- คำอธิบาย ว่าด้วยบทละคร อิเหนาฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ
- เล่มที่ ๑
- เล่มที่ ๒
- เล่มที่ ๓
- เล่มที่ ๔
- เล่มที่ ๕
- เล่มที่ ๖
- เล่มที่ ๗
- เล่มที่ ๘
- เล่มที่ ๙
- เล่มที่ ๑๐
- เล่มที่ ๑๑
- เล่มที่ ๑๒
- เล่มที่ ๑๓
- เล่มที่ ๑๔
- เล่มที่ ๑๕
- เล่มที่ ๑๖
- เล่มที่ ๑๗
- เล่มที่ ๑๘
- เล่มที่ ๑๙
- เล่มที่ ๒๐
- เล่มที่ ๒๑
- เล่มที่ ๒๒
- เล่มที่ ๒๓
- เล่มที่ ๒๔
- เล่มที่ ๒๕
- เล่มที่ ๒๖
- เล่มที่ ๒๗
- เล่มที่ ๒๘
- เล่มที่ ๒๙
- เล่มที่ ๓๐
- เล่มที่ ๓๑
- เล่มที่ ๓๒
- เล่มที่ ๓๓
- เล่มที่ ๓๔
- เล่มที่ ๓๕
- เล่มที่ ๓๖
- เล่มที่ ๓๗
- เล่มที่ ๓๘
เล่มที่ ๖
๏ บัดนั้น | ชาวบ้านด่านทางหว่างวิถี |
เห็นกองทัพคับคั่งพงพี | ช้างม้ามากมีรี้พล |
ต่างตกใจกลัวตัวสั่น | สำคัญว่าโจรป่ามาปล้น |
ชายหญิงวิ่งปะทะปะปน | ต่างคนอลหม่านไม่สมประดี |
บ้างอุ้มบุตรฉุดมือภรรยา | จูงแม่หม้ายพ่อตาพาหนี |
แบกที่นอนหมอนมุ้งบรรดามี | อึงมี่สับสนลนลาน |
พวกผู้หญิงวิ่งตามลูกผัว | อพยพยกครัวออกจากบ้าน |
บรรดาเหล่าชาวพงดงดาน | หนีพล่านเข้าป่าพนาลัย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ขุนด่านอกสั่นหวั่นไหว |
ขึ้นม้าพากันรีบไป | ยังพิชัยหมันหยาธานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงตรงเข้าไปหา | กราบไหว้เสนาทั้งสี่ |
พลางแถลงแจ้งความตามคดี | บัดนี้พวกโจรไพรยกมา |
ตั้งทัพยับยั้งอยู่ปลายด่าน | พลทหารนับแสนแน่นหนา |
เห็นทีจะเข้าตีเอาพารา | ขอท่านเสนาจงแจ้งใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ทั้งสี่เสนีผู้ใหญ่ |
ครั้นแจ้งกิจจาก็คลาไคล | เข้าไปยังท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ก้มเกล้าประณตบทมาลย์ | พระผู้ผ่านโภไคยไอศวรรย์ |
ทูลความตามคำขุนด่านนั้น | รำพันให้ทราบทุกสิ่งไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวหมันหยาฟังแจ้งแถลงไข |
ให้คิดหวาดหวั่นพรั่นพระทัย | จึงดำรัสตรัสไปแก่เสนา |
ซึ่งข้าศึกฮึกหาญมาทั้งนี้ | ชะรอยเป็นปันหยีโจรป่า |
ที่ชาวเมืองเลื่องเล่าลือชา | ว่าฆ่าท้าวบุศสิหนาบรรลัย |
ยังแต่สองระตูผู้พี่ | ก็เกรงกลัวฤทธีไม่ทานได้ |
อ่อนง้อขอขึ้นแก่โจรไพร | จึงมิได้เดือดร้อนรำคาญเคือง |
ฝ่ายระตูอยู่รายทางมา | ล้วนเหล่าท้าวพระยาที่ลือเลื่อง |
ไม่ต่อสู้ปันหยีทั้งสี่เมือง | ต่างยอมให้เครื่องบรรณาการ |
จำเราจะยกธิดาให้ | เกลี่ยไกล่ผูกรักสมัครสมาน |
อันจะคิดขึงขันประจัญบาน | ไพร่บ้านพลเมืองจะเคืองแค้น |
แล้วตรัสสั่งดะหมังไปสืบดู | ให้รู้สำคัญจงมั่นแม่น |
กองทัพยับยั้งอยู่ปลายแดน | โยธาหนาแน่นสักเพียงไร ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ดะหมังเสนาผู้ใหญ่ |
รับสั่งบังคมลาคลาไคล | ออกไปจากท้องพระโรงธาร |
เรียกหาบ่าวไพร่ที่ใช้ชิด | เลือกล้วนคนสนิทติดลูกหลาน |
ขึ้นขี่ม้าเหลืองผูกเครื่องอาน | รีบไปปลายด่านพารา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | หญิงชายชาวเมืองหมันหยา |
แจ้งว่าโจรไพรใจหยาบช้า | ยกมาปลายด่านเวียงชัย |
ต่างคนหวาดหวั่นครั่นคร้าม | เที่ยวซุบซิบสืบความถามไถ่ |
ชาวตลาดเล่าลืออื้อไป | ก็ตกใจคิดกลัวทุกตัวคน |
เป็นเหล่าเหล่าเข้าประชุมพูดจา | ปรึกษาหารือกันสับสน |
บ้างว่าจะหนีไปให้พ้น | เป็นทำวนด้วยลูกเต้าเหย้าเรือน |
บ้างยักย้ายเงินทองของฝัง | มิดชิดปิดบังไม่บอกเพื่อน |
หมายที่สำคัญไม่ฟั่นเฟือน | กลบเกลื่อนเกลี่ยไกล่ไว้ใต้ดิน |
บ้างแก้ปะวะหล่ำกำไล | ที่แต่งใส่ลูกหลานออกเสียสิ้น |
ทุกข์ร้อนไม่เป็นนอนเป็นกิน | แต่เฝ้าผินหน้าปรับทุกข์กัน |
พวกผู้หญิงสาวสาวเหล่าแม่หม้าย | ก็วุ่นวายหวาดจิตคิดพรั่น |
จะมีผัวกลัวว่าจะไม่ทัน | พูดกันว่าจะบวชเป็นชี |
บางคนบนบานศาลกล่าว | ให้ยายท้าวคนทรงลงผี |
สงสัยไต่ถามถึงธานี | เหตุการณ์ครั้งนี้ดีหรือร้าย |
บ้างเข้าไม้นาวายาเยียว | ทำเหมือนจะไปเที่ยวค้าขาย |
รู้กันแต่ลูกเมียแม่ยาย | ข้าวของถ่อพายก็เตรียมไว้ |
ลางชายได้คู่พึ่งสู่ขอ | เข้าหออยู่ด้วยกันใหม่ใหม่ |
พิศดูหน้าเมียแล้วเสียใจ | จะพลัดพรากอย่างไรก็ไม่รู้ |
อันชาวพาราประชาชน | ต่างคนคิดจะหนีไม่มีสู้ |
ที่ผู้ใหญ่ได้สติดำริดู | ยังนิ่งอยู่คอยฟังดะหมังมา ฯ |
ฯ ๒๐ คำ ฯ
ช้าปี่
๏ เมื่อนั้น | พระทรงโฉมประโลมเสนหา |
สถิตยังสุวรรณพลับพลา | พอเวลาแดดร่มลมชาย |
จึงชำระสระสรงทรงเครื่อง | อร่ามเรืองเนาวรัตน์จำรัสฉาย |
