คำอธิบายร่างกฎกระทรวงการคลัง ออกตาม พ.ร.ก. ควบคุมเครดิตในภาวะคับขัน พ.ศ. ๒๔๘๖

ร่างข้อ ๒

๑. ความมุ่งหมายคือจะป้องกันการเฟ้อแห่งเครดิตโดยวิธีบังคับธนาคารให้ซื้อพันธบัตรรัฐบาลให้มาก เงินที่จะมีเหลือสำหรับให้บุคคลอื่นกู้ยืมจะได้ลดลง แต่ถ้าจะบังคับไปเช่นนี้ตรง ๆ สำหรับบางธนาคารอาจมีข้อติดขัด ดั่งเหตุผลซึ่งจะได้กล่าวต่อไปภายหลัง เพื่อหลีกเลี่ยงข้อติดขัดที่อาจจะเกิดขึ้น จึ่งได้ร่างเป็นความว่า ห้ามมิให้ธนาคารให้กู้ยืมเงิน เว้นแต่จะได้รับอนุญาต (วรรค ๑) แต่ถ้าธนาคารใดถือพันธบัตรรัฐบาลเป็นราคามากเท่าที่กำหนด ก็ให้ธนาคารนั้นได้รับยกเว้นจากข้อห้าม (วรรค ๒)

ในกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามวรรค ๑ (ถ้ามี) การอนุญาตก็จะถือหลักว่าจะอนุญาตรายที่จะได้ ประโยชน์เป็นส่วนรวม ด้วย เช่นให้กู้ยืมเงินเพื่อสั่งสินค้าเข้ามาหรือเพื่อผลิตสินค้าโดยตรง แต่รายใดที่จะเสียประโยชน์ส่วนรวม เช่นให้กู้ยืมไปซื้อสินค้าที่มีอยู่แล้ว ก็จะไม่อนุญาต เมื่อมีการจำกัดเช่นนี้ธนาคารก็ควรจะมีเงินเหลืออยู่บ้าง ซึ่งถ้าไม่ซื้อพันธบัตรก็จะอยู่เปล่า และแม้จะอยู่เปล่า ก็ยังได้ผลในการกันเครดิตเฟ้อ

ต่อไปนี้ จะได้พิจารณาว่าธนาคารใดอาจมีข้อติดขัดในการปฏิบัติตามวรรค ๒

๒. เมื่อ ๓๑ มีนาคม ๒๔๘๖ ตัวเลขของธนาคารที่จดทะเบียนในประเทศไทยรวม ๖ ธนาคาร ปรากฏดั่งนี้

เงินฝาก ๘๙,๙๑๑,๐๐๐ บาท
พันธบัตรที่ถืออยู่แล้ว ๓๑,๘๔๒,๐๐๐ บาท
พันธบัตรเท่ากับ ๓๕ % ของเงินฝาก

ฉะนั้น กล่าวทั่ว ๆ ไป ธนาคารจำพวกนี้จะปฏิบัติตามวรรค ๒ ได้ไม่ติดขัด

๓. แต่ในจำพวกธนาคารที่จดทะเบียนในประเทศไทยนั้น ธนาคาร...... อยู่ในฐานะต่างจากธนาคารไทยอื่นๆ เพราะถือพันธบัตรอยู่น้อย ดั่งปรากฏต่อไปนี้

เงินฝาก ๑๑,๐๗๑,๐๐๐ บาท
พันธบัตรที่ถืออยู่แล้ว ๕๐,๐๐๐ บาท
พันธบัตรเท่ากับ ๐.๕ % ของเงินฝาก
จึ่งจะต้องซื้อพันธบัตรอีก ๔,๓๗๘,๐๐๐ บาท
แต่มีเงินสด ๓,๒๕๓,๐๐๐ บาท
และเงินให้กู้ยืม ๕,๗๒๙,๐๐๐ บาท

ตัวเลขข้างบนนี้ทำให้เห็นว่าธนาคารนี้จะปฏิบัติตามวรรค ๒ ได้โดยวิธีลดเงินสดและเงินให้กู้ยืมลง และโดยที่เป็นธนาคารไทยแท้ๆ ก็ควรจะปฏิบัติเพื่อเป็นการช่วยเหลือรัฐบาลด้วย ทั้งที่ธนาคารไทยอื่น ๆ ทำอยู่แล้ว อนึ่ง การซื้อพันธบัตรแทนการให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินนั้น โดยเฉพาะธนาคารนี้อาจไม่เสียประโยชน์เลย หรือกลับได้ประโยชน์ดีขึ้น เพราะเงินที่ธนาคารนี้ให้กู้ไปนั้นบางรายมีดอกเบี้ยต่ำกว่าดอกเบี้ยพันธบัตร

