- คำอธิบาย ว่าด้วยบทละคร อิเหนาฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ
- เล่มที่ ๑
- เล่มที่ ๒
- เล่มที่ ๓
- เล่มที่ ๔
- เล่มที่ ๕
- เล่มที่ ๖
- เล่มที่ ๗
- เล่มที่ ๘
- เล่มที่ ๙
- เล่มที่ ๑๐
- เล่มที่ ๑๑
- เล่มที่ ๑๒
- เล่มที่ ๑๓
- เล่มที่ ๑๔
- เล่มที่ ๑๕
- เล่มที่ ๑๖
- เล่มที่ ๑๗
- เล่มที่ ๑๘
- เล่มที่ ๑๙
- เล่มที่ ๒๐
- เล่มที่ ๒๑
- เล่มที่ ๒๒
- เล่มที่ ๒๓
- เล่มที่ ๒๔
- เล่มที่ ๒๕
- เล่มที่ ๒๖
- เล่มที่ ๒๗
- เล่มที่ ๒๘
- เล่มที่ ๒๙
- เล่มที่ ๓๐
- เล่มที่ ๓๑
- เล่มที่ ๓๒
- เล่มที่ ๓๓
- เล่มที่ ๓๔
- เล่มที่ ๓๕
- เล่มที่ ๓๖
- เล่มที่ ๓๗
- เล่มที่ ๓๘
เล่มที่ ๙
ช้า
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงสามกษัตริย์สูงส่ง |
ท้าวร่วมบิตุราชมาตุรงค์ | แต่ละองค์ทรงเดชเดชา |
พระเชษฐาครองเมืองกะหมังกุหนิง | ปรากฏยศยิ่งทุกทิศา |
มีโอรสราชกุมารา | ชื่อระเด่นวิหยาสะกำ |
พระทนต์แดงดังแสงทับทิม | เพริศพริ้งเพราพักตร์คมขำ |
ผิวพรรณผุดผ่องเพียงทองคำ | วิไลลักษณ์เลิศล้ำอำไพ |
พระมารดาบิตุรงค์ทรงฤทธิ์ | แสนรักร่วมชีวิตพิสมัย |
สุริย์วงศ์พงศาข้าไท | ก็รักใคร่ราชบุตรสุดกำลัง ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ ระตูผู้น้องรองลงมา | ได้ดำรงนคราปาหยัง |
อันปราสาทราชฐานเวียงวัง | สนุกดังเมืองสวรรค์ชั้นฟ้า |
มีบุตรีสององค์นงลักษณ์ | งามทรงวงพักตร์เพียงเลขา |
ชื่อระเด่นรัตนาระติกา | องค์หนึ่งชื่อรัตนาวาตี |
ระตูผู้น้องสุดนั้น | ผ่านประหมันสลัดบุรีศรี |
มีโอรสกับราชบุตรี | ผู้พี่ชื่อวิหรากะระตา |
ขนิษฐาทรงโฉมประโลมจิต | ชื่อบุษบาวิสิศเสนหา |
แสนสวาทบิตุราชมารดา | ดั่งว่าดวงเนตรดวงชีวัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ช้าปี่
๏ เมื่อนั้น | วิหยาสะกำเฉิดฉัน |
อยู่เย็นเป็นสุขทุกนิรันดร์ | ในปราสาทสุวรรณชัชวาล |
สาวสนมนารีบำเรอรักษ์ | ล้วนเลิศลักษณ์รูปทรงส่งสัณฐาน |
หมอบเฝ้าคอยรับสั่งตั้งเครื่องอาน | รำเพยพานพัชนีวีองค์ |
บ้างบรรสานดีดสีรี่เรื่อย | ฉ่ำเฉื่อยชวนฤทัยใหลหลง |
เพลิดเพลินจำเริญจิตพระโฉมยง | ด้วยฝูงอนงค์นารี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ อารักษ์ฤทธิรณเข้าดลใจ | คิดจะใคร่ไปประพาสพนาศรี |
จึงตรัสสั่งพี่เลื้ยงผู้ภักดี | จงตรวจเตรียมโยธีรี้พล |
เราจะยกพยุหบาตรยาตรา | ไปล่าไล่มฤคาในไพรสณฑ์ |
แต่ย่ำรุ่งเรืองแรงแสงสุริยน | พี่ผูกม้าเตรียมพลให้พร้อมไว้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พระพี่เลี้ยงผู้มีอัชฌาสัย |
รับสั่งพระโอรสยศไกร | ออกไปเกณฑ์กันดังบัญชา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | โยธีรี้พลถ้วนหน้า |
ครั้นอุทัยแสงทองส่องฟ้า | ก็ตื่นตาแต่งตนอยู่ลนลาน |
กรมม้าผูกม้าพระที่นั่ง | พร้อมพรั่งอาชาม้าทหาร |
ประดับเครื่องเรืองรัตน์ชัชวาล | เบาะอานพานหน้าดาราราย |
ขุนหมื่นนายหมวดก็ตรวจตรา | จัดกระบวนโยธาทั้งหลาย |
ถือทวนทองธงทิวปลิวปลาย | ไพร่นายคอยท่าเสด็จจร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วิหยาสะกำกุมารชาญสมร |
ครั้นรุ่งรางสร่างแสงทินกร | ก็บทจรมาสรงคงคา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ทรงสุคนธ์ปนทองชมพูนุท | นวลละอองผ่องผุดดั่งเลขา |
สอดใส่สนับเพลาเพราตา | ภูษาแย่งยกกระหนกพัน |
ฉลององค์โหมดเทศทองพราย | ปั้นเหน่งเพชรพรรณรายสายกระสัน |
ห้อยหน้าเจียระบาดตาดสุวรรณ | ทับทรวงดวงกุดั่นประดับพลอย |
ตาบทิศไพฑูรย์จำรูญเรือง | สังวาลวรรณค่าเมืองเฟื่องห้อย |
ทองกรจำหลักเป็นรักร้อย | ธำมรงค์เพชรพร้อยเพราพราย |
บรรจงทรงชฎาดอกไม้ทัด | กรรเจียกจอนจำรัสเรืองฉาย |
ถือเช็ดหน้าเหน็บกริชกรีดกราย | ผันผายขึ้นเฝ้าพระบิตุรงค์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เพลง
ร่าย
๏ ครั้นถึงจึงถวายบังคมทูล | นเรนทร์สูรสองกษัตริย์สูงส่ง |
ลูกรักจักลาบาทบงสุ์ | ไปล่าไล่บุหรงมฤคี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวกะหมังกุหนิงเรืองศรี |
ฟังโอรสาพาที | จึ่งมีพจมานตรัสไป |
เจ้าจะไปล่าไล่มฤคา | ก็ตามแต่วิญญาณ์อัชฌาสัย |
ตะวันบ่ายชายแสงอโณทัย | ดวงใจของพ่อเร่งกลับมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วิหยาสะกำโอรสา |
กราบบาทบทศรีชลีลา | ลงจากปรางค์ปราสาทสุวรรณ |
ขึ้นทรงสินธพพระที่นั่ง | พร้อมพรั่งเสนากิดาหยัน |
ทวยหาญแห่แหนแน่นนันต์ | จรจรัลออกจากวังเวียง |
ฯ ๔ คำ ฯ กราว
โทน
๏ ม้าเอยม้าต้น | เริงรนร่านร้องคะนองเสียง |
ยกคอย่อท้ายร่ายเรียง | เผ่นโจนโผนเพียงม้ายนต์ |
ย่องย่ำทำพยศสะบัดย่าง | หักหันให้ข้างขวางถนน |
ถูกน้อยซอยเต้นมากลางพล | คนเคียงข้างละคนคอยประจำ |
ผูกเครื่องสุวรรณกุดั่นดาว | แวววาวชัชวาลอานคร่ำ |
ใบโพธิพรายรายบุษราคัม | ง่องง้ำสายถือถักทอง |
กิดาหยันโยธาม้าแซง | ขับแข่งควบตามเป็นแถวถ้อง |
บ้างมุ่นหกผกเผ่นลำพอง | รีบกองหน้านำดำเนินไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
ร่าย
๏ ข้ามเทินเนินทรายถึงชายป่า | ถิ่นที่มฤคาอาศัย |
จึงหยุดยั้งโยธาอาชาไนย | ห้ามมิให้อึงมี่นี่นัน |
แล้วตรัสสั่งพี่เลี้ยงทั้งสี่คน | จงแบ่งพวกพหลพลขันธ์ |
ให้แอบอ้อมเข้าไปในไพรวัน | ล้อมกันฝูงกวางมากลางแปลง |
กิดาหยันของเราเหล่านี้ | แต่บรรดาตัวดีขี่ม้าแข็ง |
นายเวรสารวัดจงจัดแจง | ให้ไปแซงซุ่มรายอยู่ชายไพร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พระพี่เลี้ยงรับสั่งบังคมไหว้ |
ออกมาเกณฑ์กันทันใด | โดยดั่งภูวไนยบัญชา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ยานี
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงองค์อสัญแดหวา |
เห็นวิหยาสะกำยกพลมา | ล้อมไล่มฤคาในอารญ |
ชื่นชมสมคะเนของเทเวศร์ | จะทำให้เกิดเหตุเภทผล |
จึงหยิบกระดาษวาดรูปนฤมล | เหาะจากไพชยนต์วิมานมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ กลม
ร่าย
๏ ครั้นถึงหนทางสามแพร่ง | ที่ตำแหน่งต้นไทรใบหนา |
ก็ลงยืนยังพื้นพสุธา | แทบริมมรคาพนาลัย |
จึงเอากระดาษวาดรูปนาง | แอบวางไว้ใต้ต้นไทรใหญ่ |
แล้วจำแลงแปลงกายทันใด | ด้วยฤทธิไกรเทวัญ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ บัดเดี๋ยวก็กลายเป็นกวางทอง | งามลำยองรูปโฉมเฉิดฉัน |
ออกจากชายป่าอารัญ | ผายผันเผ่นโผนโจนทะยาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นใกล้พลไกรกระบวนม้า | แกล้งหยุดยืนกินหญ้าตรงหน้าฉาน |
เหลียวแลดูคนลนลาน | ทำอาการตื่นเต้นตกใจ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วิหยาสะกำศรีใส |
ทั้งพี่เลี้ยงแลเหล่าเสนาใน | แลไปเห็นกวางที่กลางเตียน |
ผิวพรรณโสภาดังทาทอง | เยื้องย่องยกย่างอย่างเขียน |
สองเขาวาวแววดั่งวิเชียร | พิศเพียนงามสรรพสรรพางค์ |
ให้ชอบพระทัยนักรักใคร่ | ดูไหนเห็นงามไปทุกอย่าง |
สั่งทหารให้ไล่ล้อมกวาง | แล้ววางม้าต้นตามมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | กวางทองปะตาระกาหลา |
เห็นวิหยาสะกำกับโยธา | ขับม้าล้อมไล่เป็นสิงคลี |
ทำตกใจกระเจิงเริงร้อง | ลำพองเผ่นโผนโจนหนี |
วางวิ่งเวียนวงเข้าพงพี | แล้วทำทีชม้อยคอยระวัง |
เห็นห่างกวางทองก็หยุดท่า | ชะเง้อหน้าเหลือบแลเหลียวหลัง |
ลัดแลงแฝงไม้ใบบัง | แกล้งล่อให้คลั่งตามไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ กราวจีน
๏ เมื่อนั้น | วิหยาสะกำศรีใส |
ควบขับม้าที่นั่งตั้งพระทัย | หมายจะจับให้ได้ดังจินดา |
จนไกลพลไกรกระบวนแห่ | ตามติดไปแต่กะหมันหรา |
พระเร่งรีบม้าทรงลงแส้มา | ตั้งหน้าไล่ประชิดติดพัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | กวางทองเทวากระยาหงัน |
แกล้งล้อล่อมามิให้ทัน | เลี้ยวลัดดัดดั้นดงดาน |
พอถึงหนทางสามแพร่ง | ใกล้ตำแหน่งต้นไทรไพศาล |
จึงปีบร้องลำพองโผนทะยาน | แล้วอันตรธานทันที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ รัวเชิด
๏ เมื่อนั้น | วิหยาสะกำเรืองศรี |
