๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๕

ธนาคารแห่งประเทศไทย

๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๕

เรียน ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

๑. ผมขอเสนอบันทึกมา ๒ ฉบับ คือ

(๑) เรื่องที่ได้ปรึกษาหารือกันกับท่านนายกรัฐมนตรี

(๒) ความเห็นของผมว่าในขณะนี้คลังมีทางดำเนินการอยู่ ๔ ทาง จะเลือกเอาทางใดก็แล้วแต่จะเห็นควร

๒. เรื่องการเลือกทาง (บันทึก ๒) นั้น ผมเห็นควรมีการปรึกษาหารือกันกับผู้ว่าการธนาคารชาติอีกครั้ง เมื่อตกลงเลือกเอาทางใดแน่แล้ว ธนาคารชาติจะได้ตั้งหน้าดำเนินการไปได้ ประเด็นที่ควรปรึกษาหารือกันนั้นมีว่า

(๑) จะมีทางอื่นใดอีกนอกจาก ๔ ทางที่เสนอมานั้นหรือไม่

(๒) จะควรเลือกเดินทางใด

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง

(ลงพระนาม) วิวัฒน

(พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย)

----------------------------

บันทึก (ฉบับที่ ๓)

เรื่อง การปริวรรตเงินต่างประเทศ

คำนำ

๑. ในการปรึกษาหารือกันเรื่องการปริวรรตเงิน ปรากฏว่าท่านนายกรัฐมนตรีมีความประสงค์ที่เป็นข้อใหญ่ ๆ ๔ ประการ คือ

(ก) จะให้ค่าของเงินต่างประเทศลดลงเมื่อเทียบกับเงินไทย

(ข) จะให้ค่าครองชีพลดลง

(ค) จะไม่ให้มีการเอาเงินต่างประเทศซึ่งประเทศไทยได้รับมานั้นไปใช้เพื่อประโยชน์ของประเทศอื่น

และ (ง) ไม่จำเป็นต้องสะสมเงินต่างประเทศเป็นทุนสำรองเพิ่มขึ้นอีก

ในบันทึกฉบับนี้จึ่งจะพิจารณาความประสงค์ ๔ ข้อนั้น ว่า (๑) แต่ละข้อมีทางจัดให้ได้ผลตามที่ประสงค์เพียงใด และ (๒) เพื่อให้ได้ผลตามที่กล่าวนั้นก็จะควรดำเนินตามวิธีการใด

ความประสงค์ข้อ (ก)

เรื่องค่าของเงินต่างประเทศ

๒. ในตลาดที่เป็นเสรี อัตราแลกเปลี่ยนเงินพื้นเมืองเป็นเงินต่างประเทศย่อมเป็นประดุจกลไกที่กระทำให้อุปทาน (supply) และอุปสงค์ (demand) ของเงินต่างประเทศต้องมีปริมาณเท่าเทียมกันอยู่เป็นนิตย์ เช่นในกรณีที่อุปทานเงินต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ค่าของเงินต่างประเทศก็จะลดลงจนกว่าอุปสงค์จะเพิ่มขึ้นเท่าทันอุปทานที่ได้เพิ่มขึ้นนั้น และในทางตรงข้าม ถ้าอุปทานเงินต่างประเทศลดลง ค่าของเงินต่างประเทศจะสูงขึ้นจนกว่าอุปสงค์จะลดลงเท่าทันอุปทานที่ได้ลดลงนั้น ฉะนั้น ในตลาดเงินอันเป็นเสรี อัตราแลกเปลี่ยนเงินจึ่งขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่เป็นปกติ ความจริงอันนี้จะเห็นได้จากตัวเลขในข้อต่อ ๆ ไป

๓. ในระยะเวลา ๓ ปีที่แล้วมา (พ.ศ. ๒๔๙๒-๙๔) อุปทานเงินปอนด์ในตลาดเสรีได้เพิ่มขึ้นมาเป็นลำดับ ค่าของปอนด์จึ่งได้ลดลงเป็นลำดับ เพื่อให้อุปสงค์เพิ่มขึ้นเท่าเทียมกับอุปทาน ดั่งแจ้งต่อไปนี้

พ.ศ. อุปทานในตลาดเสรี อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยรายเดือน บาทต่อหนึ่งปอนด์ อุปสงค์ในตลาดเสรี
  ล้านปอนด์ ต่ำ สูง ล้านปอนด์
2492 39 62.31 57.15 37
2493 44 58.09 55.19 42
2494 56 56.96 52.28 57

