พระประวัติ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ประสูติ ณ ปีกุน วันเสาร์ที่ ๒๙ เมษายน พระพุทธศักราช ๒๔๔๒ เป็นพระโอรสองค์ที่ ๙ ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไชยันต์มงคล กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย (รัชกาลที่ ๔) และหม่อมส้วน ไชยันต์ มีเจ้าพี่เจ้าน้องร่วมพระบิดา ๑๒ องค์ คือ

หม่อมเจ้าหญิง สุภากรณ์ ไชยันต์ (สิ้นชีพิตักษัย)

หม่อมเจ้าชาย ถาวรมงคลวงษ์ ไชยันต์ (สิ้นชีพิตักษัย)

หม่อมเจ้าหญิง ประสงค์สม บริพัตร (สิ้นชีพิตักษัย)

หม่อมเจ้าหญิง ภิรมย์สงวน ไชยันต์

หม่อมเจ้าหญิง ประมวญทรัพย์ ไชยันต์ (สิ้นชีพิตักษัย)

หม่อมเจ้าหญิง ประดับศักดิ์ ไชยันต์

หม่อมเจ้าชาย ตระนักนิติผล ไชยันต์ (สิ้นชีพิตักษัย)

หม่อมเจ้าหญิง วิมลอรรถ ไชยันต์

หม่อมเจ้าหญิง อำไพสุพรรณ ไชยันต์ (สิ้นชีพิตักษัย)

หม่อมเจ้าชาย จันทรจุฑา ไชยันต์ (สิ้นชีพิตักษัย)

หม่อมเจ้าชาย มหาฤกษ์ ไชยันต์ (สิ้นชีพิตักษัย)

หม่อมเจ้าหญิง สุขาวดี ไชยันต์ (สิ้นชีพิตักษัย)

พระประวัติของพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ในวัยเยาว์นั้น หม่อมเจ้าหญิงจงจิตรถนอม ดิศกุล ได้ทรงจดประทานมาเพื่อรวบรวมไว้ในพระประวัติ มีเนื้อความดังต่อไปนี้

“เมื่อพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ชันษาได้ ๒ ขวบ หม่อมมารดาได้พาเข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวังที่ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุษบันบัวผัน ซึ่งเป็นเสด็จป้า และมีเจ้าพี่อีก ๓ องค์ คือ หม่อมเจ้าหญิงสุภาภรณ์ หม่อมเจ้าหญิงประสงค์สม หม่อมเจ้าหญิงภิรมย์สงวนอยู่ร่วมกันด้วย พระองค์วิวัฒน ฯ มีพระนิสัยชอบหนังสือและมีความจำดีมาแต่เยาว์ ตั้งแต่ชันษาราว ๓ ขวบ หม่อมเจ้าหญิงประสงค์สมได้สอนให้รู้จักตัวอักษรไทยจากหนังสือพิมพ์โดยมิได้ตั้งใจจะสอนอย่างจริงจังเพราะยังเล็กนัก แต่พระองค์วิวัฒนฯ ก็จำได้แม่นยำ หม่อมมารดาจึงได้ไปซื้อหนังสือแบบเรียนเร็วมาให้อ่าน ก็ยิ่งขยันอ่านจนในไม่ช้าก็อ่านหนังสือได้แตกฉาน นอกจากนี้ยังสามารถท่องพระปรมาภิธัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ตลอด ในขณะนั้นพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ที่พระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต วันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ เป็นวันพระราชทานน้ำพระมหาสังข์พระบรมวงศานุวงศ์ ในปีนี้พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในพร้อมกันไปคอยเฝ้า ณ ที่ประทับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนารถ บนพระที่นั่งวิมานเมฆ พระองค์วิวัฒน ฯ ได้ตามเสด็จเสด็จป้าขึ้นเฝ้า และได้รับพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ในวันนี้ ได้ท่องพระปรมาภิธัยถวายเป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก มีพระราชดำรัสขอพระองค์วิวัฒน ฯ จากเสด็จป้าและโปรดให้ขึ้นเฝ้าเวลาเสวยกลางวันที่ห้องเสวยแปดเหลี่ยม พระที่นั่งวิมานเมฆ ขณะประทับเสวย โปรดให้พระองค์วิวัฒนฯ นั่ง บนพระเพลา และบางทีก็ทรงป้อนของเสวยพระราชทานด้วย

วันหนึ่งมีพระราชดำรัสถามว่า เรียกพระองค์ท่านว่าอย่างไร พระองค์วิวัฒน ฯ กราบทูลว่า เรียกว่า “พระเจ้าอยู่หัว” รับสั่งว่า “ข้าเป็นลุงจะเรียกว่ากระไร” พระองค์วิวัฒน ฯ กราบทูลว่า จะเรียกว่า “พระเจ้าลุง” ก็เป็นที่สบพระราชหฤทัย พระองค์วิวัฒนจึงได้เรียกพระองค์เช่นนั้นเสมอ

ตั้งแต่ราว พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้ทรงพระกรุณาโปรดให้ทำเสมาพระปรมาภิธัยย่อ จ.ป.ร. ประดับเพชรขึ้น เพื่อพระราชทานพระราชนัดดา ก็ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานพระองค์วิวัฒนฯ เป็นพิเศษ แม้พระราชนัดดาก็มิได้รับพระราชทานทั่วทุกพระองค์

เมื่อพระองค์วิวัฒนฯ ชันษาสมควรจะเข้าโรงเรียน จึงโปรดเกล้า ฯ ให้เข้าโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และโปรดให้ตามเสด็จออกข้างหน้าพร้อมด้วยพระเจ้าลูกเธอ”

พระบิดาและหม่อมมารดาของพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ได้สิ้นพระชนม์ และถึงอนิจกรรมเสียแต่เมื่อยังทรงพระเยาว์ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยได้เข้าศึกษาในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงตั้งแต่พระชนม์ได้ ๖ ปี และได้ทรงเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนราชวิทยาลัย สำเร็จชั้นมัธยมปีที่ ๖ เมื่อพระชนม์เพียง ๑๒ ปีใน พ.ศ.๒๔๕๔ ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จสวรรคตแล้ว สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนารถ ได้ทรงพระกรุณาโปรดให้พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยเป็นนักเรียนส่วนพระองค์ออกไปศึกษาวิทยาการ ณ ประเทศอังกฤษ ได้ทรงเริ่มการศึกษาชั้นประถม ณ โรงเรียน Torquay Preparatory School เป็นเวลาสองปี ใน พ.ศ. ๒๔๕๖ จึงได้เลื่อนไปทรงศึกษาขั้นมัธยม ณ วิทยาลัย Cheltenham College อีก ๓ ปี ได้ทรงรับประกาศนียบัตรขั้นมัธยมศึกษาชั้นสูงของมหาวิทยาลัยออกสฟอร์ดและเคมบริดจ์ (Oxford and Cambridge Higher Certificate) แล้วจึงเสด็จไปยังมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ใน พ.ศ. ๒๔๕๙ เพื่อทรงศึกษา ณ วิทยาลัยมอดดะเลน (Magdalene College) เมื่อได้ทรงสอบไล่ได้รับปริญญาเกียรตินิยมชั้นสองในวิชาประวัติศาสตร์ (B.A.) ต่อจากนั้นได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ กรุงปารีส ใน พ.ศ. ๒๔๖๒ ได้เข้าศึกษา ณ วิทยาลัย Ecole des Sciences Politiques แห่งกรุงปารีสอีก ๑ ปี จึงได้เสด็จกลับประเทศไทยใน พ.ศ. ๒๔๖๓

