๑๕ มกราคม ๒๔๙๕

๑๕ มกราคม ๒๔๙๕

เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ด้วยตามที่คณะรัฐมนตรีได้ลงมติให้ตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อพิจารณากำหนดค่าของเงินตราไทยเทียบกับสเตอร์ลิงก์ ซึ่งรัฐบาลประสงค์จะให้อยู่ในระดับสูงกว่าในปัจจุบัน นั้น

เรื่องค่าของเงินไทยเทียบกับเงินต่างประเทศ ย่อมเป็นส่วนหนึ่งแห่งวิธีการปริวรรตเงินต่างประเทศ เมื่อจะพิจารณาเรื่องค่าของเงิน ก็จะต้องพิจารณาวิธีการนั้นด้วย ข้าพเจ้าจึ่งเห็นว่าในการพิจารณาเป็นเบื้องต้น ควรจะสำรวจดูเสียก่อนว่านโยบายและวิธีการในปัจจุบันนี้มีอยู่ประการใด และการปฏิบัติตามวิธีการนั้นได้ผลมาแล้วประการใด

บัดนี้ ข้าพเจ้าได้สำรวจดูตลอดแล้ว จึ่งขอเสนอผลและความเห็นมาเพื่อทราบเป็นบันทึก ๑ ฉบับ.

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง

วิวัฒน

(พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย)

----------------------------

การปริวรรตเงินต่างประเทศ

คำนำ

๑. คณะรัฐมนตรีได้ลงมติให้ตั้งกรรมการคณะหนึ่ง ให้มีหน้าที่พิจารณากำหนดค่าของเงินตราไทย ซึ่งรัฐบาลมีความประสงค์ว่า เมื่อเทียบกับสเตอร์ลิงก์ ก็ให้อยู่ในระดับที่สูงกว่าในปัจจุบัน ทั้งนี้แจ้งในหนังสือเลขาธิการคณะรัฐมนตรีลงวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๔๙๔

๒. ข้าพเจ้าเห็นว่าเรื่องค่าของเงินไทยเทียบกับเงินต่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งแห่งวิธีการปริวรรตเงินต่างประเทศ เมื่อจะพิจารณาเรื่องค่าของเงินก็จะต้องพิจารณาวิธีการนั้น บันทึกฉบับนี้จึ่งได้เรียบเรียงขึ้นตามวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) จะพิจารณาว่าในเรื่องการปริวรรตเงินต่างประเทศนั้น ได้มีนโยบายและได้กำหนดวิธีดำเนินการไว้ประการใด (๒) จะสำรวจว่าการดำเนินตามวิธีที่ได้กำหนดไว้นั้นถึงบัดนี้ได้มีผลประการใดบ้าง และ (๓) จะเสนอเป็นความเห็นว่าในสถานะการณ์ปัจจุบันนี้ถ้าจะดำเนินการตามวิธีนั้นต่อไปก็จะเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ

นโบบายและวิธีดำเนินการที่ได้กำหนดไว้

๓. ในเรื่องการปริวรรตเงินต่างประเทศนั้น เมื่อปลายปี ๒๔๙๐ ได้มีวัตถุประสงค์อยู่ ๒ ประการ คือ จะจัดให้บาทมีค่าเป็นเสถียรภาพเมื่อเทียบกับสเตอร์ลิงก์ประการหนึ่ง และจะเลิกควบคุมการปริวรรตเงินต่างประเทศอีกประการหนึ่ง เมื่อบาทมีค่าเป็นเสถียรภาพและเลิกการควบคุมแล้วการมีอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา (multiple rates of exchange) ก็จะหมดสิ้นไปเอง อนึ่ง ในเวลานั้นได้คาดไว้ว่าเมื่อเทียบกับเงินต่างประเทศค่าของบาทคงจะสูงขึ้น เพราะเงินต่างประเทศที่ประเทศไทยจะได้รับคงจะสูงกว่าจำนวนที่จะต้องจ่าย

๔. เมื่อวัตถุประสงค์มีอยู่ดั่งกล่าวข้างบน นโยบายจึ่งมีว่า จะต้องตระเตรียมการเพื่อจัดให้บาทเป็นเสถียรภาพได้ คือ (๑) จะค่อยสร้างทุนสำรองขึ้นเป็นลำดับจนเป็นจำนวนพอเพียงแก่การที่จะรักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพ และ (๒) จะระงับความเฟ้อ (inflation) ของเงินที่มีอยู่ในขณะนั้นมิให้รุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก เพราะถ้าค่าของเงินยังคงลดลงเรื่อยไปก็จะจัดให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเสถียรภาพหาได้ไม่

