บันทึก เรื่อง วิธีเงินตราไทย

สำนักงานที่ปรึกษาฝ่ายไทย กระทรวงการคลัง

๒๘ ตุลาคม ๒๔๘๓

ขอประทานเสนอ

ตามที่ได้บัญชาให้ทำบันทึกเสนอเรื่องวิธีเงินตราว่า ถ้าเราตัดขาดจากสเตอร์ลิงก์และไม่โยงกับเงินตราประเทศอื่นใด จะมีผลอย่างไรนั้น ขอประทานเสนอบันทึกมา ๑ ฉบับ.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

วิวัฒนไชย

----------------------------

บันทึกนี้มีความเป็นสองตอน คือ

(๑) วิธีเงินตราในเวลานี้

(๒) การเปลี่ยนแปลงวิธีเงินตราเป็นอย่างอื่น

วิธีเงินตราในเวลานี้

๑. การค้าระหว่างประเทศดำเนินด้วยอาศัย (๑) การกำหนดค่าแห่งเงินตราในประเทศเทียบกับเงินตราต่างประเทศ และ (๒) การชำระหนี้ที่มีอยู่ในประเทศหนึ่งโดยจ่ายเงินตราในอีกประเทศหนึ่ง

วิธีการที่กล่าวนี้เรียกว่าการปริวรรตเงินต่างประเทศ (foreign exchanges)

๒. การกำหนดค่าแห่งเงินตราในประเทศเทียบกับเงินตราต่างประเทศในสมัยที่ได้ระงับการใช้มาตราทองคำไว้ชั่วคราวแล้วนี้ ใช้วิธีกำหนดค่าแห่งเงินตราในประเทศเทียบโดยตรงกับเงินตราต่างประเทศ และมีทุนสำรองเป็นทองคำ และ/หรือ เงินตราต่างประเทศเพื่อรักษาค่าเงินตราในประเทศให้ยืนที่อยู่เท่าที่กำหนดไว้ เช่นประเทศอังกฤษกำหนดค่าแห่งปอนด์เท่ากับ ๔.๐๓ ดอลลาร์อเมริกัน และเท่ากับ ๑๗.๗๐ แฟรงค์สวิสส์ ฯลฯ ก็มีทุนสำรอง (exchange equalisation fund) เป็นทองคำและดอลลาร์และแฟรงค์ ฯลฯ และจ่ายทุนสำรองนั้นเพื่อซื้อหรือขายดอลลาร์และแฟรงค์สวิสส์ ฯลฯ ตามค่าที่กำหนดเทีบบไว้กับปอนด์ ปอนด์จึ่งมีค่าเท่าที่กำหนดนั้นได้ สหรัฐอเมริกาก็ปฏิบัติตามวิธีการนี้

แต่ประเทศอื่นๆ ที่มิได้เป็นแหล่งกลางแห่งการเงินของโลกไม่มีการซื้อขายเงินตราสกุลต่างๆ มากมาย ก็ใช้วิธีกำหนดค่าแห่งเงินตราในประเทศเทียบกับปอนด์ (หรือดอลลาร์) และมีทุนสำรองเป็นปอนด์ (หรือดอลลาร์) เพื่อซื้อขายตามค่าที่กำหนดเทียบไว้กับเงินตราในประเทศ ด้วยอุบายนี้เงินตราในประเทศก็มีค่าเท่าที่กำหนดเทียยไว้กับปอนด์ (หรือดอลลาร์) อนึ่ง เมื่อได้โยงเงินตราในประเทศไว้กับปอนด์ (หรือดอลลาร์) เช่นนี้แล้ว เงินตราในประเทศก็มีค่าเทียบได้กับเงินตราประเทศอื่นๆ ด้วย เช่นญี่ปุ่นกำหนดค่าแห่งเย็นเทียบเท่ากับ ๐.๒๓ ๗/๑๖ ดอลลาร์ และเพราะ ๔.๐๓ ดอลลาร์ มีค่าเท่ากับ ๑ ปอนด์ เงิน ๑ เย็นจึ่งมีค่าเท่ากับ ๐.๐๕๘๑๓๒ ปอนด์ (๑ ชิลลิง ๒ เปนส์)