เมื่อพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยได้เสด็จกลับมาถึงประเทศไทยนั้นเป็นรัชสมัยแห่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ในตำแหน่งเลขานุการกระทรวงเป็นตำแหน่งแรก และนับตั้งแต่วาระนั้นเป็นต้นมา พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยได้ทรงปฏิบัติหน้าที่ราชการในกระทรวงนั้นหรือทรงปฏิบัติภาระกิจต่าง ๆ ของทางราชการอันเกี่ยวข้องกับกระทรวงนั้นโดยตรงมาจนถึงเวลาที่สิ้นพระชนม์ชีพ ใน พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นเวลา ๔๐ ปีบริบูรณ์โดยมิได้ขาดตอนเลย ประโยชน์นานาประการที่ได้ทรงกระทำไว้ให้แก่ราชการคลังและการเงินการภาษีอากรของประเทศนั้นมีอยู่มากมาย ยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือนได้

ในขณะที่พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยทรงเข้ารับราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัตินั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดี หม่อมเจ้าเณร เกษมศรี ผู้ซึ่งภายหลังได้ดำรงพระยศเป็นพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศุภโยคเกษม เป็นรองเสนาบดี ส่วนตำแหน่งปลัดทูลฉลองนั้นยังว่างอยู่ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยได้ทรงปฏิบัติหน้าทีราชการในตำแหน่งเลขานุการกระทรวง และได้ทรงศึกษาราชการต่าง ๆ แห่งกระทรวงนั้นด้วยพระอุตสาหะวิริยะ และด้วยพระปรีชาสามารถอย่างยอดเยี่ยม เป็นที่พอพระทัยและไว้วางพระทัยแก่เสนาบดีและรองเสนาบดีทั้งสองพระองค์ ชรอยท่านผู้บังคับบัญชากระทรวงพระคลังมหาสมบัติในสมัยนั้นจะได้ทรงเห็นพ้องต้องกันว่า พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยทรงอุดมไปด้วยพระปรีชาสามารถ ควรแก่ตำแหน่งสูงอันมีความรับผิดชอบมาก จึงได้ให้ระงับการแต่งตั้งปลัดทูลฉลองกระทรวงพระคลังมหาสมบัติไว้เป็นเวลาหลายปี

ใน พ.ศ. ๒๔๖๕ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง ใน พ.ศ. ๒๔๖๙ ได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้รั้งปลัดทูลฉลอง จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๐ อันเป็นรัชสมัยพระบาทสมเด็จ ฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยดำรงตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ขณะนั้นพระชนมายุได้ ๒๘ ปี นับว่าทรงเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ชั้นปลัดทูลฉลองที่มีอายุน้อยที่สุดในสมัยนั้น และแม้ในสมัยปัจจุบันก็ยังจะหาเทียบได้ยาก

ในสมัยนั้นทางราชการเห็นสมควรบำรุงชายฝั่งทะเลทางทิศตะวันตกของประเทศไทย จึงได้จัดตั้งสภาขึ้นสภาหนึ่งเพื่อดำเนินการนี้ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยก็ได้ทรงรับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสภาจัดบำรุงชายทะเลทิศตะวันตกเป็นหน้าที่พิเศษอีกตำแหน่งหนึ่ง นอกจากนั้นในสมัยเดียวกันได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ปรับปรุงราชการเกี่ยวกับองคมนตรีขึ้น โดยให้มีกรรมการของสภาองคมนตรี มีหน้าที่ประชุมปรึกษาราชการในข้อที่จะได้ทรงมอบหมายให้พิจารณาเพื่อทูลเกล้า ฯ ถวายความเห็นในข้อราชการนั้น ๆ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยทรงดำรงตำแหน่งกรรมการองคมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

ใน พ.ศ. ๒๔๗๓ ตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากรว่างลง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยจากตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ไปทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร ตั้งแต่วันที่ ๑๕ เมษายน ศกนั้น รายละเอียดเกี่ยวกับการที่ได้ทรงปฏิบัติหน้าที่ราชการนั้นด้วยพระปรีชาสามารถอย่างยอดเยี่ยมคงจะได้ปรากฏอยู่ในข้อความและเอกสารซึ่งกรมสรรพากรคงจะได้จัดพิมพ์ขึ้นเป็นอนุสรณ์แก่พระองค์ท่านในครั้งนี้แล้ว ในที่นี้พึงกล่าวแต่เพียงว่าในยุคที่พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยเสด็จไปเป็นอธิบดีกรมสรรพากรนั้น เป็นยุคแห่งการจัดระบบภาษีขึ้นใหม่เพื่อให้เป็นธรรมแก่สังคมยิ่งขึ้น ในขณะที่ทรงรับตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากรนั้นทางราชการของกรมนั้นยังเก็บภาษีอากรแบบเก่า ๆ อยู่ เช่นอากรค่านา อากรสวนใหญ่ อากรสวนจาก อากรสมพัตสร อากรนาเกลือ ภาษีค่าที่ไร่ยาสูบ ภาษีค่าที่ไร่อ้อย เงินรัชชูปการ ภาษีเรือโรงร้านตึกแพ เป็นต้น ซึ่งภาระแห่งภาษีอากรนั้นตกอยู่กับกสิกรเป็นส่วนใหญ่ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยได้ทรงยกเลิกภาษีอากรเก่า ๆ เสีย และได้ทรงแก้ไขโดยค่อยทำค่อยไปให้มีการจัดเก็บภาษีขึ้นใหม่ให้เหมาะสมแก่ความเจริญของบ้านเมือง และเฉลี่ยภาระแห่งภาษีนั้นออกไปในลักษณะที่เป็นธรรม มิให้ตกอยู่แก่คนกลุ่มเดียวเป็นส่วนใหญ่ดังแต่ก่อน ภาษีที่เก็บใหม่ในระหว่างที่พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากรนั้นอยู่ในลำดับดังต่อไปนี้

พ.ศ. ๒๔๗๕ ประกาศใช้พระราชบัญญัติภาษีเงินเดือน

ประกาศใช้พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน

ประกาศใช้พระราชบัญญัติภาษีการธนาคารและประกันภัย

ประกาศใช้พระราชบัญญัติอากรแสตมป์

พ.ศ. ๒๔๗๖ ประกาศใช้พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ โดยยกเลิกภาษีเงินเดือนเสีย

ประกาศใช้พระราชบัญญัติภาษีการค้า

พ.ศ. ๒๔๗๗ ประกาศใช้พระราชบัญญัติอากรมรดกและการรับมรดก

การแก้ไขปรับปรุงเหล่านี้ได้มีประโยชน์แก่ทางราชการและแก่ประชาชนผู้เสียภาษีเป็นอย่างยิ่ง เพราะการเก็บภาษีจากผู้ที่สามารถเสียภาษีได้นั้นย่อมไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน เงินภาษีเก็บได้มากขึ้น และรายจ่ายในการเก็บภาษีลดน้อยลง สถิติรายได้และรายจ่ายของกรมสรรพากรในระยะนั้นได้แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยในกรณีที่กล่าวมานี้

