คำอธิบาย ว่าด้วยบทละคร อิเหนาฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ

ในบรรดาบทละครรำที่คนชอบ เรื่องอื่นเห็นจะไม่เสมอด้วยเรื่องอิเหนาพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ วรรณคดีสโมสรก็ได้ตัดสินเมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๕๙ ว่าเป็นยอดของบทละครรำทั้งสิ้น เพราะเป็นหนังสือซึ่งแต่งดีพร้อมทั้งความ ทั้งกลอน ทั้งกระบวนที่จะเล่นละครประกอบกันทุกสถาน ที่จริงบรรดาบทละครพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ ก็ดีพร้อมเช่นนั้นทุกเรื่อง แต่เรื่องอื่นทรงพระราชนิพนธ์เฉพาะแต่ตอนที่จะเล่นละครหลวง มิได้ทรงทั้งเรื่องเหมือนอย่างเรื่องอิเหนาจึงผิดกัน

หนังสือบทละครอิเหนา พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ นอกจากเป็นหนังสือดีในทางวรรณคดีดังกล่าวมา ยังเป็นหนังสือดีในทางที่จะศึกษาประเพณีไทยแต่โบราณด้วยอีกสถานหนึ่ง ด้วยประเพณีต่างๆ ที่มีในเรื่องอินเหนา ดังเช่นประเพณีสมโภชลูกหลวงประสูติใหม่ (เมื่ออิเหนาเกิด) ก็ดี ประเพณีการพระเมรุ (ที่เมืองหมันหยา) ก็ดี ประเพณีรับแขกเมือง (เมื่อท้าวดาหารับทูตจรกา) ก็ดี ประเพณีแห่สนานใหญ่ (ที่เมืองกาหลัง) ก็ดี ประเพณีโสกันต์ (สียะตรา) ก็ดี ทรงพระราชนิพนธ์ตรงตามตำราราชประเพณีทุกอย่าง แก้ไขแต่ตรงที่ขัดกับเนื้อเรื่อง ดังเช่นในที่พระภิกษุสงฆ์เปลี่ยนเป็นฤๅษีเป็นต้น ถึงที่ว่าด้วยขนบธรรมเนียมในบ้านเมือง ตลอดจนว่าด้วยพื้นอัธยาศัยผู้คนก็ทรงตรงตามลักษณะการที่เป็นอยู่ในสมัยซึ่งทรงพระราชนิพนธ์นั้นเป็นพื้น เว้นแต่ที่ขัดกับเนื้อเรื่องจึงแก้เป็นอย่างอื่น นักเรียนผู้แสวงหาความรู้ประเพณีไทยแต่โบราณ อาจจะศึกษาหาความรู้ได้ในบทละครอิเหนานี้เป็นอันมาก เพราะฉะนั้นจึงนับว่าวิเศษกว่าบทละครรำเรื่องอื่นที่เป็นตำราด้วยอีกอย่างหนึ่ง

แต่บทละครอิเหนาซึ่งเรียกรวมกันทั้ง ๓๘ เล่มสมุดไทยว่าพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ นั้น ที่จริงหาได้เป็นพระราชนิพนธ์ทั้งหมดไม่ มีคำผู้หลักผู้ใหญ่บอกเล่าสืบมาว่า พระราชนิพนธ์ทรงไว้เพียงสึกชี คือเพียงจบเล่ม ๒๙ สมุดไทยที่พิมพ์ในฉบับนี้เท่านั้น ต่อไปอีก ๙ เล่มสมุดไทย ว่าเป็นของผู้อื่นแต่งเพิ่มเติมต่อเมื่อภายหลัง แต่ใครเป็นผู้แต่ง ข้อนี้กล่าวกันเป็นหลายอย่างไม่มีหลักฐานที่จะสอบสวนให้รู้ได้เป็นแน่นอน ได้แต่สังเกตสำนวนหนังสือ เข้าใจว่าเป็นของต่อตอน ๑ แล้วมีผู้แทรกเมื่อต่อแล้วอีก ๓ ตอน

