- คำอธิบาย ว่าด้วยบทละคร อิเหนาฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ
- เล่มที่ ๑
- เล่มที่ ๒
- เล่มที่ ๓
- เล่มที่ ๔
- เล่มที่ ๕
- เล่มที่ ๖
- เล่มที่ ๗
- เล่มที่ ๘
- เล่มที่ ๙
- เล่มที่ ๑๐
- เล่มที่ ๑๑
- เล่มที่ ๑๒
- เล่มที่ ๑๓
- เล่มที่ ๑๔
- เล่มที่ ๑๕
- เล่มที่ ๑๖
- เล่มที่ ๑๗
- เล่มที่ ๑๘
- เล่มที่ ๑๙
- เล่มที่ ๒๐
- เล่มที่ ๒๑
- เล่มที่ ๒๒
- เล่มที่ ๒๓
- เล่มที่ ๒๔
- เล่มที่ ๒๕
- เล่มที่ ๒๖
- เล่มที่ ๒๗
- เล่มที่ ๒๘
- เล่มที่ ๒๙
- เล่มที่ ๓๐
- เล่มที่ ๓๑
- เล่มที่ ๓๒
- เล่มที่ ๓๓
- เล่มที่ ๓๔
- เล่มที่ ๓๕
- เล่มที่ ๓๖
- เล่มที่ ๓๗
- เล่มที่ ๓๘
เล่มที่ ๕
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงสามระตูผู้แกล้วกล้า |
ร่วมพระบิตุเรศมารดา | เชษฐาครองปันจะรากัน |
มีราชธิดานารี | ชื่อสการะวาตีสาวสรรค์ |
ระตูผู้น้องถัดนั้น | ครองปักมาหงันพระนคร |
ท้าวมีพระราชบุตรี | ชื่อมาหยารัศมีศรีสมร |
อันองค์อนุชาบังอร | นามกรสังคามาระตา |
ระตูผู้น้องที่สุด | ครองเมืองชื่อบุศสิหนา |
ไร้คู่ตุนาหงันกัลยา | พระเชษฐาสงสารรำคาญใจ |
จึงไปขอธิดาปะตาหรำ | มาทำวิวาห์การใหญ่ |
เสร็จแล้วเลิกพหลพลไกร | สามกษัตริย์จะไปพารา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ มาถึงเนินทรายชายทุ่ง | เชิงกุหนุงปะราปีภูผา |
พระแลไปบนยอดบรรพตา | เห็นบรรณศาลาก็ยินดี |
จึงตรัสชวนอนุชาชาญชัย | จะแวะขึ้นไปไหว้พระฤๅษี |
พลางสั่งให้หยุดโยธี | แทบที่แนวน้ำลำธาร |
ทั้งสามองค์ลงจากราชรถ | พร้อมทศโยธาทวยหาญ |
ไม่สรงสีวิกามาศราชยาน | เสด็จเดินไปสถานพระสิทธา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลง
๏ ถึงบริเวณวงที่จงกรม | พ่างพื้นรื่นร่มด้วยพฤกษา |
จึงเข้าไปในบรรณศาลา | ต่างถวายวันทาพระมุนี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์สังปะติเหงะฤๅษี |
เห็นสามทรงธรรม์มาอัญชลี | พระมุนีจึงปราศรัยไป |
ดูราบรมบพิตร | มีกิจกังวลเป็นไฉน |
ยกพยุหโยธาคลาไคล | มาไยในอรัญกันดาร |
อันนิเวศน์เขตขอบบุรีรัตน์ | ยังไพบูลย์พูนสวัสดิ์เกษมศานต์ |
หรือเกิดเหตุเภทภัยพ้องพาน | จึงละราชฐานบ้านเมืองมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวปันจะรากันเชษฐา |
นบนอบตอบคำพระสิทธา | อาณาจักรนัคราก็ถาวร |
ปราศจากศัตรูหมู่ภัยพาล | ประชาชนชื่นบานสโมสร |
ซึ่งโยมยกโยธาพลากร | ดัดดั้นดงดอนมาทางนี้ |
ไปแต่งการสยุมพรอนุชา | ด้วยธิดาปะตาหรำบุรีศรี |
เสร็จสรรพแล้วจะกลับไปธานี | จึงแวะมาอัญชลีพระอาจารย์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | โยธาสามระตูผู้ห้าวหาญ |
เร่งรัดจัดแจงจับการ | อลหม่านอึงมี่นี่นัน |
ต่างปลูกที่ประทับพลับพลา | หลังคาดาดสีมู่ลี่กั้น |
ทั้งสามเหล่าแล้วเสร็จสำเร็จพลัน | เรียงรันริมน้ำลำเนา |
พลับพลาระตูอยู่ข้างนี้ | ปันหยีอยู่ข้างละฟากเขา |
ข้ามละเมาะทุ่งหญ้าป่าแขมเลา | ระยะทางพอเช้าชั่วงาย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวบุศสิหนาเรืองฉาย |
เมื่อจะสิ้นอาสัญวันตาย | เผอิญให้ไม่สบายวิญญาณ์ |
เดือดดาลร่านร้อนอารมณ์ | นั่งในอาศรมไม่หรรษา |
จึงบังคมพระมุนีลีลา | ลงไปพลับพลาเชิงคีรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เข้าในห้องสุวรรณบรรจง | นั่งแนบแอบองค์มเหสี |
เชยชมสมสุขเปรมปรีดิ์ | อยู่บนที่แท่นแก้วแพรวพรรณ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ประสันตาพี่เลี้ยงคนขยัน |
นึกจะไปต่อนกเล่นสักวัน | หาสำคัญคารมให้สมคิด |
จึงแต่งตัวตามอย่างชาวป่า | โพกพันเกศาผ้าตะบิด |
คาดตะกรุดลงยันต์กันสรพิษ | ถือเสน่าเหน็บกริชกรีดกราย |
เรียกบ่าวนักเลงนกหกเจ็ดคน | รีบร้นแต่งตัวกลัวจะสาย |
อุ้มเพนียดถือส้าวทั้งบ่าวนาย | ออกจากค่ายเข้าดงพงไพร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ ลดเลี้ยวเที่ยวมาในอารัญ | ได้ยินนกเขาขันเสียงใหญ่ |
เปลี่ยนซ้ำทำคารมชอบใจ | ก็แฝงไม้หยุดฟังนั่งมอง |
เห็นนกยกเพนียดขึ้นพาดพุ่ม | แอบสุมทุมเมียงหมอบยอบย่อง |
นกต่อตัวรู้คูคะนอง | คารมรบรับรองกันเต็มดี |
พอนกเถื่อนบินผละประเปรียว | ตื่นเหนี่ยวเฉี่ยวฉาบถาบหนี |
ก็เรียกบ่าวให้ปลดส้าวทันที | เลาะลัดพนาลีตามมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ พอแลเห็นม้ารถคชพล | ผู้คนคับคั่งไปทั้งป่า |
ให้คิดสงสัยในวิญญาณ์ | จะเป็นทัพยกมาแต่เมืองใด |
ชาวเรามาจะเข้าไปฟังดู | ดีร้ายให้รู้ยังสงสัย |
จึงเอาเพนียดนกซุ่มรกไว้ | แล้วพากันเข้าไปใกล้พลับพลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | พวกทหารครั้นเห็นก็ร้องว่า |
อ้ายนี่บ่าวใครไปไหนมา | กิริยากรีดกรายเหมือนเจ้าชู้ |
ไม่รู้หรือว่าพลับพลาชัย | ระตูภูวไนยเสด็จอยู่ |
ยิ่งว่ายังขืนยืนดู | บ้างจะไสคอขู่สำทับ |
บ้างโบกมือบ้างถือดินทิ้ง | ก่งกระสุนขึ้นยิงแล้วร้องขับ |
บ้างว่าน่าถองเสียให้ยับ | บ้างว่าจะจับเอาตัวตี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ประสันตาไม่ท้อถอยหนี |
จึงว่ากูเป็นชาวพนาลี | นายชื่อปันหยีชาญชัย |
อันจารีตนิสัยชาวป่า | จะรู้จักท้าวพระยาก็หาไม่ |
ถึงจะห้ามมิให้เข้าไป | เหตุใดไม่บอกแต่ดีมา |
นี่หรือพลับพลาของระตู | แต่ชุมนุมนายกูก็ใหญ่กว่า |
มึงอย่าเย่อหยิ่งหยาบช้า | ถึงเป็นชาวป่าไม่กลัวใคร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พวกทหารได้ฟังก็มันไส้ |
จึ่งร้องว่าฮ้าเฮ้ยไอ้โจรไพร | บังอาจใจขึ้นเสียงเถียงอึง |
ว่าไม่รู้กูก็บอกออกให้ | ทำไมมากลับโกรธขึ้ง |
โอหังอวดกล้าหน้ามึง | ถองเล่นคนละตึงก็เหลือตาย |
มึงมาเท่านี้สี่ห้าคน | ไม่ครือมือพวกพลทั้งหลาย |
แม้นรักตัวกลัวชีวิตวอดวาย | อย่าหยาบช้าท้าทายเร่งหนีไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ประสันตาแค้นขัดอัชฌาสัย |
จึ่งร้องตอบไปพลันทันใด | มึงจะมาขู่ใครไอ้เช่นนี้ |
ถึงกูน้อยตัวไม่กลัวเกรง | จะต่อสู้กับเอ็งไม่ถอยหนี |
หน้าไหนใครเหวยว่ากล้าดี | ให้มึงขี่คอแข่งกันเข้ามา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | โยธีท้าวบุศสิหนา |
ได้ฟังถ้อยคำก็โกรธา | จึ่งกรูออกมาทันใด |
บ้างฉวยได้ไม้พลองตะบองสั้น | สกัดหน้าดากันเข้าล้อมไล่ |
บ้างกำหมัดขัดเขมรเข้าไป | หมายใจจะจับเอาตัว |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ประสันตาชาญชัยมิใช่ชั่ว |
กับบ่าวห้าวหาญไม่เกรงกลัว | ระวังตัวหลีกหลบรบพลาง |
แต่ละคนเข้มขันสันทัด | รับรองป้องปัดไม่ขัดขวาง |
แกว่งอาวุธเงื้อง่าเป็นท่าทาง | ล่อไว้ให้ห่างไม่เข้าชิด |
เหล่าทหารหักโหมโถมเข้ามา | ประสันตาต่อแย้งแทงด้วยกริช |
พลระตูแตกตายวายชีวิต | ได้ทีไล่ประชิดติดพัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ แต่บ่าวบาดเจ็บสองคน | ทานทนทรหดอดกลั้น |
