- คำอธิบาย ว่าด้วยบทละคร อิเหนาฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ
- เล่มที่ ๑
- เล่มที่ ๒
- เล่มที่ ๓
- เล่มที่ ๔
- เล่มที่ ๕
- เล่มที่ ๖
- เล่มที่ ๗
- เล่มที่ ๘
- เล่มที่ ๙
- เล่มที่ ๑๐
- เล่มที่ ๑๑
- เล่มที่ ๑๒
- เล่มที่ ๑๓
- เล่มที่ ๑๔
- เล่มที่ ๑๕
- เล่มที่ ๑๖
- เล่มที่ ๑๗
- เล่มที่ ๑๘
- เล่มที่ ๑๙
- เล่มที่ ๒๐
- เล่มที่ ๒๑
- เล่มที่ ๒๒
- เล่มที่ ๒๓
- เล่มที่ ๒๔
- เล่มที่ ๒๕
- เล่มที่ ๒๖
- เล่มที่ ๒๗
- เล่มที่ ๒๘
- เล่มที่ ๒๙
- เล่มที่ ๓๐
- เล่มที่ ๓๑
- เล่มที่ ๓๒
- เล่มที่ ๓๓
- เล่มที่ ๓๔
- เล่มที่ ๓๕
- เล่มที่ ๓๖
- เล่มที่ ๓๗
- เล่มที่ ๓๘
เล่มที่ ๑
ช้า
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงสี่องค์ทรงธรรม์นาถา |
เป็นหน่อเนื้อเชื้อวงศ์เทวา | บิตุเรศมารดาเดียวกัน |
รุ่งเรืองฤทธาศักดาเดช | ได้ดำรงนคเรศเขตขัณฑ์ |
พระเชษฐาครองกรุงกุเรปัน | ถัดนั้นครองดาหาธานี |
องค์หนึ่งครองกาหลังบุรีรัตน์ | องค์หนึ่งครองสิงหัดส่าหรี |
เฉลิมโลกโลกาธาตรี | ไม่มีผู้รอต่อฤทธิ์ |
ระบือลือทั่วทุกประเทศ | ย่อมเกรงเดชเดชาอาญาสิทธิ์ |
บำรุงราษฎร์ดับเข็ญอยู่เป็นนิจ | โดยทางทศพิธราชธรรม์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ชมตลาด
๏ มีพระมเหสีห้าองค์ | ดั่งอนงค์นางฟ้ากระยาหงัน |
เลือกล้วนสุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์ | กษัตริย์ครองเขตขัณฑ์สวรรยา |
ตั้งแต่งตามตำแหน่งครบที่ | คือประไหมสุหรีเสน่หา |
มะเดหวีที่สองรองลงมา | แล้วมะโตโสภานารี |
ที่สี่ลิกูนงเยาว์ | ที่ห้านั้นเหมาหลาหงี |
อันอัครชายาทั้งห้านี้ | ตั้งได้แต่สี่พารา |
ประดับด้วยสุรางค์นางสนม | ล้วนอุดมรูปทรงวงศา |
ถ้วนหมื่นหกพันกัลยา | วิลาสเลิศลักขณาทุกนางใน |
สำหรับขับรำบำเรอราช | พิณพาทย์จำเรียงเสียงใส |
ผลัดกันปันโมงมาคอยใช้ | พนักงานของใครระไวระวัง |
มีเหล่าเถ้าแก่ท้าวนาง | งานเครื่องงานกลางผู้รับสั่ง |
โขลนจ่าหลวงแม่เจ้าชาวคลัง | จัดแจงแต่งตั้งครบครัน ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
ร่าย
๏ มีหมู่มาตยาสามนต์ | โยธีรี้พลแข็งขัน |
นับหมื่นพื้นหาญชาญฉกรรจ์ | เคยณรงค์โรมรันไม่ครั่นคร้าม |
ม้ารถคชไกรมิใช่ชั่ว | แต่ละตัวแกล้วกล้ากลางสนาม |
ทนปืนยืนยงในสงคราม | ลือนามขามฤทธิ์ทุกทิศไป |
นานานคเรศประเทศราช | เข็ดขยาดย่อท้อไม่ต่อได้ |
ต่างถวายสุวรรณมาลัย | โอรสยศไกรแลธิดา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ยานี
๏ อันสี่ธานีราชฐาน | กว้างใหญ่ไพศาลนักหนา |
เทเวศร์นฤมิตด้วยฤทธา | สนุกดั่งเมืองฟ้าสุราลัย |
มีปราสาททั้งสามตามฤดู | เสด็จอยู่โดยจินดาอัชฌาสัย |
หลังคาฝาผนังนอกใน | แล้วไปด้วยโมราศิลาทอง |
ภูเขาทองรองฐานมีมารแบก | ยอดแทรกยอดใหญ่ไม้สิบสอง |
แก้วไพฑูรย์ทำเป็นลำยอง | บัญชรช่องชัชวาลบานบัง |
พระปรัศว์ซ้ายขวาอ่าโถง | ท้องพระโรงรจนาหน้าหลัง |
พระแท่นแก้วกุดั่นบัลลังก์ | กางกั้นเศวตฉัตรอยู่อัตรา |
บรรจถรณ์ที่ไสยาสน์อาสน์สุวรรณ | มีฉากแก้วแพรวพรรณคั่นฝา |
ที่เสวยที่สรงคงคา | ที่นั่งเย็นอยู่หน้ามนเทียรทอง |
พรรณไม้ดอกลูกปลูกกระถาง | ไว้หว่างอ่างแก้วเป็นแถวถ้อง |
ราบรื่นพื้นชาลาดังหน้ากลอง | อิฐทองปูลาดสะอาดตา |
มีทิมที่ล้อมวงองครักษ์ | นอกกองเกณฑ์พิทักษ์รักษา |
โรงแสงโรงภูษามาลา | เรียงเรียบรัถยาหน้าพระลาน |
โรงเครื่องเนื่องกันเป็นหลั่นลด | โรงม้าโรงรถคชสาร |
ติกาหรังสำหรับพระกุมาร | อยู่นอกปราการกำแพงวัง ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ ประตูลักลงท่าชลาลัย | มีโรงเรือเรียงไปริมฝั่ง |
เรือศรีสุวรรณบัลลังก์ | เรือแข่งเรือที่นั่งตั้งบนม้า |
เรือกิ่งเอกไชยใส่บุษบก | งามกระหนกลวดลายท้ายหน้า |
พนักงานตำรวจใหญ่ไตรตรา | เกณฑ์ไพร่ให้รักษานาวี |
ตำหนักแพแลล้ำอำไพ | มุขลดพาไลหลังคาสี |
ช่อฟ้าหน้าบันปราลี | ล้วนมณีเนาวรัตน์ชัชวาล |
ข้างหน้าตำหนักน้ำนั้นทำกรง | สำหรับราชสุริย์วงศ์สรงสนาน |
เบื้องบนบังสาดดาดเพดาน | ผูกม่านมู่ลี่ลายทอง |
ฤดูเดือนสิบเอ็ดเสด็จลง | ลอยกระทงทรงประทีปเป็นแถวถ้อง |
ทอดทุ่นท้ายน้ำประจำซอง | ตั้งกองล้อมวงพระทรงธรรม์ |
อันถนนหนทางท้องฉนวน | ศิลาลายลาดล้วนเลือกสรร |