ความตอนที่ต่อนั้น คือ พออิเหนาสึกชีแล้ว สียะตราก็มีสารไปทูลท้าวกุเรปันท้าวดาหา กษัตริย์ทั้ง ๒ พระนครยกมาเมืองกาหลังให้ทำการอภิเษก แล้วกษัตริย์ต่างพระนครต่างก็ยกแยกกันกลับไปบ้านเมืองเป็นจบเรื่องเพียงนั้น ถ้าว่าตามหนังสือในฉบับที่พิมพ์นี้ คือสมุดไทยเล่ม ๓๒ เล่ม ๓๓ เล่ม ๓๔ เล่ม ๓๗ รวม ๔ เล่มนี้ เข้าใจว่าเป็นเรื่องที่แต่งต่อพระราชนิพนธ์ เรื่องที่แต่งแทรก ๓ ตอนนั้น คือเรื่องศึกท้าวมะงาดาตีเมืองกาหลัง กับเรื่องศึกท้าวล่าสำตีเมืองประมอตัน ในสมุดไทยเล่ม ๓๐ กับเล่ม ๓๑ นี้เข้าใจว่าเป็นเรื่องแทรกตอน ๑ เรื่องเกิดวุ่นวายด้วยนางจินตะหราไม่ยอมดีกับอิเหนา ในสมุดไทยเล่ม ๓๕ กับเล่ม ๓๖ ก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องแทรกอีกตอน ๑ ความเดิมในตอนที่ต่อพระราชนิพนธ์ เข้าใจว่าเมื่ออภิเษกอิเหนาแล้ว นางจินตะหราไม่ดีด้วย ท้าวหมันหยาเรียกนางจินตะหราไปสั่งสอน แล้วอิเหนาก็เข้าห้องดีกับนางจินตะหรา หมดความเรื่องนางจินตะหราชั้นเดิมเพียงเท่านี้ เรื่องนอกนั้นเป็นของแทรก ยังเรื่องอภิเษกสังคามาระตาในเล่ม ๓๘ อีกตอน ๑ ก็เห็นว่าเป็นของแทรกเหมือนกัน บทละครอิเหนาสังเกตโดยสำนวนเห็นว่าจะมีต่อและแทรกดังแสดงมา

การพิมพ์บทละครอิเหนา พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ เดิมหมอสมิทที่บางคอแหลม ได้ต้นฉบับของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ไปพิมพ์ขึ้นก่อนผู้อื่น ได้ออกจำหน่ายเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ แต่นั้นโรงพิมพ์อื่นๆ ก็พิมพ์กันต่อมา จะพิมพ์กี่แห่งและพิมพ์กี่ครั้งไม่ทราบแน่ แต่ทว่าพิมพ์ต่อๆ กันมา ตามฉบับหมอสมิททั้งนั้น หาปรากฏว่า มีใครได้เคยสอบชำระต้นฉบับบทละครอิเหนาที่พิมพ์ ไม่แม้ฉบับที่หมอสมิทพิมพ์ครั้งแรก ผู้ที่เคยอ่านพระราชนิพนธ์เจนใจก็มักติเตียนว่าวิปลาสคลาดเคลื่อนอยู่หลายแห่ง ครั้นถึงฉบับที่พิมพ์กันชั้นหลังๆ มา ก็ยิ่งวิปลาสหนักขึ้นทุกที จนเป็นเหตุให้ปรารภกันแต่เมื่อในรัชกาลที่ ๕ ว่า ถ้าปล่อยไว้ไม่คิดป้องกันแก้ไข นานไปน่ากลัวพระราชนิพนธ์จะสูญเสีย เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว. เปีย มาลากุล ณ กรุงเทพ) เมื่อยังเป็นพระยาวิสุทธิ์สุริยศักดิ์ อธิบดีกรมศึกษาธิการ เป็นผู้ริเริ่มคิดรวบรวมฉบับบทละครอิเหนาพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ หมายจะชำระแล้วพิมพ์รักษาไว้ให้ถาวร พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบ ก็ทรงอนุโมทนาในความคิดนั้นและรับจะทรงช่วย เจ้าพระยาพระเสด็จฯ จึงลงมือชำระบทละครอิเหนา ที่สงสัยแห่งใดก็กราบบังคมทูลหารือ ได้รับพระราชทานพระกระแสทรงชี้แจงเนืองๆ แต่การที่เจ้าพระยาพระเสด็จฯ พยายามทำครั้งนั้นหาสำเร็จตลอดไม่ ได้ชำระตั้งแต่ต้นเรื่องจนถึงอิเหนาเข้าห้องนางจินตะหราที่เมืองหมันหยา เป็นหนังสือ ๖ เล่มสมุดไทยแล้วก็ค้างอยู่จนสิ้นรัชกาลที่ ๕ เจ้าพระยาพระเสด็จฯ ได้ให้พิมพ์เพียงเท่าที่ชำระนั้น เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๕๖

ในรัชกาลปัจจุบันนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรรมการหอพระสมุด
วชิรญาณสำหรับพระนครเป็นธุระรวบรวมพระราชนิพนธ์แต่ก่อนพิมพ์รักษาไว้สำหรับบ้านเมือง กรรมการจึงรวบรวมต้นฉบับบทละครพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ ตรวจชำระและพิมพ์โดยลำดับมา ได้พิมพ์แล้วหมดทุกเรื่อง ยังค้างอยู่แต่เรื่องอิเหนาเรื่องเดียว เพราะเป็นเรื่องใหญ่หนังสือมาก กำลังหอพระสมุดฯ ไม่พอจะพิมพ์ได้เอง และยังไม่มีผู้ใดจะรับพิมพ์โดยศรัทธา จึงต้องรอมา ครั้งถึงปีวอก พ.ศ. ๒๔๖๓ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต มีรับสั่งมายังกรรมการหอสมุดฯ ว่าพระนางเจ้าฯ พระชนนี มีพระประสงค์จะทรงพิมพ์หนังสือเป็นของชำร่วยในงานฉลองพระชันษาซายิด ในเดือนพฤษภาคม ปีระกา พ.ศ. ๒๔๖๔ สักเรื่อง ๑ และโปรดบทละครอิเหนา พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ ถ้ากรรมการหอพระสมุดฯ จัดการพิมพ์ถวายได้จะทรงยินดีพอพระหฤทัยยิ่งกว่าพิมพ์หนังสือเรื่องอื่นๆ กรรมการได้ทราบกระแสพระดำริของพระนางเจ้าฯ ก็ยินดีที่จะรับจัดการถวายให้สมพระประสงค์ จึงได้พิมพ์บทละครอิเหนา พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณขึ้นด้วยเหตุนี้

ในการพิมพ์พระราชนิพนธ์อิเหนา ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณครั้งนี้ ต้นฉบับที่ใช้ในการชำระสอบสวน ได้ฉบับหลวงในรัชกาลที่ ๕ ฉบับ ๑ ฉบับของพระนางเจ้าฯ ประทานมาฉบับ ๑ ฉบับเจ้าพระยาพระเสด็จฯ พิมพ์ฉบับ ๑ ฉบับของหอพระสมุดฯ (เป็นหนังสือวังหน้าบ้าง หนังสือของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติฯ บ้างผสมกัน) ฉบับ ๑ รวมสอบกัน ๔ ฉบับ

การชำระต้นฉบับ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชากับข้าพเจ้าช่วยกันตรวจชำระ แล้วได้กราบทูลขอให้พระนางเจ้าฯ ช่วยกันทรงตรวจด้วยอีกชั้น ๑ ลักษณะการชำระที่ทำนั้น ถ้าตัวบทตอนพระราชนิพนธ์ต่างฉบับผิดกัน ถือเอาฉบับหลวงเป็นสำคัญ ถ้าถ้อยคำผิดกัน ตัดสินเอาตามที่ได้ความสนิทเป็นประมาณ แต่คำที่ได้ตัดสินไปในฉบับนี้ บางทีจะพลาดที่สำคัญอยู่สักคำ ๑ คือชื่อนางมเหสีซ้าย ในต้นฉบับเดิมเขียนว่านางมะดีหวีบ้าง มะเดหวีบ้าง ได้ยุติตามฉบับเจ้าพระยาพระเสด็จฯ ใช้ในหนังสือนี้ว่านางมะดีหวี ครั้นสอบมาถึงตอนอิเหนาเข้าเฝ้าท้าวดาหา จึงเห็นว่า พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงแก้เป็นนางมะเดหวีไว้ในฉบับหลวง จะแก้ตามก็ไม่ทันด้วยได้พิมพ์ตอนต้นเสียแล้ว จึงขอบอกไว้ในทีนี้

