เรื่อง การสถาปนาระบบเงินตราใหม่ภายหลังสงคราม

บันทึกที่ ๒๑๖/๒๔๘๗

ขอประทานเสนอ

๑. เวลานี้เงินตราอยู่ในภาวะที่เรียกว่า inflation และ inflation นั้นยังไม่หยุดลง ค่าแห่งบาทภายในประเทศจึ่งตกต่ำลงเป็นลำดับโดยไม่หยุดยั้ง และระดับราคาสินค้าย่อมสูงขึ้นเรื่อยไปโดยไม่หยุดยั้งเหมือนกัน ผลอันเกิดจาก inflation มีอย่างไรก็เป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว อนึ่ง เมื่อสงครามเสร็จสิ้นลงแล้ว ถ้าค่าภายในประเทศยังคงตกต่ำโดยไม่หยุดยั้งเช่นนี้ ค่าภายนอกประเทศจะยืนที่อยู่ก็หาได้ไม่

๒. อนึ่ง ระบบเงินตราเวลานี้เป็นระบบชั่วคราว เมื่อสิ้นสุดภาวะสงครามแล้วจะเหลือแต่พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. ๒๔๗๑ (และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม) ซึ่งมีบทบัญญัติผูกค่าของบาทกับปอนด์สเตอร์ลิงก์ในอัตรา ๑๑ บาทต่อปอนด์ แต่ในขณะนี้ก็เห็นได้แล้วว่าจะปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัตินั้นไม่ได้

๓. เพื่อให้ค่าของเงินตราทั้งภายในและภายนอกประเทศมีความมั่นคง (stability) จำต้องระงับ inflation ในโอกาสแรกที่จะพึงทำได้ แล้วปรับปรุงระบบเงินตราเสียใหม่

๔. ในขณะนี้พึงคาดได้แล้วว่าสงครามคงจะสิ้นสุดลงในเวลาไม่ช้า การจัดระบบเงินตราก็เป็นเรื่องใหญ่มีกิจการแตกแยกไปหลายแขนง จึงถึงเวลาอันน่าจะเริ่มพิจารณาได้แล้ว ข้าพเจ้าจงขอเสนอบันทึกความเห็นเรื่อง Post-war monetary reconstruction มา ๑ ฉบับ เพื่อเป็นเครื่องประกอบความดำริในอันที่จะกำหนดนโยบายต่อไป บันทึกนี้ได้เขียนเป็นภาษาอังกฤษก็เพื่อความสะดวก.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

(ลงพระนาม) วิวัฒน

๑๕ สิงหาคม ๒๔๘๗

----------------------------

การสถาปนาระบบเงินตราใหม่ภายหลังสงคราม

ข้อความทั่วไป

๑. เมื่อพิจารณาจากแง่แห่งการภายในสังคม ระบบการเงินจะต้องทำหน้าที่ได้ถึงสามประการ คือ เงินนั้นจะต้องใช้เพื่อแสดงค่าแห่งของทั้งปวงได้ ประการที่สอง เงินจะต้องทำหน้าที่เป็นสื่อในการแลกเปลี่ยน ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีลักษณะอันทำให้บุคคลยอมรับแลกเปลี่ยนกับของและบริการในการประกอบธุรกิจ และประการสุดท้าย จะต้องใช้เป็นคลังแห่งค่าได้ด้วย

๒. เงินย่อมปฏิบัติหน้าที่ในประการที่หนึ่ง คือ เป็นสิ่งที่แสดงค่าแห่งของได้ก็โดยจัดให้มีวิธีการเปรียบเทียบค่าแห่งของทั้งปวง เมื่อใดได้มีการตีราคาของและบริการต่างๆ (ซึ่งหมายความว่าได้มีการเทียบค่าแห่งของและบริการเหล่านั้นด้วยวิธีคิดออกเป็นเงินเป็นหน่วยๆ) เมื่อนั้นการเปรียบเทียบอันจำเป็นในทางเศรษฐกิจ (จะเป็นเพื่อการบริโภคหรือการผลิตก็ตาม) ว่าสิ่งใดมีค่ามากน้อยกว่าสิ่งอื่นเท่าใดจึงจะเกิดขึ้นได้ สิ่งที่แสดงค่านี้ในประเทศไทยเรียกว่า บาท ในประเทศญี่ปุ่นเรียกว่า เย็น และในประเทศอังกฤษเรียกว่า ปอนด์สเตอร์ลิงก์

๓. อีกประการหนึ่ง ในชีวิตของมนุษย์ในทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องจัดให้มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งใช้เป็นสื่อในการแลกเปลี่ยน สิ่งนั้นจะต้องมีตัวตนจับต้องได้จึ่งจะเป็นความสะดวกในอันที่จะส่งให้ซึ่งกันและกันเพื่อแลกเปลี่ยนกับสิ่งของหรือบริการ สิ่งแสดงค่าที่เกิดมีรูปกายขึ้นนั้นก็กลายเป็นเงินตราและมีค่าในขณะหนึ่งๆ มากหรือน้อยวัดได้ด้วยปริมาณแห่งของและบริการที่เงินตราหนึ่งหน่วยจะซื้อได้ ปัญหาการเงินที่ยุ่งยากที่สุดอันหนึ่งนั้นยอมเกี่ยวกับกำลังซื้อแห่งเงินตรา ทั้งเกี่ยวกับระดับราคาสินค้าซึ่งเป็นของคู่เคียงกันกับกำลังซื้อ การผลิตทั้งปวงและการค้าส่วนมากย่อมต้องคำนึงถึงเวลา เช่นเงินเดือนและค่าจ้างก็มีกำหนดจ่ายเป็นระยะๆ สัญญาอื่นๆ ก็มีอายุกำหนดไว้ ฉะนั้น เพื่อให้สมกับที่มีหน้าที่เป็นสื่อในการแลกเปลี่ยน เงินจึ่งจะต้องมีกำลังซื้ออันเป็นเสถียรภาพด้วยอีกโสดหนึ่ง

๔. หน้าที่ของเงินในประการที่สาม คือการเป็นคลังแห่งค่านั้น ได้อธิบายไว้แล้วข้างบนนี้โดยปริยาย ตามปกติย่อมไม่มีผู้ใดสามารถกำหนดได้ว่า ในระยะเวลาใดเวลาหนึ่งนั้นตนจะมีรายได้พอดีกับรายจ่าย และเพราะเหตุที่กำหนดเช่นนี้ไม่ได้ บุคคลจึงต้องเก็บทรัพย์ที่ตนออมได้นั้นไว้ส่วนหนึ่งในรูปสินทรัพย์เหลว คือสินทรัพย์ที่จะหยิบฉวยไปใช้ได้ทันที ความเหลวที่สูงสุดก็คือการมีเงินสด ถ้าหากไม่มีการคุ้มครองมิให้เงินตราเสื่อมค่า และการมีเงินสดต้องเป็นการเสี่ยงและอาจขาดทุนได้แล้วไซร้ ก็จะมีการหนีจากเงินตราไปสู่การเก็บทรัพย์ในรูปอื่น เช่นเป็นที่ดินหรือสิ่งของหรือเงินตราประเทศอื่นๆ เป็นต้น การหนีเงินตรานั้นถ้ากระทำเป็นการใหญ่จะทำให้ค่าของเงินตราเสื่อมลงรวดเร็วยิ่งขึ้นอีก และประโยชน์ที่สังคมได้จากเงินตราก็ลดน้อยลง

