- คำอธิบาย ว่าด้วยบทละคร อิเหนาฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ
- เล่มที่ ๑
- เล่มที่ ๒
- เล่มที่ ๓
- เล่มที่ ๔
- เล่มที่ ๕
- เล่มที่ ๖
- เล่มที่ ๗
- เล่มที่ ๘
- เล่มที่ ๙
- เล่มที่ ๑๐
- เล่มที่ ๑๑
- เล่มที่ ๑๒
- เล่มที่ ๑๓
- เล่มที่ ๑๔
- เล่มที่ ๑๕
- เล่มที่ ๑๖
- เล่มที่ ๑๗
- เล่มที่ ๑๘
- เล่มที่ ๑๙
- เล่มที่ ๒๐
- เล่มที่ ๒๑
- เล่มที่ ๒๒
- เล่มที่ ๒๓
- เล่มที่ ๒๔
- เล่มที่ ๒๕
- เล่มที่ ๒๖
- เล่มที่ ๒๗
- เล่มที่ ๒๘
- เล่มที่ ๒๙
- เล่มที่ ๓๐
- เล่มที่ ๓๑
- เล่มที่ ๓๒
- เล่มที่ ๓๓
- เล่มที่ ๓๔
- เล่มที่ ๓๕
- เล่มที่ ๓๖
- เล่มที่ ๓๗
- เล่มที่ ๓๘
เล่มที่ ๑๕
๏ บัดนั้น | ฝ่ายเสนีพิชัยดาหา |
ซึ่งเป็นทูตจำทูลสารา | ทั้งสามแยกมาทุกเวียงชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงเข้าเฝ้าสองกษัตริย์ | ทูลรหัสให้แจ้งแถลงไข |
บัดนี้พระเชษฐาชาญชัย | จะให้แต่งวิวาห์พระบุตรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวกาหลังแลสิงหัดส่าหรี |
ได้ฟังคั่งแค้นแสนทวี | จำเป็นจึงมีพระบัญชา |
ให้เสนีคุมบรรณาการ | ไปถวายพระผู้ผ่านดาหา |
ของขวัญนั้นครบแต่นัดดา | จรกาให้กึ่งพระบุตรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาทั้งสองกรุงศรี |
รีบจัดบรรณาการมากมี | แล้วออกจากบุรีมาพลัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ดำเนินเดินโดยมรคา | สิบคืนถึงดาหาเขตขัณฑ์ |
สองเสนาพบบรรจบกัน | แล้วพาพลผายผันเข้าเวียงชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ฝ่ายทูตไปกุเรปันครั้นถึง | จึงบอกเสนาผู้ใหญ่ |
เวลาเฝ้าก็พากันคลาไคล | เข้าในพระโรงรจนา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ก้มเกล้าทูลถวายสารศรี | บัดนี้พระอนุชาดาหา |
จะแต่งการสยุมพรพระธิดา | ให้ข้ามาทูลพระทรงธรรม์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | องค์ศรีปัตหรารังสรรค์ |
รับสารทอดทัศนาพลัน | ทรงธรรม์ถวิลจินดา |
จำจะไปเล้าโลมดูก่อน | เกลือกจะผันผ่อนหย่อนหา |
เสียดายอะหนะบุษบา | ด้วยได้ตุนาหงันไว้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ร่าย
๏ คิดแล้วจึงสั่งตำมะหงง | เร่งเตรียมจัตุรงค์น้อยใหญ่ |
เราจะไปดาหากรุงไกร | แต่ในเพลาพรุ่งนี้ |
สั่งเสร็จก็หับบัญชรชัย | ปรึกษาองค์ประไหมสุหรี |
บัดนี้พระอนุชาธิบดี | ให้เสนีมาแจ้งสารา |
จะแต่งการภิเษกสยุมพร | บุตรีบังอรเสนหา |
พี่เสียดายวงศ์เทวา | เสียดายบุษบาเป็นพ้นนัก |
ครั้นจะมิไปบัดนี้เล่า | วงศ์เราจะระคนปนศักดิ์ |
ทั้งเอ็นดูอิเหนาลูกรัก | จำจักไปยังอนุชา |
วิงวอนว่าขานการโอรส | ให้พระน้องออมอดโทษา |
ที่ลูกเราผิดพลั้งแต่หลังมา | ทั้งห้าอรไทไปด้วยกัน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ประไหมสุหรีเฉิดฉัน |
กับพระมเหสีทั้งสี่นั้น | บังคมคัลสนองพระบัญชา |
ซึ่งพระองค์ตรัสมาทั้งนี้ | ต้องระบอบชอบทีหนักหนา |
จะได้เห็นระเด่นบุษบา | ทรงโฉมโสภาสักเพียงไร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ตำมะหงงเสนาผู้ใหญ่ |
บาดหมายทั่วทั้งเวียงชัย | พนักงานของใครก็ตรวจตรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ยานี
๏ ขุนช้างผูกช้างระวางต้น | สอดสายรัตคนผ่านหน้า |
ควาญหมอประจำตัวคชา | ล้วนเคยอาสาสงคราม |
ขุนม้าผูกม้าพลาหก | ผันผกว่องไวในสนาม |
ทหารขี่สีเสื้อน้ำเงินงาม | ถือทวนพู่จามรีแดง |
ขุนรถตรวจเตรียมรัถา | อาชาเทียมชักเข้มแข็ง |
สารถีขี่ขับเรี่ยวแรง | รถประเทียบตามตำแหน่งพระกำนัล |
ขุนพลจัดพลพร้อมหน้า | กายากำยำล่ำสัน |
ถือสาตราวุธครบครัน | คอยท่าทรงธรรม์จรลี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวกุเรปันเรืองศรี |
ครั้นอุทัยไขส่องธาตรี | ก็เข้าที่สระสนานสำราญกาย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ เสร็จสรงแล้วทรงพระสุคนธ์ | พนักงานเครื่องต้นตั้งถวาย |
สอดสนับเพลาริ้วทองพราย | เชิงงอนงามปลายสะบัดพริ้ง |
ทรงภูษาพื้นม่วงดวงดอก | รูปเทพนมนอกนรสิงห์ |
ฉลององค์ตาดเงินงามจริง | ชายไหวไหวกิ่งกระหนกแนม |
สร้อยสังวาลบานพับเพชรพวง | ทับทรวงจำหลักลายปลายแหลม |
ทองกรแก้วอร่ามพุกามแกม | แววแวมธำมรงค์ร่วงรุ้ง |
ทัดกรรเจียกแก้วแววฟ้า | ทรงชฎาห้ายอดสอดสะดุ้ง |
ห้อยอุบะตันหยงส่งกลิ่นฟุ้ง | กุมกริชเรืองรุ่งฤทธิรอน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ ใส่ฉลองพระบาทยาตรา | ชวนห้ามเหสีสายสมร |
มาทรงรถแก้วงามงอน | เคลื่อนพลนิกรจรจรัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ บาทสกุณี
โทน
๏ รถเอยราชรถทรง | กำกงวงเวียนเหียนหัน |
เทียมสินธพชาติชาญฉกรรจ์ | ผาดผันเผ่นผยองว่องไว |
งามแปลกแอกอ่อนงอนระหง | ลมชายปลายธงสะบัดไหว |
บุษบกกระหนกกระหนาบใน | บัลลังก์กระจังใจจินดาแดง |
เครื่องสูงคู่เคียงเรียงราย | บังแทรกชุมสายพรายแสง |
มยุรฉัตรพัดโบกใบแพลง | ธงเทียวเขียวแดงดาษดง |
สังข์แตรแซ่เสียงฆ้องกลอง | กึกก้องสั่นในไพรระหง |
ทหารแห่แต่ล้วนอาจอง | เดินเคียงรถทรงภูมี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ กลองโยน
ร่าย
๏ รถประไหมสุหรีศรีโสภา | แล้วมาถึงรถมะเดหวี |
กับระเด่นวิยะดานารี | สองศรีทรงรถอันเดียวกัน |
รถสามมเหสีเรียงเรียบ | รถประเทียบสุรางค์นางสาวสรรค์ |
ช้างม้าอึงอัดอารัญ | เร่งร้นพลขันธ์บทจร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
ชมดง
๏ เดินทางตามหว่างพนมมาศ | สำราญราชหฤทัยสโมสร |
ชมหมู่ปักษาทิชากร | บ้างร้องร่อนร่ายไม้ไปมา |
ไก่ฟ้าจับกาฝากแฝง | เหยี่ยวจิกเหยื่อแย่งบนเวหา |
แก้วจับเกดกินบินร่อนรา | ฝูงกระสาจับกระสังรังเรียง |
กระทุงทองลงท่องในท้องธาร | กระเหว่าจับกระวานประสานเสียง |
กาลิงจับกิ่งกาหลงเมียง | นกเอี้ยงจับเอื้องชำเลืองดู |
กระลุมพูจู่จับกระลำพัก | เขาไฟไข่ฟักฟุบอยู่ |
ยางย่องมองมาริมสินธู | ปักหลักปีกลู่ลงกินปลา |
พลางชมนกไม้ที่ในดง | ฝูงอนงค์กำนัลก็หรรษา |
บ้างชี้บ้างชมภิรมยา | ไปตามมรคาพนาลัย ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
ร่าย
๏ แรมรอนนอนในไพรสาณฑ์ | ล่วงด่านดาหากรุงใหญ่ |
ให้หยุดรี้พลสกลไกร | ตั้งพลับพลาชัยริมบุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวดาหาสุริย์วงศ์เรืองศรี |
รู้ว่าพระเชษฐาธิบดี | ภูมีมาถึงพารา |
จึงตรัสชวนห้ามเหสี | กับพระบุตรีโอรสา |
เข้าที่สระสรงคงคา | ทรงเครื่องรจนาพรายพรรณ |
ครั้นเสร็จเสด็จบทจร | ภูธรมาทรงอุสงหงัน |
มเหสีกับพระบุตรีนั้น | ทรงวอสุวรรณรูจี |
สาวสุรางค์นางในพนักงาน | บ้างเชิญเครื่องอานพานพระศรี |
สียะตรากับระเด่นมนตรี | สององค์ทรงขี่อาชาไนย |
พี่เลี้ยงเสนากิดาหยัน | แห่แหนแน่นนันต์มาไสว |
เสด็จโดยมรคาคลาไคล | ออกไปยังนอกธานี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงขึ้นบนพลับพลา | บังคมพระเชษฐาเรืองศรี |
ทั้งห้าอัคเรศเทวี | ต่างองค์อัญชลีพระราชา |
แล้วเรียกอะหนะทั้งสองนั้น | มาอภิวันท์องค์ศรีปัตหรา |
ประไหมสุหรีดาหาวนิดา | ก็ไหว้องค์กัลยาพี่นาง |
ที่จะรื่นเริงบันเทิงจิต | ถ้อยที่ถ้อยคิดอางขนาง |
แต่พักตร์แย้มยิ้มเปรมปราง | ต่างองค์ต่างข้องหมองใจ |
อันพระมเหสีทั้งสี่นั้น | บังคมคัลกันตามน้อยใหญ่ |
อิเหนากุเรปันชาญชัย | บังคมไหว้บิตุรงค์ทรงธรรม์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวกุเรปันรังสรรค์ |
