เรื่อง การตั้งธนาคารกลาง (CENTRAL BANK)

หน้าที่ของธนาคารกลาง

๑. การตั้งธนาคารกลาง (Central Bank) ในประเทศต่าง ๆ นั้น มีวัตถุประสงค์ในอันจะให้มีเจ้าหน้าที่ผู้เดียวทำการควบคุมทั้งเงินตราและเครดิต เพื่อความมั่นคงแห่งค่าของเงินทั้งภายนอกและภายในประเทศ ธนาคารกลางต่าง ๆ เหล่านี้มีสัมปทานที่คล้ายคลึงกันในสาระสำคัญ และต่างกันไปก็แต่ในรายละเอียด นาย Montagu Norman ผู้ดำรงตำแหน่ง Governor of the Bank of England มาแล้วช้านาน ได้เคยชี้แจงว่าธนาคารกลางมีหน้าที่ดั่งจะกล่าวโดยย่อต่อไปนี้ คือ

(๑) มิสิทธิจำหน่ายธนบัตรแต่ผู้เดียว

(๒) รับฝากบรรดาเงินของรัฐบาล

(๓) เป็นตัวแทนรัฐบาลในการเงิน (เช่นการรับและจ่ายเงินในและนอกประเทศ การกู้เงิน)

(๔) รับฝากเงินสำรองของธนาคารต่าง ๆ

(๕) ทำให้เครดิตขยายตัวออกหรือหดเข้าตามแต่จะสมควร

(๖) รักษาความมั่นคงแห่งเงินตราภายนอกและภายใน

(๗) เป็นบ่อเกิดแห่งเครดิตในเวลาฉุกเฉิน

(สำเนาคำชี้แจงของนาย Montagu Norman แจ้งในใบแนบ ๑ ท้ายนี้)

กิจการที่สำนักงานธนาคารชาติไทยปฏิบัติอยู่ในขณะนี้

๒. การตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ ก็เพื่อจะให้กระทำกิจธุระบางอย่างของธนาคารกลาง เป็นขั้นต้นแห่งการตั้ง “ธนาคารชาติไทย” เป็นธนาคารกลางขึ้นต่อไป กฎกระทรวงการคลัง ออกตามความในพระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทย พ.ศ.. ๒๔๘๒ (กฎลงวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๒) จึงได้กำหนดหน้าที่สำนักงานธนาคารชาติไทยไว้ดั่งต่อไปนี้

“ข้อ ๑. สำนักงานธนาคารชาติไทยมีอำนาจและหน้าที่ประกอบกิจการดั่งต่อไปนี้

(๑) การธนาคาร ในเรื่อง

(ก) รับฝากเงิน

(ข) ให้กู้ยืมเงิน

แทนรัฐและองค์การสาธารณะและเกี่ยวแก่องค์การสาธารณะ ธนาคารและเครดิตสถาน

(๒) การออกกู้เงินและจัดการเงินกู้ แทนรัฐและองค์การสาธารณะ”

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่างานที่ทำอยู่ยังเป็นส่วนน้อยของงานของธนาคารกลาง

อนึ่ง กระทรวงการคลังได้สั่งไว้ว่า ให้สำนักงานธนาคารชาติไทยเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินด้วย (คำสั่งที่ ๑๕๒/๒๔๘๕ ลงวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๕)

ลักษณะและปริมาณแห่งงานของธนาคารกลาง

๓. เมื่อพิจารณาดูหน้าที่อันเป็นธรรมดาแก่ธนาคารกลาง ดังกล่าวในข้อ ๑. นั้นแล้ว จะเห็นได้ว่า การงานของธนาคารกลางนั้นยุ่งยากและมีปริมาณมาก กล่าวคือ การปฏิบัติงานที่ระบุในข้อ ๑ (๑), (๒) และ (๓) นั้น จะต้องรับโอนงานส่วนใหญ่มาจากกรมคลังและกรมบัญชีกลาง งานในข้ออื่น ๆ เป็นงานใหม่ ซึ่งยังคาดปริมาณไม่ได้ถนัด ส่วนการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินก็จะเป็นงานก้อนใหญ่อีกก้อนหนึ่ง ดั่งจะเห็นได้จากตัวเลขแสดงการแลกเปลี่ยนเงิน (ในแนบ ๒) การควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินนี้ เมื่อการค้าเป็นปกติที่ปรึกษากระทรวงการคลังคนก่อน (นายดอลล์) ได้คาดไว้ว่า จะมีงานไม่น้อยกว่าของกรมศุลกากร