มีตึกแถวทิมรอบขอบคัน | เรือนสนมกำนัลเป็นหลั่นมา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
สมิงทอง
๏ ท้องสนามแกล้งปราบราบรื่น | พ่างพื้นปัถพีไม่มีหญ้า |
กว้างใหญ่ไพศาลสุดตา | เตียนสะอาดดาษดาด้วยทรายทอง |
มีสุวรรณพลับพลาบนปราการ | สูงตระหง่านเงื้อมฟ้าสิบห้าห้อง |
ช่อฟ้าปราลีลำยอง | ฉลักฉลุบุทองอร่ามไป |
สำหรับที่ทอดพระเนตรสระสนาน | ล่อแพนผัดพานเป็นการใหญ่ |
ประลองเหล่าทหารชาญชัย | ยิงธนูศรใส่ยาพิษ |
ตั้งป้อมหัดปืนยิงหุ่น | แม่นยำซ้ำกระสุนไม่มีผิด |
โล่ดั้งดาบฟันกระชั้นชิด | เพลงกริชสันทัดทั่วทุกตัวคน |
บ้างรำทวนเปลี่ยนท่าบนพาชี | ขับขี่เคยศึกฝึกฝน |
ประลองคชสารสู้บำรูชน | ให้ชำนาญในกลการยุทธ์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ร่าย
๏ รอบราชนิเวศน์เขตขัณฑ์ | มีปราการแก้วกั้นสูงสุด |
ซุ้มทวารบานสุวรรณชมพูนุท | ประตูลักช่องกุฏิ์สลับกัน |
มีทิมแถวโรงช้างระวางค่าย | เชิงเรียงรายเขื่อนเพชรเขื่อนขัณฑ์ |
หอรบแลสล้างนางจรัล | ป้อมสูงสามชั้นเป็นหลั่นลด |
รายปืนจินดาจังกาส่อง | วางประจำทุกช่องเสมาหมด |
เชิงเทินดังเนินบรรพต | บันไดลดเลี่ยนลาดสะอาดตา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ชมตลาด
๏ ท่ามกลางทางท้องสถลมาศ | ลำดับดาดอิฐแผ่นแน่นหนา |
บ้านช่องสองข้างมรรคา | ล้วนเคหาหน้าถังนั่งร้าน |
เหล่าพวกกรมท่าเจ้าภาษี | มั่งมีสมบัติพัสถาน |
เรือนริมรัถยาฝากระดาน | ตึกกว้านบ้านขุนนางนองเนือง |
สุเหร่าเรียงเคียงคั่นปั้นหยา | ก่อผนังหลังคามุงกระเบื้อง |
ศาลเทพารักษ์หลักเมือง | นับถือลือเลื่องทั้งกรุงไกร |
เสาชิงช้าอาวาสวัดพราหมณ์ | ทำตามประเพณีพิธีไสย |
หอกลองอยู่กลางเวียงชัย | แม้นเกิดไฟไพรีตีสัญญา |
สะพานช้างทางข้ามคชสาร | ก่ออิฐปูกระดานไม้หนา |
คลองหลอดแลลิ่วสุดตา | น้ำลงคงคาไม่ขอดเคือง |
นาวาค้าขายพายขึ้นล่อง | ตามแม่น้ำลำคลองแน่นเนื่อง |
แพจอดตลอดท่าหน้าเมือง | นองเนืองเป็นขนัดในนที |
ข้าวของต่างต่างเอาวางขาย | แพรม้วนมากมายหลายสี |
ยกทองล่องจวนเจ็ดตะคลี | พลอยมณีเพชรนิลจินดา |
บริบูรณ์พูนสุขด้วยสมบัติ | แก้วเก้าเนาวรัตน์วัตถา |
ทุกสิ่งสรรพ์เอมโอชโภชนา | ย่อมเยาราคาสารพัน ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
เบ้าหลุด
๏ ลูกค้าวาณิชทุกนิเวศน์ | มาแต่ต่างประเทศเขตขัณฑ์ |
สำเภาจอดทอดท่าเรียงรัน | สลุบแขกกำปั่นวิลันดา |
จีนจามอะแจแซ่ซ้อง | คับคั่งทั้งสิบสองภาษา |
แสนสนุกสุขเกษมเปรมปรา | ถ้วนหน้าประชาชนมนตรี |
บ้างฝึกสอนคนรำทำบทบาท | พิณพาทย์ระนาดฆ้องอึงมี่ |
พวกขุนนางต่างหัดมโหรี | สาวสาวเสียงดีมีหลายคน |
บ้างลงท่าโกนจุกสนุกสนาน | มีงานการกึกก้องทุกแห่งหน |
บ้างตั้งบ่อนปลากัดนัดไก่ชน | ทรหดอดทนเป็นเดิมพัน |
บ้างเล่นวิ่งวัวคนโคระแทะ | ชนแพะแกะกระบือคู่ขัน |
บ้างเล่นว่าวคุลาคว้าพนัน | ปากเป้าสั้นโห่ฉาววิ่งราวมา |
ราตรีมีหนังประชันเชิด | ฉลุฉลักลายเลิศเลขา |
บ้างเล่นเพลงครึ่งท่อนกลอนสักวา | ทั้งสุดใจไก่ป่าสารพัน ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
ชมตลาด
๏ ฝ่ายฝูงสาวสาวชาวกรุง | ก็บำรุงรูปโฉมเฉิดฉัน |
ขัดขมิ้นหนุนเนื้อเจือจันทน์ | หวีผมคมสันกันไร |
ที่ลูกเหล่าเผ่าพงศ์พวกผู้ดี | รูปทรงส่งศรีผ่องใส |
ซ่อนตัวกลัวจะเก็บเป็นนางใน | ถึงมีงานการใหญ่ไม่ไปดู |
ลางพวกพึ่งดรุณรุ่นสาว | เจ้าบ่าวไปปลูกหอขอสู่ |
บ้างลอบลักรักเร้นเป็นชู้ | หมากพลูพวงมาลัยให้กัน |
พวกหนุ่มหนุ่มพากเพียรเวียนแวดชาย | มุ่งหมายรักใคร่ใฝ่ฝัน |
หยอกเอินเดินเคียงเมียงมัน | ติดพันพูดจาเป็นแยบคาย |
บ้างดีดนิ้วผิวปากทำเพลง | ล้วนนักเลงเจ้าชู้ฉุยฉาย |
ลดเลี้ยวเที่ยวเล่นตามสบาย | หญิงชายเป็นสุขทุกคืนวัน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ปะหลิ่ม
๏ ทิศใต้ภายนอกธานี | มีสระสวนศรีสะตาหมัน |
มิ่งไม้หลายอย่างต่างพรรณ | ล้วนแกล้งกลั่นสรรมาปลูกไว้ |
บ้างเผล็ดผลผการะย้าย้อย | ช่อช้อยชูก้านบานไสว |
พ่างพื้นรื่นร่มสำราญใจ | มีตำหนักน้อยในวารี |
อันโบกขรณีสี่เหลี่ยม | น้ำเปี่ยมเทียมปากสระศรี |
ใสสะอาดปราศจากราคี | ดังแสงแก้วมณีรจนา |
มีพรรณโกสุมปทุมมาลย์ | ตูมบานแย้มกลีบกลิ่นกล้า |
เกสรร่วงลงในคงคา | พระพายพาหอมฟุ้งจรุงใจ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