๔. ธนาคารที่จดทะเบียนในต่างประเทศนั้น มีที่เป็นสำคัญก็เฉพาะธนาคารโยโกฮามา ซึ่งมีตัวเลขเมื่อ ๓๑ มีนาคม ๒๔๘๖ ดั่งต่อไปนี้

เงินฝาก ๓๐,๗๓๔,๐๐๐ บาท
พันธบัตร _ บาท
จึ่งจะต้องซื้อพันธบัตร ๑๒.๒๙๓,๐๐๐ บาท
มีเงินสด ๔,๘๓๑,๐๐๐ บาท
มิเงินให้กู้ยืม ๑๑,๑๖๙,๐๐๐ บาท
มีสินทรัพย์ในต่างประเทศ ๑๖,๗๗๗,๐๐๐ บาท

ฉะนั้น ธนาคารนี้จะต้องลดเงินให้กู้ยืมและสินทรัพย์ในต่างประเทศลงมาก จึ่งจะปฏิบัติตามวรรค ๒ ได้

๕. แต่ธนาคารโยโกฮามาอ้างว่าเป็นธนาคารแลกเปลี่ยน (exchange bank) มิใช่เป็นธนาคารรับฝาก (deposit bank) ฉะนั้นโดยปกติไม่ควรมิเงินฝากมากมาย จึงได้สอบสวนได้ความว่าเงินฝาก ๓๐ ล้านบาทเศษนั้นมีเงินของทหารญี่ปุ่นอยู่ด้วยประมาณ ๑๓ ล้านบาทเศษ เงินรายนี้ธนาคารเบิกไปก่อนที่ต้องจ่ายเพื่อทหาร และใช้ประโยชน์ในทางอื่นเสียก่อนซึ่งเป็นการที่ไม่ควรปฏิบัติ

ฉะนั้น ถ้าธนาคารนี้ไม่ต้องการซื้อพันธบัตรมาก ก็อาจเลิกใช้วิธีเบิกเงินทหารไปก่อนความจำเป็น ส่วนเงินที่เบิกไปใช้ทำประโยชน์ก็ควรจัดการถอนคืนมา แล้วจะฝากธนาคารแห่งประเทศไทยไว้ก่อนก็ได้

เมื่อหักเงินของทหารญี่ปุ่นออกแล้ว ตัวเลขของธนาคารจะเป็นดั่งนี้

เงินฝาก ๑๗,๗๐๐,๐๐๐ บาท
จะต้องซื้อพันธบัตร ๗,๐๘๐,๐๐๐ บาท

๖. จึ่งสรุปลงได้ว่า ธนาคารโยโกฮามามีทางเลือกปฏิบัติได้ ๒ ทาง คือ

ก. ปฏิบัติตามวรรค ๒ โดยซื้อพันธบัตรประมาณ ๑๒ ล้านบาท

ข. คืนเงินทหารเสีย และปฏิบัติตามวรรค ๒ โดยซื้อพันธบัตรประมาณ ๗ ล้านบาท

ในที่นี้มีข้อควรสังเกตด้วยว่า ธนาคารต่างๆในประเทศญี่ปุ่นก็ถือพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นราว ๔๐ % ของเงินฝาก และในประเทศนั้นก็มีกฎหมาย (Temporary Funds Adjustment Law) บัญญัติว่า ธนาคาร ฯลฯ ที่จะให้กู้ยืมเงินเพื่อการตั้ง หรือการขยาย หรือการทำให้ดีขึ้น ซึ่งการอุตสาหกรรม หรือที่จะลงเงินซื้อหลักทรัพย์ จะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาล

ร่างข้อ ๓

๑. บริษัทประกันภัยเวลานี้มีทั้งไทยและต่างประเทศ ตัวเลขมีดั่งต่อไปนี้

  บริษัทไทย บริษัทต่างประเทศ
  บาท บาท
เบี้ยประกันภัย (๒๔๘๕) ๑,๓๒๔,๐๐๐ ๘๖๖๖,๐๐๐
เงินสด ๒,๓๔๖,๐๐๐
เงินลงทุนหาผลประโยชน์ในประเทศไทย ๒,๒๙๕,๐๐๐