เมื่อมีงานหลายประเภทและมีปริมาณเท่า ๆ งานของกรมใหญ่ ๆ รวมกันหลายกรม การจัดตั้งธนาคารขึ้นให้ทำการงานทุกอย่างอันเป็นหน้าที่ของธนาคารกลางในทันทีนั้นข้าพเจ้าวิตกว่าจะไม่ได้ผลดี เพราะเริ่มต้นก็จะมีข้อติดขัดด้วยเรื่องคนที่จะใช้ เรายังไม่มีผู้ใดที่เคยงานของธนาคารกลาง พนักงานทุกคนจะต้องเรียนและทำงานไปด้วยพร้อมกัน

วิธีดำเนินการจัดตั้งธนาคารกลาง

๔. อาศัยเหตุที่กล่าวข้างบนนี้ข้าพเจ้าจึ่งขอเสนอว่า การจัดตั้งธนาคารกลางในขณะนี้ควรใช้วิธีออกพระราชบัญญัติกำหนดโครงการขึ้นไว้ให้บริบูรณ์ แต่ใช้เป็นส่วน ๆ ไปตามแต่จะพร้อมที่จะปฏิบัติได้

ถ้าจะดำเนินการตามวิธีนี้ การร่างพระราชบัญญัติก็ควรจะพิจารณาปัญหาต่าง ๆ ดั่งจะกล่าวในข้อต่อ ๆ ไป

ปัญหาต่างๆ ที่พึงพิจารณาในการตั้งธนาคารกลาง

[๑] ความสัมพันธ์กับรัฐบาล

๕. ปัญหาข้อแรกมีว่าจะให้ธนาคารกลางนี้มีฐานะอย่างไร และมีความสัมพันธ์กับรัฐบาลอย่างไร เมื่อดูในต่างประเทศก็มีตัวอย่างต่าง ๆ กัน เช่นในอังกฤษ รัฐบาลไม่มีหุ้นในแบงก์ออฟอิงแลนด์เลย แบงก์เป็นอิสระต่างหากจากรัฐบาล กฎหมายตั้งไรซส์แบงก์มาตราแรกบัญญัติว่า “The Reichsbank is a Bank independent of Government control” แบงกออฟแจแปนเป็นบริษัทจำกัด และรัฐบาลจะถือหุ้นได้ไม่เกินกึ่งหนึ่ง ในทางตรงข้าม สะเตตแบงก์ในโซเวียตรัสเซียได้ทุนทั้งสิ้นไปจากรัฐบาล และอยู่ในความควบคุมทั่วไปของกระทรวงการคลัง (“5. The general supervision of the Bank is vested in the People’s commissary of Finances.”) แต่บรรดาธนาคารกลางต่าง ๆ แม้แต่ที่เป็นอิสระเต็มที่ เช่นแบงก์ออฟอิงแลนด์หรือไรซส์แบงก์ก็ร่วมมือกับรัฐบาลในเชิงนโยบาย

๖. การที่จะตั้งธนาคารกลางในประเทศเรานั้น จะตั้งขึ้นเป็นรูปใดก็ตาม แต่รัฐบาลคงต้องออกทุนทั้งหมด เพราะวัตถุประสงค์อันใหญ่ยิ่งของธนาคารกลางมิใช่เป็นการหากำไร คงไม่มีบุคคลใดประสงค์จะถือหุ้นของธนาคาร เมื่อรัฐบาลจะต้องออกทุนทั้งหมดแล้ว จะตั้งขึ้นเป็นรูปบริษัทจำกัดหรือเป็นองค์การอันหนึ่งของรัฐบาลก็ดูไม่สำคัญ ปัญหาไปอยู่ที่ว่าจะควบคุมธนาคารนี้เพียงไร

[๒] การควบคุม

๗. ตามกฎหมายหรือสัมปทานตั้งธนาคารกลางใหม่ ๆ นั้นปรากฏว่ามีการควบคุมโดยมีบทบัญญัติว่าด้วยเงินทุน การตรวจบัญชีเงินสำรอง และลักษณะปกครองและบทบัญญัติว่าด้วยกิจการที่ธนาคารกลางจะทำได้และไม่ได้ ส่วนการดำเนินงานของธนาคารนั้นปล่อยให้ธนาคารดำเนินไปเองภายในกรอบแห่งกฎหมาย แม้ในประเทศที่มีธนาคารกลางเป็นของรัฐ รัฐบาลก็ควบคุมโดยทั่ว ๆ ไปเท่านั้น