สระบุหร่ง
๏ นอกเมืองมีสระตำบลหนึ่ง | วารีลึกซึ้งเย็นใส |
ริมรอบขอบคันล้วนพรรณไม้ | ระบัดใบบังแสงสุริยง |
เป็นที่ภูธรแต่ก่อนมา | แม้นปราบข้าศึกเสร็จเสด็จสรง |
ประดับด้วยโกมุทบุษบง | ลินจงอุบลบัวบาน |
มีพลับพลาที่ประทับยับยั้ง | อยู่ริมฝั่งสระใหญ่ไพศาล |
สำหรับเมืองเนื่องมาแต่บุราณ | ทั้งสี่ราชฐานพารา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
พระทอง
๏ แต่กรุงดาหาธานี | มีคิรีวิลิศมาหรา |
อยู่นอกเมืองข้างเบื้องบูรพา | มรรคาวันหนึ่งถึงบรรพต |
อารักษ์เรืองฤทธิ์สถิตสถาน | เชี่ยวชาญลือชาปรากฏ |
ย่อมเป็นที่นับถือลือยศ | แห่งชาวชนบทพระบุรี |
แม้นมีเหตุเภทพานประการใด | ก็บวงบนเทพไทเรืองศรี |
ทำตามบุราณราชประเพณี | ถึงปีไปเคารพอภิวันท์ |
ทั้งสี่พระองค์วงศ์เทเวศร์ | ดำรงนคเรศเกษมสันต์ |
ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินสิ้นทั้งนั้น | เป็นสุขทุกวันทุกเวลา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ช้า
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงพิชัยเขตขัณฑ์หมันหยา |
แสนสนุกสุขเกษมเปรมปรา | บรรดากรุงชวาไม่เทียมทัด |
เป็นใหญ่ยิ่งกว่าทุกธานี | แต่ก่อนตั้งบุรีสี่กษัตริย์ |
ประกอบด้วยแก้วเก้าเนาวรัตน์ | ไอสูรย์สมบัติศฤงคาร |
มีหมู่มาตยาข้าเฝ้า | สองเหล่าพลเรือนแลทหาร |
โยธีนับหมื่นพื้นเชี่ยวชาญ | แต่ละคนเคยชำนาญในการรบ |
อยู่ยงคงกระพันสาตรา | วิชาโล่เขนเจนจบ |
ราชรถคชสารสินธพ | เลิศลบลือกว่าทุกธานี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ ปางก่อนพระนครหมันหยา | ประชาราษฎร์มาตยาเกษมศรี |
ตั้งแต่ระตูภูมี | สุดสิ้นชีวีทิวงคต |
ก็เย็นเยียบเงียบเหงาเปล่าใจ | ทั่วนิเวศน์เวียงชัยชนบท |
ยังแต่ประไหมสุหรีมียศ | โศกศัลย์รันทดทุกเวลา |
มีราชธิดาสามองค์ | งามทรงวงพักตร์เพียงเลขา |
พี่นางทรงนามสมญา | ชื่อนิหลาอระตานารี ฯ |
พระผู้ผ่านพิภพกุเรปัน | ตุนาหงันเป็นประไหมสุหรี |
อันระเด่นดาหราวาตี | บุตรีที่สองรองลงมา |
ท้าวดาหาตุนาหงันไป | เป็นประไหมสุหรีในดาหา |
ยังแต่น้องนุชสุดโสภา | กัลยาแรกรุ่นจำเริญวัย |
ชื่อระเด่นจินดาส่าหรี | พระชนนีถนอมนักรักใคร่ |
กษัตริย์ใดมาขออรไท | ไม่ยินยอมยกให้ไปไกลองค์ |
หวังจะให้เป็นเอกในเศวกฉัตร | สืบตระกูลกษัตริย์สูงส่ง |
อันท้าวมังกันฤทธิรงค์ | ก็เนื่องในสุริย์วงศ์กันมา |
ได้ครอบครองสวรรยาธานี | ทรงธรรม์นั้นมีโอรสา |
พระคิดถึงระตูผู้มรณา | จะบำรุงพาราให้เรืองไป |
จึงตกแต่งของมาตุนาหงัน | ชนนีนางนั้นก็อวยให้ |
อภิเษกเอกองค์โอรสไว้ | ในพิชัยหมันหยาธานี ฯ |
ฯ ๑๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายท้าวกุเรปันเรืองศรี |
เสวยราชสมบัติสวัสดี | สุขเกษมเปรมปรีดิ์มาช้านาน |
จึงมีพระโอรสา | ด้วยลิกูกัลยายอดสงสาร |
ชื่อกะหรัดตะปาตีกุมาร | รูปทรงสัณฐานโสภา |
พระบิตุเรศมารดาทั้งห้าองค์ | พิศวงจงรักหนักหนา |
เย็นเช้าเฝ้าชมทุกเวลา | แสนสนิทเสน่หาดังดวงใจ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ จึงจัดกิดาหยันน้อยน้อย | ถ้วนร้อยโปรดปรานประทานให้ |
ทั้งนางนมพี่เลี้ยงแลสาวใช้ | เจ้าขรัวยายผู้ใหญ่ได้บังคับ |
ประทานทั้งเงินทองของขวัญ | ตามขนบครบครันเครื่องประดับ |
สร้อยสุวรรณสังวาลบานพับ | เกี้ยวแก้วแวววับสำหรับยศ |
ให้ตั้งกรรมทำกิจวิทยา | พร้อมคณะพระมหาดาบส |
ชุบกริชประสิทธิ์ให้โอรส | เลื่องหล้าปรากฏฤทธิไกร |
ครั้นท้าวกาหลังมีบุตรี | ด้วยลิกูนารีศรีใส |
ชื่อบุษบารากายาใจ | ตุนาหงันกล่าวไว้แก่ลูกยา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ คิดจะให้ประไหมสุหรีนั้น | ทรงครรภ์พระโอรสา |
จะได้สืบสุริย์วงศ์พงศ์เทวา | ดำรงขัณฑเสมาธานี |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ คิดพลางทางถวายเครื่องบวงสรวง | บำบวงเทวราชเรืองศรี |
ขออารักษ์หลักเมืองเรืองฤทธี | ได้ปรานีเชิญช่วยจงสมคิด |
ให้ประไหมสุหรีนั้นมีบุตร | เป็นบุรุษรูปโฉมประโลมจิต |
ได้ครอบครองพระนครขจรฤทธิ์ | ลือสะท้านทั่วทิศทั้งปวง |
แม้นสมปรารถนาดังว่าขาน | จะแต่งแก้บนบานบวงสรวง |
เทียนทองชวาลาบุปผาพวง | พรรณรายรุ้งร่วงด้วยเนาวรัตน์ |
จะแผ่ทองเนื้อเก้าหุ้มเสาศาล | เอาตาดคำทำม่านเพดานดัด |