เช็ดเลือดเดือดแค้นขบฟัน | หุนหันโมโหโกรธา |
พลางร้องว่าท้าทายเยาะเย้ย | เหวยเหวยพวกระตูที่อวดกล้า |
ถ้าดีให้เจ้ามึงตามมา | จะให้นายกูฆ่าเสียบัดนี้ |
ว่าแล้วรีบพากันคลาไคล | ไม่ตรงไปพลับพลาปันหยี |
เข้าแอบซุ่มซ่อนอยู่ดูท่วงที | จะฟังเหตุร้ายดีให้รู้มา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระตูผู้ผ่านบุศสิหนา |
ได้ยินเสียงอื้ออึงถึงพลับพลา | ขัดใจไคลคลาออกมาพลัน |
เสด็จเหนือแท่นที่นั่งบัลลังก์รัตน์ | จึ่งดำรัสตรัสถามกิดาหยัน |
ใครวิวาทชกตีกันนี่นั้น | จะกลัวเกรงใจกันก็ไม่มี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กิดาหยันบังคมเหนือเกศี |
ทูลสนองภูวไนยไปทันที | เมื่อกี้มีพวกโจรไพร |
อาจอุกบุกบั่นเข้ามา | ชาวเราร้องว่ามันด่าให้ |
อวดฝีมือถือตัวไม่กลัวใคร | ทะนงใจเจรจาท้าทาย |
ครั้นล้อมไล่จับมันสัประยุทธ์ | พวกเราม้วยมุดเป็นมากหลาย |
กราบทูลแต่ต้นจนปลาย | บรรยายให้ทราบทุกสิ่งอัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระตูขัดแค้นแสนศัลย์ |
กระทืบบาทกราดกริ้วคือเพลิงกัลป์ | จึ่งกระชั้นสีหนาทตวาดไป |
ดูดู๋ผู้คนทั้งกองทัพ | แต่จะจับโจรป่าก็ไม่ได้ |
เกรงกลัวฝีมือมันหรือไร | มันจะมีฤทธิไกรกระไรมา |
อ้ายลูกฟานลูกกระจงทะนงศักดิ์ | โอหังฮึกฮักเป็นหนักหนา |
เร่งเร็วรีบรัดจัดโยธา | จะยกไปเข่นฆ่าเสียบัดนี้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาอกสั่นขวัญหนี |
รับสั่งแล้ววิ่งเป็นสิงคลี | ออกมาจัดโยธีทุกกระทรวง ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ยานี
๏ ตั้งตามกระบวนเบญจเสนา | ซ้ายขวาปีกป้องกองหลวง |
ทัพหน้าทัพหลังทั้งปวง | เคยหักโหมโจมจ้วงประจัญบาน |
บ้างแต่งตัวปลุกเสกเลขยันต์ | ทาน้ำมันเคี้ยวขมิ้นกินว่าน |
เนื้อเหน็บหนังเหนียวเชี่ยวชาญ | ห้าวหาญทรหดอดทน |
บ้างขบฟันขันขออาสา | รู้วิชาบังเหลื่อมล่องหน |
ต่างต่างตัวดีมีเวทมนตร์ | ใส่มงคลประคำคาดเครื่องราง |
ล้วนถือปืนผาอาวุธ | คาบชุดทองปรายหลายอย่าง |
ปืนหลักยังกะตราขานกยาง | ใส่หลังช้างพลายพังดั้งกัน |
สารวัดจัดแจงโยธา | ตามตำราตำรับทัพขันธ์ |
ที่เหลือออกนอกตำแหน่งแบ่งปัน | ให้อยู่เฝ้าสุวรรณพลับพลา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
ร่าย
๏ บัดนั้น | ประสันตาแอบดูอยู่ในป่า |
เห็นพวกระตูแต่งกายา | โยธาเป็นทำนองกองทัพ ฯ |
สำคัญมั่นคงไม่สงสัย | ว่าจะไปทำสงครามตามจับ |
จึงพาบ่าวบุกระนามหนามเกี่ยวยับ | มายังที่ประทับพลับพลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงคลานเข้าไปเฝ้า | ทูลแถลงแบ่งเบาจะเอาหน้า |
บัดนี้ระตูเตรียมโยธา | จะยกมาหักโหมโจมตี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระโฉมยงองค์มิสาระปันหยี |
ได้ฟังประสันตาพาที | ประหลาดใจจึงมีพจมาน |
ระตูผู้นี้อยู่ที่ไหน | ทำไมจะฮึกฮักมาหักหาญ |
เมื่อไม่มีสาเหตุเภทพาล | คำพี่ว่าขานข้าแคลงใจ |
แม้นจะยกโยธามารบจริง | คงมีเหตุสักสิ่งจึงเป็นได้ |
พี่เลี้ยงใครจะเห็นประการใด | จงว่าไปให้ต้องทำนองความ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ยะรุเดะได้ฟังรับสั่งถาม |
จึ่งว่าถ้าจะเกิดสงคราม | ย่อมมีเหตุก่อความจึงลามไป |
นี่เหตุผลไม่มีดีดีอยู่ | ประสันตาช่างรู้มาแต่ไหน |
มีผู้บอกเล่าเจ้าหรือไร | หรือได้ไปเห็นแก่ตา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ประสันตาแสร้งยิ้มแก้หน้า |
จึ่งว่าข้าไปต่อสกุณา | ที่ริมเนินภูผาปะราปี |
พบพวกระตูเขาเตรียมทัพ | ว่าจะยกมาจับปันหยี |
ถ้าสืบไปไม่สมเหมือนพาที | ขอถวายชีวีแก่ภูวไนย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ปูนตาได้ฟังยังสงสัย |
จะซ้ำซักประสันตาก็เกรงใจ | จึงลุกเดินออกไปเที่ยวสอดดู ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ สืบสาวบ่าวไพร่ไม่ได้ความ | ก็ลดเลี้ยวเที่ยวถามทุกหมวดหมู่ |
ถึงมุมค่ายเห็นทับงับประตู | โลหิตสดหยดอยู่หลายกอง |
กริ่งใจเข้าไปด้วยสงกา | เห็นคนนอนคลุมผ้าอยู่ทั้งสอง |
จึงเลิกผ้าจากหน้าลงนั่งมอง | ก็รู้ว่าบ่าวของประสันตา |
เห็นเนื้อตัวยับย่อยเป็นรอยริ้ว | ทำโกรธกริ้วขู่เข็ญจะเข่นฆ่า |
มึงไปเที่ยวปล้นใครเขาแทงมา | หรืออย่างไรเร่งว่าแต่ตามจริง ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คนป่วยตกประหม่าก้มหน้านิ่ง |
ขอทานโทษโปรดก่อนวอนวิง | แล้วเล่าความตามจริงทุกสิ่งอัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ปูนตาฟังคำเห็นเหมาะมั่น |
เหตุผลต้นความพองามกัน | ก็รีบมาสุวรรณพลับพลาชัย |
จึ่งบอกแก่ตำมะหงงเสนี | โดยดังคดีที่ถามไถ่ |
พี่เลี้ยงแลบรรดาเสนาใน | ต่างคนขัดใจประสันตา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ตำมะหงงได้ฟังไม่กังขา |
ชี้หน้าว่าไปด้วยโกรธา | ชะเจ้าประสันตาตัวดี |
ไปเที่ยวซุกซนจนเกิดความ | ให้สงครามติดต่อไม่พอที่ |
ยังกลับมาเอาหน้าพาที | ให้กูนี้เชื่อลิ้นหลงไป |
น้อยหรือเล่ห์กลเจ้าคนเอก | ทำโหยกเหยกให้ระตูดูหมิ่นได้ |
ชอบแต่สับเสี่ยงซ้ำให้หนำใจ | ตัดศีรษะเสียบไว้ทั้งไพร่นาย |
เสนีพี่เลี้ยงจงปรึกษา | โทษตัวประสันตาตามกฎหมาย |
ตำมะหงงด่าว่ามากมาย | ประสันตาเต็มอายไม่เจรจา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | มิสาระปันหยีสุกาหรา |
จึ่งตรัสห้ามตำมะหงงเสนา | จะโมโหโกรธาไปว่าไร |
ถึงจะเอาประสันตาไปฆ่าฟัน | สงครามนั้นจะหายก็หาไม่ |
มาตรแม้นศัตรูรู้ไป | จะได้ใจว่าเราครั่นคร้าม |
ไหนไหนก็ในจะต่อสู้ | ด้วยระตูผู้นี้ไม่เข็ดขาม |
คิดไว้ว่าจะใคร่ทำสงคราม | พึ่งจะได้ออกสนามครั้งนี้ |
ตำมะหงงจงเร่งไปจัดทัพ | ให้พร้อมสรรพตามกระบวนถ้วนถี่ |
ประสันตาทำความไว้งามดี | ให้ออกตีเป็นทัพโทษแก้ตัว |
ทั้งบรรดาบ่าวไพร่ในกองนั้น | ประกาศกันกำชับให้รู้ทั่ว |
ถ้าย่อท้อสงครามคร้ามกลัว | จะเอาโทษตัดหัวเสียบไว้ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ตำมะหงงเสนาอัชฌาสัย |
มิรู้ที่จะทัดทานประการใด | ก็ออกไปเร่งรัดจัดโยธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ขุนหมื่นมุลนายซ้ายขวา |
สับสนอลหม่านไปมา | นายหมวดตรวจตราหากัน |
ที่ขี้ขลาดตาขาวได้ข่าวศึก | อกใจทึกทึกให้นึกพรั่น |
ทำเป็นเจ็บจับไข้ให้งกงัน | ให้เพื่อนกันบอกป่วยมุลนาย |
ลางคนใจกล้าบ้าลำโพง | ปากโป้งโผงอึงอยู่ในค่าย |
อวดรู้เรียนวิชามามากมาย | แยบคายของวิเศษเวทมนตร์ |
ที่ไปเที่ยวไกลไกลยังไม่มา | ก็ให้ติดตามหาทุกแห่งหน |
บ้างรีบรัดจัดแจงแต่งตน | ใส่มงคลประคำสวมคอ |
โพกประเจียดเครื่องอานอาจารย์ให้ | ทาน้ำมันเสกใส่ผงดินสอ |
อาพัดเหล้าเมามึนไม่ย่อท้อ | ใจคอห้าวเหี้ยมฮึกฮัก |
บ้างถือปืนนกสับกำซาบ | โล่ดั้งหอกดาบถอดฝัก |
ทุกหมวดหมายนายไพร่พร้อมพรัก | คอยเสด็จทรงศักดิ์ยาตรา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | มิสาระปันหยีสุกาหรา |
