การบุรณะเงินตราภายหลังสงคราม

๑. ความจำเป็นที่ต้องมีการบุรณะ

๑. ระบบเงินตราในปัจจุบันนี้อาศัยกฎกระทรวงการคลังที่ออกตามพระราชบัญญัติเงินตราในภาวะฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นหลัก พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. ๒๔๗๑ (รวมทั้งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม) ยังคงใช้อยู่แต่เฉพาะบทที่นับเป็นข้อปลีกย่อย แต่เมื่อสงครามที่ประเทศไทยกระทำอยู่นี้สิ้นสุดลง กฎหมายในภาวะฉุกเฉินจะเลิกล้มไป และพระราชบัญญัติเงินตราจะกลับใช้ใหม่ทุกบท

ระบบเงินตราที่บรรจุไว้ในพระราชบัญญัติเงินตรานั้นมีหลักการว่าให้ใช้สเตอร์ลิงก์เป็นมาตรากำหนดค่าของบาท และเทียบค่าไว้ ๑๑ บาทต่อปอนด์ อนึ่ง เพื่อดำรงไว้ซึ่งอัตราที่กล่าวนี้ จึ่งมีบทบัญญัติให้เจ้าหน้าที่เงินตราต้องซื้อหรือขายสเตอร์ลิงก์เมื่อมีผู้เรียกร้อง อัตราซื้อกำหนด ๑๐.๘๐ บาทต่อปอนด์ และอัตราขายกำหนด ๑๑.๒๐ บาทต่อปอนด์

เมื่อพิจารณาฐานะเงินตราในปัจจุบัน ก็เห็นได้ถนัดว่าเมื่อสงครามสิ้นสุดลงแล้วจะปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติเงินตราหาได้ไม่ และถ้าปล่อยปละละเลยไว้ไม่ปฏิบัติการบางอย่างก็จะไม่สามารถดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพแห่งค่า (หรือกำลังซื้อ) ของบาทไม่ว่าในอัตราใด ๆ ทั้งนี้เป็นเพราะเหตุใดจะอธิบายต่อไปนี้

๒. ความจำเป็นที่ต้องหาเงินให้ฝ่ายญี่ปุ่นใช้ในการทหาร และรายจ่ายของรัฐบาลเองในยามสงคราม ได้กระทำให้ภาวะเงินเฟ้อเกิดขึ้นแล้ว ธนบัตรออกใช้ในธันวาคม ๒๔๘๔ มีราคา ๒๙๗,๓๔๔,๐๗๙ บาท และในกันยายน ๒๔๘๗ มีราคาถึง ๑,๐๐๙,๑๒๐,๓๔๘ บาท เป็นการเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ ๒๓๙ อนึ่ง ถ้าแม้มิได้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมเครดิตเงินที่ธนาคารต่าง ๆ ให้กู้ยืมก็คงจะสูงกว่าที่เป็นจริงอีกมาก เมื่อเงินสำหรับใช้จ่าย (คือเงินตราและเครดิตธนาคาร) เพิ่มขึ้นเรื่อยไป แต่ของและบริการที่จะซื้อได้นั้นมิได้เพิ่มขึ้นด้วยตามส่วน ระดับราคาสินค้าในประเทศย่อมเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากสูงขึ้นเรื่อยไป หรือถ้าจะกล่าวอีกนัยหนึ่ง กำลังซื้อแห่งบาทในประเทศตกต่ำลงโดยไม่หยุดยั้ง

๓. อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลหนึ่งเป็นเงินตราอีกสกุลหนึ่งอันเป็นอัตราตามธรรมชาตินั้น ย่อมจะน้อมไปสู่ระดับเดียวกันกับอัตราส่วนของกำลังซื้อแห่งเงินตราทั้งสอง กล่าวคือ กำลังซื้อแห่งเงินตราสกุลหนึ่งในประเทศของตนและกำลังซื้อแห่งเงินตราอีกสกุลหนึ่งในประเทศของตนนั้น เมื่อเทียบกันแล้วได้อัตราส่วนเท่าใดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราทั้งสองย่อมเคลื่อนเข้าหาระดับแห่งอัตราส่วนนั้นเสมอไป เลขดัชนีราคาขายส่งเท่าที่มีในขณะนี้แสดงว่ากำลังซื้อแห่งบาทในประเทศไทยและกำลังซื้อแห่งสเตอร์ลิงก์ในประเทศอังกฤษนั้น เมื่อเทียบกันเข้าแล้วก็ได้อัตราส่วนที่ต่างไปจากเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ ทั้งนี้เพราะกำลังซื้อแห่งบาทได้ตกต่ำลงมาก แต่กำลังซื้อแห่งปอนด์ได้ตกต่ำน้อยกว่า ฉะนั้น อัตราแลกเปลี่ยนอันเป็นธรรมชาติระหว่างบาทกับปอนด์จึ่งไม่อยู่ใกล้กับระดับ ๑๑ บาทต่อปอนด์ การที่จะดำรงไว้ซึ่งค่าของบาทในระดับ ๑๑ บาทต่อปอนด์ตามเดิมจึ่งเป็นกิจที่จะกระทำไปไม่สำเร็จ เพราะฝืนธรรมชาติ

อนึ่ง แม้การแลกเปลี่ยนเงินจะน้อมไปสู่อัตราอันเป็นธรรมชาติเสมอไปก็ตาม แต่อัตราแลกเปลี่ยนจริงย่อมขึ้นๆ ลงๆ สูงหรือต่ำกว่าอัตราธรรมชาตินั้นบ้างไม่ว่าในขณะใด วัตถุประสงค์อันหนึ่งแห่งการมีทุนสำรองเงินตราจึงอยู่ที่จะบังคับมิให้อัตราแลกเปลี่ยนขึ้นๆ ลงๆ หากให้ยืนที่อยู่ในระดับอันนับเป็นอัตราธรรมชาติ เมื่อพิจารณาทุนสำรองเงินตราที่มีอยู่ขณะนี้ก็จะเห็นว่า แม้จะสมมติว่าอัตราธรรมชาตินั้นใกล้เคียงกับ ๑๑ บาทต่อปอนด์ ทุนสำรองที่มีอยู่ก็คงไม่พอเพียงแก่การจัดให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเสถียรภาพไม่ขึ้นๆ ลงๆ

๔. เหตุสำคัญอันกระทำให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติเงินตราไม่ได้ ก็คือ ไม่สามารถที่จะดำรงไว้ซึ่งค่าของบาทในอัตราที่กำหนดในพระราชบัญญัติ (คืออัตรา ๑๑ บาทต่อปอนด์) แต่การบุรณะเงินตรายังมีเหตุจำเป็นยิ่งไปกว่านี้อีก กำลังซื้อแห่งบาทในประเทศมีแต่เสื่อมลงเป็นลำดับ ถ้าไม่จัดให้การเสื่อมค่านี้ยุติลง ก็จะดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพแห่งกำลังซื้อนอกประเทศไม่ได้เลย ได้กล่าวมาแล้วข้างบนนี้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลหนึ่งเป็นอีกสกุลหนึ่งนั้นย่อมน้อมไปสู่ระดับเดียวกันกับอัตราส่วนของกำลังซื้อแห่งเงินนั้น ๆ ในประเทศของตน ฉะนั้น เมื่อกำลังซื้อแห่งบาทในประเทศไทยเสื่อมลงโดยไม่หยุดยั้ง แต่กำลังซื้อแห่งสเตอร์ลิงก์ในประเทศอังกฤษไม่เสื่อมลงเท่าๆ กัน อัตราส่วนของกำลังซื้อก็ย่อมลดลงโดยไม่หยุดยั้ง อัตราแลกเปลี่ยนเงินจึงจะตกต่ำลงเรื่อยไป จะยืนที่มั่นคงอยู่ในระดับใด ๆ หาได้ไม่ ฉะนั้น เมื่อจะให้บาทมีค่าอันเป็นเสถียรภาพทั้งในและนอกประเทศ การบุรณะก็เป็นความจำเป็นแท้จริง

๒. จุดประสงค์แห่งการบุรณะ

๕. กำลังซื้อ (หรือ ค่า) แห่งหน่วยเงิน (คือ บาท) ทั้งในและนอกประเทศนั้นจำเป็นจะต้องจัดให้ตั้งอยู่ในเสถียรภาพ เพราะถ้าไม่มีเสถียรภาพแล้ว การค้าและธุรกิจจะดำเนินไปได้ก็ด้วยความยากลำบาก และใช่แต่เท่านั้น แม้การปกครองแผ่นดินก็จะกระทำได้ด้วยความยากลำบากยิ่งเหมือนกัน ฉะนั้น จุดประสงค์แห่งบรรดาระบบการเงิน (คือเงินตราและเครดิต) จึงได้แก่เสถียรภาพแห่งหน่วยของเงิน

๖. บันทึกฉบับนี้จะว่าด้วยการบุรณะระบบเงินตราเท่าที่มีทางพิจารณาได้ในขั้นนี้ ความประสงค์ก็คือจะเสนอว่าจะควรกระทำกิจการที่เป็นสำคัญอย่างไรบ้างจึ่งจะเป็นทางให้ได้มาซึ่งระบบเงินตราอันมั่นคง กล่าวคือ ระบบที่จะกระทำให้กำลังซื้อแห่งบาททั้งในและนอกประเทศตั้งอยู่ในเสถียรภาพ