กุมกริชยุรยาตรนาดกราย | ผันผายออกหน้าพลับพลาชัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
ร่าย
๏ ให้ระเด่นสังคามาระตา | กับพี่เลี้ยงเสนาน้อยใหญ่ |
รำทวนบนหลังอาชาไนย | ศึกษาสอนไว้ให้ชำนาญ |
อันเหล่าโยธากิดาหยัน | หัดกันคนละวงตรงหน้าฉาน |
เป็นคู่คู่สู้กันประจัญบาน | อลหม่านมี่อึงคะนึงไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ประสันตาผู้มีอัชฌาสัย |
เที่ยวเล่นในป่าพนาลัย | แสวงหาต้นไม้ดังจินดา |
เห็นตะขบข่อยมะขามสามต้น | เอนชายชอบกลหนักหนา |
คนเดียวจะขุดสุดปัญญา | หมายตาไว้แล้วก็กลับไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ พอพบดะหมังมนตรี | ยินดีลงนั่งยกมือไหว้ |
แล้วถามว่าสายัณห์ลงไรไร | ลุงมาทำไมในป่านี้ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ดะหมังมีใจเกษมศรี |
จึงแถลงเล่าความตามมี | แล้วพากันจรลีรีบมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงคลานเข้าไปเฝ้า | ก้มเกล้าบังคมเหนือเกศา |
ทูลว่าหญิงชายชาวพารา | ต่างตื่นตกประหม่าว่าโจรไพร |
ระตูตรัสใช้ให้ข้านี้ | มาสืบดูร้ายดียังสงสัย |
ถ้าแม้นเป็นโจรป่าพนาลัย | จะยกธิดาให้ไม่ต่อตี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระโฉมยงองค์มิสาระปันหยี |
แย้มยิ้มพริ้มพักตร์เปรมปรีดิ์ | ภูมีตริตรึกนึกใน |
อันชาวหมันหยานี้ชั่วนัก | จะถือศักดิ์รักหน้าก็หาไม่ |
แต่โจรป่าจะมาชิงชัย | ไม่มีใครสามารถอาจผจญ |
ทั้งจะเอายาหยีของพี่ยา | ไปให้อ้ายชาวป่าพนาสณฑ์ |
คิดพลางเสแสร้งแกล้งใส่กล | ให้พระองค์ยกพลมาชิงชัย |
ถ้าแม้นย่อท้อไม่ต่อตี | ก็ส่งองค์บุตรีออกมาให้ |
ท่านอย่าล่อลวงโจรไพร | ให้ได้ดังคำจำนรรจา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ดะหมังยิ้มพลางทางว่า |
ขอเชิญผ่านเกล้าเข้าพารา | เห็นจะสมปรารถนาเป็นแน่นอน |
ข้าจะกลับเข้าไปในนิเวศน์ | ทูลเหตุชี้แจงให้แจ้งก่อน |
ระตูจะได้คลายหายทุกข์ร้อน | ว่าพลางชลีกรแล้วไคลคลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงทูลแถลงไข | มิใช่โจรไพรดังคำว่า |
ระเด่นมนตรีเสด็จมา | แต่แกล้งแปลงกายาเป็นชาวดง ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระปิ่นปักนัคเรศสูงส่ง |
ทั้งประไหมสุหรีโฉมยง | ต่างองค์ยินดีปรีดา |
จึงสั่งเสนีให้จัดแจง | ตามตำแหน่งพนักงานซ้ายขวา |
เร่งไปรับอิเหนาเข้ามา | แต่ในเวลาพรุ่งนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | อำมาตย์รับสั่งใส่เกศี |
มาเร่งรัดจัดกันในราตี | อลหม่านอึงมี่ทั้งไพร่นาย |
เกณฑ์ถ้วนกระบวนแห่แตรสังข์ | พร้อมทั้งเครื่องสูงชุมสาย |
บ้างเบิกหมวกเสื้อแสงแต่งกาย | ชาวคลังนั่งจ่ายเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ ครั้นอรุณรุ่งแจ้งแสงศรี | ดะหมังเสนีแลยาสา |
พาพวกพลไกรไคลคลา | ออกจากพารารีบไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงเข้าไปบังคม | นบนิ้วประนมสนองไข |
ว่าระตูภูมีดีพระทัย | ใช้ให้มาเชิญบาทบงสุ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ปันหยีมีศักดิ์สูงส่ง |
ชื่นชมด้วยสมดังจำนง | จึงสั่งตำมะหงงเสนี |
จงเกณฑ์กระบวนแห่แต่ห้าพัน | เลือกสรรรูปทรงส่งศรี |
จะนุ่งห่มเสื้อผ้าครานี้ | ให้ดีกว่าแต่หลังครั้งแรกมา |
อันทหารอาสากว่านั้น | จงตั้งมั่นอยู่พลางที่กลางป่า |
กำชับกันทุกหมวดตรวจตรา | พิทักษ์รักษาสองทรามวัย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ตำมะหงงเสนาอัชฌาสัย |
รับรสพจนารถทันใด | ถวายบังคมไหว้แล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ยานี
๏ เร่งรัดจัดถ้วนกระบวนแห่ | เลือกแต่รูปร่างโอ่อ่า |
ครบถ้วนห้าพันดังบัญชา | ให้แต่งกายาละอย่างกัน |
พวกเกณฑ์หัดปืนแดงแต่งตัว | โพกหัวผ้าตะบิดเหน็บกริชสั้น |
ใส่เสื้อกระบวนจีนสีจันทน์ | ถือปืนลำพันทองปราย |
อาสาแซงนอกถือหอกคู่ | โพกผ้าชุมพูหูกระต่าย |
เสื้อสีม่วงอ่อนหงอนไก่ลาย | ตัวนายปลายเชือกขี่พาชี |
ขุนหมื่นนายร้อยน้อยใหญ่ | ล้วนใส่เสื้อดำกำมะหยี่ |
โพกสีทับทิมบางอย่างดี | ขัดกระบี่บั้งทองทุกคน |
มานั่งพร้อมพรูเป็นหมู่กัน | แน่นนันต์มรคาพนาสณฑ์ |
สารวัดนายหมวดตรวจพล | อลวนวิ่งไขว่ไปมา |
เตรียมทั้งพระที่นั่งสินธพ | ผูกครบเครื่องอานพานหน้า |
ที่นั่งรองนั้นสองอาชา | คอยท่าเสด็จจรจรัล ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เจรจา
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์เทวากระยาหงัน |
