นโยบายการเงิน

คำนำ

๑. รัฐบาล ได้แถลงนโยบายเมื่อ ๒๑ เมษายน ๒๔๙๑ ว่าจะสร้างเสถียรภาพของเงินตรา ในบันทึกฉบับนี้จึงจะกล่าวถึงการจัดให้บาทเป็นเสถียรภาพ และจะแบ่งข้อความออกเป็น ๓ ภาค คือ ภาคที่ ๑ ว่าด้วยหลักการทั่วไป เป็นคำอธิบายว่าเสถียรภาพหมายความอย่างไร และการสร้างเสถียรภาพจะต้องกระทำการอย่างใดบ้าง ในภาค ๒ จะได้เสนอข้อเท็จจริงและประเด็นที่มีอยู่ เพราะการตรวจพิจารณาประเด็นจะกระทำให้วินิจฉัยปัญหาได้ถูกต้อง ในภาค ๓ จะได้แสดงว่าจดหมายแห่งการสร้างเสถียรภาพนั้นอยู่ที่ใด แล้วจะได้กำหนดแผนการอันจะทำให้ลุถึงซึ่งจุดหมายนั้น

ข้อความทั้งนี้จะกล่าวแต่โดยย่อเพื่อมิให้บันทึกฉบับนี้ยืดยาวเกินไป

ภาค ๑

เสถียรภาพหมายความอย่างไร

๒. ในปัจจุบันนี้รัฐบาลกำหนดค่าของบาทไว้ ๔๐ บาทต่อปอนด์ แต่ก็ยังไม่สามารถจะจะตรึงเอาไว้ในระดับนี้ได้ ค่าของบาทในตลาดจึ่งต่างไปจากค่าที่เป็นทางการ ทั้งยังขึ้น ๆ ลงๆ ไม่แน่นอน และขณะนี้อยู่ในระดับ ๖๐ บาทต่อปอนด์ แต่ถ้ารัฐบาลสามารถสร้างเสถียรภาพได้แล้วค่าของบาทในตลาดก็จะอยู่ในระดับเดียวกันกับค่าที่ทางการกำหนด และจะยืนที่อยู่ได้แน่นอนตลอดไป การสร้างเสถียรภาพของบาทจึ่งหมายความว่าการกำหนดค่าเป็นทองคำหรือเป็นเงินตราต่างประเทศแล้วตรึงเอาไว้ในระดับที่ได้กำหนดขึ้นนั้น อนึ่ง การสร้างเสถียรภาพยังมีความหมายโดยปริยายด้วยว่าค่าที่ได้กำหนดขึ้นนั้นเป็นอันแน่นอนเด็ดขาดแล้ว

การสร้างเสถียรภาพจะต้องกระทำการอย่างใดบ้าง

๓. ราคาของสิ่งใดสิ่งหนึ่งในขณะใดขณะหนึ่งจะสูงหรือต่ำย่อมแล้วแต่อุปทานและอุปสงค์แห่งของสิ่งนั้นในขณะนั้น ค่าของบาท (หรือเงินตราอื่นใดก็ตาม) ก็อยู่ในบังคับแห่งกฎข้อนี้เหมือนกัน กล่าวคือผู้ส่งของออกได้รับเงินต่างประเทศเป็นค่าของแล้วย่อมขายเงินต่างประเทศนั้นให้แก่ธนาคารพาณิชย์เพื่อรับบาทไปจ่ายให้แก่ผู้ผลิตในประเทศ ฝ่ายผู้นำของเข้าก็ย่อมใช้บาทซื้อเงินต่างประเทศจากธนาคารพาณิชย์สำหรับจ่ายให้แก่ผู้ขายของในต่างประเทศ เพราะฉะนั้นเมื่อมีสินค้าออกมากกว่าสินค้าเข้า เงินต่างประเทศที่มีขายจึงมีจำนวนเกินกว่าที่มีผู้ต้องการซื้อ ในกรณี้นี้ราคาเงินต่างประเทศจะลดลง หรืออีกนัยหนึ่งค่าของบาทจะสูงขึ้น แต่ถ้าสินค้าขาเข้าสูงกว่าขาออก เงินต่างประเทศที่มีผู้ต้องการซื้อก็จะมีจำนวนมากกว่าที่มีขาย ในกรณีหลังนี้ราคาเงินต่างประเทศจะสูงขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งค่าของบาทจะลดลง อนึ่ง เงินต่างประเทศที่มีขายและที่มีผู้ต้องการซื้อในขณะใดขณะหนึ่งนั้นจะเป็นจำนวนเท่ากันหาได้ไม่ เพราะฉะนั้นราคาเงินต่างประเทศ (หรือค่าของบาท) จึ่งขึ้นๆ ลงๆ เป็นการปกติ