๓. มูลฐานแห่งการบุรณะ

๗. การบุรณะต้องอาศัยหลักสองประการต่อไปนี้เป็นมูลฐาน คือ

(๑) การดำรงไว้ซึ่งดุลยภาพแห่งงบประมาณแผ่นดิน

และ (๒) การจัดตั้งหลักการเงินตราขึ้นให้ถูกต้อง เพื่อยังเสถียรภาพแห่งเงิน

๘. หลักสองประการข้างบนนี้พึ่งพิงกันอยู่ จะแยกออกจากกันหาได้ไม่ ดั่งจะเห็นได้ต่อไปนี้ เมื่อรัฐบาลมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้และต้องจำหน่ายธนบัตรเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของรัฐบาลอยู่ตราบใด ตราบนั้นกำลังซื้อของบาทในประเทศก็จะเสื่อมลงเป็นลำดับโดยไม่มีทางแก้ไข และเมื่อกำลังซื้อในประเทศตกต่ำลงเช่นนี้ นอกจากมีผลกระทบกระเทือนในทางเศรษฐกิจหลายทาง ก็ยังกระทำให้กำลังซื้อนอกประเทศ (ซึ่งวัดด้วยอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินต่างประเทศ) ต้องเสื่อมลงไปด้วยเป็นลำดับ อนึ่ง เมื่อรายจ่ายยังสูงกว่ารายได้อยู่ตราบใด ตราบนั้นภาวะแห่งเงินเฟ้อจะต้องมีอยู่เพราะรายจ่ายของรัฐบาล และเมื่อยังมีการทำให้เงินเฟ้ออยู่ตราบใด ตราบนั้นก็จะจัดให้มีเงินตราที่เป็นเสถียรภาพหาได้ไม่ เพราะเมื่อปริมาณแห่งของ (รวมทั้งบริการ) ไม่เพิ่มขึ้นตามส่วนที่ปริมาณแห่งเงินเพิ่มขึ้นแล้วไซร้ ของเหล่านั้นจะซื้อได้ก็แต่โดยต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น เมื่อเงินตราไม่เป็นเสถียรภาพ งบประมาณก็จะเสียดุลยภาพอยู่ร่ำไป เพราะรายจ่าย (และเฉพาะอย่างยิ่งรายจ่ายในเมืองต่างประเทศ) จะเพิ่มขึ้นเรื่อยไป

อาศัยเหตุที่กล่าวมาแล้วนี้ ดุลยภาพแห่งงบประมาณและเสถียรภาพแห่งเงินจึ่งเป็นของคู่กัน จะมีอย่างหนึ่งแต่ไม่มีอีกอย่างหนึ่งหาได้ไม่

๙. หลักอันเป็นมูลฐานแห่งการบุรณะมีอยู่สองประการดั่งได้กล่าวมาแล้ว ต่อไปนี้จะเสนอว่ามีกิจการอันใดบ้างที่ควรได้รับการพิจารณา อนึ่ง กิจการที่จะกล่าวต่อไปนี้ย่อมเกี่ยวพันกับการเมือง แต่ในบันทึกฉบับนี้จะไม่คำนึงถึงการเมืองเลย หากจะเสนอความเห็นแต่เฉพาะจากแง่ที่นับเป็นเท็คนิคเท่านั้น

. กิจการที่ต้องพิจารณาเพื่อการบุรณะ

(ก) ดุลยภาพแห่งงบประมาณ

๑๐. กิจที่พึงปฏิบัติเพื่อให้งบประมาณเป็นดุลยภาพนั้น อาจจัดไว้ได้ภายใต้หัวข้อ ๓ ข้อ คือ

ก] รายจ่าย

ข] รายได้

และ ค] ลักษณะปกครองการคลัง

๑๑. รายจ่าย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๐ มาแล้วรายจ่ายสูงกว่ารายได้ทุกปี จึงเป็นการจำเป็นที่จะต้องลดรายจ่ายลงจากระดัปปัจจุบันนี้โดยเร็วที่สุดที่จะทำได้ อนึ่ง เมื่อคำนึงว่ารัฐบาลยังจะต้องมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นอีกมากในเวลาข้างหน้า การลดรายจ่ายปัจจุบันก็ยิ่งเป็นการจำเป็นมากขึ้น รายจ่ายที่จะเกิดขึ้นในเวลาข้างหน้านั้น มีตัวอย่างเช่น (ก) การชำระหนี้เงินกู้ที่เพิ่งได้กู้มาเมื่อเร็วๆ นี้ (ข) การบุรณะสินทรัพย์ที่มีอยู่ เช่น รถไฟเป็นต้น และ (ค) รายจ่ายตามข้อผูกพันที่อาจจะเกิดขึ้นใหม่

๑๒. เมื่อยังไม่มีการสอบสวนโดยละเอียดก็ยังเสนอไม่ได้ว่าการลดรายจ่ายจะควรจัดประการใดบ้าง ฉะนั้น จึ่งควรเริ่มต้นสอบสวนเสียโดยเร็วที่สุด และแม้แต่ในระหว่างเวลาสงครามนี้ก็น่าจะยังมีทางที่จะตัดทอนรายจ่ายลงได้บ้างเหมือนกัน

๑๓. รายได้ ระบบภาษีอากรในปัจจุบันนี้อาศัยภาษีทางอ้อมเป็นส่วนใหญ่ จึ่งน่าจะมีพลเมืองเป็นจำนวนมากที่เสียภาษีน้อยอยู่หรือไม่เสียเลย อีกประการหนึ่ง การพึ่งภาษีทางอ้อมนี้ย่อมทำให้ระบบภาษีขาดความยืดหยุ่น คือ เมื่อถึงเวลาต้องการรายได้เพิ่มขึ้นก็จะเก็บเงินเพิ่มขึ้นไม่ได้โดยเร็ว และเมื่อถึงเวลาที่อาจลดภาระแห่งภาษีลงได้ การลดภาษีลงโดยให้เป็นธรรมนั้นก็ทำไม่ได้ง่าย

ส่วนภาษีทางตรงก็ตกหนักอยู่แก่บุคคลบางจำพวกซึ่งมีทางหนีได้น้อย คือจำพวกที่ได้รับเงินเดือนหรือค่าเช่า ฝ่ายบุคคลอีกจำพวกหนึ่งคือทีประกอบการค้าหรือธุรกิจนั้นยังเสียภาษีน้อยกว่า ทั้งมีทางที่จะหนีภาษีได้ง่ายกว่ากันด้วย ความหนักอันตกอยู่ที่บุคคลที่มีรายได้ตายตัวนั้นก็ยิ่งจะหนักขึ้นไปอีกในขณะที่เงินเฟ้อ

๑๔. ข้อความที่กล่าวมาแล้วชวนให้เห็นว่า ควรบุรณะระบบภาษีโดยมีจุดประสงค์ต่อไปนี้ คือ

(ก) เฉลี่ยภาระภาษีให้เป็นธรรมดียิ่งขึ้น

(ข) จัดให้ระบบภาษีมีความยืดหยุ่นยิ่งขึ้น เพื่อให้มีทางได้เงินรายได้เพิ่มขึ้นโดยเร็วเมื่อจำเป็น

(ค) ป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี

การศึกษาในเรื่องนี้จะเริ่มต้นเสียก่อนที่สงครามสิ้นสุดงก็เป็นการสมควร

๑๕. ลักษณะปกครองการคลัง สิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่งในเรื่องนี้ก็คือ ควรฟื้นฟูหลักการที่เรียกว่า Unity แห่งงบประมาณนั้นขึ้นใหม่ อีกประการหนึ่ง การควบคุมรายจ่ายต้องอาศัยการเผยแพร่ความรู้ด้วย การเผยแพร่นี้ควรจัดขึ้นโดยเร็วที่สุดเมื่อสงครามเสร็จสิ้นแล้ว

เพื่อประโยชน์สองประการที่กล่าวนี้จึ่งขอเสนอว่า

(ก) บรรดารายจ่ายทั้งปวงที่จะต้องจ่ายในปีหนึ่งๆ นั้นควรตั้งไว้ในงบประมาณประจำปีทีเดียว รายจ่ายใดๆ เมื่อมิได้ตั้งไว้ในงบประมาณก็ไม่ควรยอมให้จ่าย เว้นไว้แต่จะมีเหตุจำเป็นแท้จริงเกิดขึ้นกลางปี และถ้าในปีใดจำเป็นต้องจ่ายเงินนอกเหนืองบประมาณก็ควรเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณเพิ่มเติมโดยเร็วที่สุด และขณะที่เสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณเพิ่มเติมก็ต้องเสนอด้วยว่าจะมีรายได้ใหม่อย่างไรคุ้มรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น หรือว่าจะมีเงินเหลือจ่ายที่จะนำมาจ่ายได้

(ข) ในปีงบประมาณปีหนึ่งๆ ควรออกประกาศเป็นครั้งคราวโดยมีกำหนดไม่น้อยกว่าเดือนละครั้ง ว่าการเก็บเงินรายได้และการจ่ายเงินตามงบประมาณปีนั้นได้ดำเนินไปอย่างไร ทั้งนี้ควรแสดงตัวเลขรายได้รายจ่ายจริงตามประเภทในงบประมาณ เทียบกับตัวเลขสำหรับระยะเวลาเดียวกันในปีก่อน และตัวเลขในงบประมาณประจำปีนั้นด้วย (อนึ่งงบประมาณรายได้ควรแสดงรายได้ตามประเภทที่ได้มา ไม่ใช่แสดงตัวเลขตามรายชื่อกรมที่บังเอิญเป็นผู้เก็บเงินนั้น ๆ)