เห็นโฉมนัดดาลาวัณย์ | ทรงเบญจกัลยาณี |
นี่หรือชื่อระเด่นบุษบา | ล้ำเลิศลักขณาราศี |
งามจริงพริ้งพร้อมทั้งอินทรีย์ | ภูมีคิดแค้นแสนเสียดาย |
กุมารนี้หรือชื่อสียะตรา | ซึ่งเป็นอนุชาโฉมฉาย |
ขนงเนตรเพราคมสมชาย | ทั้งสองงามละม้ายคล้ายกัน |
แล้วพิศพักตร์โอรสภูวเรศ | เห็นเทวษเศร้าสร้อยโศกศัลย์ |
อิเหนานี้น่าจะมีทุกข์ครัน | ทรงธรรม์ไม่ตรัสประการใด ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีคิดพิสมัย |
เห็นโฉมบุษบายาใจ | หฤทัยยินดีปรีดา |
อันความวิปโยคโศกเศร้า | ค่อยบรรเทาซึ่งโทมนัสสา |
ลืมกลัวพระองค์ทรงนครา | เวียนชายนัยนาดูเทวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นบุษบามารศรี |
อุ้มองค์วิยะดากุมารี | เทวีเชยชมภิรมย์ใจ |
กอดจูบรับขวัญด้วยความรัก | พิศพักตร์นวลละอองผ่องใส |
ยกทูนเกศเกล้าอรไท | ทรามวัยถ้อยทีรักกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวดาหาสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
จึงทูลพระเชษฐาทรงธรรม์ | ขอเชิญจรจรัลเข้ากรุงไกร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวกุเรปันเป็นใหญ่ |
ได้ฟังชื่นชมภิรมย์ใจ | ภูวไนยเสด็จมาทรงรถ |
พระประเทียบทั้งสองพารา | สาวสรรค์เสนาก็มาหมด |
องค์ท้าวดาหาเรืองยศ | ทรงเสลี่ยงเคียงรถเข้าบุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงเกยชาลาหน้าปราสาท | ท้าวกุเรปันราชเรืองศรี |
เสด็จจากรถรัตน์รูจี | พร้อมพระมเหสีทรามวัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวดาหาประนมบังคมไหว้ |
ทูลเชิญพระเชษฐาให้คลาไคล | เข้าในปราสาทรจนา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวกุเรปันนาถา |
จึงมีพจนารถประภาษมา | ปราศรัยอนุชาทันใด |
เจ้าค่อยเป็นสุขสถาวร | นิราศโศกโรคร้อนหรือไฉน |
ทั้งเสนีรี้พลสกลไกร | สำราญใจอยู่หรือทั้งธานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวดาหาเรืองศรี |
จึงนบนอบตอบราชวาที | โรคภัยไม่มีมาแผ้วพาน |
แต่เดือนก่อนร้อนใจด้วยไพริน | บัดนี้ก็เสร็จสิ้นแตกฉาน |
อยู่เย็นเป็นสุขสำราญ | ประชาชนชื่นบานทั้งเวียงชัย |
ซึ่งพระองค์เสด็จทางทุเรศ | มาดีหรือมีเหตุเป็นไฉน |
ไพร่ฟ้าประชากรร้อนใจ | หรือปราศจากทุกข์ภัยบีฑา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวกุเรปันเชษฐา |
จึงตรัสตอบพระอนุชา | ไพร่พลพาราก็สำราญ |
เดินทางมากลางพนาลี | พร้อมหมู่โยธีทวยหาญ |
เภทภัยสิ่งใดไม่แผ้วพาน | จนถึงราชฐานธานี |
สองกษัตริย์ตรัสสนทนากัน | จนสุริยันเย็นยอแสงสี |
สรงเสวยโภชนาสาลี | ชมอะหนะกุมารีวิยะดา |
มเหสีทั้งสองนคเรศ | เฝ้าพระองค์ทรงเดชพร้อมหน้า |
เสร็จแล้วต่างอัญชลีลา | ไปห้องไสยาสถาวร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
๏ ประไหมสุหรีดาหากุเรปัน | บรรทมห้องเดียวกันสโมสร |
มะเดหวีทั้งสองพระนคร | บังอรร่วมห้องกันสององค์ |
ถัดนั้นสองมะโตโฉมตรู | แล้วสองลิกูนวลหง |
อันเหมาหลาหงีโฉมยง | สององค์ไสยาในราตรี |
บุษบาวิยะดาน้องนั้น | บรรทมด้วยกันทั้งสองศรี |
ต่างภิรมย์ชมชวนพาที | ที่ในแท่นที่ศรีไสยา |
อิเหนากับสียะตราหนึ่งหรัด | สองกษัตริย์บรรทมข้างหน้า |
ทั้งสองพระองค์ทรงนครา | ไสยาร่วมแท่นบรรทมใน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ ตระ
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีศรีใส |
ครั้นองค์อนุชาหลับไป | พระมิได้สนิทนิทรา |
จึงลอบเข้าไปแฝงฟัง | ยังห้องสองศรีปัตหรา |
ด้วยจะใคร่แจ้งใจในกิจจา | สองกษัตริย์จะว่าประการใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวดาหาทรงภพสบสมัย |
จึ่งทูลพระเชษฐาชาญชัย | น้องจะให้ตั้งการสยุมพร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวกุเรปันก็ผันผ่อน |
กล่าวรสพจนาอันสุนทร | ฟังคำพี่ก่อนจะเสียที |
จรกาซึ่งจะมาร่วมวงศ์ | ชั่วทั้งรูปทรงแลศักดิ์ศรี |
ดังเอาปัดมาปนกับมณี | ไม่ควรที่จะให้ครองกัน |
ทั้งสุริย์วงศ์พงศ์เผ่าก็ต่ำกว่า | จะเปรียบข้างพาราเขตขัณฑ์ |
กับเมืองขึ้นของเราก็เท่ากัน | แม้นเป็นวงศ์เทวัญก็ตามที |
ถึงสมบัติจะน้อยสักร้อยส่วน | ก็ควรที่จะให้นางโฉมศรี |
นี่ดังเจ้าแกล้งเอาบุตรี | ไปทุ่มทิ้งเสียที่คงคาลัย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวดาหาทูลแจ้งแถลงไข |
น้องนี้ก็จำนงจงใจ | จะให้ครองกันตามประเพณี |
แต่หากบุญไม่เคยคู่กัน | จึ่งบันดาลให้ชายเอาตัวหนี |
ดังหงส์ไม่จงชลธี | ราชสีห์หนีถ้ำสุรกาญจน์ |
เหมือนหมู่บุหรงทั้งปวง | ไม่เห็นเป็นห่วงด้วยพฤกษาสาร |
สำหรับที่จะได้อัประมาณ | จึ่งบิดผันบันดาลไปทั้งนี้ |
ซึ่งพระตรัสตรึกตรองน้องก็เห็น | แต่จำเป็นเหลือจะรับใส่เกศี |
จะคิดอาลัยไปไยมี | ตามทีวาสนาไม่เคียงควร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวกุเรปันปั่นป่วน |
จึ่งตรัสตอบความตามขบวน | ซึ่งอิเหนาหักหวนไปครั้งนี้ |
เพราะไม่ได้เห็นอะหนะบุษบา | อันทรงโฉมโสภาประไพศรี |
จึงไปเลี้ยงจินตะหราวาตี | สำคัญว่าดีแต่โดยใจ |
ประสาเด็กได้ภิรมย์สมหวัง | ก็คลุ้มคลั่งพิศวงหลงใหล |
บัดนี้น่าจะทุกข์ฉุกฤทัย | หาไม่ก็จะคืนกุเรปัน |
ด้วยตัวได้ทำความผิด | สุดที่จะคิดผ่อนผัน |
พี่เห็นเศร้าศรีฉวีวรรณ | น่าจะคร่ำครวญครันด้วยเสียใจ |
จนผอมผิดรูปซูบทรงนัก | ผิวพักตร์มัวคล้ำดำไหม้ |
กับเมื่อแรกมาถึงเวียงชัย | เจ้าเห็นเป็นกระไรอนุชา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวดาหาทูลตอบพระเชษฐา |
น้องก็แจ้งในทีกิริยา | แต่ได้ออกวาจาก็จนใจ |
เมื่อไปเลี้ยงจินตะหราวาตี | ในหมันหยาธานีกรุงใหญ่ |
ได้อายประชาชนเป็นพ้นไป | จึ่งออกวาจาไว้แต่นั้นมา |
ว่าใครขอก็จะให้ดังประสงค์ | ไม่เสียดายสุริย์วงศ์อสัญหยา |
พอจรกามากล่าวกัลยา | สมดังปรารถนาก็อวยไป |
ครั้นเห็นอิเหนาก็เอ็นดู | แต่มิรู้ทีจะทำเป็นไฉน |
ครั้นจะคืนวาจาก็อายใจ | ด้วยได้ให้เขาแล้วก็จำจน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวกุเรปันตอบอนุสนธิ์ |
ชะรอยกรรมจึ่งจำบันดาลดล | สำหรับจะไม่พ้นอัประมาณ |
ด้วยอิเหนาเมามัวชั่วนัก | หาญหักไม่ฟังว่าขาน |
รักแต่ต่ำช้าสาธารณ์ | ไม่รักวงศ์วานของตัว |
แต่ก่อนบห่อนจะขัดคำ | ที่นี้หนำใจที่รักชั่ว |
เสียดายนักศักดิ์เราจะหมองมัว | ดังหงส์ไปกลั้วตระกูลกา |
ข้างเจ้าจะคืนคำก็ไม่ได้ | ข้างพี่ก็จนใจเป็นหนักหนา |
ทั้งนี้ก็ตามแต่เวรา | เราอย่าควรคิดให้เคืองกัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สียะตราตื่นขึ้นก็โศกศัลย์ |
ไม่เห็นพระพี่ในที่นั้น | ก็จรจรัลเที่ยวหาทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ พบองค์ก็ตรงเข้าส้วมกอด | พลางพลอดทูลถามพระพี่ |
มานั่งอยู่ไยในราตรี | จึ่งยังไม่เข้าที่ไสยา |
ว่าพลางฉุดไปให้บรรทม | กอดเกี่ยวเกลียวกลมหรรษา |
แล้วซักไซ้ไถ่ถามไปมา | พระเชษฐาไปนั่งอยู่ไย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระทรงโฉมประโลมพิสมัย |
จึงบอกว่าพี่ไม่สบายใจ | ให้หนาวเหน็บไปทั้งอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สียะตราหนึ่งหรัดเรืองศรี |
เอาผ้ามาซ้อนทรงให้ทันที | คลุมไปจนที่พระบาทา |
อีกทั้งองค์ก็ขึ้นทับ | แล้วกลับกอดซ้ายกอดขวา |
อุ่นแล้วหรือยังพระพี่ยา | จงบอกน้องมาให้แจ้งใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีเฉลยไข |
แม้นได้ผ้ารอยทรงองค์อรไท | มาห่มให้พี่จึงจะค่อยคลาย |