สถิตยังเกยแก้วแพรวพรรณ | ทอดพระเนตรพลขันธ์โยธา |
เห็นจัดแจงแต่งตัวต้องพระทัย | ภูวไนยแสนโสมนัสสา |
จึงเสด็จลีลาศยาตรา | มาสระสรงคงคาอ่าองค์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ไขสหัสธาราวาริน | น้ำดอกไม้เทศประทิ่นกลิ่นส่ง |
พนักงานเชิญพานภูษาทรง | พระผลัดชุบสรงทรงสำอาง |
ลูบไล้ผัดผ่องส่องพระฉาย | กรีดกรายบรรจงทรงพระสาง |
กิดาหยันร่วมฤทัยไว้วาง | หมอบเมียงเคียงข้างอยู่งานพัด |
สอดใส่สนับเพลาภูษาทรง | พี่เลี้ยงช่วยโจงผจงจีบจัด |
ห้อยหน้าเจียระบาดคาดรัด | ฉลององค์อัตลัดลายสุวรรณ |
ทองกรประดับทับทิมพราย | เพทายทับทรวงดวงกุดั่น |
ธำมรงค์เพชรรัตน์เรือนสุบรรณ | ทรงมงกุฎแก้วกรรเจียกจอน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ ทรงกริชฤทธิไกรแล้วไคลคลา | สง่างามดังราชไกรสร |
บรรจงจับชายกรายกร | มาทรงอัสดรตัวดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
โทน
๏ ม้าเอยม้าต้น | เคยประจญประจามิตรไม่ถอยหนี |
งามสรรพพร้อมสิ้นทั้งอินทรีย์ | สูงใหญ่พ่วงพีมีกำลัง |
สะบัดย่างย่องย่ำทำนองน้อย | ซ้ำรอยสอดก้าวเท้าหลัง |
ครั้นสายถือตึงมือก็รอรั้ง | ยืนยั้งหยุดเต้นเผ่นลำพอง |
ผูกเครื่องกุดั่นดาวจำรัส | เพชรรัตน์รูจีไม่มีสอง |
สองระเด่นขี่ม้าที่นั่งรอง | ผูกครบเครื่องทองลายแทง |
กิดาหยันแต่งอย่างมลายู | เป็นคู่เคียงเดินเชิญพระแสง |
พวกพี่เลี้ยงเคียงสองข้างแซง | พนักงานตามตำแหน่งถือเครื่องอาน |
แห่แหนแน่นนันต์เป็นขนัด | มยุรฉัตรธงชายธงฉาน |
เสียงประโคมฆ้องกลองก้องดงดาน | ให้ยกโยธาหาญเข้าธานี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ กลองโยน
ร่าย
๏ บัดนั้น | หญิงชายประชาชาวกรุงศรี |
รู้ว่าระเด่นมนตรี | เสด็จเข้าธานีก็ปรีดา |
บ้างอุ้มลูกอุตลุดฉุดหลาน | ลนลานลงจากเคหา |
สามหนุ่มกลุ้มเกลื่อนกันมา | ตั้งตาคอยดูภูวไนย |
ครั้นเห็นธงทวนกระบวนแห่ | พิศวงหลงแลไม่เมินได้ |
บ้างชมธงฉานธงชัย | ชมพวกพลไกรโยธา |
ครั้นเมื่อเห็นองค์พระทรงธรรม์ | กั้นกลดพื้นสุวรรณโอ่อ่า |
ต่างพินิจพิศพลางไม่วางตา | จนลืมวันทาพระภูธร |
บ้างอำนวยอวยพรอยู่อึงมี่ | ให้ได้กับพระบุตรีดวงสมร |
อยู่เย็นเป็นศรีพระนคร | ราษฎรจะได้พึ่งพระบารมี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีเรืองศรี |
ได้ฟังชาวพาราพาที | ถวายพรภักดีนี่นัน |
พระเร่งชื่นชมภิรมย์จิต | สมคิดต้องฤทัยที่ใฝ่ฝัน |
ชำเลืองดูประสันตาให้หน้ากัน | พลางแย้มยวนสรวลสันต์สำราญใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ประสันตารู้แจ้งอัชฌาสัย |
บังคมพลางทางกระซิบทูลไป | ได้ทรงฟังมั่งหรือไม่พระราชา |
เมื่อกี้เหล่าไพร่ฟ้าประชาชน | เขาพูดจาชอบกลเป็นหนักหนา |
สมพรปากหากได้เหมือนวาจา | ประสันตาจะพลอยดีใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีศรีใส |
สรวลพลางทางขับมโนมัย | เข้าในนิเวศน์วังพลัน |
ชวนระเด่นดาหยนยุรยาตร | ลงจากอัศวราชผาดผัน |
เข้าไปประนมบังคมคัล | สองประหมันอะหยีด้วยปรีดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | ระตูผู้ผ่านหมันหยา |
ทั้งประไหมสุหรีศรีโสภา | เห็นอิเหนาเข้ามาก็ยินดี |
จึงตรัสเรียกนัดดามานั่งใกล้ | แล้วปราศรัยด้วยความเกษมศรี |
แต่เจ้าจากหมันหยาธานี | น้านี้คิดถึงเป็นพ้นไป |
ซึ่งเจ้ากรีธาพลาพล | มีธุระกังวลเป็นไฉน |
จะมาเมืองหมันหยานี้หรือไร | หรือจะไปเมืองไหนพระนัดดา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีก็หรรษา |
จึงน้อมเศียรสนองพระบัญชา | อันธุรกิจจานั้นไม่มี |
หลานมาเที่ยวเล่นป่าพนาลัย | พอใกล้จึงแวะเข้ามานี่ |
หวังจะเยือนพระองค์ทรงธรณี | เกลือกจะมีอันตรายโรคา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท่านท้าวเจ้าเมืองหมันหยา |
ยิ้มพลางทางตอบวาจา | ทุกข์ร้อนโรคาก็บางเบา |
อันสามกษัตริย์สุริย์วงศ์ | บิตุราชมาตุรงค์ของเจ้า |
ทั้งยาหยีโฉมยงนงเยาว์ | ยังสบายบรรเทาทุกข์ร้อน |
อนึ่งในกรุงกุเรปัน | เกษมสันต์เป็นสุขสโมสร |
เสนาในไพร่ฟ้าประชากร | นิราศร้อนโรคันหรือฉันใด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีเฉลยไข |
อันพระบิตุเรศเรืองชัย | ทั้งประไหมสุหรีวิยะดา |
ก็อยู่เย็นเป็นสุขทุกนิรันดร์ | ทั่วทั้งกุเรปันหรรษา |
ปราศจากอันตรายโรคา | ไพร่ฟ้าประชากรก็สำราญ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ประไหมสุหรีเกษมศานต์ |
จึงมีมธุรสพจมาน | เมื่อวันวานนี้ลือว่าโจรไพร |