๓. ส่วนการชำระหนี้สินระหว่างประเทศนั้น พ่อค้าที่ส่งของไปขายในต่างประเทศย่อมต้องการเงินตราที่ใช้ในประเทศ จึ่งต้องขายเงินตราต่างประเทศที่ตนได้เป็นค่าของเพื่อรับเอาเงินตราในประเทศ ส่วนพ่อค้าที่ซื้อของจากต่างประเทศย่อมต้องการเงินตราต่างประเทศ จึ่งต้องซื้อเงินตราต่างประเทศด้วยเงินตราในประเทศ

การขายและซื้อเงินตราต่างประเทศดั่งกล่าวนี้ ย่อมอยู่ในบังคับแห่งกฎการประสงค์และการอำนวย (law of demand and supply) ขณะใดมีผู้ขายเงินตราต่างประเทศมากกว่าซื้อ ค่าของเงินตราต่างประเทศก็จะตกต่ำลง และค่าของเงินตราในประเทศจะสูงขึ้น และขณะใดมีผู้ซื้อเงินตราต่างประเทศมากกว่าขาย ค่าของเงินตราต่างประเทศจะสูงขึ้น และค่าของเงินตราในประเทศจะลดลง)

แต่ถ้าค่าของเงินตราในประเทศขึ้นๆ ลง ๆ มากอยู่เป็นนิตย์ การค้ากับต่างประเทศจะดำเนินไปไม่ได้ เพราะพ่อค้าที่ส่งของออกจะทราบไม่ได้ว่าในการขายของนั้นตนจะได้รับเงินตราในประเทศเป็นจำนวนเท่าใด และพ่อค้าที่นำของเข้าจะทราบไม่ได้ว่าในการซื้อของนั้นตนจะต้องจ่ายเงินตราในประเทศเป็นจำนวนเท่าใด การค้าจะเป็นการเสี่ยงภัยในเรื่องค่าแห่งเงินตรา

๔. เพื่อป้องกันมิให้มีการเสียหายเช่นนี้ เจ้าหน้าที่เงินตราในประเทศ (รัฐบาลหรือธนาคารกลาง) จึ่งต้องป้องกันมิให้เงินตราในประเทศมีค่าขึ้น ๆ ลง ๆ มากอยู่เป็นนิตย์ การป้องกันก็ปฏิบัติตามกฎการประสงค์และการอำนวยเหมือนกัน เมื่อมีผู้ขายเงินตราต่างประเทศมากกว่าซื้อ อันจะเป็นเหตุให้ค่าของเงินตราในประเทศสูงขึ้น เจ้าหน้าที่เงินตราก็ใช้ทุนสำรองที่กล่าวในข้อ ๒ ข้างบนนี้ซื้อเงินตราต่างประเทศเข้าไว้ และในทางตรงข้ามเมื่อมีผู้ซื้อเงินตราต่างประเทศมากกว่าขาย อันจะเป็นเหตุให้ค่าแห่งเงินตราในประเทศลดลง เจ้าหน้าที่เงินตราก็ขายเงินตราต่างประเทศจากทุนสำรองนั้น

การที่เจ้าหน้าที่เงินตราซื้อขายเงินตราต่างประเทศเช่นนี้ ย่อมเป็นการทำให้การประสงค์ (demand) เสมอกันกับการอำนวย (supply) เงินตราในประเทศจึ่งมีค่ายืนที่อยูได้ การค้าก็ดำเนินได้โดยไม่มีการเสี่ยงภัยในส่วนที่เกี่ยวกับค่าแห่งเงินตรา

๕. ในประเทศไทยพ่อค้าที่ส่งของออกและได้เงินตราต่างประเทศ ก็ขายเงินนั้นให้แก่ธนาคารเพื่อรับเงินบาท และพ่อค้าที่นำของเข้าต้องใช้เงินตราต่างประเทศ ก็ซื้อเงินนั้นจากกนาคารด้วยเงินบาท

การค้าของไทยกับต่างประเทศ ส่วนมากมีอยู่กับจักรภพอังกฤษ (ดูบัญชีหมาย ๑ ท้ายนี้) และอีกประการหนึ่ง ลอนดอนเป็นแหล่งกลางอันหนึ่งแห่งการเงินของโลก การค้าระหว่างประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ นอกจักรภพอังกฤษก็มักไปชำระหนี้สินกันในลอนดอน เช่นเมื่อก่อนเกิดสงครามครั้งนี้พ่อค้าในประเทศไทยขายข้าวไปเยอรมันนี ก็ชำระหนี้สินกันเป็นปอนด์ในลอนดอน