ติดตามสุวรรณมฤคี | มาถึงที่ต้นไทรชายดง |
กวางทองหายไปกับนัยน์เนตร | ภูวเรศหลากจิตพิศวง |
ให้หิวโหยโรงแรงระทวยองค์ | ทั้งอาชาม้าทรงสิ้นกำลัง |
เห็นแต่กะหมันหรามาคนเดียว | ยิ่งสร้อยเศร้าเปล่าเปลี่ยวเหลียวหลัง |
เวลาตะวันชายบ่ายบัง | จึงหยุดยั้งท่าพลที่ต้นไทร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กะหมันหราผู้มีอัชฌาสัย |
เหลือบแลเห็นกระดาษประหลาดใจ | โจนจากมโนมัยไปหยิบมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วิหยาสะกำใจกล้า |
ให้อัศจรรย์จิตคิดสงกา | จึงตรัสเรียกเอามาฉับพลัน |
คลี่ดูเห็นรูปเยาวเรศ | ดังแว่นทองส่องเนตรเสียวกระสัน |
สุดแสนประดิพัทธ์ผูกพัน | ป่วนปั่นหฤทัยไปมา |
ม้วนกระดาษซ่อนใส่ในรัดองค์ | ใจจงด่าวดิ้นถวิลหา |
สลบลงบนหลังอาชา | กะหมันหรารับรองประคองไว้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
๏ บัดนั้น | พระพี่เลี้ยงเสนาน้อยใหญ่ |
มาทันก็ตระหนกตกใจ | เข้าแก้ไขนวดฟั้นทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ ครั้นภูวไนยได้สมประดีมา | จึงทูลถามกิจจาถ้วนถี่ |
เหตุไฉนทรงม้ามาดีดี | สลบลงดังนี้ประหลาดนัก ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วิหยาสะกำมีศักดิ์ |
จึงตอบพี่เลี้ยงผู้ใจภักดิ์ | น้องรักไล่กวางวางม้ามา |
มิได้หยุดหย่อนจนอ่อนแรง | คอแห้งกระหายน้ำหนักหนา |
ตรัสพลางทางกลับอาชา | ยกพลไคลคลาเข้าธานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงลงจากอัสดร | บทจรขึ้นสู่ปราสาทศรี |
มิได้เปลื้องเครื่องทรงสรงวารี | ตรงไปในที่ไสยา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึงปิดใบดาลทวารทอง | อยู่สองแต่กับกะหมันหรา |
นิ่งนอนกรก่ายพักตรา | โศกากำสรดระทดองค์ |
แต่เวียนคลี่กระดาษวาดรูปนาง | ดูพลางพินิจพิศวง |
ทำไฉนจะได้นางโฉมยง | เหมือนดังใจจงจำนงคิด |
แม้นรู้ว่าอยู่บุรีใด | จะตามไปภิรมย์สมสนิท |
ไม่อาลัยไยดีแก่ชีวิต | นี่สุดรู้สุดฤทธิ์สุดอารมณ์ |
เอาแต่รูปแนบอุระประทับไว้ | อกเอ๋ยคิดไฉนจะได้สม |
แสนถวิลวิตกอกกรม | ร่ำไรไม่บรรทมแต่โศกี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
๏ บัดนั้น | กะหมันหราซึ่งเฝ้าอยู่ข้างที่ |
เห็นภูวไนยไม่เป็นสมประดี | จึงกล่าววาทีทูลไป |
ซึ่งพระจะโศกศัลย์ด้วยรูปทรง | จะได้ดังจำนงนั้นหาไม่ |
จงระงับโศกาอาลัย | เชิญไปสรงเสวยโภชนา |
เสด็จขึ้นไปเฝ้าพระบิตุเรศ | ทูลเหตุให้ทราบเสียดีกว่า |
พระจะได้สืบเสาะทุกพารา | เห็นจะสมปรารถนาที่นึกไว้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วิหยาสะกำแถลงไข |
รำคาญวานอย่าว่าวุ่นไป | ไม่เป็นแล้วก็ไม่เห็นใจกัน |
ซึ่งจะให้ระงับดับอาวรณ์ | สุดรักสุดร้อนจะผ่อนผัน |
เมื่อปืนพิษติดทรวงดวงแดยัน | นับวันแต่ชีวิตจะวอดวาย |
ถึงจะขึ้นไปทูลพระบิดา | พระจะหาไหนมาให้เหมือนหมาย |
กิจจาก็จะแจ้งแพร่งพราย | อัปยศอดอายแก่ฝูงคน |
ผิดชอบก็จะม้วยด้วยความรัก | มิให้ใครประจักษ์เหตุผล |
ตรัสพลางอาวรณ์ร้อนรน | ฟูมฟายอสุชลร่ำไร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
๏ บัดนั้น | ฝูงกำนัลน้อยใหญ่ |
เห็นพระปิดบานทวารไว้ | มิได้สรงเสวยโภชนา |
ได้ยินแต่ครวญคร่ำร่ำร้อง | จึงเข้าไปแอบมองที่ช่องฝา |
ดูพระจริตผิดกิริยา | ก็สงสัยปรึกษาพูดจากัน |
จะนิ่งเสียฉะนี้ก็มิได้ | เราจะต้องโทษภัยเป็นแม่นมั่น |
จำจะทูลสองพระองค์ทรงธรรม์ | ว่าแล้วชวนกันจรลี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ ชุบ
๏ ครั้นถึงจึงคลานเข้าไปเฝ้า | ก้มเกล้าประณตบทศรี |
ต่างกราบทูลแถลงแจ้งคดี | บัดนี้พระโอรสยศยง |
เสด็จมาแต่ไล่มฤคา | ไม่เสวยโภชนาโสรจสรง |
เข้าในห้องสุวรรณกันแสงทรง | ขอพระองค์จงทราบบาทมูล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระผู้ผ่านโภไคยไอศูรย์ |
ได้ฟังสาวสนมบังคมทูล | ก็อาดูรเดือดร้อนหฤทัย |
สองกษัตริย์เสด็จเยื้องย่าง | ลงจากปรางค์ปราสาททองผ่องใส |
พร้อมฝูงสนมกรมใน | คลาไคลไปตำหนักพระลูกยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ มาเห็นใบบานทวารปิด | ยิ่งอัศจรรย์จิตคิดกังขา |
จึงตรัสเรียกเข้าไปมิได้ช้า | กะหมันหราเปิดรับจงฉับไว ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วิหยาสะกำกันแสงไห้ |
ได้ยินเสียงพระชนกก็ตกใจ | เอารูปซ่อนเสียในที่ไสยา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึงกิดาหยันกะหมันหรา |
ออกไปเปิดบานทวารา | แล้ววันทาสองกษัตริย์ทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวกะหมังกุหนิงเรืองศรี |
ทั้งองค์อัครราชเทวี | ก็เข้าไปยังที่แท่นทอง |
ทรุดองค์ลงนั่งแล้วพิศพักตร์ | เห็นลูกรักกำสรดเศร้าหมอง |
พระลูบไล้โลมเล้าเข้าประคอง | ปลอบถามทั้งสองกษัตรา |
เจ้าไปเที่ยวเล่นป่าพนาวัน | หวังจะให้เกษมสันต์หรรษา |
เหตุไฉนฉะนี้นะลูกยา | จึงมานอนโศกาอยู่ว่าไร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วิหยาสะกำร่ำไห้ |
บังคมก้มพักตร์แล้วถอนใจ | พลางทูลภูวไนยไปพลัน |
อันความทุกข์ที่ทนนี้พ้นคิด | เห็นจะวายชีวิตเป็นแม่นมั่น |
ขอลาบาทบงสุ์พระทรงธรรม์ | ทูลพลางโศกศัลย์โศกี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
โอ้
๏ เมื่อนั้น | พระบิตุราชมาตุรงค์เรืองศรี |
ได้ทรงฟังลูกยาพาที | ดังจะสิ้นสมประดีด้วยความรัก |
สวมสอดกอดองค์โอรสไว้ | สะอื้นไห้วิตกเพียงอกหัก |
เจ้าทุกข์ร้อนอย่างไรหลากใจนัก | จงเล่าไปให้ประจักษ์ซึ่งจาบัลย์ |
หรือมุ่งมาดปรารถนาสิ่งอันใด | บิดาจะหาให้ดังใฝ่ฝัน |
เว้นไว้แต่ดาวเดือนตะวัน | นอกนั้นจะให้สมอารมณ์คิด |
วานพ่ออย่าว่าจะมรณา | มารดาบิตุราชจะขาดจิต |
ด้วยรักเจ้าเท่าเทียมชีวิต | ควรหรือวิปริตประหลาดใจ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ แต่เวียนเฝ้าเซ้าซี้ซักถาม | พระจะเอื้อนออกความก็หาไม่ |
สองกษัตริย์ขัดสนจนพระทัย | ก็ครวญคร่ำร่ำไรโศกี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๏ แล้วคิดถวิลจินดา | ชะรอยไปเล่นป่าจะต้องผี |
จึงเผอิญให้เป็นเช่นนี้ | เห็นผิดท่วงทีกิริยา |
คิดพลางทางตรัสไปพลัน | ดูก่อนกิดาหยันกะหมันหรา |
เร่งไปหาหมอหลวงทั้งปวงมา | เร็วเร็วอย่าช้าฉับไว ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กะหมันหราประนมบังคมไหว้ |
มาสั่งตำรวจเวรเกณฑ์กันไป | โดยดังภูวไนยบัญชาการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | พวกตำรวจสับสนอลหม่าน |
วิ่งหาหมอยาหมออยู่งาน | รีบร้นลนลานเอาตัวมา |
ที่บ้างไม่รู้แห่งตำแหน่งไกล | ให้ภารโรงนำไปเที่ยวตามหา |
นายมุลขุนหมื่นก็ตรวจตรา | ใครเวรเข้าขาดหน้าให้ผูกคอ |
บ้างออกไปหาตัวยายมด | เข้ามาหมดพร้อมหน้าบรรดาหมอ |
หยุดอยู่ประตูวังรั้งรอ | ชะเง้อคอคอยฟังพระโองการ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ท้าวนางข้างในราชฐาน |
จึงพาหมอทั้งนั้นมิทันนาน | เข้าเฝ้าบทมาลย์พระทรงธรรม์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระตูผู้ผ่านไอศวรรย์ |
จึงตรัสแก่หมอหลวงทั้งปวงนั้น | จงช่วยกันแก้ไขพระลูกรัก |
อันอาการกิริยาน่าสงสัย | จะเจ็บปวดเป็นไฉนไม่ประจักษ์ |
ก่นแต่ครวญคร่ำละล่ำละลัก | กันแสงซบพักตร์ไม่พูดจา |
ท่านจงพิเคราะห์ดูให้รู้แท้ | จะเป็นไข้อะไรแน่เร่งรักษา |
แม้นลูกเราเคลื่อนคลายหายโรคา | เงินทองเสื้อผ้าจะรางวัล ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ขุนหมื่นหมอยาคนขยัน |
พิเคราะห์ดูพระโรคฉับพลัน | อภิวันท์ทูลไปด้วยใจจง |
อันองค์พระโอรสราช | เป็นสันนิบาตคลั่งไคล้ใหลหลง |
จะต้องถ่ายถวายยาทุเลาลง | พิษสงจึงค่อยเคลื่อนคลาย |
บ้างว่าเป็นไข้เหนือเพื่อดี | พระโรคนี้รักษาจะช้าหาย |
จึงประกอบโอสถบดละลาย | ใส่ถ้วยมาถวายทันที ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ หมอนวดก็ประนมก้มกราน | เข้าไปอยู่งานข้างที่ |
นวดลองต้องดูพระนาภี | แล้วชลีทูลสองกษัตรา |