ต่างตระหนกตกใจทั้งพารา | จะรู้ว่านัดดาก็หาไม่ |
เจ้าจะเที่ยวเล่นป่าพนาลัย | เหตุใดจึงทำดังนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีเรืองศรี |
ยิ้มพลางทางทูลไปทันที | หลานนี้ไม่สบายวิญญาณ์ |
คิดจะใคร่เที่ยวชมต่างประเทศ | จึงแกล้งแปลงเพศเป็นชาวป่า |
ครั้นว่ามิทำดังนี้มา | ก็จะเลื่องลือชาทุกธานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระตูผู้ผ่านกรุงศรี |
สำรวลสรวลสันต์แล้วพาที | ตรัสสั่งเสนีในทันใด |
จงแต่งที่ประเสบันอากง | ให้องค์นัดดาอาศัย |
เครื่องเสวยเคยส่งจงส่งไป | กว่าจะได้กลับคืนพารา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ดะหมังบังคมเหนือเกศา |
จึงทูลสนองพระบัญชา | ที่ข้างหน้าแต่งแล้วพระภูวไนย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวหมันหยาเป็นใหญ่ |
จึงตรัสแก่นัดดาดวงใจ | จงไปหยุดพักให้สำราญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อิเหนาคำนับรับบรรหาร |
ก้มเกล้าประณตบทมาลย์ | แล้วลีลาจากสถานพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึงขึ้นบนตำหนัก | ยับยั้งหยุดพักเกษมสันต์ |
ค่อยสบายคลายใจจาบัลย์ | เป็นสุขทุกวันเวลา |
พระคิดถึงจินตะหราโฉมยง | จะใคร่ได้ดังจำนงปรารถนา |
วันหนึ่งจึงสั่งประสันตา | ไปหาสี่เสนามาบัดนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ประสันตารับสั่งใส่เกศี |
ถวายบังคมคัลอัญชลี | รีบไปดังมีบัญชาการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงแถลงแจ้งกิจจา | รับสั่งใช้มาให้หาท่าน |
ขอเชิญไปเฝ้าบทมาลย์ | เป็นการเร็วร้อนอย่านอนใจ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ทั้งสี่เสนาผู้ใหญ่ |
ครั้นแจ้งก็พากันคลาไคล | ไปตำหนักภูวไนยทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ต่างคนเคารพอภิวาท | กราบลงแทบบาทบทศรี |
หมอบอยู่ตรงพักตร์พระภูมี | คอยฟังคดีจะตรัสมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระโฉมยงทรงโสมนัสสา |
จึงกล่าวสุนทรวาจา | ดูราดะหมังมนตรี |
อย่างไรนั่นที่ท่านไปว่าขาน | เมื่อออกไปปลายด่านกรุงศรี |
หลายวันแล้วมาอยู่ในบุรี | ไฉนนี่ไม่เหมือนที่ว่าไว้ |
ทั้งสี่นายช่วยถวายของสู่ | เอ็นดูเราด้วยช่วยแก้ไข |
แม้นมิโปรดปรานประการใด | จงพิดทูลให้ได้ท่วงที ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึงมหาเสนาทั้งสี่ |
ยิ้มแล้วอภิวันท์อัญชลี | ดะหมังมนตรีก็ทูลไป |
ซึ่งข้าว่าขานที่ด่านนั้น | จะเอาเป็นคำมั่นนั้นไม่ได้ |
แต่คะเนดูเห็นไม่เป็นไร | จะช่วยไปกว่าจะสุดกำลัง ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระทรงฤทธิ์ชื่นชมสมหวัง |
จึงว่าท่านช่วยร้อนเราสักครั้ง | ให้สำเร็จเสร็จดังจินดา |
อย่าให้เสียการรำคาญเคือง | อายแก่ชาวเมืองหมันหยา |
เพราะความรักจึงหักหาญมา | ก็ย่อมแจ้งกิจจาอยู่ด้วยกัน |
ว่าพลางทางจัดสิ่งของ | จะถวายทั้งสองประหมัน |
มอบให้เสนีทั้งสี่นั้น | ท่านผ่อนผันพิดทูลให้จงดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งมหาเสนาทั้งสี่ |
รับของแล้วรีบจรลี | ไปยังที่พระโรงรจนา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ จึงให้ขนของถวายเข้าไปตั้ง | ตรงหน้าที่นั่งท้าวหมันหยา |
แล้วกราบทูลความตามกิจจา | พระนัดดาจงรักด้วยภักดี |
ให้ข้ารับของคำนับทั้งหลาย | มาถวายเบื้องบาทบทศรี |
ควรมิควรพระองค์จงปรานี | ชีวีอยู่ใต้บทมาลย์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวหมันหยาฟังแจ้งแถลงสาร |
ยิ้มพลางทางตรัสทัดทาน | พระนัดดาว่าขานแต่โดยใจ |
แม้นพระบิตุรงค์ทรงทราบเหตุ | ทรงเดชจะดำริติโทษได้ |
จงคืนของคำนับนี้กลับไป | เราไม่รับไว้นะเสนา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | อำมาตย์รับสั่งใส่เกศา |
ให้ผู้คนขนของไคลคลา | กลับมาประเสบันทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บังคมประนมทูลพระโฉมงาม | เล่าแถลงแจ้งความถ้วนถี่ |
คืนถวายของสู่ของภูมี | ข้างระเด่นมนตรีก็ไม่รับ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ ทั้งสี่มหาเสนา | แต่ขนของไปมาถึงสามกลับ |
ตำมะหงงดะหมังก็บังคับ | ให้คนคุมกำกับของไว้ |
ไม่ตกลงครั้นจะส่งให้ชาวคลัง | ก็กลัวผิดรับสั่งยังไม่ได้ |
ปาเตะยาสาก็ว่าไป | เราชวนกันแก้ไขให้ได้การ |
ถึงมิโปรดโทษทัณฑ์จะรับผิด | เอ็นดูองค์ทรงฤทธิ์ให้สงสาร |