ในระหว่างที่ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากรอยู่นั้น พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยได้ทรงวางรากฐานงานสรรพากรและระเบียบแบบแผนต่าง ๆ ของกรมนั้น ซึ่งได้ใช้เป็นหลักปฏิบัติราชการสืบมาจนบัดนี้ ในทางด้านการปกครองก็ได้ทรงบังคับบัญชาข้าราชการในกรมนั้นด้วยความสุจริตเที่ยงธรรม ทรงบริบูรณ์ด้วยพรหมวิหารธรรมทั้งปวง และได้ทรงเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อบรมให้วิชาความรู้ตลอดจนจริยะอันดีให้แก่ข้าราชการในกรมนั้น โดยมีพระประสงค์ทจะฝึกคนให้เป็นข้าราชการที่มีความสามารถรอบรู้และสุจริตรับผิดชอบ ซึ่งการก็เป็นไปสมพระประสงค์ ดังจะเห็นได้จากความเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อกรมสรรพากร และกิจการทั้งหลายของกรมสรรพากรอันได้เจริญก้าวหน้ามาถึงทุกวันนี้

อนึ่ง ในระหว่างที่ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากรอยู่นั้น ได้มีการเปลี่ยนแปลงในระเบียบการบริหารของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติบางประการ ได้แก่การสมทบกรมสุราเข้าไว้กับกรมสรรพากร ตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๓ ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๔ ได้มีประกาศพระบรมราชโองการแยกกรมสุราไปจากกรมสรรพากรไปตั้งเป็นอีกกรมหนึ่งต่างหาก และเปลี่ยนนามกรมเป็นกรมสรรพสามิต ครั้นถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ จึงได้มประกาศพระบรมราชโองการอีกฉบับหนึ่ง ให้สมทบกรมฝิ่นและกรมสรรพสามิตเข้าในกรมสรรพากรอีกครั้งหนึ่ง และคงอยู่ใต้บังคับบัญชาของพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยมาจนถึงเดือนพฤษภาคม ๒๔๗๖ จึงได้แยกออกมาเป็นกรมขึ้นต่อกระทรวงการคลัง และมาเปลี่ยนเรียกเป็นกรมสรรพสามิตตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม พุทธศักราช ๒๔๗๖ ซึ่งประกาศออกใช้เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖

ในสมัยที่พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยทรงควบคุมงานกรมสรรพสามิตอยู่นั้น ได้ทรงปรับปรุงแก้ไขกิจการต่าง ๆ ของกรมนั้นให้ดีขึ้น และได้ทรงจัดเก็บภาษีขึ้นใหม่ คือภาษีไม้ขีดไฟ ใน พ.ศ. ๒๔๗๕ และภาษีเครื่องขีดไฟ ใน พ.ศ. ๒๔๗๖ นอกจากนั้นยังได้ทรงปรับปรุงแก้ไขกฎหมายอันเกี่ยวกับสุราขึ้นใหม่ให้รัดกุมยิ่งขึ้น

ใน พ.ศ. ๒๔๗๒ “คณะกรรมการแห่งสันนิบาตชาติเพื่อสอบสวนศึกษาเรื่องการกำกับควบคุมการเสพฝิ่นในบูรพาทิศ” (League of Nations Commissions of Enquiry into the Control of Opium Smoking in the Far East) ได้เดินทางเข้ามาถึงประเทศไทย และได้มีการประชุมพิจารณาสถานการณ์การเสพฝิ่นขึ้น พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยก็ได้ทรงเข้าประชุมกับกรรมการนี้ในฐานะทรงเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยผู้หนึ่ง และอาศัยพระปรีชาสามารถและพระปฏิภาณในการชี้แจงแถลงข้อเท็จจริงด้วยความรอบรู้ในกิจการฝิ่น กรรมการสันนิบาตชาติได้พอใจในกิจการฝิ่นของประเทศไทยว่าเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และได้ทำรายงานเสนอสันนิบาตชาติชมเชยประเทศไทยไว้เป็นเกียรติประวัติในครั้งนั้น

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ สันนิบาตชาติได้ตกลงให้มีการประชุมผู้แทนนานาชาติเกี่ยวกับเรื่องฝิ่นขึ้นที่กรุงเทพ ฯ อีกครั้งหนึ่ง พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยก็ได้ทรงเข้าร่วมประชุมในฐานะที่ทรงอยู่ในคณะผู้แทนรัฐบาลไทย ผลของการประชุมนั้นได้ทำให้เกิดความเข้าใจอันดีในระหว่างประเทศต่าง ๆ ซึ่งเป็นภาคแห่งสัญญาฝิ่นระหว่างประเทศ และได้ตกลงทำสัญญาขึ้นอีกฉบับหนึ่ง เพิ่มเติมจากสัญญาฝิ่นซึ่งทำไว้ ณ กรุงเยเนวาแต่เดิม เพื่อควบคุมการสูบฝิ่นในประเทศที่เป็นภาคีให้เข้มงวดยิ่งขึ้น

พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยได้ทรงปกครองกรมสรรพสามิตจนถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ กรมสรรพสามิตจึงได้แยกไปจากกรมสรรพากร และได้ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากรแต่ตำแหน่งเดียวไปจนถึง พ.ศ. ๒๔๗๘ จึงได้ทรงย้ายไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากรในวันที่ ๑ ตุลาคม ศกนั้น

เมื่อพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยเสด็จไปทรงรับตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากรนั้น กิจการของกรมศุลกากรส่วนใหญ่ยังดำเนินไปตามแบบเก่าทั้งในด้านระเบียบพิธีการและตำแหน่งราชการต่าง ๆ ในกรมนั้น ที่สำคัญนั้นก็คือการเก็บภาษีศุลกากรยังคงเก็บอยู่ตามแบบเดิมเป็นส่วนมาก กล่าวคือ เก็บตามราคา มิได้เก็บตามสภาพ และเป็นการเก็บภาษีเพื่อรายได้แผ่นดินแต่อย่างเดียว มิได้คำนึงถึงผลในการเศรษฐกิจแต่อย่างใด วิญญาณแห่งการปรับปรุงแก้ไขให้ราชการดีขึ้น ถูกหลักวิชาขึ้นและเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมยิ่งขึ้นนั้น ได้บังเกิดมีขึ้นในกรมศุลกากรเมื่อพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยเสด็จไปทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมนั้น

หลังจากได้ทรงศึกษางานกรมศุลกากรอยู่เพียงสองเดือน พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยกีได้ทรงปรับปรุงงานด้านศุลกากรเป็นการใหญ่ เพื่อให้กรมนั้นเป็นกรมที่มีประสิทธิภาพและทันสมัย ได้ทรงปรับปรุงส่วนราชการต่าง ๆ โดยแบ่งกองและแผนกต่าง ๆ เสียใหม่เพื่อให้ตรงต่อลักษณะงาน ได้ทรงตั้งกองแบบพิธีศุลกากรขึ้นเพื่อให้บังเกิดความสะดวกรวดเร็ว และได้ทรงตั้งกองใหม่ขึ้นอีกกองหนึ่งคือกองศุลกาธิการ มีหน้าที่ตรวจสอบการเงิน การเก็บอากร และพิธีการศุลกากรต่าง ๆ เป็นการควบคุมภายใน นอกจากนั้นยังได้ทรงปรับปรุงการแบ่งเขตศุลกากร และได้ทรงตั้งด่านศุลกากรขึ้นใหม่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้เหมาะสมกับความจำเป็น