อีกทั้งทิวธงราชวัติ | ชุมสายเศวตฉัตรชัชวาล |
ทั้งแพะแกะโคกระทิงสิ่งละร้อย | จะปล่อยไว้ในเทวสถาน |
จะสมโภชเจ็ดทิวาราตรีกาล | มีงานมหรสพครบครัน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | องค์ประไหมสุหรีเฉิดฉัน |
ร่วมภิรมย์สมสุขด้วยทรงธรรม์ | เมื่อจวนจะมีครรภ์พระลูกรัก |
ราตรีเข้าที่พระบรรทม | ด้วยบรมนรินทร์ปิ่นปัก |
บังเกิดนิมิตฝันอัศจรรย์นัก | ว่านงลักษณ์นั่งเล่นที่ชาลา |
มีพระสุริยงทรงกลด | ชักรถมาในเวหา |
แจ่มแจ้งแสงสว่างทั้งโลกา | ตกลงตรงหน้านางรับไว้ |
ครั้นนิทราตื่นฟื้นองค์ | ให้หลากจิตพิศวงสงสัย |
จึ่งทูลพระภัสดาทันใด | โดยในนิมิตเยาวมาลย์ ฯ |
ฯ ๘ คำฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | องค์ศรีปัตหราได้ทราบสาร |
นิ่งนึกตรึกดูก็แจ้งการ | จะมีครรภ์กุมารเป็นมั่นคง |
พระเร่งเกษมสันต์หรรษา | สมถวิลจินดาดังประสงค์ |
พอรุ่งรางสร่างแสงสุริยง | ก็อ่าองค์ทรงเครื่องรูจี |
เสด็จออกยังท้องพระโรงคัล | นั่งเหนือแท่นสุวรรณจำรัสศรี |
แล้วเล่าความนิมิตเทวี | แก่โหรเฒ่าทั้งสี่ทันใด ฯ |
ฯ ๖ คำฯ
๏ บัดนั้น | ทั้งสี่โหราอัชฌาสัย |
พิเคราะห์ดูเห็นแจ้งไม่แคลงใจ | ต่างทูลภูวไนยไปพลัน |
อันพระสุบินนี้ดีนัก | จะได้โอรสรักเป็นแม่นมั่น |
อาจองทรงเดชดั่งสุริยัน | ทุกนิเวศน์เขตขัณฑ์ไม่ต้านทาน |
จะเป็นที่ดับเข็ญให้เย็นยุค | ราษฎรจะได้สุขเกษมศานต์ |
ซึ่งนิมิตยามจันทร์วันอังคาร | จวนเวลากาลอโณทัย |
สิ่งใดพระองค์ประสงค์นัก | ตำราว่าจักพลันได้ |
แต่ในสองเดือนถ้าเคลื่อนไป | พระอย่าไว้ชีวิตโหรา ฯ |
ฯ ๘ คำฯ
๏ เมื่อนั้น | พระทรงภพกุเรปันหรรษา |
จึ่งดำรัสตรัสสั่งเสนา | ให้จัดเสื้อผ้าแพรพรรณ |
ทั้งเงินทองข้าวของหลากหลาย | มาให้โหรผู้ทายทำนายฝัน |
สั่งเสร็จเสด็จจรจรัล | เข้าปราสาทสุวรรณรจนา ฯ |
ฯ ๔ คำ เสมอ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ประไหมสุหรีเสน่หา |
อยู่เย็นเป็นสุขทุกเวลา | ประมาณเดือนหนึ่งมาก็มีครรภ์ |
ยิ่งผุดผาดผิวผ่องละอององค์ | ดังอนงค์นางฟ้ากระยาหงัน |
เมื่อจวนจะถ้วนกำหนดนั้น | ให้บังเกิดอัศจรรย์จลาจล |
พสุธาสะเทือนเลื่อนลั่น | เป็นควันตลบทั้งเวหน |
มืดมิดปิดแสงพระสุริยน | ฟ้าลั่นอึงอลนภาลัย |
แลบพรายเป็นสายอินทรธนู | สักครู่ก็เกิดพายุใหญ่ |
ไม้ไหล้ลู่ล้มระทมไป | แล้วฝนห่าใหญ่ตกลงมา |
เปรี้ยงเปรี้ยงเสียงฟ้าฟาดสาย | แต่มิได้อันตรายจักผ่า |
เย็นทั่วฝูงราษฎร์ประชา | ทั้งเจ็ดทิวาราตรี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวกุเรปันเรืองศรี |
เสด็จยังปรางค์รัตน์มณี | ภูมีเห็นนิมิตผิดใจ |
เกิดมาแต่ก่อนบห่อนเห็น | จะอุบัติขัดเข็ญเป็นไฉน |
คิดพลางย่างเยื้องคลาไคล | เสด็จออกพระโรงชัยฉับพลัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ จึงมีพระราชบรรหาร | ถามโหราจารย์คนขยัน |
ซึ่งเกิดมหัศอัศจรรย์ | ผิดอย่างปางบรรพ์ไม่เคยมี |
หรือจะเป็นเหตุการณ์แก่บ้านเมือง | ระคายเคืองขุ่นข้องหมองศรี |
จงเร่งทำนายร้ายหรือดี | เรานี้ให้ฉงนสนเท่ห์ใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ขุนโหรกราบทูลแถลงไข |
ข้าพิเคราะห์เห็นไม่เป็นไร | แต่วันแรกนั้นได้ปรึกษากัน |
คูณควณสวนสอบทุกตำรา | ดูชะตานคเรศเขตขัณฑ์ |
วางลัคน์อินทพาทบาทจันทร์ | ก็ไม่เห็นสำคัญอันตราย |
เพราะอานุภาพพระโอรส | ให้ปรากฏแก่โลกทั้งหลาย |
ซึ่งฟ้าร้องสนั่นลั่นแลบพราย | บันดาลเป็นสายอินทรธนู |
จะกึกก้องเกียรติยศทั้งทศทิศ | เรืองฤทธิ์ไม่มีที่เคียงคู่ |
พระจะเที่ยวโรมรันพันตู | ปราบหมู่อริราชทุกบุรี |
อันเกิดพายุใหญ่ไม้ล้ม | ระตูจะบังคมบทศรี |
ซึ่งฝนตกเจ็ดวันเจ็ดราตรี | บรรณาการจะมีเนืองมา |
เมื่อพระชันษาสิบห้าขวบ | พระเคราะห์ร้ายประจวบกันหนักหนา |
จะพลัดพรากจากเมืองถึงสามครา | แต่ว่าเห็นไม่เป็นไรนัก |
พระจะไปได้นางในเมืองอื่น | ชมชื่นรื่นรสด้วยยศศักดิ์ |
แล้วจำเป็นจะจากกันทั้งรัก | พระจะได้ทุกข์นักเพราะนารี |
นางใดที่ประสงค์จำนงให้ | ไม่อาลัยจะสลัดหลีกหนี |
ซึ่งเมฆหมอกมืดมัวทั่วธาตรี | บดบังรัศมีสุริยน |
พระองค์ดั่งดวงทินกร | ทรงเดชขจรทุกแห่งหน |
พระโอรสยศยิ่งภูวดล | เหมือนเมฆเกลื่อนกล่นเข้าบังไว้ |
ซึ่งเป็นควันตลบอบอัมพร | ภูธรจะทุกข์ทนหม่นไหม้ |