๕. สิ่งที่เป็นสาระอันควรคำนึงต่อไปก็คือ เงินที่ได้เกิดมีรูปกายขึ้นเป็นเหรียญกษาปณ์และธนบัตร ซึ่งเรียกรวมกันว่า เงินตรา นั้นหาเป็นเครื่องใช้ที่พอเพียงแก่ความต้องการของสังคมในปัจจุบันนี้ไม่ จึ่งต้องอาศัยการใช้เช็คเข้าช่วยด้วย เพราะเครดิตธนาคารก็เป็นสิ่งที่ใช้ใด้แทนเงินตรา บุคคลใดจะออกเช็คสั่งให้ธนาคารจ่ายเงินได้หรือไม่ก็แล้วแต่ว่าบุคคลนั้นมีสิทธิออกเช็คหรือไม่ การมีสิทธิออกเช็คได้แก่การมีเงินฝากในธนาคารซึ่งจะสั่งจ่ายได้ด้วยเช็ค เงินฝากนี้บุคคลอาจได้มาโดยวิธีเก็บหอมรอมริบขึ้นจากรายได้ หรือโดยวิธีกู้ยืมเงินจากธนาคารนั่นเอง อาศัยเหตุที่กล่าวนี้ ความสามารถของประชาชนที่จะซื้อของได้มากหรือน้อยในขณะใดขณะหนึ่งนั้น จะวัดด้วยยอดรวมแห่งจำนวนเงินตราที่อยู่ในมือประชาชนเท่านั้นหาได้ไม่ เพราะนอกจากเงินตรานั้นแล้ว ประชาชนยังมีกำลังซื้อที่เกิดจากสิทธิออกเช็คนั้นด้วย กำลังซื้อจำนวนหลังนี้จะมีมากน้อยเพียงใด มิได้อยู่ที่การเก็บหอมรอมริบของประชาชนแต่อย่างเดียว หากอยู่ที่ความเป็นไปแห่งระบบการเครดิตด้วย

๖. ในประการสุดท้าย ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่พึงต้องระลึกไว้ด้วย คือ ในชีวิตเศรษฐกิจของสังคมนั้น ระบบการเงินต้องทำหน้าที่สองตำแหน่งพร้อมกัน ระบบการเงินจะเป็นไปอย่างไรก็ตาม จะมีผลกระทบแต่ชีวิตภายในสังคมเท่านั้นก็หาไม่ หากยังมีผลกระทบความสัมพันธ์ระหว่างสังคมนั้นกับสังคมอื่นๆ อีกด้วย การค้ากับต่างประเทศจะดำเนินไปได้สะดวกก็ต่อเมื่อค่าของเงินเป็นเสถียรภาพเมื่อเทียบกับทองคำหรือกับเงินตราประเทศอื่น สินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศนั้นย่อมซื้อมาด้วยเงินตราต่างประเทศ แต่ขายเป็นเงินตราพื้นเมือง ถ้าค่าของเงินตราพื้นเมืองขึ้นลงได้มากเมื่อเทียบกับเงินตราต่างประเทศ การนำสินค้าเข้าก็มีลักษณะเป็นการเสี่ยง เพราะผู้นำเข้าไม่สามารถทราบได้โดยแน่นอนว่าเงินตราพื้นเมืองที่จะได้รับจากการขายสินค้านั้นจะแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราต่างประเทศได้เท่าจำนวนที่ต้องใช้ชำระค่าสินค้านั้นหรือไม่ ความยากลำบากเช่นว่านี้มีอยู่ในการส่งสินค้าออกด้วย ผู้ส่งสินค้าออกย่อมซื้อสินค้าด้วยเงินตราพื้นเมือง และขายเป็นเงินตราต่างประเทศ ถาไม่มีความแน่นอนพอสมควรว่าเงินตราต่างประเทศที่จะได้รับนั้นจะแลกกลับเป็นเงินตราพื้นเมืองได้มากน้อยเท่าไรแล้ว การซื้อสินค้าพื้นเมืองเพื่อส่งไปขายก็ไม่ต่างไปจากเล่นการพนัน ฉะนั้น ถ้าค่าของเงินตราไม่ตั้งอยู่ในเสถียรภาพ การค้าก็กลายเป็นการเสี่ยงกำไรขาดทุน และในที่สุดก็จะต้องชะงักลง

วัตถุประสงค์แห่งนโยบายการเงิน

๗. ข้อความที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ย่อมชี้ให้เห็นว่าวัตถุประสงค์แห่งนโยบายการเงินนี้มีอยู่ดังต่อไปนี้

ก) เสถียรภาพแห่งค่าของเงินตรานอกประเทศ หรือเสถียรภาพแห่งการปริวรรตเงิน

ข) เสถียรภาพแห่งค่าของเงินตราภายในประเทศ

ค) ความมั่นคงแห่งสถานะเครดิต

การได้เสียของประเทศไทยผูกมัดอยู่กับการบรรลุถึงซึ่งวัตถุประสงค์เหล่านี้ ในการพิจารณาวัตถุประสงค์ทั้ง ๓ ประการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการวางนโยบายเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์นั้น จะต้องพิจารณาฐานะเงินตราและเครดิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้เสียก่อน

ฐานะเงินตรา

๘. พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. ๒๔๗๑ ยังคงบัญญัติให้บาทเป็นหน่วยเงินตราไทย บาทนั้นมีรูปกายเป็นธนบัตรที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เมื่อก่อนที่สงครามเกิดขึ้นเอเซีย กระทรวงการคลังเป็นผู้จำหน่ายธนบัตรแลกเปลี่ยนกับปอนด์สเตอร์ลิงก์ ทองคำ หรือธนบัตรที่ได้จำหน่ายไปก่อนแล้ว อนึ่ง มีกฎหมายบังคับกระทรวงการคลังว่าต้องรับหรือจ่ายปอนด์สเตอร์ลิงก์แลกเปลี่ยนกับบาท ในอัตรา ๑๑ บาทต่อ ๑ ปอนด์ และเพราะมีบทกฎหมายอยู่เช่นนี้ ค่าของบาทจึ่งผูกติดอยู่กับค่าของปอนดส์เตอร์ลิงก์

๙. แม้ประเทศอังกฤษได้ออกจากมาตราทองคำแล้วตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๓๑ ประเทศต่างๆ หลายประเทศก็ได้ค่อยมารวมกันเป็นกลุ่มหนึ่งซึ่งภายหลังเรียกกันว่า “เขตสเตอร์ลิงก์” ทั้งนี้เป็นเพราะประเทศต่าง ๆ เหล่านี้สำนึกว่าการได้เสียของตนอยู่ที่การดำรงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรากับปอนด์สเตอร์ลิงก์ไว้ให้เป็นเสถียรภาพ อนึ่ง การดำรงไว้ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างดอลลาร์อเมริกันกับปอนด์สเตอร์ลิงก์ให้อยู่ในภาวะที่นับได้ว่าเป็นเสถียรภาพนั้น ยิ่งทำให้เขตแห่งเสถียรภาพในการปริวรรตเงินกว้างออกไปอีก ฉะนั้น เมื่อได้ผูกค่าของบาทติดอยู่กับปอนด์สเตอร์ลิงก์แล้ว ค่าของบาทเมื่อเทียบกับเงินตราของประเทศใหญ่ ๆ ในโลกก็พลอยเป็นเสถียรภาพไปด้วย