ทั้งสี่เสนาปรีชาชาญ | พร้อมจิตคิดอ่านแล้วจรลี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงพระโรงคัลทันใด | ก็เข้าไปพร้อมพรั่งกันทั้งสี่ |
เห็นสำราญพระทัยได้ที | เสนีเคารพอภิวันท์ |
ทูลแถลงแจ้งรหัสพระนัดดา | ดูทีกิริยานั้นโศกศัลย์ |
เพราะว่าหวังตั้งพระทัยผูกพัน | หมายมั่นไม่สมอารมณ์ปอง |
ถึงภูบาลไม่ประทานพระบุตรี | ด้วยเกรงศรีปัตหราทั้งสอง |
ขอพระองค์ทรงดำริตริตรอง | รับแต่ของที่ถวายพอคลายใจ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวหมันหยาตรัสแจ้งแถลงไข |
นัดดาเล่าตัวเปล่าอยู่เมื่อไร | ตุนาหงันกันไว้กับบุษบา |
สองพระองค์ทรงทราบเนื้อความเข้า | จะโทษเราผู้ใหญ่ว่าคบหา |
แม้นมิกลัวจะติฉินนินทา | จะห้ามหวงจินตะหราไว้ไย |
ทั้งนี้ก็ตามแต่น้ำจิต | พระนัดดาจะคิดแก้ไข |
จะมาพูดกับเราไม่เข้าใจ | แล้วอย่าให้ความผิดมาถึงกัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ทั้งสี่เสนาเกษมสันต์ |
บังคมลามาจากพระโรงคัล | ไปยังประเสบันทันใด ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึงประณตบทมาลย์ | ยิ้มพลางทางคลานเข้าไปใกล้ |
ต่างกราบทูลแถลงให้แจ้งใจ | ตามคำภูวไนยตรัสมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระโฉมยงวงศ์อสัญแดหวา |
ได้ฟังวาทีสี่เสนา | แสนโสมนัสสาเป็นพ้นนัก |
จึงประทานเสื้อผ้าเงินทอง | สิ่งของสมควรแก่ยศศักดิ์ |
เราแทนคุณที่ท่านสามิภักดิ์ | จงรักช่วยร้อนเราครั้งนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งมหาเสนาทั้งสี่ |
รับของประทานด้วยยินดี | ต่างถวายอัญชลีลาไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีศรีใส |
ครั้นพลบค่ำย่ำฆ้องก็ดีใจ | ดังได้เสวยสวรรค์ชั้นฟ้า ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ชมตลาด
๏ จึ่งชำระพระองค์สรงวาริน | อวลอบตลบกลิ่นบุปผา |
ลูบไล้สุคนธ์ปนทองทา | ประอุราอุหรับจับผิวพรรณ |
ทรงภูษาช่อชายลายกระบวน | หอมหวนอวลอบดอกปะหนัน |
ซ่าโบะสีทับทิมกรองสุวรรณ | ปั้นเหน่งเพชรพรายพรรณบรรจง |
พระหัตถ์ขวาทรงกริชกรีดกราย | จับชายย่างเยื้องยุรหงส์ |
ออกจากประเสบันอากง | เสด็จตรงเข้าไปในวัง ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลงฝรั่ง
ร่าย
๏ มาถึงปราสาทจินตะหรา | พระปรีดาด้วยสมอารมณ์หวัง |
หยุดยืนแฝงทวารบานบัง | เห็นโฉมยงทรงนั่งบนแท่นทอง |
ฝูงกำนัลแวดล้อมพร้อมเพรียง | สองพี่เลี้ยงชิดใช้อยู่ในห้อง |
สว่างแสงอัจกลับจับพักตร์น้อง | นวลละอองผ่องศรีฉวีวรรณ |
งามจริงพริ้งพร้อมทั้งสารพางค์ | พระชำเลืองดูนางพลางรับขวัญ |
เอานขาเคาะเข้าเป็นสำคัญ | บอกใบ้ให้บาหยันรู้ที ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พระพี่เลี้ยงแลกำนัลสาวศรี |
ชำเลืองแลดูพระภูมี | สะกิดกันอัญชลีแล้วออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีศรีใส |
เห็นพี่เลี้ยงกัลยาคลาไคล | ก็แฝงเงาเข้าในที่ไสยา |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมยงองค์ระเด่นจินตะหรา |
เหลือบเห็นอิเหนาเข้ามา | ให้ตระหนกตกประหม่าไม่พาที |
ครั้นพระเสด็จนั่งยังแท่นแก้ว | นางบังคมแล้วก็ถอยหนี |
แอบองค์ลงข้างแท่นมณี | มารศรีเมียงม่อยพักตรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ชาตรี
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์เทวัญหรรษา |
ยิ้มพลางชายเนตรดูกัลยา | พลางมีวาจาตรัสไป |
เชิญเจ้าขึ้นมาบนแท่นนี้ | เป็นเพื่อนพี่พูดจาปราศรัย |
แขกมาหาน้องถึงห้องใน | น้อยหรือนิ่งได้ไม่ทักทาย |
เสียแรงพี่จงจิตพิศวาส | เป็นนิจไม่ขาดที่มาดหมาย |
ถึงชีวันบรรลัยไม่เสียดาย | สู้ตายจะอยู่เป็นคู่เคล้า |
ว่าแล้วลดองค์ลงนั่งใกล้ | ลูบไล้เลียมโลมโฉมเฉลา |
ถอยหนีพี่ไยนะนงเยาว์ | พระเพลาทับเพลานางไว้ |
จงผินมาพาทีด้วยพี่บ้าง | จะสะเทินเหินห่างไปข้างไหน |
พระกุมกรกัลยาคลาไคล | ขึ้นไปบนที่แท่นทอง |
นั่งแอบแนบนางพลางตรัส | เจ้าเคืองขัดพี่ไยมิให้ต้อง |
ความรักอุตส่าห์มาหาน้อง | นวลละอองจงได้ปรานี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นจินตะหรามารศรี |
ผูกคิ้วนิ่วหน้าไม่พาที | ผินผันหันหนีพี่ยา |
หยิกข่วนผลักไสมิให้ต้อง | สะบิ้งสะบัดปัดป้องหัตถา |
ชายเนตรค้อนสบหลบนัยนา | กัลยาขวยเขินสะเทินใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
โลม
๏ น้องเอยน้องรัก | นวลละอองผ่องพักตร์เพียงแขไข |
งามองค์ทรงลักษณ์วิไล | พิศไหนสารพันเป็นขวัญตา |
พี่หวังจะฝังฝากไมตรีจิต | รักร่วมสนิทเสนหา |