ด้วยโอรสาจะคลาไคล | จำเป็นจำให้กำจัดกัน |
พระจะเที่ยวมะงุมมะงาหรา | ย่ำยีบีฑาทุกเขตขัณฑ์ |
สิบสามปีจะคืนกุเรปัน | จะได้สองนางนั้นมาธานี |
จึ่งจะเย็นแหล่งหล้าประชากร | สโมสรเป็นสุขเกษมศรี |
จะสมบูรณ์ยิ่งกว่าทุกวันนี้ | พระจะมีมเหสีถึงสิบองค์ |
บรรดากรุงชวาทั้งปวงนั้น | จะขึ้นแก่กุเรปันเป็นส่วยส่ง |
ข้าเห็นพร้อมกันเป็นมั่นคง | มิได้พะวงสงกา ฯ |
ฯ ๒๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวกุเรปันนาถา |
ฟังคำทำนายโหรา | เกษมสันต์หรรษาเป็นพ้นนัก |
จึงประทานบำเหน็จนานา | เสื้อผ้านุ่งห่มสมปัก |
ให้โหรเฒ่าผู้ทำนายทายทัก | แล้วทรงศักดิ์เสด็จจากพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | องค์ประไหมสุหรีเฉิดฉัน |
ตั้งแต่เกิดเหตุมหัศจรรย์ | นับได้เจ็ดวันเจ็ดคืนมา |
พระครรภ์ครบกำหนดทศมาส | จนประสูติพระราชโอรสา |
ให้เจ็บปวดรวดเร้าทั้งกายา | ประหนึ่งว่าชีวิตจะอันตราย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | ฝูงสุรางค์นางกำนัลทั้งหลาย |
ทั้งเถ้าแก่ชะแม่เจ้าขรัวนาย | เห็นโฉมฉายปั่นป่วนประชวรครรภ์ |
บ้างเข้าหนุนพระขนองประคองรับ | กำชับหมอตำแยที่แปรผัน |
บ้างไปเฝ้าองค์พระทรงธรรม์ | บังคมคัลทูลแถลงให้แจ้งใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระผู้ผ่านพิภพกรุงใหญ่ |
ฟังข่าวเร่าร้อนฤทัย | ภูวไนยก็รีบลีลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงพระจึงเสด็จนั่ง | เหนือสุวรรณบัลลังก์เลขา |
พร้อมสี่มเหสีกัลยา | สุริย์วงศ์พงศามากมี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมยงองค์ประไหมสุหรี |
ครั้นได้ฤกษ์พานาที | เทวีก็ประสูติพระกุมาร |
ชาวประโคมก็ประโคมแตรสังข์ | พร้อมพรั่งจำเรียงเสียงประสาน |
อันอัศจรรย์ซึ่งบันดาล | ก็อันตรธานทันใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ มโหรี
๏ เมื่อนั้น | องค์มะเดหวีศรีใส |
จึงเอาข่ายแก้วแววไว | รับพระดนัยโฉมยง |
แล้วเอาน้ำดอกไม้ใสสด | มารินรดชำระสระสรง |
ลูบไล้ด้วยเครื่องสุคนธ์ทรง | วางลงบนยี่ภู่พานสุวรรณ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ศรีปัตหรารังสรรค์ |
พิศโฉมลูกยาลาวัณย์ | สารพันงามสิ้นทั้งอินทรีย์ |
ดำแดงแน่งเนื้อนวลผจง | น่ารักรูปทรงส่งศรี |
สมหมายเหมือนถวิลยินดี | เสนหาพ้นที่จะพรรณนา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ท้าวนางข้างในถ้วนหน้า |
ทั้งเถ้าแก่ชะแม่จ่าชา | ก็จัดสรรภรรยาเสนี |
เป็นนางนมสมบูรณ์ด้วยรูปร่าง | ครบถ้วนตามอย่างหกสิบสี่ |
เว้นโทษขาวดำผอมพี | ไม่มีต่ำสูงเสมอกัน |
แล้วจัดเหล่านารีพี่เลี้ยง | ที่ควรเคียงถือต้องประคองขวัญ |
สี่อนงค์ทรงลักษณ์ลาวัณย์ | ล้วนวงศ์พงศ์พันธุ์กษัตรา |
กับนางกำนัลน้อยน้อย | สองร้อยรูปร่างโอ่อ่า |
ทั้งเงินทองของขวัญนานา | นำมาถวายทันที ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึงมหาอำมาตย์ทั้งสี่ |
กับทั้งเหล่าเสนามนตรี | แต่บรรดาที่มีบุตรนั้น |
ให้จัดแจงแต่งตัวทั้งแปดร้อย | ล้วนน้อยน้อยหน้าตาคมสัน |
พาไปเฝ้าพระองค์ทรงธรรม์ | ถวายเป็นข้าขวัญพระกุมาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระปิ่นปักนคเรศราชฐาน |
ชื่นชมโสมนัสเบิกบาน | จึงมีบัญชาการตรัสไป |
อันบุตรเสนาปาเตะ | ตั้งที่ยะรุเดะพี่เลี้ยงใหญ่ |
บุตรตำมะหงงเสนาใน | ตั้งให้เป็นที่ปูนตา |
อันบุตรดะหมังมนตรี | ตั้งที่เป็นกะระตาหลา |
อันบุตรยาสาเสนา | ตั้งที่ประสันตาครบครัน |
พื้นดรุณรุ่นหนุ่มน้อยน้อย | รูปร่างแช่มช้อยเฉิดฉัน |
พระสั่งให้ประทานรางวัล | ตามหลั่นพี่เลี้ยงแลมนตรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายสามอนุชาเรืองศรี |
อีกองค์สมเด็จพระอัยกี | กับประไหมสุหรีหมันหยานั้น |
ทั้งระตูภูธรทุกประเทศ | ครั้นเห็นเหตุวิปริตผิดผัน |
ต่างองค์ทรงคิดอัศจรรย์ | ให้สงสัยไหวหวั่นหฤทัย |
บ้างให้ค้นดูตำรับข้างที่ | จดหมายเหตุคัมภีร์น้อยใหญ่ |
คนแก่เฒ่าก็เอามาซักไซ้ | บ้างถามไถ่โหราพฤฒาจารย์ |
บ้างให้หาบีกูประมาหนา | ฤๅษีชีป่าในไพรสาณฑ์ |
ที่ได้กระสินอภิญญาณ | ก็แจ้งการทำนายมาเหมือนกัน |
ต่างรู้ประจักษ์แจ้งแห่งเหตุ | ผู้มีเดชลงมาจากสวรรค์ |
เป็นโอรสท้าวกุเรปัน | จะประสูติจากครรภ์พระชนนี |