๕. วิธีการที่ได้กำหนดขึ้นเมื่อต้นปี ๒๔๙๑ สำหรับใช้ดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายนั้น มีดังต่อไปนี้คือ

(๑) ให้คงใช้ระบบการควบคุมการปริวรรตต่อไปอีกพลางก่อน เพื่อที่จะดึงเอาเงินต่างประเทศซึ่งเป็นค่าสินค้าขาออกบางประเภทเข้ามาสู่ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยธนาคารซื้อเอาในอัตราทางการ

(๒) ดอลลาร์และสเตอร์ลิงก์ที่ได้ดึงเข้ามาสู่ธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วนั้น ให้ธนาคารโอนไปเข้าทุนสำรองเป็นครั้งคราวตามจำนวนเท่าที่จำเป็นเพื่อแลกเปลี่ยนเอาธนบัตรออกมาใช้ และจำนวนที่ยังคงเหลืออยู่นั้นเมื่อได้ขายให้รัฐบาลตามที่รัฐบาลต้องการไปใช้จ่ายแล้ว ยังคงเหลืออยู่อีกเท่าใดก็ให้ขายเข้าไปในตลาดได้ จะได้มีเงินต่างประเทศในตลาดเป็นจำนวนมากขึ้น การเพิ่มอุปทาน (supply) ขึ้นเช่นนี้ย่อมเป็นการช่วยดึงให้ค่าของเงินต่างประเทศลดลง

(๓) จัดให้มีเครื่องหน่วงเหนี่ยวมิให้ปริมาณของเงินเพิ่มขึ้นมาก กล่าวคือการสร้างทุนสำรองโดยวิธีโอนเงินต่างประเทศไปสะสมไว้ตามวิธีการในข้อ (๒) ข้างบนนั้น จะเป็นผลให้ปริมาณของเงินบาทที่หมุนเวียนต้องเพิ่มขึ้น เพราะเงินต่างประเทศนั้นธนาคารได้จ่ายเงินบาทซื้อมา และเมื่อธนาคารเก็บเข้าทุนสำรองไว้ไม่ขาย เงินบาทที่ได้ใช้ซื้อมานั้นก็ไม่กลับเข้าสู่ธนาคาร ฉะนั้น เมื่อทุนสำรองเพิ่มขึ้นเท่าใด ปริมาณของเงินบาทที่หมุนเวียนก็ต้องเพิ่มขึ้นด้วยตามส่วน และถ้าปริมาณของเงินเพิ่มขึ้นมากก็จะดึงเอาค่าของเงินให้ลดลง เพราะฉะนั้นจึ่งจำเป็นต้องให้มีเครื่องหน่วงเหนี่ยวมิให้ปริมาณของเงินเพิ่มขึ้นได้มาก เครื่องหน่วงเหนี่ยวนั้นได้แก่การขายปอนด์เข้าไปในตลาดดังกล่าวในข้อ (๒) ซึ่งกำหนดว่า โดยปกติให้ขายในอัตราประมาณเท่ากับที่ขายกันในตลาด (คืออัตราที่เรียกกันว่าอัตราตลาดเสรี) และจำนวนที่ต่างกันระหว่างอัตราทางการกับอัตราตลาดเสรีนั้นให้ธนาคารเอาขึ้นบัญชีไว้ส่วนหนึ่งต่างหากจากเงินอื่น ๆ มิให้ถือเป็นรายได้ของธนาคาร บัญชีนั้นเรียกว่า “บัญชีเสถียรภาพ” และบรรดาเงินในบัญชีนั้นก็ให้กักไว้เสีย จะเอาไปจ่ายเพื่อการใด ๆ ไม่ได้ การกักเงินไว้เช่นนี้จะเป็นเครื่องหน่วงเหนี่ยวมิให้ปริมาณของเงินเพิ่มขึ้นมาก

