บันทึกประกอบร่างพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์

วัตถุประสงค์

๑. คนชั้นผู้ใหญ่ในเวลานี้คงจะจำได้ว่า เมื่อต้นรัชกาลที่ ๖ ได้มีธนาคารไทยต้องเลิกทำการหลายธนาคาร เรื่อง “แบงก์ล้ม” ในสมัยนั้นเป็นเรื่องตื่นเต้นและต้องเสียหายกันมาก ความเชื่อถือในธนาคารไทยเสื่อมไป การธนาคารของไทยจึ่งได้หยุดชะงักไปช้านาน มาในสมัยนี้ธนาคารไทยได้เกิดขึ้นใหม่อีกหลายธนาคาร จึ่งสมควรป้องกันมิให้มีความเสียหายเกิดขึ้นเช่นเมื่อรัชกาลที่ ๖ นั้นอีก การธนาคารของไทยจะได้มีทางเจริญต่อไปไม่หยุดชะงักลง

๒. ร่างพระราชบัญญัตินี้จึงให้รัฐบาลมีหน้าที่กำกับกิจการของธนาคาร เพื่อให้มีทางช่วยคุ้มครองเงินของผู้ฝากให้ปลอดภัย เป็นทางรักษาไว้ซึ่งความเชื่อถือในความมั่นคงของธนาคาร (ในข้อนี้ควรระลึกว่า ธนาคารประกอบธุรกิจด้วยเงินของบุคคลอื่น คือผู้ฝาก ไม่ได้ใช้แต่เงินของตนเองเหมือนอย่างผู้ทำการค้าประเภทอื่นๆ ถ้าธนาคารไม่ได้รับความเชื่อถือของประชาชน ธนาคารจะตั้งอยู่หาได้ไม่)

การกำกับตามร่างพระราชบัญญัตินี้ใช้วิธีตั้งหลักไว้ว่า ในการประกอบธุรกิจนั้นธนาคารดำเนินการให้มั่นคงถึงขีดที่กำหนดไว้เป็นมาตรฐาน และให้รัฐบาลเป็นผู้ดูแลให้ธนาคารดำรงไว้ซึ่งมาตรฐานที่กำหนดนั้น

หลักการที่เห็นสำคัญในร่างพระราชบัญญัติ

๓. ในร่างพระราชบัญญัตินี้มีหลักการที่เป็นสำคัญในข้อต่อไปนี้

๑] การจัดตั้งธนาคาร

๒] ทุนของธนาคาร

๓] เงินสำรองของธนาคาร

๔] เงินสดสำรอง

๕] กำกัดประเภทแห่งธุรกิจ

๖] อัตราดอกเบี้ย

๗] การตรวจสอบ

๘] การชำระบัญชี

๙] การสั่งให้เลิกทำการ

จะอธิบายแต่ละหัวข้อโดยย่อต่อไปนี้

๔. การจัดตั้งธนาคาร ตามร่างพระราชบัญญัตินี้ธนาคารจะต้องเป็นบริษัทจำกัด เพราะประมวลแพ่งมีบทควบคุมบริษัทจำกัดดีอยู่แล้ว ในเมืองต่างประเทศสมัยนี้ก็เอียงไปในทางที่จะให้ธนาคารต้องเป็นบริษัทจำกัด ธนาคารที่มีอยู่แล้วในประเทศไทยเวลานี้ก็เป็นบริษัทจำกัดทั้งนั้น จึ่งไม่ควรให้มีธนาคารเอกชนเกิดขึ้น

๕. ทุนของธนาคาร ธนาคารทำธุรกิจด้วยเงินของผู้ฝาก ทุนของธนาคารเองมีลักษณะเป็นเงินประกันความปลอดภัยของผู้ฝากเงิน จึงต้องบัญญัติให้ธนาคารมีทุนพอสมควร

๖. เงินสำรองของธนาคาร เงินสำรองย่อมเป็นเงินประกันแก่ผู้ฝากเงิน ว่าถ้าหากธนาคารจะต้องชำระบัญชี และถ้าในเวลาชำระบัญชีนั้นสินทรัพย์ของธนาคารเสื่อมค่าไปบ้าง ธนาคารก็ยังมีเงินอีกก้อนหนึ่ง (คือเงินสำรอง) สำหรับชดเชยใช้ให้ผู้ฝาก จึ่งต้องมีบทบัญญัติให้ธนาคารกันกำไรสุทธิไว้พอสมควรเพื่อเป็นเงินสำรอง