อันพระโรคจะหายเห็นยังลึก | เพราะเส้นอัมพฤกษ์นั้นพานกล้า |
เป็นเมื่อพระองค์ทรงอาชา | ไปเล่นป่าไล่หมู่มฤคี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ หมอภูตปีศาจก็ทูลทัด | ว่ารำเพรำพัดต้องผี |
ต้องตั้งกิจกรรมทำบัตรพลี | วางไว้ใกล้ที่พระบรรทม |
บั้นรูปคนใส่ให้นุ่งผ้า | ทั้งเนื้อพล่าปลายำกล้วยส้ม |
เสกซัดข้าวสารอ่านอาคม | มือคือใบมะยมปัดไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ ต่างรู้ต่างทำมากหลาย | พระจะค่อยเคลื่อนคลายก็หาไม่ |
แต่บรรดาพวกหมอก็ท้อใจ | จะแก้ไขเห็นสุดปัญญา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวกะหมังกุหนิงนาถา |
กวักพระหัตถ์ตรัสเรียกยายมดมา | แล้วมีบัญชาว่าไป |
พระลูกเราคลุ้มคลั่งไปดังนี้ | ขัดสนพ้นที่จะแก้ไข |
จะถูกต้องผีสางหรืออย่างไร | จงทักไปให้ประจักษ์แจ้งคดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ยายมดคนทรงลงผี |
รับสั่งพระองค์ทรงธรณี | แล้วให้ตีโทนทับขึ้นฉับพลัน |
จึงนุ่งลายอย่างดีมีเชิงช่อ | ผ้าชมพูคล้องคอเฉิดฉัน |
ประนมมือถือเทียนทำงกงัน | ขัดสมาธิ์สองชั้นสั่นรัว |
หลับตาพยักพย้ำเผยอ | กระดิกเท้าหาวเรอแล้วเสยหัว |
ลุกขึ้นเหลือกตาดูน่ากลัว | โลดเต้นเล่นตัวไปมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ กราวรำ
๏ บัดนั้น | ลูกสมุนซึ่งนั่งอยู่พร้อมหน้า |
ไหว้พลางทางถามกิจจา | ท่านมาแต่ไหนนะเทวัญ |
เจ้าเสื้อเมืองหรือคือใคร | เหตุไฉนเคืองขุ่นหุนหัน |
มีประสงค์สิ่งไรเร่งบอกกัน | จะสังเวยเทวัญให้ทันใจ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ยายมดขบฟันผันหลังให้ |
แผดเสียงเกรี้ยวกราดตวาดไป | กูมิใช่เสื้อเมืองทรงเมือง |
อันถิ่นฐานเราอยู่เขาหลวง | คนทั้งปวงนับถือลือเลื่อง |
มีผู้ทำให้ได้แค้นเคือง | ไปไล่ม้าทรงเครื่องของเรา |
อหังการอาจองทะนงศักดิ์ | ดูหมิ่นไม่รู้จักปู่เจ้า |
อย่าพักบวงบนให้บรรเทา | แค้นนักจักเอาชีวิตไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | องค์ประไหมสุหรีศรีใส |
สำคัญว่าจริงก็ตกใจ | อุ้มโอรสไว้แล้วโศกี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๏ กันแสงพลางนางเหลือบเห็นกระดาษ | เป็นรูปวาดซ่อนไว้ใต้ที่ |
จึงหยิบมาถวายพระสามี | รูปเลขานี้ประหลาดนัก ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระตูผู้ผ่านอาณาจักร |
คลี่กระดาษดูทรงนางนงลักษณ์ | งามหลากใจนักน่าอัศจรรย์ |
เพ่งพิศดารพันเพียงขวัญตา | ดังนางในชั้นฟ้ากระยาหงัน |
จึงตรัสถามโอรสไปพลัน | เจ้าโศกศัลย์ด้วยรูปนี้หรือไร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วิหยาสะกำบังคมไหว้ |
นิ่งอยู่เป็นครู่ด้วยอายใจ | ฝืนฤทัยรับรสพจนา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระบิตุเรศตรัสแก่โอรสา |
อันรูปนางอย่างนี้ในโลกา | จะจัดหาไม่มีเป็นมั่นคง |
ชะรอยว่าสาวสวรรค์ชั้นฟ้า | แกล้งนฤมิตมาให้ใหลหลง |
เจ้าอย่ากำสรดระทดองค์ | ฟังคำบิตุรงค์เถิดลูกรัก ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วิหยาสะกำมีศักดิ์ |
ได้ฟังคั่งแค้นฤทัยนัก | ดังอัคนิรุทรมาจุดใจ |
เคลื่อนลงจากตักพระมารดร | ยิ่งอาวรณ์โศกสร้อยละห้อยไห้ |
พระบิตุเรศจะปลอบสักเท่าไร | ก็มิได้เงยหน้าพาที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมยงองค์ประไหมสุหรี |
จึงบังคมทูลพระสามี | จงถามเสนีทั้งหลายดู |
เกลือกคนทั้งปวงจะแจ้งใจ | หน่อกษัตริย์กรุงไหนจะมีอยู่ |
เหมือนรูปเลขาอันงามตรู | จะได้สู่ขอให้ดังใจจง ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวกะหมังกุหนิงสูงส่ง |
จึงถามโอรสยศยง | เจ้าได้รูปนี้ตรงแห่งใด ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วิหยาสะกำแถลงไข |
กะหมันหราได้ตกริมต้นไม้ | เมื่อลูกไปไล่มฤคา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระบิตุเรศจึงถามกะหมันหรา |
รูปนี้ที่เก็บได้มา | ยังจะจำมรคาได้หรือไร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กะหมันหราผู้มีอัชฌาสัย |
จึงบังคมทูลสนองไป | อันที่ซึ่งได้รูปนารี |
เป็นทางร่วมกันกับเมืองจรกา | ทางหนึ่งไปดาหากรุงศรี |
ทางหนึ่งจะมาเมืองนี้ | รูปว่าอยู่ที่ตรงนั้น ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระตูผู้ผ่านไอศวรรย์ |
จึงว่าแก่โอรสร่วมชีวัน | เจ้าอย่าโศกศัลย์โศกา |
พ่อจะช่วยสืบสาวเสาะถาม | ให้สำเร็จดังความปรารถนา |
ปลอบพลางทางถือรูปเขียนมา | เสด็จออกข้างหน้าทันใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ | จึงดำรัสตรัสความถามไถ่ |
ใครได้เห็นนางอย่างเขียนไว้ | ธิดาเมืองไหนยังจะมี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ปาเตะจึงทูลถ้วนถี่ |
รูปนี้จะเป็นพระบุตรี | เมืองดาหาธานีแน่นอน |
ด้วยท้าวจรกามาขอไว้ | เห็นจะให้วาดรูปไปดูก่อน |
จึงตกอยู่กลางหนทางจร | ที่ต่อแดนพระนครของเรานั้น |
อันพระบุตรีเมืองดาหา | งามล้ำธิดาทุกเขตขัณฑ์ |
เดิมทีองค์ท้าวกุเรปัน | ตุนาหงันให้ระเด่นมนตรี |
พระสลัดตัดขาดไม่ปรารถนา | หนีไปอยู่หมันหยากรุงศรี |
องค์ท้าวดาหาธิบดี | ภูมีเศร้าสร้อยน้อยพระทัย |
จรกาสืบรู้ไปสู่ขอ | ท้าวจึงยกยอมให้ |
เขาหรืออยู่รู้ทั่วทั้งเวียงชัย | บัดนี้ยังมิได้แต่งการ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวกะหมังกุหนิงได้ฟังสาร |
ชื่นชมภิรมย์เบิกบาน | จึงมีพจมานแก่เสนา |
ด้วยระเด่นมนตรีไม่เลี้ยงนาง | ฝ่ายข้างจรกาจึงมาว่า |
เราจะไปตุนาหงันกัลยา | แล้วแต่พระบิดาจะปลงใจ |
ถึงจะรบจรกาล่าสำนั้น | จะเกรงฝีมือกันก็หาไม่ |
จึงให้แต่งราชสารเป็นการไว | แจ้งในข้อความตามจำนง |
จัดทั้งบรรณาการสิ่งของ | เลือกล้วนที่ต้องพระประสงค์ |
ส่งกระดาษวาดรูปนางโฉมยง | ให้ยาสาตำมะหงงไคลคลา |
ตรัสบอกไปนอกสารศรี | เสนีจงทูลท้าวดาหา |
แม้นมิปลงพระทัยให้ธิดา | เราจะยกโยธาไปชิงชัย |
แล้วผันพระพักตรามาตรัสสั่ง | ดะหมังเสนาอัชฌาสัย |
เร่งไปบอกพระน้องสองกรุงไกร | กับเมืองขึ้นน้อยใหญ่ของเรานั้น |
ให้ยกโยธามาบรรจบ | สมทบกระบวนทัพขันธ์ |
สั่งเสร็จเสด็จจรจรัล | มาสุวรรณปราสาทพระโอรส ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ขึ้นบนบัลลังก์นั่งใกล้ | แล้วเล่าเหตุไปให้ฟังหมด |
เจ้าอย่าโศกศัลย์รันทด | จะได้ดังมโนรถจินดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ตำมะหงงเสนียาสา |
เรียกอาลักษณ์ที่มีฝีมือมา | จารึกสาราลงลานทอง |
เกณฑ์เจ้าพนักงานทหารใน | ทำหีบสิบห้าใบใส่สิ่งของ |
ให้เตรียมเกวียนโคต่างช้างจำลอง | สั่งไปทุกกองให้พร้อมกัน |
แล้วม้วนรูปวาดกับราชสาร | ใส่กลองรองพานผูกถือมั่น |
บรรณาการต่างต่างทุกอย่างนั้น | เอาลงหีบกำปั่นลั่นกุญแจ |
ครั้นเสร็จสำเร็จได้ฤกษ์ดี | ทั้งสองเสนีขึ้นขี่แคร่ |
บ่าวตามเป็นขนัดอัดแอ | บ้างแห่นำหน้าจรลี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ ฝ่ายดะหมังจัดแจงแต่งเสนา | ให้ไปทูลอนุชาทั้งสองศรี |
บอกบรรดาเมืองขึ้นทุกธานี | ตามมีรับสั่งภูวไนย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีธิบดีน้อยใหญ่ |
รับคำอำลาคลาไคล | ขึ้นม้ารีบไปไม่หยุดยั้ง ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงเวียงชัยพระอนุชา | ปะหมันนัคราและปาหยัง |
จึงตรงเข้าไปในวัง | แจ้งข้อรับสั่งแก่เสนี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | อำมาตย์ได้ฟังถ้วนถี่ |
ก็เข้าไปทูลแถลงแจ้งคดี | ซึ่งจะมีการณรงค์สงคราม ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระตูปาหยังชาญสนาม |
ท้าวปะหมันสลัดลือนาม | ครั้นแจ้งความถ้วนถี่ที่มีมา |
จึงให้ผูกช้างต้นคชาธาร | ตรวจเตรียมทวยหาญอาสา |
เราจะยกพยุหบาตรยาตรา | ไปช่วยพระเชษฐาชิงชัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนารับสั่งบังคมไหว้ |
ออกมาเร่งรัดจัดพลไกร | ทุกหมู่หมายนายไพร่พร้อมกัน |
บ้างเบิกลูกเบิกดินหินผา | หมวกเสื้อสาตราทุกสิ่งสรรพ์ |
