๓๑ มกราคม ๒๔๙๕

๓๑ มกราคม ๒๔๙๕

เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

อนุสนธิหนังสือข้าพเจ้าลงวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๔๙๕ เสนอบันทึก (ลงวันเดือนเดียวกัน) ว่าด้วยนโยบายและวิธีการปริวรรตเงินต่างประเทศ มีความสรุปลงว่าควรแก้ไขเปลี่ยนแปลงนโยบายและวิธีการนั้นเสียใหม่ ความทราบแล้วนั้น

เมื่อได้พิเคราะห์ดูตลอดแล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่าการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องเล็กน้อย และจะมีผลกระทบกระเทือนไปได้หลายทาง ข้าพเจ้าจึ่งขอเสนอความเห็นเป็นบันทึก มีข้อความพิสดารมาอีก ๑ ฉบับ เพื่อเป็นทางพิจารณาต่อไป.

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง

(ลงพระนาม) วิวัฒน

(พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย)

----------------------------

บันทึก (ฉบับที่ ๒)

เรื่อง การปริวรรตเงินต่างประเทศ

คำนำ

๑. ในบันทึกลงวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๔๙๕ เรื่องการปริวรรตเงินต่างประเทศ ข้าพเจ้าได้เสนอไว้ว่าการควบคุมการปริวรรตเงินประการหนึ่ง และการขายเครดิตธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อรายจ่ายลงทุนอีกประการหนึ่ง ได้เป็นเหตุที่เป็นสาระสำคัญกระทำให้ปริมาณของเงินเพิ่มขึ้นมากอย่างรวดเร็วและเป็นเครื่องดึงค่าของเงินให้ลดลง จึ่งสมควรแก้ไขเปลี่ยนแปลงวิวิธีการที่ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบันนี้เสียโดยเร็ว ฉะนั้น ในบันทึกฉบับนี้จึ่งจะเสนอความเห็นให้เป็นทางพิจารณาต่อไปว่าจะควรกำหนดนโยบายและวิธีการขึ้นใหม่ประการใด และถ้าจะปฏิบัติตามความเห็นที่เสนอก็จะเกิดผลประการใดบ้าง

แต่ก่อนที่จะเสนอความเห็นที่กล่าว ข้าพเจ้าใคร่จะคำนวณโดยวิธีง่าย ๆ พอให้เห็นได้ว่าเหตุสองประการอันได้กระทำให้ปริมาณของเงินเพิ่มขึ้นมากรวดเร็วนั้นแต่ละเหตุมีน้ำหนักมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้เพราะข้าพเจ้ามั่นใจอยู่ว่า ถ้าไม่ระงับเหตุทั้งสองประการนั้นเสียแล้ว ค่าของเงินก็มีแต่จะต้องลดลง

ปริมาณของเงินเพิ่มขึ้นเพราะเหตุใดเท่าใด

๒. ในใบแนบท้ายบันทึกนี้มีคำชี้แจงและตัวเลขแสดงว่าปริมาณของเงินได้เพิ่มขึ้นเพราะควบคุมการปริวรรตเงินประมาณเท่าใด และเพราะขยายเครดิตธนาคารแห่งประเทศไทยประมาณเท่าใด ตัวเลขเหล่านี้สรุปลงได้ดั่งต่อไปนี้

ระยะเวลา ๑ ม.ค. ๙๑ -- ๓๐ พ.ย. ๙๔ (๓ ปี ๑๑ เดือน)

เหตุที่กระทำให้ปริมาณของเงินเพิ่มขึ้น

ปริมาณที่เพิ่ม

ล้านบาท

คิดเป็นส่วนร้อยของปริมาณที่เพิ่มขึ้นทั้งสิ้นร้อยละ
ก. การควบคุมการปริวรรต (จำนวนสุทธิ) ๘๗๔ ๓๕
ข. การขยายเครดิตธนาคาร ๑,๑๒๕ ๔๕
ค. เหตุอื่น ๆ ๔๘๔ ๒๐
  ๒,๔๘๓ ๑๐๐