๗. เงินสดสำรอง เงินที่ธนาคารรับฝากจากประชาชนนั้นส่วนมากเป็นเงินที่ธนาคารต้องใช้คืนทันทีที่ผู้ฝากสั่งจ่าย ธนาคารจึ่งต้องมีเงินสดสำรองไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อจ่ายตามคำสั่งของผู้ฝากได้โดยไม่ชักช้า ร่างพระราชบัญญัตินี้จึ่งบังคับให้ธนาคารต้องมีเงินสดสำรองไว้พอสมควร

๘. กำกัดประเภทแห่งธุรกิจ โดยเหตุที่ธนาคารจะต้องจ่ายเงินตามคำสั่งของผู้ฝากได้โดยไม่ชักช้า การนำเงินฝากไปหาผลประโยชน์จึ่งต้องระวังมิให้เงินไปจมอยู่ที่ใดที่หนึ่ง หากให้ธนาคารถอนกลับคืนเข้ามาได้เมื่อจำเป็น ร่างพระราชบัญญัตินี้จึ่งมีบทบัญญัติที่กำกัดหรือห้ามการประกอบธุรกิจบางอย่าง อันเป็นสิ่งที่จะทำให้ธนาคารหย่อนความสามารถที่จะใช้เงินคืนแก่ผู้ฝากได้ทันทีเสมอไป

๙. อัตราดอกเบี้ย สมัยนี้มีธนาคารอยู่แล้วหลายธนาคาร แต่ละธนาคารย่อมต้องการให้มีผู้ฝากเงินแก่ตน ก็อาจจะแข่งแย่งกันโดยให้ดอกเบี้ยเงินฝากมากกว่ากัน การแข่งแย่งกันนั้นถ้ากระทำภายในขอบเขตที่สมควรก็เป็นการดี แต่ถ้ากระทำโดยไม่มีขีดจำกัดก็อาจจะเกิดเสียหายได้ จงมีบทบัญญัติจำกัดการแข่งแย่งในเรื่องอัตราดอกเบี้ยไว้บ้าง

๑๐. การตรวจสอบ ร่างพระราชบัญญัตินี้ ให้อำนาจรัฐมนตรีที่จะตรวจสอบกิจการของธนาคาร เพื่อพิเคราะห์ว่าธนาคารอยู่ในฐานะที่สามารถชำระหนี้ได้ (solvent) หรือไม่ ทั้งนี้เป็นการกระทำเพื่อรักษาประโยชน์ของผู้ฝากเงินและรักษาไว้ซึ่งความเชื่อถือของประชาชนในธนาคาร

๑๑. การชำระบัญชี ถ้าธนาคารใดต้องหยุดทำการเพราะไม่สามารถใช้เงินคืนให้แก่ผู้ฝากเมื่อทวงถาม รัฐบาลก็ควรต้องเข้าควบคุมและจัดการให้ผู้ฝากได้รับเงินคืนเป็นจำนวนมากที่สุดที่จะพึงได้และภายในเวลาสมควร ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือผู้ฝากเงินธนาคารนั้น และเพื่อรักษาไว้ซึ่งความเชื่อถือในธนาคารอื่นๆ มิให้พลอยเสื่อมลงไปด้วย

๑๒. การสั่งให้เลิกทำการ ธนาคารใดทำการโดยไม่ระมัดระวังจนตกอยู่ในฐานะที่ไม่มั่นคง และเห็นได้ว่าถ้าปล่อยให้คงทำการต่อไปจนถึงที่สุดผู้ฝากเงินก็จะต้องได้รับความเสียหายมากไซร้ ก็ควรสั่งให้ธนาคารนั้นเลิกทำการเสียทันที ความเสียหายแก่ผู้ฝากจึงจะไม่มีมากและความเชื่อถือในธนาคารอื่นๆ จึ่งจะไม่เสื่อมลง.

๒๓ พฤษภาคม ๒๔๘๘

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