- คำอธิบาย ว่าด้วยบทละคร อิเหนาฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ
- เล่มที่ ๑
- เล่มที่ ๒
- เล่มที่ ๓
- เล่มที่ ๔
- เล่มที่ ๕
- เล่มที่ ๖
- เล่มที่ ๗
- เล่มที่ ๘
- เล่มที่ ๙
- เล่มที่ ๑๐
- เล่มที่ ๑๑
- เล่มที่ ๑๒
- เล่มที่ ๑๓
- เล่มที่ ๑๔
- เล่มที่ ๑๕
- เล่มที่ ๑๖
- เล่มที่ ๑๗
- เล่มที่ ๑๘
- เล่มที่ ๑๙
- เล่มที่ ๒๐
- เล่มที่ ๒๑
- เล่มที่ ๒๒
- เล่มที่ ๒๓
- เล่มที่ ๒๔
- เล่มที่ ๒๕
- เล่มที่ ๒๖
- เล่มที่ ๒๗
- เล่มที่ ๒๘
- เล่มที่ ๒๙
- เล่มที่ ๓๐
- เล่มที่ ๓๑
- เล่มที่ ๓๒
- เล่มที่ ๓๓
- เล่มที่ ๓๔
- เล่มที่ ๓๕
- เล่มที่ ๓๖
- เล่มที่ ๓๗
- เล่มที่ ๓๘
เล่มที่ ๑๐
ร่าย
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงสุหรานากงเรืองศรี |
กับเสนากาหลังบุรี | ยกพลมนตรีรีบมา |
แรมร้อนนอนป่าสิบห้าวัน | ก็ลุถึงเขตขัณฑ์ดาหา |
ได้ข่าวปัจจามิตรติดพารา | ก็เร่งยกโยธาเข้ากรุงไกร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้งถึงกึ่งกลางพระนคร | จึงให้หยุดพลนิกรน้อยใหญ่ |
แล้วชวนตำมะหงงคลาไคล | เข้าไปที่เฝ้าพระผ่านฟ้า ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | พระองค์ทรงพิภพดาหา |
เห็นสุหรานากงพระนัดดา | กับเสนากาหลังบุรี |
จึ่งมีบัญชาปราศรัย | เราขอบใจอนุชาทั้งสองศรี |
ให้ยกมาช่วยต่อตี | ก็เห็นชอบท่วงทีดีนัก |
แต่การศึกครั้งนี้ไม่ควรเป็น | เกิดเข็ญเพราะลูกอัปลักษณ์ |
จะมีคู่ผู้ชายก็ไม่รัก | จึงหักให้สาสมใจ |
อันองค์พระบรมเชษฐา | เห็นจะให้ใครมาหรือหาไม่ |
เจ้ามาในทางพนาลัย | ยังได้ข่าวบ้างหรือนัดดา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สุหรานากงวงศา |
ก้มเกล้าทูลสนองพระบัญชา | ข้ามาแจ้งข่าวที่กลางคัน |
พระปิ่นภพกุเรปันธานี | ให้กะหรัดตะปาตีเป็นทัพขันธ์ |
ยกจากเวียงชัยได้หลายวัน | บรรจบกันกับระเด่นมนตรีมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระองค์ทรงพิภพดาหา |
ฟังสุหรานากงนัดดา | จึงมีบัญชาว่าไป |
อันกะหรัดตะปาตีจะมาช่วย | พอจะเห็นจริงด้วยไม่สงสัย |
แต่อิเหนาเขาจะมาทำไม | ผิดไปเจ้าอย่าเจรจา |
พระเชษฐาให้สารไปกี่ครั้ง | เขายังไม่จากหมันหยา |
จนสลัดตัดการวิวาห์ | ศึกติดพาราก็เพราะใคร |
เห็นจะรักเมียจริงยิ่งกว่าญาติ | ไหนจะคลาดจากเมืองหมันหยาได้ |
ถึงมาตรจะมาก็จำใจ | ด้วยกลัวภัยพระราชบิดา |
เราอย่าคอยเขาเลยนะหลานรัก | ก้มพักตร์รบศึกไปดีกว่า |
แต่ว่าวันนี้เจ้าเหนื่อยมา | จงไปพักโยธาให้สำราญ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สุหรานากงใจหาญ |
ก้มเกล้าสนองพจมาน | อันการสงครามครั้งนี้ |
จะขอเอาเมืองขึ้นบรรดามา | กับโยธาสิงหัดส่าหรี |
ยกออกโรมรันประจัญตี | ดูทีฝีมือปัจจามิตร |
ถ้าเห็นศึกย่นย่อท้อกำลัง | จะโหมหักมิให้ตั้งต่อติด |
จะอาสากว่าจะสิ้นสุดฤทธิ์ | ชีวิตอยู่ใต้บาทบงสุ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระผ่านภพดาหาสูงส่ง |
จึงตรัสตอบสุหรานากง | เจ้าคิดอ่านการณรงค์ทะนงนัก |
ทัพเขายกมาย่อมสามารถ | ทั้งสิทธิ์ขาดความคิดแหลมหลัก |
ม้ารถคชพลก็พร้อมพรัก | หมายจะหักที่กล้าด้วยกัน |
ไม่ควรจะด่วนออกชิงชัย | ชอบอยู่ในพารารักษามั่น |
แม้นข้าศึกประชิดติดพัน | บุกบันเข้าปล้นปีนกำแพง |
เราจะรบรับไว้ให้หยุดยั้ง | แต่พอผ่อนหย่อนกำลังเข้มแข็ง |
จึงยกหนักออกหักเอากลางแปลง | จะมีชัยไม่แคลงวิญญาณ์ |
ทัพช่วยก็ไม่ช้าจะมาทัน | พร้อมกันตีกระหนาบหลังหน้า |
รุกรบกระทบนอกเข้ามา | เห็นศึกก็จะล่าเลิกไป |
เจ้าเป็นผู้บัญชาในธานี | โยธาหน้าที่เอาใจใส่ |
ตรัสแล้วลีลาคลาไคล | เข้าในปราสาทรจนา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สุหรนากงวงศา |
ครั้นเสด็จขึ้นแล้วก็ไคลคลา | ออกมาที่อยู่พระภูมี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายดะหมังกุเรปันกรุงศรี |
ครั้นถึงหมันหยาธานี | ก็ตรงไปยังที่ประเสบัน |
