- คำอธิบาย ว่าด้วยบทละคร อิเหนาฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ
- เล่มที่ ๑
- เล่มที่ ๒
- เล่มที่ ๓
- เล่มที่ ๔
- เล่มที่ ๕
- เล่มที่ ๖
- เล่มที่ ๗
- เล่มที่ ๘
- เล่มที่ ๙
- เล่มที่ ๑๐
- เล่มที่ ๑๑
- เล่มที่ ๑๒
- เล่มที่ ๑๓
- เล่มที่ ๑๔
- เล่มที่ ๑๕
- เล่มที่ ๑๖
- เล่มที่ ๑๗
- เล่มที่ ๑๘
- เล่มที่ ๑๙
- เล่มที่ ๒๐
- เล่มที่ ๒๑
- เล่มที่ ๒๒
- เล่มที่ ๒๓
- เล่มที่ ๒๔
- เล่มที่ ๒๕
- เล่มที่ ๒๖
- เล่มที่ ๒๗
- เล่มที่ ๒๘
- เล่มที่ ๒๙
- เล่มที่ ๓๐
- เล่มที่ ๓๑
- เล่มที่ ๓๒
- เล่มที่ ๓๓
- เล่มที่ ๓๔
- เล่มที่ ๓๕
- เล่มที่ ๓๖
- เล่มที่ ๓๗
- เล่มที่ ๓๘
เล่มที่ ๑๘
ช้าครวญ
๏ เมื่อนั้น | บุษบาเยาวยอดเสนหา |
เนาในถ้ำทองห้องไสยา | กับสองรานารีพี่เลี้ยง |
แต่ละห้อยคอยหาพระโฉมยง | จนเย็นลงบุหรงร้องก้องเสียง |
ไม่เห็นกลับคืนหลังจากวังเวียง | นางพ่างเพียงจะวินาศหวาดวิญญาณ์ |
สร้อยเศร้าเปล่าใจไม่สบาย | โฉมฉายชะแง้แลหา |
ทุกข์ร้อนถอนฤทัยไปมา | กัลยายิ่งสลดระทดใจ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ จึงตรองตรึกปรึกษาสองนารี | พระเชษฐาน่าจะมีเหตุไฉน |
จนเวลาสายัณห์ลงไรไร | ก็ยังไม่เสด็จกลับมา |
หรือพระจะล่อลวงเรา | แกล้งเอามาซัดเสียกลางป่า |
แล้วจะกลับคืนหลังยังพารา | ไปหาเมียท่านสำราญใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สองนางพลางทูลแถลงไข |
อย่าตรัสดังนี้ผิดทีไป | พระพี่จะทำไยอย่างนั้น |
หากขัดข้องมิได้ช่องทูลลา | จึงช้าอยู่ยังไม่ผายผัน |
เมื่อพระจะจากจรจรัล | โศกศัลย์นั้นน้อยไปเมื่อไร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | บุษบาตอบตามอัชฌาสัย |
ร้องไห้อยู่หรือจะร้องไห้ไป | ข้าไม่เชื่อเช่นอย่างเจรจา |
ไหนนี่พี่เจ้าเฝ้าสั่งสอน | ให้น้องนี้โอนอ่อนผ่อนหา |
ทีนี้แลสาสมวิญญาณ์ | ยังจะขืนฝืนหน้ามาแก้กัน |
รักจริงหรือจะทิ้งไว้เดียวดาย | เห็นความต้นกับปลายก็เหมาะมั่น |
พระสลัดตัดรอนแต่ก่อนนั้น | พี่บาหยันก็รู้อยู่กับใจ |
ว่าพลางนางทรงโศกา | ชลนานองเนตรหลั่งไหล |
สองกรข้อนทรวงเข้าร่ำไร | ทรามวัยเพียงจะสิ้นชีวา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
๏ บัดนั้น | สองนางพี่เลี้ยงเสนหา |
จึงโลมเล้าเอาใจไปมา | จงระงับโศกาอาลัย |
อันพระเชษฐาสุริย์วงศ์ | จะกลับมามั่นคงอย่าสงสัย |
แต่ร่ำอ้อนวอนว่าสักเท่าใด | อรไทไม่สร่างโศกี |
นางจึงกวักเรียกประสันตา | นี่แน่เจ้าเข้ามาถึงนี่ |
เมื่อฉะนี้จะคิดฉันใดดี | เทวีแต่ก่นกันแสงไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พี่เลี้ยงประสันตาอัชฌาสัย |
จึงร้องบอกบาหยันทันใด | พระสั่งไว้เมื่อแรกจะไคลคลา |
ถ้าเห็นทินกรอ่อนลง | ให้ทูลเชิญโฉมยงขนิษฐา |
ไปชมสวนชวนเก็บมาลา | คอยท่ารับเสด็จทรงธรรม์ |
พระจะพาวิยะดาดวงสวาท | มาประพาสพฤกษาสะตาหมัน |
มิ่งไม้หลายอย่างต่างกัน | พระแกล้งกลั่นสรรปลูกไว้มากมี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจาบทที่ ๖๒
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นบุษบามารศรี |
ได้ฟังประสันตาพาที | เทวีตริตรึกนึกใน |
ความนี้ที่ทูลพระเชษฐา | ก็รับว่าจะพามาให้ |
น่าจะจริงกระมังพระสั่งไว้ | หาไม่หรือจะต้องคำกัน |
จะออกไปอยู่ท่าหน้าถ้ำทอง | จะได้พบทั้งสองเกษมสันต์ |
คิดพลางย่างเยื้องจรจรัล | สองพี่เลี้ยงเคียงกันตามมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ออกจากปากถ้ำลำยอง | แห่งห้องสุวรรณคูหา |
กะระตาหลากับประสันตา | นำเสด็จกัลยาคลาไคล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลงช้า
สมิงทอง
๏ มาถึงเชิงผาสะตาหมัน | รุกขชาติเรียงรันงามไสว |
สองนางพลางทูลอรไท | ชี้ชวนชมไม้นานา |
ลำดวนดอกออกดกทุกกิ่งก้าน | บ้างตูมบานแย้มกลีบกลิ่นกล้า |
โฉมยงทรงเด็ดดอกมา | ประทานสองกัลยาพี่เลี้ยง |
แล้วเก็บจำปามหาหงส์ | นางแย้มยี่สุ่นส่งกลิ่นเกลี้ยง |
ประสันตาหักพวงพุมเรียง | หมอบเมียงมาถวายนฤมล |
สารภีพิกุลดอกดก | บานตกเต็มไปทั้งใต้ต้น |
มะลิซ้อนซ่อนกลิ่นรสคนธ์ | หอมละกลกับบุหงารำไป |
บาหยันหยุดสอยดอกสร้อยฟ้า | ประสันตาเหนี่ยวกิ่งเก็บให้ |
ประเสหรันเลือกปลิดที่ติดใบ | ถวายองค์อรไทเทวี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เพลงฉิ่ง
ร่าย
๏ บัดนั้น | ประสันตาบังคมเหนือเกศี |
จึงทูลเชิญองค์พระบุตรี | ขึ้นทรงรถทองที่ทำไว้ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นบุษบาศรีใส |
ขึ้นทรงรถสุวรรณทันใด | พี่เลี้ยงนั่งไปข้างท้าย |
กะระตาหลากับประสันตา | เข้าชักรถกัลยาผันผาย |
รุกขชาติดาษดกเรียงราย | แล้วหักพวงผลถวายทุกพรรณ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ทรงรถลดเลี้ยวเที่ยวประพาส | มิ่งไม้เดียรดาษในสวนขวัญ |
ชมพลางทางคะนึงถึงทรงธรรม์ | นางแสนโศกศัลย์พันทวี |
พระแสร้งสรรค์บรรจงแต่งไว้ | แล้วไม่มาชมสวนศรี |
ทิ้งน้องให้อยู่ผู้เดียวนี้ | พระแกล้งหน่ายหนีไปพารา |
นางร่ำกำสรดแสนเทวษ | ถวิลถึงทรงเดชเชษฐา |
ตะลึงไปไม่เก็บมาลา | แลละห้อยคอยหาภูธร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ประสันตาชักรถไม่หยุดหย่อน |
เห็นโฉมยงทรงโศกอาวรณ์ | จึงผันผ่อนคิดอ่านด้วยมารยา |
ช่วยชักสักหน่อยแล้วแล่นไป | เข้าฟุบแฝงเงาไม้ใบหนา |