ในระยะเวลา ๓ ปีที่กล่าวนั้น (๒๔๙๒-๙๔) ธนาคารแห่งประเทศไทยได้บังคับซื้อปอนด์ไว้มาก และแม้ได้ขายให้ตลาดไปไม่น้อยก็ยังมีคงเหลืออยู่อีกมาก ถ้าปล่อยปอนด์เข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอีก คือเพิ่มอุปทานในตลาดเสรีขึ้น ค่าของปอนด์ก็จะต้องลดต่ำลงไปอีก

๔. แต่ค่าของดอลลาร์ในระยะเวลา ๓ ปี นั้น (๒๔๙๒-๙๔) ขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่ หาได้ลดลงเป็นลำดับเหมือนปอนด์ไม่ และเมื่อตรวจดูตัวเลขแล้วก็ปรากฏว่าใน ๒๔๙๒ และ ๒๔๙๓ นั้นอุปทานในแต่ละปีมีปริมาณใกล้กัน และเพิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อ ๒๔๙๔ นี้เอง ดั่งตัวเลขต่อไปนี้

พ.ศ. อุปทานในตลาดเสรี อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยรายเดือน บาทต่อหนึ่งดอลลาร์ อุปสงค์ในตลาดเสรี
  ล้านดอลลาร์ ต่ำ สูง ล้านดอลลาร์
2492 72 22.94 19.83 73
2493 70 23.71 21.49 69
2494 98 22.48 20.53 93

ในระยะเวลา ๓ ปีนั้นนาคารแห่งประเทศไทยได้บังคับซื้อดอลลาร์ไว้มากเหมือนกัน แต่ได้ขายให้ตลาดเฉพาะเป็นค่าสินค้า ๒-๓ อย่าง (เช่นน้ำมัน) ดอลลาร์จึ่งคงเหลืออยู่่มาก ถ้าเพิ่มอุปทานในตลาดเสรีค่าของดอลลาร์ก็จะลดลงเหมือนกัน

๕. ฉะนั้น ความประสงค์ในข้อที่จะให้ค่าของเงินตราต่างประเทศลดลงเมื่อเทียบกับเงินไทยย่อมมีทางสำเร็จได้ด้วยอุบายเพิ่มอุปทานเงินต่างประเทศในตลาด

ความประสงค์ข้อ ข.

เรื่องค่าครองชีพ

๖. เหตุที่กระทำให้ค่าครองชีพแพงขึ้นนั้นย่อมมีได้หลายประการ และปริมาณของเงิน (คือธนบัตร และเครดิตธนาคาร) ก็เป็นเหตุที่สำคัญมากประการหนึ่ง กล่าวคือ เมื่อปรมาณของเงินเพิ่มขึ้น ความต้องการซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคก็เพิ่มขึ้นตามส่วน ราคาสินค้าจึงแพงขึ้น และค่าแรงงานก็สูงขึ้นตามไป ความจริงข้อนี้ย่อมเป็นที่ประจักษ์อยู่แล้ว เฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดปักษ์ใต้ในขณะนี้

๗. ข้าพเจ้าได้เสนอไว้แล้วในบันทึกเรื่องการปริวรรตเงินต่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) ลงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๔๙๕ ว่าปริมาณของเงินได้เพิ่มขึ้นมากมายและรวดเร็วเพราะเหตุ ๒ ประการ คือ การบังคับซื้อเงินต่างประเทศประการหนึ่ง และการขยายเครดิตธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลอีกประการหนึ่ง ทั้งนี้มีความพิสดารในบันทึกฉบับนั้นแล้ว แต่เพื่อความสะดวกจึ่งจะนำตัวเลขที่สรุปลงแล้วมาเสนออีกครั้ง

๑ ม.ค. ๙๑ - ๓๐ พ.ย. ๙๔ (๓ ปี ๑๑ เดือน)

เหตุที่กระทำให้ปริมาณของเงินต้องเพิ่มขึ้น ปริมาณที่เพิ่ม คิดเป็นส่วนร้อยของปริมาณที่เพิ่ม
  ล้านบาท ร้อยละ
(ก) การบังคับซื้อเงินต่างประเทศ (จำนวนสุทธิ) ๘๗๔ ๓๕
(ข) การขยายเครดิตธนาคารแห่งประเทศไทย ๑,๑๒๕ ๔๕
(ค) เหตุอื่น ๆ ๔๘๔ ๒๐
  ๒,๔๘๓ ๑๐๐

๘. เมื่อค่าครองชีพแพงขึ้นเพราะเหตุหลายประการ ความประสงค์ที่จะให้ค่าครองชีพลดลงจึ่งจะสำเร็จได้ยากที่สุด ข้าพเจ้าจึ่งใคร่เสนอว่าในชั้นนี้ถ้ายับยั้งไว้มิให้แพงขึ้นไปอีกได้ก็จะเป็นบุญคุณแก่ประชาชนเป็นหนักหนาอยู่แล้ว และโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการเงินนั้นการยับยั้งมิให้ปริมาณของเงินเพิ่มขึ้นมากรวดเร็วก็มีทางกระทำได้ ดั่งจะเสนอต่อไปในตอนปลายแห่งบันทึกนี้

ความประสงค์ข้อ ค.