ถึงจะห่มผ้าอื่นสักเท่าไร | แล้วจะซ้ำผิงไฟก็ไม่หาย |
ด้วยเย็นทั้งนอกกายในกาย | ต่อคลายพี่จึงจะนิทรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สียะตราหนึ่งหรัดขนิษฐา |
รับสั่งบังคมพระพี่ยา | ก็วิ่งมาทางห้องพระชนนี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ใครจะถามจะเรียกก็ไม่หยุด | สะดุดนางกำนัลสาวศรี |
ตรงเข้าห้องสุวรรณทันที | อัญชลีพี่นางทันใด |
ทูลว่าน้องยืมสไบทรง | ไม่ช้าจะมาส่งคืนให้ |
ว่าพลางชักผ้าจะพาไป | นางบุษบาชิงไว้มิให้มา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นวลนางบาหยันเสนหา |
หยิบผ้ามาถวายพระอนุชา | จะปลอบว่าเท่าไรก็ไม่เอา |
จนยกมาตั้งให้ทั้งพาน | พระกุมารเมินเสียด้วยรู้เท่า |
ก็ไม่วางผ้าทรงนงเยาว์ | แต่เฝ้าฉุดชิงอยู่ไปมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นวิยะดาเสนหา |
ครั้นฟื้นตื่นจากนิทรา | เห็นพี่นางพี่ยาชิงผ้ากัน |
ให้กลุ้มกลัดขัดใจเป็นพ้นนัก | นงลักษณ์ลุกขึ้นขมีขมัน |
เข้าหยิกตีพระพี่ยาพลัน | ข่มเหงพี่นางนั้นด้วยอันใด |
ว่าพลางเข้าช่วยแย่งยุด | ชิงฉุดเอาผ้านั้นมาได้ |
สียะตราหนึ่งหรัดขัดแค้นใจ | ก็ร้องไห้กลิ้งเกลือกไปมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | องค์มะเดหวีดาหา |
ได้ยินเสียงพระกุมารโศกา | ก็ร้องว่ามาทันที |
กลัวผ้าจะหรอไปหรือไร | จึงให้น้องร้องไห้อึงมี่ |
ไม่รู้หรือว่าสองพระภูมี | เข้าที่บรรทมอยู่ด้วยกัน |
ว่าพลางเสด็จลีลาศ | จากอาสน์พรรณรายฉายฉัน |
กรายกรย่างเยื้องจรจรัล | ไปห้องสุวรรณนางโฉมตรู ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ จึงว่าช่างไม่กลัวแต่สักนิด | มิใช่ยังกะจิริดนักอยู่ |
ผิดชอบหนักเบาเจ้าย่อมรู้ | เอ็นดูแม่จงให้อนุชา |
ว่าพลางนางเปลื้องสไบทรง | จากองค์พระบุตรีเสนหา |
พระกุมารก็ช่วยพระมารดา | ชิงผ้ามาได้ทันที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | สียะตราหนึ่งหรัดเรืองศรี |
สรวลพลางทางว่ากล้าดี | เมื่อกระนี้เป็นไรไม่ฉุดไว้ |
ฉวยได้ชายผ้าก็พาวิ่ง | ถ้าดีจริงมาชิงไว้ให้ได้ |
พระชนนีสรวลสันต์สำราญใจ | พระกุมารตรงไปยังพี่ยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ จึงถวายสไบไปให้ทรง | แล้วกราบทูลองค์พระเชษฐา |
ที่นี้ได้สมดังจินดา | นิทราเสียเถิดให้สำราญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีเกษมศานต์ |
กอดจูบลูบชมพระกุมาร | เสนหาซาบซ่านอินทรีย์ |
หอมกลิ่นสไบบางที่นางทรง | ยิ่งคะนึงถึงองค์โฉมศรี |
พระชมผ้านั้นต่างนางเทวี | จึงค่อยคลี่คลายสบายใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองกษัตริย์ทรงภพสบสมัย |
ครั้นรุ่งแรงแสงสุริโยทัย | ก็ออกท้องพระโรงชัยฉับพลัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ พร้อมหมู่โหราพฤฒามาตย์ | เฝ้าแหนโดยขนาดหลายหลั่น |
เสนาดาหากุเรปัน | อภิวันท์กราบงามสามลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์ทรงภพดาหา |
จึงมีสีหนาทบัญชา | ตรัสสั่งโหราทันที |
จงหาศุภฤกษ์สถาผล | มงคลวันวารดิถี |
วันใดจะได้ฤกษ์ดี | จะตั้งการพิธีวิวาห์การ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ขุนโหรรับราชบรรหาร |
หยิบสมุดตำรับกับกระดาน | มาเทียบทานหารคูณทันที |
เสร็จแล้วประนมบังคมทูล | พระผู้ผ่านไอศูรย์เรืองศรี |
สามค่ำย่ำรุ่งราตรี | ฤกษ์ดีศรีสวัสดิ์วัฒนา |
เป็นกรรมของอิเหนากุเรปัน | จะได้ทุกข์โศกศัลย์หนักหนา |
ดลใจให้ขุนโหรา | ที่ร้ายทายว่าเป็นดีไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวดาหาเป็นใหญ่ |
จึ่งสั่งเสนาทันใด | เร่งให้หมายกำหนดคืนวัน |
สั่งเสร็จเสด็จยุรยาตร | จากอาสน์พรรณรายฉายฉัน |
กับพระเชษฐากุเรปัน | จรจรัลเข้าปราสาทรูจี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | ตำมะหงงเสนีบดีศรี |
จึงบัตรหมายรายการพิธี | กำหนดไปโดยมีพระบัญชา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์เทวัญอสัญหยา |
แจ้งว่าให้ตั้งการวิวาห์ | พระราชาเพียงจะสิ้นสมประดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ช้าปี่
๏ ทอดองค์ลงกับที่บรรจถรณ์ | เร่าร้อนฤทัยถึงโฉมศรี |
โอ้ดวงดอกฟ้าสุมาลี | ครั้งนี้กำหนดงานเห็นการจวน |
ยอกรเบื้องซ้ายขึ้นก่ายพักตร์ | สุดรักแสนเสียดายไม่หายหวน |
นึกคะนึงถึงนางครางครวญ | ทรงกำสรวลสะท้อนถอนใจ |
อกเอ๋ยจะคิดไฉนดี | จึงจะได้แก้วพี่มาพิสมัย |
แต่เตือนเตือนก็เชือนเฉยไป | เร่งแปลกเปลี่ยนใจเป็นพ้นคิด |
ถึงมะเดหวีมิเมตตา | อันจะเสียวาจาก็เห็นผิด |
จะเตือนไปกว่าจะสุดฤทธิ์ | มิสมคิดไม่อยู่ไยดี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ จึงเรียกประสันตาเข้ามาสั่ง | จงไปยังพี่เลี้ยงโฉมศรี |
ให้เร่งทูลเตือนพระชนนี | ว่าบัดนี้รับสั่งให้ตั้งการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ประสันตาร้อนใจดังไฟผลาญ |
รับสั่งแล้วกราบบทมาลย์ | ลนลานไปยังทวารา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ พอเห็นบาหยันแต่ไกล | ไอให้เหลียวแล้วพยักหน้า |
ครั้นถึงจึงแถลงแจ้งกิจจา | โดยดังบัญชาพระภูมี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นวลนางบาหยันสาวศรี |
รับคำแล้วรีบจรลี | ไปเฝ้ามะเดหวีทันใด ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ชุบ
๏ ค่อยกระซิบทูลองค์นงลักษณ์ | บัดนี้พระหลานรักพิสมัย |
อาวรณ์ร้อนรนเป็นพ้นไป | ใช้ให้ประสันตามาเตือน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | มะเดหวีร้อนใจใครจะเหมือน |
แต่ล่อลวงนัดดาพาเชือน | บิดเบือนเพี้ยนผัดมาหลายที |
ครั้งนี้ก็เห็นจวนการ | จะหน่วงนานไปอีกก็ใช่ที่ |
ครั้นแจ้งตามจริงไปบัดนี้ | ระเด่นมนตรีจะเสียใจ |
แต่นิ่งนึกตรึกไตรไปเป็นครู่ | มิรู้ที่จะผ่อนผันแก้ไข |
อกเอ๋ยจะทำประการใด | ขัดสนจนใจเป็นพ้นนัก |
จึงตรัสแก่บาหยันกัลยา | ไปบอกประสันตาให้ประจักษ์ |
ซึ่งจะช่วยธุระหลานรัก | สุดปัญญานักในครั้งนี้ |
แต่คอยคอยก็ไม่ได้ช่อง | ซึ่งจะทูลละอองบทศรี |
เจ้าจะคิดอ่านได้ฉันใดดี | ก็ตามทีเถิดอย่าน้อยใจ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | บาหยันผู้มีอัชฌาสัย |
รับพระเสาวนีย์อรไท | ก็ออกไปยังที่ทวารา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ชุบ
๏ ครั้นถึงจึงเล่าถ้วนถี่ | มะเดหวีทุกข์ร้อนด้วยหนักหนา |
อันจะช่วยนั้นสุดปัญญา | ตามแต่ผ่านฟ้าจะคิดการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ประสันตาครั้นได้ฟังสาร |
ตกใจร้อนรนพ้นประมาณ | ก็รีบลนลานมาทันใด ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงประณตบทเรศ | ทูลเหตุจะแจ้งแถลงไข |
มะเดหวีตัดมาไม่อาลัย | จะคิดไปนั้นตามแต่ภูมี |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีเรืองศรี |
ได้ฟังคั่งแค้นแสนทวี | สลบลงกับที่บรรทม |
รื้อระบายถ่ายถอนหฤทัย | อกเอยทำไฉนจะได้สม |
เห็นสุดรู้สุดฤทธิ์จะคิดชม | เร่งร้อนอารมณ์ตรมใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
โอ้ปี่
๏ โอ้ว่าครานี้นะอกกู | จะคงชีวิตอยู่อย่าสงสัย |
แม้นว่าแต่งการกันวันใด | จะกลั้นใจให้ม้วยมรณา |
เมื่อได้ต้องถือถึงมือแล้ว | กลิ่นแก้วยังติดนาสา |
เนื้อนวลนวลแนบแอบอุรา | ยังอุ่นอกพี่ยาไม่เว้นวาย |
งามพักตร์งามโฉมประโลมจิต | ยังติดเตือนตาอยู่ไม่รู้หาย |
บุญใดได้ต้องประคองกาย | บาปใดพรากสายสมรไกล |