หลักการนี้ข้าพเจ้าเห็นควรนำมาใช้ได้

[๓] ลักษณะปกครองธนาคาร

๘. ในประเทศที่ธนาคารกลางเป็นของรัฐ เช่น โซเวียตรัสเซีย รัฐมนตรีคลังเป็นผู้ควบคุมทั่วไป และมีคณะกรรมการเป็นผู้ดำเนินงาน แต่มีเงื่อนไขว่าถ้านายกกรรมการไม่เห็นพ้องด้วยกับความเห็นกรรมการส่วนมาก รัฐมนตรีคลังเป็นผู้วินิจฉัย ในบัลกาเรียมีกรรมการคณะหนึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมนโยบาย ส่วนการดำเนินงานเป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยกลาง และกิจการซึ่งอยู่ในหน้าที่คณะกรรมการควบคุมนั้น ผู้อำนวยการก็ปฏิบัติไปได้ หากแต่ต้องได้รับสัตยาบันจากคณะกรรมการควบคุม

สำหรับธนาคารกลางที่จะตั้งขึ้นใหม่ เห็นว่าถ้ากำหนดลักษณะปกครองตามแนวของธนาคารบัลกาเรีย แต่ให้รัฐมนตรีคลังเป็นผู้ควบคุมทั่วไปด้วยก็จะเป็นการสมควร กล่าวคืองานจะได้ดำเนินได้สะดวกรวดเร็วและมีการควบคุมแข็งแรงพอ

[๔] เงินทุน

๙. เงินทุนของธนาคารกลางมีไว้เพื่อประโยชน์สองประการ คือ (๑) เพื่อก่อให้เกิดความเชื่อถือ และถ้าธนาคารได้รับความเสียหาย ก็อาจจะต้องควักทุนมาจ่ายในการชำระหนี้ (๒) เพื่อเป็นทุนสำหรับกิจการที่ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับตลาดเงิน (ซึ่งจะกล่าวต่อไปในข้อ ๑๔) แต่ในเรื่องเงินทุนนี้คณะกรรมาธิการเงินตราและการคลังที่อังกฤษตั้งขึ้นพิจารณากิจการในอินเดีย (Royal Commission on Indian Currency and Finance, 1925-6) เคยเสนอไว้ว่า ธนาคารกลางไม่จำเป็นและไม่ควรมีทุนเป็นจำนวนมากมายนัก เพราะถ้ามีทุนมากมายเกินไป เงินอาจนอนอยู่เปล่า หรือมิฉะนั้นธนาคารอาจเอาไปใช้ในกิจการที่ไม่เหมาะสม แบงก์ออฟอิงแลนด์มีทุนเพียง ๑๔.๕ ล้านปอนด์ก็ถือกันว่าเป็นจำนวนมากมายแล้ว

เมื่อตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทยได้ให้เงินทุนไป ๑๐ ล้านบาท จ่ายจากกำไรที่ได้รับเนื่องจากการซื้อทองคำเมื่อ ๒๔๘๒ แต่เวลานี้สำนักงานธนาคารชาติไทยมีเงินถูกกักในประเทศอังกฤษ ๑๐ ล้านบาทเศษ จึ่งนับว่าทุนที่มีอยู่นั้นหมดสิ้นไปแล้ว ฉะนั้นเมื่อจะตั้งธนาคารกลางขึ้น รัฐบาลจะต้องหาทุนให้ใหม่

ในชั้นต้นนี้เห็นควรกำหนดเงินทุนไว้เพียง ๑๐ ล้านบาท แต่ให้มีบทบัญญัติว่าถ้าจำเป็นก็ให้เพิ่มได้อีกไม่เกิน ๑๐ ล้านบาท รวมเป็น ๒๐ ล้านบาท ซึ่งน่าจะเป็นจำนวนพอเพียงไปก่อน