เพื่อเปลี่ยนการเก็บภาษีศุลกากรจากหลักการเก็บตามราคามาเป็นตามสภาพ ได้ทรงร่างกฎหมายตั้งพิกัดอัตราศุลกากรขึ้นใหม่ เป็นกฎหมายสำคัญที่แก้ไขหลักการในการเก็บภาษีศุลกากรของประเทศไทย ได้ทรงขยายประเภทสินค้าที่ต้องเสียภาษีจาก ๓๐-๔๐ ประเภทไปเป็นถึง ๑๙๘ ประเภท ในการนี้ได้มีพระวิริยะอุตสาหะทรงทำงานทั้งกลางวันกลางคืนด้วยพระองค์เองเป็นส่วนมาก มีผู้ช่วยไม่เกิน ๓ นาย เพราะการร่างกฎหมายนี้ต้องรักษาเป็นความลับอย่างยิ่งยวด มิให้เกิดผลเสียหายแก่แผ่นดิน เมื่อกฎหมายนี้ได้ประกาศออกใช้แล้ว ปรากฏว่ารายได้ทางด้านศุลกากรของประเทศเพิ่มขึ้นอีกถึงร้อยละ ๕๐ และค่าใช้จ่ายในการเก็บภาษีนั้นก็ต่ำมาก ไม่ถึงร้อยละ ๒ ของเงินภาษีที่เก็บได้ นับว่าได้ทรงใช้พระปรีชาสามารถให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างมากมาย

ในการบริหารราชการในกรมศุลกากร ได้ทรงปรับปรุงระเบียบบริหารต่าง ๆ และได้ทรงตั้งระเบียบขึ้นใหม่อีกมาก เพื่อเพิ่มสมรรถภาพแก่ข้าราชการและเพื่อความสะดวกของพ่อค้าประชาชน และได้ทรงประมวลระเบียบข้อบังคับเหล่านี้เข้าไว้ด้วยกันเป็นเล่มเดียวใช้เป็นคู่มือของข้าราชการกรมศุลกากร ระเบียบทั้งหลายทั้งปวงที่ได้ทรงวางไว้นั้นยังใช้ได้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ข้าราชการกรมศุลกากรจนบัดนี้

ได้ทรงปกครองข้าราชการในกรมศุลกากรด้วยพรหมวิหารธรรม และทรงถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ข้าราชการเพื่อฝึกให้เป็นผู้ที่มีความสามารถต่อไป เช่นเดียวกับที่ได้ทรงปฏิบัติมาแล้วในกรมสรรพากร พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยได้ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร จนถึง พ.ศ. ๒๔๘๑ จึงได้ทรงย้ายไปเป็นที่ปรึกษากระทรวงการคลัง และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้ทรงดำรงตำแหน่งผู้ว่าการคนแรกแห่งประเทศไทยใน พ.ศ. ๒๔๘๕

อันตำแหน่งที่ปรึกษากระทรวงการคลังนั้นเป็นตำแหน่งที่ได้มีมาแล้ว ๖๐ กว่าปี เริ่มตั้งแต่สมัยกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัยทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ แต่เป็นตำแหน่งสำหรับชาวต่างประเทศตลอดมา การที่กระทรวงการคลังได้ตั้งตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายไทยขึ้น และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยเข้ารับตำแหน่งนั้น ก็เพราะทางราชการตระหนักในพระปรีชาสามารถของพระองค์และการแต่งตั้งนั้นก็เหมาะสมแก่กาลเวลาเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อทรงเข้าดำรงตำแหน่งนั้นได้เพียงไม่กี่เดือนสงครามโลกครั้งที่สองก็เกิดขึ้น เป็นเหตุให้การคลังและการเงินของประเทศไทยเข้าสู่ภาวะคับขันอย่างยิ่งยวด ทางราชการก็ได้อาศัยพระปรีชาสามารถและพระวิริยะอุตสาหะของพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยเป็นกำลังสำคัญอันหนึ่งในการเผชิญต่อภาวะคับขันนั้น

งานใหญ่ในระยะแรกที่เสด็จมาทรงดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายไทยของกระทรวงการคลังก็คือ การจัดระเบียบเงินตราและเครดิตของประเทศ หน้าที่อันนี้ในนานาประเทศถือกันว่าเป็นหน้าที่ของธนาคารกลาง แต่ขณะนั้นธนาคารกลางยังไม่มีในเมืองไทย ทั้งที่ได้มีการดำริและการริเริ่มเป็นบางประการมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ การที่จะตั้งธนาคารกลางขึ้นทันทีทันใดนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะงานธนาคารกลางเป็นงานใหญ่ ต้องใช้เวลาศึกษาหาลู่ทาง ฝึกฝนพนักงาน และทำให้ระบบธนาคารกลางนั้นเป็นที่รู้จักและเชื่อถือแก่ประชาชน ในการนี้ได้ทรงร่วมมือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทยขึ้นโดยให้อยู่ในความควบคุมของกระทรวงการคลังไปก่อน และให้มีหน้าที่กระทำธุระกิจของธนาคารกลางเฉพาะแต่เพียงบางประเภท เมื่อถึงเวลาก็จะได้เปลี่ยนสำนักงานนี้ให้เป็นธนาคารกลางต่อไป สำนักงานธนาคารชาติไทยจึงเป็นรากฐานของธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน

เงินตราของไทยนั้นได้ผูกโยงอยู่กับเงินปอนด์สเตอร์ลิงก์ของอังกฤษมาเป็นเวลาช้านาน เมื่อเกิดสงครามในยุโรปขึ้นในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ นั้นยังไม่มีเหตุอันใดที่จะต้องตัดเงินบาทขาดจากปอนด์สเตอร์ลิงก์ โดยเฉพาะในระยะนั้น ไทยยังมิได้เกี่ยวข้องในการสงคราม และได้รับประโยชน์เป็นอันมากจากการค้าข้าวให้แก่จักรภพอังกฤษ แต่ถึงอย่างนั้นพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยในฐานะทรงเป็นที่ปรึกษากระทรวงการคลังก็มิได้ทรงตั้งอยู่ในความประมาท ทรงเห็นว่าการเก็บทุนสำรองเงินตราไว้ในอังกฤษทั้งหมดในรูปปอนด์สเตอร์ลิงก์เป็นการเสี่ยงภัยในยามที่โลกอยู่ในสถานะสงคราม จึงได้ทรงเสนอแนะนำให้กระทรวงการคลังกระจายทุนสำรองเงินตราไปเก็บไว้ในที่ต่าง ๆ ปรากฏตามตัวเลขเมื่อสิ้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ว่า มีทุนสำรองเงินตราคงเก็บไว้ในประเทศอังกฤษร้อยละ ๕๐ ในประเทศไทยร้อยละ ๓๘ และในสหรัฐอเมริการ้อยละ ๑๒

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยได้ทรงเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐบาลไทยไปเจรจากับอินโดจีนฝรั่งเศส ณ เมืองไซ่ง่อน เกี่ยวกับการคลัง การเงิน และการโอนมูลค่าระหว่างอินโดจีนกับอาณาเขตที่โอนให้แก่ประเทศไทย อันสืบมาจากอนุสัญญาสันติภาพระหว่างประเทศทั้งสองลงวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ในการประชุมนี้ได้อาศัยร่างของฝ่ายไทยเป็นหลักในการเจรจา และได้ลงนามกันเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

