- คำอธิบาย ว่าด้วยบทละคร อิเหนาฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ
- เล่มที่ ๑
- เล่มที่ ๒
- เล่มที่ ๓
- เล่มที่ ๔
- เล่มที่ ๕
- เล่มที่ ๖
- เล่มที่ ๗
- เล่มที่ ๘
- เล่มที่ ๙
- เล่มที่ ๑๐
- เล่มที่ ๑๑
- เล่มที่ ๑๒
- เล่มที่ ๑๓
- เล่มที่ ๑๔
- เล่มที่ ๑๕
- เล่มที่ ๑๖
- เล่มที่ ๑๗
- เล่มที่ ๑๘
- เล่มที่ ๑๙
- เล่มที่ ๒๐
- เล่มที่ ๒๑
- เล่มที่ ๒๒
- เล่มที่ ๒๓
- เล่มที่ ๒๔
- เล่มที่ ๒๕
- เล่มที่ ๒๖
- เล่มที่ ๒๗
- เล่มที่ ๒๘
- เล่มที่ ๒๙
- เล่มที่ ๓๐
- เล่มที่ ๓๑
- เล่มที่ ๓๒
- เล่มที่ ๓๓
- เล่มที่ ๓๔
- เล่มที่ ๓๕
- เล่มที่ ๓๖
- เล่มที่ ๓๗
- เล่มที่ ๓๘
เล่มที่ ๗
๏ เมื่อนั้น | พระโฉมยงทรงโสมนัสสา |
แย้มสรวลชวนตรัสจำนรรจา | ด้วยระเด่นจินตะหราวาตี |
นี่แน่พี่จะเล่าให้เจ้าฟัง | ถึงความหลังครั้งมาแต่กรุงศรี |
เมื่อเดินทางกลางป่าพนาลี | ถึงภูผาปะราปีบรรพต |
พบพวกระตูได้สู้กัน | พี่ห้ำหั่นชีวิตปลิดปลด |
สองระตูง้องอนหย่อนยศ | ยอมให้โอรสแลธิดา |
ขอขึ้นเป็นเมืองออกพี่ | เฝ้าฝากบุตรีนั้นหนักหนา |
พี่ตั้งจิตคิดไว้แต่ได้มา | หวังว่าจะให้เป็นน้อยน้อง |
ยังมิได้ถูกต้องสองนาง | เกรงเจ้าจะระคางหมางหมอง |
เพราะมิได้สมสู่เป็นคู่ครอง | จึ่งให้สองนางอยู่นอกบุรี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นจินตะหรามารศรี |
ฟังพระเชษฐาพาที | นางชลีกรสนองพระวาจา |
พระอย่ากินแหนงแคลงใจ | น้องมิได้เคียดขึ้งหึงสา |
สงสารสาวสวรรค์กัลยา | เร่งให้ไปรับมายังธานี |
นางไกลบิตุเรศมารดร | พลัดพรากจากนครกรุงศรี |
เห็นแต่พระผ่านเกล้าเท่านี้ | ควรหรือภูมีมาทิ้งไว้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีชอบอัชฌาสัย |
จึ่งตรัสแก่ขนิษฐายาใจ | วันนี้พี่จะให้ไปรับมา |
ว่าพลางทางสั่งบาหยัน | จงไปประเสบันที่ข้างหน้า |
บอกพี่เลี้ยงหรือใครให้ไคลคลา | ไปรับสองสุดามาธานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | บาหยันประณตบทศรี |
ชวนเถ้าแก่กำนัลขันที | จรลีออกไปจากในวัง ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ชุบ
๏ ครั้นถึงมนเทียรที่ข้างหน้า | เห็นพี่เลี้ยงเสนาอยู่พร้อมพรั่ง |
จึงแถลงแจ้งความให้ฟัง | ตามกระแสรับสั่งภูวไนย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | พระพี่เลี้ยงผู้มีอัชฌาสัย |
มาจัดแจงโยธาคลาไคล | ออกจากเวียงชัยไปฉับพลัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นมาถึงปลายด่านพารา | ก็ไปยังพลับพลาขมีขมัน |
บอกคดีพี่เลี้ยงทั้งสองนั้น | ตามรับสั่งทรงธรรม์ทุกประการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สองพี่เลี้ยงได้ฟังเกษมศานต์ |
จึงเข้าไปประณตบทมาลย์ | ทูลองค์นงคราญทั้งสององค์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | สองนางแน่งน้อยนวลหง |
ได้แจ้งรับสั่งพระโฉมยง | ก็สระสรงทรงเครื่องเรืองรูจี |
ครั้นเสร็จสองนางก็ลีลา | ลงจากพลับพลาหลังคาสี |
พร้อมพี่เลี้ยงกำนัลนารี | จรลีมาทรงวอสุวรรณ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
๏ บัดนั้น | พระพี่เลี้ยงทั้งสี่คนขยัน |
ครั้นประเทียบเรียบพร้อมนางกำนัล | ก็เร่งพวกพลขันธ์เข้าพารา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงประเสบันทันใด | จึงให้หยุดพลไว้ข้างหน้า |
แล้วนำวอทองสองสุดา | เข้ามาประทับกับวังจันทร์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระบุตรีทั้งสองสาวสวรรค์ |
ลีลาศลงจากวอสุวรรณ | จรจรัลขึ้นสู่ตำหนักใน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ นั่งเหนือแท่นทองทั้งสองศรี | พร้อมกำนัลนารีน้อยใหญ่ |
นางค่อยเคลื่อนคลายสบายใจ | อยู่ในประเสบันอากง ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีสูงส่ง |
สถิตที่แท่นสุวรรณบรรจง | ด้วยองค์วนิดาดวงจันทร์ |
แต่คลึงเคล้าเฝ้าชมสมสวาท | ภูวนาถปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
จุมพิตชิดเชยปรางสุวรรณ | รับขวัญกัลยาแล้วพาที |
พี่จะลาทรามวัยไคลคลา | ไปหานางมาหยารัศมี |
อย่าขุ่นข้องหมองฤทัยเทวี | พอรุ่งราตรีจะกลับมา |
อันที่จริงพี่น้องสองนาง | รูปร่างไม่กระไรนักหนา |
คิดเห็นแก่ระตูผู้บิดา | ฝากฝังสั่งมาด้วยอาลัย |
ครั้นจะละเลยเฉยเสียเล่า | จะน้อยใจว่าเราไม่รักใคร่ |
วันนี้พี่จะลาเจ้าคลาไคล | จำใจไปหาสักราตรี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นจินตะหรามารศรี |
ฟังพระเชษฐาพาที | เทวียิ้มพลางทางตอบไป |
อย่าพักกล่าวกลบเกลื่อนเอื้อนอำ | ว่าแสร้งทำจำจิตพิศมัย |
ถึงจะรักจริงจริงก็เป็นไร | ใครจะห้ามหวงไว้เมื่อไรมี |
เชิญเสด็จภูวไนยออกไปหา | กัลยาทั้งสองจะหมองศรี |
ระตูได้จงรักภักดี | ควรแล้วภูมีที่เมตตา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์เทวัญหรรษา |
ยิ้มพลางทางมีวาจา | ช่างแหนมเหน็บเก็บว่าสารพัน |
