- คำนำ
- ลายพระหัตถ์ หม่อมเจ้าหญิง พัฒน์คณนา ไชยันต์
- พระประวัติ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย
- สดุดีพระเกียรติ
- การตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย
- บันทึกเรื่องการตั้งธนาคารกลาง
- – เรื่อง การตั้งธนาคารกลาง (CENTRAL BANK)
- –– ใบแนบ 1
- –– ใบแนบ 2
- ร่างพระราชบัญญัติธนาคารชาติแห่งประเทศไทย
- บันทึกคำอธิบายร่างพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย
- เรื่อง การบังคับธนาคารต่างๆให้มีเงินฝากในธนาคารกลาง
- – 1. Royal Commission on Indian Currency and Finance
- – 2. Sir Otto Niemeyer, (Report on Re-organization of Brazilian National Finance)
- – 3. CENTRAL BANKS. (Sir Cecil Kisch & W.A. Elkin.)
- THE BANK OF THAILAND
- การควบคุมการปริวรรตเงิน
- การควบคุมเครดิต
- การควบคุมธนาคารพาณิชย์
- เสถียรภาพแห่งค่าของเงินบาท
- เรื่อง กันเงินเฟ้อ (ANTI-INFLATION)
- เรื่องธนบัตรขาดแคลน
- – เรื่อง ธนบัตรอาจขาดมือ
- – โครงการ บัตรเงินสด
- – โครงการตัดธนบัตรเป็นสองท่อน
- เรื่อง สถานการณ์การคลังและการเงินปัจจุบัน
- – สถานการณ์คลังปัจจุบัน
- – สถานการณ์เงินปัจจุบัน
- เรื่อง อัตราแลกเปลี่ยนเงิน
- นโยบายการเงิน
- บันทึกเรื่อง การปริวรรตเงินต่างประเทศ
- – ๑๕ มกราคม ๒๔๙๕
- – ๓๑ มกราคม ๒๔๙๕
- – ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๕
- Memorandum, 28 March 1952 (2495)
- ระบบเงินตรา
บันทึกคำชี้แจงทั่วไปเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. เงินตรา พ.ศ....
ระบบใน พ.ร.บ. ๒๔๗๑
๒. ระบบเงินตราที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. ๒๔๗๑ และในพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมต่อๆ มา (ซึ่งต่อไปนี้จะรวมเรียกโดยย่อว่า พ.ร.บ. ๒๔๗๑) เป็นระบบที่ต้องด้วยแบบที่เรียกว่า Sterling Exchange Standard คือได้กำหนดค่าของเงินบาทเทียบกับสเตอร์ลิงก์ และเพื่อรักษาค่าของเงินบาทไว้ให้ยืนที่เท่าที่กำหนด (๑๑ บาทต่อปอนด์) กฎหมายจึ่งบังคับรัฐมนตรีคลัง ให้ต้องซื้อหรือขายปอนด์โดยไม่จำกัดจำนวนในอัตรา ๑๑ บาทต่อหนึ่งปอนด์ และในทันทีที่มีผู้เสนอขายหรือซื้อ อนึ่ง เพื่อให้รัฐมนตรีปฏิบัติการเช่นว่านี้ได้จึ่งมีบทบัญญัติให้มีทุนสำรองเงินตราขึ้นไว้กองหนึ่ง ทุนสำรองนี้ให้ประกอบด้วยทองคำหรือปอนด์ อนึ่ง เจ้าหน้าที่จะออกธนบัตรไม่ได้เว้นไว้แต่จะแลกเปลี่ยนกับทองคำหรือปอนด์มีราคาเท่ากัน ทองคำหรือปอนด์นั้นต้องส่งเข้าทุนสำรอง และเจ้าหน้าที่จะจ่ายทุนสำรองไม่ได้เว้นไว้แต่จะแลกเปลี่ยนกับธนบัตรจำนวนเท่ากัน และธนบัตรนั้นต้องถอนกลับคืนเข้ามาจากธนบัตรออกใช้ สาระสำคัญของระบบที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. ๒๔๗๑ มีเช่นว่ามานี้
ระบบชั่วคราว
๓. ระบบใน พ.ร.บ. ๒๔๗๑ นั้น เมื่อเกิดสงครามแล้วก็ได้มิการแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งได้กระทำโดยออกกฎกระทรวง ตามอำนาจในพระราชบบัญญัติเงินตราในภาวะฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๔๘๔ และพระราชบัญญัติระบบเงินตราชั่วคราว ๒๔๘๙ แต่เป็นการแก้ไขชั่วคราว และเมื่อหมดอายุแล้วจะต้องกลับใช้ระบบใน พร.บ. ๒๔๗๑ อีก (ระบบที่แก้ไขเพิ่มเติมนี้ ต่อไปนี้จะเรียกโดยย่อว่าระบบชั่วคราว)