๑๐. สงครามที่เกิดขึ้นในเอเซียเป็นผลให้ต้องตัดบาทขาดจากปอนด์สเตอร์ลิงก์ ประเทศไทยติดต่อกับประเทศพันธมิตรและประเทศที่เป็นกลางไม่ได้ ขณะนี้ค่าของบาทผูกติดอยู่กับ เย็น เป็นการชั่วคราว เพราะเย็นเป็นเงินตราของประเทศซึ่งไทยยังคงทำการค้าขายด้วยได้ประเทศเดียว อนึ่ง การจำหน่ายธนบัตรในปัจจุบันนี้ก็จำหน่ายแลกเปลี่ยนกับเย็น แทนปอนด์สเตอร์ลิงก์ การปริวรรตเงินต่างประเทศต้องอยู่ภายใต้การควบคุม และธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เงินตราที่ได้ตั้งขึ้นใหม่ก็ซื้อหรือขายเย็นในอัตรา ๑๐๐ บาทต่อ ๑๐๐ เย็น โดยคิดค่าธรรมเนียมร้อยละ ๑ ใน ๔ การแลกเปลี่ยนบาทกับเย็นหรือเงินตราประเทศอื่นๆ อีกบางประเทศนั้น คงอยู่ได้ในเสถียรภาพก็ด้วยอุบายซื้อขายเย็นที่กล่าวนี้ อีกประการหนึ่ง ความจำเป็นอันเกิดจากรายจ่ายยามสงครามได้บังคับให้ต้องมีกฎหมายใหม่อีกบทหนึ่ง เป็นบทบัญญัติให้เจ้าหน้าที่เงินตราจำหน่ายธนบัตรได้โดยแลกเปลี่ยนกับพันธบัตรคลัง ซึ่งกระทรวงการคลังเป็นผู้ออก บทบัญญัตินี้ก็เป็นบทชั่วคราวและจะยกเลิกไปเองเมื่อสิ้นสุดภาวะสงคราม เช่นเดียวกันกับที่การผูกบาทติดอยู่กับเย็นจะเลิกไป

๑๑. เท่าที่ได้กล่าวมานี้เป็นเรื่องกฎหมาย และนับว่าพอแก่ความประสงค์ในที่นี้แล้ว ส่วนข้อเท็จจริงนั้นปรากฏว่า ตั้งแต่เกิดสงครามเป็นต้นมา เงินตราที่ออกใช้เพิ่มขึ้นเป็นอันมากเพราะเหตุต่อไปนี้ คือ (ก) ฝ่ายญี่ปุ่นต้องการเงินเพื่อใช้จ่ายในการทหารในประเทศไทย ซึ่งในที่สุดก็กระทำให้ต้องจำหน่ายธนบัตรแลกเปลี่ยนกับเย็น (ข) รายได้ของรัฐบาลไม่พอกับรายจ่าย กระทำให้ต้องจำหน่ายธนบัตรแลกเปลี่ยนกับพันธบัตรคลัง (ค) ดุลย์แห่งการชำระหนี้ระหว่างประเทศหนักอยู่ข้างฝ่ายไทย กระทำให้ต้องจำหน่ายธนบัตรแลกเปลี่ยนกับเย็น

๑๒. เมื่อ ๓๐ มิถุนายน ๒๔๘๗ ธนบัตรออกใช้มีราคา ๘๖๕,๑๒๐,๓๔๘ บาท เพิ่มขึ้นจากเมื่อ ๓๑ ธันวาคม ๒๔๘๑ ถึงร้อยละ ๑๙๑ รายการธนบัตรออกใช้แจ้งในใบแนบ ๑ ทุนสำรองประจำวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๔๘๗ แจ้งในใบแนบ ๒ ท้ายบันทึกนี้

๑๓. ได้กล่าวมาแล้วในข้อ ๑๐ ข้างบนนี้ว่า การแลกเปลี่ยนบาทกับเย็นและเงินตราประเทศอื่นอีกบางประเทศนั้นตั้งอยู่ในเสถียรภาพ แต่เมื่อปริมาณแห่งเงินตราได้เพิ่มขึ้นมากและไม่มีที่สิ้นสุด และจำเพาะเป็นเวลาที่สินค้าลดน้อยลงมากเรื่อยๆ ไปดั่งนี้ ผลที่เกิดขึ้นก็เป็นอย่างอื่นมิได้ นอกจากว่ากำลังซื้อภายในแห่งเงินตราเสื่อมลงไปมากเป็นลำดับ ประเทศไทยกำลังประสบกับภาวะเงินเฟ้อ กล่าวคือ อุปทานแห่งเงินเพื่อซื้อของและบริการนั้นได้เพิ่มขึ้นโดยไม่มีส่วนสัมพัทธ์กับอุปทานแห่งของและบริการที่จะซื้อได้

ฐานะเครดิต

๑๔. เมื่อปริมาณแห่งเงินตราที่ออกใช้นั้นเพิ่มขึ้น เงินฝากธนาคารก็เพิ่มขึ้นด้วย และเงินสดสำรองของธนาคารก็เพิ่มขึ้นตามไป เมื่อธนาคารมีตัวเงินสดมากขึ้นดั่งนี้ ก็ย่อมอยู่ในฐานะที่จะให้กู้ยืมได้ง่ายกว่าแต่ก่อน เพราะตราบใดที่ประชาชนยังเชื่อถือในธนาคารอยู่ ตราบนั้นธนาคารก็จำเป็นต้องมีเงินสดไว้แต่เพียงส่วนหนึ่งของเงินที่รับฝาก การที่ธนาคารให้กู้ยืมนั้นเล่าก็ย่อมเป็นการเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนขึ้นอีก จึ่งช่วยทำให้ค่าภายในของบาทยิ่งเสื่อมลงไปอีก

๑๕. เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖ รัฐบาลได้พยายามที่จะควบคุมปริมาณแห่งเครดิต โดยมีหลักการบังคับให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงไว้ซึ่งเงินสดสำรองที่ธนาคารกลางเป็นจำนวนตามที่ธนาคารกลางจะกำหนดเป็นครั้งคราวไป บทบังคับที่กล่าวนี้อาศัยทฤษฎีที่ว่า ในประเทศที่ยังขาดตลาดเงินและระบบการธนาคารพาณิชย์ที่เจริญแล้ว การควบคุมปริมาณแห่งเครดิตนั้นมีวิธีกระทำได้แต่วิธีเดียว คือ ต้องมีอำนาจทางกฎหมายในอันจะกำหนดและเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนระหว่างเงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์กับหนี้สินของธนาคารเหล่านั้นในประเภทเงินฝาก เมื่อมีอำนาจดั่งกล่าวนี้แล้ว ธนาคารกลางก็สามารถตัดอุปทานแห่งเครดิตให้ขาดจากเงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์ได้ กล่าวคือ ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์มีเงินสดเพิ่มขึ้น ธนาคารกลางก็อาจจัดมิให้เครดิตพลอยเพิ่มตามขึ้นไปด้วย โดยวิธีขึ้นอัตราเงินสดสำรองที่ธนาคารพาณิชย์ต้องดำรงไว้ และในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์มีเงินสดลดน้อยลง ธนาคารกลางก็อาจจัดมิให้เครดิตพลอยลดตามลงไปด้วย โดยวิธีลดอัตราเงินสดสำรองที่กล่าวแล้ว ผลจึงเป็นว่าธนาคารพาณิชย์มีเงินสดสำรองมากน้อยเท่าใดก็ตาม ธนาคารกลางจะสามารถบังคับให้มีเครดิตหมุนเวียนมากหรือน้อยได้ ตามแต่จะจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งสังคม

๑๖. แต่ทฤษฎีนี้หาได้นำมาใช้โดยบริบูรณ์ไม่ ในปัจจุบันนี้ธนาคารพาณิชย์จะต้องมีเงินสดสำรองเป็นอัตราตายตัว คือไม่น้อยกว่าร้อยละ ๒๐ ของหนี้สินประเภทเงินฝาก และจะต้องถือหลักทรัพย์รัฐบาลไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ ของหนี้สินประเภทนั้น บทบังคับนี้ไม่ทำให้ปริมาณแห่งเครดิตยุบตัวลงในขณะที่ควรต้องยุบ แต่ก็ยังมีประโยชน์อยู่บ้างที่ทำให้ขยายตัวออกได้แต่โดยช้า ตัวเลขของธนาคารพาณิชย์ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้แจ้งในใบแนบ ๓