ขึ้นบนชานพักตำหนักนอก | พอเห็นเสด็จออกกิดาหยัน |
จึงเข้าไปใกล้องค์พระทรงธรรม์ | อภิวันท์แล้วถวายสารา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระโฉมยงวงศ์อสัญแดหวา |
คลี่สารสมเด็จพระบิดา | พลางทอดทัศนาทันใด ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
เอกบท
๏ ในลักษณ์นั้นว่าปัจจามิตร | มาตั้งติดดาหากรุงใหญ่ |
จงเร่งรีบรี้พลสกลไกร | ไปช่วยชิงชัยให้ทันที |
ถึงไม่เลี้ยงบุษบาเห็นว่าชั่ว | แต่เขารู้อยู่ว่าตัวนั้นเป็นพี่ |
อันองค์ท้าวดาหาธิบดี | นั้นมิใช่อาหรือว่าไร |
มาตรแม้นเสียเมืองดาหา | จะพลอยอายขายหน้าหรือหาไม่ |
ซึ่งเกิดศึกสาเหตุเภทภัย | ก็เพราะใครทำความไว้งามพักตร์ |
ครั้งหนึ่งก็ให้เสียวาจา | อายชาวดาหาอาณาจักร |
ครั้นนี้เร่งคิดดูจงนัก | จะซ้ำให้เสียศักดิ์ก็ตามที |
แม้นมิยกพลไกรไปช่วย | ถึงเราม้วยก็อย่ามาดูผี |
อย่าดูทั้งเปลวอัคคี | แต่วันนี้ขาดกันจนบรรลัย ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ร่าย
๏ ครั้นอ่านสารเสร็จสิ้นพระทรงฤทธิ์ | ถอนฤทัยคิดแล้วสงสัย |
บุษบาจะงามสักเพียงไร | จึงต้องใจระตูทุกบุรี |
หลงรักรูปนางแต่อย่างนั้น | จะพากันมาม้วยไม่พอที่ |
แม้นงามเหมือนจินตะหราวาตี | ถึงจะเสียชีวิตก็ควรนัก |
แล้วว่าแก่ดะหมังเสนา | เราจะยกโยธาไปโหมหัก |
มิให้เสียวงศาสุรารักษ์ | งดสักเจ็ดวันจะยกไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ดะหมังบังคมประนมไหว้ |
ทูลว่าช้านักพระภูวไนย | เกลือกไปไม่ทันจะเสียที |
เชิญเสด็จคลาไคลไปก่อน | แล้วจึงค่อยผันผ่อนมากรุงศรี |
อันข้าศึกซึ่งยกมาต่อตี | ปานนี้จะประชิดติดกรุงไกร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์เทวาอัชฌาสัย |
สุดที่จะบิดเบือนเลื่อนวันไป | ด้วยเกรงในบิตุเรศตรัสมา |
ความกลัวความรักสลักทรวง | ให้เป็นห่วงหนหลังกังวลหน้า |
แต่เรรวนหวนนึกตรึกตรา | พระราชาสะท้อนถอนใจ |
จึงดำรัสตรัสสั่งตำมะหงง | เร่งเตรียมจัตุรงค์ทัพใหญ่ |
ม้ารถคชสารชาญชัย | รีบรัดจัดไว้ให้ครบครัน |
เลือกสรรโยธาจงสามารถ | ที่อยู่คงองอาจแข็งขัน |
แต่ปืนตึงก็ถึงทันควัน | เข้าโรมรุกบุกบันฟันแทง |
เราจะตัดศึกใหญ่ให้ย่อย่น | ด้วยกำลังรี้พลเข้มแข็ง |
แม้ไพรีหนีมือกลางแปลง | เห็นหักได้ไม่แคลงวิญญาณ์ |
ฤกษ์รุ่งพรุ่งนี้จะยกไป | ชิงชัยช่วยกรุงดาหา |
สั่งเสร็จเสด็จทรงอาชา | ไปเฝ้าท้าวหมันหยาฉับพลัน ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงนิเวศน์วังใน | ลงจากมโนมัยผายผัน |
ยุรยาตรนาดกรจรจรัล | เข้าพระโรงสุวรรณทันใด ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | ดะหมังกุเรปันกรุงใหญ่ |
จึงรีบไปหาเสนาใน | แถลงไขข้อความตามคดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | อำมาตย์หมันหยากรุงศรี |
ได้แจ้งแห่งดะหมังเสนี | ก็พาไปยังที่พระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ก้มเกล้าประณตบทมาลย์ | พระผู้ผ่านเวียงชัยไอศวรรย์ |
ทูลเบิกดะหมังเสนานั้น | ว่าพระปิ่นกุเรปันใช้มา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ดะหมังผู้มียศถา |
นบนิ้วบังคมคัลวันทา | ทูลถวายสาราพระภูมี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระตูหมันหยาเรืองศรี |
รับสารมาจากเสนี | แล้วคลี่ออกอ่านทันใด ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
เอกบท
๏ ในลักษณ์อักษรสารา | ว่าระตูหมันหยาเป็นผู้ใหญ่ |
มีราชธิดายาใจ | แกล้งให้แต่งตัวไว้ยั่วชาย |
จนลูกเราร้างคู่ตุนาหงัน | ไปหลงรักผูกพันมั่นหมาย |
จะให้ชิงผัวเขาเอาเด็ดดาย | ช่างไม่อายไพร่ฟ้าประชาชน |
บัดนี้ศึกประชิดติดดาหา | กิจจาลือแจ้งทุกแห่งหน |
เสียงานการวิวาห์จลาจล | ต่างคนต่างข้องหมองใจ |
การสงครามครั้งนี้มิไปช่วย | ยังเห็นชอบด้วยหรือไฉน |