๔. ระบบชั่วคราวที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ได้ยกเลิกการเทียบค่าของบาทกับสเตอร์ลิงก์ แต่ยังไม่ได้เทียบกับทองคำตามข้อผูกพันกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ที่เทียบไว้แล้วก็เฉพาะเพื่อการตีราคาสินทรัพย์ในทุนสำรองเท่านั้น) จึ่งไม่มีบทบัญญัติให้เจ้าหน้าที่เงินตราต้องรักษาค่าแลกเปลี่ยนของเงินบาท ไม่มีการบังคับให้ต้องซื้อหรือขายทองคำหรือเงินต่างประเทศใดๆ แต่บทบัญญัติในระบบ พ.ร.บ. ๒๔๗๑ ซึ่งมีว่าจะออกธนบัตรไม่ได้ เว้นไว้แต่จะแลกเปลี่ยนกับทองคำหรือปอนด์ ซึ่งต้องส่งเข้าทุนสำรอง และจะจ่ายทุนสำรองไม่ได้เว้นไว้แต่จะแลกเปลี่ยนกับธนบัตรซึ่งต้องถอนคืนจากธนบัตรออกใช้นั้น ทั้งสองบทนี้ยังคงใช้อยู่ตามเดิม
ข้อแตกต่างระหว่างสองระบบ
๕. เท่าที่กล่าวมาแล้วนี้จึ่งจะเห็นได้ว่า ข้อแตกต่างในระหว่างระบบ พ.ศ. ๒๔๗๑ กับระบบชั่วคราวนั้นมีสาระสำคัญอยู่ที่ การใช้ทุนสำรอง กล่าวคือ ระบบ พ.ศ. ๒๔๗๑ นั้นใช้ทุนสำรอง (ทองคำและเงินต่างประเทศ) เพื่อประโยชน์สองประการ คือ (๑) เพื่อรักษาค่าของบาทให้ยืนที่เมื่อเทียบกับสเตอร์ลิงก์ และ (๒) เพื่อควบคุมการออกธนบัตรให้เป็นระเบียบ ดั่งนี้ แต่ระบบชั่วคราวนั้นใช้ทุนสำรองเพื่อประโยชน์แต่อย่างเดียว คือเพื่อควบคุมการออกธนบัตรให้เป็นระเบียบเท่านั้น
การร่างพระราชบัญญัติใหม่
๖. ในการร่างพระราชบัญญัติใหม่นี้มีข้อควรคำนึงว่าในวันใดวันหนึ่งไม่ช้าก็เร็วรัฐบาลจะต้องตกลงกับกองทุน ฯ กำหนดค่าของบาทเทียบกับทองคำและจะต้องรักษาค่าของบาทให้ยืนที่เมื่อเทียบกับเงินต่างประเทศที่มีค่าเทียบกับทองคำแล้ว ฉะนั้น จึ่งจำต้องมีทุนสำรองเพื่อใช้ในการรักษาค่าของบาท แต่ปัญหามีอยู่ว่าจะควรใช้ทุนสำรองเพื่อควบคุมการออกธนบัตรด้วยตามเดิมหรือไม่ หรือว่าจะควบคุมด้วยวิธีอื่นใด
๗. การควบคุมการออกธนบัตรให้เป็นระเบียบด้วยอุบายใช้ทุนสำรองเป็นเครื่องมือนั้นเป็นวิธีควบคุมที่ปฏิบัติได้ง่ายดาย เพราะเป็นวิธี automatic กล่าวคือ เมื่อการชำระเงินกับต่างประเทศมี surplus ก็มีผู้นำเงินต่างประเทศมาเสนอขาย จึงต้องออกธนบัตรเพิ่มขึ้น และเมื่อการชำระเงินกับต่างประเทศมี deficit ก็มีผู้ขอซื้อเงินต่างประเทศ จึ่งต้องถอนธนบัตรกลับคืนเข้ามา ฉะนั้นธนบัตรที่ออกใช้จะเพิ่มหรือลดก็สุดแล้วแต่ความจำเป็นของการค้า
๘. แต่ความคิดเห็นทั่ว ๆ ไปในปัจจุบันนี้มีว่า วิธีควบคุมการออกธนบัตรที่กล่าวข้างบนนี้เป็นวิธีที่รัดตรึงแน่นเกินไป เช่นในเวลาที่การชำระเงินกับต่างประเทศมี surplus นั้น อาจมีเหตุสมควรที่จะต้องป้องกันมิให้มีธนบัตรออกใช้เพิ่มขึ้น แต่ก็จะไม่มีทางป้องกันได้ เป็นต้น กฎหมายของเมืองต่างประเทศที่ออกใหม่ ๆ จึงได้ผ่อนคลายการใช้วิธีควบคุมอย่างนี้ไปมาก และเปลี่ยนเป็นใช้วิธีอื่นแทน
๙. แต่ในการร่างพระราชบัญญัตินี้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าท่านรัฐมนตรีคลังไม่มีความประสงค์จะให้มีการเปลี่ยนแปลงมาก หากมุ่งหมายที่จะเลิกระบบชั่วคราวและจัดให้มีกฎหมายเป็นรูปถาวรเสียสักที อีกประการหนึ่ง ข้าพเจ้าเห็นว่าการแก้ไขเปลี่ยนแปลงวิธีควบคุมการออกธนบัตรนั้น เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่ ซึ่งจะต้องพิจารณาโดยละเอียดก่อนว่าจะควรหรือไม่และจะปฏิบัติได้หรือไม่เพียงใด ฉะนั้นในร่างพระราชบัญญัตินี้จึงไม่ได้บัญญัติให้เปลี่ยนแปลง หากแต่ให้มีการผ่อนคลายลงบ้าง ดั่งจะเห็นได้ในร่างและคำชี้แจงรายมาตรา