จึ่งสระสรงทรงเครื่องมุรธา | ตามตำรารณรงค์ยงยุทธ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โทน
๏ บรรจงทรงสอดสนับเพลา | ภูษานุ่งหน่วงเนาไม่เลื่อนหลุด |
ฉลององค์เกราะสุวรรณกันอาวุธ | เจียระบาดผาดผุดพรรณราย |
ตาบทิศทับทรวงดวงกุดั่น | คาดเข็มขัดรัดมั่นกระสันสาย |
สังวาลประดับทับทิมพราย | ทองกรจำหลักลายลงยา |
ธำมรงค์ค่าเมืองเรืองระยับ | ตาดพับพันโพกเกศา |
แต่งเป็นเช่นชาวอรัญวา | กุมกริชฤทธาสำหรับมือ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ มาทรงอาชาม้าที่นั่ง | พระหัตถ์หน่วงเหนี่ยวรั้งสายถือ |
ให้คลายเคลื่อนพลขันธ์บันลือ | โห่สนั่นอึงอื้อยกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงทุ่งท้ายเขาปะราปี | เป็นที่ชัยภูมิกว้างใหญ่ |
จึ่งให้หยุดยั้งตั้งทัพชัย | ต้องในสีหนามตามตำรา |
แล้วเกณฑ์ทนายปืนหมื่นปลาย | วางหลุมซุ่มรายอยู่ชายป่า |
พระโฉมยงนั้นทรงอาชา | กั้นกลดรจนาอยู่กลางพล |
ม้าพี่เลี้ยงเคียงข้างม้าที่นั่ง | ม้าหลังระเด่นดาหยน |
ตำมะหงงขี่ม้าออกหน้าคน | กางกั้นสัปทนยอดทอง |
ม้าแซงเสนากิดาหยัน | ยืนรายเรียงรันเป็นแถวถ้อง |
สารวัดจัดตรวจทุกหมวดกอง | ธงทิวทวนทองไสวไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ระตูบุศสิหนาเป็นใหญ่ |
เร่งรัดจัดพหลพลไกร | นายไพร่พร้อมถ้วนกระบวนทัพ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จึงเข้าที่ชำระสระสนาน | สุคนธารกลิ่นกลบอบอุหรับ |
พระฉายตั้งเตียงทองรองรับ | สอดใส่สนับเพลาพลัน |
ภูษายกแย่งครุฑภุชงค์ | จัดกลีบจีบประจงทรงกระสัน |
ฉลององค์ทรงใส่เกราะสุวรรณ | สำหรับกันสาตราอาวุธ |
ห้อยหน้าเจียระบาดคาดทับ | ปั้นเหน่งสายบานพับประดับบุษย์ |
ใส่สังวาลรณรงค์ยงยุทธ | ทองกรชมพูนุทรจนา |
สอดธำมรงค์เรือนสุบรรณ | มงกุฎกรรเจียกจอนซ้ายขวา |
เหน็บกริชฤทธิไกรไคลคลา | เสด็จมาห้องสุวรรณเทวี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ | จึ่งตรัสแก่ประไหมสุหรี |
เมื่อกี้โจรป่าพนาลี | เข้ามาที่นี่สี่ห้าคน |
พวกเราขับไล่ก็ไม่ฟัง | โอหังจองหองพองขน |
พาลวิวาทวัดเหวี่ยงเถียงลน | องอาจอวดตนเป็นพ้นรู้ |
แล้วสังหารผลาญพลเราล้มตาย | เป็นน่าแค้นน่าอายอดสู |
พี่จะยกทัพขันธ์ไปพันตู | ขวัญข้าวค่อยอยู่อย่าอาวรณ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางดรสาสายสมร |
กราบบาทบังคมประนมกร | ภูธรอย่าได้เสด็จไป |
พระก็เป็นเอกองค์พงศ์กษัตริย์ | ดำรงราชสมบัติบุรีใหญ่ |
ไม่ควรคู่สู้รบกับโจรไพร | ถึงมาตรแม้นมีชัยก็ไม่งาม |
ถ้าฉวยเพลี่ยงพล้ำสิซ้ำร้าย | จะเสียยศอดอายกลางสนาม |
ให้แต่คนชำนาญการสงคราม | ยกทัพติดตามไปต่อตี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระตูบุศสิหนาเรืองศรี |
ฟังนางพลางตอบพาที | ว่าไยอย่างนี้กัลยา |
ธรรมดาว่าพวกโจรไพร | ย่อมเรืองฤทธิไกรแกล้วกล้า |
เคยณรงค์รบราญชำนาญมา | ทั่วทุกพาราก็เลื่องลือ |
จะให้แต่โยธาทั้งนั้น | ไปต้านต่อกับมันจะได้หรือ |
พี่จะใคร่ไปสู้ดูฝีมือ | จะมาถือยศศักดิ์ด้วยอันใด |
เจ้าอย่าโศกาปรารมภ์ | ทุกข์ร้อนเกรียมตรมหม่นไหม้ |
สั่งเสร็จเสด็จจากห้องใน | ออกไปที่ประชุมโยธา |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ จึงเหยียบโกลนโจนขึ้นม้าที่นั่ง | ด้วยกำลังแค้นขัดสหัสสา |
โบกพระหัตถ์ตรัสสั่งเสนา | ให้เร่งยกโยธาคลาไคล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เลียบเดินตามเนินแนวกุหนุง | พอตกทุ่งแลเห็นทัพใหญ่ |
ธงเทียวเขียวแดงดาดไป | เสียงฆ้องกลองชัยนี่นัน |
ระตูเดือดดาลทะยานจิต | ประกาศิตสั่งนิกรกองขัน |
เร่งโจมตีเข้าไปอย่าไว้มัน | ไล่พิฆาตฟาดฟันให้มรณา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นายทัพรับสั่งใส่เกศา |
ต่างคนต่างขับโยธา | ทั้งกองหนุนกองหน้าดาประดัง |
เร่งพลพาชีตีกระหนาบ | ตัวนายชักดาบออกไล่หลัง |
ทนายปืนยิงปืนตึงตัง | เสียงดังครื้นครั่นสนั่นดง ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | จึงมหาเสนาตำมะหงง |
แกว่งกระบี่ตีต้อนจัตุรงค์ | อาจองออกไล่ทะลวงฟัน |
ที่เหล่านั่งหลุมซุ่มคอยรับ | ก็ปล่อยตับเสียงปืนครื้นครั่น |
พวกอาสาม้าแซงสามพัน | รำทวนสวนควันเข้าโถมแทง |
บ้างลุยไล่สะพัดซัดหอกคู่ | เกาทัณฑ์ธนูน้าวแผลง |
พลระตูตายกลาดกลางแปลง | เลือดแดงเป็นสาดดาษดา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ประสันตาดีใจเห็นได้ที | ถือกระบี่รี่รำออกนำหน้า |
บ่าวไพร่ไม่คิดแก่ชีวา | ต่างเข้าเข่นฆ่าปัจจามิตร |
พวกพลแตกกระจายพ่ายพัง | จนกระทั่งทัพระตูไม่ต้านติด |
ประสันตาท้าทายทำอวดฤทธิ์ | รำกริชเยาะเย้ยไปมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ กลองมลายู
๏ เมื่อนั้น | ระตูผู้ผ่านบุศสิหนา |
เห็นโจรไพรไล่พลโยธา | แตกกระจายพ่ายมาจนหน้าทัพ |
โกรธนักชักกระบี่ออกตีต้อน | ไล่พลนิกรสะท้อนกลับ |
กองหลวงกองหลังคั่งคับ | ไม่หลีกหลบรบรับต้านทาน |
บ้างพุ่งผัดสาตราอาวุธ | อุตลุดสับสนอลหม่าน |
หักโหมโรมรันประจัญบาน | ตีประดาหน้ากระดานเข้าไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ปันหยีองอาจไม่หวาดไหว |
เห็นระตูต้อนพลสกลไกร | รุกไล่ติดพันประสันตา |
พระไล่พลพาชีกองหลวง | โถมทะลวงควงขับเข้ารับหน้า |
บ้างรำทวนสวนแทงบนหลังม้า | ชักอาชาหมายมุ่งพุ่งหอกซัด |
พลดาบดึงดันเข้าฟันฟาด | สามารถรับรองป้องปัด |
ทนายปืนยืนยิงคนละนัด | แล้วหยุดยัดยิงสาดซ้ำไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ระตูบุศสิหนาเป็นใหญ่ |
เห็นโยธีรี้พลสกลไกร | ชิงชัยไพรีไม่พ่ายพัง |
พระยิ่งกริ้วโกรธโกรธา | กะระตะอาชาม้าที่นั่ง |
ฝ่าพลขึ้นไปมิได้ยั้ง | ด้วยโมโหโอหังไม่รั้งรอ |
แลเห็นปันหยีขี่อาชา | โสภาพริ้งเพราดังเหลาหล่อ |
น่าจะมีพงศ์เผ่าเหล่ากอ | เนื้อหน่อกษัตริย์ขัตติยา |
ท่วงทีที่ทำก็ประหลาด | เห็นมิใช่เชื้อชาติชาวป่า |
คิดพลางทางมีวาจา | ดูราปันจุเหร็จฤทธิรณ |
เป็นไฉนหยาบช้าสามานย์ | ชวนกันทำการอกุศล |
ตั้งกองซ่องสุมผู้คน | จะเที่ยวปล้นพาราหรือว่าไร |
รูปทรงส่งศรีกิริยา | จะสมเป็นชาวป่าก็หาไม่ |
บ่าวท่านอาจองทะนงใจ | เข้าไปถึงหน้าพลับพลา |
ไล่ผลาญรี้พลเราล้มตาย | แล้วหยาบช้าท้าทายเป็นหนักหนา |
หมิ่นเราเผ่าพงศ์กษัตรา | เร่งส่งมันมาแต่โดยดี ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระโฉมยงองค์มิสาระปันหยี |
ฟังระตูบุศสิหนาพาที | ยิ้มพลางทางมีพจมาน |
เราเป็นชาติชาวป่าพนาลัย | เที่ยวอยู่ตามวิสัยในไพรสาณฑ์ |
มิได้เคยหักโหมโรมราญ | ตีบ้านเมืองใครแต่ไรมา |
ซึ่งบ่าวเราทำละเมิดเกิดวิวาท | รุกราชอาจหาญเหมือนท่านว่า |
จะให้ส่งตัวนั้นสุดปัญญา | ด้วยไม่รู้จักหน้าว่าผู้ใด |
พวกพ้องของท่านที่ล้อมวง | แต่จะจับชาวดงก็ไม่ได้ |