ย่างย่องมองเหมือนพยัคฆา | มาข้างท้ายรถาทันใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สองพี่เลี้ยงนารีศรีใส |
ชิงกันเก็บพรรณดอกไม้ | ไม่แจ้งใจว่ากลประสันตา |
เห็นตะคุ่มที่พุ่มพนาวัน | ความกลัวตัวสั่นเป็นหนักหนา |
คิดว่าสัตว์ร้ายจะบีฑา | จึงเรียกประสันตาไปพลัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ประสันตาแสนกลคนขยัน |
จึกวกหลังมายังรถสุวรรณ | ทำตัวสั่นบอกสองกัลยา |
จะออกไปจุดคบพอพบเสือ | ดุเหลือแลบลิ้นจะกินข้า |
ฉวยพลัดสลัดหลุดแล่นมา | เดชะบุญนักหนาจึงไม่ตาย |
บัดนี้ยังแอบอยู่แทบทาง | รูปร่างโตใหญ่ใจหาย |
แลเห็นตะคุ่มตัวลายลาย | เลี้ยวลับคลับคล้ายอยู่ตรงนั้น ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นบุษบาสาวสวรรค์ |
ทั้งสองพี่เลี้ยงอยู่เคียงกัน | สรวลสันต์แล้วว่าไปทันที |
ช่างได้ที่ไหนมาเจรจา | บอกว่าพบเสือแล้ววิ่งหนี |
เจ้าช่างปดกันขยันดี | ก็พาทีสรวลสันต์กันไปมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจาบทที่ ๖๓
ยานี
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงองค์ปะตาระกาหลา |
ซึ่งเป็นบรมราชอัยกา | สถิตในชั้นฟ้าสุราลัย |
แค้นด้วยอิเหนานัดดา | อหังการ์ก่อเหตุเภทใหญ่ |
กูแกล้งสรรค์บุษบาลงไป | หวังจะให้เป็นคู่ครองกัน |
ก็ไม่เลี้ยงตามวงศ์ที่จงให้ | ทำตามน้ำใจหุนหัน |
รักแต่ที่ต่ำพงศ์พันธุ์ | บากบั่นตัดรอนบ่ห่อนคิด |
เดิมว่าไม่เลี้ยงบุษบา | แล้วกลับมาภิรมย์สมสนิท |
กูมิให้สู่สมชมชิด | จะปลดปลิดบุษบาพาไป |
ถึงจะพบพานกันวันหน้า | จะทรมาให้แทบเลือดตาไหล |
คิดแล้วออกจากพิมานชัย | ลงไปยังพื้นสุธาธาร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ กลม
ร่าย
๏ จึงผาดแผลงสำแดงศักดาเดช | สะเทือนทั่วทุกประเทศทิศาศาล |
เมฆหมอกมืดมนอนธการ | อัศจรรย์บันดาลด้วยฤทธิรณ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ แล้วให้บังเกิดพายุใหญ่ | กัมปนาทหวาดไหวทั้งไพรสณฑ์ |
ลมหอบเอารถนฤมล | สามคนลอยลิ่วปลิวไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ประสันตาตัวสั่นหวั่นไหว |
กะระตาหลาล้มลงทันใด | ฉวยได้กอหญ้ากระหมวดมือ |
ประสันตาคว้ากอดต้นไม้มั่น | นึกพรั่นกลัวจะพลัดมือถือ |
เสียงสายฟ้าลั่นบันลือ | ไม่รู้สึกสมประดีดาล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | องค์อสัญแดหวาศักดาหาญ |
สำแดงเป็นพายุพัดพาน | พารถเยาวมาลย์ปลิวไป |
เฉวียนฉวัดลัดนิ้วมือเดียว | บัดเดี๋ยวพ้นเขตเขาใหญ่ |
ถึงแดนประมอตันทันใด | ก็เวียนวงลงในพนาวัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ รัว
๏ เมื่อนั้น | บุษบาตกใจไม่มีขวัญ |
ซบพักตร์โศกาจาบัลย์ | สองพี่เลี้ยงนั้นเข้ากอดไว้ |
มิได้เห็นพี่เลี้ยงภูวนาถ | เยาวราชข้อนทรวงเข้าร่ำไห้ |
โอ้ว่าเวราสิ่งใด | จึงเผอิญเป็นไปดังนี้ |
น่าที่ชีวิตจะวอดวาย | จะจำตายอยู่ในพนาศรี |
เห็นจะไม่ได้คืนไปธานี | ว่าพลางเทวีก็โศกา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายองค์อสัญแดหวา |
จึงสำแดงให้เห็นกายา | แล้วว่าแก่บุษบาไปพลัน |
นัดดาอย่าวิโยคโศกเศร้า | ใช่เจ้าจะม้วยอาสัญ |
แค้นด้วยอิเหนากุเรปัน | จะพรากให้พลัดกันจงสาใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | บุษบาบังคมประนมไหว้ |
จึงทูลองค์พระอัยกาไป | หลานไกลบิตุเรศมารดา |
อันสองพระองค์ไม่แจ้งเหตุ | จะอาดูรพูนเทวษโหยหา |
เมื่อไรจะได้คืนพารา | พระอัยกาจงโปรดปรานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์อสัญแดหวาเรืองศรี |
จึงตอบนัดดาไปทันที | ข้อนี้เจ้าอย่าปรารมภ์ใจ |
เราจะแต่งแปลงองค์ให้เป็นชาย | มิให้คนทั้งหลายสงสัย |
พรุ่งนี้ก็จะได้เข้าไป | สำนักในนครประมอตัน |
นานไปจึงจะได้คืนสถาน | เสวยสุขสำราญเกษมสันต์ |
จงดับโศกาจาบัลย์ | จำเป็นพลัดกันอย่าอาวรณ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ชมตลาด
๏ ว่าแล้วองค์ท้าวเทเวศร์ | จึงจำเริญพระเกศสายสมร |
ประทานกริชอันเรืองฤทธิรอน | จารึกนามกรในกริชนั้น |
อุณากรรณกะหมันวิยาหยา | มิสาเหรนดุหวาเฉิดฉัน |
แล้วทรงเครื่องอย่างชายพรายพรรณ | เทวัญประสิทธิ์ประสาทพร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ร่าย
๏ แม้นเจ้าจะไปแห่งใด | ให้คนมีใจสโมสร |
ปรากฏยศเกียรติทุกนคร | จงขจรเลื่องชื่อลือชา |
จะประสงค์สิ่งใดให้สำเร็จ | สมเสร็จดังใจปรารถนา |
บรรดาแว่นแคว้นแดนชวา | อย่ารู้อัปราชัยใคร |
ถึงจะพบอิเหนากุเรปัน | ให้แคลงกันฟั่นเฟือนสงสัย |
ต่อสี่พี่น้องร่วมเวียงชัย | จึงให้รู้จักศักดิ์กัน |
ใครใครนอกนั้นทั้งปวง | อย่าให้ล่วงแจ้งการหลานขวัญ |
ครั้นประสิทธิ์พรแล้วเทวัญ | คืนยังกระยาหงันชั้นฟ้า ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | อุณากรรณกะหมันวิยาหยา |
ครั้นไม่เห็นองค์พระอัยกา | กัลยาเปลี่ยวเปล่าเศร้าใจ |
จึงปรึกษาพี่เลี้ยงทั้งสองศรี | เราจะอยู่ที่นี่ก็ไม่ได้ |
จำจะเที่ยวซอกซอนสัญจรไป | จะได้พบประเทศธานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ทยอย
ร้องทยอย
๏ ว่าแล้วก็พากันคลาไคล | ดำเนินในแนวป่าพนาศรี |
บุหลันทรงกลดหมดราคี | เหมือนจะชวนให้ลีลาไป |
ลมหวนอวลกลิ่นบุหงา | หอมตลบอบมาในป่าใหญ่ |
เหมือนเมื่ออยู่ในถ้ำอำไพ | รวยรื่นชื่นใจด้วยมาลา |
คิดพลางนางทรงกันแสงร่ำ | ชะรอยกรรมทำไว้เป็นนักหนา |
เดิมพลัดกำจัดจากพารา | มาอยู่คูหาค่อยคลายใจ |