อันท้าวดาหาแลกาหลัง | อีกทั้งท้าวสิงหัดส่าหรี |
กับองค์อัครราชเทวี | ชื่นชมยินดีเป็นสุดคิด |
จึงจัดของขวัญพระกุมาร | สร้อยสนสังวาลวิภูษิต |
มงกุฎแก้วกุณฑลตาบทิศ | ตามอย่างราชนิติ์บุราณมา |
ให้มหาเสนานำของไป | ยังกรุงไกรบรมเชษฐา |
เฉลิมขวัญพระราชนัดดา | โดยตำราตราตั้งจิรังกาล |
ฝ่ายองค์สมเด็จพระอัยกี | ในหมันหยาธานีราชฐาน |
จัดระเด่นดาหยนกมาร | ซึ่งเป็นวงศ์วานกษัตรา |
กับทั้งพี่เลี้ยงแลนางนม | ล้วนอุดมรูปทรงวงศา |
ชายหญิงสิ่งละร้อยโดยตรา | มอบให้เสนานำไป ฯ |
ฯ ๒๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาหมันหยากรุงใหญ่ |
ถวายบังคมลาคลาไคล | ออกจากพิชัยธานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เร่งรัดรีบมาสิบห้าวัน | ก็ลุถึงกุเรปันกรุงศรี |
พบทูตทั้งสามพระบุรี | พากันจรลีเข้าในวัง ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึงตรงเข้าไปหา | ปาเตะเสนาแลดะหมัง |
ต่างแถลงแจ้งความให้ฟัง | แล้วพากันมาพระโรงชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ท้าวนางกำนัลน้อยใหญ่ |
ครั้นถึงวันสมโภชพระดนัย | ก็วุ่นวายวิ่งไขว่ไปทั้งวัง |
เร่งให้หาโหราพราหมณ์ชี | ชาวประโคมดนตรีแตรสังข์ |
เอาขันสาครใหญ่ในคลัง | มาจัดแจงแต่งตั้งเตียงรอง |
ปักสุวรรณราชวัติฉัตรธง | รายรอบที่สรงเป็นแถวถ้อง |
ทั้งมะพร้าวเต่าปลาเงินทอง | จัดต้องตามธรรมเนียมเตรียมไว้ |
ตั้งบายศรีเงินทองสองสำรับ | แซมยอดสอดประดับดอกไม้ไหว |
สังข์กลศแว่นเวียนเทียนชัย | แต่งไวเสร็จถ้วนทุกสิ่งอัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ศรีปัตหรารังสรรค์ |
เวลาควรจวนฤกษ์ก็จรจรัล | ไปปราสาทสุวรรณพระโอรส ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ นั่งเหนือบัลลังก์รัตน์รูจี | พร้อมพระมเหสีทั้งปวงหมด |
ต่างกราบบาทบงสุ์พระทรงยศ | พอกำหนดพระฤกษ์เวลา |
จึงให้เชื้อพระวงศ์ผู้ใหญ่ | เข้าอุ้มองค์พระดนัยเสนหา |
เชิญสี่บีกูนั้นเข้ามา | จำเริญเกศาพระกุมาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ แล้วเชิญลงสรงน้ำในสาคร | อันอบอายเกสรหอมหวาน |
ชีพราหมณ์พฤฒาโหราจารย์ | ต่างอ่านพระเวทถวายชัย |
ราชครูบีกูทั้งสี่ | เอาสุคนธวารีมาสรงให้ |
แล้วเชิญลงอู่แก้วแววไว | อ่านมนต์แกว่งไกวไปมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ยานี
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงองค์อสัญแดหวา |
ซึ่งเป็นบรมอัยกา | สถิตยังชั้นฟ้าสุราลัย |
จึงนิมิตกริชแก้วสุรกานต์ | นามกรพระหลานจารึกใส่ |
ครั้นเสร็จเสด็จจากวิมานชัย | เหาะมากรุงไกรกุเรปัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ รัว
ร่าย
๏ ครั้นถึงจึงวางกริชลง | ข้างพระองค์กุมารหลานขวัญ |
อวยชัยให้พรแล้วเทวัญ | กลับคืนกระยาหงันชั้นฟ้า ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | องค์มะเดหวีเสนหา |
ประกองกรช้อนอุ้มพระลูกยา | เชิญมาจากอู่อำไพ |
เห็นกริชนั้นวางอยู่ข้างที่ | มารศรีหลากจิตคิดสงสัย |
จึงหยิบมาดูด้วยดีใจ | แล้วถวายภูวไนยฉับพลัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระผู้ผ่านโภไคยไอศวรรย์ |
ชื่นชมโสมนัสอัศจรรย์ | เอากริชนั้นออกพิจารณา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จึงเห็นจารึกอักษร | นามกรพระโอรสา |
ชื่อหยังหยังหนึ่งหรัดอินดรา | อุดากันสาหรีปาตี |
อิเหนาเองหยังตาหลา | เมาะตาริยะกัดดังสุรศรี |
ดาหยังอริราชไพรี | เองกะนะกะหรีกุเรปัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นอ่านเสร็จสิ้นในอักษร | ภูธรยิ่งแสนเกษมสันต์ |
จึงยอกรถวายอภิวันท์ | อัยกาทรงธรรม์เลิศไกร |
พระมาช่วยอุปถัมภ์บำรุง | จะลือเกียรติทุกกรุงน้อยใหญ่ |
สมคำโหรทายทำนายไว้ | ประจักษ์ในนิมิตแต่เดิมมา |
แล้วสั่งให้ประโคมเป็นสำคัญ | เฉลิมขวัญพระโอรสา |
เอาฤกษ์ได้กริชเทวา | เป็นมหามหัศอัศจรรย์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ครั้นเสร็จสมโภชพระดนัย | พระผู้ผ่านโภไคยไอศวรรย์ |
จึงสั่งพนักงานทั้งปวงนั้น | ให้จัดสรรเครื่องใช้แลเครื่องทรง |
มงกุฎเพชรพาหุรัดจำรัสเรือง | กับเมืองขึ้นสิบเมืองเป็นส่วยส่ง |