[๕] เงินสำรอง

๑๐. การสะสมเงินสำรองเป็นการสำคัญยิ่งสำหรับธนาคารกลาง เพราะถ้าธนาคารกลางต้องล้มก็จะเกิดความเสียหายมาก วัตถุประสงค์แห่งการตั้งธนาคารกลางมิได้อยู่ที่การหากำไร ในบางประเทศเช่นชิลีและอัฟริกาใต้ มีบทบัญญัติว่า ธนาคารกลางต้องสะสมเงินสำรองให้ได้เท่าเงินทุน ในโปแลนด์ ธนาคารกลางต้องมีเงินสำรองร้อยละ ๕๐ ของทุน กฎหมายตั้งธนาคารกลางในอินเดีย (ซึ่งเป็นธนาคารกลางใหม่ที่สุด ตั้งเมื่อ ค.ศ. ๑๕๓๔) บัญญัติว่าตราบใดที่เงินสำรองยังต่ำกว่าทุน ก็ต้องนำกำไรจำนวนสุทธิส่งเข้าเป็นเงินสำรองเสียก่อน เว้นไว้แต่ปีใดกำไรสุทธิสูงกว่า ๕ ล้านรูปี (คือ ๑ ใน ๑๐ ของทุน) จึ่งจะนำจำนวนที่สูงกว่านั้นไปจ่ายได้เป็นเงินปันผล

หลักของอินเดียนั้นข้าพเจ้าเห็นเหมาะดีแล้ว

[๖] การตรวจบัญชี

๑๑. การตรวจบัญชีเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมธนาคาร จึ่งควรมีบทบัญญัติทำนองเดียวกันกับกฎหมายประเทศอื่น ๆ

[๗] การจำหน่ายธนบัตรและทุนสำรองและทุนสำรอง

๑๒. เพื่อให้ธนาคารกลางทำการได้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งขึ้น ประเทศต่าง ๆ จึ่งให้ธนาคารกลางมีสิทธิจำหน่ายธนบัตรได้แต่ผู้เดียว และในการนี้ก็มีบทบัญญัติไว้โดยละเอียดว่าด้วยวิธีเงินตรา กำหนดอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบธนาคารกลางไว้ชัดเจน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือรวมกฎหมายเงินตราเข้าไว้ในกฎหมายตั้งธนาคารกลาง

วิธีเงินตราไทยเวลานี้นับว่าเป็นวิธีชั่วคราว เมื่อก่อนสงครามทางตะวันออกเงินตราไทยโยงกับปอนด์สเตอร์ลิง เพราะการค้าส่วนมากทำกับประเทศในจักรวรรดิบริติช และลอนดอนเป็นแหล่งกลางแห่งการเงินทางตะวันออกแถบนี้ เมื่อเสร็จสงครามครั้งนี้แล้วการค้าของไทยจะมีลักษณะอย่างไรก็ต้องแล้วแต่ผลแห่งสงคราม และวิธีเงินตราจะกำหนดแน่นอนลงไปอย่างไรก็ต้องแล้วแต่การค้าเป็นใหญ่ ทั้งการกำหนดค่าแห่งเงินตราไทยก็จะต้องคำนึงถึงค่าแห่งเงินของประเทศที่เป็นคู่แข่งในการค้า

เพราะขณะนี้ยังกำหนดวิธีเงินตราลงไปแน่นอนมิได้ จึ่งเห็นควรบัญญัติให้นำกฎหมายเงินตราที่ใช้อยู่ในขณะนี้มาใช้ไปก่อนโดยอนุโลมตามควร

อนึ่ง เพื่อความมั่นคงแห่งเงินตรา การจำหน่ายธนบัตรจะต้องแบ่งแยกออกต่างหากจากกิจธุระอื่น ๆ ของธนาคาร เช่นเดียวกับที่เป็นอยู่ในต่างประเทศ

[๘] กิจธุระที่ต้องทำให้รัฐบาล

๑๓. ในการปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่จัตตั้งขึ้น ธนาคารกลางย่อมต้องเป็นธนาคารของรัฐบาลด้วย เพราะเงินของรัฐบาลมีเป็นจำนวนมาก ถ้าไม่อยู่ในมือธนาคารกลางเสียแล้ว ธนาคารกลางจะไม่สามารถควบคุมเครดิตได้เลย กฎหมายในประเทศอื่น ๆ จึ่งบัญญัติให้ธนาคารกลางมีหน้าที่รับเงินและจ่ายเงินของรัฐบาล จัดการเงินของรัฐบาลในต่างประเทศ และจัดการเรื่องเงินกู้ของรัฐบาล หลักการอันนี้จะต้องนำมาใช้ด้วย