๑๐. อนึ่ง ด้วยเหตุว่ารัฐบาลจะต้องตกลงกับกองทุนฯ กำหนดค่าของบาทเทียบกับทองคำ และเมื่อได้กำหนดแล้วก็จะต้องปฏิบัติการบางอย่างเพื่อให้เป็นไปตามข้อผูกพันกับกองทุน ในร่างพระราชบัญญัติจงได้เขียนบทบัญญัติเผื่อไว้ด้วย และหวังว่าเมื่อถึงเวลาจะต้องปฏิบัติตามข้อผูกพันเหล่านั้นก็จะไม่ต้องแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัตินี้
๑๑. ใน พ.ร.บ. ๒๔๗๑ และในระบบชั่วคราว มีบทบัญญัติบางประการที่ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่มีความจำเป็นหรือเหตุผลที่จะควรคงมีไว้ต่อไป ในร่างพระราชบัญญัตินี้จึ่งไม่มีบทบัญญัติต่อไปนี้ คือ
(ก) เรื่องเหรียญกษาปณ์ ไม่มีบทว่าด้วยการทำเหรียญบาทเงินซึ่งได้เลิกทำมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๑ ไม่มีบทว่าด้วยการทำเหรียญทองคำ ซึ่งได้บัญญัติให้ทำก็เพราะความจำเป็นชั่วขณะเท่านั้น และไม่มีบทห้ามการค้าเหรียญกษาปณ์ เพราะไม่เห็นมีความจำเป็นแล้ว
(ข) เรื่องทุนสำรอง ไม่มีบทว่าด้วยการจำหน่ายบัญชีซึ่งสินทรัพย์ในทุนสำรอง เพราะมีบทบัญญัติอย่างอื่นแทน ไม่มีบทบัญญัติโดยเฉพาะว่าด้วยการตีราคาหลักทรัพย์ประจำปี เพราะในร่างพระราชบัญญัตินี้มีการบังคับให้ต้องทำอยู่ในตัวแล้ว ไม่มีบทให้จ่ายเงินแผ่นดินชดใช้ทุนสำรองในเมื่อหลักทรัพย์เสื่อมราคา เพราะได้ร่างวิธีการอย่างอื่นไว้แทนแล้ว ไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยการสอบบัญชีประจำปี เพราะเป็นเรื่องของธนาคารแห่งประเทศไทย จึ่งควรเป็นบทบัญญัติในพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย อนึ่ง การประกาศรายการทุนสำรอง ก็ควรเป็นเรื่องของพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยเหมือนกัน
(ค) เรื่องธนบัตร ไม่มีบทบัญญัติเรื่องเอารายได้ของรัฐบาลเป็นประกัน (พ.ร.บ. ๒๔๗๑ มาตรา ๒๒) เพราะตามร่างพระราชบัญญัตินี้ ไม่มีความจำเป็นแล้ว และไม่มบทว่าด้วยความรับผิดของรัฐบาลในการชำระเงินอันเป็นค่าแห่งธนบัตร (พ.ร.บ. ๒๔๗๑ มาตรา ๒๔) เพราะบทบัญญัตินี้หมดความจำเป็นที่ต้องมีไว้ นับตั้งแต่เมื่อออกพระราชบัญญัติเงินตราแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว
๑๒. ถ้าจะใช้ร่างพระราชบัญญัตินี้ก็จะต้องแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยบางมาตรา เพราะพระราชบัญญัตินันมีบทท้าวถึง พ.ร.บ. ๒๔๗๑ อยู่ และจะต้องออกกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์และธนบัตร และกำหนดเรื่องธนบัตรชำรุดเป็นต้น กฎใหม่ก็คงเหมือนกฎที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นเอง แต่ร่างพระราชบัญญัตินี้ไม่มี่สิงใดที่กระทบกระเทือนพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน หรือพระราชกำหนดจัดสรรทุนสำรองเงินตราเกินจำนวนธนบัตรออกใช้ จึงไม่ต้องแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติและพระราชกำหนดนั้น
๑๓. การใช้ถ้อยคำในพระราชบัญญัตินี้ ได้ถือหลักว่าจะเอาถ้อยคำใน พ.ร.บ. ๒๔๗๑ มาใช้เท่าที่จะทำได้ ไม่คำนึงว่ามาในสมัยนี้จะเหมาะสมหรือไม่ ทั้งนี้เพราะเห็นว่าได้เคยใช้กันมานานจนเป็นที่เข้าใจกันดีแล้ว จึ่งไม่น่าจะเปลี่ยนแปลง.