นโยบายใหม่

๓. ในบันทึกลงวันที่ ๑๕ มกราคม ที่กล่าวแล้ว ข้าพเจ้าได้แสดงไว้ว่าวัตถุประสงค์ในเรื่องการเงินได้แก่การจัดให้บาทมีค่าเป็นเสถียรภาพ และเมื่อมีวัตถุประสงค์อยู่เช่นว่านี้จึ่งได้มีนโยบายข้อหนึ่งว่าจะค่อยสร้างทุนสำรองขึ้นเป็นลำดับ และเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายข้อนี้จึ่งได้กำหนดเป็นวิธีการว่าให้ควบคุมการปริวรรตเงินไปพลางก่อนเพื่อดึงเอาเงินต่างประเทศจำนวนหนึ่งมาเข้าทุนสำรอง บัดนี้ปรากฏว่าการปฏิบัติตามวิธีการนั้นได้เป็นผลให้มีทุนสำรองมากพอตามนโยบายข้อนั้นแล้ว ถ้าจะปฏิบัติต่อไปอีกก็จะมีทางเสียมากกว่าได้ ทั้งนี้แจ้งในบันทึกฉบับที่กล่าวนั้นแล้ว ฉะนั้น ปัญหาในขณะนี้จึ่งมีว่าจะควรกำหนดนโยบายขึ้นใหม่ประการใด และเมื่อได้วินิจฉัยว่าจะกำหนดนโยบายใหม่นั้นประการใดแล้วก็จะต้องกำหนดต่อไปว่าจะใช้วิธีการใดการจึ่งจะเป็นไปตามนโยบายนั้น

๔. การกำหนดนโยบายขึ้นใหม่ควรพิจารณาตามพฤติการณ์เทั่วไป ซึ่งในปัจจุบันนี้มีอยู่ว่าประเทศไทยมี surplus balance of payments กล่าวคือในการชำระเงินกับเมืองต่างประเทศนั้นประเทศไทยได้รับเงินต่างประเทศมากกว่าที่จ่าย อนึ่ง การสร้างอาวุธยุทธภัณฑ์ในประเทศข้างตะวันตก ก็ปรากฏว่าจะต้องกระทำเป็นการใหญ่ต่อไปจนถึงสิ้น ค.ศ. ๑๙๕๔ จึงควรคาดได้ว่าประเทศไทยจะยังคงมี surplus เป็นจำนวนมากต่อไปอีก ปัญหาจึงมีว่าจะใช้ surplus นั้นอย่างไรดี ทางที่อาจจะใช้ได้มีอยู่หลายทาง จะเลือกเอาแต่ทางใดทางหนึ่งหรือหลายทางด้วยกันก็ได้ คือ (๑) กันเอาไว้เป็นทุนสำรอง (๒) ปล่อยเข้าไปในตลาด (๓) กันเอาไว้เพื่อรายจ่ายในการลงทุน (๔) ใช้เพื่อดำรงค่าของบาทไว้ในอัตราสูงเมื่อเทียบกับเงินต่างประเทศ

๕. ทางที่ (๑) คือ กันเอาไว้เป็นทุนสำรอง นั้น บัดนี้ไม่มีความจำเป็นประการใด ดั่งกล่าวแล้วข้างบนนี้

๖. ทางที่ (๒) คือปล่อยเข้าไปในตลาด จะเป็นการเพิ่มอุปทาน (supply) เงินต่างประเทศขึ้นไม่น้อย ผลที่จะเกิดจากการเพิ่มอุปทานควรจะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๓ อย่างต่อไปนี้ คือ บาทมีค่าสูงขึ้น หรือทั้งสองอย่างนั้นประกอบกัน ถ้าจะลองคาดคะเนดูว่าจะเป็นอย่างใดก็มีทางที่อาจคาดได้ต่อไปนี้ คือ เพราะประเทศข้างตะวันตกเร่งร้อนสร้างอาวุธเป็นการใหญ่ อันเป็นเหตุให้มี inflation ในประเทศเหล่านั้นไม่มากก็น้อย สินค้าที่ประเทศเหล่านั้นผลิตจึ่งจะมีราคาแพงขึ้นอีก และปริมาณที่จะส่งออกได้ก็จะลดลงด้วย เพราะฉะนั้นหากจะมีสินค้าเข้ามาประเทศไทยมากขึ้นก็คงไม่มากถึงแก่ท่วมอุปทานเงินต่างประเทศที่จะมีเพิ่มขึ้นในตลาด ค่าของบาทจึ่งคงจะขึ้นไปอีกเมื่อเทียบกับสเตอร์ลิงก์ แต่ถ้าจะเทียบกับดอลลาร์ ค่าของบาทจะขึ้นไปหรือไม่ก็ยากที่จะคาดได้ เพราะเป็นเรื่องที่ตลาดเงินในเมืองต่างประเทศเข้ามาพัวพันอยู่ด้วย