(ข) เสถียรภาพแห่งเงิน

๑๖. การประชุมนานาชาติที่เบร็ตตอนวู้ดส์ได้ผลอย่างไรบ้าง ขณะนี้ยังไม่มีทางจะทราบได้ แต่การบุรณะเงินตราให้มีระบบมั่นคงนั้นเท่ากับเป็นการจัดบ้านของเราเอง แม้จะมีข้อตกลงระหว่างนานาชาติ หรือมีสัญญากับชาติใดอย่างไรก็ย่อมมีกิจการบางอย่างอันนับเป็นมูลฐานซึ่งจะต้องจัดการเอง

๑๗. กิจที่พึงปฏิบัติเพื่อให้กำลังซื้อแห่งเงินเป็นเสถียรภาพนั้น ได้แก่

(ก) การกำหนดว่าจะเอาสิ่งใดเป็นมาตรฐานแห่งค่าของบาท

(ข) การกำหนดค่าของบาทเทียบกับสิ่งที่เป็นมาตรฐาน

(ค) การจัดระบบการควบคุมการจำหน่ายธนบัตร

(ง) การจัดให้มีทุนสำรองเพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพแห่งค่าของบาท

(จ) การควบคุมการปริวรรตเงินไว้ชั่วคราว

(ฉ) การจัดระบบการควบคุมเครดิต

๑๘. มาตรฐานแห่งค่า เมื่อจะให้กำลังซื้อแห่งบาทนอกประเทศเป็นเสถียรภาพก็จะต้องผูกค่าของบาทเข้าไว้กับงินตราของประเทศที่ไทยทำการค้าขายด้วยมากกว่าที่อื่น และเงินตรานั้นอยู่ในเสถียรภาพ เมื่อถึงเวลาแล้วก็คงจะบอกได้ว่าสิ่งที่จะเลือกเอาเป็นมาตรฐานนั้นจะควรเป็นสเตอร์ลิงก์หรือเป็นเงินตราต่างประเทศอื่นใด หรือเป็นเงินตราระหว่างประเทศ (ถ้ามี) เพื่อที่จะอธิบายได้สะดวก ต่อไปนี้จะสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจะใช้สเตอร์ลิงก์เป็นมาตรฐาน

๑๙. การเทียบบาทกับสเตอร์ลิงก์ เมื่อถือไว้ก่อนแล้วว่าจะผูกบาทกับสเตอร์ลิงก์ ปัญหาต่อไปก็มีดั่งนี้ คือ

(ก) จะควรกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนบาทเป็นปอนด์ไว้เท่าใด อัตราที่จะกำหนดได้นั้นต้องพอเสมอกับอัตราแลกเปลี่ยนอันเป็นธรรมชาติระหว่างเงินตราทั้งสอง และอัตราแลกเปลี่ยนอันเป็นธรรมชาตินั้นย่อมเสมอกับอัตราส่วนของกำลังซื้อแห่งเงินตราทั้งสองในประเทศของตน ฉะนั้น ปัญหาจึงมีว่าจะหาอัตราส่วนนั้นได้อย่างไร ในการนี้จะต้องคำนึงไว้ว่าเลขดัชนีราคาสินค้านั้นจะใช้ได้เพียงเป็นเครื่องหมายที่ชี้ทางเท่านั้น

(ข) จะควรจัดให้เงินแฟบ (deflation) ลงบ้างหรือไม่ ในระหว่างเวลาที่เงินเฟ้อ (inflation) นั้น ค่าจ้างค่าเช่าและดอกเบี้ยย่อมเพิ่มขึ้นช้ากว่าราคาสินค้า ภาวะอันนี้จะเห็นได้จากพฤติการณ์ปัจจุบัน ในระยะเวลาที่เงินแฟบ ค่าจ้าง ฯลฯ ก็จะยังคงล้าหลังอยู่เช่นเดียวกัน กล่าวคือ ราคาสินค้าจะลดลงมารวดเร็วยิ่งกว่าที่ค่าจ้าง ฯลฯ จะลดลง การที่จะจัดให้ราคาสินค้าได้ส่วนสัดกับค่าจ้าง ฯลฯ โดยเร็วนั้นจึงกระทำได้โดยวิธีทำให้เงินแฟบ คือลดจำนวนเงินที่หมุนเวียนอยู่นั้นให้น้อยลง ปัญหาจึงมีว่าจะควรกระทำให้เงินแฟบหรือไม่ ถ้ากระทำให้เงินแฟบลงได้ กำลังซื้อแห่งบาทในประเทศก็จะสูงขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนอันเป็นธรรมชาติระหว่างบาทกับสเตอร์ลิงก์ก็จะสูงขึ้นด้วย จึ่งจะกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างบาทกับสเตอร์ลิงก์ให้สูงขึ้นได้ด้วย

(ค) ถ้าตกลงจะจัดให้เงิบแฟบ จะลดปริมาณเงินที่หมุนเวียนอยู่นั้นด้วยวิธีใด วิธีที่อาจใช้ได้มีอยู่หลายวิธีซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณา

๒๐. ระบบการควบคุมการจำหน่ายธนบัตร การจำหน่ายธนบัตรต้องมีการควบคุมเพื่อป้องกันมิให้มิทางเกิดเงินเฟ้อได้ประการหนึ่ง เพื่อให้แลกเปลี่ยนบาทเป็นสเตอร์ลิงก์หรือสเตอร์ลิงก์เป็นบาทได้เสมอไปในอัตราที่กำหนดไว้ประการหนึ่ง และเพื่อให้ปริมาณธนบัตรที่จำหน่ายยืดออกหรอหดเข้าได้อีกประการหนึ่ง กำลังซื้อของเงินทั้งนอกและในประเทศจะตั้งอยู่ในเสถียรภาพได้ก็ต่อเมื่อบาทและสเตอร์ลิงก์แลกเปลี่ยนกันได้ ในอัตราที่กำหนดไว้ และปริมาณธนบัตรที่ออกใช้นั้นยืดหรือหดตัวเข้าจังหวะกันกับการเพิ่มลดแห่งปริมาณของและบริการ

ระบบการควบคุมการจำหน่ายธนบัตรมีอยู่สองประเภท คือ

(ก) ระบบที่เรียกว่า fixed fiduciary system ตามระบบนี้ธนาคารกลางมีอำนาจจำหน่ายธนบัตรได้ ไม่เกินจำนวนหนึ่งซึ่งกำหนดไว้ในกฎหมาย โดยมีหลักทรัพย์เป็นทุนสำรองมีราคาเท่ากับธนบัตรที่จำหน่าย และเมื่อจะจำหน่ายธนบัตรเกินจำนวนที่กำหนดในกฎหมายนั้นแล้ว ธนบัตรส่วนที่เกินนั้นต้องมีทองคำสำรองให้คุ้ม (สำหรับประเทศที่ไม่ใช้มาตราทองคำ ก็ต้องมีเงินตราต่างประเทศที่เงินตราพื้นเมืองผูกอยู่ด้วยนั้นแทนทองคำ) ระบบที่กล่าวนี้เป็นระบบอังกฤษ

(ข) ระบบที่เรียกว่า proportional reserve system ธนบัตรที่จำหน่ายตามระบบนี้จะต้องมีทองคำสำรองไม่ต่ำกว่าร้อยละเท่านั้น ๆ ของธนบัตรที่จำหน่าย และจะต้องมีหลักทรัพย์เป็นทุนสำรองจนคุ้มราคาธนบัตรส่วนที่ไม่มีทองคำเป็นสำรอง (สำหรับประเทศที่ไม่ใช้มาตราทองคำ ก็ต้องมีเงินตราต่างประเทศที่เงินตราพื้นเมืองผูกอยู่ด้วยนั้นแทนทองคำ) ระบบนี้มีตัวอย่างที่ใช้อยู่ในสหรัฐอเมริกา

การบุรณะเงินตราควรเลือกใช้ระบบใดระบบหนึ่งดังกล่าวแล้ว

๒๑. การจัดเงินสำรอง เมื่อจะให้บาทและสเตอร์ลิงก์แลกเปลี่ยนกันได้ ทุนสำรองส่วนหนึ่งจะต้องเป็นสเตอร์ลิงก์ และเพื่อการนี้ก็อาจจะต้องขอเครดิตเป็นสเตอร์ลิงก์จากต่างประเทศเป็นการชั่วคราวก็ได้ อนึ่ง ทุนสำรองนี้ยังจะต้องกำหนดด้วยว่าจะประกอบขึ้นได้ด้วยสินทรัพย์ประเภทใดบ้าง และสินทรัพย์แต่ละประเภทนั้นจะควรมีได้ร้อยละเท่าใดของธนบัตรที่จำหน่าย

๒๒. ควบคุมการปริวรรตเงิน การควบคุมการปริวรรตเงินซึ่งมีอยู่แล้วในขณะนี้คงจะต้องมีอยู่ต่อไปเป็นการชั่วคราว เพื่อประโยชน์ที่จะ (ก) จัดให้ได้มาซึ่งเงินปริวรรตต่างประเทศบางสกุล และ (ข) จัดระเบียบการใช้และการปันส่วนเงินปริวรรตต่างประเทศเพื่อให้เป็นที่แน่นอนว่าจะรักษาเสถียรภาพแห่งอัตราแลกเปลี่ยนเงินไว้ได้ นอกจากนี้การควบคุมย่อมจะเป็นเครื่องมื่อที่ดีอันหนึ่งซึ่งจะต้องอาศัยในการที่จะต้องเทียบค่าของบาทกับสเตอร์ลิงก์ การควบคุมนี้ก็จะยกเลิกได้เมื่อพฤติการณ์กลับคืนสู่ปกติภาพแล้ว