เรื่องการใช้เงินต่างประเทศ

๙. ประเด็นที่พึงพิจารณาในข้อนี้คือ การที่จะเอาเงินต่างประเทศซึ่งประเทศไทยได้รับไปใช้เพื่อประโยชน์ในเมืองต่างประเทศนั้น จะกระทำได้ด้วยอุบายอย่างใดบ้าง เมื่อพิเคราะห์ดูแล้วก็เห็นว่าบุคคลในเมืองต่างประเทศจะเอาเงินต่างประเทศ (เช่นดอลลาร์) ที่เป็นของไทยไปใช้ได้ก็ด้วยการแลกเปลี่ยนกันไม่โดยตรงก็ทางอ้อม คือ (๑) แลกเปลี่ยนกับสินค้า (๒) แลกเปลี่ยนกับบริการ และ (๓) แลกเปลี่ยนกับเงินต่างประเทศอย่างอื่นที่ประเทศไทยใช้ได้ (เช่นปอนด์)

๑๐. การแลกเปลี่ยนกับสินค้าเป็นเรื่องธรรมดา และถ้ามีสินค้าชนิดใดที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นของไม่พึงประสงค์ก็อาจจะห้ามหรือจำกัดการนำเข้ามาได้ การแลกเปลี่ยนกับบริการก็เป็นเรื่องธรรมดาเช่นกัน ฉะนั้น จึ่งจะพิจารณาแต่เฉพาะเรื่องการแลกเปลี่ยนกับเงินต่างประเทศอย่างอื่น เช่นเอาปอนด์มาแลกเปลี่ยนเป็นดอลลาร์ไปเป็นต้น

๑๑. ในปัจจุบันนี้ดอลลาร์มีลักษณะเป็นเงินตราระหว่างประเทศ เพราะเรียกได้ว่าใช้ได้ทั่วโลก ปอนด์สเตอร์ลิงก์ก็มีลักษณะเป็นเงินตราระหว่างประเทศเหมือนกัน เพราะใช้ได้ในเขตสเตอร์ลิงก์อันเป็นเขตกว้างขวางใหญ่โต และในอีกบางประเทศนอกเขตนั้นด้วย ฉะนั้น ในบรรดาตลาดที่เป็นเสรีซึ่งรวมทั้งกรุงเทพ ฯ ด้วย จึ่งมีการแลกเปลี่ยนปอนด์เป็นดอลลาร์และดอลลาร์เป็นปอนด์ การแลกเปลี่ยนโดยเสรีย่อมเป็นประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ประโยชน์การแลกเปลี่ยนจะเกิดขึ้นหาได้ไม่ เช่นถ้าสมมติว่าบุคคลในประเทศไทยไม่ต้องการปอนด์เลยก็จะไม่มิใครเอาปอนด์มาแลกเป็นดอลลาร์ไปได้

๑๒. อีกประการหนึ่งฮ่องกงเป็นตลาดที่ทำการติดต่อกับกรุงเทพ ฯ อย่างใกล้ชิด ค่าของดอลลาร์เมื่อเทียบกับปอนด์นั้นถ้าในกรุงเทพ ฯ ถูกกว่าที่ฮ่องกงในขณะใด ฮ่องกงก็ซื้อดอลลาร์ในกรุงเทพ ฯ แต่ถ้าในขณะใดดอลลาร์ในกรุงเทพ ฯ แพงกว่าที่ฮ่องกง กรุงเทพ ฯ ก็ซื้อดอลลาร์ที่ฮ่องกง และเพราะเหตุที่ซื้อขายกันได้ดั่งกล่าวนี้อัตราแลกเปลี่ยนปอนด์กับดอลลาร์ในกรุงเทพ ฯ โดยปกติจึ่งอยู่ในระดับเดียวกันกับที่ฮ่องกง ดั่งจะเห็นได้จากตัวเลขที่เสนอเป็นตัวอย่างในใบแนบท้ายนี้ อนึ่ง ตัวเลขที่แสดงว่าอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในระดับเดียวกันเช่นนี้ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าไม่มีการถ่ายเทเอาดอลลาร์ไปจากกรุงเทพ ฯ แต่ทางเดียว เพราะการถ่ายเทเช่นนี้จะมีได้ก็ต่อเมื่อดอลลาร์ในกรุงเทพ ฯ ถูกกว่าที่ฮ่องกงอยู่เป็นนิตย์ และต้องถูกกว่ากันจนคุ้มค่าใช้จ่ายในการถ่ายเทนั้นด้วย