[๙] กิจธุระที่จะทำกับธนาคารอื่นๆ

๑๔. หน้าที่สำคัญอันหนึ่งของธนาคารกลางก็คือ ช่วยเหลือส่งเสริมธนาคารอื่น ๆ ปฏิบัติเป็นธนาคารของธนาคารทั้งหลาย จึ่งมีหลักทั่วไปว่าธนาคารกลางต้องไม่ทำการแข่งหรือแย่งธนาคารอื่น ๆ เป็นอันขาด ในกฎหมายของเมืองต่างประเทศมีบทบัญญัติไว้ชัดเจนว่าให้ธนาคารกลางประกอบบกิจการใดได้บ้าง และกิจการใดต้องห้ามมิให้ทำเลย

เมื่อคำนึงถึงหลักทั่วไปที่กล่าวนี้ ธนาคารกลางที่จะตั้งขึ้นจึ่งควรประกอบกิจธุระดั่งหัวข้อใหญ่ ๆ ต่อไปนี้

(ก) อำนวยความสะดวกแก่การค้าภายในประเทศโดยให้ธนาคารอื่นๆ กู้ยืมเงิน (ไม่ให้บุคคลอื่น ๆ กู้ยืมได้โดยตรง) ใช้วิธี rediscount หรือให้เบิกเงินเกินบัญชี

(ข) อำนวยความสะดวกแก่การค้ากับต่างประเทศ โดยการซื้อตั๋วเงินต่างประเทศที่ธนาคารอื่นสลักหลังแล้ว (ไม่ซื้อจากบุคคลอื่น ๆ โดยตรง)

ในที่นี้ข้าพเจ้าใคร่ขอเสนอด้วยว่า การบังคับมิให้ธนาคารกลางทำกิจธุระกับพ่อค้าประชาชนโดยตรงนั้น นอกจากเหตุที่ว่าจะมิให้แข่งแย่งกับธนาคารอื่นๆ แล้ว ยังมีเหตุสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ เงินที่ธนาคารกลางจะใช้ในการประกอบกิจธุระนั้น ส่วนมากจะเป็นเงินที่รัฐบาลฝาก เงินฝากนี้รัฐบาลอาจต้องถอนเป็นจำนวนมาก ๆ ในทันทีเมื่อไร ๆ ก็ได้สุดแล้วแต่ราชการ เมื่อธนาคารกลางจะนำไป ใช้หาผลประโยชน์ก็ต้องทำแต่ในทางที่จะเรียกกลับได้แน่นอนและรวดเร็ว การที่จะให้บริษัทห้างร้านกู้ยืมได้นั้นโดยปกติจะเรียกเงินกลับคืนโดยเร็วมิได้

[๑๐] การรับเงินฝาก

๑๕. นอกจากรับฝากเงินของรัฐบาล ควรมีบทบัญญัติให้ธนาคารต่าง ๆ ต้องฝากเงินสำรองของตนที่ธนาคารกลางด้วย เพื่อธนาคารกลางมีทางควบคุมเครดิตและเงินตราที่จำหน่าย ส่วนการรับฝากเงินของบุคคลธรรมดานั้นโดยปกติธนาคารกลางไม่ควรทำ เพื่อมิให้เป็นการแข่งแย่งกับธนาคารอื่นๆ อีกประการหนึ่งถ้าธนาคารกลางประกอบกิจธุระดั่งกล่าวในข้อ ๑๔ คือให้ธนาคารอื่นๆ กู้ยืมเงินโดยเสียดอกเบี้ยอัตราต่ำ ธนาคารกลางจะแข่งแย่งกับธนาคารอื่น ๆ ในการรับฝากเงินไม่ได้อยู่เอง เพราะจะไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยได้ในอัตราสูง

[๑๑] สาขาหรือตัวแทนในประเทศไทย

๑๖. สำหรับกิจการบางอย่างในเวลานี้ สำนักงานธนาคารชาติไทยใช้คลังจังหวัดเป็นตัวแทนอยู่แล้ว ธนาคารกลางก็คงต้องปฏิบัติเช่นเดียวกันไปก่อน จนกว่าจะเห็นสมควรเปิดสาขาขึ้นที่ใด จึงเลิกใช้คลังจังหวัดในท้องที่นั้น