ดูเหมือนไม่มีมือหรือว่าไร | นิ่งให้เขาฆ่าขายหน้านาย |
ถ้ารู้ไปถึงไหนก็ไม่งาม | ชอบแต่คิดปิดความเสียให้หาย |
นี่อะไรไม่หนำยังซ้ำร้าย | เอาโยธามาตายเสียก่ายกอง |
ซึ่งเราช่วยว่าเพราะการุญ | อย่าโมโหหันหุนขุ่นข้อง |
จงยกทัพกลับไปดังใจปอง | ครอบครองพาราให้สำราญ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระตูบุศสิหนากล้าหาญ |
ฟังปันหยีตอบพจมาน | ว่าขานแนมเหน็บยิ่งเจ็บใจ |
จึงร้องว่าเหวยปันจุเหร็จ | เข้ากับบ่าวกล่าวเท็จแก้ไข |
มิส่งตัวมันมาก็แล้วไป | ดีแล้วจะได้เห็นกัน |
ว่าพลางทางขับอาชา | รำท่าเพลงทวนหวนหัน |
เข้าไล่โรมรุกบุกบัน | หมายมั่นจะฆ่าชีวาลัย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ปันหยีไม่พรั่นหวั่นไหว |
กะระตะอาชาชิงชัย | เลี้ยวไล่ตลบทบทวน |
เปลี่ยนท่าผ่าหมากเป็นนาคเกี่ยว | ล่อเลี้ยวพัลวันหันหวน |
ต่างคล่องว่องไวในกระบวน | ประปรายปลายทวนแทงกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ พญาเดิน
๏ เมื่อนั้น | ท้าวบุศสิหนาแข็งขัน |
ขับม้าไล่กระชิดติดพัน | ป้องปัดผัดผันอาวุธ |
วนเวียนเข้าออกเป็นปลอกช้าง | กัณฐัศว์สะบัดย่างไม่ยั้งหยุด |
จู่โจมโถมแทงแย้งยุทธ์ | ด้วยกำลังฤทธิรุทรราวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ เมื่อนั้น | จึงองค์มิสาระปันหยี |
เห็นระตูโรมรุกคลุกคลี | พระแกล้งหนีทีทำเป็นย่อท้อ |
เยื้องไหล่ให้หลังรั้งรอรบ | ชักสินธพหลบหลีกเลี้ยวล่อ |
เวียนวงเป็นหงส์สองคอ | กลับกลอกหลอกล่อกันไปมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เห็นข้าศึกเสียเชิงละเลิงไล่ | พระขับใหญ่เลี้ยวลัดสกัดหน้า |
โถมแทงถูกอกตกอาชา | สิ้นชีวาวินาศขาดใจ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๏ พวกทหารปันหยีก็โห่ร้อง | กึกก้องนี่นันหวั่นไหว |
ตะลุมบอนบุกบั่นฟันเข้าไป | ลุยไล่พิฆาตไพรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พลระตูแตกกระจายพ่ายหนี |
บ้างวิ่งวางตรงเข้าพงพี | บ้างลงว่ายนทีแทบตาย |
บ้างขึ้นเขาข้ามเนินเดินสะดุด | เครื่องอานอาวุธก็ตกหาย |
ผ้าผ่อนทิ้งเสียออกเรี่ยราย | บ่าววิ่งเกินนายไม่รอรั้ง |
ที่ขี้ขลาดออกได้ไปคนเดียว | เสียงโห่เกรียวเกรียวไม่เหลียวหลัง |
จวนตัวกลัวตายเต็มกำลัง | สิ้นสติลงนั่งภาวนา |
บ้างถูกปืนป่วยอยู่สู้คลาน | ลนลานลำบากลากขา |
ซุกซนด้นดั้นอรัญวา | ต่างตื่นตกประหม่าไม่สมประดี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พวกพหลพลขันธ์ปันหยี |
ไล่ตามติดพันทันไพรี | ทุบตีแทงตายก่ายกอง |
จับนายได้เป็นไม่เข่นฆ่า | รีบเอาผ้าเสื้อแสงสิ่งของ |
ฉวยได้ดาบคร่ำประคำทอง | แล้วทุบถองผูกรัดมัดมือมา |
เห็นทวนทองสัปทนที่ทิ้งไว้ | บ่าวไพร่ไล่ชิงกันฉาวฉ่า |
ลางคนสาละวนวิ่งจับม้า | เฮฮาโห่สนั่นพนาลัย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | องค์มิสาระปันหยีศรีใส |
ครั้นชนะไพรีมีชัย | ก็กลับไปที่ประทับพลับพลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | โยธีท้าวบุศสิหนา |
ซึ่งเหลือตายด้นดั้นอรัญวา | พากันขึ้นมาบนบรรพต |
เห็นสองกษัตริย์เสด็จนั่ง | ยับยั้งพูดจากับดาบส |
จึงเข้าไปเฝ้าองค์พระทรงยศ | กราบบาทบงกชแล้วโศกี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | สองกษัตริย์สุริย์วงศ์เรืองศรี |
หลากใจไหวหวั่นพันทวี | จึงกล่าววาทีถามไป |
อ้ายเหล่านี้เป็นไฉนอย่างไรอยู่ | ทำไมมาหากูแล้วร้องไห้ |
มีเหตุเภทพาลประการใด | จงบอกไปให้แจ้งกิจจา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พวกพลท้าวบุศสิหนา |
ได้ฟังสองกษัตริย์ตรัสมา | จึงวันทาทูลสนองพจมาน |
มีพวกโจรไพรใจฉกรรจ์ | บุกบั่นเข้ามาถึงหน้าฉาน |
ใครห้ามไม่ฟังอหังการ | ไล่ผลาญรี้พลมนตรี |
แล้วกล่าวคำหยาบช้าท้าทาย | บอกว่านายของมันชื่อปันหยี |
พระอนุชายกทหารไปต้านตี | เสียทีมอดม้วยมรณา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองระตูภูวเรศเชษฐา |
ได้ฟังดังต้องสายฟ้า | ตกประหม่าหน้าซีดลงทันใด |
น้อยจิตเจ็บอายเสียดายน้อง | ให้ขุ่นข้องแค้นขัดอัชฌาสัย |
มิได้ไต่ถามต่อไป | บรรหารให้ตรวจเตรียมโยธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ แล้วบังคมคัลวันทา | กล่าวคำอำลาพระฤๅษี |
โยกจะยกโยธาไปราวี | แก้แค้นไพรีอหังการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์สังปะลิเหงะฤๅษีสาร |
เล็งดูรู้ด้วยอภิญญาณ | จึงแจ้งการแก่สองกษัตรา |
อันมิสาระปันหยีนี้ไซร้ | มิใช่ปันจุเหร็จโจรป่า |
คืออิเหนาสุริย์วงศ์เทวา | โอรสาองค์ท้าวกุเรปัน |
ใครอาจหาญต้านต่อรอฤทธิ์ | จะสุดสิ้นชีวิตอาสัญ |
จงหยุดยั้งชั่งพระทัยทรงธรรม์ | อย่าหุนหันฮึกฮักไปชิงชัย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองระตูผู้มีอัชฌาสัย |
แต่ออกนามอิเหนาก็ตกใจ | ภูวไนยไหวหวั่นครั่นคร้าม |
จึงคิดว่าดาบสพระองค์นี้ | เล็งเห็นถ้วนถี่เธอจึงห้าม |
ถ้าจะขืนรณรงค์สงคราม | จะซ้ำร้ายตายตามอนุชา |
คิดพลางทางสนองพระมุนี | เอ็นดูโยมครั้งนี้หนักหนา |
พระคุณล้ำล้นคณนา | จะทำตามวาจาพระอาจารย์ |
ว่าแล้วอำลาดาบส | ลงจากบรรพตไพศาล |
พร้อมพหลมนตรีบริวาร | ไปสถานที่ประทับพลับพลาทอง ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงที่สำนักตำหนักไพร | จึงเสด็จคลาไคลเข้าในห้อง |
ให้คิดครวญคะนึงถึงพระน้อง | ชลเนตรฟูมฟองนองนัยน์ |
แล้วตรัสเรียกสองมเหสี | มาเล่าความถ้วนที่แถลงไข |
ปันหยีนี้มิใช่ชาวไพร | คืออิเหนากรุงไกรกุเรปัน |
ลือนามขามเดชเดชา | ทั้งเป็นวงศ์เทวากระยาหงัน |
แม้นจะยกพลไกรไปโรมรัน | ก็จะซ้ำอาสัญเป็นสามคน |
หากว่าดาบสผู้ทรงญาณ | แจ้งการจึงรู้เหตุผล |
จำจะโอนอ่อนผ่อนปรน | จึงจะพ้นไภยันอันตราย |
จะไปออกปันหยีเสียดีกว่า | เอาโอรสธิดาไปถวาย |
จะได้พึ่งทรงธรรม์คุ้งวันตาย | โฉมฉายจะเห็นประการใด ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองประไหมสุหรีศรีใส |
นบนิ้วสนองพระภูวไนย | พระคิดได้ดังนี้ดีนัก |
ไปออกแก่มิสาระปันหยี | ธานีจะได้พึ่งเป็นแหล่งหลัก |
เพราะเดชวงศาสุรารักษ์ | จะปรากฏยศศักดิ์สืบไป |
แล้วเรียกราชธิดาเข้ามาสั่ง | ลูบหลังลูบหน้าน้ำตาไหล |
สาวสวรรค์ขวัญข้าวอย่าเศร้าใจ | จะได้พึ่งพระองค์วงศ์เทวา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองบุตรีได้ฟังก็กังขา |
จึงทูลถามบิตุเรศมารดา | ซึ่งตรัสมาไม่แจ้งยังแคลงใจ |
อันสุริย์วงศ์พงศาสุราฤทธิ์ | รูปร่างเพี้ยนผิดเราหรือไฉน |
ไม่อยู่เมืองสวรรค์ด้วยอันใด | เรื่องราวอย่างไรแต่แรกมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองประไหมสุหรีเสน่หา |
จึงแถลงแจ้งเหตุแก่ธิดา | ว่าเดิมเมืองหมันหยาธานี |
บริบูรณ์พูนสุขสนุกสนาน | ดังวิมานเมืองฟ้าในราศี |
อันระตูผู้ดำรงพระบุรี | มีธิดาทั้งสี่ทรามวัย |
