คำนำ

ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย คณะกรรมการของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ว่า โดยที่พระองค์ท่านทรงมีส่วนสำคัญยิ่งในการจัดตั้งและวางรูปงานของธนาคาร จึงเห็นสมควรให้จัดพิมพ์หนังสือขึ้นสักเล่มหนึ่งในนามของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณตามพระประวัติของพระองค์ท่านให้เป็นหลักฐานปรากฏอยู่สืบไป

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ทรงเป็นผู้ประทานกำเนิดแก่ธนาคารแห่งประเทศไทยผู้หนึ่ง เมื่อ ๑๘ ปีมาแล้ว และได้ทรงดํารงตําแหน่งผู้ว่าการเป็นคนแรก คือตั้งแต่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๔๘๕ ถึง ๑๑ ตุลาคม ๒๔๘๙ และต่อมาพระองค์ได้ทรงรับตำแหน่งนี้อีกวาระหนึ่ง คือตั้งแต่ ๓ กันยายน ถึง ๒ ธันวาคม ๒๔๙๑ พระองค์ได้ทรงวางรากฐานไว้อย่างมั่นคง ในอันที่จะให้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปฏิบัติหน้าที่ธนาคารกลางอย่างครบถ้วนได้

การจัดตั้งธนาคารกลางขึ้นในระหว่างที่บ้านเมืองกําลังตกอยูในภาวะสงคราม ย่อมมีอุปสรรคนานัปการ แต่พระองค์ก็ได้ทรงฟันฝ่าอุปสรรคทั้งปวงเหล่านั้นจนลุล่วงไปได้ ทั้งนี้ก็ด้วยพระปรีชาสามารถและพระวิริยะอุตสาหะของพระองค์ท่าน ฉะนั้น ระยะเวลาประมาณระหว่างปี ๒๔๘๔ ถึง ๒๔๙๕ จึงนับได้ว่าเป็นสมัยที่พระองค์ท่านได้แสดงพระปรีชาสามารถให้ปรากฏเห็นเด่นชัดเป็นพิเศษ ทั้งในด้านการคลัง การธนาคาร และในด้านการเมืองระหว่างประเทศ

ในหนังสือเล่มนี้ ธนาคารได้เลือกพิมพ์บันทึกต่าง ๆ ที่พระองค์ท่านได้ทรงไว้ในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ทั้งขณะที่ทรงดํารงตําแหน่งที่ปรึกษากระทรวงการคลัง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้ว่าการแทนประเทศไทยในสภาผู้ว่าการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และได้คัดเลือกเอาแต่เรื่องที่เกี่ยวกับงานของธนาคารกลางที่เห็นว่ามีคุณค่าในแง่วิชาการและประวัติศาสตร์การเงินของประเทศ เพื่อเป็นทางเพิ่มพูนความรู้แก่ผู้มุ่งหาวิชาในด้านนี้ โดยที่บันทึกเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเอกสารทางราชการ ธนาคารจึงขอถือโอกาสขอบพระคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ได้อนุญาตให้ตีพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการสดุดีพระเกียรติไว้ ณ ที่นี้ด้วย

เป็นที่ทราบกันดีว่า พระองค์ทรงชํานาญภาษาอังกฤษเป็นอย่างยิ่ง บันทึกราชการที่มีความยาวและความสําคัญเป็นพิเศษนั้น มักจะทรงยกร่างขึ้นเป็นภาษาอังกฤษก่อน แล้วจึงทรงแปลเป็นภาษาไทยภายหลัง ฉะนั้นหนังสือเล่มนี้จึงมีภาษาอังกฤษรวมอยู่ด้วย เพื่อให้บรรดาชาวต่างประเทศจํานวนมากซึ่งนิยมนับถือพระองค์ท่านอยู่แล้วได้มีโอกาสซาบซึ้งในพระปรีชาสามารถยิ่งขึ้นในกาลอวสานแห่งพระชนม์ชีพนี้ นับเป็นการเผยแพร่พระเกียรติคุณให้ไพศาลอีกโสดหนึ่ง

อนึ่ง เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบบทบาทของพระองค์ท่านในประวัติศาสตร์ การเงินและการคลังของประเทศไทยในระยะที่กล่าวนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น จึงได้ขยายความบางตอนในพระประวัติการรับราชการ ดังผู้อ่านจะได้พบในบท “สดุดีพระเกียรติ”

ธนาคารขอน้อมอุทิศผลแห่งวิทยาทานอันเนื่องมาจากการพิมพ์หนังสือ “วิวัฒนไชยาบุสรณ์” นี้ ถวายแด่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ผู้เป็นเสมือนหนึ่งองค์บุพการีของธนาคารแห่งประเทศไทย และเป็นเอตทัคคะในทางการคลังและการเงินของประเทศไทย.

ธนาคารแห่งประเทศไทย

๑ เมษายน ๒๕๐๔

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