มิสามาซ้ำให้จำจาก | พลัดพรากจากถ้ำทองผ่องใส |
อกเอ๋ยไม่เคยเดินไพร | เคยสำราญแต่ในพระบุรี |
ครั้งนี้ตกไร้ได้ยาก | ลำบากชอกช้ำบทศรี |
แต่เกือกจะรองก็ไม่มี | จะเหยียบย่างจรลีกลใด |
จำจิตจึงจำลีลา | เจ็บบาทานักก็ร้องไห้ |
ย่างย่องจ้องจูงกันคลาไคล | มรคาจะไปก็ไม่มี |
ได้ยินสำเนียงเสียงปักษา | ร้องชมจันทราอยู่อึงมี่ |
เหมือนจะถามข่าวมาด้วยปรานี | มารศรีได้ฟังวังเวงใจ ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ เพลง
ร่าย
๏ ครั้นรุ่งรางสว่างเวลา | สุริยาเยื้องเยี่ยมเหลี่ยมไศล |
จึงหยุดพักสำนักที่ร่มไม้ | แทบใกล้ชายป่าพนาลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายระตูประมอตันเรืองศรี |
เสวยรมย์สมบัติเปรมปรีดิ์ | ในธานีมีนามประมอตัน |
พร้อมหมู่มาตยาสามนต์ | ม้ารถคชพลแข็งขัน |
ล้วนชำนาญการรบครบครัน | สรรพสรรพาวุธนานา |
ท้าวมีอัคเรศมเหสี | สาวสนมนารีพร้อมหน้า |
ไร้โอรสราชธิดา | จะสืบวงศ์พงศาก็ไม่มี |
เทวัญบันดาลดลใจ | จะใคร่ไปประพาสพนาศรี |
ตรึกตราอยู่ที่จะจรลี | ภูมีร่านร้อนหฤทัย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ จึงสั่งดะหมังเสนา | เราจะยกยาตราไปป่าใหญ่ |
เร่งเตรียมพหลพลไกร | ให้สรรพไว้แต่ในราตรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ดะหมังรับสั่งใส่เกศี |
ก้มเกล้ากราบงามสามที | ออกไปจากที่พระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ยานี
๏ เร่งรัดจัตุรงค์องอาจ | ตามกระบวนประพาสไพรสัณฑ์ |
ขุนช้างผูกช้างซับมัน | พลายพังดั้งกันแทรกแซง |
ขุนม้าผูกม้าพาชี | ทหารขี่ขัดดาบสะพายแล่ง |
ขุนรถเร่งรัดจัดแจง | ธงแดงปักปลายงอนงาม |
ขุนพลตรวจพลพร้อมพรั่ง | คับคั่งตั้งกองท้องสนาม |
แต่ละคนแข็งขันไม่ครั่นคร้าม | เคยณรงค์สงครามมีชัย |
แล้วสั่งให้ผูกช้างที่นั่ง | มีกำลังพ่วงพีสูงใหญ่ |
เอามาประทับกับเกยไว้ | เตรียมท่าภูวไนยไคลคลา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | ระตูประมอตันหรรษา |
ครั้นรุ่งรางสร่างแสงสุริยา | เสด็จมาสระสรงชลธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ สั่งให้ไขห่อปทุมทอง | น้ำกุหลาบอาบละอองเซ็นซ่าน |
ทรงสุคนธ์ปนกลิ่นสุมามาลย์ | นางในอยู่งานรำเพยพัด |
สอดใส่สนับเพลาเพราพราย | เชิงงอนงามลายปลายสะบัด |
ภูษาทรงประจงโจงรวบรัด | ฉลององค์อัตลัดลายทอง |
ห้อยหน้าเจียระบาดตาดสุวรรณ | ทับทรวงดวงกุดั่นเป็นชั้นช่อง |
ตาบทิศทับทิมริมรอง | สังวาลสอดสายคล้องเกี่ยวกัน |
ทองกรพาหุรัดตรัสเตร็จ | ทรงธำมรงค์เพชรเฉิดฉัน |
มงกุฎแก้วกรรเจียกจอนสุวรรณ | ห้อยอุบะปะกันแล้วคลาไคล ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
ร่าย
๏ มายังเกยรัตน์ชัชวาล | เสนีกราบกรานอยู่ไสว |
เสด็จขึ้นคชสารชาญชัย | ทรงไสช้างที่นั่งออกจากเกย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
โทน
๏ ช้างเอยช้างต้น | เริงรนแรงร้ายส่ายเสย |
พีพ่วงงวงงางอนเงย | สำหรับเคยผูกเครื่องคชาธาร |
สองหูพู่จามรีห้อย | จงกลรายพลอยมุกดาหาร |
ปกตระพองกรองแก้วสุรกาญจน์ | ชัชวาลแวววาวดาวทอง |
เครื่องสูงชุมสายรายริ้ว | ธงชายปลายปลิวเป็นทิวถ้อง |
ช้างเครื่องช้างพังที่นั่งรอง | ล้วนหลังคาทองรจนา |
ช้างกูบสัปคับคับคั่ง | ซับมันเป็นตั้งเดินหน้า |
ระวางเพรียงช้างปืนชื่นตา | ช้างแซงซ้ายขวาคลาไคล ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
ร่าย
๏ ครั้นถึงเนินทรายชายดง | จึงห้ามพวกจัตุรงค์น้อยใหญ่ |
อย่าให้อื้ออึงคะนึงไป | เนื้อจะตื่นตกใจเข้าดงดาน |
พระจึงเรียกม้าที่นั่งทรง | มิทันลงจากคอคชสาร |
พอเหลือบเห็นสตรีกับกุมาร | ที่ร่มไม้ใกล้ธารธารา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ใครหนอน่าอัศจรรย์ใจ | หรือว่าเป็นพระไพรเจ้าป่า |
หรือหน่อกษัตริย์พลัดเมืองมา | ทรงโฉมโสภาวิลาวัณย์ |
หนุ่มน้อยน่ารักรูปทรง | เอวองค์ขนงเนตรคมสัน |
แม้นได้เป็นบุตรบุญธรรม์ | จะผูกพันพิศวาสแสนทวี |
คิดแล้วจึงสั่งเสนาใน | จงไปถามดูให้ถ้วนถี่ |
อันกุมารแน่งน้อยกับนารี | มาอยู่พงพีด้วยอันใด ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ตำมะหงงเสนาผู้ใหญ่ |
รับสั่งบังคมแล้วคลาไคล | ออกไปโดยดังพระบัญชา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึงกล่าวสุนทรถาม | เจ้าบ่าวน้อยโฉมงามเสนหา |
ตัวท่านกับสองกัลยา | นามวงศ์พงศาประการใด |
ทำไมมาอยู่ดงดาน | ถิ่นฐานบ้านเมืองอยู่ไหน |
ไม่รู้หรือว่าระตูภูวไนย | เสด็จมาจึงไม่อัญชลี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อุณากรรณผู้รุ่งรัศมี |
ละอายใจมิได้พาที | กระซิบสองนารีให้ตอบไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | บาหยันผู้มีอัชฌาสัย |
จึงตอบวาจาไปทันใด | ข้าเป็นชาวไพรพนาวัน |
มีนามชื่อเกนประจินตา | นั่นชื่อว่าเกนประลาหงัน |
น้องชายชื่อมิสาอุณากรรณ | ดัดดั้นมาด้วยเข็ญใจ |
ทั้งบิดามารดรก็มรณา | ไม่มีที่พึ่งพาอาศัย |
ทั้งสามสัญจรนอนไพร | นิราศไร้เอมโอชโภชนา |
ซึ่งมิได้นอบนบองค์ระตู | ไม่รู้ด้วยว่าเป็นชาวป่า |
ทั้งนี้ตามแต่จะเมตตา | ขอท่านเสนาจงปรานี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ตำมะหงงได้ฟังสาวศรี |
จึงตอบไปพลันทันที | ว่านี้เรายังแคลงใจ |
ชายนั้นว่าเป็นอนุชา | ร่วมบิดามารดาหรือไฉน |