๔. เมื่อการสร้างเสถียรภาพของบาทหมายความว่าจะต้องตรึงค่าของบาทไว้ให้ยืนที่ในอัตราที่กฎหมายกำหนด เจ้าหน้าที่เงินตราจึ่งจะต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในอันจะป้องกันมิให้ค่าของบาทขึ้น ๆ ลง ๆ ดั่งกล่าวข้างบน วิธีการที่ใช้เป็นปกติทั่วไปนั้นประเทศไทยก็เคยใช้มาแล้วเมื่อสมัยก่อนสงคราม คือเมื่อได้กำหนดค่าของบาทเป็นสเตอร์ลิงก์แล้ว และจะตรึงค่านั้นไว้ในอัตราที่กำหนด เจ้าหน้าที่เงินตราจะต้องซื้อหรือขายสเตอร์ลิงก์ในอัตรานั้นโดยไม่จำกัดจำนวนและในทันทีที่มีผู้เสนอขายหรือซื้อ เช่นเมื่อใครนำสเตอร์ลิงก์มาเสนอขาย เจ้าหน้าที่ก็รับซื้อทั้งหมดทันทีในอัตรา ๑๑ บาทต่อปอนด์ และเมื่อใครมาขอซื่อสเตอร์ลิงก์ เจ้าหน้าที่ก็ขายให้ตามจำนวนที่ขอซื้อทันทีในอัตรา ๑๑ บาทต่อปอนด์ เมื่อเจ้าหน้าที่กระทำดั่งนี้ บาทก็จะมีค่ายืนที่อยู่ ๑๑ บาทต่อปอนด์ อนึ่ง เจ้าหน้าที่จะกระทำเช่นนี้ได้ก็ต่อเมื่อมทุนสำรองพอเพียงเป็นสเตอร์ลิงก์ 1 (หรือเป็นสินทรัพย์อย่างอื่นที่เปลี่ยนเป็นสเตอร์ลิงก์ได้ทันที) ในสมัยก่อนสงครามรัฐบาลตรึงค่าของบาทไว้ได้ในอัดรา ๑๑ บาทต่อปอนด์ ก็เพราะมีทุนสำรองไว้เป็นจำนวนพอเพียง แล้วซื้อและขายปอนด์ในอัตรานั้นเสมอไป

๕. ข้อที่พึงสังเกตอีกข้อหนึ่งมีอยู่ว่า ประเทศไทยจะตรึงค่าของบาทเป็นทองคำไม่ได้เพราะเหตุหลายประการ ประเทศอื่น ๆ แทบทุกประเทศก็กระทำไม่ได้ดุจกัน การสร้างเสถียรภาพจึ่งต้องกำหนดค่าของบาทเป็นเงินต่างประเทศดั่งที่เคยปฏิบัติอยู่ในสมัยก่อนสงคราม ปัญหาจึ่งมีต่อไปว่าจะใช้เงินของประเทศใดเป็นมาตรฐาน ในข้อนี้ต้องระลึกว่าการค้าของประเทศไทยส่วนใหญ่กระทำกับประเทศที่ใช้สเตอร์ลิงก์ ประเทศไทยจึงใช้สเตอร์ลิงก์มากกว่าเงินต่างประเทศอื่นใดทั้งสิ้น ฉะนั้น ถ้าบาทมีค่ายืนที่อยู่แน่นอนเมื่อเทียบกับสเตอร์ลิงก์ ประเทศไทยจะได้ประโยชน์เป็นอย่างมากที่สุด การกำหนดค่าของบาทจึงต้องอาศัยสเตอร์ลิงก์เป็นมาตรฐานคือกำหนดว่าเท่านั้น ๆ บาทเท่ากับหนึ่งปอนด์ ประเทศไทยจะอาศัยเงินต่างประเทศอย่างอื่นเป็นมาตรฐานหาได้ไม่ เช่นถ้าจะกำหนดว่าเท่านั้น ๆ บาทเท่ากับร้อยแฟรงค์สวิส ก็แทบจะไม่ได้ประโยชน์อย่างไรเลย เพราะการค้ากับประเทศสวิสมีน้อยที่สุด