๕ มีนาคม ๒๔๙๙
----------------------------
ร่าง “พระราชบัญญัติเงินตรา พุทธศักราช....”
บันทึกคำชี้แจงบางมาตราในร่างลงวันที่ ๕ มีนาคม ๒๔๙๙
มาตรา ๓
การยกเลิกกฎหมายที่ว่าด้วยเงินตรานั้น จะบอกยกเลิกแต่ (๑) พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. ๒๔๗๑ และ (๒) พระราชบัญญัติระบบเงินตราชั่วคราว พ.ศ. ๒๔๘๙ ก็จะพอแล้ว แต่ด้วยเหตุว่าพระราชบัญญัติทั้งสองนี้ได้แก้ไขเพิ่มเติมและต่ออายุหลายครั้ง ทั้งยังมีพระราชบัญญัติเงินตราในภาวะฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๔๘๔ ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมอีกหลายครั้งด้วย จึ่งเห็นว่าถ้าระบุชื่อพระราชบัญญัติเหล่านี้ลงไว้เสียให้หมดก็จะเป็นที่เข้าใจกันแจ่มแจ้งดี
มาตรา ๕
มาตรานี้ตรงกับมาตรา ๒ แห่งพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. ๒๔๗๑ แต่การใช้เครื่องหมายย่อแทนบาทเป็นของใหม่
มาตรา ๖
ประเทศไทยเป็นสมาชิกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ จึงจำต้องกำหนดค่าแห่งเงินตราไทยเทียบกับทองคำ และจะกำหนดเท่าใดก็ตามจะต้องได้รับความตกลงของกองทุน ๆ ก่อนแล้วจึ่งจะประกาศได้
ฉะนั้นเมื่อถึงเวลาที่รัฐบาลและกองทุน ฯ เห็นสมควรก็จะต้องปรึกษาหารือเพื่อทำความตกลงกัน เมื่อได้ตกลงกันแล้วก็จะต้องประกาศค่านั้นโดยเร็ว จึงควรต้องใช้วิธีออกพระราชกฤษฎีกา
มาตรา ๗ (๑)
มุ่งหมายที่จะช่วยให้เกิดความเชื่อถือในความมั่นคงแห่งค่าของเงินบาท และจะให้เป็นที่พอใจสภาผู้แทนด้วย
มาตรา ๗ (๒)
เกี่ยวกับบทบัญญัติในหนังสือสัญญากองทุน ฯ กล่าวคือหนังสือสัญญามาตรา ๔ ข้อ ๗ มีความว่าค่าของเงินตราของทุกประเทศที่เป็นสมาชิกนั้น กองทุน ฯ อาจเปลี่ยนแปลงได้โดยเป็นการเปลี่ยนแปลงตามส่วนอันเดียวกันหมด (ถ้าประเทศใดไม่ประสงค์จะเปลี่ยนแปลงค่าของเงินตราของตนก็ต้องแจ้งให้กองทุนทราบภายใน ๗๒ ชั่วโมง) ฉะนั้นในกรณีที่กองทุน ๆ เปลี่ยนแปลงค่าของบาทตามสัญญาข้อนี้ ถ้าประเทศไทยไม่ขัดข้องก็จะต้องประกาศการเปลี่ยนแปลงนั้นทันที จึ่งจำต้องมีพระราชกฤษฎีกา
มาตรา ๙
อำนาจตามมาตรานี้รัฐมนตรีว่าการคลังมีอยู่แล้วตามพระราชบัญญัติระบบเงินตราชั่วคราว พ.ศ. ๒๔๘๙
อนึ่ง ด้วยเหตุว่าร่างพระราชบัญญัตินี้กำหนดให้เหรียญกษาปณ์เป็นเงินชำระหนี้ได้ตามกฎหมายเพียงไม่เกิน ๑๐ บาทเท่านั้น (ดูมาตรา ๑๐) จึ่งเห็นควรให้รัฐมนตรีคงมีอำนาจอันนี้ต่อไปได้ อนึ่ง ธนบัตรมีค่ามากกว่าเหรียญกษาปณ์ รัฐมนตรีก็มีอำนาจกำหนดชนิดราคา ฯลฯ อยู่แล้วตามพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. ๒๔๗๑ มาตรา ๘
มาตรา ๑๐ (๑)
ในการร่างพระราชยบัญญัตินี้ได้ถือว่าจะไม่ทำเหรียญบาทเงินอีก และเหรียญทองคำก็จะไม่ทำ อนึ่งเหรียญบาทเงินที่เคยทำก็ไม่มีใช้กันแล้ว จึงได้กำหนดว่าบรรดาเหรียญกษาปณ์ให้ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายเพียงไม่เกิน ๑๐ บาท
มาตรา ๑๐ (๒)