เมื่อการค้าและการชำระหนี้สินมีลักษณะเช่นนี้ การที่ธนาคารซื้อเงินตราต่างประเทศจากผู้ส่งของออกนั้น ธนาคารก็ได้รับปอนด์ไว้เป็นส่วนมาก และเมื่อธนาคารจะขายเงินตราต่างประเทศให้แก่ผู้นำของเข้า ธนาคารก็จ่ายปอนด์เป็นส่วนมากเหมือนกัน

๖. การปริวรรตเงินต่างประเทศจัดให้มีขึ้นก็เพื่อการค้าดำเนินได้สะดวก เมื่อการค้าของไทยกับต่างประเทศส่วนมากเป็นการค้ากับจักรภพอังกฤษ การค้านั้นก็เป็นเครื่องบังคับให้กำหนดค่าแห่งเงินบาทเทียบไว้กับปอนด์ (ต่างไปจากญี่ปุ่นซึ่งมีการค้ากับจักรภพอังกฤษและสหรัฐอเมริกาพอไล่เลี่ยกัน จึ่งอาจกำหนดค่าแห่งเย็นเทียบกับปอนด์หรือดอลลาร์ก็ได้)

เมื่อไทยได้กำหนดค่าแห่งเงินบาทเทียบไว้กับปอนด์แล้ว การปฏิบัติก็เป็นไปตามทฤษฎีที่กล่าวในข้อ ๓ และ ๔ กล่าวคือเมื่อเงินตราต่างประเทศที่ธนาคารซื้อจากผู้ส่งของออกมีจำนวนมากกว่าเงินตราต่างประเทศที่ธนาคารขายแก่ผู้นำของเข้า ธนาคารก็นำปอนด์ที่ซื้อไว้เกินตัวนั้นมาส่งคลังแล้วรับเอาเงินบาทไป และเมื่อเงินตราต่างประเทศที่ธนาคารซื้อจากผู้ส่งของออกมีจำนวนน้อยกว่าเงินตราต่างประเทศที่ธนาคารขายให้แก่ผู้นำของเจ้า ธนาคารก็นำเงินบาทที่ได้จากผู้นำของเข้านั้นมาส่งคลังแล้วรับเอาปอนด์ไป

และโดยที่ธนาคารทราบแน่นอนว่าเมื่อจะขายปอนด์ให้แก่คลังหรือจะซื้อปอนด์จากคลัง คลังก็จะรับซื้อหรือขายให้ตามค่าที่กำหนดไว้นั้นเสมอไป ดั่งนี้ ธนาคารจึ่งสามารถซื้อเงินตราต่างประเทศจากผู้ส่งของออกและขายเงินตราต่างประเทศให้แก่ผู้นำของเข้าในอัตราอันยืนยงคงที่ การค้าของไทยก็ดำเนินไปได้โดยไม่ต้องมีการเสี่ยงในเรื่องค่าแห่งเงินบาท

ฝ่ายหน้าที่คลังที่รับซื้อหรือขายปอนด์ให้แก่ธนาคารอยู่เป็นนิตย์นั้นก็มีทุนสำรองไว้เป็นปอนด์ คือปอนด์ที่ซื้อไว้จากธนาคาร และอาจต้องขายให้แก่ธนาคารเมื่อไรๆ ก็ได้สุดแล้วแต่ธนาคารต้องการ

๗. อนึ่ง การค้าของประเทศไทยโดยปกติมีสินค้าขาออกมากกว่าขาเข้า (ดูบัญชีหมาย ๑) ปอนด์ที่คลังรับซื้อจากธนาคารจึ่งมีจำนวนมากกว่าที่ขายให้ธนาคาร (ดูบัญชีหมาย ๒) ปอนด์ที่ซื้อไว้เกินกว่าขายนี้คลังก็นำไปใช้จ่ายในราชการแผ่นดินได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งการอำนวยความสะดวกแก่การค้าโดยวิธีรักษาค่าแห่งเงินบาทให้ยืนอยู่เท่ากับที่กำหนดเทียบไว้กับปอนด์นั้น ย่อมเป็นทางให้รัฐบาลมีเงินจ่ายในราชการทางต่างประเทศด้วย

การเปลี่ยนแปลงวิธีเงินตราไทยเป็นอย่างอื่น

๘. ถ้าคลังจะไม่ใช้วิธีรับหรือจ่ายปอนด์ (หรือเงินตราต่างประเทศอย่างอื่นใด) แลกเปลี่ยนกับบาท ก็ได้ แต่จะต้อง (๑) ใช้วิธีรับและจ่ายทองคำแลกเปลี่ยนกับบาท หรือ (๒) ไม่รับหรือจ่ายสิ่งใดแลกเปลี่ยนกับบาทเสียเลย