ตรัสพลางเชยปรางบังอร | ตระกองกรกอดประทับรับขวัญ |
สัพยอกแย้มสรวลสำรวลกัน | พอตะวันเย็นย่ำค่ำลง ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ชมตลาด
๏ จึงเสด็จย่างเยื้องจรลี | มาเข้าที่ชำระสระสรง |
ลูบไล้สุคนธาอ่าองค์ | กลิ่นส่งหอมตลบอบอาย |
กวดขนงวงพักตร์ผิวผ่อง | จับแสงเทียนทองส่องพระฉาย |
ทรงภูษานอกอย่างวางชาย | ปั้นเหน่งเพชรพรรณรายพรายตา |
ซ่าโบะขลิบทองกรองสุวรรณ | ห้อยอุบะปะกันบุหงา |
แจ่มแจ้งด้วยแสงจันทรา | ก็ลีลาออกจากวังใน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลง
ร่าย
๏ ครั้นถึงประเสบันอากง | มนเทียรที่พระองค์อาศัย |
เสด็จยุรยาตราคลาไคล | ตรงไปในห้องตำหนักนาง |
เห็นพี่เลี้ยงกำนัลนอนหลับ | อัจกลับเทียนยามตามสว่าง |
จึงดับเทียนข้างที่บรรทมพลาง | ขึ้นนั่งบนแท่นนางกัลยา |
ยอกรพาดองค์นงลักษณ์ | ทำเทียมน้องรักเข้ามาหา |
หวังจะให้โฉมยงสงกา | ว่าสังคามาระตายาใจ |
ปลุกพลางกระซิบถามพลาง | พระพี่นางตื่นอยู่หรือหลับใหล |
ไม่ผินมาหาน้องนี่ว่าไร | เคืองแค้นสิ่งใดไม่ไยดี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางมาหยารัศมี |
แว่วเสียงกระซิบพาที | เทวีพลิกตัวมัวนิทรา |
คิดว่าน้องรักร่วมฤทัย | จึงคว้าไปลูบหลังลูบหน้า |
แล้วถามว่ามาไยอนุชา | เวลาดึกแล้วไม่หลับนอน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีตอบดวงสมร |
น้องนี้มีจิตคิดอาวรณ์ | จะมานอนด้วยพี่ที่ห้องใน |
แต่มิได้เห็นหน้ากันช้านาน | ทุกเช้าค่ำรำคาญหม่นไหม้ |
ตรึกถึงจึงมาด้วยอาลัย | ว่าพลางกอดไว้ไม่เคลื่อนคลาย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางมาหยารัศมีโฉมฉาย |
แปลกจิตผิดทำนองพระน้องชาย | ก็นึกหมายว่าระเด่นมนตรี |
มืดอยู่ดูหน้าไม่ถนัด | นงลักษณ์ผลักพระหัตถ์แล้วถอยหนี |
ร้องปลุกกำนัลไปทันที | เร่งไปจุดอัคคีเข้ามา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พี่เลี้ยงนางกำนัลถ้วนหน้า |
ได้ยินเสียงสำเนียงพระธิดา | ก็ตื่นตกใจคว้าหาเทียน |
บ้างหลับตาคลำขันน้ำหก | โดนกระจกคันฉ่องฉากเขียน |
บ้างละเมอเพ้อคลานวนเวียน | ได้เทียนจุดไฟเข้าพลัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึงเห็นพระภูวไนย | ต่างตระหนกตกใจไม่มีขวัญ |
บังอรอายก้มบังคมคัล | นางกำนัลลนลานคลานออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ชาตรี
๏ เมื่อนั้น | พระโฉมยงยิ้มแย้มแจ่มใส |
จึงตรัสว่าแก้วตายาใจ | จะอายเหนียมพี่ไยนะน้องรัก |
สิเรียกให้จุดไฟเข้ามา | หวังจะดูพี่ยาให้ประจักษ์ |
เหตุไฉนจึงไม่เงยพักตร์ | นงลักษณ์ก้มหน้าเสียว่าไร |
ตรัสพลางทางถดเข้าชิด | จะอายเอียงเบี่ยงบิดไปข้างไหน |
พระยื้อยุดฉุดชายสไบไว้ | นางปัดกรค้อนให้ไม่พาที |
พี่อุตส่าห์มาหาถึงในห้อง | ควรหรือนิ่มน้องช่างเมินหนี |
แต่จะทักสักคำก็ไม่มี | มารศรีเคืองแค้นด้วยข้อไร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | นางมาหยารัศมีศรีใส |
ฟังคำขวยเขินสะเทินใจ | อรไทจึงตอบวาจา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ พระเอยพระโฉมยง | พระจงโปรดเกล้าเกศา |
เห็นแล้วว่าทรงพระเมตตา | สู้เสด็จมาหาถึงห้องทอง |
ข้าคิดประหวั่นพรั่นใจ | จินตะหรารู้ไปจะเคืองข้อง |
จะมีแต่ระกำช้ำใจน้อง | ได้อายคนหม่นหมองไม่วายวัน |
สู้เจียมตัวอยู่ตามประสายาก | เพราะพลัดพรากนคเรศเขตขัณฑ์ |
ไม่พอใจให้ผิดติดพัน | ใครนั่นจะมาปรานี |
ตกมาอาศัยในเมืองท่าน | จะให้เคืองรำคาญไม่พอที่ |
รู้ไปถึงไหนก็ไม่ดี | ประชาชาวบุรีจะไยไพ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
โลม
๏ สุดเอยสุดสวาท | ช่างฉลาดเจรจาไม่หาได้ |
จะรังเกียจเดียดฉันท์กันไย | เหมือนหนึ่งทรามวัยไม่เมตตา |
พี่หรือจะให้เป็นเช่นนั้น | อย่าสำคัญแคลงจิตขนิษฐา |
ถ้อยย้ำคำมั่นจะสัญญา | ที่ข้อนางจินตะหราวาตี |
พี่มิให้ดูหมิ่นถิ่นแคลนเจ้า | โฉมเฉลาจงเชื่อคำพี่ |
จะเลี้ยงน้องครองรักร่วมชีวี | ให้ประนีประนอมพร้อมใจ |
ไหนไหนก็เมียเหมือนกัน | จะลำเอียงอาธรรม์อย่าสงสัย |
ว่าพลางเชยปรางอรไท | ลูบไล้โลมเล้าเคล้าคลึง ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ พระเอยพระผ่านฟ้า | อะไรนี่ปากว่ามือถึง |
เวทนามาเฝ้ารัดรึง | ทำกระนี้เหมือนหนึ่งไม่ปรานี |
ซึ่งพิไรรำพันให้สัญญา | จะเชื่อพระบัญชาก็ใช่ที่ |
วาสนาคนยากแต่เพียงนี้ | หรือจะเหมือนหนึ่งที่ปลื้มใจ |
ซึ่งจะให้ประนีประนอมกัน | แม้นมิสมคิดนั้นจะทำไฉน |
ที่บุญน้อยก็สำหรับจะยับไป | ตั้งแต่จะได้เดือดร้อน |
ทรงดำริตริดูให้ถ้วนถี่ | เชิญเสด็จจรลีกลับไปก่อน |
ไหนไหนคงเป็นข้าพระภูธร | จงเมตตาผันผ่อนให้พ้นภัย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
โลม
๏ แสนเอยแสนเฉลียว | จะบ่ายเบี่ยงเลี่ยงเลี้ยวไปถึงไหน |
ความจริงทุกสิ่งไม่ใส่ไคล้ | ว่าไยอย่างนั้นนะเทวี |