๗. ทางที่ (๓) คือ กันเอาไว้จ่ายเพื่อการลงทุนนั้น ข้าพเจ้าขอเสนอว่าเป็นความจำเป็นแท้ เพราะปัจจุบันนี้ต้องขยายเครดิตธนาคารเพื่อรายจ่ายลงทุนเป็นเหตุอันหนึ่งที่ทำให้ปริมาณของเงินเพิ่มขึ้นมาก จึงควรเลิกการขยายเครดิตธนาคาร และใช้ surplus ที่กล่าวแล้วเพื่อรายจ่ายลงทุนแทนที่จะขยายเครดิตต่อไปอีก

๘. ทางที่ (๔) คือ ใช้เพื่อดำรงค่าของบาทในอัตราสูง นั้น ปรากฏว่าความประสงค์ของรัฐบาลก็ใคร่จะให้บาทมีค่าสูงขึ้นเมื่อเทียบกับสเตอร์ลิงก์ ฉะนั้น เมื่อจะกำหนดนโยบายและวิธีการใหม่อย่างใดก็จะต้องระลึกถึงความประสงค์นั้นด้วย

๙. เมื่อทางพิจารณาโดยทั่วไปมีอยู่ดังกล่าวแล้ว (ข้อ ๔-๘) จึ่งเห็นควรกำหนดนโยบายขึ้นใหม่ข้อหนึ่ง ว่าจะกัน surplus ที่เกิดจากการชำระหนี้กับเมืองต่างประเทศเอาไว้เพื่อใช้จ่ายในการลงทุนโดยวิธีที่จะมิให้ปริมาณของเงินต้องเพิ่มขึ้นเพราะการกันเอาไว้นั้น และจะให้บาทมีค่าสูงขึ้นเมื่อเทียบกับสเตอร์ลิงก์ตามความประสงค์ของรัฐบาล

วิธีการใหม่

๑๐. ถ้ารับรองนโยบายที่เสนอในข้อ ๙ วิธีการที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายนั้นควรกำหนดดั่งต่อไปนี้ก่อนเป็นขั้นต้น แล้วคอยดูว่าจะเป็นผลอย่างใด หากจะต้องแก้ไขประการใดจะได้ทำได้ทันท่วงที

เพื่อพิจารณาได้สะดวกจะเสนอเป็นรูปตารางแสดงวิธีการใหม่และผลที่จะเกิดขึ้น หรือคาดว่าจะเกิดขึ้นในเบื้องต้นจากวิธีการนั้นๆ

วิธีการใหม่ ผลที่จะเกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดในในเบื้องต้น
๑. เลิกควบคุมการปริวรรตเงินตามที่ปฏิบัติอยู่ คือ ยกเลิกกฎกระทรวงที่บังคับผู้ส่งออกซึ่งข้าว (ไม่ว่ารัฐบาลหรือเอกชน) ยาง และดีบุก ให้ต้องขายเงินต่างประเทศให้ธนาคารแห่งประเทศไทย และยกเลิกอัตราแลกเปลี่ยนทางการ (เงินต่างประเทศค่าข้าวของรัฐบาลก็ต้องให้เข้าไปในตลาดทันที)

ธนาคารแห่งประเทศไทย

(๑) ธนาคารแห่งประเทศไทยจะไม่จำต้องรับซื้อเงินต่างประเทศอีก จึ่งจะไม่ต้องออกธนบัตรเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อเงินต่างประเทศ (ถ้าจะต้องซื้อเพื่อรัฐบาลก็เอาเงินของรัฐบาลซื้อในตลาด)

(๒) การซื้อขายเงินต่างประเทศในอัตราทางการจะเป็นอันไม่มีอีก

ตลาดเงินต่างประเทศ

(๓) อุปทาน (supply) เงินต่างประเทศในตลาดจะเพิ่มขึ้น ค่าของเงินบาทจึงจะสูงขึ้นเมื่อเทียบกับสเตอร์ลิงก์ แต่เมื่อเทียบกับดอลลาร์จะสูงขึ้นหรือไม่ยังคาดไม่ได้ เพราะมีเหตุการณ์นอกอำนาจมาพันพัวอยู่ด้วย

(๔) ถ้าค่าของเงินบาทไม่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ค่าของสเตอร์ลิงก์เทียบกับดอลลาร์ (Sterling-Dollar cross rate) จะลดลง ฝ่ายอังกฤษอาจทักท้วง แต่เห็นว่าฝ่ายเรามีทางตอบได้เป็นอย่างดี เพราะการเลิกควบคุมการปริวรรตเป็นการที่ต้องปฏิบัติตามสัญญา IMF