หรือปางก่อนเราเคยพรากสัตว์ | ให้คู่เคล้าเขาพลัดหรือไฉน |
เวรามาเตือนภูวไนย | จึงพรากน้องไปให้จรกา |
ฉุกใจได้คิดสิผิดนัก | ไปพะวงหลงรักจินตะหรา |
ประยูรหงส์ไม่จงเจตนา | ไปหลงชมสกุลกาว่าดี |
โอ้แสนเสียดายสายสวาท | ไม่สมมาดหมายมิ่งมารศรี |
จะอาลัยไยเล่าแก่ชีวี | ชาตินี้มิได้ชิดสนิทนวล |
พระไม่สรงเสวยกระยาหาร | ทรมานหม่นไหม้ไห้หวน |
ไม่ขึ้นเฝ้าเช้าค่ำแต่คร่ำครวญ | พระทอดองค์ลงกำสรวลโศกา ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯโอด
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นดาหยนวงศา |
ทั้งระเด่นสังคามาระตา | กับพี่เลี้ยงก็พากันเข้าไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงซึ่งห้องพระบรรทม | ต่างถวายบังคมประนมไหว้ |
แล้ววิงวอนโลมเล้าเอาใจ | เชิญให้เสวยโภชนา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระโฉมยงทรงโทมนัสสา |
จึงว่าเมื่อไม่สมดังจินดา | จะกินโภชนาไปว่าไร |
น้องจะใคร่กลั้นใจให้ดับจิต | สุดคิดที่จะทนทานได้ |
อันความร้อนรนเป็นพ้นไป | ดังนอนอยู่ในอัคคีกาฬ |
หนักอกดังยกภูเขาหลวง | มาทับทรวงให้แยกแตกฉาน |
แม้นมาตรม้วยมุดสุดปราณ | ก็ดีกว่าทรมานไม่สมคิด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นดาหยนผู้ร่วมจิต |
จึงกราบทูลองค์พระทรงฤทธิ์ | ถ้าพลั้งผิดจงทรงพระเมตตา |
เชิญดำริตริการไปดูก่อน | อย่าเพ่อรอนชีวังสังขาร์ |
มะเดหวีมิทูลพระราชา | ผ่านฟ้าจงเสด็จขึ้นไป |
ทูลพระบิตุเรศมารดร | สองพระองค์ผันผ่อนเห็นจะได้ |
อันพระปิ่นดาหาเวียงชัย | เห็นจะไม่แข็งขัดพจมาน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีจึ่งตอบสาร |
พี่อย่าคิดไปให้ป่วยการ | น้องไม่หาญทูลพระภูธร |
ด้วยดำริแล้วถ้วนถี่ | มิรู้ที่จะคิดผันผ่อน |
เมื่อวันแรกเสด็จถึงนคร | พระบรรทมบรรจถรณ์ร่วมกัน |
น้องนอนอยู่ที่ข้างหน้า | สองกษัตริย์ตรัสมาเป็นคำมั่น |
ได้ยินอยู่สิ้นทุกสิ่งอัน | พลางรำพันเล่าแถลงให้แจ้งใจ |
ไม่เห็นที่จะได้ดังใจคิด | สุดรู้สุดฤทธิ์จะแก้ไข |
จะคงครองชีวิตไว้ไย | ภูวไนยตรัสพลางทางโศกี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
โอ้ปี่
๏ เมื่อนั้น | จึ่งองค์ระเด่นทั้งสองศรี |
กับสี่พี่เลี้ยงผู้ภักดี | กอดบาทภูมีเข้าโศกา |
โอ้ว่าพระทูลกระหม่อมเอ๋ย | พระคุณเคยปกเกล้าเกศา |
ดังหนึ่งบิตุเรศมารดา | บำรุงเลี้ยงมาไม่มีภัย |
จะหาไหนได้เหมือนพระปิ่นเกล้า | ตายแล้วเกิดเล่าไม่หาได้ |
แม้นพระสู่สวรรค์วันใด | จะพากันบรรลัยไปตาม |
อันพระเดชเลื่องลือระบือยศ | ปรากฏใต้ฟ้าย่อมเกรงขาม |
เสียด้วยทรงเยาว์เบาความ | เพราะเวราติดตามมาทัน |
เผอิญให้องค์ศรีปัตหรา | โกรธาตัดรอนไม่ผ่อนผัน |
ว่าพลางโศกาจาบัลย์ | พากันร่ำไรไปมา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ โอด
ร่าย
๏ บัดนั้น | ฝ่ายเจ้าพนักงานถ้วนหน้า |
ครั้นถึงวันตั้งการวิวาห์ | ก็กะเกณฑ์ตรวจตราพร้อมกัน |
โขนละครโหมโรงกึกก้อง | ปรบไก่เทพทองคู่ขัน |
ทั้งโมงครุ่มผาลาสารพัน | เสียงฆ้องกล้องสนั่นทั้งกรุงไกร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีเร่งหม่นไหม้ |
ได้ยินเสียงฆ้องกลองก้องไป | ยิ่งกลัดกลุ้มคลุ้มในวิญญาณ์ |
ทั้งอดโภชนามาหลายวัน | กำลังนั้นก็ถอยลงหนักหนา |
วาตะปะทะขึ้นมา | พระราชาไม่รู้สมประดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | จึ่งองค์ระเด่นทั้งสองศรี |
กับพี่เลี้ยงผู้ร่วมชีวี | เห็นระเด่นมนตรีสลบไป |
ต่างตกใจวุ่นวิ่งหา | หมอนวดหมอยามาแก้ไข |
บ้างบอกอาการไปข้างใน | ทูลไทบิตุเรศมารดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | สองกษัตริย์สุริย์วงศ์นาถา |
ครั้นแจ้งแห่งข่าวพระลูกยา | ตกประหม่าไม่เป็นสมประดี |
ทั้งราชตระกูลประยูรวงศ์ | กับสี่องค์อัคเรศมเหสี |
ต่างรีบเสด็จจรลี | ลงไปยังที่พระโอรส ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ สองกษัตริย์นั่งแนบแอบองค์ | สุริยวงศ์พร้อมพรั่งทั้งหมด |
พิศพักตร์ลูกรักแล้วรันทด | ให้ประกอบโอสถเป็นโกลา |
หมอนวดก็เข้านวดฟั้น | หมอยาช่วยกันพร้อมหน้า |
แก้ไขเท่าไรไม่เคลื่อนคลา | พระยอดฟ้าแน่นิ่งไม่ติงกาย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ประไหมสุหรีกุเรปันขวัญหาย |
คิดว่าโอรสาชีวาวาย | ก็ทอดกายข้อนทรวงเข้าร่ำไร |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
โอ้
๏ โอ้ว่าลูกรักของแม่เอ๋ย | ทรามเชยผู้ยอดพิสมัย |
เลี้ยงเจ้ามาจนจำเริญวัย | แม่มิให้มดไต่ไรตอม |
เช้าค่ำบำรุงผดุงเจ้า | ขวัญข้าวแม่สุดแสนถนอม |
บัดนี้วงศาก็มาพร้อม | ห้อมล้อมขวัญแม่ผู้ปลื้มใจ |
พ่อไม่ผินพักตร์มาทักทาย | ตายจากแม่แล้วหรือไฉน |
มาทิ้งวิยะดาน้องไว้ | หนีไปกระยาหงันชั้นฟ้า |
มเหสีกุเรปันทั้งสี่ | อีกประไหมสุหรีดาหา |
ต่างองค์ก็ทรงโศกา | ปิ้มว่าจะพินาศขาดใจ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีเพียงตักษัย |
ได้ยินแว่วเสียงโศกาลัย | พระลืมนัยน์เนตรแลมา |
เห็นสององค์ประไหมสุหรี | อีกทั้งองค์ศรีปัตหรา |
มเหสีทั้งสองพารา | มานั่งล้อมโศการ่ำไร |
พระค่อยเคลื่อนเลื่อนลุกพยุงองค์ | มิใคร่จะดำรงพระกายได้ |
ยอกรอภิวันท์ทันใด | แต่ยังไม่ออกโอษฐ์จำนรรจา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวกุเรปันนาถา |
ครั้นเห็นอิเหนาลูกยา | ค่อยคลายโรคาก็ยินดี |
ชวนพระอนุชาทรงเดช | กับองค์อัคเรศมเหสี |
ยุรยาตรนาดกรจรลี | มาปราสาทมณีรจนา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พระองค์ทรงพิภพดาหา |
จึ่งปรึกษามเหสีโสภา | บัดนี้นัดดายาใจ |
เห็นเศร้าโศกสลดระทดนัก | จะตั้งการลูกรักกระไรได้ |
เอ็นดูหลานขวัญจะบรรลัย | จำจะงดไว้ให้เคลื่อนคลาย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ร่าย
๏ ตรัสพลางทางสั่งเสนี | จงห้ามการพิธีทั้งหลาย |
นัดดาป่วยไข้ไม่สบาย | ให้หายแล้วจึงจะตั้งการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ตำมะหงงรับราชบรรหาร |
ออกมาสั่งทุกพนักงาน | ให้งดการพระราชพิธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | สังคามาระตาเรืองศรี |
เข้าไปทูลระเด่นมนตรี | ว่าบัดนี้ให้ห้ามสยุมพร |
ซึ่งจะทรงโศกศัลย์อยู่นั้นไซร้ | ใช่ที่จะได้ดวงสมร |
จำจะคิดปลิดเปลื้องความร้อน | ผันผ่อนด้วยกลอุบาย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีเฉิดฉาย |
เห็นชอบระบอบบรรยาย | พระค่อยเคลื่อนคลายโศกี |
จึ่งว่าเจ้าว่านี้ชอบนัก | พี่คิดว่าจะลักนางโฉมศรี |
เจ้าจงอาสาพี่ครานี้ | ไปดูที่เถื่อนถ้ำทุกตำบล |
อย่าให้ใกล้ไกลกับดาหา | ให้พ้นแดนไปมาสับสน |
ท่าทางเลี้ยวลับชอบกล | อย่าให้เห็นเป็นต้นทางไป |
เราจะไว้นางที่นั่นก่อน | จึ่งจะย้อนมาแก้สงสัย |
แล้วพี่จะทูลลาคลาไคล | ไปตามอรไทเทวี |
อันห้องคูหาอาศัยนั้น | ให้ทำด้วยสุวรรณมณีศรี |
พวกโยธาจะไปทำถ้ำนี้ | ดูที่ชำนิชำนาญงาน |
ซึ่งจะเป็นนายกองสารวัด | เลือกจัดพลเรือนแลทหาร |
พลพี่หมื่นหนึ่งเห็นพอการ | กับบริวารของเจ้าบรรจบกัน |
ตรัสพลางทางเปลื้องสังวาลทรง | ประทานองค์อนุชาเฉิดฉัน |
พี่ให้เจ้าพลางเป็นรางวัล | การนั้นให้แล้วในเดือนนี้ ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สังคามาระตาเรืองศรี |
คำนับรับสั่งด้วยภักดี | อัญชลีแล้วสนองพระวาจา |
พระอย่าโทมนัสขัดข้อง | ธุระนี้ไว้น้องจะอาสา |