๒๓. ระบบการควบคุมเครดิต เครดิตย่อมเป็นเงินไม่น้อยกว่าที่เงินตราเป็นเงิน การควบคุมการจำหน่ายธนบัตรจะได้ผลเต็มที่ก็ต่อเมื่อมีการควบคุมเครดิตด้วย วิธีควบคุมเครดิตที่ใช้ในต่างประเทศบางเมืองนั้นจะนำมาใช้ในประเทศไทยหาได้ไม่ เรื่องจึ่งอยู่ที่จะต้องหาวิธีควบคุมเครดิตซึ่งจะใช้ได้และให้ผลจริง อนึ่ง การควบคุมเครดิตต้องประสานกันไปกับการควบคุมเงินตรา จึงต้องมอบให้ธนาคารกลางซึ่งเป็นผู้ควบคุมเงินตราเป็นผู้กระทำ

๕. สรุปความ

๒๔. กิจที่จำเป็นแก่การบุรณะเงินตรานั้นได้กล่าวมาแล้วโดยย่อ และอาจสรุปลงได้ดั่งต่อไปนี้ คือ

๑) จัดให้งบประมาณเป็นดุลยภาพ และดำรงไว้ซึ่งดุลยภาพนั้น โดยวิธี

(ก) ลดรายจ่าย

(ข) บุรณะระบบภาษี โดยมีจุดประสงค์สำคัญเป็นสามประการ

(ค) ปฏิบัติเคร่งครัดตามหลักการงบประมาณ และมีการเผยแพร่ตัวเลข

๒) จัดตั้งหลักการเงินตราขึ้นให้ถูกต้อง ซึ่งมีกิจที่จะต้องกระทำดั่งต่อไปนี้ คือ

(ก) เลือกสิ่งที่จะใช้เป็นมาตรฐานแห่งค่าของบาท

(ข) กำหนดค่าของบาทเทียบกับสิ่งที่เป็นมาตรฐานนั้น ในการนี้จะต้องพิจารณาด้วยว่าจะควรจัดให้เงินแฟบหรือไม่ และถ้าควรจะควรใช้วิธีใดบ้าง

(ค) กำหนดว่าจะใช้ระบบใดในการควบคุมการจำหนายธนบัตร

(ง) จัดให้มีทุนสำรองเพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพแห่งกำลังซื้อของบาท รวมตลอดถึงการกำดนดว่าทุนสำรองจะต้องประกอบขึ้นด้วยสิ่งใดบ้าง และสิ่งประกอบนั้นสิ่งใดจะควรมีเท่าใดส่วน

(จ) ควบคุมการปริวรรตเงินไว้ชั่วคราว เพื่อให้เป็นที่แน่นอนว่าจะมีเสถียรภาพนอกประเทศ

(ฉ) กำหนดวิธีการที่ควรใช้ในการควบคุมเครดิต

(เป็นข้อความที่คณะกรรมการธนาคารได้เพิ่มเติมเมื่อ ๒๖ ต.ค. ๘๗)

๒๕. ความในบันทึกนี้ซึ่งได้สรุปไว้แล้วในข้อ ๒๔ นั้น จะเห็นได้ว่ามีกิจการที่ควรจะปฏิบัติแบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้สองประเภท คือ ประเภทหนึ่งเป็นกิจการที่พึงพิจารณาจัดทำต่อไปด้วยความร่วมมือของเจ้าหน้าที่รัฐบาล อีกประเภทหนึ่งเป็นหลักการปฏิบัติของรัฐบาลเอง ซึ่งรัฐบาลควรจะพิจารณาว่าจะรับไว้เป็นหลักการปฏิบัติต่อไปหรือไม่

สำหรับกิจการในประเภทแรกนั้น เพื่อให้บรรลุผลไปได้ด้วยดี เห็นว่าควรจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นรวม ๓ คณะ ให้มีหน้าที่พิจารณาในหัวข้อต่อไปนี้

คณะที่ ๑ พิจารณาในเรื่องการลดรายจ่าย

คณะที่ ๒ พิจารณาระบบภาษี

คณะที่ ๓ พิจารณาหลักการเงินตรา

สำหรับในประเภทที่สองซึ่งเป็นหลักการปฏิบัติของรัฐบาลเองนั้นก็มีตามที่ได้กล่าวไว้ในข้อ ๒๔ ๑) (ค) คือเคร่งครัดตามหลักการงบประมาณ และมีการเผยแพร่ตัวเลข หลักการในข้อนี้เห็นว่าเป็นหลักการซึ่งถ้ารัฐบาลได้ยอมรับปฏิบัติเช่นประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยปฏิบัติอยู่แล้ว ก็จะเป็นผลช่วยให้การใช้จ่ายเงินแผ่นดินได้เป็นไปโดยชอบโดยควร ไม่มีทางที่จะรั่วไหลไปได้เพราะการใช้จ่ายโดยพละการ หรือโดยไม่ประหยัด ด้วยเหตุว่าตัวเลขที่จะต้องเผยแพร่นั้นบังคับมิให้เกิดการกระทำเช่นนั้นไปในตัว และยังเห็นต่อไปว่าหลักการเช่นที่ว่านี้ไม่ควรจะให้มีการเปลี่ยนแปลงเพราะเหตุแห่งการเปลี่ยนคณะรัฐบาล วิธีที่จะพึงทำเพื่อให้ได้ผลที่ว่านี้อย่างดีที่สุดก็คือนำหลักการนั้นตราขึ้นไว้เป็นกฎหมายใช้บังคับเสียทีเดียว.

ธนาคารแห่งประเทศไทย

๒๖ ตุลาคม ๒๔๘๗

----------------------------

ใบแนบที่ ๑

ทฤษฎีปริมาณแห่งเงิน

(The Quantity Theory of Money)

๑. ทฤษฎีปริมาณแห่งเงินหรือที่เรียกกันโดยย่อว่าทฤษฎีปริมาณนั้น เป็นทฤษฎีหนึ่งในเศรษฐศาสตร์ที่ใช้อธิบายถึงเหตุและการเปลี่ยนแปลงในกำลังซื้อหรือค่าภายในของเงิน ให้เห็นได้อย่างง่าย ๆ ซัตเจน ทฤษฎีนี้มีเนื้อความสำคัญอยู่ว่า ระดับราคาสินค้าทวีไปในขณะใดขณะหนึ่งจะสูงหรือต่ำย่อมสุดแล้วแต่ความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณสิ่งของและบริการต่างๆ ซึ่งซื้อขายกันอยู่ในขณะนั้นกับปริมาณของเงินทิใช้ซื้อสิ่งของและบริการต่าง ๆ นั้นในขณะเดียวกัน สมมติว่ามีสินค้า ๑๐ สิ่งมีค่าเท่ากันวางไว้ขาย และเงินสำหรับที่จะซื้อสินค้าเหล่านั้นได้มีอยู่ ๑๐ หน่วย อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยสินค้ากับหน่วยเงินในกรณีนี้ ก็คือ ๑ ต่อ ๑ หรืออีกนัยหนึ่งระดับราคาสิ้นค้า ๑ สิ่งเท่ากับ ๑ หน่วยเงิน ถ้าหากปริมาณของเงินนั้นเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวเป็น ๒๐ หน่วย โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงในปริมาณแห่งสินค้ายังคงมี ๑๐ หน่วยเท่าเดิม ระดับราคาสินค้าก็จะเปลี่ยนไปเท่ากับ ๒ หน่วยเงิน และถ้าจะสมมติกลับเสียอีกทางหนึ่งว่าปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงในปริมาณของเงิน คือมีสินค้า ๒๐ หน่วย เงิน ๑๐ หน่วย ดั่งนี้ระดับราคาสินค้าก็จะลดลงไปเท่ากับ ๑/๒ หน่วยเงิน ถ้าจะตั้งทฤษฎีปริมาณไว้แต่เพียงเท่านี้ และถ้าเหตุการณ์ตามที่เป็นจริงเหมือนดั่งที่ได้สมมติขึ้น ก็ไม่น่าจะมีผู้ใดแย้งทฤษฎีนี้ได้