ทั้งรูปทรงก็แปลกกันไป | ไม่สมเป็นชาวไพรพนาวัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึงโฉมนวลนางบาหยัน |
บอกว่าบิดาเดียวกัน | แต่ชนนีนั้นต่างไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ตำมะหงงฟังแจ้งแถลงไข |
จึงมากราบทูลทันใด | ตามในเนื้อความที่ถามมา |
อันชายชื่อว่าอุณากรรณ | คมสันน่ารักหนักหนา |
ชะรอยเป็นหน่อกษัตรา | กิริยาไม่สมเป็นชาวไพร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวประมอตันเป็นใหญ่ |
ได้ฟังเสนีก็ดีใจ | ให้รักใคร่ในองค์อุณากรรณ |
จึงลงจากคอคชสาร | ภูบาลย่างเยื้องผายผัน |
ตำมะหงงนำเสด็จจรจรัล | โยธากิดาหยันก็ตามไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึงมีพจนารถ | ตรัสประภาษโอภาปราศรัย |
ดูก่อนกุมารายาใจ | พ่อไร้โอรสแลบุตรี |
เชิญเจ้าเข้าไปด้วยบิดา | ยังพาราประมอตันกรุงศรี |
จะเลี้ยงเป็นโอรสร่วมชีวี | มิให้เคืองราคีเท่ายองใย |
ตัวพ่อนับวันจะชรา | จะเสกพระลูกยาให้เป็นใหญ่ |
ครอบครองสวรรยาราชัย | สืบสุริย์วงศ์ไปในพารา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อุณากรรมกระหมันวิยาหยา |
ฟังระตูประมอตันบัญชา | ก้มเกล้าวันทาทูลไป |
ซึ่งตรัสโปรดมาด้วยการุญ | พระคุณนั้นหาที่สุดไม่ |
จะภักดีต่อองค์พระทรงชัย | สืบไปกว่าชีวิตจะปลดปลง ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระตูประมอตันสูงส่ง |
ได้ฟังสมดังจำนง | พระองค์ยินดีปรีดา |
จึงเสด็จขึ้นสู่ช้างที่นั่ง | แล้วสั่งให้รับโอรสา |
ขึ้นช้างที่นั่งรองรจนา | ตามเสด็จยาตราคลาไคล |
อันนางพี่เลี้ยงทั้งสอง | ขึ้นช้างกูบทองผ่องใส |
ให้กลับพหลพลไกร | คืนเข้าพิชัยธานี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงเกยกุมกรอุณากรรณ | ผายผันเข้าในปราสาทศรี |
สองพี่เลี้ยงก็ตามจรลี | เสด็จสู่แท่นที่รจนา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ พระแจ้งเหตุแก่ประไหมสุหรี | ทีนี้สมดังปรารถนา |
ไปเล่นไพรได้โอรสมา | ชื่อว่ามิสาอุณากรรณ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ประไหมสุหรีเฉิดฉัน |
เห็นโฉมกุมาราลาวัณย์ | ผิวพรรณโสภาน่ารัก |
เสนหาดังบุตรในอุทร | บังอรโอบอุ้มขึ้นใส่ตัก |
กอดจูบลูบหลังแล้วพิศพักตร์ | ลูกรักของแม่จะเลี้ยงไว้ |
แม่ไร้ญาติวงศ์พงศา | ทั้งโอรสธิดาก็หาไม่ |
เจ้าอย่ากินแหนงแคลงใจ | สิ่งใดมิให้มีราคีพาน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระตูประมอตันเกษมศานต์ |
เสนหาอุณากรรณกุมาร | เปรียบปานดังดวงนัยนา |
ให้แต่งสมโภชทำขวัญ | ทั้งสามคืนสามวันหรรษา |
แล้วประทานเครื่องทรงอลงการ์ | เงินทองเสือผ้ามากมี |
ทั้งช้างม้าข้าคนชายหญิง | ทุกสิ่งสารพันถ้วนถี่ |
ประทานวังดาหาปาตี | ตำแหน่งที่ลูกหลวงแต่ก่อนมา |
แล้วให้เรียนรู้การณรงค์ | สำหรับองค์พระโอรสา |
อันสองพี่เลี้ยงกัลยา | พระเมตตารักใคร่ให้ปัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อุณากรรณเพราเพริศเฉิดฉัน |
ได้ประทานสิ่งของทั้งนั้น | สารพันตางต่างอย่างดี |
จึงถวายประณตบทบงสุ์ | ลาองค์สองกษัตริย์เรืองศรี |
แล้วชวนพี่เลี้ยงจรลี | ไปดาหาปาตีตำหนักใน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงจึงเข้าห้องทอง | กับสองพี่เลี้ยงพิสมัย |
ปรับทุกข์กันตามความในใจ | อาลัยคะนึงถึงทรงธรรม์ |
เอนองค์ลงเหนือบรรจถรณ์ | เร่าร้อนวิปโยคโศกศัลย์ |
ฝืนใจจำชื่นทุกคืนวัน | อยู่ในประมอตันพารา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายระเด่นมนตรีเชษฐา |
ทรงรถมากับวิยะดา | จะใกล้ถึงพลับพลาพนาลัย |
ได้ยินเสียงสนั่นครั่นครื้น | พ่างพื้นพสุธาสะเทือนไหว |
พายุพัดผงคลีคลุ้มไป | ไม้ไหล้หักยับระยำลง |
อากาศมืดมิดทุกทิศา | โยธาหยุดยืนตะลึงหลง |
ไม่เห็นทางที่จะเดินในแดนดง | พระนิ่งคิดพิศวงในวิญญาณ์ |
เทียนทองส่องเสด็จก็ดับหมด | ให้ชักรถเข้าแอบข้างเงื้อมผา |
พระหวั่นจิตคิดถึงบุษบา | พลางกอดวิยะดาไว้แนบองค์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจาบทที่ ๖๔
๏ บัดนั้น | ประสันตาตกใจตะลึงหลง |
ครั้นพายุพัดสงัดลง | ก็คืนคงได้สมประดีมา |
แลหาไม่เห็นนางทรามวัย | กับพี่เลี้ยงหายไปทั้งรถา |
ตกใจเพียงจะสิ้นชีวา | ประสันตาลดเลี้ยวเที่ยวดู |
เห็นกะระตาหลาล้มคว่ำ | มือกำกอหญ้ายึดอยู่ |
ฉุดขึ้นบอกเหตุให้รู้ | บัดนี้นางโฉมตรูหายไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจาบทที่ ๖๕
๏ บัดนั้น | กะระตาหลาแจ้งแถลงไข |
ลุกขึ้นตีอกตกใจ | เหตุไฉนเป็นน่าอัศจรรย์ |
จึงจุดไปเที่ยวส่องมองหา | ทุกพุ่มพฤกษาในสวนขวัญ |
ไม่พบพระธิดาลาวัณย์ | แล้วพากันเข้าค้นในถ้ำทอง |
ทุกแท่นที่ไสยาก็หาจบ | เลี้ยวตลบออกจากคูหาห้อง |
สงสัยที่ไหนก็เที่ยวมอง | ตามช่องเพิงผาทุกท่าทาง |
ไม่พบก็พากันร้องไห้ | เพียงพินาศขาดใจออกจากร่าง |
เสียแรงพระเชื่อใจไว้วาง | ให้อยู่รักษานางที่ในไพร |
มาบันดาลให้เป็นเช่นนี้ | มิรู้ที่จะทำเป็นไฉน |
จะคิดผ่อนผันฉันใด | จึงจะได้เหตุผลต้นปลาย |
เราจะไปเฝ้าองค์พระทรงเดช | ทูลให้ทราบเหตุที่นางหาย |
อันโทษเรานี้ถึงที่ตาย | ตามแต่พระโฉมฉายจะเมตตา |
พูดแล้วก็พากันคลาไคล | มุ่งไม้ตามแถวแนวป่า |
กอดคอกันเดินโศกา | มาในเวลาราตรี ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีเรืองศรี |
หยุดรถแอบอยู่เงื้อมคิรี | กับเสนีนิกรพร้อมกัน |
ครั้นพายุพยับกลับเกลื่อน | แสงเดือนส่องสว่างไพรสัณฑ์ |