สรุปฐานะการเงินปัจจุบัน

๑๗. เงินตราที่ออกใช้กำลังขยายตัวออกอย่างรวดเร็ว และเครดิตก็กำลังขยายตัวเหมือนกันแต่ช้ากว่า การที่เงินตราและเครดิตขยายตัวออกนั้นย่อมทำให้ประชาชนมีกรรมสิทธิ์ในกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ค่าภายในของเงินเมื่อคิดออกเป็นหน่วยสินค้าก็ย่อมเสื่อมลง อนึ่ง เมื่อสินค้าขาเข้ามีปริมาณลดลง อาการที่เสื่อมอยู่แล้วก็ยิ่งทรุดลงอีก เลขดัชนีแสดงราคาขายส่งที่กระทรวงพาณิชย์ทำขึ้นแจ้งอยู่ในใบแนบที่ ๔ ท้ายนี้แล้ว เมื่อจะสรุปความลงโดยย่นย่อก็ต้องกล่าวว่าสถานการณ์ในปัจจุบันนี้กีคือกำลังซื้อของเงินเสื่อมลงไปเป็นลำดับ และระดับราคาสินค้าก็สูงขึ้นไปเป็นลำดับ

ต่อไปนี้จะต้องพิจารณา (เท่าที่จะพอพิจารณาได้ในชั้นนี้) ว่าจะดำเนินนโยบายอย่างไรจึงจะลุถึงซึ่งวัตถุประสงค์ที่แจ้งในข้อ ๗ และจะกล่าวโดยย่อว่าจะต้องกระทำกิจการอย่างใดบ้างเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายนั้น

เสถียรภาพแห่งการปริวรรตเงิน

๑๘. เพื่อยังให้เกิดเสถียรภาพในการปริวรรตเงิน หรืออีกนัยหนึ่งเพื่อให้เงินตรามีค่าภายนอกประเทศเป็นเสถียรภาพนั้น จะปล่อยให้ค่าแห่งเงินตราเคลื่อนไหวได้โดยเสรี ไม่มีความสัมพันธ์กับเงินตราของบางประเทศหรือกับทองคำนั้นหาได้ไม่ เขตสเตอร์ลิงก์หรือกลุ่มเงินตราอื่น ๆ ได้เกิดขึ้นก็เพื่อป้องกันมิให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินขึ้นลงมากมายเท่านั้น การผูกโยงเงินตรากับทองคำนั้นไม่จำเป็นต้องพิจารณา เพราะเป็นกิจที่ไม่เคยทำและไม่อาจทำได้ อนึ่ง ความเห็นในปัจจุบันก็ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดต้องการให้กลับไปสู่มาตราทองคำแบบเก่า ในขณะนี้มีการปรึกษาหารือเรื่องการจัดให้มีเงินตราระหว่างประเทศ แต่ข้อความที่ได้ทราบมาในเรื่องนี้ก็มีน้อย จึ่งยังไม่จำเป็นจะต้องคำนึงถึงในขณะนี้ เมื่อตัดเอาทองคำและเงินตราระหว่างประเทศออกไว้ก่อนแล้ว ก็ยังคงเหลือแต่การผูกโยงกับเงินตราต่างประเทศเท่านั้น และเงินตราต่างประเทศที่จะเลือกได้ก็มีปอนด์สเตอร์ลิงก์หรือเย็น อนึ่ง ในที่นี้กล่าวเพิ่มเติมได้ว่าถ้าหากในที่สุดจะเลือกเอาเงินตราอื่น เป็นต้นว่าเงินตราระหว่างประเทศ วิธีการที่จะต้องปฏิบัติก็คงไม่แตกต่างในหลักการจากที่จะกล่าวต่อไปนี้

๑๙. การค้าย่อมประกอบขึ้นตัวยการแลกเปลี่ยนของซึ่งกันและกัน เงินเป็นแต่เพียงปัจจัยที่ทำให้แลกเปลี่ยนได้สะดวก ฉะนั้น เมื่อประเทศไทยมีการค้าขายมากที่สุดกับประเทศใดก็ควรให้เงินบาทมีเสถียรภาพในการแลกเปลี่ยนกับเงินตราของประเทศนั้น อนึ่ง ถ้าเงินตราของประเทศนั้นเองมีเสถียรภาพในการแลกเปลี่ยนกับเงินตราอื่นๆ เงินตราไทยก็จะพลอยมีเสถียรภาพในการแลกเปลี่ยนกับเงินตรานั้นๆ ด้วย เพื่อที่จะอธิบายต่อไปได้แจ่มแจ้งก็จะสมมติว่าการค้าส่วนใหญ่ของประเทศไทยจะมีอยู่กับจักรภพบริติชอย่างแต่ก่อนอีก และจะสมมติว่าจะผูกโยงบาทเข้ากับสเตอร์ลิงก์ใหม่อีก

๒๐. ประเด็นที่จะต้องพิจารณาต่อไปก็คือ จะกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างบาทกับสเตอร์ลิงก์เท่าใด ปัญหามีอยู่ว่า จะกำหนดอัตราไว้ในระดับที่เป็นอยู่จริงในขณะที่จะยังเสถียรภาพให้เกิดขึ้นโดยไม่คำนึงว่าอัตรานั้นจะสูงต่ำอย่างไร หรือว่าจะมุ่งหมายกำหนดอัตราไว้ในระดับที่สูงกว่านั้น ในที่นี้ควรคำนึงว่า เมื่อค่าแลกเปลี่ยนของเงินตราขึ้นสูงก็ย่อมเป็นการส่งเสริมการนำสินค้าเข้ามา เป็นต้นว่าถ้าอัตราแลกเปลี่ยนเป็น ๑๑ บาทต่อ ๑ ปอนด์ การซื้อสินค้าราคา ๑ ปอนด์ก็จะซื้อได้ด้วยเงินเพียง ๑๑ บาท แต่สมมติว่าอัตราแลกเปลี่ยนกลายเป็น ๒๐ บาทต่อปอนด์ การซื้อสินค้าราคา ๑ ปอนด์นั้นก็จะต้องการเงินถึง ๒๐ บาท แต่การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินสูงนั้นย่อมเป็นการเหนี่ยวรั้งการส่งสินค้าออกนอกประเทศ เพราะถ้าอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทได้เพียง ๑๑ บาทต่อปอนด์ ผู้ที่มีเงิน ๑ ปอนด์และต้องการซื้อสินค้าในประเทศไทย ก็จะหาเงินบาทได้เพียง ๑๑ บาท แต่ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนลดลงเป็น ๒๐ บาทต่อปอนด์ ผู้นั้นจะหาเงินบาทซื้อสินค้าได้ถึง ๒๐ บาท

ในทางที่กลับกัน ถ้ากำหนดค่าแลกเปลี่ยนของเงินพื้นเมืองไว้ต่ำ ผลที่จะมีแก่การค้าก็จะกลับตรงข้ามกับที่กล่าวข้างบน กล่าวคือสินค้าขาออกจะได้รับการส่งเสริม และสินค้าขาเข้าจะถูกกีดกัน

อนึ่ง พึงสังเกตในที่นี้ว่า การส่งเสริมก็ดีหรือการเหนี่ยวรั้งก็ดี ย่อมจะมีผลเป็นการชั่วคราวเท่านั้น และผลนั้นจะหายไปในเมื่อสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ระดับราคาใหม่แล้ว