๒. อุปสรรคสำคัญของทฤษฎีปริมาณรูปตรงไปตรงมาเท่าที่ได้กล่าวถึงในข้อ ๑ ก็คือปัญหาเรื่อง เวลา ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าเงิน ๑ หน่วยนั้นใช้ซื้อสินค้าได้หลายครั้งหลายหน มิใช่ว่าใช้ซื้อสินค้าได้หนเดียวแล้วก็เป็นอันหมดหน้าที่ใช้ซือ้สินค้าต่อไปไม่ได้อีก ฉะนั้น ในทฤษฎีปริมาณของเงินในรูปต่อมาจึงต้องคำนึงถึงความเร็วแห่งการหมุนเวียนของเงิน (Velocity of Circulation) ประกอบเข้าไปอีกอย่างหนึ่งด้วย เมื่อพูดถึงปริมาณของเงินว่ามีมากน้อยเท่าใด ก็จะต้องคำนึงด้วยทุกครั้งว่าเงินอันมีปริมาณเท่านั้นหมุนเวียนไปกี่หน ทั้งนี้เพราะว่าถ้าเงิน ๑ บาทหมุนเวียนไป ๕ หน เงิน ๑ บาทนั้นก็ทำหน้าที่ซื้อสินค้าได้เท่ากับเงิน ๕ บาท ถ้าจะถือปริมาณของเงินว่าเท่ากับ ๑ บาทในกรณีนี้ก็จะไม่ตรงกับความจริง เมื่อได้คำนึงถึงความเร็วแห่งการหมุนเวียนด้วยแล้วก็พอจะกล่าวตามทฤษฎีปริมาณนี้ได้ว่าระดับราคาสินค้าในระยะเวลาใดเวลาหนึ่งนั้นมีส่วนสัมพันธ์อยู่กับปริมาณของเงินประกอบด้วยความเร็วแห่งการหมุนเวียนของเงินปริมาณนั้น และปริมาณทั้งหมดของการซื้อขายวัดได้ด้วยหน่วยสินค้าที่ซื้อขายกันอยู่ในขณะเดียวกัน ส่วนสัมพันธ์นี้มีอยู่อย่างไรแสดงได้ด้วยสมการต่อไปนี้

ฉะนั้น P = (M × V) / T

ในสมการนี้

M คือ ปริมาณของเงินที่มีอยู่ทั้งสิ้น (Quantity of Money)

V คือ ความเร็วแห่งการหมุนเวียน (Velocity of Circulation)

P คือ ระดับราคาเฉลี่ยแห่งสินค้า (Average Price Level)

T คือ ปริมาณการซื้อขายทั้งสิ้น (Total Volume of Transactions)

เมื่อระดับราคาเฉลี่ยแห่งสินค้าเท่ากับปริมาณของเงินคูณด้วยความเร็วแห่งการหมุนเวียนและหารด้วยปริมาณการซื้อขายทั้งสิ้นตามสมการข้างต้น การเปลี่ยนแปลงในสิ่งต่างๆ เหล่านี้ย่อมมีผลทำให้ระดับราคาสินค้าขึ้นสูงหรือลงต่ำได้ทุกครั้งไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าปริมาณการซื้อขาย (T) ไม่เปลี่ยนแปลงหรือมีแต่จะน้อยลงไปโดยเหตุที่สินค้าต่างๆ มีจำนวนจำกัดแล้ว ถ้าปริมาณของเงิน (M) เพิ่มขึ้นก็ดี หรือความเร็วแห่งการหมุนเวียน (V) เพิ่มขึ้นก็ดี หรือเพิ่มขึ้นพร้อมกันทั้งสองอย่างก็ดี ระดับราคาสินค้า (P) จะอยู่คงที่หาได้ไม่ จำเป็นต้องขึ้นสูงตาม หรืออีกนัยหนึ่งค่าของเงินจะต้องตกต่ำ ถ้าจะลองสมมติสิ่งต่าง ๆ ออกเป็นตัวเลขจะเห็นได้ชัดดั่งต่อไปนี้

สมมติว่า

M = 1000 บาท;

V = 4 ครั้ง

T = 2000 หน่วยสินค้า

P = (M × V) / T

= (1000 × 4) / 2000

P = 2

ถ้าหาก T และ V คงที่ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ M เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวเป็น 2000

P = (2000 × 4) / 2000

P= 4

»» ระดับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว

แต่ถ้า T เพิ่มขึ้นตาม M

คือ T= 4000;

M = 2000

P = (2000 × 4) / 4000

P = 2

»» ระดับราคาสินค้าคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลงอย่างใด

๓. ในที่นี้อาจมีผู้แย้งได้ว่าปริมาณของเงินก็ดี ความเร็วแห่งการหมุนเวียนก็ดี ตลอดจนปริมาณการซื้อขายเป็นสิ่งที่ไม่มีผู้ใดทราบได้แน่นอน ต่อไปจึงควรพิจารณาสิ่งต่างๆ เหล่านี้แต่ทีละอย่าง

ปริมาณของเงิน ปริมาณของเงินทั้งสิ้นในระยะเวลาใดเวลาหนึ่งประกอบขึ้นด้วยเงินตราส่วนหนึ่ง และเงินธนาคารอีกส่วนหนึ่ง เงินตรานั้นได้แก่ธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ซึ่งออกใช้ทั้งสิ้นในระยะเวลานั้น ปริมาณแห่งเงินตราจึงเป็นสิ่งที่ทราบได้แน่นอนโดยมิยากนัก ส่วนเงินธนาคารได้แก่เงินฝากที่ปรากฏอยู่ในหน้าบัญชีของธนาคารต่างๆ ซึ่งผู้เป็นเจ้าของเงินฝากนั้นอาจนำมาซื้อสินค้าได้โดยวิธีเขียนเช็ค โดยเหตุที่เงินฝากธนาคารเป็นสิ่งที่ธนาคารสร้างขึ้นได้เองเพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินสด หรือสินทรัพย์อื่นๆ หรือมิฉะนั้นก็โดยวิธีให้กู้ยืม เงินฝากธนาคารจึ่งเป็นสิ่งที่มีปริมาณเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ จะมีมากหรือน้อยก็สุดแล้วแต่การตัดสินใจของธนาคารต่างๆ ในระบบการธนาคาร ธนาคารจำต้องมีเงินสดไว้จำนวนหนึ่งเพื่อสำรองเงินฝากที่ตนได้สร้างขึ้น แต่อัตราส่วนเทียบระหว่างเงินสดสำรองของธนาคารกับเงินฝากที่ธนาคารได้สร้างขึ้นนั้นก็มิใช่อัตราที่แน่นอนอยู่ตลอดไป แต่ก็ยังถือได้ว่า ถ้าหากธนาคารมีเงินสดสำรองมากขึ้นก็จะสร้างเงินฝากให้มากขึ้นได้ ฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถทราบปริมาณของเงินทั้งสิ้นได้แน่นอนนักก็ดี แต่ถ้าจะพิจารณาตามหลักทั่วๆ ไป ก็จะพอสรุปความได้ว่าเมื่อใดที่ปริมาณแห่งเงินตราออกใช้นั้นมากขึ้น เงินสดสำรองของธนาคารทั้งปวงจะเพิ่มขึ้น และธนาคารก็จะสร้างเงินฝากให้มากขึ้น ปริมาณแห่งเงินนั้นย่อมจะเพิ่มขึ้นเป็นส่วนรวม

ความเร็วแห่งการหมุนเวียน ความเร็วแห่งการหมุนเวียนของเงินตรา คือธนบัตรและเหรียญกษาปณ์นั้น เป็นสิ่งที่สุดจะทราบได้แน่นอน เพราะธนบัตรที่ออกใช้ฉบับหนึ่งๆ นั้นสุดที่จะนับได้แน่ว่าหมุนเวียนเปลี่ยนมือจากบุคคลหนึ่งไปยังบุคคลหนึ่งกี่ครั้งกี่หน ส่วนการหมุนเวียนแห่งเงินธนาคารนั้นถึงหากจะไม่แน่ก็ยังพอทราบได้บ้างว่ามากขึ้นหรือน้อยลงประการใด โดยอาศัยวิธีสังเกตจากสถิติการโอนเงินจากบัญชีหนึ่งไปยังอีกบัญชีหนึ่งและสถิติการหักบัญชีระหว่างธนาคาร แต่อย่างไรก็ตาม พอที่จะตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความเร็วแห่งการหมุนเวียนของเงินนิ้ไว้ได้ว่า ในยามที่การค้าเจริญรุ่งเรืองการหมุนเวียนของเงินจะมีความเร็วมากกว่าในยามที่การค้าตกต่ำ เมื่อปริมาณการซื้อขายมีมาก การใช้เงินก็ย่อมมีมากขึ้นตาม และเงินนั้นก็ย่อมหมุนเวียนเปลี่ยนมือกันเร็วยิ่งขึ้นไป นอกจากนั้น ในระยะเวลาใดที่ปรากฏว่าประชาชนมีเงินใช้มากกว่าปกติโดยเหตุที่ปริมาณของเงินนั้นเพิ่มขึ้นทั่วไป ก็มักจะปรากฏว่ามีการใช้เงินมากกว่าปกติ เงินก็จะหมุนเวียนเร็วขึ้นกว่าเดิม เพราะตามวิสัยของคนทั่วไปนั้น เมื่อมีเงินมากก็ย่อมใช้มาก ถ้าหากมีน้อยก็ย่อมใช้แต่น้อย ทั้งนี้เป็นเหตุทางจิตใจ อนึ่ง เงินมีความหมุนเวียนเร็วที่สุดในภาวะที่เรียกกันว่าเงินเฟ้อ ในเวลาเช่นนี้คนทั่วไปจะมีความคิดว่ากำลังซื้อเงินนั้นลด หรือกำลังจะลดลง การที่ตนจะเก็บเงินไว้ในรูปเงินตราก็ดี หรือจะเป็นในรูปเงินฝากธนาคารก็ดี ก็จะหาประโยชน์อันใดแก่ตนมิได้ มีแต่จะเสียประโยชน์ เพราะเงินจะมีกำลังซื้อสินค้าได้เป็นจำนวนน้อยลงไปทุกวัน เมื่อมีความคิดดั่งนั้นเกิดขึ้น ผู้ใดมีเงินก็จะพยายามนำเงินนั้นแลกกับสินค้าต่าง ๆ หรืออีกนัยหนึ่งหาวิธีที่จะให้เงินนั้นผ่านจากตนไปยังคนอื่นโดยเร็วที่สุด เพื่อถือไว้ซึ่งทรัพย์สินใด ๆ ที่มีค่าไม่เสื่อมในขณะที่ค่าของเงินนั้นกำลังเสื่อมลง ความเร็วแห่งการหมุ่นเวียนของเงินนี้มีส่วนสำคัญที่สุดในการกำหนดระดับราคาสินค้า อันเป็นผลแห่งความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณแห่งเงินและปริมาณการซื้อขายทั้งสิ้น