กว่าจะเสร็จสมถวิลจินดา | มิให้เคืองบาทาพระภูมี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีเกษมศรี |
จึงสั่งพี่เลี้ยงผู้ภักดี | จงกำชับโยธีทั้งปวงไป |
ถ้าใครจะไถ่ถามหา | ว่าสังคามาระตาไปไหน |
จงบอกว่าลาคลาไคล | กลับไปรับแพทย์ที่พารา |
ด้วยมีหมอเมืองปักกะมาหงัน | ผู้หนึ่งนั้นยิ่งยวดนักหนา |
นับถือมาแต่พระอัยกา | มนต์ยาเขาขลังกว่าทั้งเมือง |
อันซึ่งโรคาเหมือนข้าเป็น | ได้เคยเห็นแก้ไขปลดเปลื้อง |
รักษารอดมาเนืองเนือง | พี่บอกเขาตามเรื่องอย่างนี้ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พระพี่เลี้ยงประณตบทศรี |
ทูลว่าพระคิดสนิทดี | น่าที่จะสมอารมณ์คิด |
ซึ่งจะมิให้แจ้งแพร่งพราย | ข้าน้อยทั้งหลายจะป้องปิด |
ด้วยแยบยลอุบายให้มิด | มิให้รู้ว่าคิดทำการ |
เชิญพระระงับดับโศกา | สรงเสวยโภชนากระยาหาร |
ทูลแล้วประณตบทมาลย์ | มาเร่งรัดจัดทหารด้วยพลัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ เลือกล้วนชำนาญการช่าง | รอบรู้ต่างต่างตัวขยัน |
เครื่องมือสำหรับมือครบครัน | เร่งรัดจัดสรรไว้พร้อมเพรียง ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ขุนหมื่นนายไพร่ไม่หลีกเลี่ยง |
จัดแจงหาบคอนผ่อนเสบียง | ไม่ทันเที่ยงก็ยกยาตรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สังคามาระตาขนิษฐา |
ยอกรถวายบังคมลา | กลับมาที่อยู่ทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นรุ่งเช้าก็เข้าที่สรง | แต่งองค์ทรงเครื่องเรืองศรี |
มาทรงสินธพพาชี | ออกจากบุรีรีบจร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นไปพบพวกพลที่ล่วงหน้า | ก็พากันเที่ยวมาทุกสิงขร |
เที่ยวดูคูหาพนาดร | แรมนอนค้างคืนอยู่ในไพร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
สระบุหร่ง
๏ มาพบถ้ำหนึ่งรโหฐาน | เชิงชานดูชอบอัชฌาสัย |
ท่าทางคดค้อมอ้อมไป | ศิลาใหญ่ติดตั้งบังลับ |
แลไปไม่เห็นเป็นคูหา | ดังภูผาทั้งแท่งแกล้งปรับ |
ที่ง้ำเงื้อมชะง่อนซ้อนซับ | เลี้ยวลับชอบกลเป็นพ้นไป |
ในคูหานั้นมีชั้นช่อง | เปลวปล่องส่องแสงอุทัยไข |
ศิลาย้อยดังห้อยพู่ไว้ | น้ำใสไหลหยัดอยู่อัตรา |
บ้างงามงอกดังดอกอัจกลับ | ซ้อนสลับลายเล่ห์เลขา |
พ่างพื้นรื่นราบจำเริญตา | มีแผ่นศิลาเป็นบัลลังก์ |
พระเดินลดเลี้ยวเที่ยวชม | ด้วยสมดังในฤทัยหวัง |
แล้วเสด็จหยุดประทับยับยั้ง | พลางสั่งให้ช่างถ่ายอย่างไว้ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ ชุบ
ร่าย
๏ แล้วสั่งพี่เลี้ยงให้กะเกณฑ์ | ถางที่บริเวณป่าใหญ่ |
ตั้งแต่ปากถ้ำกำหนดไว้ | ให้ได้ห้าเส้นเป็นขอบคัน |
แล้วทำรถน้อยน้อยน่ารัก | พอกำลังคนชักผายผัน |
ทั้งมิ่งไม้ปลูกไว้ให้หลายพรรณ | ให้เหมือนหนึ่งสะตาหมันในบุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พระพี่เลี้ยงประณตบทศรี |
รับสั่งแล้วรีบจรลี | ออกมายังที่จะทำงาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เกณฑ์กันปันปักฉลากให้ | นายไพร่พลเรือนแลทหาร |
สารวัดนายหมวดตรวจการ | ให้มีมีดพร้าขวานมาทุกนาย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นายมุลขุนหมื่นทั้งหลาย |
ชิงหน้าที่ซึ่งไม่มีไม่ร้าย | ทั้งบ่าวทั้งนายก็ช่วยกัน |
บ้างถากบ้างถางบ้างตัดรอน | บ้างขุดบ้างค่อนทอนบั่น |
บ้างลิดก้านรานระฉะฟัน | ตอนั้นให้รุมสุมไฟ |
แล้วปราบราบรื่นพื้นทรายแดง | ทั้งที่แจ้งที่ร่มไม้ใหญ่ |
เลือกสรรทุกพรรณมิ่งไม้ | ที่ทรงดอกผลใบอรชร |
มาปลูกลงไว้รายเรียบ | เป็นระเบียบตามเชิงสิงขร |
ร่มชิดมิดแสงทินกร | หอมขจรตลบด้วยมาลี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | สังคามาระตาเรืองศรี |
จึงเสด็จด้วยหมู่เสนี | ไปตรวจตราหน้าที่ทั้งปวง ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ให้ตั้งพลับพลาแลโรงช้าง | ที่หว่างต้นไม้ใหญ่หลวง |
สั่งพี่เลี้ยงเสนาทุกกระทรวง | ให้หาห้วงแนวน้ำลำธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พระพี่เลี้ยงคำนับรับบรรหาร |
ออกมาสั่งสี่ตำรวจพนักงาน | ตามบัญชาการพระภูธร |
ปลูกตำหนักพลับพลาอาศัย | ที่ต้นไทรใต้เงื้อมสิงขร |
ร่มรังบังแสงทินกร | ทรงดอกหอมขจรจับใจ |
แล้วให้ถางทางไคลคลา | ลงไปธารท่าธาราไหล |
ครั้นเสร็จก็กลับเข้าไป | ทูลให้จะแจ้งแห่งคดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สังคามาระตาเรืองศรี |
ฟังพี่เลี้ยงทูลก็ยินดี | จึงเสด็จจรลีดำเนินมา |
เที่ยวดูเร่งรัดจัดการ | คิดอ่านที่จะทำคูหา |
ครั้นบ่ายชายแสงสุริยา | ก็ตรงไปยังท่าท้องธาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
พระทอง
๏ ครั้นถึงพระจึงเสด็จลง | ชุ่มแช่พระองค์สรงสนาน |
กับพี่เลี้ยงเสนีบริวาร | สำราญวิญญาณ์ในวารี |
บ้างสาดซัดปัดมือยื้อยุดกัน | สำรวลสรวลสันต์เกษมศรี |
ผลัดกันเข้าสู้ชลธี | วิ่งหนีล้อมไล่อลวน |
น้ำนั้นดั้นดุพุพุ่ง | เป็นละอองฟองฟุ้งดังฝอยฝน |
บ้างดาดโดนโจนมาแต่เบื้องบน | ไหลหลั่งถั่งล้นลงท้องธาร |
แม้นสองกษัตราได้มาเห็น | ประพาสเล่นแล้วลงสรงสนาน |
จะได้เด็ดโกสุมที่ตูมบาน | ประทานให้แก้วกัลยา |
พระให้เก็บกรวดมณีสีต่างต่าง | จะถวายกับอย่างคูหา |
พลางชวนพี่เลี้ยงแลเสนา | ลีลาเที่ยวประพาสหาดทราย ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เพลง เจรจา
ร่าย
๏ สรงเสร็จเสด็จขึ้นจากธาร | กิดาหยันยกพานภูษาถวาย |
ผลัดสรงทรงสุคนธ์อบอาย | กลิ่นขจายหอมฟุ้งจรุงใจ |
แล้วกลับคืนมาสะตาหมัน | ให้เร่งปลูกพรรณไม้ใหญ่ |
เอาเชือกชักปักปันจังหวะไว้ | แล้วคลาไคลเข้าถ้ำทันที |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เที่ยวดูหมู่ช่างให้ทำการ | ทุกสถานแห่งห้องคิรีศรี |
พี่เลี้ยงกับองค์พระภูมี | บัญชาชี้ติเตียนเปลี่ยนแปลง ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ชมตลาด
๏ อันพื้นผาที่ฝาผนังนั้น | หุ้มสุวรรณจำหลักลายทรายแสง |
เป็นรูปสัตว์อัดเมียงพลิกแพลง | บานทวารก้านแย่งประดับพลอย |
เพดานดาวสุวรรณเป็นชั้นช่อง | ประทีปทองชวาลาระย้าห้อย |
แท่นแก้วกุดั่นบัลลังก์ลอย | มีสายร้อยวิสูตรรูดวง |
ฉากพับลับแลกระจกตั้ง | คั่นฝาศิลาบังเป็นห้องสรง |
เป็นพู่ห้อยย้อยหยัดวารีลง | บ้างพุ่งตรงดังสายสุหร่ายริน |
พระให้ทำอ่างทองรองธารา | บุปผาลอยอบตลบกลิ่น |
ที่ลาดลุ่มให้ทุ่มถมดิน | พื้นดาดเงินสิ้นทั้งถ้ำนั้น |
แม้นสองกษัตราได้มาชม | จะปรีดาภิรมย์เกษมสันต์ |
บรรดาช่างพระให้รางวัล | การนั้นเร่งรัดอยู่อัตรา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
ร่าย
๏ ครั้นพระสุริยาอัสดง | เลี้ยวลับพุ่มพงพฤกษา |
เสด็จจากถ้ำทองรจนา | ขึ้นยังพลับพลาพนาลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
จระเข้หางยาว
๏ กิดาหยันหมอบกรานอยู่งานพัด | พระบรรทมโสมนัสอยู่ในที่ |
บุหลั่นเลื่อนลอยฟ้าไม่ราคี | รัศมีส่องสว่างดังกลางวัน |
พระนิ่งนึกตรึกไตรไปมา | ที่จะแต่งคูหาสะตาหมัน |
ปานนี้พระองค์ทรงธรรม์ | จะนับวันเคร่าคอยทุกเวลา |
ครั้นเวลาล่วงเข้ายามดึกสงัด | สงบเงียบเสียงสัตว์ทุกภาษา |
วังเวงวิเวกวิญญาณ์ | พระนิทราหลับไปในราตรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ ตระ
ร่าย
๏ บัดนั้น | ฝ่ายเจ้าพนักงานทุกหน้าที่ |
เร่งกันทำการเป็นโกลี | ทั้งในราตรีทิวาวัน |
ที่แต่งถ้ำก็ทำไม่หยุดพัก | ฉลุฉลักลายเลิศเฉิดฉัน |
ที่ปลูกต้นไม้ในสวนนั้น | เกณฑ์กันรดน้ำวุ่นวายไป |
ที่ต้นไหนตายก็ให้ผลัด | เร่งรัดกันหามาปลูกใหม่ |