จะตัดวงศ์ตัดญาติให้ขาดไป | ก็ตามน้ำใจจะเห็นดี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ ทรงอ่านสารเสร็จสิ้นเรื่อง | กลัวจะเคืองขุ่นข้องหมองศรี |
จึงยื่นสารให้ระเด่นมนตรี | แล้วมีพจนารถวาจา |
เห็นงามอยู่แล้วหรือหลานรัก | เจ้าหาญหักไม่ฟังคำข้า |
มาพลอยได้ความผิดด้วยนัดดา | เมื่อกระนี้จะว่าประการใด |
แม้นมิยกพลขันธ์ไปพันตู | หาให้อยู่กับจินตะหราไม่ |
อย่าหน่วงหนักชักช้าเร่งคลาไคล | รีบไปให้ทันท่วงที |
อันระเด่นดาหยนวงศา | จงคุมพลหมันหยากรุงศรี |
สมทบทัพระเด่นมนตรี | ได้ฤกษ์รุ่งพรุ่งนี้จงยาตรา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระโฉมยงพงศ์อสัญแดหวา |
รับสั่งแล้วบังคมลา | ไปปราสาทจินตะหราวาตี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงห้องสุวรรณบรรจง | นงแนบแอบองค์นางโฉมศรี |
ทอดถอนฤทัยพลางทางพาที | ภูมีแจ้งความแก่ทรามวัย |
บัดนี้ดะหมังเสนา | ถือสารพระบิดามาให้ |
เป็นเหตุด้วยดาหาเวียงชัย | เกิดการศึกใหญ่ไพรี |
ให้พี่กรีธาทัพขันธ์ | ไปช่วยป้องกันกรุงศรี |
จะรีบยกพหลมนตรี | พรุ่งนี้ให้ทันพระบัญชา |
อยู่จงดีเถิดพี่จะลาน้อง | อย่าหม่นหมองเศร้าสร้อยละห้อยหา |
เสร็จศึกวันใดจะไคลคลา | กลับมาสู่สมภิรมย์รัก ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จินตะหราวาตีมีศักดิ์ |
ฟังตรัสขัดแค้นฤทัยนัก | สะบัดพักตร์ผินหลังไม่บังคม |
แล้วตอบถ้อยน้อยหรือพระทรงฤทธิ์ | ช่างประดิษฐ์คิดความพองามสม |
ล้วนกล่าวแกล้งแสร้งเสเล่ห์ลม | คิดคมแยบคายหลายชั้น |
พระจะไปดาหาปราบข้าศึก | หรือรำลึกถึงคู่ตุนาหงัน |
ด้วยสงครามในจิตยังติดพัน | จึงบิดผันพจนาไม่อาลัย |
ไหนพระผ่านฟ้าสัญญาน้อง | จะปกป้องครองความพิสมัย |
ไม่นิราศแรมร้างห่างไกล | จนบรรลัยมอดม้วยไปด้วยกัน |
พระวาจาน่าเชื่อเป็นพ้นนัก | จึงหลงรักภักดีไม่เดียดฉันท์ |
พาซื่อสุจริตคิดสำคัญ | หมายมั่นว่าเมตตาปรานี |
มิรู้มาอาภัพกลับกลาย | จะหลีกเลี่ยงเบี่ยงบ่างหน่ายหนี |
ยังสมคำสัญญาที่พาที | กี่ร้อยปีพระจะกลับคืนมา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
โลม
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์เทวัญอสัญหยา |
โลมนางพลางกล่าววาจา | จงผินมาพาทีกับพี่ชาย |
ซึ่งสัญญาว่าไว้กับนวลน้อง | จะคงครองไมตรีไม่หนีหน่าย |
มิได้แกล้งกลอกกลับอภิปราย | อย่าสงกาว่าจะวายคลายรัก |
จะจำจากโฉมเฉลาเยาวเรศ | เพราะเกรงเดชบิตุรงค์ทรงศักดิ์ |
ข้อความงามแคลงกินแหนงนัก | ด้วยเจ้าไม่ประจักษ์ที่จริงใจ |
สมเด็จพระบิดาให้หาพี่ | ใช่แต่ครั้งนี้นั้นหาไม่ |
ถึงสองครั้งพี่ขัดรับสั่งไว้ | ยังมิได้บอกเจ้าให้แจ้งการ |
บัดนี้เกิดศึกก็สุดคิด | จนจิตที่จะขัดพระบรรหาร |
สารามีมาเป็นพยาน | พระยื่นสารให้นางทัศนา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | โฉมยงองค์ระเด่นจินตะหรา |
ค้อนให้ไม่แลดูสารา | กัลยาคั่งแค้นแน่นใจ |
แล้วว่าอนิจจาความรัก | พึ่งประจักษ์ดั่งสายน้ำไหล |
ตั้งแต่จะเชี่ยวเป็นเกลียวไป | ที่ไหนเลยจะไหลคืนมา |
สตรีใดในพิภพจบแดน | ไม่มีใครได้แค้นเหมือนอกข้า |
ด้วยใฝ่รักให้เกินพักตรา | จะมีแต่เวทนาเป็นเนืองนิตย์ |
โอ้ว่าน่าเสียดายตัวนัก | เพราะเชื่อลิ้นหลงรักจึงช้ำจิต |
จะออกชื่อลือชั่วไปทั่วทิศ | เมื่อพลั้งคิดผิดแล้วจะโทษใคร |
เสียแรงหวังฝังฝากชีวี | พระจะมีเมตตาก็หาไม่ |
หมายบำเหน็จจะรีบเสด็จไป | ก็รู้เท่าเข้าใจในทำนอง |
ด้วยระเด่นบุษบาโฉมตรู | ควรคู่ภิรมย์สมสอง |
ไม่ต่ำศักดิ์รูปชั่วเหมือนตัวน้อง | ทั้งพวกพ้องสุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์ |
โอ้แต่นี้สืบไปภายหน้า | จะอายชาวดาหาเป็นแม่นมั่น |
เจาจะค่อนนินทาทุกสิ่งอัน | นางรำพันว่าพลางทางโศกา ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์เทวัญอสัญหยา |
ปลอบนางพลางเช็ดชลนา | ดวงยิหวาอย่าทรงโศกี |
จงสร่างสิ้นกินแหนงแคลงใจ | ที่ในบุษบามารศรี |
