การตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย

√√√ การตั้งธนาคารกลางในประเทศต่าง ๆ นั้น มีวัตถุประสงค์ในอันจะให้มีเจ้าหน้าที่ผู้เดียวทำการควบคุมทั้งเงินตราและเครดิต เพื่อความมั่นคงแห่งค่าของเงินทั้งภายนอกและภายในประเทศ ธนาคารกลางต่างๆ เหล่านี้มีสัมปทานที่คล้ายคลึงกันในสาระสำคัญและต่างกันไปก็แต่ในรายละเอียด

⋆⋆⋆

√√√ ธนาคารกลางในประเทศต่าง ๆ นั้น ล้วนดำเนินการตามแนวอันคล้ายคลึงกัน คือได้รับสิทธิให้ออกจำหน่ายธนบัตรได้แต่ผู้เดียว และมีความรับผิดในอันจะต้องรักษาค่าแห่งเงินตราไว้ให้มั่นคง กับทั้งเป็นผู้รักษาทุนสำรองเงินตราและทุนสำรองของธนาคารต่าง ๆ รวมตลอดถึงเงินคงคลังของรัฐบาล กิจธุระที่เป็นสำคัญของธนาคารกลางก็คือเป็นธนาคารของธนาคารต่าง ๆ และของรัฐบาล และทำการควบคุมเครดิตและปริมาณแห่งเงินตราของบ้านเมือง อนึ่ง ธนาคารกลางย่อมไม่ประกอบการค้าประเภทเดียวกันกับธนาคารอื่น ๆ ไม่เข้าทำการแข่งขันกับธนาคารนั้น ๆ แต่เมื่อถึงเวลาที่อัตคัดเงิน ธนาคารกลางย่อมเข้าช่วยเหลือการค้าของประเทศ โดยวิธีแผ่เผื่อเจือจานให้เครดิตหมุนเวียนไปโดยสะดวก

⋆⋆⋆

√√√ เรื่องธนาคารกลางนั้นมีน้อยคนที่เข้าใจ ข้าพเจ้าวิตกอยู่ว่า ถ้าร่างพระราชบัญญัติที่มีข้อความโดยละเอียด ก็อาจผ่านสภา ฯ ได้โดยยาก เพราะอาจมีผู้ขอแก้ไขให้ผิดหลักการไปจริง ๆ ดูเหมือนมีหลายคนที่เห็นธนาคารกลางเป็นต้นกัลปพฤกษ์ที่ขึ้น ๔ มุมเมือง เช่นเมื่อแรกเปิดสำนักงานธนาคารชาติไทย บุคคลคนแรกที่มาติดต่อกับเจ้าหน้าที่ ได้มาติดต่อเพื่อขอกู้เงิน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