แล้วผูกคชาธารสารซับมัน | มาเทียบเกยสุวรรณรูจี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ระตูปาหยังเรืองศรี |
ท้าวปะหมันสลัดภูมี | มาเข้าที่สระสรงคงคา |
ทรงสุคนธ์รวยรินกลิ่นเกลา | แล้วสอดสนับเพลาภูษา |
ทรงเครื่องประดับองค์อลงการ์ | พระหัตถ์ขวากุมกริชฤทธิรณ |
เสด็จมาเกยรัตน์ชัชวาล | ทวยหาญตั้งโห่สามหน |
พระขึ้นสู่คชสารชาญชน | ให้เคลื่อนพลกองหน้าจรจรัล ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ ฝ่ายระตูเมืองขึ้นทั้งปวงหมด | ก็ยกจากชนบทเขตขัณฑ์ |
เสียงสนั่นลั่นฆ้องเป็นสำคัญ | บรรจบกันทางร่วมทุกทัพไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ รีบร้นพลมาไม่หยุดยั้ง | ถึงกะหมังกุหนิงกรุงใหญ่ |
พร้อมกันทุกกองทัพชัย | สองระตูภูวไนยก็ปรีดา |
ต่างองค์ลงจากช้างต้น | กับพระยาสามนต์พร้อมหน้า |
เข้าในพระโรงรัตนา | บังคมพระเชษฐาธิบดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวกะหมังกุหนิงเรืองศรี |
เสด็จเหนือแท่นรัตน์มณี | ภูมีเห็นสองอนุชา |
จึงตรัสเรียกให้นั่งร่วมอาสน์ | สำราญราชหฤทัยหรรษา |
แล้วปราศรัยระตูบรรดามา | ยังปรีดาผาสุกหรือทุกข์ภัย |
ซึ่งเราให้หามาทั้งนี้ | จะไปตีดาหากรุงใหญ่ |
ระตูทุกนครอย่านอนใจ | ช่วยเราชิงชัยให้ทันการ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | เหล่าระตูปรีดิ์เปรมเกษมศานต์ |
จึงสนองมธุรสพจมาน | พระมีการสงครามแต่ละครั้ง |
จะตั้งหน้าอาสาออกชิงชัย | มิได้ย่อท้อถอยหลัง |
สู้ตายไม่เสียดายชีวัง | กว่าจะสิ้นกำลังของข้านี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวกะหมังกุหนิงเรืองศรี |
ฟังระตูทูลตอบชอบที | สมถวิลยินดีปรีดา |
จึงตรัสว่าท่านมาเหนื่อยนัก | จงไปพักพลขันธ์ให้หรรษา |
ตรัสพลางทางชวนอนุชา | เจ้ามหาปราสาทรูจี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงนั่งบนแท่นทอง | กับด้วยพระน้องทั้งสองศรี |
จึงตรัสเล่าความตามคดี | จนใช้เสนีถือสารไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองกษัตริย์ฟังแจ้งแถลงไข |
จึงทูลขัดทัดทานทันใด | เป็นไฉนผ่านเกล้ามาเบาความ |
อันสุริย์วงศ์เทวัญอสัญหยา | เรืองเดชเดชาชาญสนาม |
ทั้งโยธีก็ชำนาญการสงคราม | ลือนามในชวาระอาฤทธิ์ |
กรุงกษัตริย์ขอขึ้นก็นับร้อย | เราเป็นเมืองน้อยกะจิหริด |
ดังหิ่งห้อยจะแข่งแสงอาทิตย์ | เห็นผิดระบอบบุราณมา |
ใช่จะไร้ธิดาทุกธานี | มีงามแต่บุตรีท้าวดาหา |
พระองค์จงควรตรึกตรา | ไพร่ฟ้าประชากรจะร้อนนัก ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวกะหมังกุหนิงมีศักดิ์ |
จึงบ่ายเบี่ยงเลี่ยงตอบพระน้องรัก | ใช่จะหาญหักวงศ์เทวัญ |
ด้วยบัดนี้บุตรีดาหา | จรกาให้มาตุนาหงัน |
เราจะยกพลไกรไปโรมรัน | ช่วงชิงนางนั้นกับจรกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองระตูทูลตอบพระเชษฐา |
เมื่อนางยังอยู่กับบิดา | ที่ในดาหากรุงไกร |
แม้นเกิดสงครามช่วงชิง | ท้าวดาหาหรือจะนิ่งดูได้ |
จะบอกความไปสามเวียงชัย | กรีธาทัพใหญ่มามากมาย |
จะเป็นศึกกระหนาบหน้าหลัง | เหลือกำลังโยธาทั้งหลาย |
ถ้าเสียทีเพลี่ยงพล้ำสิซ้ำร้าย | จะอัปยศอดอายแก่จรกา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวกะหมังกุหนิงนาถา |
จึงตรัสตอบสองพระน้องยา | ซึ่งว่านี้เจ้าไม่เข้าใจ |
อันระเด่นมนตรีกุเรปัน | ก็ขัดข้องเคืองกันเป็นข้อใหญ่ |
ไปอยู่เมืองหมันหยากว่าปีไป | ที่ไหนจะยกพลมา |
แต่กาหลังสิงหัดส่าหรี | จะกลัวดีเป็นกระไรหนักหนา |
ฝ่ายเราเล่าก็สามพารา | เป็นใหญ่ในชวาแว่นแคว้น |
ถึงทัพจรกาล่าสำนั้น | พี่ไม่พรั่นให้มาสักสิบแสน |
จะหักโหมโจมตีให้แตกแตน | พักเดียวก็จะแล่นเข้าป่าไป |
เจ้าอย่าย่อท้อไม่พอที่ | แต่เพียงนี้ไม่พรั่นหวั่นไหว |
เอ็นดูนัดดาโศกาลัย | ว่ามิได้อรไทจะมรณา |
แม้นวิหยาสะกำมอดม้วย | พี่ก็คงตายด้วยโอรสา |
ไหนไหนนัยจะตามวายชีวา | ถึงเร็วถึงช้าก็เหมือนกัน |
ผิดก็ทำสงครามดูตามที | เคราะห์ดีก็จะได้ดังใฝ่ฝัน |
พี่ดังพฤกษาพนาวัน | จะอาสัญเพราะลูกเหมือนกล่าวมา ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองกษัตริย์ฟังตรัสพระเชษฐา |
จะเซ้าซี้ก็จะขัดพระอัชฌา | ต่างกัมพักตราไม่พาที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวกะหมังกุหนิงเรืองศรี |
ชวนสองอนุชาธิบดี | เข้าสู่ที่บรรทมสำราญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายทูตจำทูลราชสาร |
เดินทางอรัญกันดาร | รีบมาประมาณสิบห้าวัน |
ครั้นถึงด่านดาหาธานี | ก็หยุดยั้งโยธีอยู่ที่นั่น |
จึงบอกแก่ขุนด่านด้วยพลัน | ตามบัญชาใช้ให้มา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ขุนด่านซึ่งพิทักษ์รักษา |
ถามไถ่ไม่แคลงแจ้งกิจจา | ก็ขึ้นม้าควบขับเข้าธานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงศาลาลูกขุนใน | จึงกราบไหว้เสนาทั้งสี่ |
แล้วเรียนเรื่องความตามมี | ถ้วนถี่แถลงให้แจ้งใจ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ทั้งสี่เสนีผู้ใหญ่ |
ได้ฟังกิจจาก็คลาไคล | เข้าไปยังท้องพระโรงคัล |
ก้มเกล้าประณตบทบงสุ์ | พระผู้วงศ์เทวากระยาหงัน |
ทูกว่าท้าวกะหมังกุหนิงนั้น | แต่งเครื่องสุวรรณบรรณาการ |
ให้ทูตถือมาถึงธานี | บัดนี้ยังหยุดอยู่ที่ปลายด่าน |
จะขอเข้ามาเฝ้าบทมาลย์ | พระผู้ผ่านเขตขัณฑ์สวรรยา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระองค์ทรงพิภพดาหา |
จึงตรัสสั่งดะหมังเสนา | เร่งไปรับเข้ามาบัดนี้ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ดะหมังรับสั่งใส่เกศี |
ก้มเกล้ากราบงามสามที | มากะเกณฑ์ตามมีพจมาน |
จัดเครื่องแห่แหนต่างต่าง | ตามอย่างเคยรับราชสาร |
ครั้นเสร็จพร้อมกันมิทันนาน | ให้เจ้าพนักงานรีบไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีนายร้อยน้อยใหญ่ |
นำกระบวนโยธาคลาไคล | ออกจากเวียงชัยฉับพลัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงแจ้งกิจจา | แก่ทูตานุทูตคนขยัน |
แล้วคำนับรับราชสารพลัน | แห่แหนแน่นนันต์เข้าธานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ พาไปสู่ศาลาที่อาศัย | ทั้งนายไพร่เป็นสุขเกษมศรี |
จ่ายเสบียงเลี้ยงเหล่าโยธี | มิให้มีเดือดร้อนวิญญาณ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ตำมะหงงดะหมังยาสา |
ครั้นถึงวันแขกเมืองจะเข้ามา | ก็ตรวจตราตามเคยเหมือนทุกครั้ง |
ให้ผูกเครื่องม้าช้างนางพระยา | เอาพานทองรองหญ้าเข้ามาตั้ง |
บรรดาโรงปืนใหญ่ที่ในวัง | เกณฑ์ฝรั่งอยู่ประจำรายไป |
เหล่านั่งกลาบาตรนั้นจัดแจง | เอาเสื้อแดงหมวกแดงมาให้ใส่ |
ราชวัติรายคั่นกันไว้ | พนักงานของใครก็ตรวจดู |
บ้างตกแต่งปราสาทราชฐาน | เพดานระย้าย้อยห้อยพู่ |
พรมเจียมสะอาดลาดปู | แท่นที่นั่งตั้งอยู่ท่ามกลาง |
เครื่องอานพานพระศรีแลพระแสง | จัดแจงแต่งตั้งตามยศอย่าง |
ผูกม่านสุวรรณกั้นกาง | พวกขุนนางนั่งเฝ้าเป็นเหล่ามา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระองค์พรงพิภพดาหา |
ครั้นสุริย์ฉายบ่ายสามนาฬิกา | ก็โสรจสรงคงคาอ่าองค์ |
ทรงเครื่องประดับสรรพเสร็จ | แล้วเสด็จย่างเยื้องยูรหงส์ |
ออกยังพระโรงคัลบรรจง | นั่งลงบนบัลลังก์รูจี |
ยาสาบังคมบรมนาถ | เบิกทูตถือราชสารศรี |
จึงดำรัสตรัสสั่งไปทันที | ให้เสนีนำแขกเมืองมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | อำมาตย์รับสั่งใส่เกศา |
ออกไปพาสองทูตา | เข้ามาประณตบทมาลย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีผู้ใหญ่ฝ่ายทหาร |
จึงให้อาลักษณ์พนักงาน | รับราชสารมาอ่านพลัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ช้า
๏ ในสารพระผู้ผ่านนคเรศ | กะหมังกุหนิงนิเวศน์เขตขัณฑ์ |
ขอถวายประนมบังคมคัล | พระผู้วงศ์เทวัญศักดา |
ไม่ควรเคืองเบื้องบาทบทศรี | ด้วยข้าน้อยนี้มีโอรสา |
เดิมไปไล่ล้อมมฤคา | ได้รูปพระธิดาในกลางไพร |
ชะรอยเป็นบุพเพนิวาสา | เทวาอารักษ์มาชักให้ |