อนึ่ง วิธีแบ่งเล่มสมุดต้นฉบับหนังสืออิเหนา เดิมแบ่งเป็นสมุดไทย แต่ไม่นิยมด้วยเรื่องความ แล้วแต่ฉบับไหนเขียนหนังสือไปหมดเล่มสมุดลงเพียงไหน ก็ตัดเรื่องว่าจบเล่มสมุดไทยเพียงนั้น เพราะฉะนั้นหนังสือต่างฉบับเขียนสมุดขนาดต่างกัน หรือเขียนหนังสือจำนวนบรรทัดไม่เท่ากัน จำนวนสมุดไทยก็ผิดกันไปไม่เท่ากัน บางฉบับเป็นหนังสือถึง ๔๕ เล่มสมุดไทย เช่นกล่าวไว้ในเพลงยาวข้างท้ายเรื่องอิเหนาที่พิมพ์นี้ บางฉบับเช่นฉบับที่หมอสมิทพิมพ์ครั้งแรก เป็นหนังสือเพียง ๔๑ เล่มสมุดไทย บางฉบับเพียง ๓๗ เล่มสมุดไทยก็มี ตรวจดูเรื่องก็เท่ากันทั้งนั้น ฉบับซึ่งหอพระสมุดฯ พิมพ์ใหม่ครั้งนี้ การแบ่งเล่มสมุดไทยได้เอาจำนวน ๓๘ เล่มสมุดไทยเป็นเกณฑ์ เข้าใจว่าตรงกับจำนวนเดิม ซึ่งเป็นพระราชประสงค์จะทรงแทนบทละครอิเหนา พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ แต่ได้แก้ไขเอาเรื่องเป็นหลักในการที่กำหนดเล่มสมุดไทยจบเล่มสมุดหนึ่งให้พอได้กับเรื่องตอนหนึ่ง ยอมให้หน้าหนังสือต่างเล่มยาวและสั้นผิดกันไปบ้าง ส่วนการที่รวมเป็นเล่มสมุดพิมพ์นั้น ได้กำหนดหนังสืออิเหนาที่พิมพ์ใหม่ครั้งนี้เป็น ๓ เล่ม ด้วยเห็นว่าได้ขนาดพอถืออ่านเหมาะมือ เรื่องก็พอเหมาะที่จะแบ่งเป็น ๓ เล่มได้ คือเล่ม ๑ ตั้งแต่ต้นเรื่องจนเสร็จศึกท้าวกะหมังกุหนิง เล่ม ๒ ตั้งแต่อิเหนาเข้าเฝ้าท้าวดาหา จนอุณากรรณกลับบวชเป็นนางแอหนัง เล่ม ๓ ตั้งแต่จับเรื่องตอนย่าหรันไปจนจบ

