เรื่อง กันเงินเฟ้อ (ANTI-INFLATION)

๑. เมื่อมีสงคราม เครื่องอุปโภคบริโภคย่อมมีปริมาณลดลง ถ้าธนบัตรที่ออกใช้และการให้เครดิตไม่ลดตามลงไป เครื่องอุปโภคบริโภคย่อมมีราคาแพงขึ้น และถ้าธนบัตรออกใช้ยิ่งเพิ่มขึ้น หรือมีการให้เครดิตมีมากขึ้น ราคาสินค้าจะสูงยิ่งขึ้นไปอีก

๒. ในระยะเวลา ๒ ปีหลังนี้ (ธันวาคม ๒๔๘๓ ถึง ธันวาคม ๒๔๘๕) ธนบัตรออกใช้ได้มีราคาเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ตั้งแต่ ๒๓๔,๗๗๕,๐๐๐ บาท ถึง ๓๙๒,๑๒๔,๐๐๐ บาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ ๖๗

กิจการของธนาคารพาณิชย์เมื่อธันวาคม ๒๔๘๓ และธันวาคม ๒๔๘๕ ปรากฏดั่งนี้

  ธันวาคม ๒๔๘๓ ธันวาคม ๒๕๕๕ +เพิ่ม -ลด ร้อยละ
  บาท บาท บาท
เงินสด ๒๔,๖๖๒,๐๐๐ ๓๗,๒๙๙,๐๐๐ +๕๑
เงินให้กู้ยืม ๓๖,๒๓๗,๐๐๐ ๒๗,๒๑๘,๐๐๐ -๒๕
หลักทรัพย์ ๘,๖๒๙,๐๐๐ ๒๖,๖๖๓,๐๐๐ +๒๐๙

จะเห็นได้ว่าแม้เงินสดเพิ่มขึ้นร้อยละ ๕๑ ก็ตาม แต่บังเอิญธนาคารพาณิชย์ให้กู้ยืมเงินลดน้อยลง และซื้อหลักทรัพย์ (ส่วนมากของรัฐบาล) เพิ่มขึ้นมาก หาไม่ราคาสินค้าจะสูงยิ่งกว่าที่เป็นอยู่เวลานี้

๓. งบประมาณแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๘๖ ปรากฏว่าจะมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ ๑๒๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท นอกจากนี้จะต้องจ่ายเงินให้แก่กองทัพญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะเป็นจำนวนประมาณ ๘๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท จึ่งเป็นที่แน่ใจว่าธนบัตรออกใช้จะต้องมีราคาเพิ่มขึ้นอีกมาก อนึ่งเมื่อธนบัตรออกใช้เพิ่มขึ้น ธนาคารพาณิชย์คงจะมีเงินสดเพิ่มขึ้น จะมีกำลังให้เครดิตได้มากขึ้น

ในเวลานี้รัฐบาลกำลังส่งเสริมการผลิตภายในประเทศ แต่เพราะเป็นงานที่เริ่มต้นใหม่ ๆ คงจะยังไม่ได้รับผลมาก ส่วนสินค้าขาเข้าก็คาคว่าจะไม่มีมากกว่าใน พ.ศ. ๒๔๘๕

เพราะเหตุเหล่านี้ จึ่งต้องคาดว่า ระดับราคาสินค้าทั่วไปจะต้องเขยิบสูงขึ้นไปอีก พฤติการณ์เช่นที่กล่าวนี้ต้องด้วยลักษณะที่เรียกว่า “เงินเฟ้อ” (inflation) ซึ่งถ้าระงับไว้ไม่อยู่ ในที่สุดย่อมเกิดความเสียหายใหญ่หลวง

๔. อนึ่ง ปรากฏตามเหตุการณ์ในต่างประเทศ บางเมืองหลังจากมหาสงครามครั้งก่อน ว่า อาการแห่งเงินเฟ้อมักมีเป็น ๒ ระยะในระยะที่ ๑ ประชาชนเก็บเงินเอาไว้มาก เพราะของเริ่มแพงขึ้นและเข้าใจกันว่าต่อไปจะกลับถูกลง ในระยะที่ ๒ เกิดความตกใจว่าของแพงขึ้นเรื่อย ๆ ไป ต่างคนจึ่งจ่ายเงินที่เก็บไว้นั้นซื้อของ ในชั้นต้นก็ซื้อของที่เป็นถาวรวัตถุ แล้วต่อไปก็ซื้อแทบไม่ว่าสิ่งใด สักแต่ว่าให้ได้จ่ายเงินแลกเปลี่ยนเป็นของเท่านั้น จึ่งทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นรวดเร็ว ความตระหนกตกใจก็ยิ่งทวีขึ้น ความเสียหายใหญ่หลวงย่อมเกิดในตอนนี้

สถิติเท่าที่มีอยู่ชวนให้เห็นว่าขณะนี้ประเทศไทยมีอาการอยู่ในระยะที่ ๑ ประชาชนเก็บเงินเอาไว้เป็นจำนวนมาก ดั่งปรากฏต่อไปนี้