พี่ให้สัตย์สัญญาประสาซื่อ | ควรหรือนิ่มเนื้อไม่เชื่อพี่ |
ยังขืนขัดอัธยาไม่ปรานี | ชักช้าพาทีพิรี้พิไร |
เสียแรงมาหาเจ้าสิเฝ้าขับ | อารามรักจักกลับกระไรได้ |
ถึงจะหยิกจะตีก็มิไป | จะอยู่ให้เห็นจริงของพี่ยา |
ว่าพลางอุ้มนางขึ้นใส่ตัก | เชยพักตร์จุมพิตขนิษฐา |
สัมผัสพวงพุ่มปทุมา | วิญญาณ์ด่าวดิ้นแดยัน |
เอนแอบแนบองค์บังอร | ตระกองกรกอดประทับรับขวัญ |
เกลียวกลมสมสนิทติดพัน | อยู่บนแท่นสุวรรณพรรณราย |
อัศจรรย์บันดาลเป็นฝอยฝน | ดวงอุบลชื่นแช่มแย้มขยาย |
ที่ห่อหุ้มกลีบกล้ำก็จำคลาย | คลี่ระบายบานแบ่งรับแสงจันทร์ |
ภุมรินบินร้องเร่ร่อน | แทรกไซ้เกสรโกสุมสวรรค์ |
สองสมสอดคล้องทำนองกัน | เกษมสันต์หรรษาในราตรี ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ กล่อม
ช้า
๏ เมื่อนั้น | นวลนางมาหยารัศมี |
ร่วมภิรมย์สมสวาทเปรมปรีดิ์ | ด้วยระเด่นมนตรีสุริย์วงศ์ |
แรกรู้รสรักประจักษ์ใจ | แสนสนิทพิสมัยใหลหลง |
หมอบเมียงเคียงข้างไม่ห่างองค์ | โฉมยงแย้มพรายชายชวน |
พระจุมพิตชิดเชยสัมผัสต้อง | นางปัดป้องผลักพลิกแล้วหยิกข่วน |
หักนิ้วพระหัตถ์ห้ามงามกระบวน | เริงระริกซิกสรวลสำราญใจ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ ตระ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พระผู้ผ่านกุเรปันเป็นใหญ่ |
แจ้งว่าโอรสยศไกร | ไปอยู่ในหมันหยาธานี |
จึงบัญชาใช้อำมาตย์ | จงเร่งแต่งราชสารศรี |
ไปหาอิเหนาว่าเรานี้ | ให้กลับคืนบุรีรีบมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ร่าย
๏ บัดนั้น | เสนีรับสั่งใส่เกศา |
ออกมาแต่งสารศรีตีตรา | แล้วขึ้นม้าควบขับไปฉับพลัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงหมันหยาธานี | ลงจากพาชีขมีขมัน |
ตรงไปในวังประเสบัน | บังคมคัลระเด่นมนตรี |
ทูลว่าองค์ศรีปัตหรา | ให้ข้ามาถวายสารศรี |
เชิญเสด็จภูธรจรลี | กลับไปบุรีกุเรปัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีเฉิดฉัน |
ฟังข่าวผ่าวร้อนดั่งเพลิงกัลป์ | ให้คิดอัดอั้นตันใจ |
จำเป็นจึงรับเอาสาร | ถือไว้จะอ่านก็หาไม่ |
แล้วว่าเสนาจงคลาไคล | กลับไปทูลองค์พระทรงธรรม์ |
ขอถวายบังคมลาอยู่ก่อน | จึงจะค่อยคืนนครเขตขัณฑ์ |
ตรัสพลางย่างเยื้องจรจรัล | ไปปราสาทสุวรรณกัลยา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | เสนีพี่เลี้ยงพร้อมหน้า |
เข้าทักทายเพื่อนกันที่มา | ชักชวนพูดจาไม่หยุดยั้ง |
บ้างถามถึงถิ่นฐานบ้านช่อง | ลูกเมียพี่น้องอยู่ข้างหลัง |
แล้วเล่าความในให้กันฟัง | ล้อมนั่งสนทนาพาที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | เสนีที่ถือสารศรี |
ครั้นแล้วก็ลาจรลี | ขึ้นพาชีรีบกลับมาฉับไว ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงคลานเข้าไปเฝ้า | ก้มเกล้าประนมบังคมไหว้ |
ทูลแถลงให้แจ้งพระฤทัย | โดยดังภูวไนยสั่งมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระปิ่นภพกุเรปันนาถา |
ได้แจ้งแห่งคำพระลูกยา | ผ่านฟ้าเคืองแค้นแสนทวี |
ทั้งเร่าร้อนฤทัยให้รำคาญ | ด้วยจวนจะแต่งการภิเษกศรี |
จึงเสด็จย่างเยื้องจรลี | เข้าปราสาทมณีทันใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีศรีใส |
อยู่ด้วยจินตะหรายาใจ | ที่ในปราสาทแก้วแววฟ้า |
คิดถึงนางสการะวาตี | ภูมีจะใคร่ออกไปหา |
จึงมีมธุรสพจนา | ตรัสแก่วนิดาลาวัณย์ |
เจ้าอย่าละห้อยสร้อยเศร้า | เปลี่ยวเปล่าฤทัยโศกศัลย์ |
วันนี้พี่จะลาจรจรัล | ออกไปประเสบันอากง ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ สั่งเสร็จเข้าที่สระสนาน | สุคนธารประทิ่นกลิ่นส่ง |
สอดใส่เครื่องประดับสำหรับองค์ | พอเย็นย่ำค่ำลงก็จรลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงจึงเผยม่านทอง | เข้าไปในห้องมารศรี |
นั่งลงข้างองค์นางเทวี | ทำเฉยอยู่ดูทีกัลยา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสการะวาตีเสนหา |
บังคมแล้วเลื่อนองค์ลงมา | กัลยาสะเทินเมินพักตร์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ชาตรี
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีมีศักดิ์ |
จึ่งตรัสว่าโฉมยงนงลักษณ์ | ช่างผินผันหันพักตร์ไม่ทักทาย |
เสียแรงมาหาน้องถึงห้องใน | เพราะจงใจผูกพันมั่นหมาย |
เชิญมานั่งบนที่ด้วยพี่ชาย | จะสะเทินเขินอายกันว่าไร |
ตรัสพลางอุ้มนางขึ้นแท่นทอง | ค่อยประคองเชยชิดพิสมัย |
ตระกองกรเลียมลอดสอดไว้ | อรไทผลักพลิกหยิกตี |
อนิจจาโฉมเฉลาเยาวลักษณ์ | ก่นแต่ค้อนควักผลักมือพี่ |
ไม่เห็นหรือรักเจ้าเท่าชีวี | สาวน้อยถอยหนีพี่ยาไย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | นางสการะวาตีศรีใส |
เอียงอายอดสูภูวไนย | ปัดกรค้อนให้แล้วพาที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ น้อยเอยน้อยจิต | พระทรงฤทธิ์ไม่โปรดเกศี |