ท้าวจะใคร่แต่งการสยุมพร | กษัตริย์ทุกนครหาควรไม่ |
เมื่อจะมีเหตุนั้นพระขรรค์ชัย | กับธงผุดขึ้นในหน้าพระลาน |
ให้บังเกิดข้าวอยากหมากแพง | รบกันฟันแทงทุกสถาน |
ประชาชนฉิบหายวายปราณ | ได้ขุ่นเคืองรำคาญเดือดร้อน |
ระตูทุกข์นักหนักจิต | เห็นผิดเยี่ยงอย่างแต่ปางก่อน |
มาเกิดการกลีกระลัมพร | จึงให้ถอนพระขรรค์กับธงชัย |
ใครจะทำอย่างไรก็ไม่หลุด | เอาเชือกฉุดก็ไม่ขาดหวาดไหว |
จึงให้ตีฆ้องร้องป่าวไป | ทั่วในแว่นแคว้นแดนชวา |
แม้ใครถอนพระขรรค์กับคันธง | ขึ้นได้ดังจำนงปรารถนา |
ท้าวจะให้สมบัติกึ่งพารา | ทั้งพระธิดาลาวัณย์ |
กรุงกษัตริย์ทั้งสิ้นก็ยินดี | จะใคร่ได้พระบุตรีเฉิดฉัน |
ยกทัพนับแสนมาแน่นนันต์ | เข้าถอนธงพระขรรค์ไม่เคลื่อนคลา |
จึงอสัญแดหวาทั้งสี่ | สถิตที่ไกรลาสภูผา |
เขจรจากสถานวิมานมา | แกล้งแปลงกายาเป็นมนุษย์ |
เข้าในชุมนุมเมืองหมันหยา | รูปทรงโสภาผาดผุด |
จึงจับพระขรรค์กับคันธุช | ก็เขยื้อนเคลื่อนหลุดขึ้นทันใด |
อันสมบัติที่ระตูอนุญาต | เทวราชไม่ประสงค์คงคืนให้ |
รับแต่พระธิดาพาไป | จึงสร้างสรรค์พิชัยธานี |
กุเรปันดาหากาหลัง | อีกทั้งสิงหัดส่าหรี |
ต่างเสวยราชย์อยู่ในบุรี | มีโอรสบุตรีสืบพงศ์พันธุ์ |
บุญแล้วจึงได้ไปเป็นข้า | พระผู้วงศ์เทวากระยาหงัน |
อย่าละห้อยน้อยใจจาบัลย์ | จะได้พึ่งทรงธรรม์ธิบดี ฯ |
ฯ ๒๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองธิดามารศรี |
กราบบาทบิตุราชชนนี | โศกีครวญคร่ำร่ำไร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ร่าย
๏ โอ้ว่าพระทูลกระหม่อมแก้ว | ไม่เอ็นดูลูกแล้วหรือไฉน |
จะสลัดซัดเสียให้จำไกล | ตกไปเป็นข้าปัจจามิตร |
จะมีแต่เกรียมตรมระทมทุกข์ | เสื่อมสุขโศกเศร้าเปล่าจิต |
ควรหรือพระองค์ไม่ทรงคิด | ช่างปลดปลิดอาลัยไม่เมตตา |
นิจจาเอ๋ยเคยเฝ้าอยู่เช้าเย็น | จะนับวันว่างเว้นไม่เห็นหน้า |
ร่ำพลางข้อนทรวงเข้าโศกา | ปิ้มว่าชีวิตจะวายปราณ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พระบิตุราชมาตุรงค์ก็สงสาร |
จึงตรัสปลอบธิดายุพาพาล | เยาวมาลย์แม่อย่าโศกาลัย |
อันชนกชนนีนี้รักเจ้า | เทียมเท่าชีวาก็ว่าได้ |
ใช่จะแสร้งสลัดซัดเสียไกล | เพราะเป็นความจำใจของบิดา |
ถ้าแม้นมิผ่อนผันฉันนี้ | อันตรายจะมีไปเมื่อหน้า |
อย่าขึ้งเคียดเดียดฉันท์เลยขวัญตา | เหมือนแทนคุณบิดาช่วยดับร้อน |
ตรัสพลางทางทรงกันแสงสั่ง | โฉมยงจงฟังซึ่งคำสอน |
ตัวเจ้าจะไปอยู่ด้วยภูธร | จงโอนอ่อนอุตส่าห์รักษาตัว |
สู้เสงี่ยมเจียมจิตคิดว่าข้า | อย่าทิฐิถือว่าพระเป็นผัว |
ยิ่งรักเท่าไรให้ยิ่งกลัว | จงหมั่นเฝ้าฝากตัวตามพระทัย ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ แล้วอุ้มพระกุมารขึ้นใส่ตัก | พิศพักตร์ลูกน้อยละห้อยไห้ |
สุดสวาทของแม่ผู้ร่วมใจ | เจ้าจงไปเป็นเพื่อนพี่นาง |
ทั้งสามอุตส่าห์รักษากัน | อย่าเดียดฉันท์ขุ่นข้องหมองหมาง |
สี่กษัตริย์ตรัสพลางกันแสงพลาง | ปิ้มปางจะสิ้นสมประดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๏ ครั้นคลายอาดูรพูนเทวษ | สองระตูภูวเรศเรืองศรี |
จึงเสด็จย่างเยื้องจรลี | มายังที่ข้างหน้าพลับพลาพลัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงนั่งเหนืออาสน์ | พร้อมหมู่อำมาตย์กิดาหยัน |
จึงตรัสสั่งเสนีทั้งสี่นั้น | จงจัดสรรสิ่งของบรรณาการ |
จะให้พาโอรสแลบุตรี | ไปถวายปันหยีผู้ห้าวหาญ |
เร่งตระเตรียมเทียมรถราชยาน | ถ้วนทุกพนักงานให้พร้อมไว้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ทั้งสี่เสนาผู้ใหญ่ |
รับราชบัญชาแล้วคลาไคล | ลงไปจากสุวรรณพลับพลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึงจัดบรรณาการสิ่งของ | บรรทุกช้างจำลองแลรถา |
ให้เทียมรถสองราชธิดา | ผูกม้าสำหรับพระกุมาร |
แล้วตรวจตรามหาดเล็กขอเฝ้า | ทั้งสามเหล่าสับสนอลหม่าน |
นายไพร่พร้อมกันมิทันนาน | มอบหมายเครื่องอานพานทอง ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ประไหมสุหรีทั้งสอง |
พาโอรสบุตรีพี่น้อง | ไปยังห้องสรงสหัสธารา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ชมตลาด
๏ ให้โฉมยงทรงสุคนธาธาร | พระกุมารทรงอุหรับจับมังสา |
นางนุ่งยกพื้นแดงแย่งนาคา | พระน้องทรงภูษาสีต่างกัน |
นางห่มตาดสุวรรณบรรจง | พระน้องฉลององค์ทรงกระสัน |
พี่นางต่างใส่สังวาลวรรณ | พระน้องนั้นประดับทับทรวงทรง |
นางทรงพาหุรัดตรัสไตร | พระน้องใส่ทองกรก่องก่ง |
พระที่ใส่ไพฑูรย์ธำมรงค์ | พระน้องทรงมรกตรจนา |
นางทรงมงกุฎพระบุตรี | พระน้องใส่เกี้ยวมณีกรอบหน้า |
พี่เลี้ยงสาวศรีมีอัชฌา | ช่วยแต่งกายาให้บังอร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ ครั้นเสด็จทรงเครื่องพระบุตรี | สองประไหมสุหรีศรีสมร |
จึงพาสามโอรสบทจร | มาเฝ้าพระภูธรธิบดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองราชธิดามารศรี |
กราบลงแล้วทรงโศกี | เทวีสะอื้นไห้ไปมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | สองกษัตริย์สุริย์วงศ์นาถา |
เห็นโอรสราชธิดา | มาภิวาทน์วันทาจะลาไป |
ให้สร้อยเศร้าสลดกำสรดโศก | จะวิโยคลูกยาน้ำตาไหล |
ต่างตรัสอำนวยอวยชัย | เจ้าไปเป็นสุขสวัสดี |
สารพัดไภยันอันตราย | อย่าระคายเคืองข้องหมองศรี |
ว่าพลางย่างเยื้องจรลี | ไปส่งพระบุตรีแลโอรส ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลง
๏ ขึ้นเกยที่ประทับฉับพลัน | พระพี่น้องโศกศัลย์กำสรด |
กราบบาทบิตุรงค์ทรงยศ | แล้วประณตชนนีชลีลา |
มาทรงรถที่นั่งบัลลังก์ทอง | ชักม่านปิดป้องซ้ายขวา |
พระกุมารโฉมยงทรงอาชา | ไปหน้าราชรถบทจร |
พร้อมพี่เลี้ยงกำนัลทั้งปวง | โขลนจ่าข้าหลวงสลับสลอน |
แห่แหนแน่นนันต์พนาดร | เสนีนำนิกรจรจรัล ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นมาใกล้ค่ายมั่นปันหยี | เห็นโยธีตั้งกองกวดขัน |
ล้อมวงนอกในหลายชั้น | กองตระเวนเกณฑ์กันตรวจตรา |
ทั้งสี่มหาเสนาใน | คร้ามครั่นพรั่นใจเป็นหนักหนา |
จึงให้ยับยั้งโยธา | หยุดประทับรถาที่ชายดง |
แล้วลงจากพาชีขมีขมัน | พากันเข้าไปหาตำมะหงง |
บอกว่าระตูทั้งสององค์ | มีจำนงจงจิตภักดี |
ให้พาสองธิดาดวงสวาท | กับโอรสราชเรืองศรี |
บรรณาการหลายหลากมากมี | มาถวายธุลีพระบาทา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ตำมะหงงกุเรปันหรรษา |
จึงมายังที่ประทับพลับพลา | วันทาทูลแถลงให้แจ้งใจ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์มิสาระปันหยีศรีใส |
ชื่นชมโสมนัสหัททัย | ภูวไนยแย้มยิ้มพริ้มเพรา |
จึงบัญชาสั่งตำมะหงง | ท่านจงจัดแจงแต่งรับเขา |
อันบุตรีสององค์นงเยาว์ | เห็นยังจะเศร้าโศกนัก |
ทั้งเป็นคนใหม่ไม่คุ้นเคย | อย่าเพ่อพามาเลยให้รู้จัก |
จงนำอรไทไปหยุดพัก | ยังตำหนักริมน้ำที่ทำไว้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ตำมะหงงเสนาอัชฌาสัย |