๖. อนึ่ง ได้กล่าวไว้แล้วข้างบนนี้ว่า ถ้าจะตรึงค่าของบาทไว้เป็นปอนด์สเตอร์ลิงก์ในอัตราที่กำหนด ก็จะต้องมีทุนสำรองอันพอเพียงเป็นสเตอร์ลิงก์จึ่งจะสามารถตรึงไว้ได้ตามความประสงค์ เมื่อพิจารณาเหตุการณ์ที่เป็นมาแล้วใน ๓๐ ปีที่ล่วงมา ก็ปรากฏว่า ทุนสำรองนั้นต้องมีจำนวนไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๕๐ ของราคาธนบัตรที่จำหน่ายจึ่งจะเป็นจำนวนอันอาจนับได้ว่าพอเพียง อีกประการหนึ่งเมื่อจะให้มีทุนสำรองไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ เป็นประจำก็จะต้องไม่เพิ่มจำนวนธนบัตรขึ้นอีก เว้นไว้แต่ทุนสำรองจะได้เพิ่มขึ้นด้วยเป็นจำนวนเท่ากัน ข้อนี้หมายความว่าจะต้องไม่จำหน่ายธนบัตรออกมาเป็นค่าใช้จ่ายของรัฐบาล หรืออีกนัยหนึ่งจะต้องรักขางบประมาณไว้ให้เป็นดุลยภาพตลอดไป

ภาค ๒

การสร้างเสถียรภาพมีปัญหาอย่างไร

๗. ในปัจจุบันนี้บาทมีค่าที่เป็นทางการ ๔๐ บาทต่อปอนด์อย่างหนึ่งและค่าในตลาดประมาณ ๖๐ บาทต่อปอนด์อีกอย่างหนึ่ง ค่าที่เป็นทางการนั้นมิใช่เป็นค่าตามธรรมชาติ เพราะมีกำเนิดมาจากการควบคุมคือการบังคับซื้อปอนต์เอามาจากบุคคลบางคนในอัตรา ๔๐ บาท แต่ปอนด์ที่ปล่อยให้ซื้อขายกันโดยเสรีนั้นซื้อขายกันอยู่ราว ๖๐ บาทต่อปอนด์ ฉะนั้นค่าอันแท้จริงของบาทก็คือ ๖๐ บาทต่อปอนด์ การสร้างเสถียรภาพของบาทจึ่งมีปัญหาว่าจะกำหนดค่าไว้ในระดับใด เช่นจะควรกำหนดตามค่าแท้จริงในปัจจุบันปอนด์ละ ๖๐ บาท หรือจะควรพยายามกระทำให้สูงขึ้นถึงปอนด์ละ ๔๐ บาท