(๔) เหตุอีกอันหนึ่งซึ่งอาจทำให้ปริมาณของเงินเพิ่มขึ้นมากได้แก่การที่รัฐบาลต้องจ่ายเงินเพื่อการลงทุนซึ่งได้คาดไว้ว่าคงจะต้องเพิ่มขึ้นไม่น้อย เงินรายได้ธรรมดาหลังจากได้จ่ายในกิจการต่าง ๆ อันมิใช่เป็นการลงทุนแล้วก็คาดว่าคงจะมีเหลือไม่พอแก่การจ่ายลงทุน จึ่งจำเป็นต้องหาเงินอื่นมาเพิ่มเติมอีกเท่าที่ขาด เงินที่ต้องหามาเพิ่มเติมนั้นหากจะกู้จากธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะเป็นการกระทำให้ธนาคารต้องขยายเครดิต การขยายเครดิตของธนาคารจะมีผลให้ปริมาณของเงินเพิ่มขึ้น ฉะนั้น เพื่อป้องกันทางเสียอันนี้ จึ่งได้กำหนดว่าให้ธนาคารออมสินขยายกิจการออกไปโดยเร็ว และส่งเสริมการออมเงินให้ได้มากที่สุด เมื่อรัฐบาลต้องการเงินเพิ่มเติมเพื่อจ่ายในการลงทุนจะได้กู้จากธนาคารออมสินได้ การปฏิบัติเช่นว่านี้ไม่เป็นการเพิ่มปริมาณแห่งเงิน เพราะเป็นการถอนเงินมาจากการหมุนเวียนเสียก่อน แล้วจึ่งจ่ายออกไปใหม่

๖. วิธีดำเนินการบรรดาที่กล่าวมาแล้วนี้ ได้ใช้มาเป็นเวลา ๔ ปีแล้ว ไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ บัดนี้จึ่งควรสำรวจดูว่าได้ผลประการใดบ้าง จะได้เป็นทางพิจารณาว่าจะควรดำเนินการต่อไปประการใด

ผลแห่งการดำเนินการตามวิธีที่ได้กำหนดไว้

๗. นโยบายในข้อที่จะค่อยสร้างทุนสำรองขี้นนั้น บัดนี้เป็นผลสำเร็จแล้ว ทุนสำรองที่ได้สะสมไว้ได้แล้วรวมกับทองคำที่ได้คืนมาจากญี่ปุ่น แม้ตีราคาแต่ตามอัตราทางการ ก็มีจำนวนถึงร้อยละ ๙๑.๔๗ ของธนบัตรที่จำหน่าย ดั่งรายการต่อไปนี้

ทุนสำรองเมื่อ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๔

ทองคำ ร้อยละ ๓๕.๑๘ ของธนบัตรที่จำหน่าย
ดอลลาร์ ร้อยละ ๑๔.๓๙ ของธนบัตรที่จำหน่าย
สเตอร์ลิงก์ ร้อยละ ๔๑.๙๐ ของธนบัตรที่จำหน่าย
รวม ร้อยละ ๙๑.๔๗

การมีทุนสำรองส่วนที่เป็นทองคำและเงินต่างประเทศเป็นจำนวนถึงร้อยละ ๙๑.๔๗ ของธนบัตรที่จำหน่ายนั้นเรียกได้ว่ามากเกินกว่าความจำเป็นแล้ว

 

๘. ในระยะเวลา ๔ ปีที่แล้วมานี้ ค่าของบาทสูงขึ้นเป็นลำดับเมื่อเทียบกับสเตอร์ลิงก์ แจ้งตามตัวเลขต่อไปนี้ เหตุที่กระทำให้สูงขึ้นนั้นอาจมีหลายประการ การขายสเตอร์ลิงก์เข้าไปในตลาดอันเป็นการเพิ่มอุปทาน (supply) ก็ต้องได้เป็นเหตุอันหนึ่งด้วย

  อัตราเสรี (เฉลี่ยทั้งเดือน)
เดือนปี บาท ต่อหนึ่งปอนด์
ธันวาคม ๒๔๙๑ ๖๐.๒๗
ธันวาคม ๒๔๙๒ ๕๗.๑๕
ธันวาคม ๒๔๙๓ ๕๕.๔๔
พฤศจิกายน ๒๔๙๔ ๕๒.๗๕

อนึ่ง ค่าของบาทเทียบกับดอลลาร์หาได้ขึ้นไปเป็นลำดับเช่นเดียวกันไม่ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ขายดอลลาร์เข้าไปในตลาดเป็นจำนวนเพียงเล็กน้อย

๙. ได้กล่าวแล้วในข้อ ๕ (๓) ในการที่จะหน่วงเหนี่ยวมิให้ปริมาณของเงินเพิ่มขึ้นมากนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กักเงินไว้ในบัญชีเสถียรภาพเป็นจำนวนมาก ดั่งแจ้งต่อไปนี้

