สถานการณ์คลังปัจจุบัน

(๑) คำนำ

๑. การคลังในขณะนี้ตกอยู่ในภาวะคับขันมากยิ่งกว่าในสมัยใด ๆ สถานการณ์ปัจจุบันสรุปลงได้ย่อ ๆ ว่า เงินรายได้ไม่พอจ่ายมาหลายปี งบประมาณปัจจุบันก็ไม่เป็นดุลยภาพ มีหนี้เป็นจำนวนมากซึ่งจะถึงกำหนดต้องชำระในปีนี้ปีหน้า เงินมีค่าลดต่ำลงเป็นลำดับ และสมรรถภาพและศีลธรรมของข้าราชการเสื่อมลง

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนมีความสัมพันธ์กันทั้งสิ้น กล่าวคือ ตราบใดที่งบประมาณไม่เป็นดุลยภาพ และรัฐบาลจ่ายเงินเกินกว่ารายได้ ก็ต้องกู้เงินและพิมพ์ธนบัตรเพื่อใช้จ่ายเรื่อยไป การกระทำเช่นนี้เป็นเหตุอันหนึ่งที่บังคับให้ค่าของเงินตกต่ำไม่หยุด และหนี้ก็งอกขึ้นด้วย อนึ่ง ตราบใดที่ค่าของเงินยังตกไม่หยุดจะจัดงบประมาณให้เป็นดุลยภาพก็ไม่ได้ เพราะรายจ่ายย่อมพองขึ้นไม่หยุดเหมือนกัน

ต่อไปนี้จะได้เสนอข้อเท็จจริงและตัวเลขเพื่อแสดงให้เห็นสถานการณ์ โดยชัดแจ้ง

(๒) รายได้รายจ่ายจริง

๒๔๘๐ - ๒๔๘๗

๒. รายได้รายจ่ายจริงตั้งแต่ ๒๔๘๐ ถึงสิ้น ๒๔๘๗ ปรากฏดั่งต่อไปนี้

ปีงบประมาณ รายได้ รายจ่าย รายได้ ต่ำกว่า - สูงกว่า + รายจ่าย
  บาท บาท บาท
2480 109,412,310 125,940,867 - 16,528,557
2481 118,351,337 132,913,013 - 14,561,676
เม.ย. – ก.ย. 2482 59,611,536 74,198,340 - 14,586,804
ต.ค. 82 – ก.ย. 83 146,478,068 161,480,147 - 15,002,079
ต.ค 83 – ธ.ค. 83 37,180,468 28,419,181 + 8,761,287
2484 161,064,608 198,411,870 - 37,347,262
2485 142,154,471 198,711,420 - 56,556,949
2486 176,733,761 249,055,953 - 72,322,192
2487 267,413,378 363,731,217 - 96,317,839

๓. รายจ่ายที่เกินกว่ารายได้นั้น ในปีต้นๆ ได้จ่ายจาก (ก) เงินคงคลัง คือเงินเหลือจ่ายในปีก่อน ๆ สะสมไว้ในคลัง และ (ข) เงินสำรองใช้หนิ้เงินกู้ คือรายได้ที่กันไว้ในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๐ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๔ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ต่างประเทศให้หมดสิ้นก่อนกำหนด ครั้นเมื่อเงินสองรายนี้หมดไปแล้ว รายจ่ายที่เกินกว่ารายได้นั้นก็ได้จ่ายจากเงินกู้สาธารณะ หรือจากเงินที่กู้จากธนาคารแห่งประเทศไทย

๔. เงินกู้สาธารณะที่กู้เพื่อการใช้จ่ายที่กล่าวนั้น มีอยู่ด้วยกันสองรายคือ

(ก) เงินกู้ช่วยชาติ ๒๔๘๓
ดอกเบี้ยร้อยละ ๒ ต้นเงิน ๓,๒๘๗,๘๖๐ บาท
(ข) เงินกู้เพื่อชาติ ๒๔๘๔ (พันธบัตรทองคำ)
ดอกเบี้ยร้อยละ ๓  ต้นเงิน ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท
  รวม ๓๓,๒๘๗,๘๖๐ บาท

  ๕. การกู้เงินจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้ใช้วิธีออก พันธบัตรคลัง ตามกฎหมายระบบเงินตราในภาวะฉุกเฉิน พันธบัตรเหล่านี้เมื่อธนาคารได้รับไว้แล้วก็เครดิตบัญชีกระทรวงการคลังเท่าราคาพันธบัตรเมื่อคลังถอนเงินไปใช้จ่าย และเงินสดของธนาคารลดน้อยลง ธนาคารก็โอนพันธบัตรจากฝ่ายการธนาคารไปให้ฝ่ายออกบัตรธนาคาร แล้วจำหน่ายธนบัตรแลกเปลี่ยนกับพันธบัตรเหล่านั้น การออกพันธบัตรคลังจึ่งเท่ากับพิมพ์ธนบัตรออกมาสำหรับรัฐบาลใช้จ่าย และเป็นผลให้ค่าของเงินตกต่ำ

เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๔๘๗ มีพันธบัตรคลังที่ออกไปแล้ว ๑๖๗,๙๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งถึงกำหนดต้องใช้เงินคืนใน ๒๔๘๘ และ ๒๔๘๙

(๓) รายได้รายจ่าย

พ.ศ. ๒๔๘๘

๖. งบประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๘ แสดงว่าจะมีรายจ่ายเกินกว่ารายได้ถึง ๑๓๘,๓๗๐,๑๕๕ บาท ในหกเดือนแรกของปีนี้รายจ่ายจริงสูงกว่ารายได้จริงประมาณ ๒๖ ล้านบาทเท่านั้น แต่ก็คาดว่าถ้าไม่ตัดรายจ่ายลงให้มากในขณะนี้ รายจ่ายจริงทั้งปีคงจะสูงกว่ารายได้จริงไม่น้อยเลย และอาจจะสูงกว่ากันเท่า ๆ ที่คำนวณไว้ในงบประมาณก็ได้ ทั้งนี้เพราะเหตุว่าในงบประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๘ นั้น ได้ตั้งรายจ่ายโดยไม่ได้คำนึงว่าค่าของเงินตกไม่หยุด เงินที่ตั้งไว้สำหรับการใช้จ่ายทั้งปีบางกระทรวงจึงได้จ่ายไปหมดสิ้นภายในเวลาไม่กี่เดือน นอกจากนี้บางกระทรวงยังมีรายจ่ายนอกเหนืองบประมาณอยู่อีก

๗. รายจ่ายที่เกินกว่ารายได้ในปีนี้ ได้จ่ายจาก (ก) เงินกู้จากธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งได้กู้โดยวิธีออกพันธบัตรคลังดั่งกล่าวแล้วในข้อ ๕ และ (ข) เงินกู้จากธนาคารต่าง ๆ ซึ่งกู้โดยวิธีออก ตั๋วเงินคลัง อนึ่ง กระทรวงการคลังกำลังดำริจะออกเงินกู้สาธารณะอีกครั้งหนึ่งก็พอดีที่สงครามหยุดลงและรัฐบาลลาออก เรื่องจึงค้างพิจารณาอยู่

(๔) หนี้สาธารณะ

๘. หนี้สาธารณะมีอยู่ ๓ ลักษณะ คือ (ก) หนี้เงินกู้เป็นปอนด์สเตอร์ลิงก์ซึ่งเป็นหนี้เก่าค้างชำระอยู่ (ข) หนี้ที่เกิดขึ้นเพราะรายได้ไม่พอจ่าย ดั่งกล่าวแล้วข้างบนนี้ และ (ค) หนี้เงินกู้เพื่อกิจการบางอย่างโดยเฉพาะ เช่นเพื่อจัดการสหกรณ์เป็นต้น

๙. เงินกู้ต่างประเทศค้างชำระเมื่อ ๓๐ มิถุนายน ๒๔๘๘ มีจำนวนต่อไปนี้

  เงินค้าง
  ต้นเงิน ดอกเบี้ย
  ปอนด์ ปอนด์
เงินกู้ ๓,๐๐๐,๐๐๐ ปอนด์ ค.ศ. ๑๙๐๗ ๘๘๖,๒๐๐-๐-๐ ๑๔๔,๖๙๐-๖-๐
เงินกู้ ๕,๖๓๐,๐๐๐ ปอนด์ ค.ศ. ๑๙๐๙ ๑,๙๕๐,๓๘๘-๙-๒ ๓๖๗,๑๐๗-๖-๒
เงินกู้ ๒,๓๔๐,๐๐๐ ปอนด์ ค.ศ. ๑๙๓๖ ๒,๐๘๖,๖๐๐-๐-๐ ๑,๑๔๐,๖๗๑-๑-๐
  ๔,๙๒๓,๑๘๘-๙-๒ ๑,๖๕๒,๔๖๘-๑๓-๒

๑๐. หนี้ที่เกิดเพราะรายจ่ายเกินกว่ารายได้ ค้างชำระเมื่อ ๓๐ มิถุนายน ๒๔๘๘ ตามจำนวนต่อไปนี้