๒๑. ประเทศไทยผลิตข้าวที่มีคุณภาพดีที่สุด และควรเชื่อได้ว่าปีหนึ่ง ๆ จะมีข้าวเหลือพอส่งไปต่างประเทศได้ประมาณ ๑.๒ ล้านตันเป็นปกติ เพราะนาจะเสียมากมายก็นาน ๆ ครั้ง เมื่อสงครามเสร็จสิ้นลงแล้วก็ไม่น่าสงสัยว่าจะมีอุปสงค์ในข้าวเป็นอันมาก ดีบุก ยาง และไม้สักก็คงจะมีผู้ต้องการมากเหมือนกัน ฉะนั้น ถ้าหากค่าแลกเปลี่ยนของบาทไม่สูงจนเกินไป คือไม่สูงถึงขีดที่จะกีดกันการซื้อสินค้าเหล่านี้แล้ว ก็คงจะส่งสินค้าเหล่านี้ออกไปขายได้หมด ส่วนการนำสินค้าเข้ามานั้นเล่า ความต้องการสินค้าต่างประเทศเพื่อบริโภคและเพื่อสถาปนาบ้านเมืองก็มีอยู่มากหนักหนาและเป็นการด่วนด้วย เมื่อทางพิจารณามีอยู่เช่นว่านี้ ก็ส่อให้เห็นว่าในการจัดให้ค่าของเงินตราเป็นเสถียรภาพนั้นควรกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนไว้ในระดับที่สูง หรืออีกนัยหนึ่งควรส่งเสริมสินค้าขาเข้าให้มากที่สุดที่จะทำได้ โดยไม่ถึงแก่เหนี่ยวรั้งสินค้าขาออกไว้เกินควร อนึ่ง เมื่อพิจารณาจากด้านภายใน การขึ้นค่าแห่งบาทไม่น่าจะทำความยุ่งยากเกินไป อัตราค่าจ้างและค่าเช่ายังล้าหลังราคาสินค้าอยู่ไกล การปรับราคาสินค้าให้ลดลงมาหาค่าจ้างและค่าเช่าคงจะง่ายกว่าการปรับค่าจ้างและค่าเช่าให้สูงทันราคาสินค้า อีกประการหนึ่ง รัฐบาลมีหนี้สินต้องชำระในต่างประเทศมากอยู่ ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนเงินสูงก็จะชำระหนี้สินได้ด้วยเงินบาทจำนวนน้อยกว่า

แต่ควรเป็นที่เข้าใจด้วยว่า การขึ้นอัตราแลกเปลี่ยนเงินนั้น ไม่จำเป็นต้องขึ้นถึงอัตรา ๑๑ บาทต่อปอนด์ อัตรานั้นอาจเป็นอัตราที่ไม่พึงประสงค์ หรืออาจเป็นอัตราที่ไม่สามารถจะขึ้นไปถึงก็ได้ ความหมายในที่นี้มีแต่เพียงว่าควรจะมุ่งไปข้างสูง ไม่ใช่มุ่งข้างต่ำ การเสถียรกรณ์เงินตราจะกระทำจริงในอัตราเท่าใดจะต้องพิจารณาตามเหตุการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะที่จะยังให้เกิดเสถียรภาพ

๒๒. ถ้าจะเพียงแต่ประกาศในราชกิจจา กำหนดว่าเท่านั้น ๆ บาทเท่ากับ ๑ ปอนด์ เสถียรภาพภายนอกจะเกิดขึ้นก็หาได้ไม่ การเสถียรกรณ์เงินตราหมายความว่า เจ้าหน้าที่เงินตราต้องพร้อมที่จะซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศที่เงินบาทผูกโยงอยู่ด้วยและต้องซื้อหรือขายทันทีเมื่อมีผู้เสนอขายหรือเสนอซื้อ สมมติว่าได้ตกลงจะดำรงค่าของเงินบาทให้อยู่ในอัตราเท่านั้น ๆ บาทต่อ ๑ ปอนด์ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะต้องซื้อหรือขายปอนด์ในอัตราที่กล่าวนั้นทันทีเมื่อมีผู้เสนอขายหรือเสนอซื้อ การที่ต้องซื้อหรือขายทันทีเช่นนี้ก็นำไปสู่ปัญหาเรื่องทุนสำรอง เมื่อจะให้ธนาคารสามารถซื้อหรือขายสเตอร์ลิงก์ได้ทันทีในอัตราตายตัว ธนาคารก็จะต้องมีปัจจัยไว้สำหรับปฏิบัติการนั้น คือจะต้องมีทุนสำรองเป็นปอนด์สเตอร์ลิงก์และหรือทองคำ และทุนสำรองนั้นจะต้องพอเพียงแก่อุปสงค์ในปอนด์สเตอร์ลิงก์ด้วย เมื่อสิ่งอื่น ๆ คงที่อยู่ไม่เปลี่ยนแปลง อุปสงค์ในปอนด์สเตอร์ลิงก์จะมีปริมาณมากหรือน้อยก็ย่อมจะแล้วแต่ปริมาณของเงิน (เงินตราและเครดิต) ที่ออกใช้หมุนเวียนอยู่ เงินยิ่งมีมาก ทุนสำรองก็ยิ่งจะต้องมีมากเช่นกัน

๒๓. ทุนสำรองที่มีอยู่ในขณะนี้มีส่วนหนึ่งที่ถูกกักกันไว้ในต่างประเทศ และส่วนนี้ก็เป็นจำนวนมาก ทั้งจะเป็นอย่างไรต่อไปก็ยังทราบไม่ได้ ทุนสำรองอีกส่วนหนึ่งซึ่งมีจำนวนมากเหมือนกันนั้น ขณะนี้เป็นเงินตราซึ่งเมื่อเสร็จสงครามแล้วก็อาจเสื่อมค่าได้ และคงจะแปลงเป็นทองคำหรือเป็นสเตอร์ลิงก์ไม่ได้ง่าย ๆ แต่ธนบัตรที่ออกใช้มีราคามากและยังเพิ่มอยู่เรื่อยไป ฉะนั้น เพื่อให้มีทุนสำรองที่ใช้ได้จริงเป็นจำนวนพอเพียงแก่ความต้องการก็จะต้องจัดการระงับการเฟ้อแห่งเงินตราเสียก่อนเป็นขั้นแรก การลดปริมาณแห่งเงินตราก็คงเป็นการจำเป็นต้องกระทำด้วย ในขั้นที่สองก็อาจจะจำเป็นต้องหาเครดิตเป็นสเตอร์ลิงก์ เพื่อใช้หนุนทุนสำรองเท่าที่มีอยู่นั้นเป็นเวลาชั่วคราว เมื่อสิ่งอื่น ๆ คงที่ไม่เปลี่ยนแปลง ค่าภายนอกแห่งบาทนั้นจะดำรงไว้ได้หรือไม่ก็จะสุดแล้วแต่สิ่ง ๒ ประการต่อไปนี้เป็นปฐม คือ ปริมาณของเงินที่ออกใช้หมุนเวียน และจำนวนแห่งทุนสำรองที่ใช้ได้จริง

๒๔. เพื่อให้การเฟ้อแห่งเงินตราสิ้นสุดลง งบประมาณแผ่นดินจะต้องเป็นดุลยภาพโดยแท้จริง กล่าวคือ รายจ่ายทั้งหมดไม่ว่าจะเรียกว่ารายจ่ายประเภทใดหรือเกิดขึ้นเพราะเหตุใดจะต้องมีรายได้จากภาษีอากรมาให้คุ้ม ถ้าจำเป็นจริงจะกู้เงินมาจ่ายบ้างก็ได้ แต่ควรกระทำแต่ในขั้นแรกเท่านั้น อนึ่ง งบประมาณแผ่นดินนั้นยังจะต้องดำรงไว้ให้เป็นดุลยภาพตลอดไปด้วย การออกธนบัตรเพื่อใช้จ่ายในราชการซึ่งไม่เคยปรากฏในประวัติการเงินของไทยมาก่อนก็จะต้องเลิกทันที ธนบัตรควรจำหน่ายเฉพาะเพื่อความต้องการของธุรกิจและการค้าที่ชอบเท่านั้น