ควรหรือดวงฤทัยไม่เมตตา | แต่จะตอบวาจาก็ไม่มี |
ช่างผินผันหันหลังไม่แลดู | โฉมตรูขัดใจสิ่งไรพี่ |
เชิญชม้ายชายตามาข้างนี้ | จะสะบัดเบือนหนีพี่ยาไย |
จะเล่าให้เจ้าฟังแต่หลังมา | พี่ทุกข์แทบเลือดตาจะหลั่งไหล |
เพราะหวังชมสมสวาททรามวัย | สู้เอาชีวาลัยมาแลกรัก |
ควรหรือไม่เยื้อนช่างเชือนเฉย | ไม่เห็นเลยพี่วิตกเพียงอกหัก |
อุ่ยหน่าอย่าข่วนพี่ยานัก | เสียดายเล็บน้องรักจะหักไป |
ถึงเจ้าจะเอากริชที่พี่เหน็บ | แทงเข้าจักเจ็บก็หาไม่ |
ด้วยความรักร้อนรึงตรึงใจ | ดั่งไฟกองกลุ้มสุมกาย ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | จินตะหราวาตีโฉมฉาย |
ก้มพักตร์หมอบเมียงเอียงอาย | พลางภิปรายตอบรสพจนา |
อนิจจาน่าน้อยใจนัก | ทำข่มเหงหาญหักเป็นหนักหนา |
อาจอุกรุกรานเข้ามา | แล้วทำหยาบช้าให้ช้ำใจ |
ไม่คิดเอ็นดูแก่ผู้ยาก | เห็นว่าน้ำท่วมปากแล้วทำได้ |
แม้นพระบิตุเรศรู้ไป | จะพลอยได้ความผิดติดพัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
โลม
๏ ทรามเอยทรามสงวน | ไม่ควรจะขึ้งเคียดเดียดฉันท์ |
พี่ว่ากล่าวโดยจริงทุกสิ่งอัน | อย่าหมองหมางอย่างนั้นนะเทวี |
ซึ่งรุกรานหาญหักเข้ามา | ก็เพราะแสนเสนหามารศรี |
ถึงบิตุเรศมารดาของนารี | ก็ย่อมทราบคดีอยู่เต็มใจ |
พี่ก็ได้วอนว่าตุนาหงัน | สองประหมันอนุญาตยอมให้ |
จะเกรงผิดติดพันด้วยอันใด | ใช่ลอบลักรักใคร่เป็นใจกัน |
วาสนาสองราเราเคยคู่ | โฉมตรูอย่ารังเกียจเดียดฉันท์ |
จะสงวนชวนชื่นทุกคืนวัน | มิให้ขวัญเนตรน้องข้องเคืองใจ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ น่าเอยน่าสรวล | ถ้อยคำสำนวนช่างแก้ไข |
ว่าสองพระองค์ปลงฤทัย | นี่ได้ที่ไหนมาเจรจา |
ธรรมดาน้อยหน้าก็เจียมตัว | เห็นมีบุญก็กลัววาสนา |
ไม่หมายมาดอาจเอื้อมถึงดอกฟ้า | พระอย่าควรคิดให้ผิดที |
ซึ่งว่ารักนักย่อมมักหน่าย | จะเชื่อลิ้นลมชายก็ใช่ที่ |
อย่าพักลวงโลมเล่นให้เห็นดี | เต็มทีจะรักสักกี่วัน |
อันหนึ่งนางบุษบาบังอร | ภูธรก็ได้ตุนาหงัน |
สมศักดิ์สมตระกูลเสมอกัน | เป็นสุริย์วงศ์เทวัญทั้งสองรา |
อันต่ำช้าบรรดาศักดิ์เหมือนน้องนี้ | ไม่ควรที่จะสนิทเสนหา |
แม้นสองกษัตริย์ทราบกิจจา | ผ่านฟ้าจะเคืองขุ่นฟุนไฟ |
น้องจะได้อัปยศอดสู | จะแลดูหน้าคนกระไรได้ |
จงดำหริดูเถิดพระภูวไนย | มิใช่จะเกียจกันด้วยฉันทา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
โลม
๏ แสนเอยแสนเฉลียว | ช่างเลี่ยงเลี้ยวแหลมหลักหนักหนา |
รักเจ้าเท่าดวงชีวา | เมื่อไม่เชื่อวาจาก็จำจน |
เสียแรงพี่พยายามด้วยความยาก | สู้ลำบากบุกป่าพนาสณฑ์ |
มิได้คิดแก่ชีวิตจะวายชนม์ | หวังจะได้นฤมลมายาใจ |
พี่ตั้งใจสุจริตจิตจง | ว่าจะเลี้ยงโฉมยงให้เป็นใหญ่ |
แม้นมิสมดังจิตที่คิดไว้ | อันนางอื่นพี่ไม่ไยดี |
ถึงศรีปัตหราจะกริ้วโกรธ | ลงโทษก็จะรับใส่เกศี |
จะอยู่ชมสมสู่ด้วยเทวี | อันดาหาธานีพี่ไม่ไป |
ข้อซึ่งต่ำช้าบรรดาศักดิ์ | น้องรักอย่าว่าหาควรไม่ |
อันนางบุษบายาใจ | ก็ได้เป็นน้องของพี่ยา |
ถึงตัวของเจ้าก็เป็นน้อง | ทั้งสองจะกระไรกันหนักหนา |
เขารู้อยู่สิ้นทั้งโลกา | ใครจะอาจเอื้อมว่านินทาเรา |
ว่าพลางพระทางจุมพิต | อิงแอบแนบสนิทโฉมเฉลา |
ถึงจะหยิกจะข่วนก็ทำเนา | แต่นงเยาว์อย่าสลัดตัดไมตรี ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
ร่าย
๏ พระเอยพระโฉมยง | พระจงโปรดเกล้าเกศี |
อะไรก่นหยักเย้าเซ้าซี้ | กระนี้หรือเรียกว่าเมตตา |
น้องยังไม่เห็นที่ความรัก | ด้วยพระทำหาญหักหนักหนา |
เจ็บจิตเป็นพ้นคณนา | เหตุว่ามีบุญไม่เกรงใคร |
พระองค์สิเป็นวงศ์เทวราช | ใครจะอาจติฉินนินทาได้ |
ที่บุญน้อยคนก็คอยจะไยไพ | รู้ไปถึงไหนน่าอัประมาณ |
เขาจะว่าต่ำศักดิ์สิรักดี | คบหาสามีของท่าน |
จะได้ความเจ็บช้ำรำคาญ | พวกพงศ์วงศ์วานจะพลอยอาย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
โลม
๏ ดวงเอยดวงสมร | ฟังคำพี่ก่อนนะโฉมฉาย |
ใครจะล่วงนินทาว่าร้าย | ให้ระคายเคืองขัดอัชฌา |
ก็ย่อมรู้อยู่กับใจด้วยกัน | ทั้งชาวกุเรปันแลหมันหยา |
ว่าพี่แสนพิศวาทวนิดา | พยายามตามมาถึงธานี |
อันความอัปยศอดสู | ชอบแต่จะอยู่กับตัวพี่ |
จะอาวรณ์ร้อนใจไปไยมี | ไม่พอที่จะรับอัประมาณ |
ว่าพลางเลียมลอดสอดเคล้า | สัพยอกหยอกเย้าเกษมศานต์ |
ปรานีพี่บ้างเถิดนงคราญ | อย่ารอนรานเสนหาอาลัย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ ผ่านเอยผ่านฟ้า | มารัดรึงตรึงตราไม่ปราศรัย |