ทั้งเสนีรี้พลจัตุรงค์ | ประทานองค์โอรสยศไกร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นเสร็จพระเสด็จเยื้องย่าง | จากปรางค์ปราสาททองผ่องใส |
มายังพระโรงคัลทันใด | เสนาในเฝ้าแหนแน่นนันต์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | ปาเตะเสนาคนขยัน |
จึงนำเสนีสี่เมืองนั้น | มาบังคมคัลมิทันนาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ แล้วทูลว่าสามกษัตริย์ทรงเดช | ผู้ดำรงนัคเรศราชฐาน |
ให้เสนีนำของมาประทาน | พระหลานรักราชสุริย์วงศ์ |
แต่องค์สมเด็จพระอัยกี | ให้หมันหยาธานีสูงส่ง |
ให้ระเด่นดาหยนโฉมยง | ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์พงศ์พันธุ์ |
ทั้งหมู่ชายหญิงสิ่งละร้อย | ล้วนหนุ่มน้อยหน้าตาคมสัน |
กับพี่เลี้ยงนางนมทั้งนั้น | ถวายเป็นข้าขวัญพระนัดดา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์ศรีปัตหรา |
ชื่นชมโสมนัสปรีดา | จึงมีบัญชาตรัสไป |
ซึ่งพระมารดาการุญ | พระคุณนั้นหาที่สุดไม่ |
ท่านจงทูลแถลงให้แจ้งใจ | ว่าเราบังคมไปใต้บาท |
อันพระอนุชาสามธานี | เรานี้ขอบใจเป็นหนักหนา |
จงจำเริญสุขทุกเวลา | อันตรายโรคาอย่าแผ้วพาน |
แล้วประทานเสื้อผ้าแก่เสนี | ซึ่งมาแต่สี่ราชฐาน |
อันระเด่นดาหยนกุมาร | พระประทานเงินทองของพึงใจ |
ให้อยู่ยังที่ติกาหรัง | นิเวศน์วังลูกหลวงอาศัย |
ครั้นเสร็จเสด็จเข้าข้างใน | เสนีกลับไปยังพารา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ประไหมสุหรีหมันหยา |
ทรงครรภ์ถ้วนทศมาสตรา | ประสูติมาเป็นราชบุตรี |
งามงอนอ่อนระทวยนวยแน่ง | ดำแดงนวลเนื้อสองสี |
ผ่องพักตร์ผิวพรรณดังจันทรี | นางในธานีไม่เทียมทัน |
องค์พระอัยกีเป็นที่รัก | ถนอมนักเชยชมภิรมย์ขวัญ |
บิตุราชมาตุรงค์แลพงศ์พันธุ์ | พร้อมกันประทานนามพระธิดา |
ชื่อจินตะหราวาตีศรีสวัสดิ์ | เฉลิมวงศ์พงศ์กษัตริย์ในหมันหยา |
อ่อนเดือนกว่าอิเหนาพี่ยา | ทั้งสองชันษาเดียวกัน |
พร้อมพระพี่เลี้ยงนางนม | นักสนมกรมในสาวสรรค์ |
ประโลมเลี้ยงพระธิดาดวงจันทร์ | ทุกวันทุกเวลาราตรี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระทรงภพกุเรปันเรืองศรี |
ทั้งท้าวดาหาธิบดี | สองประไหมสุหรีพี่นางนั้น |
จึ่งจัดของขวัญอันอุดม | ทั้งพี่เลี้ยงนางนมเลือกสรร |
ให้เสนาคุมของจรจรัล | ไปทำขวัญพระนัดดานารี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวสิงหัดส่าหรี |
มีโอรสแรกเริ่มเดิมที | กับประไหมสุหรีศรีโสภา |
เทเวศร์ให้กริชเป็นของขวัญ | เหมือนกันกับอิเหนาเชษฐา |
จารึกนามใส่ในกริชมา | ชื่อระเด่นสุหรานากง |
ครั้นท้าวกาหลังมีบุตรี | ด้วยประไหมสุหรีนวลหง |
ชื่อสกาหนึ่งหรัดโฉมยง | รูปทรงโสภายาใจ |
จึงแต่งของไปตุนาหงัน | บิตุรงค์ทรงธรรม์ก็อวยให้ |
ตามจารีตวงศาสุราลัย | ตุนาหงันกันได้แต่สี่เมือง |
อยู่มามีราชบุตรี | นวลละอองสองสีขาวเหลือง |
พักตร์ผ่องผิวเนื้อเรื่อเรือง | จึงให้นามตามเรื่องพระมารดา |
ชื่อระเด่นจินดาส่าหรี | พระชนกชนนีเสน่หา |
สามเมืองส่งเครื่องบรรณา | มาทำขวัญพระธิดานารี |
แล้วจัดสาวสนมกำนัล | เลือกสรรรูปทรงส่งศรี |
ตั้งที่พี่เลี้ยงพระบุตรี | เหมือนกันทั้งสี่พารา ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ประไหมสุหรีดาหา |
อยู่เย็นเป็นสุขทุกทิวา | นานมาโฉมยงทรงครรภ์ |
เมื่อจะประสูติพระดนัย | เวลาประจุสมัยไก่ขัน |
บังเกิดมหัศอัศจรรย์ | กลิ่นสุคันธรสรวยริน |
ดอกไม้ทุกพรรณบันดาล | เบิกบานเกสรขจรกลิ่น |
ภุมเรศร่อนร้องโบยบิน | ประสานเสียงเพียงพิณพาทย์ฆ้อง |
ดนตรีแตรสังข์ก็ดังเอง | อัศจรรย์บรรเลงกึกก้อง |
ครั้นอรุณรุ่งรางสร่างแสงทอง | ดังแสงรุ้งเรืองรองอร่ามไป |
สุรศรีดังสีธรรมชาติ | เลื่อมพรายโอภาสผ่องใส |
จึงประสูติธิดายาใจ | งามวิไลล้ำเลิศเพริศพราย |
อันอัศจรรย์ที่บันดาล | ก็อันตรธานสูญหาย |
ยังแต่กลิ่นหอมรวยชวยชาย | จึงถวายพระนามตามเหตุนั้น |
ชื่อระเด่นบุษบาหนึ่งหรัด | ลออเอี่ยมเทียมทัดนางสวรรค์ |
ทั้งในธรณีไม่มีทัน | ผิวพรรณผุดผ่องดังทองทา |
อันองค์มะเดหวีมีศักดิ์ | ถนอมอุ้มฟูมฟักรักษา |
ทั้งสามมเหสีโสภา | รักราชธิดาดังดวงใจ ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระผ่านภพดาหากรุงใหญ่ |
แสนสวาทพระราชดนัย | ดังดวงฤทัยทรงธรรม์ |
จึงจัดสี่พี่เลี้ยงพระธิดา | คนหนึ่งนั้นชื่อว่าบาหยัน |