มีความเสนหาอาลัย | แต่หลงใหลใฝ่ฝันรันทด |
หวังเป็นเกือกทองรองบาทา | พระผู้วงศ์เทวาอันปรากฏ |
จะขอพระบุตรีมียศ | ให้โอรสข้าน้อยดังจินดา |
อันกรุงไกรไอศูรย์ทั้งสอง | จะเป็นทองแผ่นเดียวไปวันหน้า |
ขอพำนักพักพึ่งพระเดชา | ไปกว่าชีวันจะบรรลัย ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | องค์ศรีปัตหราเป็นใหญ่ |
ฟังสารทราบอรรถแล้วตรัสไป | แก่เสนาในทั้งสองนั้น |
อันอะหนะบุษบาบังอร | ครั้งก่อนจรกาตุนาหงัน |
ได้ปลดปลงลงใจให้ปัน | นัดกันจะแต่งการวิวาห์ |
ซึ่งจะรับของสู่ระตูนี้ | เห็นผิดประเพณีหนักหนา |
ฝูงคนทั้งแผ่นดินจะนินทา | สิ่งของที่เอามาจงคืนไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ทูตานุทูตแถลงไข |
ท้าวกะหมังกุหนิงภูวไนย | สั่งให้ข้าทูลพระภูมี |
ถ้าแม้นมิยินยอมอนุญาต | ให้พระราชธิดามารศรี |
เร่งระวังพระองค์ให้จงดี | ตกแต่งบุรีให้มั่นคง ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระผู้ผ่านไอศูรย์สูงส่ง |
ประกาสิตสีหนาทอาจอง | จะณรงค์สงครามก็ตามใจ |
ตรัสพลางย่างเยื้องยุรยาตร | จากอาสน์แท่นทองผ่องใส |
พนักงานปิดม่านทันใด | เสด็จเข้าข้างในฉับพลัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | ทูตานุทูตก็ผายผัน |
ออกจากพาราดาหานั้น | พากันกลับไปมิได้ช้า ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์ศรีปัตหรา |
เผยสีหบัญชรแล้วบัญชา | ตรัสสั่งเสนาธิบดี |
จงเร่งไปทูลเหตุพระเชษฐา | อีกองค์อนุชาทั้งสองศรี |
บอกระตูจรกาอย่าช้าที | ว่าไพรีจะยกมาชิงชัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาสี่นายบังคมไหว้ |
มาขึ้นม้าเร็วรีบไป | ออกจากกรุงไกรพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงสิงหัดส่าหรี | ก็ลงจากพาชีขมีขมัน |
ให้ยาสาพาเข้าไปเฝ้าพลัน | บังคมคัลทูลแถลงแจ้งกิจจา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสิงหัดส่าหรีนาถา |
ครั้นทราบดังนั้นจึงบัญชา | เสนาเร่งกลับไปฉับไว |
ทูลพระเชษฐาสุริย์วงศ์ | อย่าให้ทรงพระวิตกหมกไหม้ |
เราจะให้สุหรานากงไป | ช่วยพระชิงชัยด้วยไพรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาประณตบทศรี |
บังคมลามาขึ้นพาชี | รีบไปบุรีไม่หยุดยั้ง ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายอำมาตย์ที่มากาหลัง |
ครั้นถึงนคเรศนิเวศน์วัง | ก็ไปยังพระโรงรัตน์ชัชวาล |
จึงบังคมก้มเกล้าเคารพ | พระองค์ทรงพิภพราชฐาน |
ทูลแถลงแจ้งเหตุทุกประการ | ให้ทราบบทมาลย์พระผ่านฟ้า ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวกาหลังฟังแจ้งไม่กังขา |
จึงมีพจนารถประภาษมา | พระเชษฐาทำผิดจะโทษใคร |
เอาอะหนะไปยกให้ระตู | ศัตรูจึงประมาทหมิ่นได้ |
แล้วสั่งตำมะหงงเสนาใน | เร่งตรวจเตรียมทัพชัยอย่าช้าที |
ท่านเป็นแม่ทัพกับดะหมัง | ยกไปยังดาหากรุงศรี |
สั่งเสร็จเสด็จจรลี | เข้าปราสาทมณีพรายพรรณ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายเสนาม้าใช้คนขยัน |
รีบมาถึงเมืองกุเรปัน | จึงแจ้งความทั้งนั้นแก่เสนา |
แล้วพากันคลาไคลเข้าไปเฝ้า | ก้มเกล้าบังคมเหนือเกศา |
กราบทูลคดีซึ่งมีมา | ให้ทราบบาทาทุกประการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระปิ่นภพกุเรปันราชฐาน |
แจ้งว่าไพรีมารอนราญ | พระจึงให้แต่งสารหนังสือลับ |
ครั้นเสร็จสั่งสองเสนา | จงถือไปหมันหยาสองฉบับ |
ใบหนึ่งนั้นเร่งกองทัพ | กำชับอิเหนาให้ยกมา |
ใบหนึ่งนั้นไปให้ระตู | ท้าวผู้ผ่านเมืองหมันหยา |
จงรีบไปให้ถึงพารา | แต่ในสิบห้าราตรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ดะหมังรับสั่งใส่เกศี |
จึงนำสาราจรลี | มาจากที่พระโรงชัยฉับพลัน |
เรียกหาบ่าวไพร่ได้พร้อมหน้า | ดะหมังขึ้นขี่ม้าผายผัน |
ออกจากนคเรศกุเรปัน | พากันเร่งรีบคลาไคล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวกุเรปันเป็นใหญ่ |
ครั้นดะหมังเสนาทูลลาไป | พระตรึกไตรในคดีด้วยปรีชา |
แล้วตรัสแก่กะหรัดตะปาตี | อันสงครามครั้งนี้เห็นหนักหนา |
จะเปลี่ยวเปล่าเศร้าใจอนุชา | ไม่มีที่จะปรึกษาหารือใคร |
เจ้าจงยกพลขันธ์ไปบรรจบ | สมทบทัพอิเหนาให้จงได้ |
ชวนกันยกรีบเร็วไป | อย่าทันให้ปัจจามิตรติดพารา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | กะหรัดตะปาตีโอรสา |
ก้มเกล้าทูลสนองพระบัญชา | จะถวายบังคมลาพรุ่งนี้ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระปิ่นภพกุเรปันกรุงศรี |
ฟังโอรสาพาที | จึงตรัสสั่งเสนีทันใด |
จงเร่งเกณฑ์พวกพหลรณยุทธ์ | ให้สรรพด้วยอาวุธน้อยใหญ่ |
กำหนดกันให้ทันยกไป | แต่ในย่ำรุ่งสุริยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ปาเตะรับสั่งใส่เกศา |
รีบออกไปยังศาลา | ให้หาพันพุฒกับพันพรหม ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
ยานี
๏ เร่งรัดขุนหมื่นสัสดี | ทำบัญชีหางว่าวเหล่าเลกสม |
เกณฑ์ทหารพลเรือนเตือนระดม | มาพร้อมกันทุกกรมมากมาย |
ขุนนางเจ้าตำแหน่งแสงนอก | เอาดาบหอกปืนผาออกมาจ่าย |
หมวกเสื้อสำหรับรบครบไพร่นาย | แจกจำหน่ายลูกดินศิลา |
ผู้กำกับนับอ่านประมาณคน | ได้สิบหมื่นพื้นพลอาสา |
ตั้งกองท้องสนามตามตำรา | เตรียมรถคชาพาชี |
ให้ผูกสินธพที่นั่งทรง | พร้อมขนัดจัตุรงค์อึงมี่ |
ที่บ่าวไพร่ใครมาไม่ทันที | นายหมวดตรวจตีกันวุ่นไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | กะหรัดตะปาตีศรีใส |
ครั้นรุ่งรางสุริยาก็คลาไคล | เข้าในที่สนานสำราญองค์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ รดชำระมลทินอินทรีย์ | มุรธาวารีภิเษกสรง |
ลูบไล้เสาวคนธ์ธารทรง | บรรจงสอดซับสนับเพลา |
ภูษายกพื้นดำอำไพ | สอดใส่ฉลององค์ทรงวันเสาร์ |
เจียระบาดคาดรัดหน่วงเนา | ปั้นเหน่งเพชรเพริศเพราพรรณราย |
ตาบทิศทับทรวงห่วงห้อย | สวมสร้อยสังวาลประสานสาย |
ทองกรแก้วกิ่งพริ้งพราย | ธำมรงค์เรืองรายพลอยเพชร |
ทรงชฎามาลัยดอกไม้ทัด | กรรเจียกจอนจำรัสตรัสเตร็จ |
เหน็บพระแสงกั้นหยั่นกัลเม็ด | แล้วเสด็จขึ้นเฝ้าพระบิดา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
ร่าย
๏ ก้มเกล้าเคารพอภิวาท | พระปิ่นภพภูวนาถนาถา |
ยับยั้งคอยฟังพระวาจา | จะบัญชาให้ยกโยธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวกุเรปันเรืองศรี |
จึงอำนวยอวยพรสวัสดี | ให้เจ้ามีเดชาวราฤทธิ์ |
อันเหล่าศัตรูหมู่ร้าย | จงแพ้พ่ายอย่ารอต่อติด |
อานุภาพปราบปรามไปทั่วทิศ | ปัจจามิตรจงเกรงฤทธิรอน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | กะหรัดตะปาตีชาญสมร |
กราบถวายบังคมประนมกร | รับพรพระบิดาแล้วคลาไคล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงเกยชาลาหน้าพระลาน | พร้อมหมู่ทวยหาญน้อยใหญ่ |
เสด็จทรงมิ่งม้าอาชาไนย | ให้เคลื่อนพลไกรยาตรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ รอนแรมมาในพนาเวศ | ถึงทางร่วมนคเรศหมันหยา |
พระสั่งให้หยุดพลโยธา | คอยท่าทัพระเด่นมนตรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ฝ่ายดะหมังสิงหัดส่าหรี |
เร่งกะเกณฑ์พลขันธ์ทันที | ตามบัญชีใหม่เก่าเข้างบ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ยานี
๏ เลือกเหล่าอาสาล้วนกล้าหาญ | วิชาการโล่เขนเจนจบ |
แปดหมื่นพื้นสกรรจ์ครันครบ | เคยรุกรบไพรีมีฝีมือ |
ไพร่นายชำนาญในการยุทธ์ | เลือกหาอาวุธสำหรับถือ |
ทดลองคะนองศึกฝึกปรือ | แต่ออกชื่อไพรีก็ดีใจ |
ตั้งกองเต็มท้องสนามนอก | ทวนธงดาบหอกออกไสว |
ม้าช้างต่างตรวจเตรียมไว้ | ปืนใหญ่ใส่ล้อล้อลากมา |
เกณฑ์ถ้วนกระบวนทัพหน้าหลัง | พร้อมพรั่งปีกซ้ายปีกขวา |
ผูกสินธพประทับเกยลา | คอยท่ารับเสด็จจรลี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | สุหรานากงเรืองศรี |
ครั้นอรุณรุ่งราษราตรี | ก็เข้าที่สระสรงคงคา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ สระสรงทรงสุคนธ์ปนทอง | ชมพูนุทผุดผ่องมังสา |