ที่ว่าเหรียญบุบสลายจะใช้ชำระหนี้ไม่ได้ตามกฎหมายนั้นตรงกับพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. ๒๔๗๑ มาตรา ๒๗ แต่บทบัญญัตินี้มีกฎกระทรวงออกตามพระราชบัญญัติเงินตราในภาวะฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๔๘๔ แก้ไขว่าให้ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย กฎกระทรวงฉบับนั้นได้ออกมาก็ด้วยเหตุพิเศษเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อสงครามเกิดขึ้นใหม่ ๆ บัดนี้จึ่งเห็นควรกลับให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ พ.ศ. ๒๔๗๑ อนึ่ง เหรียญต่าง ๆ ที่ใช้กันอยู่เวลานี้ล้วนเป็นเหรียญปลีก บทบัญญัตินี้คงไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน
มาตรา ๑๑
มาตรานี้ตรงกับพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. ๒๕๑ มาตรา ๒๘ แก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติเงินตรา (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๔๘๔
มาตรา ๑๒ (๒)
การกำหนด ชนิดราคา ฯลฯ ของธนบัตรโดยกฎกระทรวงนั้นเป็นอำนาจของรัฐมนตรีอยู่แล้ว ตามพระราชบัญญัติเงินตรา ๒๔๗๑ มาตรา ๘
มาตรา ๑๒ (๓) ตรงกับพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. ๒๔๗๑ มาตรา ๘ วรรค ๒
มาตรา ๑๔
มาตรานี้คือพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. ๒๔๗๑ มาตรา ๒๓ แต่แก้ไขเพิ่มเติมบ้าง (ดูคำชี้แจงมาตรา ๒๕ ด้วย)
มาตรา ๑๕
ตรงกับพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. ๒๔๗๑ มาตรา ๒๕
มาตรา ๑๖
ตรงกับพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. ๒๔๗๑ มาตรา ๒๖
มาตรา ๑๗
มาตรานี้คือพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.๒๔๗๑ มาตรา ๙ ทวิ. แต่แก้ไขเพิ่มเติมวิธีการ เพราะอำนาจที่ให้แก่รัฐมนตรีตามมาตรา ๙ ทวิ. นั้น เขียนไว้อย่างรุนแรงน่าตกใจ จึงได้เขียนเสียใหม่ให้นุ่มนวลขึ้นประการหนึ่ง และกำหนดเวลาให้นานพอควรสำหรับนำธนบัตรที่ยกเลิกมาเปลี่ยนใหม่อีกประการหนึ่ง นอกจากนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นสาระสำคัญ
มาตรา ๑๘
มาตรานี้ตรงกับพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. ๒๔๗๑ มาตรา ๑๑ แต่มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาก และใช้บังคับต่อเมื่อได้ประกาศ par value แล้ว
มาตรา ๑๘ (๑)
บังคับให้ธนาคารต้องซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศบางชนิดเพื่อรักษาค่าของบาทให้ยืนที่ การซื้อขายให้ทำกับธนาคารพาณิชย์เพื่อให้เป็นไปตามหลักการที่ว่าธนาคารกลางต้องไม่แข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ หลักการนี้มีอยู่แล้วในพระราชกฤษฎีกาธนาคารแห่งประเทศไทย