จึงให้เคลื่อนรถแก้วแพรวพรรณ | จรจรัลตามทางพนาลัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด โอด
๏ มาพบประสันตากะระตาหลา | วิ่งมาซบลงแล้วร้องไห้ |
สะดุ้งจิตประหลาดหลากใจ | เอออะไรจึงเป็นดังนี้ |
คิดพลางทางตรัสถามไป | เกิดเหตุเภทภัยสิ่งไรพี่ |
จึงรีบร้อนมาในราตรี | ทิ้งเทวีไว้ในถ้ำทอง ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึงพระพี่เลี้ยงทั้งสอง |
สะอื้นโศกาน้ำตานอง | บังคมทูลสนองไปพลัน |
เดิมทีขนิษฐามาประพาส | รุกขชาติที่ในสะตาหมัน |
บังเกิดพายุพัดอัศจรรย์ | นางนั้นกับพี่เลี้ยงหายไป |
ข้าเที่ยวค้นคว้าหาจบ | จะพานพบกัลยาก็หาไม่ |
จึงรีบมาแจ้งเหตุเภทภัย | ทูลพลางร่ำไห้ไปมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | พระโฉมยงทรงโทมนัสสา |
สลบลงข้างองค์วิยะดา | ปูนตาเข้าประคองพระองค์ไว้ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด เจรจาบทที่ ๖๖
๏ เมื่อนั้น | สังคามาระตาอัชฌาสัย |
เอาน้ำมาลูบพักตร์ภูวไนย | พระค่อยคืนได้สมประดี |
แล้วทูลผ่อนผันด้วยปัญญา | พระผ่านฟ้าจงโปรดเกศี |
แต่หนหลังหวังสวาทเทวี | ภูมีโศกศัลย์เพียงบรรลัย |
จนได้เสร็จสมอารมณ์คิด | กรรมยังตามปลิดเอาไปได้ |
สุบินแน่นักประจักษ์ใจ | เหตุใหญ่สุดถวิลจินดา |
คิดเห็นว่าเป็นแต่รบพุ่ง | ก็มาดมุ่งหมายใจจะอาสา |
มิรู้เกิดเหตุผลข้างบนฟ้า | ชะรอยว่าเทวาพาไป |
พระองค์จงระงับดับโศกี | อย่าเพ่อตีตนตายไปก่อนไข้ |
จะได้คิดติดตามนางทรามวัย | กว่าจะได้พบองค์นงเยาว์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจาบทที่ ๖๗[๑]
๏ เมื่อนั้น | พระโฉมยงทรงโศกสร้อยเศร้า |
ฟังอนุชาทูลโลมเล้า | ทรงธรรม์บรรเทาโศกา |
จึงว่าน้องรักผู้ร่วมจิต | เจ้าคิดนี้ชอบนักหนา |
พี่นี้เคลิ้มคลุ้มกลุ้มอุรา | ดังพิกลกิริยาบ้าใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สังคามาระตาบังคมไหว้ |
จึงทูลว่าซึ่งจะตามทรามวัย | จะลำบากยากใจในดงดอน |
เป็นห่วงบ่วงใยอยู่หนักหนา | ด้วยองค์วิยะดาดวงสมร |
พระโฉมยงจงพาบังอร | ไปส่งเสียก่อนยังพารา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์เทวัญอสัญหยา |
จึงตอบสังคามาระตา | เจ้าว่าดังนี้ผิดทีไป |
จะให้พาวิยะดาไปส่งนั้น | คิดพรั่นอยู่ไม่ไว้ใจได้ |
เพราะน้องเป็นหญิงจะทิ้งไว้ | ครั้นจำเริญวัยวัฒนา |
เกลือกว่าจะมีเหตุเภทภัย | ตัวพี่อยู่ไกลขนิษฐา |
แล้วจะเป็นเช่นครั้งจรกา | พาราจะเกิดจลาจล |
จะไว้ใจสียะตราหนึ่งหรัด | ยังไม่สู้สันทัดจะขัดสน |
พี่จะต้องเป็นสองกังวล | จนจิตผิดชอบจะพาไป |
จะได้ตั้งใจหาไปหน้าเดียว | ท่องเที่ยวไปตามอัชฌาสัย |
แม้นมิพบดวงยิหวายาใจ | จะสู้ม้วยบรรลัยไม่กลับมา |
พระจึงสั่งทวยหาญทั้งนั้น | ให้พากันรีบไปยังคูหา |
ล้มไม้ใหญ่ทับมรคา | เอาศิลาปิดปากถ้ำไว้ |
บรรดาต้นไม้ในสวนศรี | ถอนเสียอย่าให้มีที่สงสัย |
ว่าแล้วรีบรถาคลาไคล | ตรงไปที่ประทับพลับพลาพลัน ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ เชิด
๏ พอแสงทองส่องฟ้าธาตรี | ก็ถึงที่ตำหนักพนาสัณฑ์ |
พระอุ้มองค์วิยะดาดวงจันทร์ | ขึ้นยังสุวรรณพลับพลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึงตรัสสั่งพี่เลี้ยงทั้งสอง | ตัวน้องจะแปลงเป็นชาวป่า |
มิให้ใครรู้จักศักดิ์เทวา | จงปรึกษาหาชื่อบัดนี้ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พระพี่เลี้ยงรับสั่งใส่เกศี |
แล้วให้อาลักษณ์ผู้ภักดี | แปลงชื่อทำบัญชีเขียนมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ อันนามกรพระทรงธรรม์ | พร้อมกันตริตรึกปรึกษา |
ถวายนามตามชาวพนาวา | ชื่อปันหยียาหยาชาญชัย |
อันระเด่นสังคามาระตา | ชื่อจะหรังวิสังกาศรีใส |
อันระเด่นดาหยนนั้นไซร้ | แปลงใหม่ชื่ออะหมันระปันจา |
ระเด่นวิหรากะระตานั้น | ชื่อจะหรังสุหรันวิยาหยา |
ทั่งสี่พี่เลี้ยงพระราชา | ตั้งเป็นรังหงาเห็นควรกัน |
ยะรุเดะชื่อวิหรากระตา | ปูนตาชื่อปังกะมาหงัน |
กะระตาหลาชื่อสุลายัน | ประสันตาชื่อสุหรันปาตรี |
อันระเด่นวิยะดาโฉมยง | ชื่อหลงหนึ่งหรัดมารศรี |
บาหยันชื่ออันตะรากี | ซ่าเหง็ดชื่อสัตตีกันจา |
ประเสหรันชื่อมาตุวาหยัน | ปะลาหงันชื่ออันดุวาหรา |
บรรดาชื่อมนตรีแลเสนา | จัดหาพร้อมแล้วพระภูมี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระโฉมยงองค์มิสาระปันหยี |
สระสรงทรงสุคนธ์วารี | ภูมีเปลี่ยนแปลงแต่งกายา |
ไม่ทรงกรรเจียกแก้วมงกุฎเก็จ | แต่งอย่างปันจุเหร็จโจรป่า |
อุ้มองค์หลงหนึ่งหรัดลีลา | เสด็จมาขึ้นสู่รถทรง ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ พลางคะนึงถึงระเด่นบุษบา | พระราชาเศร้าจิตพิศวง |
กำสรดระทดระทวยองค์ | ให้เร่งรัดจัตุรงค์รีบมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
ชมดง
๏ เดินเอยเดินทาง | ตามหว่างรุกขชาติเชิงผา |
พิศพรรณมิ่งไม้นานา | รื่นร่มรัถยาเรียงราย |
บ้างเผล็ดดอกออกช่ออรชร | บ้างเบ่งบานเกสรแย้มขยาย |
หอมหวนอวลกลิ่นอบอาย | คล้ายคล้ายเหมือนเมื่ออยู่ถ้ำทอง |
แม้นได้ดวงยิหวามาด้วยพี่ | จะชวนชี้ปรีดิ์เปรมเกษมสอง |
เห็นการะเกดสีเหลืองเรืองทอง | เหมือนผิวเนื้อน้องที่ต้องใจ |
พระเหลือบแลดูดอกสร้อยฟ้า | ยื่นย้อยระย้างามไสว |
เหมือนสร้อยห้อยมวยนางทรามวัย | หรือนางน้อยห้อยไว้กระมังนา |
จะให้รู้ว่าอยู่ที่ป่านี้ | ให้พี่มาติดตามหา |