(หมายเหตุ บริษัทต่างประเทศส่งเบี้ยประกันภัยที่ได้รับออกไปต่างประเทศ)

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า บริษัทประกันภัยได้รับเบี้ยประกันภัยไม่น้อย และบริษัทไทยมีเงินสดไม่น้อยเหมือนกัน จึ่งควรกีดกันมิให้ออกให้กู้ยืมได้มากเกินไป การกีดกันเป็นส่วนหนึ่งแห่งการกันเครดิตเฟ้อ และให้ความเป็นธรรมแก่ธนาคาร ในร่างนี้จึ่งได้กำหนดให้บริษัทประกันภัยต้องซื้อพันธบัตร และอาศัยจำนวนเงินที่ลงทุนหาผลประโยชน์เป็นเกณฑ์กำหนดจำนวนพันธบัตรที่ให้ซื้อ ถ้าบริษัทยิ่งลงทุนให้กู้ยืมมากก็ยิ่งจะต้องซื้อพันธบัตรมาก วิธีการทำนองนี้ทราบว่าประเทศอิตาลีเคยใช้มาแล้ว คือมีกฎหมายบังคับว่า เมื่อผู้ใดจะซื้อแชร์บริษัท ฯลฯ เท่าใด จะต้องซื้อพันธบัตรรัฐบาลด้วยเป็นจำนวนเท่านั้น

๒. แต่บริษัทต่างประเทศขณะนี้ส่งเบี้ยประกันภัยไปต่างประเทศ ไม่ได้ลงทุนหาผลประโยชน์ในประเทศไทย เรียกได้ว่าไม่มีส่วนในการที่อาจทำให้เครดิตเฟ้อ แต่ถ้าจะไม่บังคับให้ซื้อพันธบัตรเสียเลยก็น่าจะไม่เป็นธรรมแก่บริษัทไทย และอีกประการหนึ่ง บริษัทต่างประเทศเหล่านี้มาหากินในประเทศไทยก็ควรต้องมีส่วนช่วยเหลือรัฐบาลไทยในยามคับขันเช่น ในร่างกฎข้อนี้จึ่งได้อาศัยเอาเบี้ยประกันภัยเป็นอีกเกณฑ์หนึ่งในการกำหนดจำนวนพันธบัตรที่บริษัทประกันภัยจะต้องซื้อ

๓. ในที่นี้ขอเสนอด้วยว่า ถ้าจะอาศัยเบี้ยประกันภัยเป็นเกณฑ์แต่อย่างเดียวก็อาจจะไม่ได้ผลดีพอในทางกันเครดิตเฟ้อ เพราะบริษัทอาจกู้ยืมเงินจากธนาคารหรือบุคคลอื่นมาลงทุนหาผลประโยชน์ได้ ถ้าไม่มีเกณฑ์ดั่งกล่าวใน ๒. ไว้ด้วย ก็ขาดเครื่องกีดกันการให้กู้ยืมเงินมากเกินไป

๔. เมื่อใช้ตัวเลขใน ๑. คำนวณตามอัตราในร่างกฎข้อนี้แล้ว จะได้ผลดั่งนี้

บริษัทไทย

ร้อยละ ๔๕ ของเงินลงทุนหาผลประโยชน์ ๑,๐๓๒,๐๐๐ บาท
ร้อยละ ๗๕ ของเบี้ยประกันภัยในปีหนึ่งๆ ๙๙๓,๐๐๐ บาท

บริษัทต่างประเทศ

ร้อยละ ๗๕ ของเบี้ยประกันภัยในปีหนึ่ง ๆ ๖๔๙,๐๐๐ บาท

ตามตัวเลขนี้ควรถือได้ว่าบริษัทไทยและต่างประเทศไม่ได้เปรียบเสียเปรียบแก่กัน คือบริษัทไทยจะต้องซื้อพันธบัตร ๑,๐๓๒,๐๐๐ บาท ซึ่งประมาณเท่า ๆ กับร้อยละ ๗๕ ของเบี้ยประกันภัย บริษัทต่างประเทศก็จะต้องซื้อร้อยละ ๗๕ ของเบี้ยประกันภัยเหมือนกัน