ไม่ควรสร้างเสถียรภาพในอัตราต่ำกว่า ๔๐ บาท

๘. ถ้าจะสร้างเสถียรภาพในอัตราต่ำกว่า ๔๐ บาท เช่นในอัตรา ๖๐ บาทต่อปอนด์เป็นต้น ก็จะกระทำได้โดยไม่มีความยากลำบาก เพราะขณะนี้บาทมีค่าตามธรรมชาติอยู่แล้ว ๖๐ บาทต่อปอนด์ แต่การสร้างเสถียรภาพในอัตรา ๖๐ บาทนั้นหาควรกระทำไม่ เหตุที่ไม่ควรกระทำมีดังต่อไปนี้ ทุกวันนี้รัฐบาลขายข้าวไปต่างประเทศเสียเอง โดยซื้อข้าวจากบุคคลในอัตรา ๔๐ บาทต่อปอนด์ ข้าวที่ซื้อขายในประเทศจึ่งมีราคาอันอาศัยอัตรา ๔๐ บาทเป็นเกณฑ์ ถ้ากำหนดค่าของบาทเป็น ๖๐ บาทต่อปอนด์ ราคาข้าวในประเทศก็จะแพงขึ้นอีกมาก อนึ่ง ในขณะนี้รัฐบาลอุดหนุนการนำน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาโดยวิธีขายเงินต่างประเทศให้ผู้นำเข้าในอัตรา ๔๐ บาท ถ้าเปลี่ยนเป็น ๖๐ บาทเสียแล้วราคาน้ำมันจะแพงขึ้น ค่าขนส่งจะแพงตามกันขึ้นไป อีกประการหนึ่งการเก็บภาษีศุลกากรก็เก็บอยู่โดยใช้อัตรา ๔๐ บาท ถ้าเปลี่ยนเป็นใช้อัตรา ๖๐ บาท สินค้าขาเข้าก็จะมีราคาแพงขึ้น จึ่งสรุปลงได้ว่าถ้ากำหนดค่าของบาทต่ำกว่า ๔๐ บาทต่อปอนด์ค่าครองชีพจะสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อนึ่ง รายจ่ายของรัฐบาลในเมืองต่างประเทศในขณะนี้เมื่อต้องจ่ายเงินหนึ่งปอนด์ รัฐบาลใช้เงินไทยเพียง ๔๐ บาท แต่ถ้ากำหนดค่าของบาทเป็น ๖๐ บาทต่อปอนด์ รัฐบาลก็จะต้องใช้เงินไทยถึง ๖๐ บาท และแม้ว่ารายได้บางประเภทจะเพิ่มขึ้นเองบ้าง เช่นเงินภาษีศุลกากรจะเพิ่มขึ้นเป็นต้น รายได้ที่จะได้เพิ่มขึ้นนั้นคาดว่าจะไม่คุ้มรายจ่ายที่จะต้องเพิ่ม จึ่งอาจจะต้องเก็บภาษีใหม่ขึ้นอีกด้วย

ในขณะนี้จะสร้างเสถียรภาพในอัตรา ๔๐ บาทยังไม่ได้

๙. ฐานะเงินตราในปัจจุบัน (กันยายน ๒๔๙๑) มีดั่งต่อไปนี้

ธนบัตรที่จำหน่าย บาท

ทุนสำรองเป็นปอนด์และอื่นๆ ที่เปลี่ยนเป็นปอนด์ได้ (ปอนด์ละ ๔๐ บาท) บาท

๒,๓๒๓,๖๖๔,๘๒๙ ๖๒๒,๑๘๔,๙๖๓
  อัตราส่วน ๒๗ %

เมื่อมีทุนสำรองเพียงร้อยละ ๒๗ ของธนบัตรที่จำหน่าย (คือประมาณครึ่งหนึ่งแห่งจำนวนที่ต้องมีเป็นอย่างน้อยที่สุด) ก็เป็นที่แน่นอนว่าจะสร้างเสถียรภาพในอัตรา ๕๐ บาทต่อปอนด์หาได้ไม่ เพราะเจ้าหน้าที่เงินตราจะไม่สามารถตรึงค่าของบาทไว้ในระดับนี้ได้

การสร้างเสถียรภาพในอัตรา ๔๐ บาท คงจะกระทำได้ในข้างหน้า

๑๐. ฐานะเงินตราที่แสดงไว้ข้างบนนั้น เมื่อถึง กันยายน ๒๔๙๒ แล้ว ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปมากเพราะเหตุต่อไปนี้

(ก) ถ้าได้ทองคำในประเทศญี่ปุ่นกลับคืนมา ทุนสำรองจะเพิ่มขึ้นอีก ๔๓๐,๓๓๕,๕๗๖ บาท

(ข) ในปี ๒๔๙๑ นี้คาดว่าจะมีรายได้เหลือจ่าย ถ้ามีเหลือสัก ๑๑๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท ก็จะได้ใช้ถอนพันธบัตรคลังที่อยู่ในทุนสำรอง ซึ่งจะกระทำให้ทุนสำรองที่เป็นปอนด์เพิ่มขึ้นเท่าจำนวนนี้