๒๕. การลดปริมาณเงินตราที่ออกใช้นั้นมีอยู่หลายวิธี ต่อไปนี้จะเสนอเพียงสองวิธี คือที่เห็นว่าจะไม่เป็นภาระหนักเกินควร ประการที่หนึ่ง พันธบัตรคลังที่ได้ออกแลกเปลี่ยนกับธนบัตรจะถึงกำหนดต้องไถ่ถอนคืนเป็นระยะๆ ไป เงินที่จะใช้ชำระนั้นควรตั้งงบประมาณไว้จ่าย หรืออีกนัยหนึ่งก็คือเอาเงินรายได้มาใช้หนี้ และเมื่อสิ้นปีลงแล้วยังมีรายได้เหลือจ่ายเท่าไรก็ควรใช้เงินเหลือจ่ายนั้นชำระหนี้ลอยรายนี้เสียด้วย ประการที่สอง ถ้าหากวิธีนี้ยังได้ผลไม่พอเพียงก็ยังมีอีกวิธีหนึ่งซึ่งอาจใช้เพิ่มเติมได้ คือ ขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยยังออก ธนบัตรรัฐบาล อยู่ ยังหาได้ออก บัตรของธนาคาร เองไม่ การลดปริมาณแห่งเงินตราที่ออกใช้นั้น ถ้าใช้วิธีต่อไปนี้ก็คงได้ผลรวดเร็ว คือจัดการถอนธนบัตรรัฐบาลกลับคืน แล้วจ่ายบัตรธนาคารและใบสำคัญเงินฝากแลกเปลี่ยนกับธนบัตรเหล่านั้น ในการแลกเปลี่ยนที่กล่าวนี้ จะจ่ายบัตรธนาคารร้อยละเท่าใดและจ่ายใบสำคัญร้อยละเท่าใดก็กำหนดขึ้นโดยอาศัยเกณฑ์ที่ว่าจะต้องการให้มีบัตรธนาคารหมุนเวียนเพียงเท่าใด อนึ่ง ใบสำคัญเงินฝากนั้นไม่จำต้องมีดอกเบี้ย (หรือถ้าจะมีก็แต่พอเป็บธรรมเนียม) ส่วนระยะเวลาและเงื่อนไขแห่งการไถ่ถอนคืนนั้นต้องรอไว้กำหนดขึ้นต่อเมื่อจะถึงเวลาออกใบสำคัญ และต้องอาศัยเหตุการณ์แวดล้อมที่เป็นอยู่ในขณะนั้นเป็นเกณฑ์ การจ่ายใบสำคัญเงินฝากแลกเปลี่ยนกับธนบัตรย่อมเป็นการกักกันเงินสดไว้ส่วนหนึ่ง และจะมีผลกระทบกระเทือนไปได้หลายทาง จึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาต่อไปอีก

๒๖. การหาเครดิตเป็นสเตอร์ลิงก์เพื่อหนุนทุนสำรองที่มีอยู่นั้นอาจจะเป็นความจำเป็นก็ได้ แต่ถ้าหากงบประมาณแผ่นดินเป็นดุลยภาพโดยแท้จริง และได้เลิกการพิมพ์ธนบัตรเพื่อการใช้จ่ายของรัฐบาลแล้ว เครดิตที่อาจต้องการนั้นก็คงจะพอหาได้

๒๗. เพื่อให้เป็นที่แน่นอนว่าการปริวรรตเงินจะตั้งอยูในเสถียรภาพ ก็ยังจะต้องมีการควบคุมการปริวรรตเงินไปพลางก่อน ปอนด์สเตอร์ลิงก์และเงินตราต่างประเทศที่มั่นคงซึ่งจะได้มาเป็นค่าสินค้าขาออกของไทยนั้นจะต้องรวมเข้ามาไว้ในมือของธนาคารกลาง และจะต้องตรวจพิจารณาอุปสงค์ในเงินตราต่างประเทศด้วย ในการตรวจพิจารณาอุปสงค์ที่กล่าวนี้ ถ้าเห็นจำเป็นก็จะต้องตัดทอนลงไปเท่าที่เห็นว่าไม่สำคัญจริง ทั้งนี้ก็เพื่อสะสมเงินตราต่างประเทศขึ้นไว้ก้อนหนึ่งสำหรับใช้หนี้เครดิตที่กล่าวแล้วข้างบน และสำหรับก่อให้เกิดทุนสำรองอันพอเพียงด้วย เมื่อได้สะสมเงินตราต่างประเทศเป็นจำนวนพอเพียงแก่ความประสงค์ที่กล่าวนี้แล้ว การควบคุมการปริวรรตเงินก็จะได้ปฏิบัติหน้าที่เสร็จสิ้นสมประสงค์ และจะยกเลิกเสียได้

เสถียรภาพภายใน

๒๘. การระงับการเฟ้อแห่งเงินตรา และการลดปริมาณแห่งเงินตราลงนั้น จะมีผลให้ค่าภายในของบาทสูงขึ้น ค่าที่สูงขึ้นแล้วนั้นจะต้องยังไว้ให้อยู่ในเสถียรภาพด้วย เสถียรภาพภายใน หรืออีกนัยหนึ่งเสถียรภาพแห่งค่าภายในของเงินตราเมื่อคิดออกเป็นหน่วยสินค้า จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อปริมาณแห่งเงิน (เงินตราและเครดิต) ที่หมุนเวียนอยู่นั้นเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามความต้องการของการค้าและธุรกิจ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง อุปทานแห่งเงินสำหรับใช้จ่ายจะต้องเปลี่ยนแปลงให้ได้จังหวะกับอุปทานแห่งของและบริการที่จะซื้อได้ เมื่อใดอุปทานแห่งเงินเพิ่มขึ้นโดยที่อุปทานแห่งของและบริการมิได้เพิ่มขึ้นด้วย เมื่อนั้นภาวะเงินเฟ้อก็เกิดขึ้น และผลที่ตามหลังมาก็คือสินค้ามีราคาแพงขึ้น ในกรณีที่กลับกัน คือเมื่ออุปทานแห่งเงินลดลงโดยที่อุปทานแห่งของและบริการมิได้ลดลงด้วย ภาวะเงินแฟบก็เกิดขึ้น และผลที่ตามมาก็คือราคาสินค้าลดลง เพราะฉะนั้น วัตถุประสงค์แห่งระบบเงินตราทุกระบบจึงอยู่ที่จะหาความยืดหยุ่น หรืออีกนัยหนึ่งจะทำให้ปริมาณแห่งเงินที่หมุนเวียนอยู่นั้น เพิ่มหรือลดได้ตามการเพิ่มหรือลดแห่งสินค้าและบริการบรรดาที่แลกเปลี่ยนกันโดยอาศัยเงินตรานั้นเป็นปัจจัย

๒๙. เมื่อก่อนสงครามนี้เงินตรามีความยืดหยุ่นได้ก็โดยอาศัยมาตราปริวรรตเงิน ซึ่งเป็นเครื่องทำให้ปริมาณแห่งเงินตราเพิ่มหรือลดได้ คือเมื่อดุลย์แห่งการค้าเอียงมาข้างฝ่ายไทย ทุนสำรองก็มีจำนวนเพิ่มขึ้น และปริมาณเงินตราก็ขยายตัวออกไปเอง และเมื่อดุลย์แห่งการค้าเอียงไปทางต่างประเทศ ทุนสำรองก็ลดลง และปริมาณเงินตราก็ลดลงไปเอง การใช้มาตราปริวรรตสเตอร์ลิงก์เพื่อให้ได้มาซึ่งเสถียรภาพภายนอกก็ได้เสนอไว้แล้วในข้อ ๑๙ การใช้มาตราปริวรรตอันนี้ประกอบกับวิธีการก็จะกล่าวต่อไปก็น่าจะพอทำให้เกิดเสถียรภาพภายในได้ตามสมควร