หนึ่งชื่อส่าเหง็ดลาวัณย์ | หนึ่งชื่อประเสหรันนารี |
หนึ่งชื่อปะลาหงันกัลยา | ตามตำราชื่อตั้งทั้งสี่ |
แล้วจัดสรรกำนัลที่รูปดี | นารีน้อยน้อยแปดร้อยปลาย |
บรรดาบุตรเสนาน้อยใหญ่ | ต่างคนเต็มใจเอาไปถวาย |
พระประทานรางวัลมากมาย | มอบให้เจ้าขรัวยายบังคับ |
บ้างหัดร้องลำนำจำเรียง | ประสานเสียงซักซ้อมกล่อมขับ |
บ้างหัดซอกระจับปี่ตีโทนทับ | สำหรับบำเรอพระธิดา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระทรงภพกุเรปันนาถา |
แจ้งว่าองค์พระอนุชา | มีราชธิดาลาวัณย์ |
พระเร่งชื่นชมโสมนัส | จึงให้จัดสิ่งของไปทำขวัญ |
กับเครื่องบรรณาการนอกนั้น | เป็นของตุนาหงันกัลยา |
ขอระเด่นบุษบาโฉมยง | ให้องค์อิเหนาโอรสา |
ตามจารีตบุราณสืบมา | หวังมิให้วงศาอื่นปน |
ครั้งเสียศักดิ์สุริย์วงศ์เทเวศร์ | ก็เกิดเหตุอันตรายหลายหน |
ไพร่ฟ้าประชากรร้อนรน | จลาจลต่างต่างทั้งธานี |
ฝ่ายพระอนุชากาหลัง | อีกทั้งสิงหัดส่าหรี |
ต่างแต่งบรรณาการมากมี | ไปทำขวัญบุตรีพระพี่ยา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระองค์ทรงพิภพดาหา |
ตั้งแต่มีราชธิดา | ช้านานประมาณห้าปี |
จึงมีโอรสยศยง | ด้วยองค์ประไหมสุหรี |
งามละม้ายคล้ายกันกับบุตรี | ใครเห็นเป็นที่เจริญใจ |
องค์อสัญแดหวาวราฤทธิ์ | เสกแสร้งนฤมิตกริชให้ |
วางลงข้างองค์พระดนัย | จารึกนามนั้นใส่ในกริชมา |
ชื่อระเด่นสียะตราหนึ่งหรัด | สืบวงศ์พงศ์กษัตริย์อสัญหยา |
พระชนกชนนีก็ปรีดา | เสน่หาดังดวงฤทัย |
สี่เมืองส่งเครื่องบรรณาการ | มาทำขวัญพระกุมารประสูติใหม่ |
ของขวัญตามตำรับบังคับไว้ | โดยในสุริย์วงศ์เทวา |
แล้วจัดสรรพี่เลี้ยงทั้งสี่ | ล้วนลูกเสนีมียศถา |
พี่เลี้ยงเอกนั้นชื่อปูนตา | หนึ่งกะระตาหลาพี่เลี้ยงรอง |
หนึ่งชื่อยะรุเดะพี่เลี้ยงตรี | ที่สี่ประสันตาปัญญาว่อง |
ล้วนหนุ่มน้อยรุ่นรามทรามคะนอง | ตั้งต้องตามขนบครบครัน |
ให้บุตรขุนหมื่นพื้นน้อยน้อย | แปดร้อยกุมารากิดาหยัน |
ประทานเงินเสื้อผ้าสารพัน | ให้เป็นของขวัญพระลูกยา ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายอิเหนากุเรปันโอรสา |
ปรีดิ์เปรมเกษมสุขทุกทิวา | จนจำเริญชนมาสิบห้าปี |
งามรับสรรพสิ้นสรรพางค์ | ยิ่งอย่างเทวาในราศี |
ทรงโฉมประโลมใจนารี | เป็นที่ประดิพัทธ์ผูกพัน |
เนาในติกาหรังวังสถาน | ดังวิมานเมืองฟ้ากระยาหงัน |
พร้อมด้วยสุรางค์นางกำนัล | พี่เลี้ยงกิดาหยันโยธา |
อันศิลปศาสตร์สำหรับกษัตริย์ | ทุกสิ่งสารพัดหัดหา |
รำกริชรำกระบี่ขี่อาชา | ศึกษาซ้อมเล่นไม่เว้นวัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ครั้นพระสุริยาฉายบ่ายลง | ก็แต่งองค์ทรงเครื่องเรืองฉัน |
เสด็จจากปราสาทแก้วแพรวพรรณ | จรจรัลไปท้องสนามชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงพลับพลาหน้าจักรวรรดิ | ที่เคยหัดจัตุรงค์น้อยใหญ่ |
จึงตรัสสั่งกิดาหยันทันใด | ให้เรียกมโนมัยเข้ามา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กิดาหยันรับสั่งใส่เกศา |
พลางพยักกวักเรียกกรมม้า | รีบจูงอาชามาฉับพลัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์เทวากระยาหงัน |
จึงขึ้นทรงม้าเหลืองเครื่องสุวรรณ | ระเด่นดาหยนนั้นขี่ม้าแดง |
รำท่าเพลงทวนกระบวนรบ | ถ้อยทีขี่สินธพเข้มแข็ง |
ชักเป็นโคมเวียนเปลี่ยนแปลง | ประปรายปลายพระแสงทวนทอง ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ แล้วลงทรงกระบี่ตีเล่น | กับระเด่นดาหยนเคล่าคล่อง |
กรีดกรายร่ายรำเป็นทำนอง | รับรองป้องปัดไปมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นเหนื่อยก็หยุดยับยั้ง | สถิตยังพลับพลาพลันหรรษา |
ทอดพระเนตรกิดาหยันโยธา | ซ้อมหัดสาตราสารพัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ใครดีมีฝีมือแคล่วคล่อง | ก็ประทานเงินทองทุกสิ่งสรรพ์ |
พอจวนเวลาสายัณห์ | ก็จรจรัลคืนยังวังใน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เสด็จนั่งเหนืออาสน์ลาดปู | พระยี่ภู่เขนยทองผ่องใส |
สาวสุรางค์นางบำเรอบำรุงใจ | แสนสำราญหฤทัยทุกเวลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
https://vajirayana.org/system/files/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B2_264950.pdf