การควบคุมธนาคารพาณิชย์

√√√ ร่างพระราชบัญญัตินี้มุ่งหมายที่จะรักษาผลประโยชน์ของผู้ฝากเงินเป็นประการทีหนึ่ง และมุ่งหมายจะดำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของระบบการธนาคารไทยเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นประการที่สอง ไม่มีความประสงค์ที่จะรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นในธนาคารแต่ประการใด เพราะผู้ถือหุ้นย่อมได้รับความคุ้มครองตามประมวลแพ่งและพาณิชย์อยู่แล้ว

⋆⋆⋆

√√√ ถ้าจะพูดกันตรง ๆ การธนาคารย่อมเป็นกิจการที่จะควบคุมจริง ๆ หาได้ไม่ เพราะการประกอบธุรกิจของธนาคารย่อมต้องอาศัยความวินิจฉัยและดุลพินิจเป็นที่ตั้ง เช่นในการที่จะให้กู้ยืมเงินแต่ละรายก็ย่อมมีพฤติการณ์ต่างกันบ้างไม่มากก็น้อย จะให้รายใดกู้หรือไม่ให้กู้ก็ต้องอาศัยความวินิจฉัย อนึ่ง ในการประกอบธุรกิจของธนาคารย่อมจะต้องมีการเสี่ยงบ้าง จะควรเสี่ยงมากน้อยเพียงไรก็ต้องอาศัยความวินิจฉัยและดุลพินิจเหมือนกัน จะออกกฎหมายวางกฎเกณฑ์ไว้ตายตัวหาได้ไม่

√√√ เพราะเหตุที่จะควบคุมจริง ๆ ไม่ได้ กฎหมายว่าด้วยการธนาคารจึงต้องมีลักษณะเป็นการกำหนดมาตรฐานบางอย่างไว้ แล้วให้รัฐบาลมีอำนาจกำกับดูแลให้ธนาคารดำรงไว้ซึ่งมาตรฐานที่กำหนดไว้นั้น

√√√ ข้อที่ควรระลึกอีกข้อหนึ่งมีอยู่ว่า เมื่อมีกฎหมายว่าด้วยการธนาคาร รัฐก็ย่อมมีความรับผิดชอบ (ในทางศีลธรรม) ในความมั่นคงของธนาคารด้วย เพราะเมื่อรัฐใช้อำนาจแล้ว ความรับผิดชอบย่อมเป็นเงาตามตัวมา ขณะนี้ก็เป็นที่เข้าใจกันอยู่มากว่าธนาคารมั่นคงเพราะมีกฎหมายให้กระทรวงการคลังควบคุม

√√√ การออกกฎหมายว่าด้วยการธนาคารจึงมีความยากลำบากอยู่ที่ว่ารัฐบาลเข้าควบคุมธนาคารจริง ๆ ไม่ได้ แต่เมื่อออกกฎหมายว่าด้วยการธนาคารไปแล้ว รัฐบาลย่อมจะหนีไม่พ้นความรับผิดชอบในความมั่นคงของธนาคาร ฉะนั้น กฎหมายที่จะออกจึ่งจะต้องให้อำนาจรัฐบาลพอสมควร.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