เห็นเล็บนางบานตระการตา | เหมือนนขายิหวาของเรียมเอย |
ภุมรินบินร่อนเร่หา | ชมรสมาลาอันผายเผย |
เหมือนพี่เตร่เร่ตามเจ้าทรามเชย | ไม่รู้เลยว่าจะไปแห่งใด ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
ร่าย
๏ ครวญพลางพระทางคิดคะนึง | ถวิลถึงนวลน้องแล้วร้องไห้ |
กลัดกลุ้มคลุ้มเคล้มสติไป | ภูวไนยซวนซบสลบลง ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | สังคามาระตาตะลึงหลง |
ตกใจขึ้นไปบนรถทรง | เจ้าประคองพระองค์อุ้มไว้ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | เกนหลงหนึ่งหรัดละห้อยไห้ |
จึงเอาสุคนธามาลูบไล้ | ภูวไนยได้สมประดีมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โอ้ปี่
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์อสัญแดหวา |
ฟื้นองค์แล้วทรงโศกา | โอ้แก้วแววตาของเรียมเอย |
ปานฉะนี้จะอยู่แห่งใด | ทำไฉนจึงจะรู้นะอกเอ่ย |
หรือเทวาพาน้องไปชมเชย | ใครเลยจะบอกเหตุร้ายดี |
สองกรพระข้อนอุราร่ำ | ชะรอยเวรากรรมของพี่ |
ได้สมน้องแค่สองราตรี | หรือมิ่งมารศรีมาจากไป |
พระยิ่งเศร้าสร้อยละห้อยหา | จะสรงเสวยโภชนาก็หาไม่ |
แต่ครวญคร่ำกำสรดระทดใจ | สะอื้นไห้โศกาจาบัลย์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | สังคามาระตาก็โศกศัลย์ |
บรรดาคนเดินข้างรถนั้น | เห็นทรงธรรม์กันแสงร่ำไร |
ต่างร้องไห้รักด้วยภักดี | มิอาจที่จะกลั้นน้ำตาได้ |
เงียบเหงาเศร้าโศกสลดใจ | ทั่วไปทุกหมู่โยธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระโฉมยงองค์มิสาระปันหยี |
อุตส่าห์ขืนอารมณ์สมประดี | ให้เร่งโยธีไคลคลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ รีบลัดดัดดั้นพนาดร | เจ็ดวันสัญจรนอนป่า |
แยกย้ายรายพลเที่ยวค้นคว้า | จนมาใกล้แดนเวียงชัย |
จึงให้หยุดพักพลมนตรี | ตรัสสั่งเสนีน้อยใหญ่ |
จงพาพวกทหารเข้าไป | สืบข่าวอรไทในธานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนารับสั่งใส่เกศี |
ตั้งเหล่ากิดาหยันโยธี | ยินดีที่จะเข้าพารา |
ด้วยขัดสนโภชนาอาหาร | กันดารเดินทางมากลางป่า |
ที่ไม่เกณฑ์ให้ไปก็ไคลคลา | เดินพวกละห้าหกคน |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ มาถึงสถานบ้านชนบท | เที่ยวจดสืบแสวงทุกแห่งหน |
ไม่ได้ยินข่าวนางนฤมล | ต่างคนอดอยากลำบากนัก |
จึงแยกย้ายรายไปในบ้าน | เที่ยวประสมประสานทำรู้จัก |
เรียกป้าย่ายายทายทัก | ผูกรักฝากตัวเป็นลูกเลี้ยง |
ทอดสนิทชิดชมให้ชอบใจ | แคะไค้ว่ากล่าวก้าวเฉียง |
เห็นทรัพย์สินสิ่งใดอยู่ใกล้เคียง | ก็ค่อยย่องมองเมียงเข้าหยิบยก |
เก็บเอาข้าวของรูปพรรณ | แบ่งปันกันจำนำทำโกหก |
ปะใครเดินหนเข้าค้นพก | รุมชกช่วงชิงแล้ววิ่งราว |
ลางคนไปเที่ยวเกี้ยวชู้ | เอาปูนพลูซัดหยอกผู้หญิงสาว |
ชักสื่อให้หนังสือเพลงยาว | เลี่ยงเลี้ยวเกี้ยวกล่าวไปตามแกน |
มืดค่ำขึ้นหาทางหน้าต่าง | ชวนนางนั่งพูดแล้วรูดแหวน |
ชายชิงหญิงสะบัดขัดแค้น | กระชากผ้าพาแล่นหนีมา |
บ้างย่องเบาเข้าค้นในห้อง | ได้เงินทองของดีมีค่า |
เที่ยวจำหน่ายขายซื้อโภชนา | เอามาเลี้ยงชีวิตไม่คิดอาย ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | หญิงชายชาวเมืองทั้งหลาย |
อัศจรรย์ด้วยเกิดคนร้าย | ข้าวของครุ่นหายเนืองไป |
นายบ้านผู้หนึ่งนั้นจึงว่า | เห็นคนแปลกหน้ามาใหม่ใหม่ |
ชะรอยเป็นโจรป่าพนาลัย | ปลอมเข้ามาไล่ลักล้วง |
จึงคิดเป็นกลเอาคนวาง | คอยจับทุกทางถนนหลวง |
ป่าวร้องชาวบ้านร้านรวง | พบผู้ร้ายลอบล้วงให้จับกุม |
เห็นโจรฉวยผ้าพาวิ่งราว | ก็เรียกบ่าวบอกเพื่อนเกลื่อนกลุ้ม |
สกัดหน้าดากันเข้ารันรุม | จับผูกคอคุมเอาตัวไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | เหล่าทหารชำนาญศึกใหญ่ |
เห็นเขาจับเพื่อนมัดก็ขัดใจ | นายไพร่วิ่งขัดเขมรมา |
ชิงฉุดอุตลุดตะลุมบอน | ชกช้อนถูกถนัดด้วยหมัดขวา |
แล้วไล่ตามติดเอาอิฐปา | ฉวยไม้ได้ดากันเข้าไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ชาวเมืองไม่พรั่นหวั่นไหว |
หลบหลีกรับรองว่องไว | ถ้อยทีหนีไล่ไม่ละกัน |
จู่โจมโถมสะอึกฮึกโห่ | ด้วยกำลังโมโหหุนหัน |
บ้างถือไม้ไล่ต่อยตีรัน | ยืนยันร้องว่าท้าทาย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | เสนานายหมวดทั้งหลาย |
ได้ยินเสียงวิวาทวุ่นวาย | ไพร่นายจัดแจงแต่งตัว |
ลางคนเสกขมิ้นกินว่าน | หนังเหนียวเชี่ยวชาญมิใช่ชั่ว |
บ้างคาดเครื่องเลขยันต์พันพัว | โพกหัวถืออาวุธวิ่งไป |
เห็นชาวเมืองต่อยตีเหล่าทหาร | ก็พลอยพาลพาโลเข้าลุยไล่ |
ฟันแทงแย้งยิงปืนไฟ | ตีตะลุยเข้าไปจนใกล้เมือง |
ปีนกำแพงแบ่งคนขึ้นทุกด้าน | กองหลังไล่ทหารหนุนเนื่อง |
บ้างจุดเพลิงพลุ่งรุ่งเรือง | โห่เร้าเข้าเมืองได้ดังใจ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายฝูงประชาชนน้อยใหญ่ |
ชายหญิงวิ่งวุ่นทั้งเวียงชัย | ตกใจไม่เป็นสมประดี |
ลางคนอุ้มบุตรฉุดหลาน | เสือกสนลนลานแล่นหนี |
บ้างลงเรือข้ามฟากไปมากมี | กองทัพไล่ตีตามยิง |
บ้างบริกรรมทำปากบดบด | ตัวสั่นดังแม่มดผีสิง |
ข้าวของทองเงินเททิ้ง | ผัวพาเมียวิ่งเวียนวก |
บ้างจวนตัวผ่อนครัวเข้าปั้นหย่า | ยืนสลามอ้าหล่าแล้วตีอก |
ที่แก่เฒ่าจูงกันงันงก | ตื่นตระหนกตกใจทั้งพารา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | เหล่าทหารพาลพวกโจรป่า |