มาทำเทียมเลียมเล่นเช่นนี้ | นี่หรือภูมีว่าเมตตา |
แกล้งจะให้ได้ความหม่นหมอง | ขุ่นข้องรำคาญเคืองไปเบื้องหน้า |
ต่ำศักดิ์รักตัวกลัวนินทา | ทั้งเป็นเชลยมาแต่เมืองไกล |
โปรดเถิดขอประทานอย่าหาญหัก | เช่นนี้หาประจักษ์ว่ารักไม่ |
แม้นเสด็จคืนหลังยังวังใน | นั่นแหละจะเห็นใจว่าปรานี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
โลม
๏ แสนเอยแสนคม | ลิ้นลมละเมียดเสียดสี |
ธรรมเนียมที่ไหนของใครมี | อย่างนี้ว่าทำให้รำคาญ |
พี่ทำโดยธรรมดาประสารัก | อนิจจาไม่ประจักษ์ว่าหักหาญ |
จะพูดไปไยเล่าไม่เข้าการ | อันคนซื่อนี้นานจะเห็นใจ |
ว่าพลางทางถดเข้าชิด | อิงแอบแนบสนิทพิสมัย |
เจ้าจะผลักพี่ยาเสียว่าไร | น้อยหรือทำได้ไม่เมตตา |
ก่นแต่รบเร้าเฝ้าขับ | สู้ตายจะกลับอย่าพักว่า |
ถ้าแม้นจะให้พี่ไคลคลา | จงผ่อนผันหันหากันโดยดี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ พระเอยพระโฉมงาม | จะแกล้งให้ได้ความบัดสี |
สารพัดตรัสมาทั้งนี้ | เห็นดีได้เปรียบข้างภูวไนย |
น้องนี้พรั่นจิตคิดเกรงกลัว | ไม่รู้ที่จะไว้ตัวกระไรได้ |
จะให้หย่อนผ่อนผันตามพระทัย | ก็เกรงภัยความผิดจะติดพัน |
จงดำริตริดูเถิดภูมี | น้องทูลโดยดีไม่เดียดฉันท์ |
เป็นความสัตย์จริงทุกสิ่งอัน | ไม่ประชดประชันฉันทา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
โลม
๏ เจ้าเอยเจ้าพี่ | ว่าไยอย่างนี้ขนิษฐา |
อันความที่พี่รักกัลยา | ยิ่งกว่าดวงเนตรดวงใจ |
จะถนอมเนื้อนวลสงวนน้อง | มิให้ข้องเคืองขัดอัชฌาสัย |
เมื่อมิเชื่อโฉมตรูคอยดูไป | พี่มิให้เสียสัตย์ซึ่งสัญญา |
ถ้าแม้นมีใครหมิ่นถิ่นแคลน | ให้เจ็บใจได้แค้นจึงค่อยว่า |
ถึงมาหยารัศมีศรีโสภา | พี่ก็ได้ปรึกษาหารือ |
เขาก็ยินยอมพร้อมใจ | เจ้าจะขืดขัดใจจะได้หรือ |
ว่าพลางฉวยฉุดยุดยื้อ | น้องรักผลักมือพี่เสียไย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ น่าเอยน่าสรวล | พระบัญชาว่าควรแต่ส่วนได้ |
ทำไมกับจะอ้างข้างนั้นไป | เมื่ออยู่ใต้บาทบงสุ์พระทรงฤทธิ์ |
เป็นคนวาสนาน้อยก็พลอยว่า | จะแข็งขัดวัจนาก็กลัวผิด |
ปรานีน้องบ้างยั้งหยุดคิด | ใช่จะบิดเบือนไปเมื่อไรมี |
ไหนไหนก็ในจะเป็นข้า | อันจะพ้นผ่านฟ้าก็ใช่ที่ |
มาด่วนทำอะไรไยอย่างนี้ | ดังจะสิ้นเดือนปีทิวาวัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
โลม
๏ ทรามเอยทรามเชย | ไม่เอ็นดูบ้างเลยนางสาวสวรรค์ |
เมื่อความรักร้อนใจดังไฟกัลป์ | จะให้กลั้นให้ทนกลใด |
เจ้าจะห้ามความอื่นไม่ขืดขัด | อันจะห้ามประดิพัทธ์นี้ไม่ได้ |
ว่าพลางเชยปรางอรไท | ลูบไล้โลมน้องประคองเคียง ฯ |
บันดาลอัศจรรย์หวั่นหวาด | กัมปนาทนี่นันสนั่นเสียง |
อสุนีคะนองก้องสำเนียง | เปรี้ยงเปรี้ยงปลาบแปลบแวบวับ |
เมฆหมอกตลบกลบกลุ้ม | มัวมนมืดคลุ้มชอุ่มอับ |
บดบังดาวเดือนเลื่อนลับ | เป็นพยุพยับโพยมบน |
โกสุมเสาวรสก็สดชื่น | ชุ่มชื้นถูกต้องละอองฝน |
สองกษัตริย์เกษมศานต์บานกมล | อยู่บนแท่นทองรูจี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ โลม
ร่าย
๏ ครั้นพระสุริยารุ่งราง | ส่องสว่างจำรัสรัศมี |
พระเชยโฉมโลมลาเทวี | แล้วเสด็จจากที่ห้องใน |
มาหยุดยั้งอัฒจันทร์ชั้นชาลา | ดำรัสเรียกอนุชาเข้ามาใกล้ |
สั่งว่าเจ้าจงพาสองทรามวัย | เข้าไปไหว้จินตะหราเวลานี้ |
จะได้รู้จักกันไปวันหน้า | พึ่งพาฝากตัวนางโฉมศรี |
สั่งเสร็จเสด็จจรลี | ภูมีเข้ายังวังใน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | สังคามาระตาอัชฌาสัย |
ครั้นพระเชษฐาคลาไคล | ก็เข้าไปทูลสองกัลยา |
บัดนี้มีรับสั่งให้ไปเฝ้า | โฉมยงนงเยาว์จินตะหรา |
พระตรัสซ้ำสั่งน้องถึงสองครา | ให้พาจรจรัลในวันนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทั้งสองสุดามารศรี |
ได้ฟังอนุชาพาที | เทวีแค้นขัดแล้วตรัสไป |
แม้นไหว้ระเด่นบุษบา | ก็ดีกว่าหาน้อยใจไม่ |
ควรที่จะเป็นข้าช่วงใช้ | ด้วยเนื่องในสุริย์วงศ์เทวา |
นี่วาสนานางแต่อย่างนี้ | เป็นเพียงบุตรีท้าวหมันหยา |
แม้นอยู่ยังพระนครเหมือนก่อนมา | เห็นหน้าก็จะพอเสมอกัน |
ไม่เจ็บช้ำน้ำใจได้เป็นน้อย | ทีนี้คนจะพลอยเย้ยหยัน |
อัปยศอดสูแก่พงศ์พันธุ์ | จะดูหน้านางนั้นฉันใด |
จะเด็กกว่าหรือกระไรก็ไม่แจ้ง | จนอยู่ไม่รู้แห่งที่จะไหว้ |
สองนางขัดแค้นแน่นฤทัย | ชลนัยน์ไหลหลั่งลงพรั่งพราย ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พระพี่เลี้ยงเล้าโลมนางโฉมฉาย |
อย่ากำสรดระทดระทวยกาย | จะอัปยศอดอายแก่ใครมี |
อันองค์ระเด่นจินตะหรา | ก็แก่ชันษากว่าสองศรี |
คราวเดียวกับระเด่นมนตรี | เทวีมินบนอบไม่ชอบกล |
นึกว่าวิบากกรรมเป็นธรรมดา | เหมือนอยู่ใต้ฟ้าจำต้องฝน |
แม้นไม่โอนอ่อนผ่อนปรน | ไหนจะพ้นความผิดติดพัน |
พระบิดาก็เป็นเมืองขึ้นอยู่ | โฉมตรูอย่ารังเกียจเดียดฉันท์ |
ฉวยพระโกรธาให้ฆ่าฟัน | เมื่อกระนั้นจะทำประการใด ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองราชบุตรีศรีใส |
ฟังสี่พี่เลี้ยงร่วมใจ | อรไทจึงตอบวาจา |
จริงอยู่พี่ว่าข้าเห็นชอบ | ต้องระบอบขอบใจเป็นหนักหนา |
เป็นข้าท่านแล้วแต่ตามเวรา | จะแข็งขัดพระบัญชาก็ใช่ที |
แม้นมิคิดนิดหนึ่งด้วยบิตุราช | ถึงจะม้วยชีวาตม์ให้รู้ที่ |
ขัดสนจนใจด้วยข้อนี้ | จำเป็นแล้วพี่จะจำไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ชมตลาด
๏ ว่าพลางทางชวนอนุชา | มาสระสรงคงคาเย็นใส |
รวยรินด้วยกลิ่นน้ำดอกไม้ | ลูบไล้สุคนธาอ่าองค์ |
ทรงพระสางสอยเส้นเกศา | ผัดผิวพักตรานวลหง |
นุ่งลายเขียนสุวรรณบรรจง | เข็มขัดรัดองค์อำไพ |
สไบกรองทองแล่งแสงระยับ | ตาบประดับสร้อยนวมสวมใส่ |
ทองกรเนาวรัตน์ตรัสไตร | สังวาลแก้วแววไววิเชียรชู |
สะพังเพชรพรรณรายลายกุดั่น | ห้อยอุบะปะกันเป็นพวงพู่ |
ธำมรงค์รังแตนแหวนงู | โฉมตรูทรงมงกุฎพระบุตรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ เสด็จจากห้องแก้วแพรวพรรณ | พร้อมสุรางค์นางกำนัลสาวศรี |
อนุชานำหน้าจรลี | เทวีทรงวอเข้าวังใน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงปราสาทจินตะหรา | กัลยาแค้นขัดอัชฌาสัย |
จำเป็นหยุดยั้งชั่งใจ | ให้ประทับวอไว้ที่อัฒจันทร์ |
จึงสั่งสังคามาระตา | จงไปทูลพระธิดาสาวสวรรค์ |
ว่าพี่นี้มาบังคมคัล | นางนั้นจะโปรดประการใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สังคามาระตาศรีใส |
รับสั่งกัลยาแล้วคลาไคล | เข้าไปเฝ้าองค์พระบุตรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึงค่อยหมอบคลาน | กราบกรานประณตบทศรี |
ทูลว่าพี่นางของข้านี้ | เข้ามาอัญชลีพระบาทา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมยงองค์ระเด่นจินตะหรา |
จึงสั่งสองพี่เลี้ยงกัลยา | ไปเชิญนางเข้ามายังห้องใน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สองศรีพี่เลี้ยงบังคมไหว้ |
รับสั่งแล้วพากันคลาไคล | ตรงไปยังสองเทวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ชุบ
๏ จึงทูลว่าบัดนี้พระธิดา | ทราบว่าเสด็จมาทั้งสองศรี |
มีความโสมนัสยินดี | ให้ข้านี้มาเชิญโฉมยง ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระบุตรีแน่งน้อยนวลหง |
ลงจากวอทองทั้งสององค์ | ฝูงอนงค์ตามเสด็จคลาไคล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงจึงค่อยเยื้องย่อง | ขึ้นบนปราสาททองผ่องใส |
เห็นระเด่นจินตะหราแต่ไกล | ก็ทรุดองค์ลงไหว้พอเป็นที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นจินตะหรามารศรี |
จึงตรัสเรียกสองราชเทวี | มานั่งถึงนี่นะทรามวัย |
ให้ยกพานสลามาสู่ | โฉมตรูโอภาปราศรัย |
เจ้าพลัดพรากจากนิเวศน์เวียงชัย | จำไกลบิตุเรศมารดา |
อย่าคิดรังเกียจเดียดฉันท์ | เราจะร่วมรักกันไปวันหน้า |
เหมือนพี่น้องร่วมท้องอุทรมา | เป็นชีวาเดียวกันจนวันตาย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองราชธิดาโฉมฉาย |
ได้ฟังเทวีอภิปราย | ทักทายเรียกหาด้วยปรานี |
ค่อยบรรเทาโทมนัสขัดข้อง | จึงสนองวาจามารศรี |
ซึ่งตรัสโปรดเมตตาข้านี้ | พระคุณพ้นที่จะเปรียบไป |
น้องไกลบิตุเรศมารดา | สุริย์วงศ์พงศาก็หาไม่ |
แม้นใครว่าขานประการใด | จงถามไถ่ให้แท้แน่นอน |
แม้นมาตรประมาทจิตผิดพลั้ง | ปรานียับยั้งช่วยสั่งสอน |
จะได้สุขสบายคลายทุกข์ร้อน | เพราะบุญบังอรปกไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จินตะหราวาตีศรีใส |
ได้ฟังทั้งสองทรามวัย | ให้มีใจกรุณาปรานี |
จึงประทานภูษาผ้าทรง | ธำมรงค์นพรัตน์จำรัสศรี |
ทั้งเครื่องถมเครื่องทองของดีดี | ให้สองเทวีด้วยเมตตา |
อันเครื่องทรงสำหรับพระกุมาร | ก็บรรจงประทานขนิษฐา |
แล้วกล่าวสุนทรวาจา | ชวนสองสุดายาใจ |
เจ้าอย่ากลับไปประเสบัน | อยู่ในวังด้วยกันใกล้ใกล้ |
แม้นมีทุกข์โศกโรคภัย | พี่นี้จะได้ไปมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระบุตรีทั้งสองเสน่หา |
นบนอบแล้วตอบวาจา | ตามแต่พระธิดาจะโปรดปราน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จินตะหราเยาวยอดสงสาร |
จึงสั่งสาวศรีพนักงาน | กับพี่เลี้ยงนงคราญทันใด |
เร่งจัดพระปรัศว์ซ้ายขวา | ให้สองขนิษฐาอาศัย |
อย่าให้ขัดสนสิ่งใด | ดูเอาใจใส่ให้จงดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | สองราชธิดามารศรี |
ถวายบังคมลาจรลี | พี่เลี้ยงนารีพามา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงพระปรัศว์เรืองรอง | เสด็จเหนือแท่นทองเลขา |
อยู่เย็นเป็นสุขทุกเวลา | แสนเกษมเปรมปราในธานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ช้า
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงท้าวดาหาเรืองศรี |
ตั้งแต่พระเชษฐาธิบดี | ให้เสนีมานัดการวิวาห์ |
อภิเษกโอรสยศยง | ตามวงศ์เทวัญอสัญหยา |
ก็ซ่อมแปลงแต่งราชพารา | สนุกดังเมืองฟ้าโสฬส |