สอดใส่สนับเพลาเพราตา | ภูษาเชิงกรวยรูจี |
ฉลององค์โหมดม่วงดวงระยับ | เจียระบาดคาดทับสลับสี |
ปั้นเหน่งลงยาราชาวดี | ทับทรวงดวงมณีเจียระไน |
สังวาลเพชรพรรณรายสายสร้อย | เฟื่องห้อยพลอยแดงแสงใส |
ทองกรพุกามแก้วแววไว | สอดใส่เนาวรัตน์ธำมรงค์ |
ทรงชฎาประดับเพชรเตร็จตรัส | ห้อยทัดพวงสุวรรณตันหยง |
ถือเช็ดหน้าเหน็บกริชฤทธิรงค์ | มาทรงมโนมัยชัยชาญ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ ได้ฤกษ์ให้เลิกโยธี | แสนสุรเสนีทวยหาญ |
เข้าในไพรระหงดงดาน | ข้ามห้วยเหวธารผ่านไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ตำมะหงงกาหลังกรุงใหญ่ |
ทั้งดะหมังมหาเสนาใน | เร่งเกณฑ์ทัพชัยฉับพลัน |
จัดทหารอาสาได้ห้าหมื่น | แต่พื้นกำแหงแข็งขัน |
ช้างม้าอาวุธครบครัน | ธงสำคัญคอยนำดำเนินพล |
ทั้งสองเสนีขึ้นขี่ม้า | โยธาเยียดยัดอัดถนน |
ทนายเดินเคียงข้างกางสัปทน | ยกพลออกจากพารา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ มาถึงทางร่วมริมดง | พบสุหรานากงวงศา |
สามทัพสมทบโยธา | ยกล่วงมรรคามาพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ทั้งสองทูตาคนขยัน |
ซึ่งถือสารไปเมืองดาหานั้น | พากันรีบกลับมาฉับไว |
ถึงกะหมังกุหนิงนคเรศ | มายังนิเวศน์วังใหญ่ |
พอเวลาเฝ้าท้าวไท | ก็เข้าไปในพระโรงรจนา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ จึงประนมก้มเกล้าเคารพ | ทูลพระองค์ทรงภพนาถา |
ข้าไปได้ถวายสารา | ท้าวดาหาทราบสิ้นทุกประการ |
ตรัสขาดว่าราชบุตรี | จรกาธิบดีมากล่าวขาน |
พระยกให้ได้กำหนดนัดงาน | ยังแต่จะแต่งการวิวาห์กัน |
บรรดาของถวายนั้นไม่รับ | ส่งกลับคืนมาทุกสิ่งสรรพ์ |
มิได้คิดเกรงองค์พระทรงธรรม์ | บากบั่นสลัดตัดรอน |
ข้าทูลความตามสั่งนอกสารา | ว่ามิให้พระธิดาดวงสมร |
จงเร่งตกแต่งพระนคร | รับทัพภูธรจะยกมา |
จะชิงนางโฉมยงให้จงได้ | ใครมีชัยก็จะสมปรารถนา |
ท้าวตรัสว่าตามแต่วิญญาณ์ | พระราชาจงทราบบาทมูล ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวกะหมังกุหนิงนเรนทร์สูร |
ได้ฟังทั้งสองทูตทูล | ให้อาดูรเดือดใจดังไฟฟ้า |
จึงบัญชาตรัสด้วยขัดเคือง | ดูดู๋เจ้าเมืองดาหา |
เราอ่อนง้อขอไปในสารา | แต่ว่าจะรับไว้ก็ไม่มี |
ถึงจรกามากล่าวนางไว้ | ได้ยกให้เขาก่อนก็ควรที่ |
จะโอภาปราศรัยมาให้ดี | นี่สิตัดไมตรีให้ขาดทาง |
เราก็เรืองฤทธาศักดาเดช | อาณาจักรนัคเรศกว้างขวาง |
จำต้องมีมานะไม่ละวาง | จะชิงนางบุษบาลาวัณย์ |
แม้นมิได้สมคิดดังจิตปอง | ไม่คืนครองกรุงไกรไอศวรรย์ |
จะสงครามตามตีติดพัน | ไปกว่าชีวันจะบรรลัย ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สองทูตทูลแจ้งแถลงไข |
ข้าได้ยินตระหนักประจักษ์ใจ | ท้าวดาหาตรัสใช้เสนี |
ให้รีบไปแจ้งเหตุพระเชษฐา | กับพาราสิงหัดส่าหรี |
อนุชากาหลังธิบดี | อีกบุรีระตูจรกา |
เห็นกษัตริย์ทั้งสี่ธานีนั้น | จะมาช่วยป้องกันกรุงดาหา |
เมื่อวันข้าออกจากเมืองมา | เสนาก็ไปพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวกะหมังกุหนิงแข็งขัน |
ได้ฟังกริ้วโกรธดังเพลิงกัลป์ | จึงกระชั้นสีหนาทประภาษไป |
ถึงว่ากษัตริย์ทั้งสี่กรุง | จะมาช่วยรบพุ่งเป็นศึกใหญ่ |
กูก็ไม่ครั่นคร้ามขามใคร | จะหักไปให้เป็นภัสม์ธุลีลง |
ว่าพลางทางมีพจนารถ | สั่งอำมาตย์ดะหมังตำมะหงง |
เร่งเกณฑ์พวกพลรณรงค์ | ที่สามารถอาจองในสงคราม |
เลือกสรรโยธีทั้งสี่หมู่ | เคยทำลายค่ายคูขวากหนาม |
แต่กองร้อยรบพันไม่ครั่นคร้าม | ให้ครบสามสิบหมื่นพื้นตัวดี |
เอาวิหยาสะกำเป็นกองหน้า | ตรวจตราเตรียมกระบวนถ้วนถี่ |
อันกองหลังรั้งพลมนตรี | ทั้งสองศรีอนุชาผู้ใจภักดิ์ |
กูจะเป็นจอมพลโยธา | หนุนทัพลูกยาเข้าโหมหัก |
ไม่เกรงวงศ์เทวาสุรารักษ์ | ให้ปรากฏยศศักดิ์เสียครั้งนี้ |
ครั้นเสร็จสั่งมหาเสนา | จึงถามขุนโหราทั้งสี่ |
เราจะยกพลไกรไปต่อตี | พรุ่งนี้ดีร้ายประการใด ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พระโหราราชครูผู้ใหญ่ |
รับรสพจนารถภูวไนย | คลี่ตำรับขับไล่ไปมา |
เทียบดูดวงชะตาพระทรงยศ | กับโอรสถึงฆาตชันษา |
ทั้งชั้นโชคโยคยามยาตรา | พระเคราะห์ขัดฤกษ์พาสารพัน |
จึงทูลว่าถ้ายกวันพรุ่งนี้ | จะเสียชัยไพรีเป็นแม่นมั่น |
งดอยู่อย่าเสด็จสักเจ็ดวัน | ถ้าพ้นนั้นก็เห็นไม่เป็นไร |
ขอพระองค์จงกำหนดงดยาตรา | ฟังคำโหราหาฤกษ์ใหม่ |
อันการยุทธ์ยิงชิงชัย | หนักหน่วงน้ำพระทัยดูให้ดี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวกะหมังกุหนิงเรืองศรี |
ได้ฟังโหราพาที | จึงมีพจนารถประภาษไป |
เมื่อเราบัญชาการกำหนดทัพ | แล้วจะกลับงดอยู่อย่างไรได้ |
อายแก่ไพร่ฟ้าเสนาใน | จะว่ากลัวฤทธิไกรไพริน |
จำจะไปต้านต่อรอฤทธิ์ | ถึงม้วยมิดมิให้ใครดูหมิ่น |
เกียรติยศจะไว้ในธานินทร์ | จะสุดสิ้นดินแดนแผ่นฟ้า |
ประการหนึ่งถ้าว่าช้าวันไป | ทัพใหญ่จะมาพร้อมยังดาหา |
จะต้องหักหนักมือโยธา | เห็นจะยากยิ่งกว่านี้ไป |
สุดแท้แต่บุญกับกรรม | จะฟังคำโหรานั้นหาไม่ |
ตรัสพลางเสด็จคลาไคล | เข้าในไพชยนต์มนเทียรทอง ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | ตำมะหงงดะหมังทั้งสอง |
ให้ประชุมนายทัพนายกอง | พร้อมกันที่ท้องสนามใน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ยานี
๏ จึงเกณฑ์กำหนดกฎหมาย | ทุกมุลนายตรวจตราหาไพร่ |
หมวดหมู่ผู้คนของใคร | จะบอกขาดป่วยไข้นั้นไม่ฟัง |
ที่มีเกวียนเกณฑ์บรรทุกลำเลียง | ใส่เสบียงครบคนละสิบถัง |
ไพร่หลวงต่างกรมสมกำลัง | พร้อมพรั่งแออัดขนัดปืน |
บ้างจัดหาหอกดาบหาบคอน | จอบพร้าผ้าผ่อนหลายผืน |
เอาโคต่างช้างม้าออกมายืน | คั่งคับนับหมื่นมากมาย |
พวกกองนอกนั้นเกณฑ์ทำทาง | ปลูกฉางถางที่ตั้งค่าย |
แบ่งกองป้องกันอันตราย | ไพร่นายทั้งปวงให้ล่วงไป |
จัดถ้วนกระบวนทัพหน้าหลัง | กองฝรั่งตั้งเตรียมปืนใหญ่ |
แล้วเทียมรถประทับกับเกยไว้ | สารวัตรตรวจไตรไปมา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | ท้าวกะหมังกุหนิงนาถา |
บรรทมตื่นฟื้นฟังนาฬิกา | พอเวลาย่ำรุ่งราตรี |
จึงตรัสเรียกโอรสยศยง | ชวนองค์อนุชาทั้งสองศรี |
ต่างเสด็จจากแท่นมณี | ไปเข้าที่โสรจสรงคงคาลัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ สี่องค์ชำระสระสนาน | สำราญสารพางค์ผ่องใส |
สุคนธากลิ่นฟุ้งจรุงใจ | ต่างใส่สนับเพลาเชิงงอน |
ภูษายกแย่งครุฑภุชงค์ | ฉลององค์ตาดโหมดม่วงอ่อน |
ผ้าทิพขลิบสลับซับซ้อน | ปั้นเหน่งค่าพระนครคาดรัด |
ทับทรวงสังวาลประดับเพชร | น้ำหนักแต่ละเม็ดเจ็ดกะรัต |
ทองกรมุกดาดวงช่วงชัด | ธำมรงค์เนาวรัตน์รจนา |
ทรงใส่ชฏาแก้วแพร้วพราย | กรรเจียกห้อยพลอยรายซ้ายขวา |
เหน็บกริชฤทธิไกรแล้วไคลคลา | เสด็จไปเกยชาลาหน้าพระลาน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ ต่างองค์ขึ้นทรงรถมณี | ให้จรลีกรีธาทวยหาญ |
ออกตามทิศพิธีโขลนทวาร | ล่วงด่านผ่านมาในอารญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ กราวนอก
โทน
๏ รถเอยราชรถแก้ว | ทั้งสี่รถพรายแพร้วเวหน |
บัลลังก์ลอยคล้อยเคลื่อนมากลางพล | งอนระหงธงบนสะบัดปลาย |
สารถีนั่งหน้าถือธนู | เทียมอาชาห้าคู่ผันผาย |
เครื่องสูงครบสิ่งเรียงราย | อภิรุมชุมสายพรายพรรณ |
กองหน้าแต่พื้นถือปืนแดง | ม้าแซงช้างเขนสลับคั่น |
กองหลวงกองหลังประดังกัน | ประโคมฆ้องกลองลั่นสนั่นดง |
ทันหนุนเนื่องแน่นพนาสิณฑ์ | ลูกดินหาบหามตามส่ง |
บ้างลากปืนจินดาจ่ารง | สำคัญธงนำหน้าคลาไคล ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
ร่าย
๏ มาถึงแดนเมืองบุหราหงัน | เขตขัณฑ์ดาหากรุงใหญ่ |
จึงตรัสสั่งเสนาบรรดาไป | หมวดกองของใครกำชับกัน |
หยุดไหนให้ตั้งค่ายนอน | ทุกสำนักพักผ่อนพลขันธ์ |
จะเดินทัพหน้าหลังทั้งนั้น | ให้กองพันกองร้อยระวังระไว |
เกลือกศัตรูจะจู่โจมตี | ในทางที่จะข้ามแม่น้ำใหญ่ |
ถึงช่องแคบช่องเขาเข้าแห่งไร | อย่าไว้ใจจัดกองออกป้องกัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | เสนาสามนต์คนขยัน |