ทำทั้งระแทะทองอำไพ | ไว้ในสวนเสร็จดังบัญชา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
ช้า
๏ เมื่อนั้น | สังคามาระตาขนิษฐา |
ไสยาสน์เหนืออาสน์อลงการ์ | ในสุวรรณพลับพลารูจี |
ครั้นดาวเดือนเลื่อนลับอับแสง | อรุณแรงเรื่อเรืองรัศมี |
บรรทมตื่นฟื้นฟังดนตรี | ประโคมยามอึงมี่นี่นัน |
ประสานเสียงสำเนียงดุเหว่าแว่ว | ไก่แก้วกางปีกกระพือขัน |
บุหรงร้องพร้องเพรียกไพรวัน | ตื่นตาหากันทั้งดงดาน |
น้ำค้างพร่างพรมพฤกษา | เยือกเย็นกายาโยธาหาญ |
พระพายรำเพยพัดพาน | พากลิ่นสุมามาลย์ตลบมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ พระเสด็จจากแท่นบรรจง | สระสรงทรงเครื่องโอ่อ่า |
กรายกรกุมกริชฤทธา | ออกนั่งยังหน้าพลับพลาชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | พระพี่เลี้ยงบังคมประนมไหว้ |
ทูลว่าอันการทั้งปวงไซร้ | แล้วเสร็จโดยในพระบัญชา |
เชิญเสด็จคืนเข้านคเรศ | พระทรงเดชจะละห้อยคอยหา |
แต่ยกออกจากพารา | กำหนดมาครบเดือนในวันนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สังคามาระตาเรืองศรี |
จึงสั่งพี่เลี้ยงผู้ภักดี | พี่จงไปเก็บใบไม้มา |
สุดแต่กินได้แล้วไม่เลือก | ทั้งรากทั้งเปลือกพฤกษา |
ประสมใส่ในหม้อให้เหมือนยา | คอหม้อปิดตราประทับไว้ |
ลงยันต์ประจำทั้งสี่ทิศ | ตองปิดแล้วไขว่เฉลวใส่ |
ธำมรงค์ผูกคอสามใบ | ตีค่ายาไว้ห้าชั่งทอง |
แล้วพี่จงแบ่งโยธา | ไว้พิทักษ์รักษาคูหาห้อง |
ภายนอกให้ระวังนั่งกอง | อยู่ป้องกันภัยในไพรวัน |
บรรดาเหล่าเฝ้าสวนให้พรวนดิน | พฤกษาทั้งสิ้นในสวนขวัญ |
แม้นตายจะเอาโทษทัณฑ์ | จงกำชับกันทั้งไพร่นาย |
อยาให้ใครเที่ยวไปมา | พูดจากับคนทั้งหลาย |
การนี้อย่าให้แพร่งพราย | รู้เงาเงื่อนสายสิ่งใด ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พระพี่เลี้ยงผู้มีอัชฌาสัย |
รับสั่งพระอนุชาชาญชัย | บังคมไหว้แล้วลามาทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึงเกณฑ์พหลโยธา | พันหนึ่งอยู่รักษาคิรีศรี |
แล้วตั้งนายหมวดล้วนตัวดี | สำหรับที่บัญชากิจการ |
สั่งทั่วตัวนายทุกคน | ให้กำชับพวกพลทวยหาญ |
ตรวจตรารักษาอุทยาน | โดยดังพจมานพระน้องยา |
แล้วจัดพหลโยธี | ตามที่ตำแหน่งซ้ายขวา |
สำหรับจะกลับเข้าพารา | เสร็จในเวลาทิวาวัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | สังคามาระตาเฉิดฉัน |
ครั้นบ่ายชายแสงสุริยัน | พรั่งพร้อมพลขันธ์โยธี |
จึงเข้าที่สระสรงทรงเครื่อง | อร่ามเรืองด้วยดวงมณีศรี |
ขึ้นทรงสินธพพาชี | ออกจากคิรีรีบมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ พอสายัณห์ก็บรรลุถึง | ยังซึ่งพระนครดาหา |
ลงจากพาชีลีลา | ตรงมาที่อยู่พระภูธร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ สั่งให้พี่เลี้ยงแบกพานยา | นำหน้าภูวไนยไปก่อน |
แล้วพระจึงค่อยบทจร | เข้าไปชลีกรกับบาทา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์พงศ์อสัญแดหวา |
ครั้นเห็นสังคามาระตา | พระแย้มยิ้มปรีดาปราศรัยไป |
น้องรักของพี่ผู้ร่วมจิต | ยังเสร็จสมคิดหรือไฉน |
เจ้าไปดีหรือมีเหตุภัย | พี่ตั้งใจคอยท่าทุกนาที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สังคามาระตาเรืองศรี |
นบนิ้วอภิวันท์อัญชลี | สนองความตามมีพระบัญชา |
พระอย่าทุกข์ทนหม่นไหม้ | ทีนี้ได้สมดังปรารถนา |
ทูลพลางถวายอย่างที่เขียนมา | ชี้แจงทางท่าทุกประการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีใจหาญ |
ชื่นชมภิรมย์สำราญ | ซาบซ่านโสมนัสในหัททัย |
ดังระเด่นสังคามาระตา | เอาอำมฤตฟ้ามารดให้ |
ที่เจ็บป่วยก็คลายหายไป | พระลุกนั่งขึ้นได้ด้วยยินดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ประสันตาประณตบทศรี |
ทูลว่ายาต้มขนานนี้ | ขยันดีมีคุณพ้นกำลัง |
ยังมิทันเสวยสักเวลา | แต่ยกหม้อยาเข้ามาตั้ง |
ก็เหือดหายคลายโรคที่รึงรัง | เสด็จนั่งขึ้นได้ด้วยง่ายดาย |
ดูเหมือนหนึ่งไม่ประชวรนัก | ไม่พักพยาบาลก็พลันหาย |
ชีวิตเราทั้งนี้จะรอดตาย | ด้วยกลิ่นอายยาทิพย์พระน้องยา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์เทวัญหรรษา |
ยิ้มแล้วจึงกล่าววาจา | แต่ประสันตานิ่งมาช้านาน |
เห็นจะอัดอั้นใจไหม้หมก | ดังอกจะแยกแตกฉาน |
พึ่งได้คายพิษค่อยสำราญ | คนอะไรสามานย์เช่นนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สังคามาระตาเรืองศรี |
จึงทูลไปด้วยใจภักดี | พระรักษาอินทรีย์ให้เคลื่อนคลาย |
แล้วเสด็จขึ้นเฝ้าภูวไนย | ทูลให้ตั้งการนางโฉมฉาย |
เห็นจะสิ้นถวิลยินร้าย | อย่าให้คนทั้งหลายสงกา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์เทวัญอสัญหยา |
แต่ประชวรอยู่กว่าเดือนมา | พระมิได้ลีลาไปแห่งใด |
อันข้อพระบาทนั้นปลกเปลี้ย | เพลียไปไม่ย่างดำเนินได้ |
จึงสั่งให้ปลูกราวขึ้นไว้ | พระยุดราวเดินไปเดินมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โล้ เจรจา
๏ ทั้งหยูกยาอยู่งานนวดฟั้น | กลางคืนกลางวันเร่งรักษา |
ทั้งสรงทั้งเสวยโภชนา | สักห้าหกวันก็บรรเทา |
ยังไม่ปรกติเหมือนแต่หลัง | พระสั่งจะเสด็จขึ้นไปเฝ้า |
จึงทรงอุสงหงันอันเพริศเพรา | เสด็จเข้าไปยังวังใน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงหยุดเสลี่ยงลง | พระเดินดำรงองค์มิใคร่ไหว |
เข้าในพระโรงคัลทันใด | บังคมไหว้สองกษัตริย์ธิบดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวกุเรปันเรืองศรี |
เห็นพระโอรสร่วมชีวี | ภูมีปราศรัยด้วยความรัก |
พ่อเห็นโรคาอาการ | ครั้งนี้เจ้าพานจะป่วยหนัก |
ซูบผอมวิปริตผิดพักตร์ | ไม่เห็นเลยว่าจักหายพลัน |
เป็นเดชะบุญเจ้าหนักหนา | ฟังยาเมืองปักกะมาหงัน |
พระสั่งให้ประทานรางวัล | ยาเขากวดขันเป็นพ้นไป |
ลูกยาอย่าเพ่อขึ้นมาก่อน | โรคร้อนจะกำเริบมาใหม่ |
สั่งเสร็จเสด็จคลาไคล | เข้าในห้องที่ศรีไสยา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | พระโฉมยงวงศ์อสัญแดหวา |
เสด็จจากพระโรงรัตนา | กลับมาที่อยู่พระภูมี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ แต่ไม่ขึ้นเฝ้าเป็นหลายวัน | พระทรงธรรม์คะนึงถึงโฉมศรี |
ได้ชมแต่สไบบางต่างเทวี | ค่อยคลายคลี่อาวรณ์ร้อนฤทัย |
พระตรึกตรองโดยอุบายสายสน | เล่ห์กลที่จะลักเห็นจักได้ |
จึงสั่งให้ผูกอาชาไนย | ทรงไปเฝ้าสองกษัตรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงพระโรงรัตน์รูจี | เสนีเฝ้าแหนอยู่แน่นหนา |
พระเข้าไปบังคมคัลวันทา | แลดูท้าวดาหาฤทธิไกร |
พระองค์ได้เคืองบทเรศ | ต้องงดการเป็นเหตุเพราะหลานไข้ |
บัดนี้ค่อยคลายสบายใจ | ขอให้หาฤกษ์ตั้งการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ศรีปัตหราได้ฟังสาร |
ยิ้มแล้วจึ่งกล่าวพจมาน | อันอะหนะว่าขานทั้งนี้ |
จะจริงจังดังนั้นหรือฉันใด | ครั้นจะให้ตั้งการภิเษกศรี |
แล้วโรคาจะกลับยายี | จะต้องเลิกพิธีเป็นสองครา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีโอรสา |
ได้ฟังพระราชบัญชา | ก้มหน้ายิ้มแล้วก็ทูลไป |
บัดนี้กรุงกษัตริย์ทุกเขตขัณฑ์ | มาพร้อมกันจะทำการใหญ่ |
จะขัดสนอาหารกันดารไป | ไพร่ฟ้าจะได้เดือดร้อน |
อันซึ่งโรคนั้นค่อยบรรเทา | พระปิ่นเกล้าจงคิดผันผ่อน |
ขอให้ตั้งการสยุมพร | เสร็จแล้วจะได้จรไปพารา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | กรุงกษัตริย์ซึ่งเฝ้าอยู่พร้อมหน้า |
ทั้งอำมาตย์หมู่ราชเสนา | ฟังว่าก็อัศจรรย์ใจ |