๙. การเปลี่ยนเป็นใช้วิธีรับและจ่ายทองคำแลกเปลี่ยนกับบาท จะเกิดผลเสียได้ดั่งต่อไปนี้ คือ

ในเวลาที่มีสินค้าขาออกมากกว่าขาเข้า ซึ่งธนาคารต้องซื้อปอนด์จากพ่อค้าเป็นจำนวนมากกว่าขาย ธนาคารจึ่งจะไม่มีเงินบาทพอจ่ายนั้น ธนาคารไม่มีทองคำจะนำมาส่งคลังเพื่อรับเงินบาท ก็เป็นอันไม่มีทางได้รับเงินบาทตามที่ต้องการ เมื่อการประสงค์ (demand) เงินบาทมีมากกว่าการอำนวย (supply) เงินบาทก็ต้องมีค่าสูงขึ้นเป็นธรรมดา หรืออีกนัยหนึ่งเมื่อธนาคารมีเงินบาทไม่พอจ่ายในการซื้อปอนด์ในอัตราเดิม ธนาคารก็ต้องลดอัตรานั้นลงไป แทนที่จะจ่ายเงน ๑๐.๘๗ บาทซื้อปอนด์ ๑ ปอนด์ ก็จะจ่ายเงินบาทน้อยกว่านั้น

เมื่อเงินบาทมีค่าสูงขึ้นเช่นนี้ ชาวนาและผู้ผลิตของอื่นๆ ย่อมจะได้เงินค่าข้าวและค่าของอื่น ๆ นั้นเป็นจำนวนลดน้อยลง และถ้าเงินบาทมีค่าสูงยิ่งขึ้นเท่าใด ราคาสินค้าไยในต่างประเทศจะยิ่งแพงขึ้นเท่านั้น การส่งของออกนอกประเทศอาจชะงักลงได้บ้าง ทั้งนี้ล้วนจะมีผลกระทบกระเทือนเงินรายได้ของรัฐบาลด้วย

ส่วนในเวลาที่มีสินค้าขาเข้ามากกว่าขาออกและธนาคารต้องขายปอนด์แก่พ่อค้าเป็นจำนวนมากกว่าที่ซื้อ จึ่งจะไม่มีปอนด์พอจ่ายนั้น ธนาคารก็จะเอาเงินบาทที่ได้เป็นค่าขายปอนด์มาส่งคลังเพื่อรับทองคำแล้วส่งทองคำไปขายเอาปอนด์ที่ต้องการ ทองคำที่ธนาคารขายไปนั้นคงไม่มีทางที่ธนาคารจะได้คืน เพราะเวลานี้การซื้อทองคำในประเทศต่างๆต้องถูกจำกัด จึ่งเป็นอันว่าทองคำที่คลังจ่ายนั้นคงจะไม่กลับมาอีก ทองคำที่มีอยู่จะลดน้อยลงเป็นลำดับ

๑๐. อนึ่ง ถ้าคลังเลิกรับปอนด์แลกเปลี่ยนกับบาทเสียแล้ว เมื่อถึงเวลาที่จะต้องจ่ายเงินในต่างประเทศ คลังก็จะต้องเอาทองคำไปซื้อเงินตราต่างประเทศตามที่ต้องการ ซึ่งจะเป็นทางให้ทองคำที่มีอยู่ลดลงเร็วขึ้นอีก หรือถ้าคลังจะเอาเงินบาทไปซื้อเงินต่างประเทศจากธนาคาร เงินบาทนั้นธนาคารก็จะนำมาส่งคลังเพื่อรับทองคำ แล้วนำทองคำไปขายเพื่อเอาเงินตราต่างประเทศ ผลจะเท่ากับคลังเอาทองคำซื้อเงินตราต่างประเทศนั่นเอง