ปริมาณการซื้อขายทั้งสิ้น ปริมาณการซื้อขายทั้งสิ้นหมายถึงปริมาณแห่งสิ่งของและบริการทั้งปวงที่ซื้อขายกันอยู่ ส่วนหนึ่งของปริมาณการซื้อขายนี้ได้แก่สิ่งของและบริการซึ่งกำลังผลิตออกมาเพื่อซื้อขายกันอยู่เรื่อย ๆ ถ้าหากจะหาปริมาณแห่งการผลิตแต่เพียงเท่านี้ก็อาจพอทราบได้แน่นอนบ้าง แต่นอกจากสินค้าและบริการที่ออกสู่ตลาดอยู่เรื่อย ๆ ยังมีสินค้าอันเป็นทุนที่มีอยู่แล้วและสินค้าใช้แล้วชนิดต่าง ๆ ซึ่งสินค้าเหล่านี้ก็มีผู้ซื้อขายกันอยู่ควบกันไปกับสินค้าผลิตออกใหม่ทุกขณะ เป็นต้นว่าที่ดิน โรงเรือน ใบหุ้น ตลอดจนเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ ซึ่งใช้แล้ว แต่ยังนำกลับมาขายใหม่อีกได้ การที่จะหาตัวเลขเพื่อแสดงว่าในระยะเวลาใดมีสินค้าผลิตออกใหม่เท่าใดนั้นทำได้ไม่ยาก แต่การหาตัวเลขเพื่อแสดงว่าในระยะเวลา เดียวกันนั้นมีผู้ขายสินค้าที่มีอยู่แล้วต่อๆ กันไปเป็นปริมาณสักเท่าใดเกือบจะเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ การซื้อขายสินค้าทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นสินค้าผลิตออกใหม่หรือสินค้าที่มีอยู่แล้วก็ตาม ย่อมต้องใช้ปริมาณของเงินที่มีอยู่นั้นเอง ฉะนั้นขณะใดที่ปรากฏว่ามีการซื้อขายสินค้าผลิตออกใหม่มากกว่าสินค้าที่มีอยู่แล้ว ก็หมายความว่าอีกส่วนหนึ่งของปริมาณของเงินที่มีเหลือเพื่อซื้อสินค้าที่มีอยู่แล้วนั้นเป็นปริมาณส่วนน้อย ระดับราคาสินค้าชนิดนี้ก็จะตกต่ำ แต่ถ้าหากมีผู้ใช้ปริมาณของเงินเป็นส่วนมากไปในการซื้อขายสินค้าที่มีอยู่แล้ว ผลก็จะกลับกัน คือ ระดับราคาสินค้าที่มีอยู่แล้วนี้จะสูงขึ้น ในยามที่สินค้าทั่วไปขาดแคลน สินค้าผลิตออกใหม่ได้เป็นจำนวนน้อย และสินค้าที่มีอยู่แล้วก็มีปริมาณจำกัดและนับวันจะถูกบริโภคให้หมดเปลืองไป ถ้าหากในยามนี้ปริมาณของเงินกลับเพิ่มขึ้น ผลที่จะบังเกิดก็คือระดับราคาสินค้าทั่วไปจะต้องขึ้นสูงโดยมิต้องสงสัย

๔. เท่าที่ได้กล่าวมาในข้อ ๓ จะเห็นได้ว่า สิ่งต่าง ๆ ที่มีส่วนสัมพันธ์กันนั้นเป็นสิ่งที่จะทราบปริมาณให้เป็นตัวเลขแน่นอนได้ยาก แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าทฤษฎีปริมาณนั้นใช้ไม่ได้เสียเลย จริงอยู่ ถ้าหากจะนำสมการในทฤษฎีปริมาณมาใช้เพื่อให้รู้ว่าในขณะใดระดับราคาสินค้าสูงต่ำเพียงใดหรืออีกนัยหนึ่งค่าของเงินมีอยู่เท่าใดแล้วก็อาจไม่ได้เลย เพราะไม่มีผู้ใดหาตัวเลขที่ถูกต้องแท้จริงมาประกอบขึ้นเป็นสมการนั้นได้ แต่ทฤษฎีนี้ยังคงมีประโยชน์ คือมีหลักการทั่วไปซึ่งอาจยึดถือได้ในการปฏิบัติเกี่ยวกับเงิน หลักการนั้นมีอยู่ดังต่อไปนี้ คือ เมื่อปริมาณแห่งเงินเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณการซื้อขายคือจำนวนของที่จะหาซื้อได้นั้นหาได้เพิ่มขึ้นตามส่วนด้วยไม่ ระดับราคาสินค้าย่อมกระเถิบสูงขึ้นไป หรืออีกนัยหนึ่งกำลังซื้อแห่งเงินย่อมจะลดต่ำลง

อนึ่ง พึงสังเกตไว้ ณ ที่นี้ว่า เงินสกุลหนึ่งย่อมใช้ซื้อสินค้าได้ภายในประเทศหนึ่ง ๆ เท่านั้น เป็นต้นว่าเงินบาทก็ใช้ซื้อของได้ภายในประเทศไทย และเงินเย็นก็ใช้ซื้อของได้ภายในประเทศญี่ปุ่น นอกจากนั้น ประเทศต่างๆ ย่อมมีปริมาณแห่งเงินและปริมาณการซื้อขายแตกต่างกัน และความเร็วแห่งการหมุนเวียนของเงินก็ย่อมแตกต่างกันอยู่ในทุกประเทศ ฉะนั้นทฤษฎีปริมาณจึงใช้ได้เฉพาะในกรณีที่เกี่ยวกับค่าภายในหรือกำลังซื้อภายในของเงินสกุลหนึ่ง ๆ เท่านั้น.

----------------------------

ใบแนบที่ ๒

ทฤษฎีเทียบกำลังซื้อแห่งเงิน

(Purchasing Power Parity Theory of Money)

๑. ทฤษฎีเทียบกำลังซื้อแห่งเงินเป็นทฤษฎีหนึ่งในเศรษฐศาสตร์ที่ใช้อธิบายอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินสกุลหนึ่งกับเงินอีกสกุลหนึ่ง ทฤษฎีนี้อธิบายว่า อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินสองสกุลนั้นมีอยู่อัตราหนึ่งซึ่งเป็นอัตราแกลเปลี่ยนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ อัตราแลกเปลี่ยนจริงๆ ที่ใช้กันอยู่ประจำวันนั้นอาจขึ้นลงแตกต่างกับอัตราธรรมชาตินี้ก็ได้ แต่อัตราแลกเปลี่ยนจะคงอยู่ในระดับที่แตกต่างกับอัตราธรรมชาตินี้ไม่ได้ตลอดไป ย่อมน้อมกลับเข้าหาอัตราธรรมชาติหรือกลับเข้าสู่ระดับอัตราธรรมชาติในที่สุด ฉะนั้น ตามทฤษฎีนี้อัตราแลกเปลี่ยนอันใดก็ดีที่กำหนดขึ้นโดยเจตนา และถ้าหากอัตรานั้นไม่ตรงต่ออัตราธรรมชาติก็จะคงอยู่นานไม่ได้ ในที่สุดจะปรากฏว่ามีอิทธิพลต่าง ๆ เข้ามาบันดาลให้อัตราแลกเปลี่ยนนั้นน้อมกลับเข้าสู่อัตราธรรมชาติเสมอไป จะช้าหรือเร็วสุดแล้วแต่เหตุการณ์

๒. อัตราแลกเปลี่ยนที่เรียกว่าอัตราธรรมชาตินี้ เกิดขึ้นจากการเทียบกำลังซื้อภายในของเงินสองสกุลหรือมากกว่านั้น กล่าวคือนำกำลังซื้อภายในของเงินสกุลหนึ่งมาเทียบกับกำลังซื้อภายในของเงินอีกสกุลหนึ่ง เมื่อเทียบกันแล้วได้อัตราส่วนเท่าใด อัตราส่วนนั้นคืออัตราแลกเปลี่ยนธรรมชาติ สมมุติว่าสิ่งของและบริการซึ่งมีราคาหนึ่งปอนด์ในประเทศอังกฤษ เมื่อนำออกขายในประเทศไทยมีราคาคิดเฉลี่ยเป็นเงิน ๑๑ บาท ทั้งนี้หมายความว่าเงินหนึ่งปอนด์ในประเทศอังกฤษซื้อของซนิดเดียวกันได้เป็นจำนวนเท่ากับเงินบาท ๑๑ บาทจะซื้อได้ในประเทศไทย ฉะนั้น เงินหนึ่งปอนด์ในประเทศอังกฤษจึงมีกำลังซื้อเท่ากับเงินหนึ่งบาทนั้นเท่ากับ ๑/๑๑ ของกำลังซื้อของเงินหนึ่งปอนด์ อัตราส่วนเทียบกำลังซื้อของเงินปอนด์กับเงินบาทจึงเป็น ๑ ต่อ ๑๑ อัตราแลกเปลี่ยนธรรมชาติระหว่างปอนด์กับบาทก็คือเงินหนึ่งปอนด์แลกเงินบาทได้ ๑๑ บาท ตราบใดที่อัตราแลกเปลี่ยนนี้ยังคงอยู่ ก็หมายความว่าถ้าจะเอาเงินปอนด์มาแลกออกเป็นเงินบาท เงินหนึ่งปอนด์จะแลกได้เงินบาทจำนวนหนึ่งซึ่งจะซื้อสินค้าได้ตามกำลังซื้อหรือไล่เลี่ยกับกำลังซื้อของเงินหนึ่งปอนด์พอดี