เที่ยวทุกแห่งหนค้นคว้า | ฉุดคร่าครอบครัวไม่กลัวเกรง |
ลางพวกนั่งล้อมกันกินเหล้า | มึนเมาพูดโผงโฉงเฉง |
ชิงของถองเถียงกันเอง | ข่มเหงประชาราษฎร์กวาดริบ |
บ้างได้เงินทองของประหลาด | พรมเจียมเจียระบาดตาดขลิบ |
สารพันเสื้อผ้าคว้ายิบ | ซุบซิบเพื่อนกันแล้วพันพุง |
บ้างเปิดกำปั่นได้ขันเชี่ยน | เงินเหรียญหน้าฝรั่งทั้งถุง |
บ้างจับได้หญิงสาวให้บ่าวจูง | หอบที่นอนหมอนมุ้งมารุงรัง |
พบผัวจะเอาตัวไปขู่ฆ่า | ให้นำหาเงินทองของฝัง |
ราษฎรร้อนรนพ้นกำลัง | อลหม่านไปทั้งหญิงชาย ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ระตูอกสั่นขวัญหาย |
ตกใจระรัวกลัวตาย | แพ้พ่ายไม่รอต่อฤทธิ์ |
บรรดาธานีทุกประเทศ | ก็เกรงเดชเดชาอาญาสิทธิ์ |
ระตูต่างองค์ทรงคิด | จะผูกพันเป็นมิตรไมตรี |
ให้แต่งเครื่องบรรณาการนานา | มาขอขึ้นแก่มิสาระปันหยี |
ถวายทั้งโอรสและบุตรี | สั่งให้เสนีนำไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนารับสั่งบังคมไหว้ |
มาจัดแจงแต่งตามบัญชาใช้ | เสร็จแล้วก็ไปจากพารา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ กลองโยน
๏ ต่างคนต่างพาบรรณาการ | ทั้งบุตรีกุมารโอรสา |
มาถึงที่ประทับพลับพลา | พร้อมกันทั้งสิบห้าธานี |
จึงเข้าไปแจ้งเหตุผล | บอกยุบลพี่เลี้ยงทั้งสี่ |
จงพาเราเข้าไปอัญชลี | ทูลคดีอย่าให้ระคายเคือง ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พระพี่เลี้ยงแจ้งความตามเรื่อง |
จึ่งนำเสนาสิบห้าเมือง | ทั้งเครื่องบรรณาการเข้าไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึงประณตบทบงสุ์ | ทูลองค์ปันหยีเป็นใหญ่ |
บัดนี้ระตูทุกกรุงไกร | มีใจภักดีปรีดา |
ให้แต่งบรรณาการมาถวาย | กับโอรสหญิงชายเสนหา |
บุตรท้าวสมาหรังราชา | ชื่อระเด่นกุดาปาตี |
องค์หนึ่งชื่อกุดาวะหา | หนึ่งชื่อกุดารัศมี |
บุตรท้าวตะมาเสธิบดี | ชื่อยาหยาส่าหรีเยาวมาลย์ |
โอรสชายชื่อวิยาหยา | โสภารูปทรงส่งสัณฐาน |
บุตรท้าวกุระบุหมีภูบาล | ชื่อนงคราญอรสาทรงลักษณ์ |
บุตรท้าววังกันธิบดี | ชื่อกันจะหนานารีมีศักดิ์ |
ท้าวปะตาหลำถวายลูกรัก | สองอนงค์วงพักตร์โสภา |
ชื่อนาหงสกันโฉมยง | หนึ่งชื่อว่าหงอรสา |
ท้างปะตาหลังถวายธิดา | ชื่อมาหงันยาหยานารี |
บุตรท้าวละหงิดทรงธรรม์ | ชื่อสุหรันกันจาส่าหรี |
บุตรท้าวกะปาหงันภูมี | ชื่อสุหราวาตีกุมารา |
อันองค์อนุชาน้อยนั้น | ชื่อระเด่นสุหรันกิราหนา |
ถวายทั้งอาวุธแลโยธา | ขอเป็นข้าขอบขัณฑ์คุ้งวันตาย ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ปันหยีเพราเพริศเฉิดฉาย |
ฟังพี่เลี้ยงทูลบรรยาย | จึงภิปรายปราศรัยเสนา |
ซึ่งระตูสามิภักดิ์รักใคร่ | เราชี้ชอบขอบใจหนักหนา |
ไม่เสียดายสุริย์วงศ์กษัตรา | เอาธิดามาให้แก่โจรไพร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ร่าย
๏ ตรัสพลางประทานสิ่งของ | เสื้อผ้าเงินทองกองให้ |
ของเราชาวป่าพนาลัย | มีใจให้ท่านเป็นไมตรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาประณตบทศรี |
รับของประทานด้วยยินดี | ดูทำนองปันหยีจำนรรจา |
กิริยาแยบคายคมสัน | เห็นผิดเผ่าพันธุ์โจรป่า |
ชะรอยหน่อกษัตริย์แสร้งแปลงมา | เที่ยวหาอิสตรีเป็นมั่นคง |
บรรดาเสนาที่มานั้น | ต่างสำคัญแคลงคิดพิศวง |
จึงถวายอภิวาทบาทบงสุ์ | อำลาแล้วตรงไปพารา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | มิสาระปันหยีสุกาหรา |
ให้ยกทัพขับพลโยธา | ลีลาล่วงด่านผ่านไป |
อันกุมารเชลยทั้งแปดองค์ | ทรงอาชาตามงามไสว |
รถประเทียบธิดาทุกกรุงไกร | ตามไปเป็นระเบียบเรียบกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงสถานท่าบาลี | จึงให้หยุดโยธีทัพขันธ์ |
พอสิ้นแสงสุริยาสายัณห์ | เสด็จขึ้นสุวรรณพลับพลาชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
แขกมอญ
๏ พระคะนึงถึงระเด่นกันจะหนา | ละม้ายเหมือนบุษบาศรีใส |
ให้คิดประดิพัทธ์กำหนัดใน | จึงตรัสใช้บาหยันกัลยา |
จงไปบอกบุตรีวังกัน | ว่าหลงหนึ่งหรัดนั้นคะนึงหา |
ให้เชิญทรามวัยไปพลับพลา | พูดเล่นตามประสาสตรี |
เราจะหนีไปซ่อนอยู่รถทรง | แม้นโฉมยงขึ้นมาถึงนี่ |
ขวนพูดจาเล่นพอเป็นที | แล้วสาวศรีจงรีบไปบอกเรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ บัดนั้น | บาหยันบังคมก้มเกล้า |
แล้วค่อยลัดแลงแฝงเงา | ลีลามาเฝ้าพระบุตรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ชุบ
๏ ครั้นถึงจึงทูลนางโฉมยง | ว่าหลงหนึ่งหรัดมารศรี |
วอนว่าจะมาเฝ้าเทวี | ประสาเด็กให้มีใจรัก |
ครั้นจะพามาตามลำพังตัว | ก็คิดกลัวปันหยีมีศักดิ์ |
จึงใช้ข้ามาทูลด้วยใจภักดิ์ | เชิญเสด็จนงลักษณ์ไปพลับพลา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมยงองค์ระเด่นกันจะหนา |
จึงตอบบาหยันกัลยา | ข้าคิดอยู่ว่าจะคลาไคล |
ไปฝากตัวโฉมตรูให้รู้จัก | เป็นที่พึ่งพำนักอาศัย |
จะไปเองก็เกรงอรไท | ด้วยมาใหม่ไม่คุ้นเคยกัน |
ว่าแล้วแต่งองค์ทรงอาภรณ์ | งามเพียงอัปสรสาวสวรรค์ |
เสด็จจากรถแก้วแพรวพรรณ | บาหยันก็ตามจรลี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงจึงขึ้นพลับพลาทอง | เข้าไปในห้องมารศรี |
แล้วโอบอุ้มองค์พระบุตรี | เจรจาพาทีกันไปมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | นวลนางบาหยันหรรษา |
ไปทูลปันหยีมิได้ช้า | พระธิดามาแล้วพระทรงธรรม์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ปันหยีปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