๑๓. อนึ่ง ในเวลานี้ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังอาศัยอำนาจในกฎหมายฉบับหนึ่งทำการอันมีลักษณะเป็นการจดทะเบียนว่าประเทศไทยได้เงินต่างประเทศสกุลใดเท่าใด และเงินต่างประเทศที่ได้มานั้นจ่ายเป็นสินค้าหรือค่าบริการใดเท่าใด แต่นี้ไปก็จะได้ข้อเท็จจริงเรื่องการใช้เงินต่างประเทศดียิ่งขึ้นอีก

ความประสงค์ข้อ ง. เรื่องทุนสำรอง

๑๔. การบังคับซื้อปอนด์และดอลลาร์ที่กระทำอยู่ในขณะนี้มีจุดประสงค์ที่จะสะสมเงินต่างประเทศไว้เป็นทุนสำรอง แต่ในบัดนี้ทุนสำรองส่วนที่เป็นเงินต่างประเทศก็มีจำนวนพอเพียงแล้ว จึ่งไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสะสมต่อไป และถ้าเลิกการบังคับซื้อแล้วก็จะได้ผลสมความประสงค์

วิธีปฏิบัติให้ได้ผลตามความประสงค์

๑๕. ข้อความที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้ สรุปลงได้ว่า ความประสงค์ของท่านนายกรัฐมนตรีนั้นมีทางที่จะจัดให้เป็นผลได้ไม่มากก็น้อย ตามวิธีการที่จะกล่าวต่อไป คือ ในประการแรกควรเลิกการบังคับซื้อเงินต่างประเทศ และเมื่อเลิกแล้วอุปทาน (supply) ของปอนด์และดอลลาร์ในตลาดจะมีเพิ่มขึ้น ค่าของบาทจึ่งจะสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปอนด์และดอลลาร์ อนึ่ง เมื่อเลิกการบังคับซื้อแล้วธนาคารแห่งประเทศไทยจะไม่มีความจำเป็นต้องออกธนบัตรเป็นจำนวนมากเช่นในเวลานี้ และฝ่ายรัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายข้าว เพราะจะได้รับเงินบาทในอัตราตลาด รายได้ที่จะเพิ่มขึ้นนี้เมื่อรวมกับที่จะได้เพิ่มจากภาษีบางประเภทก็น่าจะเป็นจำนวนใกล้เคียงกันกับรายจ่ายประเภทลงทุน ฉะนั้น การขยายเครดิตธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อการจ่ายลงทุนก็ควรจะเลิกได้ด้วย เมื่อธนาคารไม่ต้องออกธนบัตรจำนวนมากเป็นค่าซื้อปอนด์และดอลลาร์ และไม่มีการขยายเครดิตธนาคารเพื่อรายจ่ายแล้ว ปริมาณของเงินก็จะไม่เพิ่มขึ้นมากมายและรวดเร็วเช่นที่แล้วมา เหตุสำคัญอันหนึ่งที่ได้ช่วยกระทำให้ค่าครองชีพแพงขึ้นนั้นก็จะหมดไป ทั้งนี้ได้เสนอไว้โดยพิสดารในบันทึกลงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๔๙๕ นั้นแล้ว

๑๖. อนึ่ง วิธีการที่กล่าวข้างบนนี้ย่อมเป็นงานขั้นสุดท้ายก่อนการจัดให้ค่าของบาทเป็นเสถียรภาพ คือเมื่อเลิกการกักเงินต่างประเทศจำนวนหนึ่งไว้ในธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว อัตราปริวรรตเงินในตลาดจะขึ้น ๆ ลง ๆ อย่างไรก็ตาม แต่ก็จะต้องเลื่อนเข้าสู่ระดับอันนับว่าเป็นธรรมชาติ และเมื่อถึงขั้นนี้แล้วก็จะตึงค่าของบาทไว้ให้ยืนที่ได้ เพราะการตรึงค่าให้ยืนที่อยู่นั้นจะสำเร็จก็ต่อเมื่อตรึงไว้ในอัตราอันนับเป็นธรรมชาติ.

๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๕

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