รับราชบัญชาแล้วคลาไคล | ออกไปสั่งเจ้าพนักงาน |
ให้จัดแจงพลับพลาริมวารี | ผูกมู่ลี่ลายสุวรรณกั้นม่าน |
เชิญสองโฉมเฉลาเยาวมาลย์ | ไปหยุดพักสำราญฤทัย |
แล้วรับราชกุมารเข้ามา | กับเครื่องบรรณาน้อยใหญ่ |
นำสี่เสนานั้นคลาไคล | เข้าไปบังคมคัลอัญชลี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระโฉมยงองค์มิสาระปันหยี |
จึ่งกล่าวสุนทรวาที | ปราศรัยเสนีทั้งสี่ไป |
ซึ่งระตูทั้งสองผู้ครองเมือง | ไม่ผูกแค้นขุ่นเคืองอัชฌาสัย |
กลับทำไมตรีทั้งนี้ไซร้ | ขอบใจเป็นพ้นคณนา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | อำมาตย์ทั้งสี่มียศถา |
จึงนบนิ้วสนองพระบัญชา | สองกษัตริย์สั่งมาให้กราบทูล |
ว่าชีวิตอยู่ใต้ฝ่าพระบาท | จะขอพึ่งภูวนาถนเรนทร์สูร |
ปกป้องสุริย์วงศ์พงศ์ประยูร | ให้เป็นสุขสมบูรณ์บำราศภัย |
ซึ่งระตูผู้น้องทำฮึกฮัก | มาต่อสู้ทรงศักดิ์จนตักษัย |
จะขอประทานเอาศพไป | ภูวไนยได้โปรดปรานี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระโฉมยงองค์มิสาระปันหยี |
แย้มยิ้มพริ้มพักตร์เปรมปรีดิ์ | พลางตรัสแก่สี่เสนา |
จงทูลแก่กษัตริย์ทั้งสององค์ | ให้รับศพไปปลงดังปรารถนา |
อันระตูผู้เป็นอนุชา | อหังการ์มานะเป็นพ้นคิด |
เราจะว่าเท่าไรก็ไม่เห็น | กลับเป็นว่าเข้ากับคนผิด |
อกุศลดลใจจึงม้วยมิด | อย่าให้สองทรงฤทธิ์ร้อนพระทัย |
ซึ่งโอรสสามองค์นงเยาว์ | ฝ่ายเราจะบำรุงรักใคร่ |
เคยสำราญอย่างไรในกรุงไกร | จะเลี้ยงให้เป็นสุขเหมือนอย่างนั้น |
แล้วตรัสเรียกสังคามาระตา | มานั่งใกล้พี่ยาอย่าเดียดฉันท์ |
จะเลี้ยงเจ้าเท่าน้องร่วมครรภ์ | รักร่วมชีวันคุ้งบรรลัย |
แล้วประทานเสื้อผ้าเงินทอง | แก่เสนาทั้งสองกรุงใหญ่ |
ครั้นเสร็จเสด็จคลาไคล | เข้าในห้องที่ไสยา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีสี่นายก็หรรษา |
ออกจากที่ประทับพลับพลา | มาขึ้นม้าพาพลกลับไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงคลานเข้าไปเฝ้า | ต่างคนก้มเกล้าบังคมไหว้ |
ทูลสองระตูภูวไนย | ให้ทราบพระทัยทุกประการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองกษัตริย์ได้ฟังสาร |
ค่อยคลายวายทุกข์รำคาญ | จึงบรรหารตรัสสั่งเสนี |
อันศพอนุชาผู้ร่วมจิต | เราจะฌาปนกิจเสียที่นี่ |
จงกะเกณฑ์รี้พลมนตรี | เร่งถางที่ทำเมรุริมบรรพต |
ท่านคิดทำให้งามตามของป่า | เบญจาจงประดับดอกไม้สด |
สืบไปจะได้เป็นเกียรติยศ | สั่งกำหนดให้เสร็จในสองวัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | อำมาตย์รับสั่งแล้วผายผัน |
ออกมาเร่งรัดจัดกัน | แบ่งพวกพลขันธ์ตามบัญชี |
การพระเมรุเกณฑ์สี่ตำรวจใน | จ่ายไพร่ทั้งสองกรุงศรี |
มูลนายหลายกรมที่สมมี | เกณฑ์หน้าที่สามสร้างทุกเสนา |
นายงานทหารในระดมกัน | ทำพระโกศด้วยจันทน์กฤษณา |
พวกช่างทั้งปวงบรรดามา | ให้ประดับเบญจาด้วยดอกไม้ |
เลือกเหล่ากิดาหยันมาช่วยร้อย | ถ้าเห็นน้อยเติมเหล่าขอเฝ้าให้ |
กองนอกกับพรานชำนาญไพร | จงเที่ยวไปเก็บบุหงาสารพัน |
อันพลบุศสิหนานั้นเกณฑ์ด้วย | ใครแหล่หลอนผ่อนช่วยเข้าที่นั่น |
กองไหนแชเชือนตักเตือนกัน | ในสองวันให้เสร็จอย่านอนใจ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นายมุลขุนหมื่นน้อยใหญ่ |
ที่เกียจคร้านการงานก็บ่นไป | แกล้งเกณฑ์หน้าที่ให้เต็มประดา |
บ้างคุมไพร่เร่งรัดไปตัดเสา | เลือกล้วนเปลาเปลาที่ในป่า |
ล้มลงทอนตัดแล้ววัดวา | ประจบตากล่อมเกลาเท่ากัน |
บ้างใส่สาลี่ลากกระชากฉุด | อุตลุดอึงไปในไพรสัณฑ์ |
บ้างดัดไม้ไผ่ป่าเอาพร้าฟัน | เสียงสนั่นก้องพงดงดาน |
เหล่าพวกเก็บดอกไม้ก็ไปหา | พบบุปผาขึ้นหักกิ่งก้าน |
บ้างสอดสอยผลพวงดวงมาลย์ | ทั้งตูมบานแก่อ่อนผ่อนส่งนาย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึงเจ้าหน้าที่ทั้งหลาย |
ต่างมาจับฉลากมากมาย | วุ่นวายอลหม่านเป็นการรุม |
เสนีสี่ตำรวจนายด้านเมรุ | ก็กะเกณฑ์อุตลุดขุดหลุม |
ชักระดับได้ที่ทั้งสี่มุม | ผู้คนเกลื่อนกลุ้มรุมกัน |
ยกเสาขึ้นตั้งทั้งสี่ต้น | ต่างติดเครื่องบนขมีขมัน |
พนักงานหอสวดสามสร้างนั้น | ก็ยกขึ้นพร้อมกันทันที |
บ้างดาดผนังหลังคาผ้าขาว | เพดานดาวดอกไม้สลับสี |
หุ้มเสาด้วยผ้าแดงโมรี | เอาม่านที่พลับพลามากั้นกาง |
กองพระเบญจามาประดับ | ซ้อนสลับแม่ลายหลายอย่าง |
บ้างลอกพลับพลึงกรึงพื้นพลาง | เลือกบุปผาต่างต่างเป็นตัวซ้อน |
บ้างร้อยราชวัติฉัตรชั้น | พื้นพรรณบุปผชาติเกสร |
บ้างประดับมาลาเป็นจามร | รีบร้อนติดกระจังบัลลังก์ลด |
บุษบกยกคนเข้ารุมกัน | เห็นเหลือมือไม่ทันการกำหนด |
คิดแบ่งเบาเอาบุษบกรถ | มาแต่งตั้งตามยศกษัตรา |
เครื่องสูงห้าชั้นกั้นกาง | ตั้งหว่างชุมสายซ้ายขวา |
จัดแจงแต่งตามพระบัญชา | ไม่ช้าแล้วเสร็จทุกสิ่งอัน ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | สองกษัตริย์กำสรดโศกศัลย์ |
เนาในพลับพลาพนาวัน | ครั้นรุ่งแสงสุริยันตรัสไตร |
จึงเข้าที่ชำระสระสรง | จะแต่งองค์ทรงเครื่องก็หาไม่ |
มาขึ้นรถสุวรรณทันใด | รีบไปยังศพพระอนุชา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เลี้ยวเหลี่ยมภูผาปะราปี | เห็นโยธีตายกลาดอยู่นักหนา |
ให้แสนสังเวชวิญญาณ์ | ชลนาไหลหลั่งถั่งลง |
เหลือบเห็นอนุชาสิ้นชีวี | นอนเหนือปัถพีธุลีผง |
สลดจิตดังชีวิตจะปลดปลง | ต่างทรงโศกาจาบัลย์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๏ ครั้นค่อยคลายวิโยคโศกเศร้า | จึงสั่งเหล่าเสนีขมีขมัน |
ให้เชิญศพองค์พระน้องนั้น | ใส่ในโกศจันทน์ทันใด |
แล้วรับขึ้นราชรถทอง | ประโคมก้องหิมวาป่าใหญ่ |
แห่แหนดาษดาคลาไคล | ตรงไปพระเมรุมิทันช้า ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ กลองโยน
๏ ครั้นถึงจึงประทับกับเกย | พนักงานตามเคยเตรียมท่า |
เชิญพระโกศจากรถรัตนา | ขึ้นตั้งบนเบญจามาลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางดรสามารศรี |
ครั้นทราบว่าศพพระสามี | เชิญมาถึงที่พระเมรุทอง ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ชมตลาด
๏ จึงสระสรงทรงสำอางอินทรีย์ | วารีชำระรดหมดหมอง |
ขัดขมิ้นหนุนเนื้อนวลละออง | ทรงสุคนธ์ปนทองอุไรเรือง |
หวีเกศกันไรใส่กรอบหน้า | จอนจินดาแวววับประดับเนื่อง |
กุณฑลห้อยพลอยเพชรค่าเมือง | อร่ามเรืองรุ้งร่วงดังดวงดาว |
บรรจงทรงภูษาสีเศวต | สไบปักทองเทศพื้นขาว |
ทองกรสุรกาญจน์สังวาลวาว | สะอิ้งแก้วแพรวพราวพรายตา |
ธำมรงค์ทรงสอดนิ้วพระหัตถ์ | เพชรรัตน์พรรณรายทั้งซ้ายขวา |
ครั้นเสร็จเสด็จลีลา | ลงจากพลับพลาพนาลัย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
ร่าย
๏ โฉมยงทรงสีวิกากาญจน์ | พร้อมกำนัลนงคราญน้อยใหญ่ |
เสด็จโดยมรคาข้างใน | ตรงไปพระเมรุฉับพลัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงเข้าไปนอบนบ | บังคมพระศพแล้วโศกศัลย์ |