พี่สลัดตัดใจไม่ไยดี | มิได้มีปรารถนาอาลัย |
จรกาจึงได้มาว่าขาน | กำหนดนัดทำงานการใหญ่ |
พอกะหมังกุหนิงรู้ไป | ก็ซ้ำให้มากล่าวกัลยา |
ครั้นขอนางมิได้ดังใจจง | จึงเกิดการรณรงค์ในดาหา |
เพราะแหนหวงช่วงชิงวนิดา | ใช่ว่านางเปล่าอยู่เมื่อไร |
อันลือข่าวบุษบาว่างามนัก | จะดีกว่านัองรักนั้นหาไม่ |
นี่จำเป็นจึงจำจากไป | เพราะกลัวภัยพระราชบิดา |
แม้นเสียดาหาก็เสียวงศ์ | อัปยศถึงองค์อสัญหยา |
เจ้ากับพี่จะมีแต่นินทา | แก้วตาจงดำริตริตรอง |
ถึงไปก็ไม่อยู่นาน | เยาวมาลย์อย่าโศกเศร้าหมอง |
พระจุมพิตชิดเชยปรางทอง | กรประคองนฤมลขึ้นบนเพลา ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จินตะหราวาตีโฉมเฉลา |
ได้เห็นสารทราบความตามสำเนา | ค่อยบรรเทาเบาทุกข์แคลงใจ |
จึงเคลื่อนองค์ลงจากพระเพลาพลาง | นวลนางบังคมแถลงไข |
ซึ่งพระจะเสด็จไปชิงชัย | ก็ตามใจไม่ขัดอัธยา |
แม้นสำเร็จราชการงานศึก | แล้วรำลึกอย่าลืมหมันหยา |
จงเร่งรีบยกทัพกลับมา | น้องจะนับวันท่าภูวไนย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระทรงโฉมประโลมพิสมัย |
รับขวัญกัลยาแล้วว่าไป | พี่จะลืมปลื้มใจไยมี |
เป็นเวรากรรมจึงจำจาก | ขอฝากมาหยารัศมี |
กับนางสการะวาตี | ด้วยทรามวัยไร้ที่พึ่งพา |
นางไกลบิตุราชมาตุรงค์ | โฉมยงอย่าเคียดขึ้งหึงสา |
ถ้าพลั้งผิดสิ่งไรได้เมตตา | อย่าถือโทษโกรธาเทวี |
ว่าพลางทางเปลื้องสังวาลทรง | ให้องค์จินตะหรามารศรี |
จงเจ้าเอาเครื่องประดับนี้ | ไว้ดูต่างพักตร์พี่จะขอลา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมยงองค์ระเด่นจินตะหรา |
ได้ฟังพระราชบัญชา | กัลยานอบนบอภิวันท์ |
แล้วทูลว่าพระองค์อย่าสงสัย | น้องมิได้รังเกียจเดียดฉันท์ |
จะรักใคร่ในสองนางนั้น | เหมือนพี่น้องร่วมครรภ์กันมา |
ว่าพลางนางเปลื้องสไบทรง | ถวายองค์ทรงเดชเชษฐา |
เกลือกจะลืมคำมั่นสัญญา | ได้เห็นผ้าเป็นเพื่อนเตือนฤทัย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีศรีใส |
เห็นนางค่อยสร่างโศกาลัย | ภูวไนยตรัสบอกบังอร |
บัดนี้พี่ขออำลา | ไปสั่งสองสุดาดวงสมร |
ว่าพลางผันผายกรายกร | บทจรไปห้องสองนารี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เสด็จนั่งบัลลังก์รัตน์รจนา | แล้วตรัสบอกมาหยารัศมี |
ทั้งนางสการะวาตี | ตามในสารศรีซึ่งมีมา |
พรุ่งนี้พี่จะลาเจ้าไป | ชิงชัยไพรีถึงดาหา |
ค่อยอยู่เถิดนวลน้องสองสุดา | อุตส่าห์อุปถัมภ์บำรุงกัน |
จะผิดชอบสิ่งไรให้ปรองดอง | มิควรข้องเคืองขุ่นอย่าหุนหัน |
เจ้าก็ร่วมสุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์ | ถนอมน้ำใจกันไว้ให้ดี |
จงอดออมถ่อมคำจำนรรจา | ฝากตัวจินตะหรามารศรี |
โฉมเฉลาอย่าเศร้าโศกี | พอศึกเสร็จแล้วพี่จะกลับมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองนางแน่งน้อยเสนหา |
ได้ฟังดั่งจะม้วยชีวา | กัลยาครวญคร่ำรำพัน |
โอ้อนิจจานะอกเอ๋ย | กระไรเลยไม่วายที่โศกศัลย์ |
แต่จากบิดามารดานั้น | ก็โศกาจาบัลย์พันทวี |
ได้พึ่งบาทบงสุ์พระทรงเดช | ดังฉัตรแก้วกั้นเกศเกศี |
หรือจะซ้ำจำจากพระภูมี | ครั้งนี้จะบ่ายหน้าไปหาใคร |
จะกินน้ำตาต่างอาหาร | ทนทุกข์ทรมานหม่นไหม้ |
ชะรอยเวรากรรมได้ทำไว้ | จึงจำให้ได้ความเวทนา |
โอ้แต่บัดนี้นับจะลับเนตร | จะแสนเทวษเศร้าสร้อยละห้อยหา |
ร่ำพลางบังอรข้อนอุรา | กอดบาทภัสดาเข้าโศกี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีเรืองศรี |
เห็นสองสุดานารี | โศกีกอดบาทไม่คลาดคลาย |
พระจุมพิตชิดชมเชยปราง | โลมลูบปฤษฎางค์นางโฉมฉาย |
เช็ดชลนาพลางทางภิปราย | เจ้าสายสุดที่รักจงหักใจ |
จำเป็นจำร้างห่างน้องแก้ว | เป็นกรรมของเราแล้วจะทำไฉน |
พี่นี้มิใคร่จะจากไป | แต่จนใจด้วยกิจการณรงค์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองนางแน่งน้อยนวลหง |
ฟังถ้อยค่อยคลายกำสรดทรง | โฉมยงทูลฝากน้องรัก |
อันสังคามาระตากุมาร | ไม่ชำนาญการรบหาญหัก |