สระสรงทรงสุคนธ์ปนสุวรรณ | กลั้วกลิ่นอำพันจันทน์ขจร |
ทรงภูษาซ่าโบะสีทับทิม | ขลิบริมร่ำอบเกสร |
บรรจงจับชายกรายกร | บทจรมายังพลับพลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ฉุยฉาย
๏ พระหยุดแฝงม่านทองมองเห็น | โฉมยงองค์ระเด่นกันจะหนา |
กับพระน้องนั่งเล่นเจรจา | สรวลสันต์หรรษาทั้งสององค์ |
ให้กระสันรัญจวนป่วนจิต | ยิ่งคิดพิสมัยใหลหลง |
จึงค่อยย่องเข้าไปด้วยใจจง | พระหัตถ์ซ้ายเท้าลงที่ตักนาง |
พระหัตถ์ขวาคว้ากอดเกนหลง | โฉมฉายอางองค์อางขนาง |
พระแย้มยิ้มหยอกน้องประคองคาง | ชำเลืองแลดูนางเทวี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นกันจะหนามารศรี |
ขวยเขินสะเทินใจในที | ก็ผลักนางถอยหนีเสียทันใด |
ปันหยีทับเพลานงเยาว์อยู่ | เป็นครู่จึงเคลื่อนเขยื้อนได้ |
อัญชลีแล้วลาคลาไคล | พระจับชายสไบไว้ทัน |
ให้ขามจิตคิดเกรงพระโฉมยง | ฉุดกรเกนหลงเข้ามากั้น |
พระกลับอุ้มใส่ตักนางผลักพลัน | หวาดหวั่นหฤทัยไปมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | เกนหลงหนึ่งหรัดก็ร้องหา |
มานีกะกังประสันตา | จงพาข้าไปชมแสงจันทร์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ประสันตาอุ้มองค์ผายผัน |
จึงเรียกกิดาหยันทั้งนั้น | ชวนชมแสงบุหลันสำราญใจ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ปันหยีผู้มีอัชฌาสัย |
เห็นนางขวยเขินสะเทินใจ | ภูวไนยจึงดำเนินออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | บาหยันจึงทูลกันจะหนา |
โฉมยงจงถวิลจินดา | อันตกมาอยู่ในเนื้อมือ |
แม้นจะขืนขัดขวางอยู่อย่างนี้ | ใช่ว่าปันหยีจะฟังหรือ |
จะทำโดยหยาบช้าครายื้อ | ยิ่งจะรื้ออัปยศอดอาย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นกันจะหนาโฉมฉาย |
ได้ฟังบาหยันอภิปราย | ทั้งกลัวทั้งอายเป็นพ้นไป |
มิรู้ที่จะตอบวาจา | กัลยาโศกทรงกันแสงไห้ |
กลุ้มกลัดขัดข้องหมองใจ | อรไทนั่งนิ่งไม่ติงองค์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ปันหยียิ่งคิดพิศวง |
จึงย่างย่องเข้าห้องบรรทม | บาหยันกราบลงแล้วออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โอ้ชาตรี
๏ ลดองค์ลงนั่งแนบนาง | ยิ้มพลางทางกล่าวปราศรัย |
โฉมเฉลาเยาวยอดยาใจ | เป็นไรจึงโศกาจาบัลย์ |
จงห้กห้ามความโศกเสียก่อน | บังอรอย่ารังเกียจเดียดฉันท์ |
พักตร์น้องผ่องเพียงดวงจันทร์ | ผิวพรรณจะเศร้าพี่เสียดาย |
ชะรอยว่าบุพเพนิวาสา | จึงได้มาเล้าโลมโฉมฉาย |
จะเป็นเพื่อนพิศวาสไม่คลาดคลาย | จะเบี่ยงบิดคิดอายพี่ยาไย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นกันจะหนาศรีใส |
ได้ฟังภิปรายละอายใจ | อรไทไม่ตอบวาที |
แต่สะบิ้งสะบัดปัดกร | คมค้อนเมียงชม้อยถอยหนี |
พระอย่าทำลวนเล่นเช่นนี้ | นางชลีกรก้มพักตรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
โลม
๏ เมื่อนั้น | ปันหยียิ่งมีเสนหา |
ยุดมือไว้แล้วจึงว่ามา | อย่าวันทาพี่เลยนะเทวี |
ตัวพี่นี้ชาติชาวดง | ไม่ควรนวลอนงค์จะไหว้พี่ |
ตัวเจ้าเป็นราชบุตรี | มีกรรมจำได้แก่ชาวไพร |
ถึงพี่นี้ต่ำช้าบรรดาศักดิ์ | แต่ใจใฝ่รักที่ศักดิ์ใหญ่ |
วาสนาเคยสร้างกับนางไว้ | ด้วยจะได้พึ่งเดชกษัตรา |
ว่าพลางแอบอิงพิงพาด | สุดสวาทอย่างอนจงผ่อนหา |
กรกระหวัดรัดรึงตรึงตา | แก้วตาของพี่จงปรานี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ พระเอยพระองค์ | พระจงโปรดเกศเกศี |
น้องไม่ควรคู่ด้วยภูมี | ทำอะไรฉะนี้พระราชา |
ถ้าว่าเป็นคู่ตุนาหงัน | จึงจะควรผูกพันเสนหา |
อันน้องนี้เชลยลอยมา | จะขอเป็นแต่ข้าช่วงใช้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
โลม
๏ วาเอยวาจา | ช่างว่าพี่ชอบอัชฌาสัย |
ถึงมิใช่คู่ขอสู่ไว้ | เป็นบุญจึงได้เจ้าดวงตา |
เนื้อละมุนอุ่นอ่อนดังสำลี | กระนี้หรือจะใช้เป็นทาสา |
พี่ก็ไม่มีการสิ่งใดมา | จะใช้ตามวาสนานงเยาว์ |
สุดแต่จะเป็นเพื่อนนอนพี่ | การสิ่งนี้แลจะใช้เจ้า |
ว่าพลางอิงแอบแนบเคล้า | สัพยอกหยอกเย้ากัลยา |
จุมพิตชิดเชยปรางทอง | ค่อยประคองพุ่มพวงดวงยิหวา |
ภุมรินรนร่านนานช้า | พึ่งมาพบรสเสาวคนธ์ |
พระพรายชายพัดเฉื่อยฉ่ำ | พรำพรำพร่างพร้อยฝอยฝน |
นาคราชผาดเผ่นเล่นชล | เลื้อยเลี้ยวตามวนวารี |
มัจฉาชมชื่นฝืนระลอก | กลับกลอกกลางน้ำดำหนี |
สองกษัตริย์สุขเกษมเปรมปรีดิ์ | อยู่ในแท่นที่ไสยา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ โลม
ช้า
๏ เมื่อนั้น | โฉมยงองค์ระเด่นกันจะหนา |
ได้ร่วมรมย์สมศรีปรีดา | ด้วยปันหยีสุกาหราฤทธิรงค์ |
แรกเริ่มรสรักประจักษ์จิต | แสนสนิทพิสมัยใหลหลง |
หมอบเมียงเคียงข้างไม่ห่างองค์ | โฉมยงเยื้อนยิ้มพริ้มพราย |
ทูลเชิญให้ทรงสุคนธาร | แล้วอยู่งานพัชนีวีถวาย |
พระหยอกเย้าเอาสุคนธ์ประปราย | นางค้อนควักชักชายสไบบัง |
ภูธรประทานชานสลา | กัลยาประดิพัทธ์ประหวัดหวัง |
นัยน์เนตรชม้อยคอยระวัง | เฝ้าฟังบัญชาพระภูมี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ ครั้นใกล้รุ่งรางสร่างแสงทอง | บุหรงร้องพร้องเพรียกพนาศรี |
นวลนางกันจะหนานารี | อัญชลีแล้วลามารถทรง ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
https://vajirayana.org/system/files/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B2_264950.pdf