ความรักสลักใจจาบัลย์ | พิไรร่ำรำพันโศกา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
โอ้บูชากุณฑ์
๏ โอ้ว่าพระทูลกระหม่อมเอ๋ย | ไฉนเลยมาม้วยสังขาร์ |
ทิ้งข้าน้อยไว้ให้เวทนา | หนีไปฟากฟ้าดุษฎี |
น้องละบิตุเรศมารดา | สุริย์วงศ์พงศาบุรีศรี |
โดยเสด็จมาในพนาลี | ด้วยภักดีต่อองค์พระทรงธรรม์ |
หวังเอาเบื้องบาทภูวเรศ | ปกเกศไปกว่าจะอาสัญ |
พระจากเมืองเมียมาได้ห้าวัน | มาจำตายจากกันด้วยโจรไพร |
แม้นพระองค์ทรงฟังน้องว่า | จะสุดสิ้นชีวาก็หาไม่ |
ร่ำพลางโศกาอาลัย | อรไทไม่เป็นสมประดี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | สองกษัตริย์สุริย์วงศ์เรืองศรี |
ให้ยกโกศแก่นจันทน์ทันที | มาตั้งที่ถวายเพลิงเชิงตะกอน |
พระทรงถือธูปเทียนสุคนธา | แล้วชวนนางดรสาสายสมร |
ทั้งสองมเหสีบังอร | บทจรเข้าจุดอัคคี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ปี่กลอง
๏ เมื่อนั้น | นวลนางดรสามารศรี |
กำสรดโศกศัลย์พันทวี | อัญชลีทั้งสองกษัตรา |
แล้วทูลว่าพระองค์ผู้ทรงเดช | จงได้โปรดเกศเกศา |
ข้าน้อยขอถวายบังคมลา | ตายตามภัสดาด้วยภักดี |
ขอฝากบิตุราชมาตุรงค์ | ทั้งประยูรญาติวงศ์ในกรุงศรี |
อันศฤงคารของข้าบรรดามี | ถวายไว้ใต้ธุลีบาทา |
ทูลพลางประณตบทเรศ | สองกษัตริย์ทรงเดชเชษฐา |
บังคมบรมศพภัสดา | แล้วกัลยาทักษิณเวียนไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ช้า
๏ ครั้นครบคำรบสามรอบ | นบนอบน้อมองค์ลงกราบไหว้ |
จึ่งชักเอากริชภูวไนย | มาทูลไหว้เหนือเกล้าเมาลี |
กันแสงพลางทางสมาลาธิกรณ์ | ภูธรได้เคืองบทศรี |
ด้วยกายกรรมแลวจี | ขออย่ามีเวราผูกพัน |
ประการหนึ่งซึ่งข้าสุจริต | สู้ตายมิได้คิดบิดผัน |
เดชะความสัตย์ของข้านั้น | แม้ทรงธรรม์จะตกไปแห่งใด |
ขอให้ได้พบสบประสงค์ | บำเรอบาทบงสุ์จงได้ |
ให้ร่วมสุขร่วมทุกข์ร่วมฤทัย | อย่าให้รู้นิราศคลาดคลา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ ครั้นเสร็จตั้งสัตย์อธิษฐาน | เยาวมาลย์กราบงามสามท่า |
เห็นเพลิงพลุ่งรุ่งโรจน์โชตนา | ก็แบหลาโจนเข้าในอัคคี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ กลองแขก โอด
๏ บัดนั้น | พระพี่เลี้ยงนางนมสาวศรี |
เห็นพระราชธิดานารี | สุดสิ้นชีวีวายปราณ |
บ้างตีอกตกใจตะลึงหลง | ร่ำรักโฉมยงด้วยสงสาร |
ดิ้นโดยโหยไห้อาลัยลาน | ปิ้มปานจะม้วยชีวา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | สองระตูภูวเรศเชษฐา |
ครั้นเสร็จส่งสการอนุชา | ให้ตรวจตราเตรียมพลสกลไกร |
พร้อมเสร็จแล้วเสด็จขึ้นทรงรถ | ยกทศโยธาทัพใหญ่ |
ต่างองค์เศร้าสร้อยละห้อยใจ | เร่งรีบกลับไปยังธานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระโฉมยงองค์มิสาระปันหยี |
เนาในพลับพลาพนาลี | เสนีเฝ้าแหนแน่นนันต์ |
พระแสนสำราญวิญญาณ์ | ตรัสเล่นเจรจาเกษมสันต์ |
ยกความชอบโยธีทั้งนั้น | ล้วนแข็งขันฟันฝ่าปัจจามิตร |
ประสันตาแก้ตัวเต็มประดา | ออกรับหน้าข้าศึกไม่ต้านติด |
จนระตูเสียทีสิ้นชีวิต | ประสันตาพ้นผิดไม่บรรลัย |
แต่เป็นคนพาลดีข้างขี้เที่ยว | จะยกโทษทีเดียวเห็นไม่ได้ |
คิดจะทาระกำให้หนำใจ | พูดอะไรไม่จริงสักสิ่งอัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ประสันตาแสนกลคนขยัน |
เฉยหน้าว่าไปแก่เพื่อนกัน | เมื่อจะต้องโทษทัณฑ์ก็จนใจ |
กำลังพระเสาร์เป็นคราวเคราะห์ | วิบากกรรรมจำเพาะมาซัดให้ |
ครั้นมีชัยได้ลาภสิลับไป | ยังนึกเศร้าเสียใจอยู่ไม่วาย |
ชอบผิดคิดดูคนละอย่าง | พอเกลื่อนกลบลบล้างกันสูญหาย |
วาสนาอาภัพกลับกลาย | ท่านลงร้ายติดตัวพัวพัน |
เมื่อถึงทีได้ของต้องพระทัย | จะว่าดีหรือไม่เพราะใครนั่น |
ชอบแต่เอาลาภนอกนั้น | มาประทานรางวัลประสันตา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ปันหยียิ้มพลางทางว่า |
อันการพูดแก้จนพ้นปัญญา | ช่างแบกหน้าว่าได้ไม่อายใจ |
ถ้อยคำสำนวนเหมือนบ้าหลัง | ใครเห็นชอบด้วยมั่งหรือหาไม่ |
ดีแต่เสียดแซมแนมใน | คนอะไรเช่นนี้ก็ยังมี |
ตรัสพลางทางดูทินกร | เห็นแดดบ่ายคลายร้อนรังสี |
จึ่งให้พักตร์พี่เลี้ยงไปเป็นที | เร่งตรวจเตรียมเสนีจัตุรงค์ |
สั่งเสร็จเสด็จจากแท่นทอง | เข้าห้องชำระสระสรง |
แต่งอย่างปันจุเหร็จชาวดง | แล้วมาทรงมหาพิชัยรถ |
ระเด่นสังคามาระตา | ขี่อาชาเครื่องกุดั่นกั้นกลด |
ทั้งสองบุตรีมียศ | ทรงรถประเทียบเรียบเรียง |
ช้างเครื่องตามท้ายรายมา | โยธาโห่ลั่นสนั่นเสียง |
สองข้างรถาม้าพี่เลี้ยง | เดินเคียงขับแข่งแซงไป ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เชิด
๏ ถึงที่แห่งหนึ่งเกษมสุข | แสนสนุกธารท่าชลาไหล |
พระสั่งให้หยุดยั้งตั้งทัพชัย | ที่ร่มไม้ใกล้เนินคิรี |
หวังจะให้สองนางค่อยสร่างโศก | ซึ่งวิโยควงศามารศรี |
ทั้งเอาแรงรี้พลมนตรี | ให้คลายคลี่ล้าเลื่อยเหนื่อยมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
ช้า
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงระตูตันหยงบุหรา |
ทั้งระตูติหวังหงันราชา | ระตูสันตาหราเรืองชัย |
อีกระตูปะกูหวันภูมี | ทั้งสี่ธานีนี้อยู่ใกล้ |
ริมหนทางที่ปันหยีไป | ต่างประหวั่นพรั่นใจเป็นสุดคิด |
ด้วยรู้ข่าวว่าท้าวบุศสิหนา | ออกต้านต่อศักดาก็ดับจิต |
สองกษัตริย์เชษฐาระอาฤทธิ์ | พร้อมคิดกันถวายบรรณาการ |
ยอมยกเยาวราชบุตรี | ให้แก่ปันหยีผู้ห้าวหาญ |
ไม่มีผู้ใดใครต้านทาน | เลื่องชื่อลือสะท้านทุกเวียงชัย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ อันระตูภูธรทั้งสี่ | โอรสบุตรีหามีไม่ |
จึ่งจัดสรรสิ่งของที่ต้องใจ | ม้ารถคชไกรแลโยธา |
สร้อยสนสังวาลบานพับเพชร | มงกุฎเก็จแก้วมณีมีค่า |
ขนใส่ในหีบแล้วตีตรา | มอบให้แก่เสนานำไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีทั้งสี่กรุงใหญ่ |
รับราชบัญชาแล้วคลาไคล | ต่างเร่งรีบไปทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งตรงเข้าไปหา | ตำมะหงงเสนาบดีศรี |
แถลงเล่าเนื้อความตามคดี | ถ้วนถี่เสร็จสิ้นทุกสิ่งอัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ตำมะหงงปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
จึ่งนำเสนีทั้งสี่นั้น | ไปยังสุวรรณพลับพลาชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งถวายบังคม | กรานก้มกราบทูลแถลงไข |
บัดนี้ระตูภูวไนย | ทั้งสี่พิชัยธานี |
ตั้งจิตเสนหาสามิภักดิ์ | จงรักเบื้องบาทบทศรี |
ถวายบรรณาการมากมี | ให้เสนีสี่นายนำมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ช้าปี่
๏ เมื่อนั้น | ปันหยีมีจิตหรรษา |
จึ่งกล่าวสุนทรวาจา | ปราศรัยเสนีทั้งสี่ไป |
ซึ่งระตูผู้ดำรงราชฐาน | ให้เอาบรรณาการนี้มาให้ |
สามิภักดิ์รักเราชาวไพร | ขอบใจเป็นพ้นพันทวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ร่าย
๏ แล้วประทานเสื้อผ้าแพรพรรณ | รางวัลเสนาทั้งสี่ |