ทั้งความคิดก็ยังเยาว์เบานัก | พระทรงศักดิ์จงได้เมตตา |
เกลือกจะประมาทราชกิจ | ถ้าพลั้งผิดพระจะลงโทษา |
จงโปรดปรานขอประทานชีวา | เหมือนเห็นแก่ข้าทั้งสองนี้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระผู้พงศ์เทวาในราศี |
ฟังนางพลางกล่าววาที | แก้วพี่อย่าประหวั่นพรั่นใจ |
อันองค์พระน้องของเจ้า | พี่รักเท่าดวงตาก็ว่าได้ |
ถึงผิดพลั้งจะสั่งสอนไป | จะเอาไว้เป็นเพื่อนชีวี |
ว่าพลางทางถอดธำมรงค์ | ให้โฉมยงมาหยารัศมี |
ทรงเปลื้องซ่าโบะของภูมี | ให้สการะวาตีกัลยา |
แล้วว่าซ่าโบะกับธำมรงค์ | สองอนงค์เอาไว้ดูต่างหน้า |
พอระงับดับความโศกา | ให้คลายทุกข์ถวิลหาอาวรณ์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางพี่น้องสองสมร |
ได้ธำมรงค์ทรงสะพักภูธร | บังอรค่อยคลายวายโศกี |
นางมาหยารัศมีนงลักษณ์ | จึ่งถอดปิ่นที่ปักเกศี |
นวลนางสการะวาตี | ถอดสพังมณีออกจากกรรณ |
ต่างประนมก้มกราบกับบาทา | ทูลถวายภัสดารังสรรค์ |
แต่พอได้ไปเห็นเป็นสำคัญ | ให้ทรงธรรม์ชมพลางต่างพักตรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระโฉมยงวงศ์อสัญแดหวา |
เห็นเครื่องทรงของสองสุดา | ยิ่งแสนเสนหาอาลัย |
กรกอดประทับไว้กับทรวง | เป็นห่วงด้วยความพิสมัย |
ชมโฉมโลมเล้าเอาใจ | เห็นทรามวัยค่อยคลายจาบัลย์ |
จึ่งตรัสว่าพี่ยาจะลาแล้ว | จงผ่องแผ้วผาสุกเกษมสันต์ |
สั่งนางพลางเสด็จจรจรัล | ไปปราสาทแก้วกัลยาณี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงห้องทองรจนา | พระกุมกรจินตะหรามารศรี |
ขึ้นบนแท่นรัตน์รูจี | ภูมีส้วมสอดกอดประคอง |
หยอกเย้าเคล้าดวงบุษบง | โฉมยงยึดพระหัตถ์ปัดป้อง |
พระจุมพิตชิดเชยปรางทอง | นวลละอองค้อนคมนัยนา |
รสรักหนักจิตพิศวง | สองทรงโศกสั่งเสน่หา |
พลางภิรมย์สมสนิทนิทรา | อยู่บนแท่นไสยาพรายพรรณ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ กล่อม
๏ บัดนั้น | ตำมะหงงเสนาคนขยัน |
กับสี่พี่เลี้ยงทรงธรรม์ | พากันมาจัดโยธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ยานี
๏ กะเกณฑ์พลขันธ์บรรจบ | สมทบกองทัพหมันหยา |
ตั้งเป็นกระบวนเบญจเสนา | ทัพหน้าทัพหลังทั้งปวง |
จัดทหารหน้าช้างพระที่นั่ง | พร้อมพรั่งทวนทองกองหลวง |
ปีกขวาปีกซ้ายตามกระทรวง | มิให้ล่วงหมู่หมวดตรวจกัน |
จัดช้างชนะงาออกมายืน | ผูกปืนสัปคับเครื่องมั่น |
โลดแล่นโจมทัพซับมัน | พลายพังดั้งกันแทรกแซง |
เกณฑ์ถ้วนกระบวนทัพคชสาร | หมอควาญขับขี่เข้มแข็ง |
ล้วนใส่เสื้อแดงหมวกแดง | ตกแต่งเตรียมไว้ทั้งไพร่นาย |
ผูกช้างพระที่นั่งหลังคาทอง | เรืองรองพระสุตรรูดสาย |
ประสันตาตัวดีขึ้นขี่ท้าย | คอยพระโฉมฉายจรลี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีเรืองศรี |
บรรทมเหนือแท่นรัตน์รูจี | ด้วยจินตะหราวาตีกัลยา |
ประคองเชยชื่นชมสมสวาท | แล้วทุกข์ที่จะนิราศเสนหา |
แต่เวียนสั่งทรามวัยอาลัยลา | จนสุริยาเยี่ยมยอดยุคันธร |
ไก่ขันกระชั้นเสียงอยู่แจ้วแจ้ว | ฟังแว่วหวั่นใจจะไกลสมร |
พิศพักตร์วนิดายิ่งอาวรณ์ | พลางสะท้อนถอนจิตจาบัลย์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
๏ อุ้มองค์นงลักษณ์ใส่ตักไว้ | ลูบไล้โลมนางพลางรับขวัญ |
จำเป็นจำพรากจากกัน | สาวสวรรค์ค่อยอยู่สวัสดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางจินตะหรามารศรี |
ให้ละห้อยสร้อยเศร้าแสนทวี | สงสารที่ถ้อยคำพระอำลา |
ก้มพักตร์ลงเช็ดชลเนตร | พลางทูลภูวเรศเชษฐา |
น้องจะอยู่ผู้เดียวเปลี่ยววิญญาณ์ | ทุกข์ถึงคะนึงหาไม่เว้นวาย |
เสด็จไปจงดีมีสุข | ให้ห่างภัยไกลทุกข์ทั้งหลาย |
อันศัตรูนอกกายในกาย | สารพัดแพ้พ่ายอย่าพ้องพาน |
แม้นเสร็จศึกนึกกลับมาหมันหยา | ให้สมซึ่งสัญญาได้ว่าขาน |
อย่าลืมคำลืมเคยที่โปรดปราน | เยาวมาลย์ทูลพลางทางโศกี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีเรืองศรี |
ตรัสปลอบขนิษฐาแล้วพาที | แก้วพี่อย่าพะวงสงกา |
ถึงตัวพี่จะไปรณรงค์ | แต่ใจจงพุ่มพวงดวงยิหวา |
แต่พอเสร็จพันตูไม่อยู่ช้า | จะเร่งรีบกลับมาหาน้อง |
พระโลมลาลูบหลังแล้วสั่งเล่า | ขวัญข้าวค่อยอยู่อย่าหม่นหมอง |
ตรัสพลางย่างเยื้องจากแท่นทอง | เสด็จไปยังห้องสองนารี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลง
๏ นั่งแนบแอบองค์กัลยา | ประคองชมมาหยารัศมี |
เชยปรางนางสการะวาตี | ตรัสสั่งสองศรีด้วยสุนทร |
ค่อยอยู่เถิดน้องอย่าหมองไหม้ | พี่จะลาทรามวัยไปก่อน |
อย่ากันแสงโศกาอาวรณ์ | เป็นกรรมจำจรจากกัน |
จงรู้รักอดออมถนอมจิต | สิ่งใดอย่าได้คิดเดียดฉันท์ |
สั่งเสร็จเสด็จจรจรัล | ขึ้นเฝ้าทรงธรรม์เจ้าธานี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ก้มเกล้าประณตบทบงสุ์ | ทูลองค์ประหมันทั้งสองศรี |
พระองค์จงอยู่สวัสดี | หลานนี้ขอถวายบังคมลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระตูผู้ผ่านหมันหยา |
ทั้งประไหมสุหรีศรีโสภา | ฟังราชนัดดาก็อาวรณ์ |
ต่างองค์อำนวยอวยชัย | เจ้าไปให้เป็นสุขสโมสร |
อันเหล่าอาสัตย์ดัสกร | จงพ่ายแพ้ฤทธิรอนพระหลานรัก ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีมีศักดิ์ |
รับพรภูวไนยด้วยใจภักดิ์ | บังคมลามาตำหนักประเสบัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงมนเทียรที่ข้างหน้า | พร้อมหมู่เสนากิดาหยัน |
เสด็จเข้ามณฑลพิธีกรรม์ | นั่งเหนือเตียงสุวรรณบรรจง |
ราชครูบีกูประมาหนา | ถวายอาเศียรพาทภิเษกสรง |
ลูบไล้สุคนธาอ่าองค์ | บรรจงทรงเครื่องวันอาทิตย์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
โทน
๏ ทรงภูษาแย่งยกกระหนกกระหนาบ | ฉลององค์เข้มขาบคดกริช |
ห้อยหน้าปักทองกรองดอกชิด | สังวาลวรรณวิจิตรจำรัสเรือง |
ทับทรวงพวงเพชรเม็ดแตง | ทองกรแก้วแดงประดับเนื่อง |
ธำมรงค์รจนาค่าเมือง | อร่างเรืองเพชรรัตน์ตรัจไตร |
ทรงมงกุฎกรรเจียกจอนสุวรรณ | วาวแววแก้วกุดั่นดอกไม้ไหว |
ห้อยอุบะบุหงามาลัย | เหน็บกริชฤทธิไกรแล้วไคลคลา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
ร่าย
๏ ขึ้นเกยกิริณีที่ประทับ | ผันพักตร์สู่พายัพทิศา |
พร้อมด้วยหมู่อำมาตย์มาตยา | โหราธิบดีชีพราหมณ์ |
พอได้ศุภฤกษ์ก็ลั่นฆ้อง | ประโคมคึกกึกก้องท้องสนาม |
ปุโรหิตฟันไม้ข่มนาม | ทำตามตำราพิชัยยุทธ์ |
ทัพหน้าทัพหลวงทัพหลัง | พร้อมพรั่งตั้งโห่อึงอุด |
ทหารโบกธงทองกระบี่ครุฑ | ฝรั่งจุดปืนใหญ่ให้สัญญา |
ชีพ่อก็เบิกโขลนทวาร | โอมอ่านอาคมคาถา |
เสด็จทรงช้างที่นั่งหลังคา | คลาเคลื่อนโยธาทุกหมวดกอง ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
โทน
๏ ช้างเอยช้างที่นั่ง | สะพัดพังหลังดีไม่มีสอง |
งามสรรพสรรพางค์หางบังคลอง | ผูกจำลองจำหลักลายพรายพรรณ |
สองหูพู่ห้อยพร้อยแพร้ว | จงกลแก้วแวววาวดาวกุดั่น |
ปกตระพองพรรณรายข่ายสุวรรณ | ผูกชนักจักกรั่นรึงรัด |
ประดับด้วยอภิรุมชุมสาย | ธงฉานธงชายมยุรฉัตร |
ม้าอาสาแซงนอกล้วนหอกซัด | เบียดเสียดเยียดยัดอัดแอ |
ขนัดหอกขนัดดาบโล่ดั้ง | คับคั่งธงทวนกระบวนแห่ |
สนั่นเสียงปี่กลองฆ้องกระแต | สังข์แตรแซ่เสนาะเพราะเพรียง |
เสียงช้างเสียงม้าโกลาหล | เสียงคนอึงอื้อบันลือเสียง |
กองหลังรั้งท้ายคุมลำเลียง | รีบร้นขนเสบียงตามไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
โอ้ร่าย
๏ ครั้นออกมานอกนคเรศ | พระทรงเดชเศร้าสร้อยละห้อยไห้ |
เหลียวหลังตั้งตาดูเวียงชัย | หฤทัยหวั่นหวั่นถึงกัลยา |
โอ้ว่าเจ้าดวงยิหวาพี่ | ปานนี้จะคร่ำครวญหวนหา |
ใครจะปลอบโฉมงามสามสุดา | แต่พอพาใจเศร้าบรรเทาคลาย |
สงสารน้ำคำที่พร่ำสั่ง | คิดถึงความหลังแล้วใจหาย |
ครวญพลางกำสรดระทดกาย | แล้วคิดอายพวกพลมนตรี |
จึงชักม่านทองทั้งสี่ทิศ | ดังจะปิดบังแสงสุริย์ศรี |
ลมหวนอวลกลิ่นสุมาลี | เหมือนกลิ่นผ้ายาหยีซึ่งเปลี่ยนมา |