๑๑. ส่วนการเปลี่ยนเป็นวิธีไม่รับจ่ายสิ่งใดแลกเปลี่ยนกับเงินบาทนั้นย่อมเป็นการปล่อยให้ค่าของเงินบาทเป็นไปตามกฎการประสงค์และการอำนวย เงินบาทจะมีค่าขึ้น ๆ ลง ๆ มากอยู่เป็นนิตย์ดั่งกล่าวในข้อ ๓ คือในเวลาที่มีสินค้าขาออกมากกว่าขาเข้า จึ่งมีผู้ต้องการเงินบาทจากธนาคารมากกว่าที่ขายให้แก่ธนาคาร เงินบาทก็จะมีค่าสูงขึ้น และในเวลาที่มีสินค้าขาเข้ามากกว่าขาออก จึ่งมีผู้ต้องการปอนด์จากธนาคารมากกว่าที่ขายให้แก่ธนาคาร ปอนด์ก็จะมีค่าสูงขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งเงินบาทจะมีค่าลดต่ำลง เมื่อเงินบาทมีค่าขึ้น ๆ ลง ๆ มากเช่นนี้ การค้ากับต่างประเทศจะดำเนินไม่ได้สะดวก เพราะจะต้องเสี่ยงในเรื่องค่าแห่งเงินบาท การค้าทรุดโทรมลงก็ย่อมนำมาซึ่งผลเสียอีกหลายประการทั้งแก่ราษฎรและรัฐบาล

๑๒. เพราะเหตุที่กล่าวมาแล้ว จึ่งไม่มีประเทศใดที่ปล่อยให้ค่าแห่งเงินตราของตน เป็นไปตามการประสงค์และการอำนวย หากต้องจัดหาเงินตราต่างประเทศไว้เป็นทุนสำรอง และรับหรือจ่ายเงินตราต่างประเทศนั้นแลกกับเงินตราในประเทศ เป็นการรักษาค่าแห่งเงินตราในประเทศให้ยืนที่อยู่ หรือถ้าไม่มีทุนสำรองพอแก่การรักษาค่าแห่งเงินตราไว้ได้ การค้ากับต่างประเทศก็ต้องเปลี่ยนวิถีทางไปเป็นอย่างอื่น คือจะต้องใช้วิธีแลกเปลี่ยนสินค้า (barter) แทนการซื้อขายกันอย่างธรรมดา และมีการอื่นๆ เป็นเครื่องประกอบไปด้วย เช่นการจำกัดสินค้าขาเข้าและการควบคุมการปริวรรตเงิน ดั่งที่เยอรมันนีปฏิบัติอยู่เป็นต้น.

วันที่ ๒๘ ตลาคม ๒๔๘๓

----------------------------

บัญชีหมาย 1

ราคาสินค้าขาออก

พ.ศ. ราคาสินค้าขาออกทั้งสิ้น ราคาสินค้าส่งไปจักรภพอังกฤษ ราคาสินค้าส่งไปประเทศอื่น ๆ ราคาสินค้าส่งไปจักรภพอังกฤษคิดเป็นส่วนร้อยของราคาสินค้าขาออกทั้งสิ้น
  บาท บาท บาท ร้อยละ
2477 172,594,000 140,358,000 32,236,000 81.32
2478 158,218,000 130,397,000 27,821,000 82.42
2479 184,361,000 145,029,000 39,332,000 78.67
2480 169,492,000 144,463,000 25,029,000 85.23
2481 204,422,000 148,658,000 55,764,000 72.72
2482 208,267,000 170,403,000 37,864,000 81.82

ราคาสินค้าขาเข้า

พ.ศ. ราคาสินค้าขาเข้าทั้งสิ้น ราคาสินค้ามาจากจักรภพอังกฤษ ราคาสินค้ามาจากประเทศอื่น ๆ ราคาสินค้ามาจากจักรภพอังกฤษคิดเป็นส่วนร้อยของราคาสินค้าขาเข้าทั้งสิ้น
  บาท บาท บาท ร้อยละ
2477 101,726,000 34,551,000 67,172,000 33.97
2478 108,754,000 34,058,000 74,696,000 31.32
2479 110,043,000 34,716,000 75,327,000 31.55
2480 111,824,000 39,705,000 72,119,000 35.51
2481 129,630,000 47,732,000 81,898,000 36.82
2482 191,685,000 130,910,000 63,775,000 67.24*

* รวมทั้งทองคำแท่งที่สั่งจากอังกฤษ

----------------------------

บัญชีหมาย 2

บัญชีแสดงจำนวนปอนด์ (จำนวนสุทธิ)

ที่คลังรับจากและจ่ายให้ธนาคาร

พ.ศ. ปอนด์ ที่รับจากธนาคาร ปอนด์ ที่จ่ายให้ธนาคาร
2477 4,193,000 -
2478 1,001,000 -
2479 3,051,000 -
2480 617,000 -
2481 230,000 -
2482 2,875,000 -

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