อนึ่ง ในร่างนี้ไม่ได้คำนึงถึงทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา เพราะเหตุว่าเมื่อได้ประกาศ par value แล้วรัฐบาลก็มีข้อผูกพันตามสัญญากองทุน ๆ มาตรา ๔ ข้อ ๓ ว่าด้วยการซื้อขายเงินต่างประเทศในเมืองไทย ถ้าเป็นการซื้อขายทันที (spot) จะต้องซื้อขายในอัตราไม่ต่างจาก par value เป็นจำนวนเกินร้อยละ ๑ เพื่อให้การเป็นไปตามนี้จึ่งได้เขียนมาตรา ๑๘, ๑๙ และ ๒๐ ขึ้นไว้ ฝ่ายทุนรักษาระดับ ฯ นั้นไม่ได้มีความมุ่งหมายจะรักษาค่าของบาทไว้ในระดับใด หากมุ่งหมายจะจัดไม่ให้เงินบาทมีค่าขึ้นๆ ลงๆ มากในระยะเวลานั้นเท่านั้น ข้อที่จะต้องพิจารณาจึ่งมีว่าเมื่อประกาศ par value แล้วทุนรักษาระดับ ฯ นั้นจะยังคงต้องมีไว้หรือไม่เพื่ออะไร
อนึ่ง สำหรับรายจ่ายรัฐบาลในต่างประเทศนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ยังคงทำธุระให้ได้ตามเดิม เพราะมาตรา ๑๘ น ไม่ได้ห้าม แต่ธนาคารก็ต้องปฏิบัติตามข้อผูกพันในสัญญากองทุนฯ มาตรา ๔ ข้อ ๓ ที่กล่าวข้างบน
มาตรา ๑๘ (๒)
เป็นการผ่อนผันจาก (๑) เช่นสมมติว่าเราประกาศ par value แล้ว แต่สเตอร์ลิงก์ยังไม่เป็นเงินตราที่พึงเปลี่ยนได้ (convertible) ก็ไม่มีการบังคับให้ต้องซื้อหรือขายสเตอร์ลิงก์ อนึ่ง ในระหว่างที่มีการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินก็ต้องผ่อนผันไม่บังคับ เพราะอาจขัดกับการควบคุม แต่ในทางปฏิบัตินั้นธนาคารคงจะต้องใช้ดุลยพินิจว่าจะซื้อขายหรือไม่เมื่อใด โดยถือหลักว่าจะต้องปฏิบัติตามสัญญากองทุน ฯ มาตรา ๔ ข้อ ๓ นั้น
มาตรา ๑๘ (๓)
คำวิเคราะห์นี้ เป็นไปตามสัญญากองทุน ฯ
มาตรา ๑๙
มาตรานี้ใช้ต่อเมื่อได้ประกาศ par value แล้ว อนึ่ง ได้กล่าวแล้วข้างบนว่าตามสัญญากองทุน ฯ มาตรา ๔ ข้อ ๓ การซื้อขายเงินต่างประเทศในเมืองไทยถ้าเป็นการซื้อขายทันทีต้องซื้อขายในอัตราไม่ต่างไปจาก par value เกินกว่าร้อยละ ๑ ในร่างนี้กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องซื้อขายในอัตราไม่ต่างจาก par value เกิน ๑/๔ ของร้อยละ ๑ เพราะธนาคารจะต้องซื้อขายกับธนาคารพาณิชย์ และให้ธนาคารพาณิชย์ซื้อขายกับพ่อค้าประชาชนอีกต่อหนึ่ง ธนาคารพาณิชย์จึ่งมีขอบเขตอยู่ ๓/๔ ของร้อยละ ๑ (ดูมาตรา ๒๐) สำหรับขึ้นหรือลดอัตราซื้อขายได้ สุดแล้วแต่อุปสงค์และอุปทานในตลาด
ข้อห้ามมิให้รับเงินส่วนลด ฯลฯ นั้น เป็นการป้องกันการหลีกเลี่ยงข้อห้ามที่มิให้ซื้อขายในอัตราเกินกว่าที่กำหนด
ข้อห้ามข้อนี้ สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทยไม่มีบทลงโทษ เพราะธนาคารเป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามสัญญากองทุนฯ อยู่แล้ว แต่สำหรับธนาคารพาณิชย์มีบทลงโทษไว้ด้วย (ดูมาตรา ๓๐)
มาตรา ๒๐ (๑)
โปรดดูคำชี้แจงมาตรา ๑๙ ข้างบนนี้
มาตรา ๒๐ (๑) ก.
ข้อยกเว้นมีไว้ เพราะถ้าการซื้อขายเงินตราต่างประเทศใดในตลาดต่างประเทศ ซื้อขายกันจริงในอัตราต่างจาก par value ของเงินนั้นกว่าร้อยละ ๑ ก็อาจจะมีจะมี arbitrage กับตลาดกรุงเทพ ฯ และทำให้ฝ่ายเราเสียประโยชน์
มาตรา ๒๐ (๑) ข.