แว่วเสียงสำเนียงบุหรงร้อง | ว่าเสียงสามนิ่มน้องเสน่หา |
พระแย้มเยี่ยมม่านทองทัศนา | เห็นแต่ป่าพุ่มไม้ใบบัง |
เอนองค์ลงอิงพิงเขนย | กรเกยก่ายพักตร์ถวิลหวัง |
รสรักร้อนรนพ้นกำลัง | ชลนัยน์ไหลหลั่งลงพรั่งพราย ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ โอด
ร่าย
๏ บัดนั้น | ประสันตาพี่เลี้ยงพระโฉมฉาย |
ขี่ช้างพระที่นั่งมาข้างท้าย | เห็นพระไม่สบายคลายทุกข์ทน |
จึงเสแสร้งแกล้งกล่าววาจา | ป่านี้สนุกกว่าทุกแห่งหน |
แต่เห็นมามากมายหลายตำบล | ก็ยังไม่ชอบกลเหมือนป่านี้ |
แม้นไม่มีราชการงานเดือน | คงจะมาปลูกเรือนอยู่ที่นี่ |
น้ำท่าหาง่ายสบายดี | สารพัดจะมีไม่ยากใจ |
ถ้าเลิกทัพกลับมาหมันหยา | จะจำป่าไว้ทูลแถลงไข |
ให้พระพาสามสมรอรไท | มาประพาสพรรณไม้ให้สำราญ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์เทวาศักดาหาญ |
นิ่งฟังประสันตาอยู่ช้านาน | ค่อยคลายร้อนรำคาญวิญญาณ์ |
จึงลุกขึ้นตรัสถามทันที | ป่านี้หรือสนุกนักหนา |
ตรัสพลางทางทอดทัศนา | ไหนนี่บอกมาอย่าลวงกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ประสันตาแสนกลคนขยัน |
ทำตกใจทูลองค์พระทรงธรรม์ | ข้าสำคัญมั่นคงอยู่ดงนี้ |
ด้วยช้างบาทย่างทีสะเทิน | เดินเกินตำบลมาพ้นที่ |
เขาว่าดงหน้าก็ยังมี | ถึงจะชี้เชิญให้ทัศนา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระโฉมยงองค์อสัญแดหวา |
ยิ้มพลางทางตอบประสันตา | ปดเล่นต่อหน้าไม่อายใจ |
ครั้นซักไซ้ไล่หาความจริง | ยังกลอกกลิ้งกลับลวงไปใหม่ |
ชอบผลักให้พลัดลงไป | คนอะไรเช่นนี้ก็ยังมี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ชมดง
๏ ว่าพลางทางชมคณานก | โผนผกจับไม้อึงมี่ |
เบญจวรรณจับวัลย์ชาลี | เหมือนวันพี่ไกลสามสุดามา |
นางนวลจับนางนวลนอน | เหมือนพี่แนบนวลสมรจินตะหรา |
จากพรากจับจากจำนรรจา | เหมือนจากนางสการะวาตี |
แขกเต้าจับเต่าร้างร้อง | เหมือนร้างห้องมาหยารัศมี |
นกแก้วจับแก้วพาที | เหมือนแก้วพี่ทั้งสามสั่งความมา |
ตระเวนไพรร่อนร้องตระเวนไพร | เหมือนเวรใดให้นิราศเสนหา |
เค้าโมงจับโมงอยู่เอกา | เหมือนพี่นับโมงมาเมื่อไกลนาง |
คับแคจับแคสันโดษเดี่ยว | เหมือนเปล่าเปลี่ยวคับใจในไพรกว้าง |
ชมวิหคนกไม้ไปตามทาง | คะนึงนางพลางรีบโยธี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
ร่าย
๏ แรมร้อนนอนพักมาหลายวัน | ถึงทางร่วมกุเรปันกรุงศรี |
พบทัพกะหรัดตะปาตี | ภูมีให้หยุดโยธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | กะหรัดตะปาตีเชษฐา |
เห็นระเด่นมนตรีก็ปรีดา | จึงเสด็จมาหาทันใด |
แล้วบอกว่าสมเด็จพระบิดร | ให้ข้าคุมนิกรน้อยใหญ่ |
มาบรรจบทัพพระองค์ไป | ช่วยพิชัยดาหาธานี |
หลายวันแล้วแต่มาคอยท่า | ยับยั้งโยธาอยู่ที่นี่ |
ข่าวศึกว่าประชิดติดบุรี | มาจะจรลีรีบไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีเฉลยไข |
ข้าก็เร่งรีบร้อนไม่นอนใจ | แต่ทางไกลอ้อมกว่ากุเรปัน |
ว่าแล้วสองกษัตริย์ก็จัดทัพ | พร้อมสรรพพหลพลขันธ์ |
เข้ากระบวนสมทบบรรจบกัน | แล้วยกจากที่นั่นรีบมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงเนินทรายชายทุ่ง | แว่นแคว้นแดนกรุงดาหา |
จึงให้หยุดกองทัพตั้งพลับพลา | ที่ต้องนามครุฑาเกรียงไกร |
แล้วบัญชาให้ตำมะหงง | ท่านจงรีบเข้าไปกรุงใหญ่ |
ทูลศรีปัตหราเรืองชัย | แก้ไขอย่าให้เคืองบาทา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ตำมะหงงรับสั่งใส่เกศา |
ก้มเกล้ากราบถวายบังคมลา | มาขึ้นม้าควบขับไปฉับพลัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงแจ้งคดี | แก่ยาสาเสนีคนขยัน |
บัดนี้องค์อิเหนากุเรปัน | กรีธาทัพขันธ์ยกมา |
สองทัพกับกะหรัดตะปาตี | มาช่วยบุรีดาหา |
จงพาเราเข้าเฝ้าพระผ่านฟ้า | จะกราบทูลกิจจาให้แจ้งการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ยาสาปรีดิ์เปรมเกษมศานต์ |