การคลังรัฐบาล

(๕) รัฐบาลจะมีเงินรายได้เพิ่มขึ้น เพราะ (ก) ได้เงินบาทเพิ่มขึ้นเป็นค่าข้าวส่งออก (ข) ภาษีอากรบางประเภท เช่น อากรขาเข้าจะได้เงินเพิ่มขึ้นเพราะจะเก็บตามอัตราตลาด

(๖) รายจ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศจะเพิ่มขึ้น เพราะจะต้องซื้อเงินต่างประเทศในอัตราตลาดแต่รายได้ที่จะเพิ่มขึ้นนั้นจะสูงกว่ารายจ่ายที่จะต้องเพิ่ม และจะสูงกว่ากันมากมายด้วยการค้ากับต่างประเทศ

(๗) ผู้ส่งออกซึ่งยางและดีบุกจะได้รับเงินบาทมากขึ้น (จึ่งควรแก้ไขตามวิธีการที่จะกล่าวต่อไป เพราะไม่มีเหตุผลอย่างใดที่จะปล่อยให้บุคคลแต่สองจำพวกนี้ได้อดิเรกลาภ)

(๘) เพราะบาทคงจะมีค่าสูงขึ้นเมื่อเทียบกับสเตอร์ลิงก์ ผู้ส่งออกซึ่งสินค้าอื่น ๆ ไปเขตสเตอร์ลิงก์จะได้รับบาทน้อยลงบ้าง แต่จะไม่ถึงส่งของออกไม่ได้

(๙) ผู้นำน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าจะต้องซื้อเงินต่างประเทศในตลาดคงจะขายน้ำมันในราคาแพงขึ้น (ปัญหาจึงมีว่ารัฐบาลจะควร subsidize ผู้ใช้น้ำมันต่อไปหรือไม่ เมื่อระลึกว่ารัฐบาลจะต้องจ่ายเงินลงทุนเป็นจำนวนมาก ก็ไม่น่าจะ subsidize ต่อไป)

(๑๐) ผู้นำสินค้าเข้าจากเขตสเตอร์ลิงก์คงจะตัองจ่ายบาทน้อยลง คือสินค้าขาเข้าจะถูกลงเมื่อคิดเป็นบาท (แต่เพราะมี inflation ในเขตสเตร์ลิงก์ ราคาสินค้าในเขตนั้นจะแพงขึ้น ฉะนั้น ในระยะเวลายาวสินค้าจากเขตสเตอร์ลิงก์อาจไม่ถูกลงก็ได้)

๒. ให้เอาเงินบาทที่รัฐบาลจะได้รับเพิ่มขึ้นจากการขายข้าวนั้นกันไว้ใช้เพื่อรายจ่ายลงทุน (๑๑) เงินจำนวนที่รัฐบาลจะได้เพิ่มขึ้นนั้นควรจะเป็นจำนวนใกล้กันกับเงินที่ส่งเข้าบัญชีเสถียรภาพตามวิธีการปัจจุบัน ซึ่งในระยะเวลา ๔ ปีที่แล้วมามีจำนวน ๙๔๘ ล้านบาท ในระยะเวลาเดียวกันนี้ ได้ขยายเครดิตธนาคารเพื่อรายจ่ายลงทุน ๑,๑๒๕ ล้านบาท ฉะนั้น เงินที่รัฐบาลจะได้เพิ่มเฉพาะจากข้าว ก็นับว่าใกล้กับที่ได้จากการขยายเครดิตธนาคาร
๓. ขึ้นอัตราอากรยางขาออกและค่าภาคหลวงแร่ เพื่อให้รัฐบาลได้เงินเพิ่มขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง สำหรับรายจ่ายลงทุน (อัตราใหม่ควรมีลักษณะเป็น sliding scale) (๑๒) อากรยางและค่าภาคหลวงแร่ควรขึ้นได้มาก และเงินที่จะได้รับเพิ่มขึ้นนั้นเมื่อบวกกับเงินที่จะได้รับเพิ่มขึ้นจากการขายข้าวและภาษีอากรบางประเภทแล้วก็ควรจะพอสำหรับการจ่ายลงทุน