เมื่อเกิดสงครามมหาเอเซียบูรพาขึ้นเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ประเทศไทยจำต้องยอมทำสัญญารวมรุกร่วมรับเป็นพันธมิตรกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหมายความว่าประเทศไทยต้องให้ความช่วยเหลือทุกทางแก่ประเทศญี่ปุ่นในการทำสงคราม ทางด้านการเงินนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นได้เสนอให้รัฐบาลไทยรับหลักการในเรื่องเงินตราสามประการ คือ (ก) ให้กำหนดค่าของเงินบาทเท่ากับเงินเยน คือในอัตราแลกเปลี่ยน ๑ บาทต่อ ๑ เยน (ข) การชำระเงินระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยให้ชำระด้วยเงินเยน และ (ค) ให้ตั้งธนาคารกลางขึ้นเป็นเจ้าหน้าที่เงินตรา โดยให้มีที่ปรึกษาและหัวหน้าหน่วยงานต่าง ๆ เป็นชนชาติญี่ปุ่น สำหรับข้อเสนอข้อแรกนั้นพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยในฐานะที่ปรึกษาการคลัง ทรงเห็นว่าเป็นการกำหนดค่าของบาทให้ต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะในขณะนั้นเงินบาทมีค่าสูงกว่าเงินเยน แต่เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันเป็นเด็ดขาดในข้อเสนอข้อนี้ทางรัฐบาลไทยก็จำต้องยอมรับ สำหรับข้อเสนอข้อสองนั้น รัฐบาลต้องยอมรับโดยปริยาย เพราะการสงครามในขณะนั้นบังคับมิให้มีการค้าขายติดต่อกับประเทศใดอีกได้นอกจากประเทศญี่ปุ่น แต่ข้อเสนอข้อสามนั้นรัฐบาลไทยมิได้ยอมรับในทันที เพราะจะเท่ากับว่ายอมให้ญี่ปุ่นเข้ามาควบคุมการเงินตราและเครดิตของไทยโดยตรง อันเป็นความประสงค์ของญี่ปุ่นในขณะนั้น เพื่อป้องกันมิให้ความประสงค์ของญี่ปุ่นเป็นผลสำเร็จ อันจักทำให้นโยบายการเงินของประเทศสูญอิสรภาพ รัฐบาลไทยจึงต้องจัดตั้งธนาคารกลางขึ้นโดยรีบด่วน พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยได้ทรงร่างพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๘๕ ขึ้นด้วยพระองค์เองโดยตลอดด้วยความเร่งรีบเพื่อให้ทันการ ขณะเดียวกันก็ต้องทรงวางระเบียบการดำเนินงานตามกฎหมายนี้ไว้โดยรีบเร่ง และหาพนักงานที่เป็นคนไทยเข้าบรรจุให้ครบตำแหน่ง เพื่อแสดงให้เห็นว่าคนไทยสามารถดำเนินงานธนาคารกลางได้ด้วยตนเอง ด้วยพระปรีชาสามารถและพระวิริยะอุตสาหะอันเพียบพร้อมอยู่ในพระองค์ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปิดดำเนินงานเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๕ โดยมีพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยเป็นผู้ว่าการคนแรก และมีหัวหน้าหน่วยงานและพนักงานเป็นคนไทยทุกคน มิได้มีคนต่างชาติเข้ามาคุมงานในด้านใดเลย หากพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยมิได้ทรงรีบเร่งดำเนินการจัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยให้สำเร็จทันการ นโยบายการเงินและการเครดิตของไทยก็อาจต้องเป็นไปตามนโยบายของชนต่างชาติ ซึ่งย่อมจะต้องมีผลร้ายแรงโดยไม่มีปัญหา

พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยได้เสด็จไปกรุงโตเกียว เมื่อต้นเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๕ เพื่อเจรจาเรื่องการเงินและการค้ากับรัฐบาลญี่ปุ่น ผลแห่งการเจรจานั้นทำให้ประเทศไทยสามารถรักษาอิสรภาพทางการเงินไว้ได้ โดยที่ญี่ปุ่นไม่เข้ามาตั้งระบบเงินตราขึ้นใหม่เช่นเดียวกับที่ทำในทุกประเทศที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองในอาเซีย

การบริหารงานธนาคารแห่งประเทศไทยของพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เรียบเรียงไว้และจัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระองค์ในอีกที่หนึ่งแล้ว ในที่นี้จึงจะขอกล่าวไว้แต่พอสังเขป ในการบริหารงานแห่งธนาคารแห่งประเทศไทยในระยะเริ่มแรกนั้น พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยต้องทรงประสบปัญหาใหญ่ ๆ หลายประการ การตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นเป็นการทำงานแข่งกับเวลาเพื่อให้ทันท่วงทีดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่ยิ่งกว่านั้น ระยะเวลานั้นเป็นเวลาสงคราม การเงินและการเครดิตย่อมผันผวนไปอย่างรวดเร็ว แม้ธนาคารกลางซึ่งได้ตั้งมาแล้วนานและมีความชำนาญในกิจการ หากต้องประสบปัญหาต่าง ๆ ในยามสงครามก็ยังจะต้องหวั่นไหวกระทบกระเทือนด้วยปัญหานั้น ๆ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่งเริ่มตั้งขึ้นใหม่ ยังขาดความชำนาญอยู่มาก ได้อาศัยพระปรีชาสามารถของพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยในฐานะทรงเป็นผู้ว่าการ สามารถฝ่ามรสุมมาได้จนกระทั่งเติบโตมีความสำคัญได้รับความเชือถือทั้งในและนอกประเทศดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

ปัญหาแรกซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ก็คือความใหม่ของธนาคารนั้นเอง ทั้งที่ธนาคารต้องมีหน้าที่และภาระอันสำคัญยิ่ง แต่ธนาคารก็ยังขาดคนรู้จักแพร่หลาย อันเป็นเหตุซึ่งจะก่อให้เกิดอิทธิพลในทางการเงินและเครดิตซึ่งธนาคารกลางจำต้องมี และเมื่อจำต้องตั้งธนาคารขึ้นโดยรีบเร่งให้มีคนไทยเป็นหัวหน้าหน่วยงานต่าง ๆ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยจึงจำต้องทรงบรรจุคนในตำแหน่งต่าง ๆ โดยอาศัยความรู้ความสามารถในด้านอื่นและความซื่อสัตย์สุจริตเป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า พนักงานผู้ใหญ่ส่วนมากในธนาคารแห่งประเทศไทยในระยะแรกเริ่มนั้น หากจะมีความรู้ก็ยังขาดความชำนาญในกิจการธนาคาร พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยได้ทรงเผชิญต่อปัญหาบุคคลนี้ด้วยพระอุตสาหะและพระขันติธรรม ทั้งที่ต้องทรงปฏิบัติหน้าที่ที่ปรึกษาการคลังในเวลาราชการ แต่ก็ต้องเสด็จยังธนาคารทุกวันในตอนบ่ายหลังเวลาราชการ และทรงสั่งงานและตรวจผลงานของทุกฝ่ายทุกส่วนในธนาคารด้วยพระองค์เองอย่างละเอียด หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้นบ้างก็ใช้พระขันติธรรมทรงอดทนต่อความผิดพลาดนั้น ๆ ทรงแก้ไขความผิดพลาดนั้นให้กลับคืนดีด้วยพระองค์เอง และทรงถือเอาความผิดพลาดนั้น ๆ เป็นบทเรียนสอนให้พนักงานเกิดความรู้ความชำนาญในกิจการต่อไป ถึงแม้ว่าในขณะนั้นพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยได้ทรงมีพระกิตติคุณแพร่หลาย เป็นที่ยอมรับนับถือทั้งในและนอกประเทศ ว่าทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการคลังและการเงิน แต่ก็ทรงยอมรับด้วยพระโสรัจจะคุณอย่างเปิดเผยว่ายังไม่ทรงชำนาญในการธนาคาร ได้ทรงหาความรู้ใส่พระองค์ในเรื่องนี้อยู่เป็นนิจ และทรงรับความเห็นหรือคำแนะนำในเรื่องการธนาคารจากผู้อื่นที่เสนอไปโดยชอบด้วยน้ำพระทัยอันกว้างขวางปราศจากทิฏฐิมานะ