ด้วยถ้อยคำระเด่นมนตรี | เห็นผิดท่วงทีน่าสงสัย |
ต่างฉงนสนเท่ห์เป็นพ้นไป | เหตุไฉนจึ่งทูลดังนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวดาหาสุริย์วงศ์เรืองศรี |
จึงตรัสสั่งโหราธิบดี | ให้หาฤกษ์พิธีวิวาห์การ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ขุนโหรรับราชบรรหาร |
คูณควณตามทำเนียบเทียบทาน | โดยวารศุภฤกษ์เวลา |
ด้วยระตูใช่คู่นางโฉมยง | เผอิญองค์ปะตาระกาหลา |
ดลใจให้ขุนโหรา | ฤกษ์ร้ายทายว่าเป็นวันดี |
แล้วประนมก้มเกล้ากราบทูล | นเรนทร์สูรปิ่นภพเรืองศรี |
อันซึ่งฤกษ์ราชพิธี | ยังสามราตรีดีนัก ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวดาหาสุริย์วงศ์ทรงศักดิ์ |
จึงสั่งให้ตั้งการลูกรัก | ตามลักษณะฤกษ์เวลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ตำมะหงงรับสั่งใส่เกศา |
ออกจากพระโรงรจนา | มาสั่งตามบัญชาพระภูมี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีเรืองศรี |
จึงทูลสองกษัตริย์ธิบดี | พรุ่งนี้ขอถวายบังคมลา |
ไปตั้งทัพแรมอยู่ในไพร | ล่าไล่มฤคแลปักษา |
มาถวายกว่าจะเสร็จการวิวาห์ | จึ่งจะกลับเข้ามายังธานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองกษัตริย์สุริย์วงศ์เรืองศรี |
คิดเห็นว่าระเด่นมนตรี | จะแกล้งหนีไปป่าให้พาใจ |
พระมิได้ทานทัดตรัสห้าม | เจ้าจะไปก็ตามอัชฌาสัย |
แต่อย่าควบขับอาชาไนย | ให้แต่ทหารไล่มฤคี |
สั่งเสร็จเสด็จเข้ามา | ยังปราสาทรัตนาเรืองศรี |
ทุกกรุงกษัตริย์ก็ยินดี | อัญชลีแล้วกลับไปพลับพลา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีก็หรรษา |
พระเสด็จยุรยาตรคลาดคลา | กลับมาเข้าห้องบรรทมใน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จึ่งเรียกระเด่นทั้งสองศรี | กับพี่เลี้ยงทั้งสี่เข้ามาใกล้ |
จึ่งแจ้งความตามที่ดำริไว้ | เราจะไปอยู่ยังอรัญวา |
เมื่อวันจะเข้าลักนางนั้น | จงเกณฑ์พวกพลขันธ์อาสา |
ให้ครบสามหมื่นโดยตรา | มีเครื่องสรรพาวุธทั้งปวง |
ไปทางกะหมังกุหนิงก่อน | แล้วย้อนมาล้อมเมืองหลวง |
ให้หมู่ทหารทุกกระทรวง | ร้องเป็นคำลวงชาวบุรี |
ถ้าได้ทีให้ตีกลองศึก | โห่ร้องก้องกึกอึงมี่ |
ระดมยิงปืนไฟเป็นโกลี | ทำทีดังจะเข้าชิงชัย |
แล้วจึ่งให้ร้องก้องประกาศ | อย่าให้ราษฎรสงสัย |
ดังไพรีที่แตกหนีไป | ผูกใจมาทำอหังการ์ |
อันตัวระเด่นดาหยน | จงคุมพวกพลอาสา |
อยู่ทำการใหญ่ในพารา | พี่อย่าเพ่อตามน้องออกไปไพร |
อย่าเดินมาเดินไปให้ใครเห็น | ทำเป็นพิกลดังคนไข้ |
ครั้นถึงวันสัญญาเมื่อไร | จึ่งรายพลไว้ทุกโรงงาน |
ถ้าได้ยินเสียงกลองแลเสียงปืน | ชาวเมืองก็จะตื่นแตกฉาน |
แม้นเห็นพลกล่นเกลื่อนไปจับการ | ให้ทหารเราปลอมเข้าจุดไฟ |
สิ้นทุกโรงงานมหรสพ | แล้วหลีกหลบอย่าให้เขาจับได้ |
พี่เลือกในที่เคยไว้ใจ | กำชับกันให้จงทุกคน |
ข้าจะแต่งตัวปลอมเป็นจรกา | เข้าหานางเมื่อเวลาสับสน |
ว่าจะพาหนีไฟไปให้พ้น | พี่จะเห็นเล่ห์กลฉันใดดี ฯ |
ฯ ๒๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | สองระเด่นสุริย์วงศ์เรืองศรี |
จึ่งทูลว่าอันพระดำรินี้ | ข้าน้อยเห็นดีทุกประการ |
จะเสด็จปัจฉิมยามเวลา | จะเร่งรัดโยธาทวยหาญ |
ทูลแล้วประณตบทมาลย์ | ออกมาตรวจการพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ เจรจา
ช้างประสานงา
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีเฉิดฉัน |
ในจิตให้คิดผูกพัน | ที่จะไปอรัญวาลัย |
แต่ปฐมยามก็ไสยาสน์ | สำราญราชภิรมย์ผ่องใส |
ตรึกตราอยู่ที่จะคลาไคล | ไม่หลับเลยจนได้เวลากาล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ร่าย
๏ ครั้นนาฬิกาย่ำยามสอง | สนั่นเสียงพาทย์ฆ้องประโคมขาน |
เสด็จจากแท่นรัตน์ชัชวาล | เข้าที่สรงสนานสาคร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ทรงขันสุวรรณตักวารีรด | น้ำดอกไม้ใสสดเกสร |
เสด็จทรงสุคนธ์กลิ่นขจร | สนับเพลาเชิงงอนงามทรง |
ภูษาลายชายช่อสามชั้น | เขียนสุวรรณไว้วางหางหงส์ |
ห้อยหน้าตาดทองฉลององค์ | เจียระบาดบรรจงครุยแครง |
ทองกรพาหุรัดตรัสเตร็จ | สังวาลเพชรประดับระยับแสง |
ทับทรวงดวงกุดั่นจินดาแดง | ตาบทิศพิศแพลงงามพลอย |
ทรงธำมรงค์เพชรมงกุฎแก้ว | กรรเจียกจอนพรายแพร้วอุบะห้อย |
กุมกริชฤทธิไกรใช่น้อย | แล้วคลาดคล้อยมาขึ้นมโนมัย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
โทน
๏ ม้าเอยม้าทรง | สินธพชาติอาจองสูงใหญ่ |
เยื้องอกยกเท้าว่องไว | ดังไกรสรสีหราชจรลี |
ม้วนข้อย่อท้ายเป็นทีร่ำ | ถูกน้อยซอยย่ำอยู่กับที่ |
ผูกเครื่องเรืองรัตน์รูจี | ห้อยพู่จามรีพรายพรรณ |
อันม้าแซงนั้นพวกอาสา | ม้าทหารแห่หน้าแข็งขัน |
ม้าพี่เลี้ยงเคียงม้าพระทรงธรรม์ | แล้วม้ากิดาหยันตามไป |
สังคามาระตาเป็นม้านำ | ทางถ้ำแดนดงไม่หลงใหล |
หน้าหลังคั่งคนคบไฟ | ส่องสว่างมาในไพรพง ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
สามไม้
๏ พระวิโยคโศกเศร้าเปล่าเปลี่ยว | ดังมาเดียวลิ่วโลดตะลึงหลง |
จนสายถือที่พระหัตถ์ก็พลัดลง | จึงค่อยคงคืนสมประดีดาล |
กระจ่างแจ้งแสงเทียนโคมส่อง | เหมือนเมื่อน้องเสี่ยงเทียนอธิษฐาน |
ลมพัดเพลิงดับอนธการ | ประมาณเหมือนต้อนค้างคาวดับไฟ |
กลิ่นลำดวนหวนหอมเหมือนกลิ่นเจ้า | ที่คลึงเคล้าชมชิดยังคิดได้ |
เดือนดับลับเมฆมืดไป | เหมือนมืดในวิหารบนคิรี |
แว่วเสียงสำเนียงดุเหว่าร้อง | เหมือนเสียงน้องร้องทูลมะเดหวี |
วังเวงใจในเวลาราตรี | จนแสงทองส่องศรีสว่างฟ้า ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ม้าย่อง
๏ ไก่ขันกระชั้นฉ่ำเฉื่อย | บุหรงเรื่อยร้องรับจับพฤกษา |
เห็นนางนวลนึกนวลวนิดา | นวลพักตราน้องละอองนวล |
เบญจวรรณเหมือนวันเมื่อเข้าเฝ้า | ได้เห็นเจ้าต้องใจฤทัยหวน |
นกกะแลแลลับพี่ขับครวญ | แลตามทรามสงวนจนลับตา |
กระลุมพูจับเจ่าที่เขาใหญ่ | เหมือนเมื่อไปใช้บนบนภูผา |
แอ่นเคล้าเคล้าคู่บินมา | เหมือนเคล้าเคียงกัลยาประคองพาน |
จากพรากจากรังเร่ร้อง | เหมือนจากน้องมาในไพรสาณฑ์ |
ครวญคะนึงถึงยอดเยาวมาลย์ | พลางเร่งทวยหาญคลาไคล ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
ร่าย
๏ จนสายแสงสุริย์ศรีรวีวร | ไม่หยุดหย่อนรีบมาในป่าใหญ่ |
จึงถามพระอนุชาผู้ร่วมใจ | ยังเท่าไรจะถึงซึ่งคิรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สังคามาระตาเรืองศรี |
จึงบังคมทูลพลันทันที | ยังโยชน์หนึ่งจะถึงที่ทำไว้ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระทรงโฉมประโลมพิสมัย |
ได้ฟังพระอนุชายาใจ | ก็ขับอาชาไนยรีบจร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ยังทางพอเต็มพักม้า | จะไปปากคูหาสิงขร |
ถึงป่าชัฏชายพงดงดอน | สั่งให้หยุดนิกรโยธี |
แล้วจึงกล่าวรสพจนารถ | สั่งพี่เลี้ยงราชทั้งสี่ |
ที่นี่เห็นชอบกลดี | จงตั้งที่ประทับพลับพลาชัย |
จะอาศัยอยู่นี่เป็นที่มั่น | พี่เกณฑ์กันให้เอาใจใส่ |
เมื่อจะไปยังถ้ำที่ทำไว้ | เราจะไปแต่สี่สิบม้า ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พระพี่เลี้ยงประนมก้มเกศา |
รับสั่งภูวไนยแล้วไคลคลา | ออกมานั่งใต้ต้นไทรพลัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จึงสั่งนายกองทั้งสี่ | เร่งรัดบัดนี้ขมีขมัน |
ตั้งตำหนักพลับพลาในอารัญ | ให้แล้วทันบัญชาอย่าช้าการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | นายกองตัวดีทั้งสี่ด้าน |