๕. อนึ่ง การบังคับให้ซื้อพันธบัตรนั้น ในร่างกฎมิได้บังคับว่าให้ซื้อทุกปี หากให้ถือพันธบัตรไว้ตามเกณฑ์ที่กำหนดเท่านั้น ฉะนั้น บริษัทไทยควรจะปฏิบัติตามกฎนี้ได้โดยสะดวก เพราะมีเงินสดอยู่แล้วถึง ๒ ล้านบาทเศษ บริษัทเหล่านี้กลับจะได้ประโยชน์ดีขึ้นเสียอีก เพราะดอกเบี้ยพันธบัตรสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร อนึ่ง บริษัทประกันภัยอยู่ในฐานะต่างจากธนาคารในข้อที่ไม่จำต้องจ่ายเงินสดทันทีเมื่อถูกทวงถาม จึ่งอาจถือพันธบัตรไว้ได้มาก

ร่างข้อ ๔ และข้อ ๕

๑. บริษัทออมสินเวลานี้มีแต่บริษัทสากลออมสิน และทราบมาว่าเวลานี้คิดจะเลิกไปโดยวิธีรับแต่เงินของผู้ที่ซื้อบอนด์ไว้แล้ว ไม่ขายบอนด์ใหม่อีกต่อไป พรีเมียมที่จะได้รับจึงจะลดน้อยลงเป็นลำดับ ใน พ.ศ. ๒๔๘๕ ปรากฏดั่งนี้

ม.ค. – มี.ค. ๓๑,๘๒๔ บาท
เม.ย. – มิ.ย. ๓๔,๓๗๑ บาท
ก.ค. – ก.ย. ๓๑.๔๒๑ บาท
ต.ค. – ธ.ค. ๒๖,๙๒๕ บาท
รวม ๑๒๔,๕๔๑ บาท

ในปีนี้ไม่มีเงินส่งออกไปเลย ทั้งยังต้องนำเงินเข้ามาจากต่างประเทศด้วยบ้าง การลงทุนหาผลประโยชน์ในประเทศไทยไม่มีเลย นอกจากที่ให้ผู้ถือบอนด์กู้ ฉะนั้น ถ้าจะยังไม่บังคับบริษัทนี้อย่างไรก็คงไม่มีการเสียหาย แต่เห็นว่าบริษัทนี้ได้หากินในประเทศไทยมานานแล้ว จึ่งควรต้องช่วยเหลือรัฐบาลบ้างในยามนี้

๒. การบังคับให้บริษัทนี้ซื้อพันธบัตรรัฐบาล มีข้อวิตกอยู่ว่า ถ้าบังคับรุนแรงเกินไปบริษัทอาจเลิกกิจการไปเสีย คนไทยที่ถือบอนด์อยู่ก็จะต้องเสียหาย ในร่างนี้จึ่งบังคับให้ซื้อเพียงร้อยละ ๒๕ ของพรีเมียมในไตรมาสหนึ่ง ๆ และจะเป็นผลดั่งนี้

  พรีเมียม ต้องซื้อพันธบัตร
  บาท บาท
ในไตรมาสหนึ่งๆ (ประมาณ) ๓๑,๐๐๐ ๗,๗๕๐
ในปีหนึ่งๆ (ประมาณ) ๑๒๔,๐๐๐ ๓๑,๐๐๐

พันธบัตรที่บริษัทซื้อนั้น ในร่างได้เปิดทางให้บริษัทขายได้เมื่อเจ้าพนักงานเห็นจำเป็น เพื่อบริษัทจะได้ชำระเงินให้แก่ผู้ถือบอนด์ได้สะดวก

๓. ในร่างข้อ ๖ ได้เปิดทางให้บริษัทให้ผู้ถือบอนด์กู้เงินได้โดยปราศจากการกีดกัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้ถือบอนด์มีทางได้เงินของตนคืนมาบ้าง แต่การที่บริษัทจะให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินนนสมควรมีการกีดกันเพื่อมิให้บริษัทได้เปรียบธนาคารหรือองค์การเครดิตอื่นๆ จึ่งได้กำหนดไว้ว่า เมื่อให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินเท่าไร จะต้องซื้อพันธบัตรรัฐบาลด้วยเป็นจำนวนเท่ากัน การบังคับเช่นนี้ปรากฏว่าเป็นวิธีที่ประเทศอิตาลีเคยใช้มา ดั่งกล่าวข้างบนแล้ว