อนุโลมตามสัญญากองทุน ฯ มาตรา ๔ ข้อ ๓ (๒)
มาตรา ๒๐ (๒)
โปรดดูคำชี้แจงมาตรา ๑๙ ข้างบนนี้
มาตรา ๒๑
คือมาตรา ๑๒ ของพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. ๒๔๗๑ แก้ไขถ้อยคำเล็กน้อย
มาตรา ๒๓
คือมาตรา ๑๕ ของพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. ๒๔๗๑ แต่แก้ไขเรื่องผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงินเพื่อให้สะดวกขึ้น
มาตรา ๒๔
คือมาตรา ๑๖ ของพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. ๒๔๗๑ แก้ไขถ้อยคำเล็กน้อย ส่วนข้อยกเว้นนั้นจะเห็นได้ถนัดเมื่อดูมาตรา ๑๗ และมาตรา ๒๗
มาตรา ๒๕
คือมาตรา ๑๗ ของพระราชบัญญัติเงินตรา ๒๔๗๑ แต่แก้ไขในสาระสำคัญสองประการ คือ (๑) ให้รัฐมนตรีกำหนดได้ด้วยว่านอกจากปอนด์และดอลลาร์แล้ว จะให้ถือเงินตราต่างประเทศอื่นใดเป็นทุนสำรองได้อีก ข้อนี้เขียนเผื่อไว้เท่านั้น แต่ถ้าสมควรจะต้องใช้อำนาจนี้จริง ๆ ก็ควรกำหนดให้ถือแต่เฉพาะเงินตราที่พึงเปลี่ยนได้ตามนัยแห่งมาตรา ๑๘ และ (๒) ยอมให้ถือหลักทรัพย์ของรัฐบาลไทยที่จ่ายเงินเป็นบาทได้ด้วย
ในบันทึกคำชี้แจงทั่วไปได้กล่าวแล้วว่าวิธีการควบคุมการออกธนบัตรในปัจจุบันนี้เป็นวิธีรัดตรึงมาก ถ้าจะผ่อนคลายลงบ้างก็ต้องให้ถือหลักทรัพย์ของรัฐบาลที่จ่ายเงินเป็นบาทได้ด้วย แต่เพื่อให้ทุนสำรองมี luquidity พอ จึ่งมีข้อจำกัดดั่งแจ้งในข้อ (๒) ของมาตรานี้
การถือหลักทรัพย์รัฐบาลไทยที่จ่ายเงินเป็นบาทเป็นทุนสำรองได้นั้นจะเป็นประโยชน์ดีในบางกรณี เช่นในเวลาที่การชำระเงินกับต่างประเทศมี deficit และธนาคารพาณิชย์เอาบาทมาขอซื้อปอนด์ แต่มีเหตุผลที่ไม่ควรให้ธนบัตรออกใช้ต้องลดน้อยลง ฝ่ายการธนาคารก็อาจรับบาทนั้นไว้แล้วเอาหลักทรัพย์รัฐบาลของฝ่ายการธนาคารส่งให้ฝ่ายออกบัตรธนาคารแลกเปลี่ยนเอาปอนด์ออกมาขายได้
แต่การเปลี่ยนแปลงเท่านี้ก็นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงไม่น้อย จะถึงเวลาสมควรหรือไม่เป็นเรื่องของกระทรวงการคลัง ถ้ายังไม่เห็นควรเปลี่ยนแปลงก็ต้องแก้ไขร่างนี้
ถ้าหากมีผู้ทักอีกทางหนึ่ง คือว่าอัตราร้อยละ ๖๐ ของยอดธนบัตรออกใช้ในข้อ (๒) สูงไป และควรลดต่ำลงกว่านี้ได้ ก็ต้องขอให้คำนึงว่าธนบัตรและเงินฝากธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นย่อมมีลักษณะเหมือนกันแท้ ๆ เพราะผู้มีเงินฝากย่อมจะถอนเอาธนบัตรไปได้เสมอ แต่กฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทยต่างจากกฎหมายธนาคารกลางของหลายประเทศ เพราะไม่มีบทบังคับให้ต้องมีเงินต่างประเทศเป็นเงินสำรองสำหรับเงินฝาก ฉะนั้นทุนสำรองอัตราร้อยละ ๖๐ ของยอดธนบัตรออกใช้นั้นเมื่อนับเงินฝากเข้าด้วยแล้วย่อมไม่ถึงร้อยละ ๖๐
มาตรา ๒๖ (๑)
เป็นบทบัญญัติที่จะให้ปฏิบัติได้ตามมาตรา ๒๕ (๒) คือให้คิดอัตราร้อยละ ๖๐ ของยอดธนบัตรออกใช้นั้นได้
มาตรา ๒๖ ข้อ ค.