รับคำพี่เลี้ยงแล้วลนลาน | มาเร่งกันทำการวุ่นไป |
บ้างถากเสาเกลาไม้กรองคา | ปลูกตำหนักพลับพลาที่อาศัย |
ทำเฉลียงเคียงติดกับต้นไม้ | ระบัดใบบังแสงสุริยัน |
หลังคาดาดแดงแผงเพดาน | ผูกม่านทอดที่มู่ลี่กั้น |
ที่สรงที่เสวยเกยสุวรรณ | ทิมที่กิดาหยันเสนี |
มีเพิงพลเรียงรอบขอบค่าย | โรงรายริมทางหว่างวิถี |
แทบใกล้ธารท่าวารี | เสร็จโดยดังมีพระบัญชา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | พระพี่เลี้ยงผู้มียศถา |
ครั้นสำเร็จเสร็จสรรพที่พลับพลา | แล้วสั่งเสนาข้าราชการ |
จงกะเกณฑ์กันทุกหมู่หมวด | ให้ตรวจตรารี้พลทวยหาญ |
วางกองป้องกันภัยพาล | ตั้งด่านร้านเพลิงรายไป |
ให้มีนายหมู่หมวดกวดขัน | ช่วยกันระวังเอาใจใส่ |
ไม่เหมือนครั้งก่อนอย่านอนใจ | จะพากันบรรลัยด้วยอาญา |
แล้วผูกพาชีพระที่นั่ง | พร้อมทั้งม้าทหารอาสา |
กำหนดคนขี่สี่สิบม้า | โดยดังบัญชาพระทรงธรรม์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์เทวากระยาหงัน |
ครั้นบ่ายชายแสงสุริยัน | จรจรัลมาทรงพาชี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึงสั่งสังคามาระตา | ให้นำมรคาพนาศรี |
เดินดัดลัดดงพงพี | จรลีข้ามธารด่านดอน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ พอเต็มพักม้าก็มาถึง | ป่าซึ่งใกล้เขตสิงขร |
พฤกษาร่มแสงทินกร | ดอกผลอรชรจำเริญใจ |
พระสั่งให้ม้าไปทีละม้า | บุกชัฏลัดมาในป่าใหญ่ |
แกล้งเดินตามเนินศิลาไป | มิให้เห็นรอยพาชี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ มาถึงซึ่งต้นไทรทอง | ปากคูหาห้องคิรีศรี |
สังคามาระตาผู้ภักดี | ทูลชี้ทางถ้ำนำไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
สระบุหร่ง
๏ พระเสด็จลดเลี้ยวเที่ยวชม | มีมโนภิรมย์แจ่มใส |
เปลวปล่องท้องถ้ำอำไพ | พื้นลาดดาดไปด้วยเงินงาม |
เพดานดาราระย้าย้อย | ทองทับประดับพลอยเรืองอร่าม |
อัจกลับแก้วมณีอัคคีตาม | สว่างวามแวววับจับจินดา |
มีชะวากวุ้งเวิ้งเป็นเชิงชั้น | ล้วนทองคำทำคั่นกั้นฝา |
ฉลักรูปสิงสัตว์นานา | ดุนเด่นออกมาเหมือนจริง |
ทั้งเนื้อนกดังเป็นเห็นประหลาด | พฤกษาชาติเหมือนจะไหวไกวกิ่ง |
อันรูปเสือสีห์หมีกระทิง | เหมือนจะย่างวางวิ่งเวียนวง ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ชมตลาด
๏ ใบบานทวารทุกแห่งห้อง | เป็นเครือทองลายกระหนกวิหคหงส์ |
แท่นสุวรรณไสยาสน์อาสน์เอนองค์ | ที่เสวยที่สรงก็แต่งไว้ |
เข้าในห้องแก้วกำบังลับ | มีฉากพับม่านทองสองไข |
ทำประตูสองชั้นลั่นกลองใน | เคลือบไม้ให้เหมือนสีศิลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ร่าย
๏ ครั้นหับใบบานเข้าวินิจ | ดูสนิทไม่เห็นเส้นเลขา |
พระชื่นชมสมถวิลจินดา | ดังได้เห็นหน้านางทรามวัย |
ซึ่งทรงโศกแสนละห้อยสร้อยเศร้า | ค่อยบรรเทาทุกข์ทนหม่นไหม้ |
แล้วกุมกรอนุชาคลาไคล | ประพาสไปทุกห้องช่องคิรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
๏ ชมเสร็จพระเสด็จยุรยาตร | องอาจดังไกรสรสีห์ |
ออกจากถ้ำทองห้องมณี | ไปสวนมาลีที่แต่งไว้ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ มาถึงซึ่งเพิงภูผา | ร่มรุกขฉายาน่าอาศัย |
ถิ่นฐานสะอ้านสะอาดไป | ปลูกพรรณมิ่งไม้เรียงรัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ชมดง
๏ พระนึกคะนึงนางพลางประพาส | รุกขชาติที่ในสะตาหมัน |
พิกุลกรรณิการ์สารพัน | ดอกหล่นปนกันอยู่กลางทราย |
สาวหยุดโยทะการะย้าย้อย | อนุชาพลางค่อยสอยถวาย |
พระทรงทัดตรัสชวนพระน้องชาย | มาชมไม้ให้สบายด้วยพี่ยา |
เหลือบเห็นดอกปะหนันสำคัญคิด | เหมือนวันที่ลิขิตด้วยนขา |
เห็นดอกไม้ไหลลอยในคงคา | เหมือนเมื่อลอยมาลาให้เทวี |
เห็นเล็บนางเหมือนอย่างเล็บน้อง | พี่ประคองเนื้อนวลเจ้าข่วนพี่ |
เห็นโศกสาขาริมวารี | เหมือนทรงโศกโศกีระกำใจ |
บรรดาคณาไม้ทั้งนั้น | หลายอย่างต่างพรรณล้วนปลูกใหม่ |
ผลิดอกออกผลทุกต้นไป | ภูวไนยเที่ยวชมสำราญ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ร่าย
๏ แล้วหยุดนั่งเนินผาศิลาใหญ่ | ภายใต้ร่มพะยอมหอมหวาน |
พระพายพัดพาสุมามาลย์ | กลิ่นฟุ้งละลุงลานหฤทัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | สังคามาระตาอัชฌาสัย |
จึงบังคมทูลภูวไนย | เชิญไปสรงสนานเชิงคิรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีเรืองศรี |
ชื่นชมสมถวิลยินดี | ภูมีก็เสด็จยาตรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ลงสรงมอญ
๏ ครั้นถึงจึงลงสรงในท้องธาร | สรงสนานน้ำพุที่เงื้อมผา |
ย้อยหยัดดังสหัสธารา | ไหลออกจากศิลาซ่าเซ็น |
พร้อยพร้อยต้องการดังสายฝน | เมื่อไรนฤมลจะมาเห็น |
จะแสนสุขทุกวันไม่วายเว้น | ลงเล่นชลธารสำราญใจ |
ไหนจะชมคณามัจฉาชาติ | ล้วนประหลาดว่ายคล่ำในน้ำใส |
แล้วจะเก็บกรวดแก้วแววไว | จะเที่ยวไปประพาสหาดทรายทอง |
อันมิ่งไม้ไทรโศกที่ริมธาร | ร่มแสงสุริย์ฉานตรัสส่อง |
เจ้าจะเก็บบุหงามาร้อยกรอง | แล้วจะร้องลำนำสำราญ |
ครวญพลางทางชวนอนุชา | กับพี่เลี้ยงเสนาทวยหาญ |
แหวกว่ายเวียนวนชลธาร | พลางชำระสระสนานกายา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ ลงสรง
ร่าย
๏ สรงเสร็จพระเสด็จทรงเครื่อง | พอตะวันบ่ายเยื้องยอดพฤกษา |
ชวนระเด่นสังคามาระตา | มาทรงมิ่งม้ามโนมัย |
บุกชัฏลัดไพรจรลี | จะมีมรคาก็หาไม่ |
สำคัญมั่นหมายแต่ชายไม้ | ลัดไปที่ประทับพลับพลา |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ จึงสั่งพวกทหารอัสดร | พรุ่งนี้จงจรไปไล่หา |
จับหมู่บุหรงมฤคา | แดนพารากะหมังกุหนิงนั้น |
มาส่งจงเป็นนิจไป | ยังพิชัยดาหาเขตขัณฑ์ |
สั่งเสร็จก็เสด็จจรจรัล | ขึ้นยังสุวรรณพลับพลาทอง ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
พญาโศก
๏ ทอดองค์ลงกับที่ไสยาสน์ | ร้อนราชฤทัยหม่นหมอง |
พระเผยม่านสุวรรณอันเรืองรอง | ผันพักตร์สู่ส่องแสงเดือน |
ทรงกลดหมดเมฆบริสุทธิ์ | นวลละอองน้องนุชละม้ายเหมือน |
ยิ่งคิดติดต้องอารมณ์เตือน | แสนสวาทไม่เคลื่อนคลายคะนึง |
ยอกรก่ายพาดนลาฏไว้ | หวั่นหวั่นฤทัยถวิลถึง |
ดังศรศักดิ์ปักทรวงตราตรึง | ปิ้มประหนึ่งจะสิ้นสมประดี |
ลมหวนอวลกลิ่นสุมาลย์มา | จับกับกลิ่นผ้าสไบศรี |
หอมตลบอบซาบอินทรีย์ | เฝ้าแต่ดมห่มคลี่คลุมองค์ |
โอ้ดวงยิหวาของพี่เอ๋ย | เมื่อไรเลยจะได้ชมสมประสงค์ |
ร่านร้อนรัญจวนถึงนวลอนงค์ | รำพึงตะลึงหลงจนหลับไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ ตระ
ร่าย
๏ บรรทมตื่นฟื้นฟังบุหรงร้อง | จวนแจ้งแสงทองอุทัยไข |
เสนาะเสียงจักจั่นสนั่นไพร | เรไรไพเราะดังดนตรี |
พระเสด็จจากแท่นบรรจถรณ์ | ร่านร้อนฤทัยถึงโฉมศรี |
สระสรงทรงเครื่องเรืองรูจี | แล้วออกหมู่เสนีรี้พล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ จึงมีพระราชบัญชา | สั่งกะระตาหลาเป็นต้น |
พี่ผลัดเวรเกณฑ์กันทั้งสี่คน | คุมหมู่พหลโยธา |
ให้ขนมฤคีแลบุหรง | รีบตรงเข้าไปยังดาหา |
ถวายองค์พระผู้ทรงนครา | สักห้าหกวันเป็นนิจไป |
แล้วจึงทูลองค์พระทรงเดช | ว่าสิ้นเนื้อในประเทศที่ใกล้ |
จะต้องเที่ยวไล่ล่าถึงป่าไกล | จะงดไปสักสามราตรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พระพี่เลี้ยงรับสั่งใส่เกศี |
ให้ขนบุหรงมฤคี | รีบไปตามมีพระบัญชา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
https://vajirayana.org/system/files/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B2_264950.pdf