[๑๒] สาขาหรือตัวแทนในต่างประเทศ

๑๗. เมื่อจะให้ธนาคารกลางจัดการรับจ่ายเงินของรัฐบาลทางต่างประเทศ ธนาคารกลางก็จะต้องมีเงินต่างประเทศอยู่ด้วย และอีกประการหนึ่งถ้าธนาคารกลางประกอบกิจธุระดั่งกล่าวในข้อ ๑๔ (ข) คือซื้อตั๋วเงินต่างประเทศที่ธนาคารอื่นสลักหลังแล้ว ธนาคารกลางก็จะได้รับเงินตราต่างประเทศเข้ามา จึ่งจะต้องมีตัวแทนในเมืองต่างประเทศด้วย และเมื่อการเงินติดต่อกับประเทศใดมากก็อาจต้องเปิดสาขาขึ้นในประเทศนั้น จึงควรมีบทบัญญัติให้เปิดสาขาต่างประเทศได้ และกำหนดหน้าที่ของสาขานั้นไว้

[๑๓] กิจการอื่นๆ

๑๘. นอกจากที่กล่าวแล้วในข้อ ๑๔ ควรมีบทบัญญัติให้ธนาคารกลางทำกิจธุระอื่นๆ ซึ่งเป็นกิจธุระธรรมดาของธนาคารกลางทั่วไปด้วย

[๑๔] ชื่อธนาคาร

๑๙. เมื่อคราวตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทย ได้ดำริไว้ว่าธนาคารกลางที่จะตั้งขึ้นนั้นจะให้ชื่อว่า “ธนาคารชาติไทย” แต่ชื่อนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวแก่ความพอใจ ถ้าดูตัวอย่างในเมืองต่างประเทศก็ปรากฏว่าเรียกต่าง ๆ กัน นอกจาก Bank of England, Bank of Japan ซึ่งเป็นที่รู้จักกันแล้ว ก็ยังมีชื่อต่างๆ อีก เช่น National Bank of Belgium, Central Bank of Chile, Central Reserve Bank of Peru, Reserve Bank of India, State Bank (ของรัสเซีย) เป็นต้น

๒๐. ข้อความที่ได้เสนอมข้างบนนี้เป็นเพยงเค้าโครงแห่งธนาคารกลาง ซึ่งได้ร่างขึ้นโดยอาศัยตำราและกฎหมายธนาคารกลางในเมืองต่างประเทศเป็นหลัก ประกอบกับรายงานของเสอร์ เบอร์นาร์ด ฮันเตอร์ ผู้เชี่ยวชาญการธนาคารซึ่งกระทรวงการคลังจ้างมาชั่วคราว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘

๒๐. ในที่สุดนี้ข้าพเจ้าขอถือโอกาสเสนอด้วยว่า การธนาคารกลางย่อมเป็นเท็คนิคพิเศษโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ซึ่งข้าพเจ้ารู้ตัวอยู่ว่าไม่มีความรู้พอ ที่ปรึกษาการคลังคนเก่าผู้หนึ่ง (นาย เจมส์ แบกสเตอร์) ได้เคยชี้แจงเสนอว่า บรรดาประเทศในยุโรป อเมริกาใต้ และอัฟริกา ซึ่งได้ตั้งธนาคารกลางขึ้นใหม่ ๆ นั้น ทุกประเทศได้จ้างผู้เชี่ยวชาญไปจัดตั้ง และได้รับคำปรึกษาจากแบงก์ออฟอิงแลนด์ด้วยโดยตลอด เพราะเป็นที่รับรองกันว่า แบงก์ออฟอิงแลนด์เป็นบ่อเกิดแห่งความรู้ความชำนาญในเรื่องธนาคารกลาง เมื่อเราจะจัดตั้งธนาคารกลางกันขึ้นเองก็คงต้องมีข้อบกพร่องเฉพาะอย่างยิ่งในตอนต้น ๆ จึ่งเป็นการจำเป็นที่จะต้องมีเจ้าหน้าที่ที่สามารถ เพื่อจะได้คิดอ่านแก้ไขได้เป็นลำดับ เสอร์ เบอร์นาร์ด ฮันเตอร์ ได้เคยเสนอไว้ว่า บุคคลที่จะใช้นั้นควรมีคุณวุฒิที่จำเป็นมากและน้อย เรียงตามลำดับต่อไปนี้ คือความสุจริต ความรู้จักอุปนิสัยของคน ความรู้กว้าง ๆ ทั่ว ๆ ไปและ common sense และความรู้ทางทฤษฎีแห่งการธนาคาร.

๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๕.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