ร่างข้อ ๖

กฎเกณฑ์ที่กำหนดในข้อนี้ตั้งใจจะให้คลุมถึงท่านที่มีทุนทรัพย์มาก ตลอดถึงหุ้นส่วนที่ไม่ได้จดทะเบียน แต่ไม่ถึงผู้ที่หากินอย่างสามัญธรรมดา เช่นรับจำนำจำนองอยู่กับบ้าน

ร่างข้อ ๗

การบังคับองค์การเครดิตที่ระบุในข้อนี้ (คือนิติบุคคลที่ให้กู้ยืมเงินและบุคคลธรรมดาหรือคณะบุคคลที่ระบุในข้อ ๖) รู้สึกว่าเป็นการยากลำบากที่จะตั้งกฎเกณฑ์ได้ เช่นบุคคลธรรมดาเมื่อมีรายได้มาแล้วย่อมต้องจ่ายเป็นค่าบำรุงรักษาทรัพย์สินเสียส่วนหนึ่ง เหลือจากนั้นอาจเอาไปใช้สอยส่วนตัว หรือลงทุนหาผลประโยชน์ต่อไปอีก หรือทั้งสองอย่าง บุคคลใดจะจ่ายเพื่อการใดเท่าใดส่วนก็ยากจะทราบได้ หรือถ้าจะมีบทบังคับกำหนดส่วนไว้ ก็จะเป็นการเข้าแทรกแซงในเรื่องส่วนตัวบุคคลมากเกินไป ในร่างนี้จึ่งได้ใช้วิธีให้ซื้อพันธบัตรเท่าจำนวนเงินที่จะให้บุคคลอื่นกู้ยืม โดยถือว่าเมื่อมีรายได้พอให้ผู้อื่นกู้ยืมก็ควรแบ่งให้รัฐบาลได้กู้ยืมบ้าง ซึ่งน่าจะพอแก่ความประสงค์ในอันจะควบคุมเครดิต และให้ความเป็นธรรมแก่ธนาคารแล้ว ส่วนข้อยกเว้นนั้นตั้งใจจะผ่อนผันมิให้บุคคลเหล่านี้ต้องรับความยุ่งยากที่จะต้องปฏิบัติตามข้อนี้ และจะสะดวกแก่เจ้าพนักงานด้วย อนึ่ง ถ้าบุคคลใดถือพันธบัตรไว้ถึงร้อยละ ๔๐ แห่งรายได้ในไตรมาสหนึ่งๆ ก่อนหักรายจ่ายก็น่าจะเป็นจำนวนสูงพอควรแล้ว และเงินที่จะเหลือให้บุคคลอื่นกู้ยืมได้ก็คงไม่มากนัก

หน่วยราชการ หมายความถึง พระคลังข้างที่ และ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งก็ควรถูกควบคุมด้วย แต่น่าจะให้เป็นการภายในจะดูเหมาะสมกว่า ในร่างนี้จึงควบคุมแต่เฉพาะทรัพย์สินของบุคคลอื่นซึ่งพระคลังข้างที่ครอบครองอยู่

ร่างข้อ ๘ ถึงข้อ ๑๐

เป็นเพียงบทที่จะให้ความสะดวกแก่เจ้าพนักงานในอันจะควบคุมองค์การเครดิตต่างๆ ให้ปฏิบัติตามกฎนี้

ส่วนธนาคารต่างๆไม่ต้องมีบทบังคับเช่นนี้ เพราะต้องแสดงรายการต่อธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่แล้ว

ร่างข้อ ๑๒

การปฏิบัติตามบทบังคับบางข้อที่ระบุไว้นั้น เพื่อความสะดวกเห็นควรผ่อนผันให้เวลาจนถึง ๑ กรกฎาคม ผู้ถูกบังคับจะได้มีโอกาสจัดเรื่องการเงินของเขา และฝ่ายเราจะได้มีพันธบัตรพอขายให้ (พันธบัตรทองคำออกในวันที่ ๒๔ มิถุนายน) อนึ่ง การผ่อนผันยังกำหนดให้มีระยะที่ ๒ อีก เผื่อจะมีกรณีจำเป็นจริง

การผ่อนผันเป็น ๒ ระยะเช่นนี้เหมาะกว่าระยะเดียว เพราะถ้าให้เวลาระยะเดียว ๓ – ๔ เดือน บางคนอาจนอนใจไม่ปฏิบัติจนกว่าจะจวนหมดเวลา แล้วก็จะมาร้องว่าปฏิบัติไม่ทัน.

๒๙ พฤษภาคม ๒๔๘๖

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