อนึ่ง มีบทเจรจาละครอิเหนาพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๕ อีกเรื่อง ๑ ทรงพระราชนิพนธ์เองบ้าง ทรงขอแรงพระเจ้าน้องยาเธอฯ บางพระองค์ มีกรมหลวงพิชิตปรีชากรเป็นต้น ให้แต่งถวายบ้าง ในครั้งเล่นละครหลวงสมโภชพระนครอายุครบ ๑๐๐ ปี เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๒๕ มีบทเจรจารวม ๖๘ บทด้วยกัน กรมพระสมมตอมรพันธุ์ได้ทรงรวบรวมรักษาไว้ในหอพระสมุดฯ ยังมิได้เคยพิมพ์มาแต่ก่อน ครั้งนี้พระนางเจ้าฯ โปรดให้พิมพ์พระราชนิพนธ์บทเจรจาด้วย เพื่อจะรักษาพระราชนิพนธ์นั้นให้อยู่มั่นคง และให้คนทั้งหลายได้อ่านกันแพร่หลาย แต่จะพิมพ์แทรกลงในบทละครตรงที่ๆ เจรจา ก็เกรงว่าบทละครจะแปลกรูปไป จึงได้พิมพ์คำเจรจาไว้เป็นเล่ม ๑ ต่างหาก นับเป็นเล่ม ๔ ของหนังสืออิเหนาฉบับนี้ ได้หมายเลขบอกไว้ที่บทละครเป็นสำคัญ ให้ผู้อ่านรู้ว่าตรงไหนเจรจาบทไหน เมื่ออ่านถึงตรงนั้นก็อาจจะพลิกดูคำเจรจาได้โดยง่าย

อนึ่งเมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ มีรับสั่งให้พิมพ์พระราชนิพนธ์อิเหนาครั้งนี้ ทรงพระดำริว่า ยังมีการอันเนื่องต่อบทละครอิเหนา ซึ่งน่าจะทำขึ้นประกอบกับหนังสือซึ่งพิมพ์ใหม่อีก ๒ อย่าง อย่างหนึ่งคือมีรูปภาพเรื่องอิเหนาซึ่งได้เขียนไว้แต่ก่อน เป็นของพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เขียนไว้ก็มาก ทุกวันนี้วิธีพิมพ์จำลองรูปก็อาจจะทำได้โดยฝีมือไทยแล้ว ควรจะเลือกรูปภาพเรื่องอิเหนาที่เขียนไว้แต่ก่อน มาพิมพ์ไว้ในหนังสือนี้ให้คนทั้งหลายได้เห็นแพร่หลายด้วย จึงได้ทรงเป็นพระธุระเลือกสรรรูปภาพเรื่องอิเหนาซึ่งมีอยู่ ณ ที่ต่างๆ และโปรดให้กรมแผนที่ทหารบกพิมพ์รูปภาพเพิ่มเข้าในหนังสือด้วย อีกอย่างหนึ่งนั้นทรงพระดำริว่า ละครเรื่องอิเหนานี้ นอกจากบทละครยังมีเรื่องตำนาน เคยได้ทรงสดับเล่าแถลงถึงการที่เล่นละครอิเหนากันมาแต่ก่อน และปรากฏชื่อเสียงผู้ที่ยกย่องกันว่าเป็นครูละครอิเหนาก็หลายคน ถ้าได้เรียบเรียงเรื่องตำนานละครอิเหนาขึ้นสักเรื่อง ๑ ก็จะน่าอ่านดี ทรงชักชวนให้ข้าพเจ้าแต่งตำนานนั้นให้ทันพิมพ์ พร้อมกับบทละครอิเหนาที่พระนางเจ้าฯ โปรดให้พิมพ์ในคราวนี้ ข้าพเจ้าจึงได้เรียบเรียงเรื่องตำนานขึ้น แล้วให้พิมพ์เป็นเล่ม ๑ ต่างหาก หนังสืออิเหนาฉบับหอพระสมุดวชิรญาณที่พิมพ์ใหม่ครั้งนี้ จึงเป็นหนังสือชุด คือบทละครอิเหนา ๓ เล่ม คำเจรจาละครอิเหนาเล่ม ๑ เรื่องตำนานละครอิเหนาเล่ม ๑ รวมเป็นสมุดพิมพ์ ๕ เล่มด้วยกัน

กรรมการหอพระสมุดฯ ขออนุโมทนาการซึ่งพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี โปรดให้พิมพ์พระราชนิพนธ์อิเหนาขึ้นใหม่ในครั้งนี้และพร้อมกันขอถวายพระพร โดยความเคารพนับถือ ขอให้พระองค์ทรงพระเจริญสุขสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล พระชนมายุสถาพรสืบตลอดกาลนาน เทอญฯ

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สภานายก

หอพระสมุดวชิรญาณ

วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๔

https://vajirayana.org/system/files/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B2_264950.pdf

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