เป็นที่เพลิดเพลินจำเริญเนตร | แก่นานาประเทศทั้งปวงหมด |
คอยท่าพระองค์ผู้ทรงยศ | ก็นานเนิ่นเกินกำหนดนัดไว้ |
จะมีเหตุเภทพานในบ้านเมือง | รำคาญเคืองเกิดเข็ญเป็นไฉน |
คิดพลางทางเสด็จคลาไคล | ออกไปยังพระโรงรจนา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
ร่าย
๏ นั่งเหนือแท่นรัตน์แล้วตรัสสั่ง | ดะหมังมนตรีมียศถา |
ท่านเร่งรีบไปอย่าได้ช้า | ยังพิชัยพารากุเรปัน |
ฟังข่าวราชการบ้านเมือง | แล้วทูลเรื่องวิวาห์ตุนาหงัน |
สารพัดจัดแจงไว้ครบครัน | ตามแต่ทรงธรรม์จะนัดมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ดะหมังรับสั่งใส่เกศา |
ก้มเกล้าประนมบังคมลา | ออกมาจากท้องพระโรงคัล |
เรียกหาบ่าวไพร่ได้พร้อมเพรียง | จัดเสบียงหาบคอนขมีขมัน |
ดะหมังเสนาขึ้นม้าพลัน | รีบไปกุเรปันทันใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงลงจากอาชา | เข้าไปหาเสนาผู้ใหญ่ |
เอากิจจาเล่าแถลงให้แจ้งใจ | แล้วเข้าไปในพระโรงรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงเคารพอภิวาท | แทบบาทบงกชบทศรี |
ดะหมังดาหาธานี | ทูลความตามมีบัญชาการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
ช้า
๏ เมื่อนั้น | องค์ศรีปัตหราได้ฟังสาร |
นิ่งนึกตรึกตราอยู่ช้านาน | จึงมีพจมานตรัสไป |
อิเหนาลาเราไปเล่นป่า | ยังหากลับมาบุรีไม่ |
จะให้ถามตัวมายังกรุงไกร | จึงจะได้กำหนดการวิวาห์ |
แล้วพระองค์ทรงแต่งสารศรี | ให้ยาสาเสนีไปหมันหยา |
แม้นไปถึงวันใดให้เร่งมา | ถึงจะนัดผัดผาก็อย่าฟัง ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ บัดนั้น | ยาสาคำนับรับสั่ง |
บังคมลาแล้วออกมาจากวัง | โจนขึ้นหลังอาชาแล้วคลาไคล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ รีบรัดดัดดั้นอรัญวา | ลุถึงหมันหยากรุงใหญ่ |
ตรงไปประเสบันทันใด | บังคมไหว้ระเด่นมนตรี |
ทูลว่าองค์ศรีปัตหรา | ใช้ข้ามาเฝ้าบทศรี |
ด้วยพระปิ่นดาหาธิบดี | ให้เสนีมานัดการวิวาห์ |
ขอเชิญพระองค์เสด็จไป | บัดนี้ภูวไนยกำหนดท่า |
แม้นถึงวันใดให้ไคลคลา | แล้วถวายสาราทันที ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีเรืองศรี |
ได้ฟังยาสาเสนี | ภูมีนิ่งนึกตรึกตรา |
อันระเด่นบุษบาดาหานั้น | หรือจะงามเท่าทันจินตะหรา |
เสียแรงรักได้หักหาญมา | จะทิ้งดวงยิหวาเสียฉันใด |
คิดพลางทางจารึกอักษร | เป็นใจความตัดรอนแล้วส่งให้ |
สั่งว่าข้าถวายบังคมไป | แทบใต้บาทบงสุ์พระทรงฤทธิ์ |
ใช่จะขัดบัญชานั้นหาไม่ | แต่จนใจได้เกินสะเทินจิต |
จะคืนหลังยังนครนั้นสุดคิด | ด้วยโทษผิดติดตัวกลัวอาญา |
อนึ่งท้าวดาหาเห็นจะรู้ | ว่าเรามาอยู่กับจินตะหรา |
น่าจะแค้นเคืองขัดอยู่อัตรา | ไหนจะให้บุษบานงเยาว์ |
ข้าคิดใคร่ครวญดูถ้วนถี่ | ถึงไปก็เสียทีเสียเปล่าเปล่า |
ยาสาจงนำเอาคำเรา | ไปกราบทูลผ่านเกล้าเหมือนวาจา |
อันการที่จัดแจงไว้ | อย่ามีอาลัยเลยกับข้า |
แม้นใครมาขอบุษบา | จงให้ตามปรารถนาเขานั้น ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ยาสาสุดที่จะผ่อนผัน |
บังคมลาภูธรจรจรัล | กลับไปกุเรปันทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงคลานเข้าไปเฝ้า | ก้มเกล้าประณตบทศรี |
ถวายสารระเด่นมนตรี | แล้วกราบทูลถ้วนที่ทุกสิ่งไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวกุเรปันเป็นใหญ่ |
ทราบสารดาลเดือดพระดนัย | จึงตรัสไปแก่อัครชายา |
อะหนะอิเหนานี้ผิดนัก | ไปพะวงหลงรักจินตะหรา |
ที่ร่วมวงศ์เทเวศร์ไม่เจตนา | ส่วนที่ต่ำช้าสิชอบใจ |
ตัดรอนมาตามอำเภอเอง | จะยำเกรงวงศาก็หาไม่ |
แม้นพระอนุชารู้ไป | จะน้อยใจด้วยอัปยศนัก |
จำจะคิดปิดงำไกล่เกลี่ย | อย่าให้เสียตระกูลประยูรศักดิ์ |
ถ้าใครรู้ความไม่งามพักตร์ | สงสารหลานรักบุษบา |
เห็นจะต้องงดการรำคาญจิต | พระยิ่งคิดเคืองแค้นท้าวหมันหยา |
ตรัสพลางทางสั่งเสนา | เรียกดะหมังดาหาเข้ามาใน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนารับสั่งบังคมไหว้ |
ออกมายังศาลาทันใด | พาดะหมังเข้าไปฉับพลัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระผู้ผ่านกรุงไกรไอศวรรย์ |
จึงบัญชาสั่งดะหมังนั้น | เร่งผายผันไปแจ้งอนุชา |
บอกว่าเราร้อนใจดังไฟผลาญ | รำคาญด้วยอิเหนาหนักหนา |
เดิมลาไปเล่นพนาวา | แล้วหนีไปหมันหยาเวียงชัย |
ให้ไปหาตัวเป็นหลายครั้ง | แต่ผัดเพี้ยนอยู่ยังหามาไม่ |
อันใจกูนี้เสนาใน | จะหาให้ที่ร่วมสุริย์วงศ์ |
แต่โอรสทำความไม่งามหน้า | ไปรักใคร่จินตะหราลุ่มหลง |
เหตุเพราะผู้ใหญ่นั้นเป็นมั่นคง | ยุยงส่งเสริมจึงเหิมใจ |
ดูทีเหมือนจะกลัวด้วยตัวผิด | จึงจนจิตอยู่ยังหามาไม่ |
การวิวาห์ต้องเลื่อนเดือนไป | แต่พอให้อิเหนากลับมา |
แล้วพระองค์ทรงแต่งราชสาร | ผัดผ่อนอ่อนหวานเป็นหนักหนา |
ส่งให้ดะหมังเสนา | เอาไปแจ้งอนุชาให้จงดี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ดะหมังรับสั่งใส่เกศี |