๓. ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าถ้าหากตั้งอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นให้ฝืนธรรมชาติ อัตราแลกเปลี่ยนนั้นจะคงอยู่ตลอดไปหาได้ไม่ ย่อมมีอิทธิพลต่าง ๆ เข้ามาบันดาลให้อัตราแลกเปลี่ยนนั้นน้อมกลับเข้าสู่ระดับอัตราธรรมชาติในที่สุด อิทธิพลต่าง ๆ ที่กล่าวถึงนี้เกิดขึ้นจากการกระทำของบุคคลในการค้าระหว่างประเทศ และจะเห็นได้ชัดโดยวิธียกตัวอย่างดั่งต่อไปนี้ สมมุติว่าอัตราแลกเปลี่ยนธรรมชาติระหว่างเงินปอนด์กับเงินบาทควรจะเป็นหนึ่งปอนด์แลกได้ ๒๐ บาท เนื่องด้วยกำลังซื้อของเงินทั้งสองสกุลเมื่อเทียบกันแล้วได้อัตราส่วนเท่านั้น เมื่ออัตราแลกเปลี่ยนตามที่เป็นจริงอยู่ในระดับนี้ การค้าระหว่างประเทศก็ควรจะอยู่ในระดับปกติ กล่าวคือจะมีผู้สั่งสินค้าเข้ามาจากประเทศอังกฤษคิดเป็นราคาเท่ากับราคาสินค้าซึ่งส่งออกจากประเทศไทยไปยังประเทศอังกฤษพอดี ดุลย์การค้าระหว่างประเทศก็จะเกิดขึ้น ซึ่งหมายความว่าหนี้สินระหว่างประเทศไทยกับประเทศอังกฤษหักกลบลบกันไปด้วยการแลกเปลี่ยนสินค้า สมมติว่ามีการตั้งอัตราแลกเปลี่ยนให้ผิดจากอัตราธรรมชาติ คือกำหนดให้เงินหนึ่งปอนด์แลกได้แต่เพียง ๑๒ บาท ซึ่งเป็นอัตราที่สูงเกินไป ผลที่จะบังเกิดก็คือจะมีการส่งสินค้าเข้ามาจากประเทศอังกฤษมากกว่าปกติ และมากกว่าราคาสินค้าซึ่งส่งออกจากประเทศไทยไปยังประเทศอังกฤษ เพราะว่าในอัตราแลกเปลี่ยนเดิม (หนึ่งปอนด์ต่อ ๒๐ บาท) นั้น บุคคลที่มีเงินบาท ๒๐ บาทสามารถที่จะซื้อสินค้าจากประเทศอังกฤษได้เป็นราคาหนึ่งปอนด์ แต่เมื่อตั้งอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นใหม่ในระดับสูงเช่นนี้ ผู้ที่มีความประสงค์จะซื้อสินค้าเป็นราคาหนึ่งปอนด์จากประเทศอังกฤษก็จะเสียเงินไทยแต่เพียง ๑๒ บาทเท่านั้น ผลที่เกิดจะเป็นอย่างอื่นมิได้นอกจากจะมีการสั่งสินค้าจากประเทศอังกฤษมากขึ้นดั่งที่ได้กล่าวมาแล้ว ดุลย์การค้าระหว่างประเทศที่จะเกิดขึ้นต่อไปนั้นก็จะปรากฏว่าประเทศไทยส่งสินค้าไปขายยังประเทศอังกฤษคิดเป็นราคาน้อยกว่าราคาสินค้าที่ได้สั่งเข้ามาจากประเทศอังกฤษ สมมุติว่าผลที่บังเกิดนั้นคิดเป็นตัวเลขได้ดั่งต่อไปนี้ ราคาสินค้าขาออกในเวลาหนึ่งปีเป็นจำนวนเงิน ๕๐ ล้านบาท ราคาสินค้าขาเข้าในปีเดียวกันเป็นจำนวน ๗๐ ล้านบาท เมื่อหักกลบลบกันแล้วก็จะปรากฏว่าประเทศไทยยังคงเป็นหนี้ประเทศอังกฤษอยู่อีก ๒๐ ล้านบาท เงินจำนวนนี้เมื่อหมดหนทางที่จะใช้ได้โดยวิธีส่งสินค้าไปยังประเทศอังกฤษ เพราะคนในประเทศอังกฤษไม่ยอมซื้อเนื่องด้วยอัตราแลกเปลี่ยนสูงเกินไป ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่ผู้ส่งสินค้าเข้ามาจากประเทศอังกฤษจะต้องส่งไปใช้ด้วยวิธีอื่น คือหาเงินปอนด์ให้ได้มาจากที่ใดที่หนึ่ง หรือส่งทองคำไปใช้หนี้ สมมุติว่าธนาคารกลางมีทุนสำรองเงินตราเป็นทองคำและเงินปอนด์ และเพื่อรักษาอัตราแลกเปลี่ยนใหม่นี้ไว้ ธนาคารกลางยอมรับแลกเงินบาทกับเงินปอนด์ในอัตราหนึ่งปอนด์ต่อ ๑๒ บาท และยอมรับแลกทองคำกับเงินบาทในอัตราซึ่งเมื่อคิดเทียบกับค่าของเงินปอนด์และทองคำแล้วก็จะเป็นอัตราหนึ่งปอนด์ต่อ ๑๒ บาทเช่นเดียวกัน เมื่อเหตุการณ์ดั่งที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นเกิดขึ้นก็จะปรากฏว่ามีผู้นำเงินบาทมาแลกกับเงินปอนด์และทองคำจากธนาคารกลางเพื่อส่งไปใช้หนี้ยังประเทศอังกฤษมากขึ้นทุกวัน ถ้าหากธนาคารกลางมีทุนสำรองมาก ก็จะเก็บอัตราแลกเปลี่ยนที่ฝืนธรรมชาตินี้ไว้ได้นาน แต่ก็จะมีสักวันหนึ่งซึ่งทุนสำรองนั้นร่อยหรอลงไปจนธนาคารกลางไม่สามารถที่จะรักษาอัตราแลกเปลี่ยนนั้นไว้ได้อีกต่อไป อัตราแลกเปลี่ยนก็จะกลับเข้าสู่ระดับอัตราธรรมชาติในที่สุด

ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเป็นตัวอย่างสมมุติ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นดั่งที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ก็เคยมีอยู่ ประเทศอังกฤษได้กลับเข้าสู่มาตราทองคำเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๒๕ และได้กำหนดให้อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินปอนด์กับเงินดอลลาร์อเมริกันนั้นอยู่ในอัตราหนึ่งปอนด์ต่อ ๔.๘๖ ดอลลาร์ ซึ่งเป็นอัตราที่ฝืนธรรมชาติ เพราะสูงเกินไป ในขณะนั้นต้นทุนในการผลิตสินค้าต่างๆ และราคาสินค้าผู้บริโภคต่าง ๆ ในประเทศอังกฤษอยู่ในระดับที่สูงกว่าราคาต้นทุนในการผลิตและราคาสินค้าชนิดเดียวกันในประเทศอเมริกา กำลังซื้อของเงินปอนด์ในขณะนั้นจึ่งอ่อนกว่ากำลังซื้อของเงินดอลลาร์ และอัตราส่วนเทียบระหว่างเงินทั้งสองสกุลก็หย่อนกว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่ได้กำหนดขึ้น ด้วยเหตุที่ได้กล่าวมานี้ประกอบกับเหตุอื่น ๆ ทางการเงินอีกบางประการ จึงได้มีการจำหน่ายทุนสำรองจากธนาคารแห่งประเทศอังกฤษแลกเปลี่ยนกับเงินตราเรื่อยไป จนปรากฏว่าทุนสำรองนั้นร่อยหรอ ธนาคารกลางไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งมาตราทองคำได้ต่อไปอีก ประเทศอังกฤษจึงต้องออกจากมาตราทองคำเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๓๑ และอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินปอนด์และเงินดอลลาร์ก็เริ่มน้อมกลับเข้าสู่ระดับอัตราธรรมชาติ คืออัตราแลกเปลี่ยนที่ต่ำกว่าหนึ่งปอนด์ต่อ ๔.๘๖ ดอลลาร์ จะเห็นได้จากข้อเท็จจริงนี้ว่าประเทศอังกฤษสามารถที่จะรักษาอัตราแลกเปลี่ยนฝืนธรรมชาติอยู่ได้ถึง ๖ ปี ที่ทำได้เช่นนี้ก็เพราะมีทุนสำรองเงินตราเป็นจำนวนมาก ถ้าประเทศอังกฤษมีทุนสำรองเงินตราน้อยกว่านั้นก็ไม่น่าสามารถที่จะรักษาอัตราแลกเปลี่ยนไว้ได้นานถึงเพียงนั้น