นอกจากปัญหาเรื่องบุคคลและความไม่ชำนาญงานดังที่กล่าวมาแล้ว พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยยังต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่ที่ยิ่งยวดเกี่ยวกับการคลังและเงินตราในระหว่างสงครามอีกมากมายหลายประการ ซึ่งพอจะสรุปได้ว่า ทำอย่างไรจึงจะมีเงินมาให้รัฐบาลใช้จ่ายในเมื่องบประมาณแผ่นดินขาดดุลย์และราคาสินค้ากำลังสูงขึ้นเรื่อย ๆ เป็นประการแรก ทำอย่างไรจึงจะมีเงินบาทจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายของกองทัพญี่ปุ่นและการค้าญี่ปุ่น ซึ่งจำเป็นต้องจ่ายตามสัญญาและตามนโยบายทางการเมืองในขณะนั้นเป็นประการที่สอง และในประการสุดท้าย ทำอย่างไรจึงจะป้องกันภาวะเงินเฟ้อในประเทศไทย หรืออย่างน้อยก็จำกัดภาวะนั้น ซึ่งเป็นผลธรรมดาของการสงคราม ให้อยู่ในขอบเขต

วิธีแก้ปัญหาประการแรก พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยได้ทรงเสนอให้รัฐบาลออกพระราชบัญญัติเงินตราในภาวะฉุกเฉิน พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยจำหน่ายธนบัตรออกใช้แลกเปลี่ยนกับพันธบัตรคลัง พันธบัตรเงินกู้ของรัฐบาล และเงินเยนญี่ปุ่น ปรากฏว่าวิธีการของพระองค์ทำให้รัฐบาลมีเงินใช้จ่ายมาได้ตลอดโดยไม่ติดขัด ในการเงินที่เกี่ยวข้องกับญี่ปุ่นทั้งทางด้านการค้าและการทหารนั้น พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยก็ได้ทรงหาทางปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขแห่งสัญญาที่รัฐบาลไทยได้ทำไว้แก่ญี่ปุ่น เช่นตั้งแหล่งกลางปริวรรตเงิน และทำข้อตกลงในการที่ญี่ปุ่นจะต้องใช้หนี้ทดแทนเงินบาทที่เบิกจ่ายในประเทศไทยด้วยวิธีเครดิตบัญชีเงินฝากของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเรียกว่าบัญชีเงินเยนพิเศษ ทั้งนี้เพื่อทำให้หนี้สินของประเทศญี่ปุ่นที่มีอยู่ต่อประเทศไทยนั้นมีหลักฐานแน่ชัด สะดวกแก่การเรียกร้องคืนในภายหลัง นอกจากนั้นยังได้ทรงทำการตกลงหรือต่อรองกับทางฝ่ายญี่ปุ่นอีกหลายครั้งหลายครา เพื่อควบคุมการใช้จ่ายของญี่ปุ่นมิให้เหลือเฟือ อันจักเป็นผลเสียหายแก่การเงินของไทย และยังทรงได้เล็งเห็นการณ์ไกล ทรงพยายามเจรจากับฝ่ายญี่ปุ่นจนยอมตกลงให้ฝ่ายไทยใช้เงินเยนซึ่งญี่ปุ่นเครดิตบัญชีธนาคารแห่งประเทศไทยไว้นั้นซื้อทองคำเก็บไว้ได้เป็นครั้งคราว ทำให้ทุนสำรองเงินตราของไทยมีค่าสูงขึ้นยิ่งกว่าที่จะเก็บไว้เป็นเงินเยน ทองคำที่ซื้อได้นี้ได้ทรงพยายามอย่างยิ่งทีจะขนมาเก็บไว้ในประเทศไทย และก็ได้มาเป็นบางส่วนเท่าที่การขนส่งในระหว่างสงครามจะอำนวยให้ ส่วนที่เหลือตกค้างอยู่ในประเทศญี่ปุ่นนั้นเมื่อเสร็จสงครามแล้วทางฝ่ายไทยก็ได้รับคืนมาในที่สุด

โดยเหตุที่ทรงตระหนักในภัยอันตรายต่าง ๆ อันจักเกิดขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยจึงได้ทรงค้นคิดหาทางที่จะควบคุมภาวะนั้นมิให้ลุกลามเป็นอันตรายร้ายแรง และได้เสนอวิธีการต่าง ๆ ต่อรัฐบาลไทยหลายวิธี อาทิเช่น การเพิ่มภาษีอากรทั้งทางตรงและทางอ้อม เพิ่มรายได้เข้าคลังจากองค์การรัฐพาณิชย์และกึ่งรัฐพาณิชย์ ประหยัดรายจ่ายแผ่นดิน และออกพันธบัตรเงินกู้ ทั้งหมดนี้เพื่อลดปริมาณของเงิน นอกจากนั้นก็ยังมีการถอนและกีดกันการใช้เงินของประชาชน และการควบคุมเครดิตเป็นต้น การรักษาระดับค่าของเงินตราไว้ให้สูงคงที่ในยามสงครามนั้นไม่เคยปรากฏว่ามีประเทศใดทำได้ แต่ด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่ได้ว่ามาแล้ว ก็พอจะกล่าวในที่นี้ได้ว่า พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยได้ทรงใช้พระปรีชาสามารถระงับภาวะเงินเฟ้อในประเทศไทยไว้ มิให้ลุกลามใหญ่โตไปดังที่เคยปรากฏมาแล้วในประเทศอื่น ๆ

นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้ว ปัญหาการเงินสำคัญที่เกิดขึ้นในระหว่างสงครามอีกปัญหาหนึ่งก็คือปัญหาเรื่องธนบัตรไม่พอใช้ ทั้งนี้ด้วยเหตุที่ไม่มีทางที่จะพิมพ์ธนบัตรในต่างประเทศได้ และทางฝ่ายญี่ปุ่นซึ่งเข้ามารับพิมพ์ธนบัตรให้รัฐบาลไทยก็ไม่สามารถส่งธนบัตรให้ได้ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยได้ทรงแก้ปัญหานี้ด้วยวิธีจัดให้พิมพ์ธนบัตรขึ้นในประเทศไทยตามโรงพิมพ์ต่าง ๆ ที่สามารถพิมพ์ได้ อาศัยที่ได้ทรงวางระเบียบควบคุมการพิมพ์ธนบัตรนี้ไว้โดยรัดกุม จึงไม่ปรากฏว่าได้มีผลเสียหายอย่างใดเกิดขึ้นเลยตลอดระยะเวลานั้น

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองได้เสร็จสิ้นลง รัฐบาลไทยได้แต่งตั้งให้พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ในขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากระทรวงการคลัง ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นหัวหน้าคณะทูตไปเจรจาทำสัญญาเลิกสถานะสงครามกับประเทศอังกฤษ อินเดีย และออสเตรเลีย ณ เมืองแคนดี ประเทศสิงหล เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ การเจรจาครั้งนั้นได้ระงับไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง ต้องเสด็จไปเจรจาต่อไป ณ เมืองสิงคโปร์ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ และกระทำความตกลงสมบูรณ์แบบได้เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙

มีเหตุการณ์อย่างหนึ่งในระหว่างการเจรจานี้ซึ่งควรจะจารึกไว้ให้ปรากฏ ว่า พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยทรงมีขัตติยะมานะกล้าหาญสมกับที่ได้ทรงถือกำเนิดมาในราชสกุล และทรงแสดงขัตติยะมานะนั้นในคราวที่คับขันอย่างยิ่งยวด ทรงสามารถเอาชนะผู้อื่นได้ด้วยขัตติยะมานะอันประกอบด้วยธรรมนั้น ในระหว่างการเจรจานั้นผู้แทนประเทศมหาอำนาจที่ชนะสงครามประเทศหนึ่งได้เรียกร้องให้ประเทศไทยส่งพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกตคืนไปยังเมืองเวียงจันทน์ เมื่อพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยได้ทรงทราบข้อเรียกร้องนั้นในที่ประชุม ได้รับสั่งต่อที่ประชุมว่า ในฐานะที่พระองค์เป็นขัตติยะในราชสกุล และในฐานะที่พระองค์เป็นคนไทยไม่ทรงสามารถรับฟังข้อเรียกร้องนั้นได้เลย และจะไม่ทรงเจรจาด้วยอีกจนกว่าจะได้มีการถอนข้อเรียกร้องนั้นไปแล้ว ครั้นแล้วจึงเสด็จออกจากการประชุมนั้นโดยทันที ไม่เสด็จเข้าร่วมประชุมอีกจนฝ่ายที่ได้ตั้งข้อเรียกร้องนั้นถอนข้อเรียกร้องไปเองในที่สุด

ความกล้าหาญของพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย เป็นความกล้าหาญทางด้านจาคะธรรมอันควรแก่การสรรเสริญ กล่าวคือทรงกล้าหาญที่จะยึดถือหลักธรรมและหลักการอันสุจริตและถูกต้อง ทรงกล้าหาญที่จะเสียสละตำแหน่งอันสูงได้เสมอเพื่อหลักการนั้น และเมื่อทรงสละได้แล้วก็มิได้ทรงโทมนัสในการสละนั้น หรือมีพระทัยอาฆาตในผู้ที่เป็นต้นเหตุแห่งการสละ แต่กลับทรงหาทางช่วยเหลือทั้งบุคคลและกิจการนั้น ๆ ด้วยวิถีทางอื่น ๆ ต่อไป

ใน พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้ทรงพยายามที่จะลดปริมาณของเงินออกใช้หมุนเวียนในประเทศเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ โดยวิธีแบ่งขายทุนสำรองเงินตราอันเป็นทองคำให้แก่ประชาชน เพื่อไถ่ถอนธนบัตรจากการหมุนเวียนเสียเป็นบางส่วน ได้ทรงเสนอต่อรัฐบาลให้ขายทองคำด้วยวิธีการประมูลราคา แต่รัฐบาลในสมัยนั้นมีนโยบายที่จะแบ่งขายให้แก่ประชาชนทั่วไปโดยไม่มีการประมูล เมื่อมีความเห็นขัดกันเช่นนี้จึงได้ทรงลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๘๙

หลังจากได้มีการรัฐประหารเกิดขึ้นในประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยได้ทรงเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นครั้งแรกในรัฐบาลชุดนายควง อภัยวงศ์ เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ และทรงดำรงตำแหน่งนั้นมาจนถึงวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๑ จึงได้ทรงออกจากตำแหน่งเพราะรัฐบาลได้กราบถวายบังคมลาออกทั้งคณะ ต่อมาได้ทรงกลับเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกครั้งหนึ่งในรัฐบาลชุดจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ และได้ทรงลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ เพราะเหตุที่ทรงมีความเห็นไม่ตรงกับรัฐบาลในการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท แต่เมื่อได้ทรงลาออกแล้วก็ได้ทรงช่วยเหลือราชการของกระทรวงการคลังตลอดมา และยังทรงดำรงตำแหน่งสำคัญอื่น ๆ อันเกี่ยวกับการเงินของชาติ

หลังจากเสร็จสงครามโลกครั้งที่ ๒ หรือตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๙ เป็นต้นมา พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยได้ทรงใช้พระอุตสาหะเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีแห่งสัญญาสองฉบับที่ทำขึ้นระหว่างชาติที่เมืองเบรตตันวู้ดส์ (Bretton Woods) ในสหรัฐ ฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๗ ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกแห่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) และแห่งธนาคารโลก (International Bank for Reconstruction and Development) อันจักทำให้ประเทศไทยมีเสถียรภาพในทางเงินตรา ด้วยพระอุตสาหะและด้วยพระปรีชาสามารถและพระอัธยาศัยอันชวนให้เกิดความเชื่อถือเลื่อมใสในพระองค์ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยได้ทรงติดต่อกับบรรดาประเทศสมาชิก จนประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกแห่งสององค์การนี้ในวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ และเมื่อประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกแล้วรัฐบาลไทยก็ได้แต่งตั้งให้พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยเป็นผู้ว่าการแทนประเทศไทยในสภาผู้ว่าการขององค์การทั้งสอง ได้เสด็จไปประชุมสภาผู้ว่าการนั้น ๆ ทุกปีตลอดมา และได้ดำรงตำแหน่งนั้นอยู่จนสิ้นพระชนม์ชีพ ได้ทรงใช้วิชาความรู้และความชำนาญให้เป็นประโยชน์แก่องค์การและแก่ประเทศไทย ดังจะเห็นได้จากการที่ธนาคารโลกได้ให้ประเทศไทยกู้เงินใน พ.ศ. ๒๔๙๔ เป็นจำนวน ๒๕.๔ ล้านดอลลาร์ เพื่อบูรณะการรถไฟ การชลประทานและการท่าเรือ

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยได้ทรงช่วยเหลือในกิจการเงินของแผ่นดินตลอดมาถึงแม้ว่าจะอยู่นอกราชการแล้ว แต่ใน พ.ศ. ๒๔๙๖ ก็ได้ทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการร่วมมือการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและวิชาการกับสหรัฐ (ก.ศ.ว.) และเมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้ทรงช่วยเหลือกระทรวงการคลัง โดยทรงยกร่างพระราชบัญญัติเงินตราขึ้นใหม่ ร่างพระราชบัญญัตินี้ได้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย คือพระราชบัญญัติเงินตราพุทธศักราช ๒๕๐๑ ใช้แทนพระราชบัญญัติเงินตราพุทธศักราช ๒๔๗๑ ซึ่งล้าสมัย ใน พ.ศ. ๒๔๙๙ กระทรวงการคลัง ได้มอบหมายให้พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยเข้าดำเนินการธนาคารอุตสาหกรรมเพื่อเลิกกิจการและตั้งสถาบันขึ้นใหม่ ได้ทรงดำเนินการจนสำเร็จเรียบร้อย และได้ทรงตั้งบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้ทรงเป็นประธานกรรมการอยู่จนสิ้นพระชนม์ ใน พ.ศ. ๒๕๐๓ ได้ทรงเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการปรับปรุงและสังคายนาประมวลรัษฎากร และได้ทรงเป็นกรรมการและเหรัญญิกของสภากาชาดไทยติดต่อกันมาเป็นเวลานานหลายปี