รับสั่งพระองค์ทรงธรรม์ | มาบอกกันกำชับทัพชัย |
นายกองซ้ายขวาหน้าหลัง | คอยระวังมิให้เสียกระบวนได้ |
หยุดพลจัตุรงค์ลงไว้ | ตรวจไตรตามพระบัญชาการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพวกกองเกณฑ์ตระเวนด่าน |
นั่งทางอยู่กลางดงดาน | คอยเหตุเภทพาลไพรี |
ได้ยินเสียงฟันไม้ในไพรเพรียก | ก็ร้องเรียกพวกเพื่อนออกจากที่ |
มาแอบฟังริมฝั่งวารี | เสียงช้างม้ามี่อึงไป |
บ้างชวนกันขึ้นบนต้นไม้มอง | แลเห็นเป็นกองทัพใหญ่ |
หมายประมาณพวกพลสกลไกร | ดูไปไม่สิ้นสุดตา |
ต่างคนแจ้งใจในเหตุการณ์ | ก็ลนลานลงจากพฤกษา |
ค่อยเล็ดลอดดอดด้อมมองมา | ที่ชายดงพงคาป่าชัฏ |
พบคนสองคนด้นตัดไม้ | พร้อมกันออกไล่ล้อมสกัด |
รุมจับตัวได้ให้ผูกมัด | แล้วพาลัดเลาะป่ามานอกทาง ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้งมาถึงเมืองรีบมาหาผู้รั้ง | ให้บ่าวคุมคนนั่งอยู่ข้างล่าง |
ขุนด่านคลานขึ้นศาลากลาง | กราบพลางทางเรียนเนื้อความไป |
ข้าเลียบด่านพานพบกองทัพ | ก็ซุ่มอยู่จู่จับคนได้ |
ชาวกะหมังกุหนิงกรุงไกร | เห็นจะเป็นศึกใหญ่ยกมา |
ไพร่พลนับแสนแน่นดง | ทวนธงดงดาษไปทั้งป่า |
แต่ที่พบกองทัพกับพารา | แม้นว่าเดินลำลองก็สองวัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ระตูผู้รั้งบุหราหงัน |
ยกกระบัตรปลัดนั่งพร้อมกัน | ฟังข่าวคิดพรั่นอยู่ในใจ |
เจ้าเมืองจึงสั่งบังคับ | เอาตัวคนที่จับมันมาได้ |
ทำมะรงจงถามซักไซ้ | ว่าผู้ใดใครเป็นแม่ทัพ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ทำมะรงพร้อมพรั่งนั่งกำกับ |
เอาคนโทษออกมาถามตามบังคับ | บ้างสำทับขู่ว่าจะฆ่าตี |
พวกพลเท่าไรใครยกมา | เร่งว่าตามจริงจงถ้วนถี่ |
จะเป็นศึกเสนาธิบดี | หรือทัพท้าวเจ้าบุรียกมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ทั้งสองคนจวนตัวกลัวจะฆ่า |
ยกมือไหว้ใจนึกภาวนา | ให้การว่าตามจริงทุกสิ่งอัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ผู้รั้งฟังความเห็นเหมาะมั่น |
จึงปรึกษากรมการทั้งนั้น | จำจะคิดป้องกันเมืองไว้ |
ว่าพลางทางสั่งหลวงพล | เร่งแบ่งคนผ่อนครัวเสียจงได้ |
บ้านเมืองรายทางที่ห่างไกล | ออกไปบอกกันให้ทันที |
แล้วเกณฑ์คนเข้ามารักษาค่าย | จงรอบรายประจำทุกหน้าที่ |
ปืนผาอาวุธของใครมี | กริชกระบี่สำหรับมือให้ถือมา |
ข้าศึกสองคนที่จับได้ | มหาดไทยคุมตัวไปดาหา |
แต่งหนังสือบอกคดีตีตรา | รีบไปในเวลาพรุ่งนี้ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พระหลวงขุนหมื่นอึงมี่ |
รับคำผู้รั้งสั่งคดี | ต่างไปจากที่ศาลา |
บ้างกะเกณฑ์ผู้คนอลหม่าน | นายบ้านเที่ยวเร่งเรียกหา |
ทั้งนอกเมืองในเมืองเนื่องมา | พร้อมกันยังหน้าศาลากลาง |
ตัวนายจ่ายปืนสำหรับยุทธ์ | ตรวจเตรียมอาวุธต่างต่าง |
ยกปืนฉัตรชัยขึ้นใส่ราง | ผูกประจำที่ทางทุกป้อมไป |
บ้างบอกเหล่าชาวบ้านให้รู้ทั่ว | จงผ่อนครัววัวควายแอกไถ |
เร่งเก็บของข้าวอย่าเอาไว้ | อพยพยกไปในพรุ่งนี้ |
มหาดไทยให้ทำหนังสือบอก | จำลองลอกลงกระดาษถ้วนถี่ |
เรียกหาบ่าวไพร่ได้ทันที | ให้คุมไพรีที่จับมา |
จำตะโหงกใส่ลิ่มขื่อมือ | ผู้คุมถือเชือกเดินนำหน้า |
แล้วขุนมหาดไทยไปขึ้นม้า | เร่งรัดรีบพากับคลาไคล ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝูงคนชนบทน้อยใหญ่ |
ครั้นรู้ข่าวศึกมาไม่ไว้ใจ | บ้านช่องของใครก็ผ่อนครัว |
พวกผู้หญิงวิ่งหาแสรกคาน | ลนลานแบ่งเสบียงไว้ให้ผัว |
เอาผ้าคาดอกมั่นพันพัว | เตรียมตัวเก็บของใส่หาบคอน |
บ้างขนของน้าป้าย่ายาย | ฟืมฝ้ายฟูกเบาะเมาะหมอน |
ช่วยกันหาบหิ้วหอบที่นอน | ลูกอ่อนอุ้มจูงมารุงรัง |
บ้างชวนชักพรรคพวกพี่น้อง | ยักย้ายเงินทองไปเที่ยวฝัง |
ซุบซิบพูดกันมิให้ดัง | ซ่อนมิดปิดบังไม่บอกใคร |
เหล่าพวกแม่หม้ายไร้ลูกผัว | หาบคอนของตัวมาตามได้ |
เข้าประสมกรมการที่คุมไป | พูดจาเกลี่ยไกล่เป็นไมตรี |
ทุกถิ่นฐานบ้านเรือนรายทาง | ก็ยกครัววัวต่างออกจากที่ |
ทั้งครอบครัวหัวเมืองบรรดามี | อพยพหลบหนีเข้าป่าดง ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวกะหมังกุหนิงสูงส่ง |
หยุดสำนักพักพลจัตุรงค์ | ประทับแรมริมดงพงไพร |
ครั้นอรุณเรืองแรงแสงทอง | ให้ลั่นฆ้องสำคัญหวั่นไหว |
ทัพหน้าดำเนินธงชัย | คลายเคลื่อนพลไกรจรจรัล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงริมฝั่งคงคา | ฟากท่าหน้าเมืองบุหราหงัน |
เห็นป้อมค่ายคูรอบขอบคัน | หอรบนางจรัลเรียงราย |
จึงดำรัสตรัสสั่งบังคับ | แก่นายทัพนายกองทั้งหลาย |
เร่งข้ามพหลพลนิกาย | เดินค่ายเข้าประชิดติดพารา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีนายกองทัพหน้า |
ได้แจ้งแห่งราชบัญชา | ต่างคุมโยธามาทันใด |
วางกองเหนือน้ำประจำฝั่ง | ขุดสนามเพลาะบังปืนใหญ่ |
ลูกหาบเร่งรัดตัดไม้ | ขนส่งลงไปริมวารี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ชาวเมืองไม่ท้อถอยหนี |
ประจุปืนป้อมพลันทันที | หมายที่ท่าข้ามคนประชุม |
เห็นตรงทางแล้ววางปืนใหญ่ | ฉัตรชัยมณฑกนกคุ่ม |
จุดปืนหลักลั่นควันคลุ้ม | กลบกลุ้มไปกลางคงคา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พวกทหารชาญชัยใจกล้า |
พูนสนามเพลาะตั้งบังเข้ามา | วัดวาหน้าที่ทำการ |
บ้างลงหลักปักเรือกออกไป | ผ่าไม้ตีตะล่อมอลหม่าน |
ขนศิลามาใส่เป็นเสาตะพาน | ตะม่อค้ำซ้ำกรานขาทราย |
บนหลังรอดทอดตงเรียงชิด | ผูกบิดลูกชะเนาะเปลาะหวาย |
ที่น้ำลึกเป็นห้วงพ่วงแพราย | ทอดสายทุ่นถ่วงหน่วงรั้ง |
บ้างตีเรือกรัดขัดลายสาม | ปูพื้นตะพานข้ามไปถึงฝั่ง |
แล้วฉายที่ตลิ่งชันกันพัง | ประชิดตั้งค่ายตับขึ้นฉับพลัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | กรมการตัวนายในค่ายมั่น |
จัดแจงแบ่งคนได้สามพัน | ยกออกทะลวงฟันทันที |
ทหารปืนยืนยิงกลางแปลง | บ้างวิ่งเข้าโถมแทงจนถึงที่ |
ห้กด้านตะพานเรือกริมวารี | ต่อตีตะลุมบอนรอนรบ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พวกกองทัพรับไว้ไม่หลีกหลบ |
แย้งยิงปืนระดมสมทบ | รุกรบไพรีตีประดา |
เหล่าพวกลำลองกองแซง | ขับม้าทวนแทงแข่งหน้า |
แยกปืนหลีกเลยลงมา | กระหนาบข้างซ้ายขวาฝ่าแทง ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ชาวเมืองบุหราหงันขันแข็ง |
คนน้อยถอยล่อต่อแย้ง | แอบแฝงไม้ยิงหยุดรับ |
ผลัดกันรั้งหลังระวังทาง | หนีพลางวางปืนปล่อยตับ |
ตีฆ้องสำคัญสัญญาทัพ | ม้วนธงถอยกลับเข้าในเมือง ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | พวกทัพหน้าทัพหนุนแน่นเนื่อง |
ขุดดินค่ายตับขยับเยื้อง | ถึงมุมเมืองคูคั่นชั้นใน |
ทำหอรบเสร็จสรรพ์วิหลั่นบัง | ยกตั้งประชิดเข้าไปใกล้ |
เกณฑ์คนขึ้นคอยประจำไว้ | ปืนใหญ่ยิงตอบกันไปมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วิหยาสะกำใจกล้า |
ให้กองทัพประชิดติดพารา | เห็นว่าเกือบใกล้ได้ท่วงที |
จึงตรัสสั่งสารวัดให้ตรวจค่าย | จงไปบอกตัวนายทุกหน้าที่ |
เร่งคนปล้นปีนเข้าบุรี | รีบตีอย่าไว้ให้ช้าวัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สารวัดกองตรวจกวดขัน |
รับสั่งแล้วรีบเร็วพลัน | ไปบอกกันตามมีพระบัญชา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | พวกทหารตัวนายค่ายหน้า |
ให้ตีกลองสำคัญสัญญา | ต่างต้อนโยธาเข้าชิงชัย |
ทลายรั้วขวากลงตรงประตู | เอาแตะทิ้งทับคูข้ามได้ |
ระดมปืนครื้นครั่นสนั่นไป | ยกบันไดพาดปีนขึ้นทันที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ชาวเมืองซึ่งประจำหน้าที่ |
สอดแทงแย้งยิงไพรี | ไม่ท้อถอยคอยตีต้านทาน |
วางปืนตับตอบรอบค่าย | คนรายรักษาหน้าด้าน |
ชักปีกกากั้นประจัญบาน | ยกกระดานขึ้นตั้งบังตน |
บนหอรบเรียงปืนใหญ่ยิง | บ้างทุ่มทิ้งหินผาดังห่าฝน |
ตัวนายรายกำกับพวกพล | ต่างคนคอยรบรับไว้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พวกทหารโห่สนั่นหวั่นไหว |
ยัดปืนยืนยิงชิงชัย | หนุนกันขึ้นไปมากมาย |