(ค) ข้าวที่จะส่งออกใน ๒๔๙๒ จะมีจำนวนมาก และจะทำให้ธนบัตรที่จำหน่ายเพิ่มขึ้นและทุนสำรองเพิ่มขึ้นด้วย ถ้าประมาณตามตัวเลขใน ๒๔๙๑ ก็คาดว่าธนบัตรจะเพิ่มขึ้นประมาณ ๒๓๙,๔๕๗,๐๐๐ บาท และทุนสำรองจะเพิ่มขึ้นด้วยเป็นจำนวนเท่ากัน

เพราะฉะนั้น ฐานะเงินตราในเดือนกันยายน ๒๔๙๒ จึ่งคาดว่าจะเป็นดั่งต่อไปนี้

ธนบัตรที่จำหน่าย บาท

ทุนสำรองเป็นปอนด์และอื่น ๆ ที่เปลี่ยนเป็นปอนด์ได้ (ปอนด์ละ ๔๐ บาท) บาท

๒,๕๖๓.๑๒๑,๘๒๙ ๑,๔๐๘,๙๗๗,๕๓๙
  อัตราส่วน ๕๕%

ตัวเลขข้างบนนี้แสดงว่าอาจจะมีทุนสำรองถึงร้อยละ ๕๕ ของธนบัตรที่จำหน่าย จึ่งเป็นอันว่าในเวลาอีกประมาณ ๑ ปีข้างหน้าก็จะมีทางสร้างเสถียรภาพได้ในอัตรา ๔๐ บาทต่อปอนด์

กิจการที่ต้องกระทำเพื่อให้สร้างเสถียรภาพได้ในอัตรา ๔๐ บาท

๑๑. แต่การสร้างเสถียรภาพในอัตรา ๔๐ บาทต่อปอนด์ยังมีข้อติดขัดประการหนึ่งที่เป็นสำคัญยิ่ง ในเวลานี้สินค้าทั้งปวง (นอกจากข้าว) ที่ส่งออกไปขายต่างประเทศนั้น ผู้ส่งออกได้รับเงินในอัตราปอนด์ละ ๖๐ บาท คือเมื่อขายของได้เงินหนึ่งปอนด์แล้วก็ขายปอนด์นั้นให้แก่ธนาคารพาณิชย์ได้เงิน ๖๐ บาท อันเป็นจำนวนพอชำระให้แก่ผู้ผลิตแล้วยังมีเหลือเป็นค่าใช้จ่ายและกำไรของตนด้วย แต่ถ้าผู้ส่งของออกขายปอนด์ที่ได้มาได้เงินเพียง ๔๐ บาท ก็จะไม่พอชำระให้แก่ผู้ผลิต หรือไม่เหลือพอเป็นค่าใช้จ่ายและกำไรของตน การส่งสินค้าออกจะหยุดชะงักลง เว้นไว้แต่ราคาผลิตผลในประเทศจะลดลงต่ำกว่าในปัจจุบันนี้มาก

๑๒. เพื่อให้ราคาผลิตผลในประเทศลดต่ำลง รัฐบาลจะต้องกระทำการหลายอย่าง และโดยเฉพาะในทางการเงินจะต้องลดปริมาณเงินลงให้จงได้ ปริมาณทั้งสิ้นของเงิน (คือธนบัตรและเงินฝากธนาคารที่สั่งจ่ายได้ทันที) ขณะนี้มีอยู่ราว ๓,๒๖๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท หรือมากกว่าเมื่อก่อนสงครามประมาณ ๑๐ เท่าตัว ธนบัตรที่จำหน่ายออกไปมีจำนวนมากมายประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งธนาคารพาณิชย์ก็ยังมีเงินสดสำรองอยู่อีกไม่น้อย จึ่งสามารถทำให้มีเงินฝากเพิ่มขึ้นอีกโดยวิธีให้กู้ยืมเงิน เมื่อปริมาณของเงินยังมีอยู่มากมายเช่นนี้ ราคาผลิตผลในประเทศจะลดต่ำลงมากก็หาได้ไม่ จึงจำต้องถอนธนบัตรกลับคืนเข้ามาเสียบ้าง และลดเงินฝากธนาคารลงด้วยอีกส่วนหนึ่ง