๓๐. ประการที่หนึ่ง พระราชบัญญัติเงินตราในภาวะฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๔๘๔ ซึ่งบัญญัติให้จำหน่ายธนบัตรแลกเปลี่ยนกับพันธบัตรคลังได้นั้น จะยกเลิกไปเองเมื่อสงครามสิ้นสุดลง พระราชบัญญัตินี้ควรปล่อยให้เลิกล้มไปได้ จะได้เป็นทางป้องกันมิให้เกิดเงินเฟ้อ และถ้าได้จัดให้งบประมาณแผ่นดินเป็นดุลยภาพแท้จริงดังที่เสนอไว้ในข้อ ๒๔ แล้ว ก็จะไม่มีความจำเป็นต้องต่ออายุพระราชบัญญัติที่กล่าว อนึ่ง ระบบเงินตราที่จะสถาปนาขึ้นใหม่นั้นจะต้องมีบทบัญญัติในทางที่จะป้องกันเงินเฟ้อไว้ด้วย เฉพาะอย่างยิ่งป้องกันมิให้จำหน่ายธนบัตรเพื่อการใช้จ่ายของรัฐบาล

๓๑. ประการที่สอง จะต้องยอมรับหลักการที่ถือกันอยู่ทั่วโลกแล้วว่าธนาคารกลางจะต้องเป็นอิสระไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง จะได้มีเสรีในอันจะดำเนินนโยบายทำให้ค่าแห่งบาทสถิตย์เสถียรอยู่ได้ เสรีภาพจากการเมืองนี้เป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับการคุ้มครองเงินตรา เมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์ที่เป็นอยู่ พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้บัญญัติให้มีเสรีภาพเช่นนี้เป็นอย่างมากอยู่แล้ว เสรีภาพอันแท้จริงนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการปฏิบัติของรัฐบาล มากกว่าการแก้ไขเปลี่ยนแปลงตัวหนังสือ

๓๒. ประการที่สาม ได้อธิบายไว้แล้วในข้อ ๕ ว่า กรรมสิทธิ์ของประชาชนที่มีอยู่เหนือกำลังซื้อนั้นหาได้อยู่แต่ที่เงินตราที่มีอยู่ในมือเท่านั้นไม่ หากอยู่ที่สิทธิออกเช็คด้วยอีกโสดหนึ่ง และสิทธิอันนั้นจะมีเพียงใดก็แล้วแต่ระบบเครดิตจะเป็นไปอย่างไร การดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพแห่งค่าภายในของเงินตราจึ่งไม่เพียงแต่จะต้องควบคุมเงินตราเท่านั้น หากจะต้องควบคุมเครดิตไปด้วยกัน เรื่องนี้จะกล่าวในข้อต่อไป

สถานะเครดิตที่มั่นคง

๓๓. ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า เครดิตหรือสิทธิออกเช็คนั้นเป็นเงินไม่น้อยไปกว่าที่เงินตราเป็นเงิน ข้อความที่ว่าเงินตราต้องมีความยืดหยุ่นจึ่งใช้ได้เหมือนกันสำหรับเครดิต เพื่อให้เป็นที่แน่นอนว่าจะมีเสถียรภาพภายใน การควบคุมเครดิตก็จำเป็นเท่ากันกับการควบคุมเงินตรา เครื่องมือและวิธีการควบคุมเครดิตที่ใช้ในประเทศที่เจริญแล้ว เช่นตลาดเงินกู้ระยะเวลาสั้นและนโยบายซื้อลดนั้นยังไม่มีจะใช้ในประเทศไทย ในประเทศทั้งปวงที่ยังไม่เจริญถึงขีดที่มีเครื่องมือเหล่านี้ใช้ การควบคุมเครดิตจะกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจทางกฎหมาย ทฤษฎีนี้ได้อธิบายไว้แล้วในข้อ ๑๕

๓๔. พระราชบัญญัติควบคุมเครดิตซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบันย่อมเป็นผลแห่งการอลุ่มอล่วยเท่านั้น จึ่งควรยกเลิกเสียได้ แล้วควรออกกฎหมายใหม่ ให้ธนาคารกลางสามารถควบคุมปริมาณเครดิตได้อย่างจริงจัง อนึ่ง เมื่อสามารถควบคุมปริมาณแห่งเครดิตได้แล้ว ธนาคารอาจจะใช้กำลังทางอื่นที่มีอยู่แล้วประกอบเข้าด้วย อันจะเป็นผลให้ธนาคารสามารถควบคุมราคาแห่งเครดิตได้ด้วย การควบคุมเครดิตที่กระทำด้วยความสุขุมรอบคอบนั้นเป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้ประเทศมีสถานะเครดิตที่มั่นคง กล่าวคือ มีระบบเครดิตที่จะสนับสนุนการผลิตและการค้าให้เจริญขึ้นด้วยดี และไม่สนับสนุนธุรกิจที่เป็นการเสี่ยง

สรุปความ

๓๕. วัตถุประสงค์แห่งนโยบายการเงินได้แก่เสถียรภาพแห่งค่าของเงินตรา และสถานะเครดิตที่มั่นคง วิธีปฏิบัติเพื่อให้บรรลุถึงซึ่งวัตถุประสงค์นั้น ได้เสนอมาข้างต้นแล้ว และสรุปลงได้ดังต่อไปนี้ คือ

(๑) ระงับภาวะเงินเฟ้อเพื่อเสถียรกรณ์ค่าของบาท ซึ่งถ้ากำหนดให้อยู่ในระดับค่อนข้างสูงได้ก็ยิ่งดี การเสถียรกรณ์ค่าแห่งบาทนั้นจะต้องกระทำการต่อไปนี้ด้วย เพื่อสนับสนุนให้เป็นผลสำเร็จ คือ

(๒) ลดปริมาณแห่งเงินตราลงมาโดยการไถถอนหนี้ลอย และถ้าจำเป็นก็โดยวิธีอื่น ๆ อีก

และ (๓) ทำให้งบประมาณแผ่นดินเป็นดุลยภาพโดยเร็วที่สุด จะได้มีรายได้ภาษีอากรพอแก่รายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยมิต้องอาศัยวิธีทำให้เงินเฟ้อหรือกู้เงิน

และ (๔) ให้มีธนาคารกลางที่เป็นอิสระสำหรับควบคุมเงินตราและเครดิตเพื่อประโยชน์ของสังคมเป็นส่วนรวม

และ (๕) ถ้าจำเป็น ก็กู้เงินจำนวนหนึ่ง [ก] เพื่อชดเชยรายได้ที่ไม่พอกับรายจ่าย (ถ้าหากยังไม่สามารถจัดให้งบประมาณเป็นดุลยภาพได้) เฉพาะในขั้นแรกแห่งการสถาปนาการเงินใหม่ และ [ข] เพื่อหนุนค่าภายนอกแห่งบาทไว้จนกว่าจะสะสมทุนสำรองได้พอเพียง การสะสมนั้นใช้วิธีควบคุมการปริวรรตและรวมแหล่งกลางปริวรรต

