โครงการ บัตรเงินสด

บทกฎหมาย

๑. ให้รัฐบาลมีอำนาจออก “บัตรเงินสด” มีชนิดราคาตามแต่จะเห็นควร บัตรนี้มีลักษณะเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินแก่ผู้ถือ

๒. บัตรเงินสดแต่ละฉบับถึงกำหนดใช้เงินในเวลา ๖ เดือนนับแต่วันออก และใช้เงินตามราคาที่ตราไว้ บวกด้วยพรีเมียมอีกร้อยละ ๑/๒

๓. บัตรเงินสดนี้ใช้ชำระหนี้ไม่ได้ตามกฎหมาย เว้นไว้แต่

(ก) รัฐบาลใช้ชำระหนี้ได้ไม่เกินร้อยละ ๕๐ แห่งเงินที่ใช้คราวหนึ่ง ๆ

(ข) การใช้ชำระหนี้อย่างอื่น ๆ ตามแต่จะระบุโดยพระราชกฤษฎีกา

๔. บัตรเงินสดแต่ละฉบับที่ยังไม่ถึงกำหนดใช้เงิน รัฐบาลยอมรับคืนเพื่อการต่อไปนี้

(ก) รับเป็นเงินฝากประจำที่คลังออมสินตามราคาที่ตราไว้บวกด้วยพรีเมียมอีกร้อยละ ๑

(ข) รับชำระหนี้ค่าซื้อตั๋วเงินคลัง ตามราคาที่ตราไว้

การใช้บัตรเงินสด

๕. รัฐบาลใช้บัตรเงินสดในการชำระหนี้ค่าซื้อสิ่งของ ค่าจ้างเหมา ฯลฯ ตามจำนวนที่เห็นสมควร แต่ไม่เกินร้อยละ ๕๐ ของเงินที่จ่ายคราวหนึ่ง ฯ ส่วนเงินเดือนหากจะจ่ายด้วยบัตรเงินสดบ้าง ก็ควรจำกัดเฉพาะเงินเดือนชั้นสูง

การปฏิบัติของผู้ได้รับบัตรเงินสด

๖. ผู้ได้รับบัตรเงินสด อาจปฏิบัติได้ ๓ ทาง

(ก) เก็บไว้จนถึงกำหนดเวลาใช้เงิน

(ข) ฝากคลังออมสิน

(ค) ขายเอาเงินสด

๗. ถ้าผู้ได้รับบัตรเงินสดเก็บบัตรไว้จนถึงกำหนดเวลาใช้เงิน รัฐบาลก็ได้ผลในทางประหยัดการใช้ธนบัตร หรือถ้าผู้ได้รับบัตรนำไปฝากคลังออมสินจะเป็นประโยชน์ทั่วไปดียิ่งขึ้น เพราะนอกจากจะมีการประหยัดการใช้ธนบัตร ยังจะมีการออมทรัพย์ด้วย

แต่ถ้ามีการขายให้แก่ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเหล่านั้นจะต้องจ่ายธนบัตรก็อาจถอนเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทย ธนบัตรก็จะออกไป รัฐบาลจะไม่ได้ผลในทางประหยัดการใช้ธนบัตร โครงการนี้จะเสียไป

การปฏิบัติแก่ธนาคาร

๘. เพื่อป้องกันมิให้เสียหายแก่โครงการ ควรขอร้องธนาคารพาณิชย์มิให้รับซื้อบัตรเงินสด เว้นไว้แต่จะได้รับความเห็นชอบของคลัง และเพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติตามด้วยเต็มใจ ควรออกตั๋วเงินคลัง และจัดให้ตั๋วเงินคลังเป็นหลักทรัพย์ดีกว่าบัตรเงินสด เช่นให้มีอายุสั้นกว่า และให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรับซื้อลดด้วย.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