เรื่อง ธนบัตรอาจขาดมือ

๑. ธนบัตรในสต๊อกประมาณว่าจะพอจำหน่ายเพียงถึงกลางมิถุนายน ๒๔๘๗ แต่ถ้าได้ธนบัตรจากกรมแผนที่ตามจำนวนที่ประมาณไว้ และถ้าธนบัตรที่พิมพ์แล้วเสร็จในญี่ปุ่นเข้ามาทัน จะมีธนบัตรพอจำหน่ายถึงราวปลายสิงหาคม ต่อจากนั้นธนบัตรจะขาดมือ เพราะกรมแผนที่มีกำลังพิมพ์ไม่พอแก่การจำหน่าย ธนบัตรจะไม่ขาดมือก็ต่อเมื่อที่สั่งพิมพ์ใหม่ในญี่ปุ่นนั้นเข้ามาทัน

๒. กระทรวงการคลังดำริจะบังคับว่า การใช้เงินคราวหนึ่งเกินกว่าพันบาทในการชำระหนี้ให้ใช้ด้วยเช็ค การบังคับเช่นนี้ควรมีผลให้ใช้ธนบัตรกันน้อยลง และให้ธนบัตรกลับเข้าสู่ธนาคารต่าง ๆ บ้าง แต่เช็คย่อมใช้ได้เฉพาะในบางท้องที่ และคงจะมีการหลีกเลี่ยงบ้าง ฉะนั้นผลที่อาจจะได้เป็นอย่างดีก็คือเป็นการต่ออายุสต๊อกให้ยืดออกไปอีกบ้าง เพื่อธนบัตรที่สั่งพิมพ์ใหม่มีโอกาสเข้ามาทัน

๓. แต่เพราะยังไม่แน่ว่าจะต่ออายุสต๊อกออกไปได้อีกเท่าใด และธนบัตรที่สั่งพิมพ์ใหม่จะเข้ามาถึงเมื่อใด ปัญหาที่ว่าธนบัตรอาจขาดมือลงจึ่งยังไม่หมดไป

ถ้าธนบัตรขาดมือลง และไม่มีการแก้ไขอย่างไร ก็จะเกิดเสียหายร้ายแรงแก่ราชการ จึ่งจำต้องคิดหาวิธีแก้ไขไว้แต่บัดนี้

๔. สิ่งที่จะใช้ได้เป็นเงินมีเพียง ๒ ประเภท คือ

ก) เหรียญโลหะ

ข) กระดาษทำเป็นลักษณะต่าง ๆ เช่นเป็นธนบัตร เช็ค ฯลฯ

๕) โลหะที่มีมากและราคาไม่แพงคือดีบุก แต่เป็นโลหะที่ไม่เหมาะแก่การทำเหรียญกษาปณ์ เหรียญดีบุกชนิดราคาสิบบาทคงจะต้องมีขนาดใหญ่โต จนจะเอาติดตัวไปไม่ได้กี่เหรียญ หรือถ้าจะทำขนาดเล็กพอใช้ได้ ค่าในตัว (intrinsic value) ของเหรียญจะต่ำกว่า ราคาที่ตราไว้ (face value) มาก จะเกิดเหรียญปลอมขึ้นมากมายทันที ถ้าทำแต่เฉพาะชนิดราคาหนึ่งบาท ข้อขัดข้องในเรื่องขนาดจะลดน้อยไป แต่การที่จะทำให้ค่าในตัวสูงเท่า ๆ ราคาที่ตราไว้เพื่อป้องกันเหรียญปลอมจะเป็นเหตุให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายแพงมาก อนึ่ง ถ้าทำแต่เฉพาะชนิดราคาหนึ่งบาทก็เชื่อว่าคงจะทำไม่ทันการจำหน่าย จึงควรวินิจฉัยว่าจะทำเหรียญโลหะใช้แทนธนบัตรมิได้ และจะต้องพิจารณาในทางใช้กระดาษ

๖. การใช้กระดาษอาจพลิกแพลงได้หลายวิธีตั้งแต่ง่ายถึงยุ่งยาก เช่น

ก] พิมพ์ธนบัตรชนิดราคาสูงขึ้น เป็นฉบับละห้าพันหรือหมื่นบาท เป็นต้น

ข] พิมพ์ธนบัตรชนิดราคาที่ใช้อยู่แล้ว แต่คุณภาพเลวลง โรงพิมพ์หลายโรงจึ่งอาจระดมกันพิมพ์ได้