๓๖. เป็นที่เข้าใจกันอยู่แล้วโดยทั่วไปว่า เป็นปีที่สงครามจะแตกหัก ปัญหามีอยู่แต่ในเรื่องเวลาเท่านั้น ถ้าจะให้บ้านเมืองกลับคืนสู่ภาวะปกติก็จะต้องสถาปนาระบบเงินตราขึ้นใหม่ วัตถุประสงค์แห่งนโยบายการเงินที่ได้ระบุไว้ในข้อ ๗ นั้นย่อมเป็นวัตถุประสงค์ที่ไม่มีปัญหาจะโต้แย้ง สิ่งที่จะต้องพิจารณาก็คือนโยบายที่จะบรรลุถึงซึ่งวัตถุประสงค์นั้น ๆ รวมตลอดถึงวิธีปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบาย วิธีการที่เสนอในบันทึกนี้ถ้าจะว่าในหลักการก็ไม่ต่างไปจากที่ได้ใช้มาแล้วในการสถาปนาเงินตราประเทศยุโรป เช่นออสเตรียและฮังการีหลังจากสงครามโลกครั้งก่อน แต่ถึงอย่างไรก็ดี ความเห็นที่เสนอมานี้ถือว่ายังไม่เด็ดขาด เพราะเสนอมาด้วยเจตนาที่จะให้ใช้เป็นมูลฐานแห่งการปรึกษาหารือเท่านั้น ในชั้นนี้จะต้องวินิจฉัยนโยบายเสียก่อน การวินิจฉัยเด็ดขาดยังทำไม่ได้ในขณะนี้ แต่อย่างน้อยก็ควรจะเริ่มพิจารณากิจการบางอย่างที่จำเป็นจะต้องกระทำ เช่นการระงับภาวะเงินเฟ้อและการทำงบประมาณให้เป็นดุลยภาพเป็นต้น วัตถุประสงค์ที่กล่าวข้างต้นแล้วนั้นจำเป็นต้องบรรลุถึงให้ได้ในวันหนึ่ง และในการนั้นก็มีงานหลายอย่างซึ่งจะต้องคิดวางแผนและจัดทำขึ้น.

๑๕ สิงหาคม ๒๔๘๗

----------------------------

ตารางที่ 1

ธนบัตรหมุนเวียน

ปี เดือน บาท ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔=๑๐๐
2482 กันยายน 163,232,498 55
2483 ธันวาคม 234,775,722 79
2484(1941) ธันวาคม 297,314,079 100
2485(1942) มิถุนายน 331,098,943 111
  ธันวาคม 392,724,060 132
2486(1943) มิถุนายน 454,620,348 153
  ธันวาคม 657,620,348 221
2487(1944) มกราคม 671,620,348 226
  กุมภาพันธ์ 703,120,348 236
  มีนาคม 729,220,348 245
  เมษายน 770,120,348 239
  พฤษภาคม 809,620,348 272
  มิถุนายน 865,120,348 291

----------------------------

ตารางที่ ๒

ธนบัตรหมุนเวียนและทุนสำรอง ณ วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๔๘๗

ธนบัตรหมุนเวิยน ๘๖๕,๑๒๐,๓๔๘ บาท

ทุนสำรอง

ชนิด ปริมาณหรือจำนวน มูลค่าคิดเป็นบาท ร้อยละของธนบัตรหมุนเวียน หมายเหตุ
ทองคำ กรัมบริสุทธิ      
ในประเทศ 29,188,703,859 140,105,779 16.19  
ฝากไว้ในประเทศญี่ปุ่น 31,011,104,600 148,508,80 17.20  
เงินเย็น เย็น      
  291,500,000 291,500,000 33.69  
พันธบัตรรัฐบาล บาท      
  167,900,000 167,900,000 19.40  
    748,359,081 86.50  
ทองคำ กรัมบริสุทธิ      
ฝากไว้ในสหรัฐอเมริกา 7.998.030.162 38.330.345 4.43 ถูกยึดไว้ใน สรอ.
ปอนด์สเตอร์ลิงก์และหลักทรัพย์สเตอร์ลิงก์ ปอนด์สเตอร์ลิงก์      
  15,406,251-3-0 265,753,896 30.71 ถูกยึดไว้ในประเทศอังกฤษ
    1,052,503,322 121.64  

หมายเหตุ (๑) ทองคำกรัมบริสุทธิละ ๔.๘๐ บาท

(๒) ๑ เยน เท่ากับ ๑ บาท

(๓) ๑๓๙.๒๓๒๔ เพ็นนี เท่ากับ ๑ บาท หรือ ๑๗.๒๔ บาท เท่ากับ ๑ ปอนด์สเตอร์ลิงก์

----------------------------

ตารางที่ 3

ธนาคารพาณิชย์

เงินสดสำรอง

ปี เดือน เงินฝาก จำนวน ร้อยละของเงินฝาก เงินให้กู้ยืม พันธบัตรรัฐบาล (เงินกู้ภายในประเทศ)
พ.ศ.   บาท บาท % บาท บาท
2182 กันยายน 56,044,200 8,585,000 15.32 30,420,300 459,000
2483* ธันวาคม 61,761,800 14,962,200 23.10 37,870,500 3,281,800
2484** ธันวาคม 59,963,100 8,280,600 13.80 40,916,200 4,332,400
2485 มิถุนายน 82,876,300 18,585,500 22.44 34,567,200 12,105,600
  +ธันวาคม 100,763,000 33,957,500 33.70 27,522,900 23,363,700
2486 มิถุนายน 127,483,800 41,316,700 32.40 47,131,500 32,531,400
  ธันวาคม 129,085,700 51,531,400 39.92 50,133,200 42,422,000
2487 มกราคม 127,040,100 49,211,400 38.73 50,024,300 42,402,000
  กุมภาพันธ์ 134,822,900 55,008,800 40.80 45,659,500 42,231,000
  มีนาคม 133,779,400 53,928,100 40.31 46,804,100 43,604,900
  เมษายน 137,440,800 49,123,100 35.74 49,398,100 47,548,900
  พฤษภาคม 146,558,800 54,362,800 37.09 54,285,700 47,547,100
  มิถุนายน 153,485,400 67,446,500 43.37 59,964,700 48,234,100

หมายเหตุ ๑. ไม่รวมตัวเลขของธนาคารชาเตอร์ ฯ สาขาภูเก็ต

๒. เงินฝาก เป็นยอดก่อนหักบัญชีระหว่างธนาคาร

* ธนาคารแห่งเอเซียเพื่อการอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมเริ่มกิจการในระหว่างปีนี้

** ธนาคารนครหลวงจำกัดเริ่มกิจการในระหว่างปีนี้ ส่วนธนาคารฮ่องกง ฯ ธนาคารชาเตอร์ ฯ ธนาคารเมอร์แคนไตล์ ธนาคารกวางตุ้ง และธนาคารซีไฮทง หยุดดำเนินการเนื่องจากสงครามเอเซียบูรพาอุบัติขึ้น

+ ธนาคารไทยจำกัด เริ่มกิจการในปลายนั้น มีธนาคารพาณิชย์ดำเนินกิจการรวม ๑๐ ธนาคาร ในระหว่าง ๖ เดือนหลังของปีนี้ รวมทั้งธนาคารกวางตุ้งและธนาคารซีไฮทง จึงได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการได้ใหม่

----------------------------

ตารางที่ 4

ราคาขายส่ง

(๒๔๘๑ = ๑๐๐)

ปี และ เดือน เลขดัชนี
2481 100.
2482 115.8
2483 170.0
2484 224.7
2485 249.2
2486 มกราคม – มิถุนายน 308.8
กรกฎาคม 297.7
สิงหาคม 303.7
กันยายน 307.0
ตุลาคม 321.4
พฤศจิกายน 320.1
ธันวาคม 341.3
2487 มกราคม 329.5
กุมภาพันธ์ 331.0
มีนาคม 369.2
เมษายน 385.9
พฤษภาคม 378.6

(ตัวเลขข้างต้นได้รับความอนุเคราะห์จากกระทรวงพาณิชย์)

 

  1. ๑. ทรงแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