๔. เท่าที่ได้กล่าวมาแล้วในข้อ ๓ เกี่ยวกับการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนให้สูงกว่าอัตราธรรมชาติ แต่อัตราแลกเปลี่ยนนั้นถ้ากำหนดให้ต่ำเกินไป ผลที่จะยังเกิดก็จะเป็นไปในทางตรงข้าม กล่าวคือจะมีผู้นำเงินอีกสกุลหนึ่งมาแลกกับเงินภายในประเทศเป็นจำนวนมากกว่าปกติ และถ้าหากทุนสำรองเงินตราเป็นทองคำก็จะมีผู้ส่งทองคำมาจากต่างประเทศเพื่อใช้หนี้ ทองคำนั้นก็จะไปเพิ่มทุนสำรอง เป็นเหตุให้เงินตราไหลออกสู่ตลาดมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในประเทศ กำลังซื้อของเงินจะเสื่อมลง และระดับราคาสินค้าจะขึ้นสูงโดยทั่วไป ซึ่งในที่สุดก็จะเป็นเหตุทำให้ต้องมีการแก้ไขปรับระดับอัตราแลกเปลี่ยนนั้นให้เข้าสู่อัตราธรรมชาติ อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับเงินเป็นเมื่อก่อนสงครามนั้นอยู่ในระดับ ๑๐๐ บาทต่อ ๑๕๐ เย็น เมื่อเกิดสงครามขึ้นแล้วก็ได้กำหนดให้อัตราแลกเปลี่ยนนั้นเป็นอัตรา ๑๐๐ บาทต่อ ๑๐๐ เย็น ซึ่งเป็นอัตราที่ผิดธรรมชาติ และโดยเหตุที่มีกฎหมายบัญญัติให้ถือเงินเย็นเป็นทุนสำรองเงินตราได้ จึ่งมีการแลกเปลี่ยนเงินเย็นกับเงินบาทมากกว่าในยามปกติ ทุนสำรองเงินตราส่วนที่เป็นเงินเย็นนั้นก็เพิ่มขึ้นเรื่อยไป จำนวนธนบัตรออกใช้ก็เพิ่มมากขึ้นตาม ผลที่บังเกิดก็คือภาวะที่เห็นประจักษ์อยู่แก่ตาทุกวันนี้

๕. จากข้อความที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น จะเห็นได้ว่า เมื่ออัตราแลกเปลี่ยนผิดจากอัตราธรรมชาติ ไม่ว่าจะสูงหรือต่ำไปก็ตาม ย่อมทำให้การค้าระหว่างประเทศเสียดุลยภาพทั้งสองสถาน และผลที่จะบังเกิดแก่ค่าภายในของเงินก็มิใช่ผลดีนัก ถ้าหากอัตราแลกเปลี่ยนสูงกว่าธรรมชาติก็อาจจะทำให้ปริมาณแห่งเงินภายในประเทศนั้นน้อยลงไปจนไม่พอแก่อุปสงค์แห่งการค้า ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เงินนั้นมีค่าสูง ระดับราคาสินค้าตกต่ำผิดปกติจนถึงกับการผลิตและการค้าภายในประเทศต้องชะงักลงไปบ้างก็ได้ แต่ถ้าหากอัตราแลกเปลี่ยนนั้นต่ำกว่าอัตราธรรมชาติก็อาจเกิดภาวะเงินเฟ้อดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ฉะนั้น สรุปได้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นจริงนั้นจึงควรจะอยู่ในระดับอัตราแลกเปลี่ยนธรรมชาติเสมอไป ในภาวะปกติและในเมื่อไม่มีเหตุจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องดำเนินนโยบายเงินเฟ้อหรือเงินแฟบทั้งสองวิธี อัตราแลกเปลี่ยนธรรมชาติจึ่งเป็นสิ่งที่ควรดำรงไว้ เครื่องมือในการนี้ก็คือทุนสำรองเงินตรา ถึงแม้ว่าจะได้ปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นไปตามอัตราธรรมชาติโดยไม่มีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่แน่นอนไว้อย่างใดก็ตาม อัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นจริงนี้ก็ยังอาจจะแตกต่างกับอัตราธรรมชาตินี้อยู่ได้ เนื่องจากเหตุสองประการ คือ การส่งเงินทุนออกนอกประเทศเพื่อหาผลประโยชน์ในต่างประเทศประการหนึ่ง หรือการซื้อเงินต่างประเทศเพื่อเสี่ยงกำไรอีกประการหนึ่ง ถ้าหากไม่มีการคอยดูแลรักษาอัตราแลกเปลี่ยนนี้แล้ว อัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นจริงก็อาจจะขึ้นลงสูงต่ำกว่าอัตราธรรมชาติได้เป็นอันมาก และผลเสียหายต่าง ๆ ก็จะตามมา ถ้าธนาคารกลางมีทุนสำรองเงินตราเป็นจำนวนพอเพียงก็สามารถที่จะใช้ทุนสำรองนั้นเป็นเครืองมือในการรักษาอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นจริงนั้นมิให้ขึ้นสูงหรือลงต่ำกว่าอัตราธรรมชาติได้มากมายนัก อัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นจริงอาจจะเปลี่ยนแปลงขึ้นสูงหรือลงต่ำได้ไม่ว่าในขณะใดเนื่องจากอุปสงค์ในเงินต่างประเทศและอุปทานของเงินต่างประเทศ สมมติว่าอัตราแลกเปลี่ยนธรรมชาติระหว่างเงินปอนด์กับเงินบาทอยู่ในอัตราหนึ่งปอนด์ต่อ ๒๐ บาท ถ้าหากมีความเข้าใจเกิดขึ้นว่าเงินปอนด์จะมีค่าสูงยิ่งขึ้นไปกว่านั้นก็ดี หรือถ้าหากอัตราผลประโยชน์ที่จะได้รับเนื่องจากการส่งเงินทุนไปหาผลประโยชน์ในประเทศอังกฤษมากขึ้นกว่าปกติก็ดี อุปสงค์ในเงินปอนด์ก็ย่อมจะมากขึ้นตาม ซึ่งหมายความว่าจะมีผู้นำเงินบาทไปแลกกับเงินปอนด์มากกว่าในยามปกติ ในขณะนี้ถ้าหากอุปทานของเงินปอนด์ไม่พอแก่อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นนั้น ค่าแห่งเงินปอนด์เมื่อเทียบกับเงินบาทก็จะยิ่งขึ้นสูงไปทุกวัน เปลี่ยนแปลงจากหนึ่งปอนด์ต่อ ๒๐ บาทไปเป็นหนึ่งปอนด์ต่อ ๒๕ บาท หรือ ๓๐ บาท ถ้าอุปสงค์ในเงินปอนด์ยังเพิ่มอยู่เรื่อยๆ แต่ถ้าธนาคารกลางมีทุนสำรองเป็นเงินปอนด์มีจำนวนมากพอ ก็สามารถที่จะแลกเงินปอนด์นั้นกับเงินบาทได้ในอัตราปกติ เท่ากับว่าเพิ่มอุปทานแห่งเงินปอนด์ให้พอกับอุปสงค์อยู่เสมอ ดังนี้อัตราแลกเปลี่ยนก็จะขึ้นสูงลงต่ำไปได้ไม่นานนัก ทั้งนี้เป็นหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของทุนสำรองเงินตรา

๖. นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้ว ค่าภายในแห่งเงินนั้นเองยังมีผลกระทบกระเทือนถึงอัตราแลกเปลี่ยนอยู่เสมอ ดั่งที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าตามทฤษฎีเทียบกำลังซื้อแห่งเงินนี้ อัตราแลกเปลี่ยนธรรมชาติเกิดขึ้นจากการเทียบกำลังซื้อภายในของเงินสกุลหนึ่งกับกำลังซื้อภายในของเงินอีกสกุลหนึ่ง ถ้าหากค่าภายในของเงินสกุลหนึ่งลดต่ำลงเนื่องด้วยมีภาวะเงินเฟ้อ อันเกิดจากการเพิ่มปริมาณแห่งเงินให้มากขึ้นโดยไม่มีที่สิ้นที่สุดแล้ว อัตราแลกเปลี่ยนธรรมชาติก็ย่อมต้องเปลี่ยนแปลงตาม จะอยู่คงที่หาได้ไม่ เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อในประเทศเยอรมันหลังสงครามคราวก่อน อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินมาร์คกับเงินของประเทศอื่น ๆ ได้เป็นไปอย่างไรนั้นย่อมทราบกันอยู่ดีแล้วทั่วไป ฉะนั้น จึ่งสรุปความได้ว่า ถ้าหากไม่มีการรักษาระดับค่าภายในให้เป็นเสถียรภาพ จะรักษาค่าภายนอกแห่งเงินนั้นให้เป็นเสถียรภาพหาได้ไม่.

  1. ๑. บันทึกนี้ทรงทำขึ้นเพื่อการพิจารณาของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อ ๒๖ ตุลาคม ๒๔๘๗

  2. ๒. โปรดดูทฤษฎีที่เรียกว่า Quantity Theory of Money ซึ่งมีคำอธิบายโดยสังเขปในใบแนบ ๑ ท้ายนี้

  3. ๓. โปรดดูทฤษฎีที่เรียกว่า Purchasing Power Parity Theory ซึ่งมีคำอธิบายโดยสังเขปในใบแนบ ๒ ท้ายนี้

  4. ๔. โปรดดูความในข้อ ๓ และใบแนบ ๒

  5. ๕. เรื่องทุนสำรอง โปรดดูใบแนบ ๓

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