  บาท
เงินกู้สาธารณะ
เงินกู้ช่วยชาติ ๒๔๘๓ ถึงกำหนดชำระใน ๒๔๙๓ ๓,๑๑๙,๓๖๐
เงินกู้เพื่อชาติ ๒๔๘๕ ถึงกำหนดชำระใน ๒๔๙๔ ๓๐,๐๐๐,๐๐๐
“หนี้ลอย”
พันธบัตรคลัง ถึงกำหนดชำระใน ๒๔๘๘-๘๙ ๒๐๒,๕๐๐,๐๐๐
ตั๋วเงินคลัง (อายุ ๔ เดือน) ๑๐,๐๐๐,๐๐๐
  ๒๔๕,๖๑๙,๓๖๐

๑๑. หนี้เงินกู้เพื่อกิจการบางอย่างโดยเฉพาะ ค้างชำระเมื่อ ๓๐ มิถุนายน ๒๔๘๘ ตามจำนวนต่อไปนี้

เงินกู้เพื่อสหกรณ์ ๒๔๘๓ ๑๙,๑๙๙,๙๐๐ บาท
เงินกู้เพื่อเทศบาล ๒๔๘๓ ๑๖,๙๕๔,๘๐๐ บาท
เงินกู้เพื่ออุตสาหกรรม ๒๔๘๓ ๑๙,๒๓๖,๐๐๐ บาท
เงินกู้เพื่อสหกรณ์ ๒๔๘๕ ๕,๘๐๐,๐๐๐ บาท
เงินกู้เพื่ออุตสาหกรรม ๒๔๘๕ ๑๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท
  ๗๙,๑๙๐,๗๐๐ บาท

ต้นเงินและดอกเบี้ยเงินกู้ประเภทนี้ คลังชำระด้วยเงินที่ได้จากสหกรณ์ เทศบาล และบริษัทหรือองค์การต่างๆ บรรดาที่ได้กู้เงินไปจากคลังอีกต่อหนึ่ง แต่ว่าถ้าสหกรณ์ ฯลฯ ไม่มีเงินชำระให้แก่คลัง คลังก็จะต้องหาเงินชำระให้แก่ผู้ถือพันธบัตร

(๕) ค่าของเงิน

๑๒. การตกต่ำแห่งค่าของเงินนั้น พอวัดได้ด้วยระดับราคาสินค้าและอัตราค่าครองชีพ สถิติมีอยู่เพียงธันวาคม ๒๔๘๗ และปรากฏดั่งต่อไปนี้

ธันวาคม ๒๔๘๔ = ๑๐๐

เดือนปี ราคาขายส่ง อัตราค่าครองชีพ
(กระทรวงพาณิชย์) (หอการค้าญี่ปุ่น)
ธันวาคม ๒๔๘๕ ๑๑๑ ๑๓๓ ๒๐๖
ธันวาคม ๒๔๘๖ ๑๕๒ ๒๑๙ ๓๓๒
ธันวาคม ๒๔๘๗ ๒๑๔ ๓๖๒ ๙๐๕

(๖) สรุปความ

๑๓. การบูรณะบ้านเมืองให้กลับคืนสู่ปกติภาพ เพื่อเป็นทางนำมาซึ่งความมั่งคั่งสมบูรณ์ต่อไปนั้น จำต้องอาศัยเสถียรภาพแห่งค่าของเงินเป็นหลัก หรือกล่าวอิกนัยหนึ่ง เงินจะต้องมีค่าอันเรียกได้ว่ายืนที่มั่นคง การค้าขายและธุรกิจทั้งปวงจึงจะมีหลักดำเนินไปได้ด้วยดี ถ้าเงินมีค่าตกต่ำอยู่ไม่หยุดยั้ง แม้แต่การปกครองบ้านเมืองก็จะกระทำให้ดีไม่ได้

๑๔. เหตุที่กระทำให้ค่าของเงินไม่เป็นเสถียรภาพนั้นมีอยู่ ๓ ประการ เรียงตามลำดับแห่งความสำคัญได้ดังต่อไปนี้ คือ

(๑) การใช้จ่ายของทหารญี่ปุ่น (๒) รัฐบาลจ่ายเงินเกินกว่ารายได้ และ (๓) อัตราแลกเปลี่ยนบาทกับเย็น

เหตุประการที่ (๑) และที่ (๓) นั้นเกี่ยวกับการเงิน จึงได้อธิบายไว้ในบันทึกว่าด้วยสถานการณ์เงินแล้ว และบัดนี้ก็มีแต่จะหมดไป แต่เหตุประการที่ (๒) คือการจ่ายเงินเกินกว่ารายได้นั้นเป็นเรื่องที่รัฐบาลเองจะต้องแก้ไข.

สำนักงานที่ปรึกษา กระทรวงการคลัง

๕ กันยายน ๒๔๘๘

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