ยิ่งห้ามยิ่งลวนลามไป | เป็นใจของใครจะไม่แค้น |
ช่างพูดจาเพราะพร้องไม่ข้องขัด | แต่หยาบช้าสาหัสเป็นเหลือแสน |
แกล้งจะให้คนหมิ่นถิ่นแคลน | มาตรแม้นว่าพระจะเมตตา |
สุดแต่น้องห้ามก็ตามคำ | นี่สิทำข่มเหงไม่เกรงหน้า |
นางผันพักตร์ผลักไสไปมา | แกมกลมารยาหยิกตี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
โลม
๏ ดวงเอยดวงยิหวา | อุ่ยหน่าอย่าหักมือพี่ |
รักนางจึงทำอย่างนี้ | มารศรีควรหรือมาถือใจ |
ก่นแต่โกรธขึ้งขึงขัด | จะสะบิ้งสะบัดไปถึงไหน |
เมื่อได้แนบเนื้อแนมใน | จงหยุดยั้งชั่งใจกัลยา |
ไม่เห็นทุกข์ที่วิตกเพียงอกหัก | แสนรักสุดรักนี้หนักหนา |
แต่ร้อนรุมกลุ้มกลัดอยู่อัตรา | พึ่งพบทิพย์สุธายาใจ |
แม้นมิสมดังจิตที่คิดปอง | จะออกจากห้องทองนั้นหาไม่ |
ว่าพลางอุ้มองค์อรไท | ขึ้นไว้เหนือตักสะพักชม |
อิงแอบแนบชิดเชยพักตร์ | แรกรักร่วมห้องสองสม |
กรสอดกอดเกี่ยวเกลียวกลม | ประคองเคียงบรรทมประทับกาย |
อัศจรรย์บันดาลไหวหวาด | อสุนีกัมปนาทคะนองสาย |
เปรี้ยงเปรี้ยงเสียงสนั่นลั่นแลบพราย | พระพิรุณโปรยปรายอายละออง |
ผกาแก้วโกสุมปทุมมาลย์ | ก็แบ่งบานรับแสงสูรย์ส่อง |
แมลงภู่ผึ้งภุมรินทอง | ร่ำร้องเชยรสสุมาลี |
สองกษัตริย์เกษมสันต์หรรษา | ดังได้ผ่านเมืองฟ้าราศี |
สมหวังดังถวิลยินดี | อยู่ในแท่นที่ไสยา ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ กล่อม
ร่าย
๏ บัดนั้น | พี่เลี้ยงนางกำนัลพร้อมหน้า |
นั่งปรับทุกข์กันจำนรรจา | ร้อนตัวกลัวอาญาเป็นสุดคิด |
จะนิ่งเสียฉะนี้ก็มิได้ | สองกษัตริย์ทราบไปจะได้ผิด |
ควันไฟใครห่อนจะปิดมิด | ครั้นคิดกันแล้วก็ขึ้นมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ชุบ
๏ จึงนบนิ้วประนมบังคมทูล | นเรนทร์สูรสองกษัตริย์นาถา |
บัดนี้องค์อิเหนานัดดา | เสด็จมาปราสาทพระบุตรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระตูผู้ผ่านกรุงศรี |
ทั้งองค์อัครราชเทวี | ได้ทราบคดีก็จนใจ |
นิ่งนึกตรึกตราดูตากัน | พระทรงธรรม์ไม่ตรัสเป็นไฉน |
ต่างเสด็จลีลาคลาไคล | เข้าในห้องทองที่ไสยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พระทรงโฉมประโลมเสนหา |
เชยชมสมสวาทวนิดา | จนเวลาจวนรุ่งรวีวรรณ |
ไก่ขันกระชั้นเสียงก้อง | พระสวมสอดกอดน้องแล้วรับขวัญ |
พิศพักตร์วนิดายิ่งจาบัลย์ | ทรงธรรม์สะท้อนถอนใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ร่าย
๏ น้องเอยน้องแก้ว | ใกล้รุ่งขึ้นแล้วจะทำไฉน |
สุดที่พี่ยาจะจากไป | ความรักหนักใจแสนทวี |
จะใคร่อยู่สู่สมทรามสงวน | ถนอมนวลให้อิ่มใจพี่ |
จะคิดอ่านผ่อนผันฉันใดดี | ภูมีระทดระทวยองค์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นจินตะหรานวลหง |
ให้อาลัยที่จะไกลพระโฉมยง | กราบก้มพักตร์ลงแล้วถอนใจ |
พลางทูลภูวเรศเชษฐา | จะทำออกนอกหน้ากระไรได้ |
น้องนี้มิใคร่ให้จากไป | แต่เห็นไม่งามใจจงทรงคิด |
แต่เพียงนี้ก็ละเมิดอยู่หนักหนา | พระบิตุเรศมารดาจะเคืองจิต |
เชิญเสด็จก่อนเถิดพระทรงฤทธิ์ | ค่อยคิดต่อไปเป็นไรมี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีเรืองศรี |
ได้ฟังจินตะหราพาที | ภูมีค่อยคลายวิญญาณ์ |
พระลูบหลังสั่งความทรามสงวน | อย่ารัญจวนเศร้าสร้อยละห้อยหา |
แต่พลบค่ำวันนี้พี่จะมา | คอยท่าพี่เถิดนะดวงใจ |
สั่งเสร็จเสด็จยุรยาตร | แสนสวาทมิใคร่จะไปได้ |
เหลียวหลังดูนางพลางถอนใจ | พระฝืนพักตร์หักพระทัยไคลคลา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงประเสบันอากง | ก็สระสรงทรงอุหรับจับมังสา |
สุคนธารประปรายละลายทา | กลบรอยนขานารี |
กิดาหยันหมอบกรานอยู่งานพัด | พระทรงเครื่องเรืองรัตน์จำรัสศรี |
จับชายกรายกรจรลี | ออกมานั่งยังที่แท่นสุวรรณ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | ประสันตาลิ้นลมคมสัน |
ยิ้มพลางทางว่าแก่เพื่อนกัน | คืนนี้อัศจรรย์ประหลาดใจ |
แต่พลบค่ำย่ำฆ้องจนตีสิบเอ็ด | ใครยังรู้ว่าเสด็จไปข้างไหน |
ดูดู๋ช่างไม่ระวังระไว | ให้พระไปแต่ลำพังไม่บังควร |
จนผิวเผือดพิปริตผิดแต่ก่อน | ทั้งพระกรก็ยับย่อยเป็นรอยข่วน |
กลับมาเมื่อสว่างเห็นครางครวญ | จะประชวรฉันใดก็ไม่รู้ |
เห็นทีจะถูกปีศาจ | รังแกร้ายกาจทายาทอยู่ |
พลางหยิบเบี้ยบนขึ้นถือชู | เทวดาเอ็นดูได้ปรานี |
จะถวายสิ่งของที่ต้องใจ | เป็ดไก่แกล้มเหล้าข้าวบุหรี่ |
ขอให้พระไปดีมาดี | ทุกทุกราตรีอย่าเว้นวาย |
ให้เสด็จแต่วันอย่าทันค่ำ | คลึงเคล้าเฝ้าประจำอยู่จนสาย |