เดือนปี ธนบัตรออกใช้ ธนบัตร ประมาณธนบัตรในมือประชาชน
อยู่ในคลัง อยู่ในธนาคาร รวม ราคา คิดเป็นส่วนร้อยของธนบัตรออกใช้
  บาท บาท บาท บาท บาท ร้อยละ
ธันวาคม 2483 234,775,000 20,186,000 12,905,000 33,091,000 201,684,000 85.9
ธันวาคม 2485 392,724,000 25,809,000 9,294,000 35,103,000 357,621,000 91.1

หมายเหตุ (๑) ธนบัตรในมือประชาชนประมาณโดยเอายอดรวมของธนบัตรในคลังและในธนาคารหักจากธนบัตรออกใช้

(๒) ธนบัตรในคลังในธันวาคม ๒๔๘๕ ยังไม่ได้รับรายงานจึ่งใช้ตัวเลขกันยายน ๒๔๘๕

๕. ในขณะนี้ประเทศคู่สงครามต่างมีรายจ่ายสูงกว่าเงินที่เก็บได้ อันเป็นผลให้ต้องจำหน่ายธนบัตรเพิ่มขึ้นมากมายเหมือนกัน แต่ละประเทศจึงต้องดำเนินนโยบายกันเงินเฟ้อ (anti-inflation) อย่างแข็งแรง

หลักแห่งการกันเงินเฟ้อมีอยู่ว่า

(ก) ต้องดึงเอาเงินจากมือประชาชนมาเข้าคลังโดยวิธีเก็บภาษีอากรและกู้เงิน

และ (ข) ควบคุมการให้เครดิต มิให้มีเกินกว่าที่จำเป็นจริง ๆ

โดยปฏิบัติตามหลัก ๒ ประการที่กล่าวนี้อำนาจการซื้อ (purchasing power) ที่อยู่ในมือประชาชนจะลดน้อยลง ระดับราคาสินค้าทั่วไปก็จะพุ่งขึ้นไปรวดเร็วมิได้ อนึ่ง เมื่อได้ดึงเอาเงินมาเข้าคลังเสียได้แล้ว ธนบัตรออกใช้จะไม่เพิ่มขึ้นมากและรวดเร็ว อาการแห่งโรคเงินเฟ้อก็จะไม่รุนแรง

๖. การปฏิบัติตามหลักประการที่ ๑ คือดึงเงินมาเข้าคลังขึ้น เมื่อใช้วิธีกู้เงิน ก็จะต้องใช้อุบายบังคับให้ประชาชนให้กู้ มิฉะนั้นการกู้เงินจะไม่เป็นผลสำเร็จจริง อุบายที่อาจใช้ได้มีหลายประการ และมีลักษณะที่เป็น “ทั้งล่อทั้งชน” จุดประสงค์อยู่ที่จะให้ประชาชนมีเงินเหลือจ่าย แล้วให้นำเงินที่เหลือจ่ายนั้นมาให้รัฐบาลกู้ ทั้งที่เป็นทางตรง คือซื้อพันธบัตรเงินกู้ และทางอ้อม คือฝากคลังออมสิน

การใช้อุบายต่าง ๆ ดั่งกล่าวนี้ เป็นการใหญ่ มีงานหลายแขนง จะทำได้ผลก็โดยความร่วมมือระหว่างหลายกระทรวง

๗. การปฏิบัติตามหลักประการที่ ๒ ที่เป็นการควบคุมเครดิตนั้นจะต้องควบคุมธนาคารพาณิชย์ในเรื่องให้กู้ยืมเงิน เพื่อให้เงินไหลไปเฉพาะในทางที่จะได้ประโยชน์ส่วนรวม เช่นการอุตสาหกรรมที่จำเป็นในขณะนี้ หรือการให้รัฐบาลกู้ จะต้องควบคุมบริษัทจำกัดในเรื่องการเรียกทุน เพิ่มทุน การกู้ยืมเงิน และการแบ่งเงินปันผล และควบคุมการใช้กำไรของบริษัท ทั้งนี้เพื่อมิให้บริษัทต่าง ๆ แข่งแย่งกับรัฐบาลที่จะทำการกู้เงิน และมิให้จ่ายเงินในทางที่จะเสียแก่ประโยชน์ส่วนรวม กิจการเหล่านี้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยอาจร่วมมือกันทำได้

๘. สรุปความว่า พฤติการณ์ในขณะนี้แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยอยู่ในภาวะที่มีเงินเฟ้อ (inflationary condition) ซึ่งควรจัดการแก้ไขแต่ต้นมือเพื่อมิให้อาการรุนแรง การแก้ไขเป็นการใหญ่และทำได้ยาก ถ้าจะตั้งกรรมการคณะหนึ่ง สัก ๔-๕ นาย ให้พิจารณาวางแนวทางปฏิบัติในอันจะกันเงินเฟ้อ ก็น่าจะเป็นการสมควร แล้วจึ่งให้เจ้าหน้าที่ซึ่งจะต้องปฏิบัติการกำหนดวิธีการต่อไป.

๒๕ มกราคม ๒๔๘๖

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