บังคมลามาขึ้นพาชี | กลับไปธานีดาหาพลัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึงเข้าพระโรงชัย | บังคมไหว้พระผู้ผ่านไอศวรรย์ |
ทูลแถลงแจ้งความทุกสิ่งอัน | ถวายสารทรงธรรม์ที่ให้มา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระองค์ทรงพิภพดาหา |
ทราบสารเคืองแค้นแน่นอุรา | จึงตรัสแก่กัลยาทั้งห้าองค์ |
จะรีรอง้อไปไยเล่า | อันลูกเราเขาไม่มีประสงค์ |
พระเชษฐารักศักดิ์สุริย์วงศ์ | จึงทรงอาลัยไกล่เกลี่ยมา |
ซึ่งจะคอยท่าหลานตามสารศรี | อีกร้อยปีก็ไม่จากเมืองหมันหยา |
แต่จะเวียนงดงานการวิวาห์ | จะซ้ำร้ายอายหน้ายิ่งนัก |
แม้นใครมาขอก็จะให้ | ไม่อาลัยที่ระคนปนศักดิ์ |
ถึงไพร่ประดาษชาติทรลักษณ์ | จะแต่งให้งามพักตร์พงศ์พันธุ์ |
ยิ่งคิดยิ่งแค้นแสนทวี | พระภูมีกลุ้มกลัดอัดอั้น |
เสด็จจากแท่นแก้วแพรวพรรณ | จรจรัลเข้าในที่ไสยา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | องค์ประไหมสุหรีดาหา |
ให้คิดแค้นขัดนัดดา | สวมกอดบุษบาเข้าร่ำไร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
โอ้
๏ โอ้ว่าลูกรักของแม่เอ๋ย | ไม่เห็นเลยว่าจะเป็นเช่นนี้ได้ |
สุดแสนเจ็บช้ำระกำใจ | เวราสิ่งใดนะลูกรัก |
เสียทีที่เจ้าเกิดมา | ในตระกูลเทวาอันสูงศักดิ์ |
รูปทรงยงยิ่งนรลักษณ์ | แต่อาภัพอัปลักษณ์กว่าฝูงคน |
แม่เห็นสมสุริย์วงศ์จึ่งปลงใจ | ควรหรือช่างไม่เป็นพักผล |
จะได้คู่ไพร่ฟ้าประชาชน | ไหนจะพ้นอัปยศอดอาย |
ในแว่นแคว้นแดนชวาจะลือทั่ว | จะนินทาว่าชั่วไม่รู้หาย |
ร่ำพลางทางสลดระทดกาย | โฉมฉายกำสรดโศกี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ โอด
ช้า
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงระเด่นมนตรีเรืองศรี |
เนาในหมันหยาธานี | กับสามนารีที่รัก |
พระชมชิดพิศโฉมจินตะหรา | กอดตระกองกัลยาไว้กับตัก |
โลมลูบปฤษฎางค์พลางเชยพักตร์ | นางค้อนควักผลักไสในทำนอง |
แล้วฉุดมือมาหยารัศมี | มานั่งนี่นงเยาว์ช่วยเกาขนอง |
ทำเอนอิงพิงทับปทุมทอง | นางเบี่ยงบิดปิดประคองป้องกัน |
พระตรัสชวนโฉมยงทรงต่อแต้ม | ยิ้มแย้มเย้ายวนสรวลสันต์ |
ต่างองค์ลงไพ่เป็นเชิงชั้น | งอนจริตบิดผันพาที |
ภูธรประทานชานสลา | ให้โฉมงามสามสุดามารศรี |
นางหมอบกรานอยู่งานพัชนี | ถ้อยทีพิศวาสไม่คลาดคลา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | โฉมยงองค์ระเด่นจินตะหรา |
หมอบเมียงเคียงข้างภัสดา | กัลยาประดิพัทธ์ผูกพัน |
จึ่งบังคมทูลภูวนาถ | เชิญเสด็จประพาสสะตาหมัน |
รุกขชาติหลายอย่างต่างกัน | ล้วนแกล้งกลั่นสรรมาปลูกไว้ |
ฤดูนี้ก็เป็นเทศกาล | บุหงาบานรื่นรสสดใส |
ทั้งสองน้องรักร่วมฤทัย | จะได้ไปเก็บเล่นสำราญ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ระเด่นมนตรีเกษมศานต์ |
รับขวัญกัลยายุพาพาล | แล้วมีพจมานตรัสไป |
ซึ่งเจ้าจะชวนไปสวนศรี | พี่นี้ก็ชอบอัชฌาสัย |
จะได้ชมรุกขชาติประหลาดใจ | ให้สำราญฤทัยเปรมปรีดิ์ |
ว่าพลางทางตรัสเรียกหา | สังคามาระตามาในที่ |
จงไปสั่งข้างหน้าบัดนี้ | ให้ผูกม้าเตรียมสีวิกากาญจน์ |
อันขอเฝ้าเหล่าเกณฑ์แห่ | ให้พร้อมแต่ย่ำรุ่งสุริย์ฉาน |
พี่จะไปประพาสอุทยาน | กับสามเยาวมาลย์สำราญใจ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สังคามาระตาอัชฌาสัย |
ถวายบังคมลาคลาไคล | ออกไปสั่งความตามบัญชา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | จึงเจ้าพนักงานถ้วนหน้า |
บ้างจัดแจงแต่งวอช่อฟ้า | ดาดหลังคาผูกม่านเตรียมไว้ |
นายเวรปลัดเวรขอเฝ้า | ก็สั่งพวกเลวเหล่าบ่าวไพร่ |
เร่งหาไม้น้อยน้อยสอยดอกไม้ | ให้มีไปตามเกณฑ์เวรละอัน |
พวกเวรออกก็บอกมาระดม | จะเสด็จไปชมสะตาหมัน |
ที่เกียจคร้านขาดเวรมาหลายวัน | ให้เพื่อนกันไปผูกคอมา |
บรรดาพวกพี่เลี้ยงแลเสนี | ต่างเตรียมพลมนตรีซ้ายขวา |
กรมม้าก็ผูกอาชา | คอยท่ารับเสด็จพระภูมี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | บาหยันซ่าเหง็ดสาวศรี | |
มาสั่งกันบรรดานารี | พรุ่งนี้จะเสด็จอุทยาน | |
พวกวิเสทสันทัดจงจัดแจง | ตกแต่งเครื่องเสวยคาวหวาน | |
สาวสาวเหล่าพวกพนักงาน | เครื่องอานตามธรรมเนียมเร่งเตรียมไว้ | |
แล้วสั่งสาวใช้ให้ไปบอก | ข้าหลวงเรือนนอกที่ใกล้ใกล้ | |
ครั้งนี้สิรู้อยู่เต็มใจ | อย่าให้อายชาวกุเรปัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนางข้าหลวงสาวสรรค์ |
แจ้งว่าจะเสด็จจรจรัล | ไปประพาสสวนขวัญก็ปรีดา |
ต่างคนต่างพากันมาเรือน | บอกเพื่อนที่สนิทชิดชอบหน้า |
นั่งจีบพลูพลางทางพูดจา | บรรจงเจียนสลาใส่ซอง |
ลางคนพึ่งหายไข้ไรรก | หยิบกระจกมาตั้งนั่งส่อง |
ติดขี้ผึ้งควันเทียนเวียนมอง | ผัดหน้านวลละอองยองใย |
บ้างนุ่งผ้าตานีเป็นทีท่วง | ห่มแพรดวงม่วงอ่อนหงอนไก่ |
นั่งพิศดูตัวเห็นชั่วไป | เปลี่ยนผ้าห่มใหม่จะให้งาม |