จะแต่งเครื่องสังเวยให้มากมาย | ข้าจะกินถวายเทวัญ |
ว่าพลางทางแกว่งเบี้ยบน | ทำตามเล่ห์กลคนขยัน |
พวกเสนีพี่เลี้ยงทั้งนั้น | หัวร่อขึ้นพร้อมกันทันที ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีเรืองศรี |
ตรัสว่าน่าชังเช่นนี้ | ไม่พอที่จะเอามาเจรจา |
งดปากอยู่ไม่ได้น่าใคร่ถอง | ถึงถูกต้องผีสางก็ช่างข้า |
ยิ้มพลางทางเสด็จลีลา | เข้าห้องไสยาบรรทมใน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | ระตูหมันหยาเป็นใหญ่ |
ครั้นรุ่งแจ้งแสงสุริโยทัย | ภูวไนยสระสรงวารี |
ลูบไล้สุคนธาอ่าองค์ | บรรจงทรงเครื่องเรืองศรี |
พระกรกุมกริชฤทธี | จรลีมายังพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงเหนือแท่นที่นั่ง | จึงดำรัสตรัสสั่งกิดาหยัน |
จงไปหาตำมะหงงกุเรปัน | กับสี่พี่เลี้ยงนั้นเข้ามา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กิดาหยันรับสั่งใส่เกศา |
ก้มเกล้าถวายบังคมลา | รีบมาประเสบันทันใด ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงแถลงแจ้งคดี | แก่ตำมะหงงเสนีผู้ใหญ่ |
กับสี่พี่เลี้ยงภูวไนย | รับสั่งให้ไปเฝ้าบัดนี้ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ตำมะหงงได้ฟังถ้วนถี่ |
ก็นึกเดาเข้าใจในที | ชะรอยเหตุคืนนี้เป็นมั่นคง |
แล้วชวนสี่พี่เลี้ยงพระโฉมงาม | มาไปเฝ้าฟังความตามประสงค์ |
ออกจากประเสบันอากง | เดินตรงเข้าไปในวัง ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงท้องพระโรงรัตน์ชัชวาล | ค่อยคลานเข้ามาหน้าที่นั่ง |
คิดแก้ตัวพลางทางคอยฟัง | จะรับสั่งว่าขานประการใด ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระตูผู้ผ่านกรุงใหญ่ |
จึงตรัสเรียกตำมะหงงเสนาใน | กับพี่เลี้ยงมาใกล้แล้วพาที |
คืนนี้อิเหนาขึ้นลอบหา | อะหนะจินตะหรามารศรี |
ตัวเราผู้เป็นผู้ใหญ่นี้ | มิรู้ที่ผ่อนผันฉันใด |
จึงบอกเล่าเจ้าไว้เป็นพยาน | พระภูบาลไม่ทราบจะสงสัย |
ว่าเรารู้เห็นเป็นใจ | ยกบุตรีให้แก่นัดดา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ตำมะหงงนบนิ้วเหนือเกศา |
กับพี่เลี้ยงทั้งสี่มีอัชฌา | ก้มหน้าลงยิ้มพริ้มไป |
เข้าใจในทีพระภูธร | จึงกราบทูลผันผ่อนแก้ไข |
พระนัดดามาจากกรุงไกร | เพราะกำลังรักใคร่พระธิดา |
ก็ย่อมรู้อยู่สิ้นด้วยกัน | ทั้งชาวกุเรปันแลหมันหยา |
ถึงสองกษัตริย์ทราบกิจจา | ก็เห็นว่าจะไม่เป็นไรนัก |
ขอพระองค์จงโปรดเกศี | พระนัดดาธิบดีมีศักดิ์ |
ให้สมหวังดังจำนงที่จงรัก | ด้วยตั้งพักตร์หักมาถึงเพียงนี้ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวหมันหยาเรืองศรี |
จึงตอบคำตำมะหงงเสนี | เรานี้มิรู้ที่จะคิด |
จะหวงแหนธิดาก็หาไม่ | ครั้นจะออกปากให้ก็กลัวผิด |
เห็นความทั้งนี้จะมิมิด | สองพระองค์ทรงฤทธิ์คงจะรู้ |
ครั้นจะมิให้ก็ใช่ที่ | ก็ปรานีนัดดาหนักหนาอยู่ |
เป็นความจนใจจริงจะนิ่งดู | เราบอกไว้ให้รู้เป็นพยาน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ตำมะหงงได้ฟังพระบรรหาร |
ก้มเกล้าประณตบทมาลย์ | กราบกรานแล้วพากันออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงถวายบังคมคัล | พระผู้วงศ์เทวัญอสัญหยา |
ทูลความตามมีพระบัญชา | ให้ทราบบาทาทุกสิ่งอัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีเฉิดฉัน |
ฟังกระแสรับสั่งพระทรงธรรม์ | เกษมสันต์สมถวิลยินดี |
จึงชำระสระสรงทรงเครื่อง | รุ่งเรืองจำรัสรัศมี |
กุมกริชกรายกรจรลี | ไปปราสาทมณีกัลยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงจึงขึ้นบนแท่นทอง | นั่งแอบแนบน้องเสนหา |
พี่เลี้ยงสาวศรีมีอัชฌา | สะกิดกันวันทาแล้วออกไป |
พระเชยชื่นรื่นเริงบันเทิงจิต | แย้มสรวลชวนชิดพิสมัย |
คลึงเคล้าเฝ้าชมภิรมย์ใจ | มิได้คลาดคลาสักนาที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นจินตะหรามารศรี |
ร่วมภิรมย์สมสวาทเปรมปรีดิ์ | ด้วยระเด่นมนตรีพี่ยา |
หมอบเมียงเคียงองค์พระทรงเดช | ชำเลืองเนตรรับเนตรพระเชษฐา |
ชลีกรงอนงามกิริยา | จำนรรจาแย้มยิ้มพริ้มเพรา |
พระจุมพิตชิดเชยปรางทอง | พลางประคองเล้าโลมโฉมเฉลา |
กัลยาหยิกตีที่พระเพลา | หยอกเย้าแย้มสรวลชวนสำราญ |
เพลิดเพลินจำเริญใจใหลหลง | ต่างจำนงจงรักสมัครสมาน |
อิงแอบแนบข้างพลางอยู่งาน | เยาวมาลย์บำเรอทุกเวลา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
https://vajirayana.org/system/files/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B2_264950.pdf