ครั้นเสร็จเสด็จจรลี | เข้าสู่ที่สุวรรณพลับพลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | เสนีสี่เมืองหรรษา |
ได้ของประทานพระผ่านฟ้า | ต่างขึ้นม้าควบขับกลับไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | มิสาระปันหยีศรีใส |
แต่แรมร้อนผ่อนพักอยู่ในไพร | ก็ได้ถึงห้าวันมา |
พระคะนึงถึงสองเยาวมาลย์ | แต่มาอยู่ก็นานนักหนา |
ยังมิได้รู้จักพักตรา | จะทรงโฉมโสภาสักเพียงไร |
คิดจะให้ไปเชิญโฉมเฉลา | มาโลมเล้าพูดจาปราศรัย |
ก็เกรงจะขามเขินสะเทิ้นใจ | แต่รัญจวนครวญใคร่อยู่ไปมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พระพี่เลี้ยงสองนางเสนหา |
จึ่งทูลทั้งสองพระธิดา | แต่มาอยู่ก็หลายราตรี |
ยังมิได้ไปเฝ้าบาทบงสุ์ | พระโฉมยงองค์มิสาระปันหยี |
แม้นเนิ่นนานช้าไปกว่านี้ | เห็นทีจะไม่พ้นพระอาญา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองนางเคืองค้อนแล้วค่อนว่า |
ปันหยีนี้ชาวอรัญวา | สุริย์วงศ์พงศาไม่แจ้งใจ |
จะให้น้องนี้ขึ้นไปเฝ้า | พี่เจ้าเอ๋ยจะไปกระไรได้ |
จะต้องไหว้โจรป่าพนาลัย | อายใจเป็นพ้นพันทวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพี่เลี้ยงเล้าโลมนางโฉมศรี |
ตรัสไยอย่างนั้นนะเทวี | พระชนกชนนีก็บอกมา |
อันปันหยีนี้มิใช่ชาวดง | คืออิเหนาสุริย์วงศ์อสัญหยา |
ถึงสองทรงฤทธิ์ผู้บิดา | ผ่านฟ้าก็ถวายบังคมคัล |
แม้นองค์อรไทมิไปเฝ้า | ถ้าผ่านเกล้าเคืองขุ่นหุนหัน |
จะให้ลงอาญาฆ่าฟัน | เมื่อกระนั้นจะคิดประการใด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองราชบุตรีศรีใส |
สุดคิดที่จะบิดเบือนไป | อรไทก้มหน้าไม่พาที |
พี่เลี้ยงโลมเล้าเฝ้าวอนว่า | จึ่งลีลาออกไปจากในที่ |
มาสระสรงคงคาวารี | ขัดสีพระกายกรายกรีดนิ้ว ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ชมตลาด
๏ ลูบไล้สุคนธ์ปนทอง | ผัดพักตร์นวลละอองผ่องผิว |
ทรงน้ำมันกันไรไปล่ปลิว | วาดคิ้ววงค้อมพร้อมเพราคม |
พี่นางนุ่งเข้มขาบเขียวตอง | ห่มตาดทองปักปีกแมงทับถม |
พระน้องนุ่งยกแย่งเทพประนม | ทรงห่มริ้วทองรองซับ |
สร้อยนวมสวมใส่พระอังสา | ตาบจินดาดวงมณีสีสลับ |
สอิ้งสายสังวาลบานพับ | ทองกรแก้วแวววับประดับเพชร |
ธำมรงค์เรือนรูปนาคี | ทรงมงกุฎพระบุตรีตรัสเตร็จ |
สะพังพวงควงหันกัลเม็ด | แล้วเสด็จย่างเยื้องจรจรัล ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ ลงจากที่ประทับพลับพลา | พร้อมกำนัลกัลยาสาวสรรค์ |
ต่างเชิญเครื่องอานพานสุวรรณ | กั้นกลดคันสั้นเสด็จไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นมาใกล้พลับพลาปันหยี | สองศรีหยุดอยู่ไม่ไปได้ |
ให้ประหวั่นครั่นคร้ามขามใจ | หฤทัยระทึกไปมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พระพี่เลี้ยงทั้งสองเสน่หา |
จึงปลอบสองราชธิดา | แม่อย่าประหวั่นพรั่นใจ |
จะสะเทินเหินห่างอยู่อย่างนี้ | พระภูมีจะดำริติได้ |
อุยหน่ามาตีเอาพี่ไย | ว่าพลางผลักไสให้จรลี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองสุดามารศรี |
ผูกคิ้วนิ่วหน้าไม่พาที | เทวีจำใจจรจรัล |
องค์อ่อนระทวยขวยเขิน | ทั้งสะเทินทั้งอายค่อยผายผัน |
ถึงพลับพลาหน้าที่นั่งทรงธรรม์ | ก็ทรุดองค์อภิวันท์อัญชลี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระโฉมยงองค์มิสาระปันหยี |
เห็นโฉมสองราชบุตรี | ภูมีนึกในไปมา |
อันนางซึ่งนั่งข้างหลังนั้น | ผิวพรรณผุดผ่องดังเลขา |
จะเป็นพี่สังคามาระตา | นรลักษณ์พักตราก็คล้ายกัน |
ดูพลางเพลินจิตพิศวง | ด้วยรูปทรงทั้งสองสาวสวรรค์ |
จึงยิ้มเยื้อนปราศรัยไปพลัน | เชิญมาบนสุวรรณพลับพลาชัย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองราชบุตรีศรีใส |
ฟังรสพจนารถภูวไนย | ยิ่งสะเทินเขินฤทัยบังอร |
ต่างองค์ต่างอายไม่ผายผัน | พลางผลักไสกันให้ไปก่อน |
ต่อตรัสเรียกหลายคำจึงจำจร | ขึ้นไปชลีกรแล้วก้มพักตร์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์มิสาระปันหยีมีศักดิ์ |
เห็นสองทรามวัยวิไลลักษณ์ | บังคมก้มพักตร์ไม่พาที |
พระจึงตรัสโลมเล้าเอาใจ | ปราศรัยสองสุดามารศรี |
เจ้าเคยอยู่แต่ในบุรี | ไม่เหมือนที่แว่นแคว้นแดนดง |
จะได้ชมถ้ำธารสำราญใจ | ทั้งมิ่งไม้หมู่นกวิหคหงส์ |
พลางเรียกอนุชาโฉมยง | เจ้าจงยกพานสลามา |
เอาไปสู่พี่นางทั้งสองศรี | ให้เสวยตามมีของชาวป่า |
แล้วตรัสสั่งพี่เลี้ยงกัลยา | จงพาสองระเด่นไปเล่นธาร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองอนงค์ยอดสงสาร |
จึงถวายบังคมก้มกราน | เยาวมาลย์ก็กลับไปพลับพลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พระโฉมยงวงศ์อสัญแดหวา |
แลตามทรามวัยจนลับตา | เสนหาพูนเพิ่มพันทวี |
คิดจะใคร่ภิรมย์สมสวาท | ด้วยสองราชธิดามารศรี |
กลัวเกลือกจินตะหราวาตี | จะว่ามีชู้เมียสิเสียการ |
จำเป็นจะเงือดงดสะกดใจ | อุตส่าห์อดส้มไว้กินหวาน |
อย่าให้เคืองขุ่นหมองพ้องพาน | แต่คิดอ่านครวญใคร่ไปมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ ครั้นราตรีเข้าที่ไสยาสน์ | ถวิลถึงนุชนาฏขนิษฐา |
จึงตรัสเรียกสังคามาระตา | เข้ามาบรรทมชมชิด ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ชมโฉม
๏ พิศดูรูปทรงส่งศรี | เหมือนมาหยารัศมีไม่เพี้ยนผิด |
พระเชยปรางพลางอุ้มขึ้นจุมพิต | ฤทัยคิดสำคัญว่ากัลยา |
เอวองค์อรชรอ้อนแอ้น | เหมือนแม้นพี่นางเป็นหนักหนา |
พิศทรงขนงเนตรอนุชา | ละม้ายเหมือนนัยนานางเทวี |
ชมพลางพิศวงหลงโลม | นึกว่าโฉมมาหยารัศมี |
สัพยอกแย้มสรวลชวนพาที | จนเข้าที่บรรทมหลับไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ ตระ
ร่าย
๏ ดาวเดือนเคลื่อนลับเมฆา | สุริยาแย้มเยี่ยมเหลี่ยมไศล |
พระตื่นจากที่บรรทมใน | ลีลาคลาไคลไปสรงชล |
สำอางองค์ทรงเครื่องสรรพเสร็จ | แล้วเสด็จไปทรงม้าต้น |
พรั่งพร้อมเสนาสามนต์ | ให้ยกพลโยธาพลากร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
ชมดง
๏ เดินเอยเดินทาง | ตามหว่างพนาเนินสิงขร |
พฤกษาสองข้างที่ทางจร | บ้างระบัดใบอ่อนออกผกา |
ลมหวนอวลกลิ่นดอกปะหนัน | คล้ายกันกับกลิ่นจินตะหรา |
เห็นเล็บนางแบ่งบานตระการตา | เหมือนนขาโฉมงามทรามวัย |
การเกดสีเหลืองเรืองเรื่อ | เหมือนผิวเนื้อนวลน้องผ่องใส |
เห็นชายผ้าสีดาบนค่าไม้ | เหมือนละม้ายชายสไบบังอร |
ดูดอกสร้อยฟ้าระย้าย้อย | เหมือนสายสร้อยประดับทรวงดวงสมร |
ชมพลางถวิลหาอาวรณ์ | พระเร่งรัดอัสดรรีบมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
ร่าย
๏ แรมร้อนนอนทางมาหลายวัน | จนใกล้ด่านเขตขัณฑ์หมันหยา |
จึงให้หยุดประทับตั้งพลับพลา | ที่ริมชายป่าพนาลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ รัว
https://vajirayana.org/system/files/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B2_264950.pdf