ภาค ๓

จุดหมาย

๑๓. เมื่อการสร้างเสถียรภาพในอัตรา ๖๐ บาทจะกระทำให้ค่าครองชีพแพงขึ้น ทั้งอาจต้องเพิ่มภาษีด้วยดั่งกล่าวแล้ว และในทางตรงข้ามการสร้างเสถียรภาพในอัตรา ๔๐ บาทจะกระทำให้ค่าครองชีพลดลง ก็จำต้องวินิจฉัยว่าการสร้างเสถียรภาพจะต้องใช้อัตรา ๔๐ บาทต่อปอนด์ และเพื่อให้ลุถึงซึ่งจุดหมายนี้ก็จะต้องกระทำกิจการบางอย่างดั่งจะกล่าวในข้อต่อๆ ไป

กิจการที่ต้องกระทำเพื่อลุถึงซึ่งจุดหมาย

๑๔. กิจการที่ต้องกระทำในประการแรกได้แก่การสะสมทุนสำรองให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๕๐ ของธนบัตรที่จำหน่าย การสะสมทุนสำรองที่กล่าวนี้จะต้องใช้รายได้เหลือจ่ายดั่งกล่าวแล้วในข้อ ๑๐ (ข) และจะต้องได้ทองคำคืนมาจากประเทศญี่ปุ่นด้วย จึ่งควรพยายามทุกทางที่จะให้ได้ทองคำนั้นคืนมาในปี ๒๔๙๒

๑๕. ในประการที่ ๒ เมื่อได้สะสมทุนสำรองขึ้นจนถึงร้อยละ ๕๐ เป็นอย่างน้อยแล้ว ก็ไม่แต่เพียงจะต้องรักษาไว้ให้ได้ร้อยละ๕๐ เท่านั้น หากจะต้องค่อยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับต่อไปด้วย ทั้งนี้เพื่อให้มีจำนวนเผื่อขาดไว้บ้างสำหรับความปลอดภัย ในการนี้จะต้องจัดให้งบประมาณปีต่อ ๆ ไปมีรายได้เหลือจ่ายบ้างอีกสัก ๒-๓ ปี

๑๖. ในประการที่ ๓ จะต้องกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งในอันจะถอนธนบัตรกลับคืนเข้ามาบ้าง เครื่องมือที่จะใช้ได้โดยเร็วก็คือธนาคารออมสินและการออกสลากกินแบ่ง นอกจากนี้ควรคิดหาวิธีอื่นด้วย

๑๗. ในประการที่ ๔ จะต้องจัดการลดเครดิต (คือเงินฝากธนาคารพาณิชย์ที่สั่งจ่ายได้ทันที) ลงบ้าง ใน ๑o เดือนที่แล้วมานี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กระทำให้ลดลงไปได้ประมาณ ๑๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาทแล้ว และจะได้ดำเนินการต่อไปอีกในปี ๒๔๙๒ อนึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีอำนาจตามกฎหมายที่จะกีดกันมิให้เครดิตเพิ่มขึ้นเกินสมควร ธนาคารก็ควรใช้อำนาจอันนี้ในปี ๒๔๙๒

๑๘. และในที่สุดควรกล่าวไว้ด้วยว่า การสร้างเสถียรภาพในระดับ ๔๐ บาทและลดค่าครองชีพลงจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้นจะต้องกระทำกิจการอื่น ๆ ที่มิใช่เป็นการเงินด้วย เช่นเพิ่มการผลิตและบุรณะการขนส่งเป็นต้น แต่เมื่อกิจการเหล่านี้มิใช่เป็นการเงิน จึ่งไม่นำมากล่าวในบันทึกฉบับนี้.

(ลงพระนาม) วิวัฒน

กระทรวงการคลัง

๒๗ ธันวาคม ๒๔๙๑

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