บ้างวิ่งทิ้งถอนขวากเขากวาง | คืนขว้างเข้าไปในค่าย |
เอาเชือกฉุดจุดคบเพลิงราย | เผาทำลายค่ายล่อหอคอย |
กองช้างขับช้างเข้าง้างแย่ง | งวงคว้างาแทงไม่ท้อถอย |
กรุยแตะเสาได้ใหญ่น้อย | พังทับยับย่อยลงทันใด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ชาวเมืองหน้าด่านไม่ทานได้ |
ต่างทิ้งปืนผาอาวุธไว้ | วิ่งวนซนไปออกประตู |
ผู้รั้งทั้งปลัดกับหลวงพล | สกัดกั้นฟันคนไว้ไม่อยู่ |
ข้างด้านหลังพังเขื่อนขวากคู | เหยียบกันไปไม่รู้ว่าไพร่นาย |
บ้างโจนจากสนามเพลาะเลาะลัด | บุกพงหลงพลัดเข้าเชิงหวาย |
บ้างปีนขึ้นต้นไม้ไล่ตะกาย | จวนตัวกลัวตามเต็มที |
ลางคนสุดกำลังลงนั่งหอบ | เสียงใบไม้กรอบก็วิ่งหนี |
แลเห็นพวกเพื่อนว่าไพรี | ถ้อยทีตื่นตระหนกตกใจ |
บ้างบุกชัฏลัดดงหลงป่า | ไม่รู้ว่าหนทางอยู่ข้างไหน |
ต่างคนต่างพลัดกันไป | นายไพร่ไม่เป็นสมประดี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ รัว
๏ บัดนั้น | พวกทหารอาอาจดังราชสีห์ |
ครั้นหักเข้าได้ในบุรี | ขึ้นค้นทุกหน้าที่ทั่วไป |
เก็บเอาหอกดาบปืนผา | สาตราอาวุธน้อยใหญ่ |
ขนมาศาลากลางวางไว้ | ส่งให้นายหมวดนายกอง |
บ้างจัดแจงแต่งพลโยธา | ไปลาดหาเสบียงทุกบ้านช่อง |
ให้เหล่าทหารปืนพื้นลำลอง | ตั้งกองประจำไว้ในพารา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ฝ่ายขุนมหาดไทยใจกล้า |
ถือหนังสือคุมคนโทษมา | นอนทางกลางป่ามาหลายวัน |
ลุถึงดาหาธานี | ลงจากพาชีขมีขมัน |
จึงนำเอาหนังสือบอกนั้น | พากันมายังวังใน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึงตรงไปศาลา | วางตราเสมียนเวรผู้ใหญ่ |
แล้วนำนักโทษนั้นเข้าไป | กราบไหว้แจ้งการท่านเสนา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ปาเตะได้ฟังไม่กังขา |
ก็ลนลานลงจากศาลา | รีบมาพระโรงคัลมิทันนาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ก้มเกล้ากราบทูลมูลเหตุ | พระปิ่นปักนัคเรศราชฐาน |
บัดนี้มีหนังสือกรมการ | บอกขานข่าวศึกมาติดพัน |
จับคนมาได้ให้การว่า | จะเข้าตีพาราบุหราหงัน |
ราษฎรผ่อนครัวเข้าไพรวัน | พระทรงธรรม์จงทราบฝ่าธุลี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พระผ่านภพดาหากรุงศรี |
ได้ฟังข่าวราชไพรี | ภูมีสั่งปะหรัดกะติกา |
ให้ตรวจทัพเมืองขึ้นของเรานั้น | มาพร้อมกันอยู่นอกดาหา |
ให้ตั้งค่ายรายรอบพารา | รักษาเป็นสองชั้นมั่นไว้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ร่าย
๏ บัดนั้น | ปะหรัดกะติกาบังคมไหว้ |
รับพระบัญชาแล้วคลาไคล | รีบไปเร็วพลันทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ จึงบอกกล่าวท้าวพระยาทั้งหลาย | เร่งตั้งค่ายรายรอบกรุงศรี |
ข้าศึกเห็นจะมาถึงธานี | รับสั่งครั้งนี้อย่านอนใจ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ท้าวพระยาสามนต์น้อยใหญ่ |
ฟังกำหนดพจนารถภูวไนย | ก็ตรวจตราหาไพร่ให้พรั่งพร้อม |
เร่งตั้งค่ายรอบกำแแพงเมือง | ยักเยื้องมิให้บังหน้าป้อม |
ชักปีกกาถึงกันเป็นหลั่นล้อม | วงอ้อมโอบรอบขอบคู |
ยกหอรบหอคอยลอยตระหง่าน | สับกระดานต้านตั้งบังอยู่ |
รั้วขวากชั้นในไว้ประตู | เสากระทู้เขื่อนขัณฑ์มั่นคง |
ทุกหน้าค่ายภายนอกออกไป | ก็โค่นไม้ขุดตอไม่หลอหลง |
ฉายจอมปลวกปราบราบลง | ให้เตียนตรงป้อมปืนในพารา |
สนามเพลาะในค่ายรายปืนน้อย | วางคนประจำคอยอยู่รักษา |
แล้วนายกองรีบรัดจัดโยธา | เป็นหมู่หมวดตรวจตราทุกราตรี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายวิหยาสะกำเรืองศรี |
ครั้นหักศึกมีชัยได้บุรี | ให้ตรวจเตรียมโยธีทุกกระทรวง |
แล้วยกพลนิกายกองหน้า | ยาตราดำเนินนำทัพหลวง |
ตีเมืองรายทางทั้งปวง | เลยล่วงไปตามมรคา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ สิบวันดั้นเดินในไพรพง | ก็สิ้นดงตกทุ่งกรุงดาหา |
แลไปเห็นกำแพงพารา | ทั้งมหาปราสาทเรียงรัน |
จึงยับยั้งฟังองค์พระทรงยศ | จะกำหนดให้ตั้งค่ายมั่น |
กองทัพนับแสนแน่นนันต์ | พร้อมกันหยุดอยู่ที่ชายไพร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวกะหมังกุหนิงเป็นใหญ่ |
เร่งรีบรี้พลสกลไกร | มาใกล้ทิวทุ่งธานี |
เห็นละหานธารน้ำไหลหลั่ง | ร่มไทรใบบังสุริย์ศรี |
จึงดำรัสตรัสสั่งเสนี | ให้ตั้งที่นาคนามตามตำรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ดะหมังรับสั่งใส่เกศา |
ออกมาเกณฑ์กันดังบัญชา | ให้โยธาถางที่นี่นัน |
ทำค่ายหน้าค่ายหลังตั้งบรรจบ | ยกหอรบขึ้นปรับสับวิหลั่น |
ชักปีกกาขึงไปถึงกัน | ผูกราวสามชั้นขันชะเนาะ |
หว่างป้อมเป็นจังหวะระยะแย่ง | ใส่บังตางาแซงมั่นเหมาะ |
พูนดินเต็มตามสนามเพลาะ | ไม้ไผ่เจาะรวงปล้องเป็นช่องปืน |
บ้างปลูกโรงรถคชา | ทั้งที่ผูกช้างม้ามิให้ตื่น |
เสาตะลุงหลักแหล่งแปลงปืน | พ่างพื้นปราบเลี่ยนเตียนตา |
บ้างเร่งทำตำหนักน้อยใหญ่ | เพิงรายรอบในซ้ายขวา |
ข้างนอกค่ายปักขวากดาษดา | ชักเขื่อนเข้าหาประจบมุม |
บ้างจัดคนลำลองทุกกองเกณฑ์ | ออกตระเวนนั่งทางวางหลุม |
คอยเล็ดลอดสอดแนมจับกุม | ชั้นในให้ประชุมจัตุรงค์ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวกะหมังกุหนิงสูงส่ง |
เห็นตั้งค่ายเสร็จพลันมั่นคง | จึงชวนองค์โอรสธิบดี |
ตรัสเรียกสองราชอนุชา | เสร็จจากรถาเรืองศรี |
พร้อมด้วยกิดาหยันเสนี | จรลีขึ้นสุวรรณพลับพลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | กองร้อยคอยเหตุข้างดาหา |
ออกสอดแนมอยู่นอกพารา | เห็นไพรียกมาถึงชายไพร |
กระบวนทัพหน้าหลังมาตั้งลง | ทิวธงซ้อนซับนับไม่ได้ |
เสียงคนอึงอัดตัดไม้ | ราบไปทั้งป่าพนาลี |
ต่างคนต่างเผ่นขึ้นหลังม้า | พลางประมาณหมายตาดูถ้วนถี่ |
แล้วอ้อมออกนอกทุ่งทันที | ขับควบพาชีเข้าเวียงชัย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงไปแจ้งกิจจา | แก่ปาเตะเสนาผู้ใหญ่ |
เล่าความแต่ต้นจนปลายไป | โดยได้เห็นสิ้นทุกสิ่งอัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ปาเตะตกใจไหวหวั่น |
ให้จดเอาถ้อยคำสำคัญ | แล้วผายผันเข้าพระโรงรจนา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึงก้มเกล้าประณตบทบงสุ์ | ทูลพระองค์ทรงพิภพดาหา |
ว่าไพรีตีเมืองล่วงมา | รี้พลโยธามากมาย |
ม้ารถคชกรรม์ครั่นครื้น | ดังเสียงคลื่นในสมุทรไม่ขาดสาย |
บัดนี้มาตั้งอยู่เนินทราย | ที่ชายทุ่งกับป่าต่อกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ศรีปัตหรารังสรรค์ |
ได้ฟังปาเตะทูลพลัน | พระทรงธรรม์ตริตรึกนึกใน |
อันศึกครั้งนี้ซึ่งมีมา | เพราะเขาขอบุษบาเราไม่ให้ |
จึงเป็นเสี้ยนศัตรูหมู่ภัย | น้อยใจด้วยอิเหนานัดดา |
แกล้งจะให้เกิดการโกลาหล | ร้อนรนไปทั่วทุกเส้นหญ้า |
เสื่อมเดชเพศพงศ์เทวา | ศึกมาถึงราชธานี |
คิดพลางทางสั่งเสนาใน | เร่งให้เกณฑ์คนขึ้นหน้าที่ |
รักษามั่นไว้ในบุรี | จะดูทีข้าศึกซึ่งยกมา |
อนึ่งจะคอยท่าม้าใช้ | ที่ให้ไปแจ้งเหตุพระเชษฐา |
กับสองศรีราชอนุชา | ยังจะมาช่วยหรือประการใด |
แม้นจะเคืองขัดตัดรอน | ทั้งสามพระนครหาช่วยไม่ |
แต่ผู้เดียวจะเคี่ยวสงครามไป | จะยากเย็นเป็นกระไรก็ตามที ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ปาเตะประณตบทศรี |
ออกมาเกณฑ์ไพร่พลมนตรี | ตามมีพระบัญชาการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ยานี
๏ เร่งรัดจัดพลอาสา | ขึ้นประจำเสมาทุกหน้าด้าน |
ประตูเมืองสี่ทิศให้ปิดบาน | ลงเขื่อนมั่นลั่นดาลทันใด |
เหล่าพวกกองฝรั่งพรั่งพร้อม | ขึ้นอยู่ป้อมประจุปืนใหญ่ |
กะเกณฑ์กองกลางวางไว้ | เสียงปืนหนักไหนก็ให้ทัน |
อันโยธาอาสาหกเหล่า | ทั้งเกณฑ์หัดจัดเข้าเป็นกองขัน |
สามารถอาจออกทะลวงฟัน | รายกันตั้งกองริมกำแพง |
ล้อมวังตั้งรอบพระนิเวศน์ | วางม้าคอยเหตุไว้สี่แห่ง |
กองตระเวนสารวัดจัดแจง | ตกแต่งตรวจตราทั้งธานี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
https://vajirayana.org/system/files/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B2_264950.pdf