๑๑. การปฏิบัติตามวิธีการ ๓ ข้อที่เสนอมานี้ เป็นทางระงับเหตุอันเป็นสาระสำคัญ ที่กระทำให้ปริมาณของเงินเพิ่มขึ้นมากรวดเร็วประการหนึ่ง และเป็นทางใช้ surplus อันเกิดจากการชำระเงินกับเมืองต่างประเทศให้ได้ประโยชน์เป็นอย่างดีอีกประการหนึ่ง คือใช้ทั้งเพื่อรายจ่ายลงทุน และเพื่อให้เงินบาทมีค่าสูงขึ้นเมื่อเทียบกับสเตอร์ลิงก์ตามความประสงค์ของรัฐบาล อนึ่ง ตามหนังสือสัญญา IMF ก็จะต้องยกเลิกการควบคุมการปริวรรตเงินในมีนาคม ศกนี้ (ถ้ามีเหตุจำเป็นที่จะยังยกเลิกไม่ได้ ก็จะต้องปรึกษากับ IMF) ฉะนั้น การปฏิบัติตามวิธีการที่เสนอมานี้ก็เป็นทางที่ชอบด้วยหนังสือสัญญานั้นด้วย

๑๒. อนึ่ง การขยายการออมสินตามที่กำหนดไว้เดิมก็ยังเป็นความจำเป็นอยู่อีกมาก เพราะเป็นทางที่จะช่วยป้องกันมิให้ต้องขยายเครดิตธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อรายจ่าย ธนาคารออมสินจึ่งควรจะได้รัชกาลส่งเสริมเป็นอย่างมากที่สุด อนึ่ง วิธีการของกระทรวงการคลังที่ห้ามมิให้ธนาคาร..............................และธนาคารอื่นเปิดบัญชี Savings account นั้นสมควรจะได้รับการพิจารณาใหม่ และควรยอมให้ธนาคารเหล่านั้นทำการ Savings ได้ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องนำเงินฝากจำนวนหนึ่งไปซื้อหลักทรัพย์รัฐบาล

๑๓. ในที่สุด ข้าพเจ้าใคร่เสนอว่าวิธีการใหม่ที่เสนอมานี้ เมื่อได้ใช้แล้วก็จะต้องคอยดูผลอย่างใกล้ชิด เพราะผลที่จะเกิดขึ้นนั้นมีหลายประการ และผลเหล่านั้นเองคงจะชี้ให้เห็นถนัดขึ้นว่าการจัดให้บาทมีค่าเป็นเสถียรภาพนั้นจะกระทำได้โดยวิธีใดเมื่อใด.

(ลงพระนาม) วิวัฒน

๓๑ มกราคม ๒๔๙๕

----------------------------

ใบแนบ

๑. ความมุ่งหมายของใบแนบฉบับนี้ได้แก่การคำนวณโดยวิธีง่าย ๆ ว่าในเวลา ๔ ปีที่แล้วมานี้ปริมาณของเงินได้เพิ่มขึ้นเพราะการควบคุมการปริวรรตและเพราะการขยายเครดิตของธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อรายจ่ายรัฐบาล แต่ละรายการเป็นจำนวนเงินประมาณเท่าใด และเพื่อพิจารณาตัวเลขได้สะดวกจึ่งจะอธิบายเสียก่อนว่าการคำนวณนั้นใช้วิธีการอย่างใด

๒. การควบคุมการปริวรรตตามวิธีการที่ปฏิบัติอยู่ เป็นการดึงเอาเงินต่างประเทศจำนวนหนึ่ง (คือเงินต่างประเทศที่ได้มาจากการขายข้าว ฯลฯ ไปต่างประเทศ) ออกจากตลาดมาให้ธนาคารแห่งประเทศแห่งประเทศไทยรับซื้อไว้ในอัตราทางการ ในการซื้อเงินต่างประเทศที่กล่าวนี้ธนาคารต้องจ่ายเงินบาท และเมื่อใดธนาคารไม่มีเงินบาทพอจ่าย ธนาคารก็เอาเงินต่างประเทศที่ซื้อไว้นั้นโอนเข้าทุนสำรองเสียจำนวนหนึ่งเพื่อแลกเปลี่ยนเอาธนบัตรมาจ่าย ปริมาณของเงินจึ่งเพิ่มขึ้นเท่ากับธนบัตรที่ธนาคารได้รับแลกเปลี่ยนมา