ลางคนปากคอใช่พอดี | เสียดสีเปรียบเปรยเย้ยหยาม |
ถุ้งเถียงด่าทอต่อความ | ลวนลามลำเลิกทะเลาะกัน |
ลางนางบ้างมีที่มุ่งหมาย | ก็แต่งกายนุ่งห่มให้คมสัน |
มวนบุหรี่ใบจากใส่จันทน์ | หวังจะไปให้กันที่กลางทาง |
บรรดาข้าหลวงทั้งสามแห่ง | ต่างแต่งประกวดอวดรูปร่าง |
ที่แสนงอนไม่งดชดลิ้นคาง | บุ้ยปากถากถางแล้วยิ้มพราย |
ลางนางหลงหลับอยู่กับเพื่อน | บ่าวเตือนแต่งตัวกลัวจะสาย |
มานั่งพรั่งพร้อมเรียงราย | คอยเสด็จโฉมฉายจะยาตรา ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์เทวัญหรรษา |
จึงชวนทรามวัยไคลคลา | เสด็จมาสรงสนานสำราญกาย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ชมตลาด
๏ พระทรงสุคนธารในพานทอง | นางผัดพักตร์ผิวผ่องส่องพระฉาย |
พระทรงภูษายกกระหนกกลาย | นางนุ่งลายก้านขดงดงาม |
พระสอดใส่ฉลององค์โอภาส | นางห่มตาดเรืองรองทองอร่าม |
พระทรงบั้นเหน่งสายประจำยาม | โฉมงามคาดเข็มขัดรัดองค์ |
พระทรงทับทรวงดวงกุดั่น | นางใส่สร้อยสุวรรณตันหยง |
พระสอดสวมพาหุรัดกระหวัดวง | นางทรงทองกรแก้วประพาฬ |
พระทรงธำมรงค์เรืองระยับ | นางใส่แหวนประดับมุกดาหาร |
พระทรงชฎาแก้วสุรกาญจน์ | เยาวมาลย์ทรงมงกุฎพระบุตรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ ครั้นเสร็จพระเสด็จจรจรัล | ลงจากสุวรรณปราสาทศรี |
มาทรงสินธพพาชี | ทั้งสามเทวีทรงวอทอง |
พร้อมพี่เลี้ยงเสนากิดาหยัน | แห่แหนแน่นนันต์เป็นแถวถ้อง |
อนุชาขี่ม้าที่นั่งรอง | สาวสนมเนืองนองตามมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ กลองโยน
๏ ครั้นถึงทวาราสะตาหมัน | ยังไม่ทันอุทัยไขแสงกล้า |
ลงจากมโนมัยไคลคลา | สามสุดาตามเสด็จจรลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
พระทอง
๏ ชี้ชวนนวลนางพลางประพาส | ชมพรรณรุกขชาติในสวนศรี |
บ้างระบัดผลัดใบเขียวขจี | บ้างคลายคลี่ยอดแย้มแกมผกา |
พระโฉมยงทรงเก็บกุหลาบเทศ | ประทานองค์อัคเรศจินตะหรา |
ทำเทียมเลียมลอดสอดคว้า | กัลยาปัดกรค้อนคม |
พระทรงสอยสร้อยฟ้าสาระภี | ให้มาหยารัศมีแซมผม |
เลือกเก็บดอกลำดวนชวนชม | ใส่ผ้าห่มให้สการะวาตี |
แล้วเอาใบมะพร้าวมาทำงู | หลอนหมู่กำนัลสาวศรี |
ลางนางแล่นล้มไม่สมประดี | สรวลระริกซิกซี้นี่นัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
เบ้าหลุด
๏ เมื่อนั้น | จินตะหราวาตีสาวสวรรค์ |
เดินเคียงข้างองค์พระทรงธรรม์ | ประพาสพรรณบุปผาสุมามาลย์ |
พลางทูลภูวไนยให้เหนี่ยวน้อม | เด็ดดวงพวงพะยอมหอมหวาน |
เบญจมาศชาตบุษย์แบ่งบาน | เด็ดประทานให้สการะวาตี |
สาวหยุดยื่นย้อยห้อยระย้า | จงหักให้มาหยารัศมี |
เด็ดดอกประยงค์อยู่ตรงนี้ | ให้ยาหยีสังคามาระตา |
ก่นแต่ฉวยฉุดยุดยื้อ | นี่หรือว่าเก็บบุหงา |
ช่างไม่อดสูอนุชา | อะไรนั่นเป็นน่าอายใจ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ปะหลิ่ม
๏ เมื่อนั้น | พระโฉมยงยิ้มพลางเฉลยไข |
อะอายองค์อนุชาไปว่าไร | ใช่คนอื่นไกลหาไหนมา |
สามองค์จงมาให้ใกล้พี่ | ชวนชี้ชมพรรณบุปผา |
พระเก็บสาวหยุดยื่นให้กัลยา | เอารสนาสาเป็นกลใน |
อนิจจาแนบเนื้อไม่เชื่อจิต | จะอายเอียงเบี่ยงบิดไปข้างไหน |
พลางพระกระชั้นชิดติดตามไป | เลี้ยวไล่ไขว่คว้าสามนารี |
กุมกรจินตะหราพาเที่ยว | ลดเลี้ยวไปในสวนศรี |
สัพยอกหยอกหยิกซิกซี้ | ถ้อยทีบันเทิงปรีดา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เพลงจีน
ร่าย
๏ ครั้นสายแสงศรีรวีวร | ทินกรร้อนแรงแสงกล้า |
จึงชวนโฉมงามสามสุดา | ลีลาศลงสู่ท่าชลาลัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
สระบุหร่ง
๏ สรงสนานสำราญในสระศรี | วารีลึกซึ้งเย็นใส |
พระสาดน้ำหยอกสามทรามวัย | นางแฝงพักตร์บังใบปทุมมาลย์ |
แล้วโฉมยงทรงเก็บโกสุม | ว่ายกระทุ่มธาราฉ่าฉาน |
พระเด็ดดอกบุษบงทิ้งนงคราญ | เยาวมาลย์ป้องปัดไปมา |
เฝ้าเหน็บแนมแกมกลปนไป | ฉวยฉุดชายสไบจินตะหรา |
ตลบหลังเลี้ยวไล่ไขว่คว้า | กุมกรสการะวาตี |
แล้วหลีกลัดสกัดกั้นกาง | นวลนางมาหยารัศมี |
สามนางพลางผลักภูมี | หยิกตีทำกระบวนให้ยวนใจ |
เหล่าฝูงสุรางค์นางกำนัล | บ้างชวนกันซ่อนเร้นเล่นไล่ |
บ้างเที่ยวถอนบัวเผื่อนเกลื่อนไป | สำราญใจทุกหน้านารี |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เพลงฉิ่ง
ร่าย
๏ สรงเสร็จเสด็จจากสระสนาน | กับสามองค์นงคราญมเหสี |
กรายกรบทจรจรลี | มายังที่ปราสาทสวนดอกไม้ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ต่างองค์ทรงเครื่องเรืองระยับ | มงกุฎเก็จเพชรประดับดอกไม้ไหว |
แล้วลีลามาทรงอาชาไนย | ทรามวัยทรงสีวิกากาญจน์ |
พรั่งพร้อมขอเฝ้าเหล่ากำนัล | เสนากิดาหยันทวยหาญ |
แห่แหนเป็นขนัดอัดอุทยาน | คืนเข้าราชฐานวังใน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
https://vajirayana.org/system/files/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B2_264950.pdf