ค] ให้ใช้ใบธนาณัติ สแตมป์ แทนธนบัตรได้

ง] รัฐบาลปฏิบัติอย่างบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ซึ่งคนอื่นเชื่อถือ คือซื้อเชื่อไว้ก่อนโดยวิธีออกบัตรใช้แทนเงิน (ในที่นี้จะเรียกว่า “บัตรเงินสด”)

จ] บังคับให้ตัดธนบัตรที่มีอยู่เป็นสองท่อน

๗. วิธี (ก) คือพิมพ์ธนบัตรชนิดราคาสูงขึ้น เป็นวิธีง่ายที่สุด แต่อาจมีผลเสียบางประการ คือความเชื่อถือในธนบัตรอาจเสื่อมไป เพราะดูเหมือนคนไทยยังจำ ธนบัตรราคาล้านมาร์ค ของเยอรมันได้อยู่ จึ่งวิตกว่าของจะแพงขึ้นอีก อนึ่ง ธนบัตรที่ใช้มากในเวลานี้คือชนิดราคา ๕๐ สตางค์ ๑ บาท ๑๐ บาท และ ๒๐ บาท ชนิดราคา ๑,๐๐๐ บาท ใช้อยู่ไม่ถึงร้อยละ ๑ ของธนบัตรออกใช้ทั้งสิ้น ฉะนั้นถ้าพิมพ์ชนิดราคาสูงถึง ๕,๐๐๐ หรือ ๑๐,๐๐๐ บาท ก็จะใช้ได้น้อย ธนบัตรย่อยจะยังไม่พอใช้อยู่นั่นเอง

๘. วิธี (ข) คือพิมพ์ธนบัตรคุณภาพเลวลง จึ่งอาจระดมกันพิมพ์ได้นั้น เชื่อว่าจะเกิดธนบัตรปลอมมาก ธนบัตรเป็นวัตถุมี ค่าในตัวต่ำ มี ราคาที่ตราไว้ สูงกว่ากันมาก แต่ต่อสู้การปลอมอยู่ได้ก็ด้วยคุณภาพของกระดาษและการพิมพ์ ถ้าพิมพ์ธนบัตรคุณภาพเลวออกใช้คงจะเกิดธนบัตรปลอมขึ้นมาก จะต้องรีบประกาศเลิกใช้โดยเร็วที่สุดที่จะทำได้ [อาศัยพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. ๒๔๗๑ มาตรา ๙ ทวิ ตามที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเงินตรา (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๘๕] การใช้วิธีนี้จะต้องทำใจไว้ว่าถึงอย่างไรประชาชนก็จะต้องเสียหายบ้าง

๙. วิธี (ค) ค่อใช้ใบธนาณัติ ประเทศอังกฤษเคยทำอยู่ชั่วคราว แต่เข้าใจว่าใบธนาณัติของเราคงไม่มีพอ ส่วนแสตมป์จะใช้ได้ก็แต่เฉพาะแทนเงินปลีก จึงไม่แก้ปัญหา

๑๐. วิธี (ง) คือออก “บัตรเงินสด” มีโครงการท้ายนี้ เป็นวิธียุ่งยากอยู่บ้าง และผู้ได้รับบัตรย่อมจะไม่พอใจ แต่จะไม่มีผลเสียทั่วไปเหมือนวิธี (ข) อนึ่ง จะมีผลเป็นการบังคับให้ออมทรัพย์ด้วย ซึ่งในขณะนี้ย่อมเป็นการดีมีประโยชน์ในทางอื่น

๑๑. วิธี (จ) คือให้ตัดธนบัตรเป็นสองท่อน มีโครงการท้ายนี้ เป็นวิธียุ่งยากที่สุด และกระทบกระเทือนคนทุกคน แต่ก็ดีกว่าที่จะปล่อยให้ธนบัตรขาดมือลงเฉยๆ อนึ่ง ถ้านึกถึงผลในทางบังคับให้ออมทรัพย์ด้วยแล้วก็จะได้ผลศักดิ์สิทธิ์นัก

๑๒. วิธีพลิกแพลงการใช้กระดาษทั้ง ๕ วิธีนี้ ล้วนมีทางเสียด้วยกันและใช้ได้เฉพาะชั่วคราว เพราะความจริงย่อมมีอยู่ว่าไม่มีอะไรจะใช้เป็นเงินได้ดีเท่า (ก) ธนบัตร (ที่มีคุณภาพสูงและชนิดราคาเหมาะสม) และ (ข) เช็ค แต่ถ้าไม่มีธนบัตรพอและเช็คก็ใช้ไม่ได้ทั่วไป ก็จำต้องแก้ไขโดยวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีประกอบกัน.

๒๕ มีนาคม ๒๔๘๗

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