ใน พ.ศ. ๒๔๙๔ สำนักงานบูรณะประเทศเกาหลีของสหประชาชาติ (United Nations Korean Reconstruction Agency UNKRA) ได้แต่งตั้งให้พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยเป็นที่ปรึกษาทางการคลังและเศรษฐกิจของรัฐบาลเกาหลิใต้ ได้เสด็จไปประทับในประเทศเกาหลีในปีนั้นเป็นเวลา ๓ เดือนเพื่อสำรวจภาวะเศรษฐกิจและการคลังแห่งประเทศนั้น นอกจากนั้นใน พ.ศ. ๒๔๙๘ ทรงได้รับคำเชิญจากเลขาธิการสหประชาชาติให้ทรงเป็นกรรมการร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีกสองท่าน สำหรับให้คำปรึกษาแก่เลขาธิการ ฯ ว่าด้วยเรื่องรายงานเศรษฐกิจของโลก อันเป็นเอกสารสำคัญอันหนึ่งของสหประชาชาติ ได้เสด็จไปประชุมกรรมการนั้น ณ กรุงนิวยอร์คในปลายเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นอันว่าโลกได้ยอมรับในพระปรีชาสามารถและวิทยาการของพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยทางด้านการเศรษฐกิจและการคลัง ทรงเป็นคนไทยคนแรกที่ได้นำเกียรติอันสูงนี้มาสู่ประเทศไทย

ในราชการส่วนพระบาทสมเด็จฯ พระเจ้าอยู่หัว พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยได้ทรงสนองพระเดชพระคุณด้วยความซื่อสัตย์และจงรักภักดีเป็นล้นพ้นตลอดมา กิจการที่จะพึงกระทำต่อเบื้องพระยุคลบาทนั้น ทรงกระทำด้วยความปิติโสมนัสและทรงกระทำได้ในทุกโอกาสแม้แต่ในเวลาที่ประชวรอยู่ ไม่เคยทรงเห็นว่ากิจการใดหนักไปหรือเหลือวิสัย ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยเป็นองคมนตรีใน พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้ทรงไว้วางพระราชหฤทัยในพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยและพระราชทานพระมหากรุณาต่อพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยอีกนานาประการ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จฯ พระบรมราชินีนารถ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมสหภาพพะม่าเป็นทางราชการใน พ.ศ. ๒๕๐๓ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยโดยเสด็จฯ ในฐานะองคมนตรี

พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยได้เคยประชวรด้วยโรคพระหทัยมาก่อน แต่ได้ทรงรับการรักษาจากแพทย์จนหายเป็นปกติในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๓ ได้กลับประชวรอีกด้วยพระโรคเดียวกัน นายแพทย์ได้ถวายการรักษาจนทรงพระสำราญแล้ว จึงได้เสด็จไปทรงพักผ่อนที่อำเภอศรราชา จังหวัดชลบุรี ประมาณสิบกว่าวันแล้วเสด็จกลับวังในวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ มีพระอาการเป็นปกติ ในวันที่ ๒๒ สิงหาคม ตอนเช้าได้เสด็จไปเยี่ยมหม่อมเจ้าหญิงประดับศักด์ ไชยันต์ พระเชษฐภคินี ณ วังถนนสีลม แล้วเสด็จกลับวังประมาณ ๑๑ นาฬิกาเศษ ขณะที่ทรงพระอักษรอยู่นั้น พระหทัยหยุดลงโดยฉับพลัน และสิ้นพระชนม์โดยสงบเมื่อเวลา ๑๒.๑๕ นาฬิกา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ว่าพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยสิ้นพระชนม์ในคืนวันเดียวกัน ขณะประทับอยู่ ณ พระราชวังเคอลูซ (Queluz Palace) กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกศ ด้วยความเศร้าสลดพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง หลังจากที่ได้มีพระราชดำรัสสรรเสริญคุณความดีของพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยเป็นเอนกประการแล้ว ได้มีพระราชดำรัสว่า

ท่าน (พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย) ได้ช่วยเหลือฉันมากในการที่มาเยี่ยมต่างประเทศคราวนี้ ท่านก็ได้ทรงทราบแล้วว่าการมาเยี่ยมต่างประเทศคราวนี้เป็นผลสำเร็จและมีผลดีเพียงไร และคงพอพระทัย ฉันคิดว่าขณะสิ้นพระชนม์ท่านคงมีความสุข”

ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระศพพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยเป็นงานหลวงเป็นพิเศษ และได้พระราชทานพระโกศมณฑป เทียบเท่าชั้นเจ้าต่างกรมทรงพระศพเป็นเกียรติยศ เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ สมเด็จพระราชชนนี ฯ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้เสด็จไปพระราชทานน้ำสรงพระศพและบำเพ็ญพระราชกุศลในงานพระศพ

พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ได้ทรงเศกสมรสกับหม่อมราชวงศ์หญิง ชวลิต สนิทวงศ์ บุตรี พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพร้อมพงศ์อธิราช ใน พ.ศ. ๒๔๖๔ มีบุตร คือ

๑. ม.ร.ว. ไชยวัฒน์ ไชยันต์

๒. ม.ร.ว. พัฒนไชย ไชยันต์

ม.ร.ว. ชวลิต ไชยันต์ ได้ถึงแก่กรรมใน พ.ศ. ๒๔๗๒ ต่อมาพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยได้ทรงเศกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิง พัฒน์คณนา กิติยากร พระธิดาของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ฯ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ มีธิดา คือ

ม.ร.ว. กิติวัฒนา ไชยันต์

พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ทรงได้รับยศดังต่อไปนี้

พ.ศ. ๒๔๖๓ เป็น อำมาตย์ตรี

พ.ศ. ๒๔๖๙ เป็น อำมาตย์โท

พ.ศ. ๒๔๗๑ เป็น มหาอำมาตย์ตรี

ใน พ.ศ. ๒๔๙๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สถาปนาขึ้นเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทาน มีดังต่อไปนี้

พ.ศ. ๒๔๕๑ ได้รับพระราชทาน เหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น ๔ รัชกาลที่ ๕

พ.ศ. ๒๔๖๔ ได้รับพระราชทาน จตุรถาภรณ์มงกุฎไทย

พ.ศ. ๒๔๖๙ ได้รับพระราชทาน เหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น ๔ รัชกาลที่ ๗

พ.ศ. ๒๔๗๐ ได้รับพระราชทาน ตริตาภรณ์ช้างเผือก

พ.ศ. ๒๔๗๑ ได้รับพระราชทาน ทุติยจุลจอมเกล้า

พ.ศ. ๒๔๗๓ ได้รับพระราชทาน ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย

พ.ศ. ๒๔๗๓ ได้รับพระราชทาน เหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น ๓ รัชกาลที่ ๗

พ.ศ. ๒๔๗๔ ได้รับพระราชทาน ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก

พ.ศ. ๒๔๘๐ ได้รับพระราชทาน ประถมาภรณ์มงกุฎไทย

พ.ศ. ๒๔๘๓ ได้รับพระราชทาน ประถมาภรณ์ช้างเผือก

พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้รับพระราชทาน ประถมจุลจอมเกล้า

พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้รับพระราชทาน เหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น ๑ รัชกาลที่ ๙

พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้รับพระราชทาน มหาวชิรมงกุฎ

พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้รับพระราชทาน มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก

สำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของต่างประเทศ ได้ทรงรับตราเซนต์มอริส และ เซนต์ลาซาร์ ของอิตาลี

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