๓. อนึ่ง เงินต่างประเทศจำนวนที่ไม่จำต้องโอนเข้าทุนสำรองเพื่อแลกเป็นธนบัตรนั้นธนาคารขายให้แก่รัฐบาลเท่าที่รัฐบาลต้องการ และเมื่อมีเหลืออยู่อีกเท่าใดธนาคารก็ขายเข้าไปในตลาดในอัตราตลาดเสรี เงินจำนวนที่ต่างกันระหว่างอัตราที่ธนาคารขายให้ตลาดนั้นธนาคารเอากักเข้าไว้ในบัญชีที่เรียกว่า “บัญชีเสถียรภาพ” เพราะฉะนั้นปริมาณของเงินที่เพิ่มขึ้นเพราะการควบคุมการปริวรรตจึงมีจำนวนสุทธิเท่ากับธนบัตรที่ธนาคารได้รับแลกเปลี่ยนมาตามความในข้อ ๒ หักด้วยเงินที่กักไว้ในบัญชีเสถียรภาพ

๔. รายจ่ายจำนวนหนึ่งของรัฐบาลในการลงทุนนั้น รัฐบาลได้กู้เงินจากธนาคารแห่งประเทศไทยมาจ่ายโดยวิธีมอบหลักทรัพย์ (ตั๋วเงินคลังหรือพันธบัตร) ให้แก่ธนาคาร แล้วธนาคารก็ให้เครดิตแก่รัฐบาลเท่าหลักทรัพย์ที่ธนาคารรับไว้ โดยวิธีเครดิตบัญชีเงินฝากของรัฐบาล และรัฐบาลก็สั่งจ่ายเงินได้เท่าที่มีเครดิตเพิ่มขึ้น ฉะนั้นปริมาณของเงินที่เพิ่มขึ้นเพราะขยายเครดิตธนาคารจึ่งพอถือได้ว่าเท่ากับหลักทรัพย์ที่ธนาคารรับไว้จากรัฐบาล

๕. การคำนวณต่อไปนี้เป็นการคำนวณสำหรับระยะเวลาตั้งแต่มกราคม ๒๔๙๑ ถึง พฤศจิกายน ๒๔๙๔ รวมเป็น ๓ ปี ๑๑ เดือน (ไม่ครบ ๔ ปีเต็มเพราะตัวเลขประจำธันวาคม ๒๔๙๔ ยังไม่บริบูรณ์)

ปริมาณของเงินที่เพิ่มขึ้นเพราะการควบคุมการปริวรรต ล้านบาท
ก ธนบัตรที่จำหน่าย ม.ค. ๙๑ – พ.ย. ๙๔ ๑,๘๒๒
ข. เงินในบัญชีเสถียรภาพ พ.ย. ๙๔ ๙๔๘
ค. ปริมาณของเงินที่เพิ่ม ม.ค. ๙๑ – พ.ย. ๙๔ (ก-ข) ๘๗๔
ปริมาณของเงินที่เพิ่มขึ้นเพราะขยายเครดิตธนาคาร  
ง. หลักทรพัย์ที่ธนาคารถือเมื่อ ม.ค. ๙๑ ๒๘๗
จ. หลักทรัพย์ที่ธนาคารถือเมื่อ พ.ย. ๙๔ ๑,๔๑๒
ฉ. ปริมาณของเงินที่เพิ่ม ม.ค. ๙๑ – พ.ย. ๙๔ (จ-ง) ๑,๑๒๕
ฉะนั้นปริมาณของเงินที่เพิ่มเพราะเหตุสองประการที่กล่าวแล้ว (ค+ฉ) เท่ากับ ๑,๙๙๙

๖. เมื่อตรวจดูปริมาณของเงินทั้งสิ้นที่เพิ่มขึ้นในรรยะเวลาที่กล่าวข้างบนก็ปรากฏต่อไปนี้

เดือนปี ธนบัตรที่ออกใช้ เงินฝากทุกธนาคารบรรดาที่ต้องจ่ายเมื่อเห็น และหักเงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์ออกแล้ว ปริมาณของเงินทั้งสิ้น (2+3) ปริมาณที่เพิ่มขึ้น
  ล้านบาท ล้านบาท ล้านบาท ล้านบาท
ม.ค. 91 2,106 810 2,916  
ก.ย. 94* 3,884 1,515 5,399 +2,483

*ตัวเลขมีบริบูรณ์เพียง ก.ย. ๙๔

ในระยะเวลา ๓ ปี ๙ เดือน ปริมาณของเงินได้เพิ่มขึ้น ไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆ รวมทั้งสิ้น ๒,๔๘๓ ล้านบาท

๓๑ มกราคม ๒๔๙๕

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