เป็นบทบังคับอยู่ในตัวให้ต้องตีราคาหลักทรัพย์ทุกปี เหมือนอย่างการใช้พระราชบบัญญัติเงินตรา พ.ศ. ๒๔๗๑
มาตรา ๒๖ (๒)
บัญญัติไว้สำหรับระยะเวลาที่ยังไม่ได้ประกาศ par value ราคาทองคำที่กำหนดไว้นั้นคือราคาที่ถืออยู่ในเวลานี้ อนึ่ง เมื่อกำหนดราคาทองคำไว้เช่นนี้แล้วการตีราคาปอนด์หรือดอลลาร์ก็ปฏิบัติได้ตามข้อ (๑) ก. และ ข จึ่งไม่จำต้องกำหนดราคาปอนด์หรือดอลลาร์ไว้ด้วย
มาตรา ๒๗
ตามกฎกระทรวงฉบับ ๓ พ.ศ. ๒๔๘๙ ออกตามพระราชบัญญัติระบบเงินตราชั่วคราว ๒๔๘๙ นั้น ดอกผลอันเกิดจากทุนสำรองเมื่อได้หักรายจ่ายแล้วเหลือเท่าใดให้สมทบเข้าทุนสำรอง แต่ในร่างใหม่นี้ได้กำหนดว่านอกจากให้หักรายจ่ายแล้วให้หักใช้ค่าเสื่อมของราคาหลักทรัพย์ในทุนสำรองด้วย ถ้ายังมีเงินเหลืออีกก็ให้ขึ้นบัญชีพิเศษไว้ และถ้าในปีใดดอกผลไม่พอจ่ายก็ให้เอาเงินในบัญชีพิเศษนั้นมาจ่ายชดเชย การแก้ไขใหม่เช่นนี้ก็เพราะเห็นว่าบทบัญญัติที่ให้เอาเงินเหลือจ่ายสมทบทุนสำรองนั้นบัดนี้หมดความจำเป็นแล้ว
อนึ่ง พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. ๒๔๗๑ มาตรา ๑๙ บัญญัตว่า ถ้าหลักทรัพย์เสื่อมราคาก็ให้เอาเงินรายได้แผ่นดินชดใช้ทุนสำรอง บทบัญญัตินี้ได้แก้ไขเพราะเห็นว่าเมื่อได้ตัดทุนสำรองขาดไปจากคลังแล้วก็ไม่ควรต้องไปเอาเงินจากคลังมาชดใช้ต่อไปอีก
มาตรา ๒๘
บทบัญญัตินี้เขียนเผื่อไว้สำหรับบางกรณี เช่น ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง par value ของปอนด์ แต่ par value ของบาทไม่ได้เปลี่ยนไปด้วยตามส่วนเดียวกันแล้ว ทุนสำรองอาจมีกำไรหรือขาดทุน จึ่งควรเตรียมรับเหตุการณ์ไว้
ส่วนการเปลี่ยนแปลง par value ของบาทนั้นเป็นเรื่องที่จะต้องออกพระราชบัญญัติ จะจัดการอย่างไรกับทุนสำรองก็ควรกำหนดในพระราชบบัญญัตินั้น
มาตรา ๒๙
ได้แก่มาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติเงินตรา ๒๔๗๑ แต่ได้แก้ไขบ้าง เพราะมาตรา ๑๐ ที่เขียนว่าปรับไม่เกินสามเท่าหรือไม่เกินพันบาทแล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่ากันนั้น ยากที่จะเข้าใจได้
มาตรา ๓๐
โปรดดูคำชี้แจงมาตรา ๒๐ (๒)
มาตรา ๓๑
ได้แก่มาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติเงินตรา ๒๔๗๑.
วันที่ ๕ มีนาคม ๒๔๙๙
-
๑. เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๔๙๙ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ขอให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ทรงช่วยยกร่างพระราชบัญญัติเงินตราฉบับถาวรขึ้นใหม่ ทั้งนี้ “เพราะพระราชบัญญัติระบบเงินตราชั่วคราวกับพระราชบัญญัติระบบเงินตราในภาวะฉุกเฉิน ได้ต่ออายุมาครั้งละ ๒ ปี หลายต่อหลายครั้งแล้ว ทุกครั้งที่ขอต่ออายุก็ถูกสภาคัดค้าน ด่าสาดเสียเทเสีย เพราะสมาชิกไม่เข้าใจว่าเรายังทำ par value ไม่ได้ โดยไม่ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน”
พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ทรงยกร่างพระราชบัญญัตินี้เสร็จเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๔๙๙ และได้ทรงมีลายพระหัตถ์ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่า “ร่างพระราชบัญญัติที่เสนอนี้ มีปัญหาในเชิงหลักการบางอย่างแจ้งในบันทึกคำชี้แจง ๒ ฉบับนั้นแล้ว นอกจากนี้กฎหมายเงินตราในปัจจุบันก็ยุ่งยากซับซ้อนมาก ในการร่างพระราชบัญญัติใหม่นี้ได้ตั้งใจจะแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายปัจจุบัน แล้วรวบรวมไว้ในฉบับเดียว และจะให้ใช้ได้ทั้งในเวลาปัจจุบันและในเวลาที่ประกาศ par value แล้วด้วย ฉะนั้น ร่างนี้ควรจะได้รับการตรวจพิจารณาอย่างถี่ถ้วน”
พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. ๒๕๐๑ ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๐๑ ได้ถือหลักการตามร่างของพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยนี้เกือบทั้งสิ้น ↩