จึงพากันเข้าไปมิทันนาน | ยังสถานท้องพระโรงรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ นบนิ้วประนมบังคมคัล | กราบทูลทรงธรรม์ถ้วนถี่ |
บัดนี้ระเด่นมนตรี | กับกะหรัดตะปาตียกมา |
รี้พลมากมายหลายแสน | ตั้งอยู่ปลายแดนกรุงดาหา |
ใช้ให้ตำมะหงงเสนา | เข้ามาเฝ้าเบื้องบาทบงสุ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระปิ่นปักนัคเรศสูงส่ง |
แจ้งว่าอิเหนาสุริย์วงศ์ | มาช่วยรณรงค์ราวี |
มีความเกษมสันต์หรรษา | ดังได้ผ่านเมืองฟ้าราศี |
ด้วยนัดดาเรืองอิทธิฤทธี | เห็นว่าบุรีไม่อันตราย |
พระเปรมปรีดิ์ดีใจอยู่ในพักตร์ | มิให้ประจักษ์คนทั้งหลาย |
จึงแย้มเยื้อนเอื้อนโอษฐ์อภิปราย | ซึ่งหลานชายของเราอุตส่าห์มา |
ตำมะหงงไปบอกให้ถ้วนถี่ | ว่ากูนี้ขอบใจนักหนา |
เชิญให้เข้ามาในพารา | จะได้พักโยธาให้สำราญ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ตำมะหงงได้ฟังพระบรรหาร |
จึงสนองมธุรสพจมาน | พระหลานรักถวายบังคมมา |
ให้ข้าทูลองค์พระทรงฤทธิ์ | ด้วยโทษผิดติดพันอยู่หนักหนา |
จะขอทำการสนองพระบาทา | เสร็จแล้วจึงจะมาอัญชลี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระผู้ผ่านดาหากรุงศรี |
ได้ฟังตำมะหงงเสนี | มิได้มีพจมานประการใด |
จึงผันพระพักตร์มาบัญชา | แก่สุหรานากงศรีใส |
บัดนี้อิเหนาชาญชัย | กรีธาทัพใหญ่ยกมา |
กับกะหรัดตะปาตีพี่ยานั้น | แม่นมั่นเหมือนคำของเจ้าว่า |
เจ้าจะอยู่ทำการในพารา | หรือจะช่วยเชษฐาราวี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สุหรานากงเรืองศรี |
ได้ฟังผ่านฟ้าพาที | อัญชลีแล้วสนองพระบัญชา |
แต่มาอยู่ดาหาก็ช้านาน | ยังมิได้ทำการอาสา |
ขอกราบบาทภูวนาถบังคมลา | ออกไปช่วยเชษฐาชิงชัย |
ทูลพลางทางถวายอัญชลี | ลาศรีปัตหราเป็นใหญ่ |
ออกมาที่อยู่ภูวไนย | ตรวจเตรียมทัพชัยฉับพลัน |
ครั้นเสร็จเสด็จทรงอาชา | พร้อมพี่เลี้ยงเสนากิดาหยัน |
ยกจากพระนครจรจรัล | ตำมะหงงกุเรปันก็ตามมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงหยุดจัตุรงค์ | เสด็จไปเฝ้าองค์พระเชษฐา |
ถ้อยทีมีใจปรีดา | ตรัสสั่งสนทนาพาที |
แล้วแถลงแจ้งเหตุบรรยาย | แต่ต้นจนปลายถ้วนถี่ |
วันเมื่อน้องมาถึงธานี | ได้ทูลว่าพระพี่จะยกมา |
ดูทีท้าวตรัสเห็นขัดเคือง | ว่าไหนจะจากเมืองหมันหยา |
เมียเขาเขารักดังแก้วตา | หรือจะอาจคลาดคลาเห็นผิดไป |
แต่พระเชษฐาให้หาตัว | ก็ไม่มีความกลัวยังขัดได้ |
เกิดณรงค์สงครามก็เพราะใคร | จนเดือดร้อนทั่วไปทั้งธานี |
นับประสาอะไรแก่ตัวเรา | ถึงตายเขาก็ไม่ดูผี |
เห็นเคืองขัดตรัสซ้ำอยู่ดังนี้ | พระภูมีจงทราบบทมาลย์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีใจหาญ |
ฟังสุหรานากงแจ้งการ | จึงตอบพจมานอนุชา |
ซึ่งท่านขุ่นแค้นเคืองนัก | ก็ประจักษ์แจ้งใจไม่กังขา |
ไม่ถือโทษโกรธตอบพระผ่านฟ้า | จะตั้งหน้าหักหาญพาลภัย |
เสร็จศึกจะเข้าไปอัญชลี | จะด่าตีก็ตามอัชฌาสัย |
เมื่อได้เกินแล้วก็จนใจ | ตามแต่ภูวไนยจะปรานี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ตำมะหงงบังคมเหนือเกศี |
จึงกราบทูลแถลงแจ้งคดี | องค์ศรีปัตหรารับสั่งมา |
ให้เข้าบังคมภูวไนย | ว่าชี้ชอบขอบพระทัยหนักหนา |
ขอเชิญเข้าไปในพารา | จะได้พักโยธาพลาการ |
ข้าจึงทูลสนองพจมาน | พระนัดดาจะทำการแก้ตัวก่อน |
เสร็จศึกจึงจะบทจร | มาเฝ้าภูธรธิบดี |
พระมิได้ตอบคำว่าขาน | ตรัสแต่กิจการกรุงศรี |
แต่ดูพระกิริยาพาที | เหมือนจะเคลื่อนคลายที่โกรธา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระโฉมยงองค์อสัญแดหวา |
ได้ฟังตำมะหงงเสนา | เกษมสันต์หรรษาเป็นพ้นไป |
จึงเสด็จคลาไคลเข้าในห้อง | ให้ชักปิดม่านทองสองไข |
สุหรานากงทรงชัย | ก็กลับไปที่ประทับพลับพลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
https://vajirayana.org/system/files/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B2_264950.pdf