้ยกพลดัดดั้นเข้าดงดอน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ กลองโยน
๏ แรมร้อนผ่อนพักมากลางไพร | จนใกล้ปัจจาหงันสิงขร |
เห็นเขาใหญ่เยี่ยมเทียมอัมพร | ให้เร่งจรจัตุรงค์ตรงมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
https://vajirayana.org/system/files/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B2_264950.pdf