วันเดือนปี ยอดเงินในบัญชีเสถียรภาพ
  จำนวน ล้านบาท
๓๑ ธันวาคม ๒๔๙๑ ๑๘๑
๓๑ ธันวาคม ๒๔๙๒ ๕๑๕
๓๑ ธันวาคม ๒๔๙๓ ๗๖๔
๓๑ ธันวาคม ๒๔๙๔ ๙๙๒

๑๐. แต่แม้จะได้กักเงินไว้มากดั่งแจ้งข้างบนนี้ ปริมาณของเงินก็ยังได้เพิ่มขึ้นมากมาย ความประสงค์ที่จะหน่วงเหนี่ยวไว้มิให้เพิ่มขึ้นมากนั้นไม่เป็นผลสำเร็จเพราะเหตุใคจะอธิบายต่อไปในข้อ ๑๒ ในที่นี้จะเสนอตัวเลขแสดงปริมาณแห่งเงินเสียก่อน

วันเดือนปี ธนบัตรออกใช้ เงินฝากทุกธนาคารบรรดาที่ต้องจ่ายเมื่อเห็น และหักเงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์ออกแล้ว ปริมาณของเงิน (2+3)
  จำนวน เพิ่มจากปีก่อน จำนวน เพิ่มจากปีก่อน จำนวน เพิ่มจากปีก่อน
  พันล้านบาท ร้อยละ พันล้านบาท ร้อยละ พันล้านบาท ร้อยละ
31 ธ.ค. 91 2.390 13 1.015 25 3.405 17
31 ธ.ค. 92 2.566 7 1.055 4 3.621 6
31 ธ.ค. 93 3.278 28 1.207 14 4.485 24
31 ธ.ค. 94 3.884 18 1.515 26 5.399 20

๑๑. เพื่อได้เงินมาจ่ายในการลงทุน รัฐบาลได้กู้เงินจากธนาคารแห่งประเทศไทยโดยวิธีออกตั๋วเงินคลังเป็นจำนวนไม่น้อย ในการซื้อตั๋วเงินคลังเหล่านั้นธนาคารจำต้องขอเครดิต จำนวนตัวเงินคลังที่ธนาคารแห่งประเทศไทยถืออยู่แจ้งต่อไปนี้

วันเดือนปี ตั๋วเงินคลังที่ธนาคารแห่งประเทศไทยถือ จำนวนที่เพิ่ม
  ล้านบาท ล้านบาท
๓๑ ธันวาคม ๒๔๙๐ ๓๕๘  
๓๑ ธันวาคม ๒๔๙๑ ๓๗๔ ๑๖
๓๑ ธันวาคม ๒๔๙๒ ๖๔๔ ๒๗๐
๓๑ ธันวาคม ๒๔๙๓ ๙๒๐ ๒๗๖
๓๑ ธันวาคม ๒๔๙๔ ๑,๓๐๘ ๓๘๘

๑๒. จะเห็นได้จากตัวเลขในข้อ ๙ ว่า ในระยะเวลา ๔ ปี นับแต่ ๒๔๙๑ ถึง ๒๔๙๔ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กักเงินไว้ในบัญชีเสถียรภาพได้ ๙๙๒ ล้านบาท และจะเห็นได้จากตัวเลขในข้อ ๑๑ ว่า ในระยะเวลา ๔ ปีเดียวกันนั้นธนาคารได้ขยายเครดิตออกไป ๑,๓๐๘ ล้านบาท หรือถ้าจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือธนาคารได้ลดปริมาณแห่งเงินลง ๙๙๒ ล้านบาท แต่ในเวลาเดียวกันก็ได้เพิ่มปริมาณขึ้นด้วย และแม้จะนับแต่ที่เพิ่มเฉพาะเพื่อรายจ่ายของรัฐบาลในการลงทุน (คือไม่รวมที่เพิ่มเพราะการสร้างทุนสำรอง) ก็มีปริมาณที่เพิ่มถึง ๑,๓๐๘ ล้านบาท จึงเป็นอันว่าการกักเงินไว้ในบัญชีเสถียรภาพซึ่งมุ่งหมายจะให้เป็นเครื่องหน่วงเหนี่ยวมิให้ปริมาณของเงินเพิ่มขึ้นมากนั้น หาได้เป็นผลสำเร็จสมความมุ่งหมายไม่

๑๓. แต่ข้อความที่กล่าวข้างบนนี้ จะหมายความว่าการกักเงินไว้ในบัญชีเสถียรภาพเป็นการไว้ประโยชน์ก็หามิได้ ถ้าไม่มีเงินกักไว้เลย ปริมาณแห่งเงินจะเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ปรากฏตามตัวเลขในข้อ ๑๐ เสียอีก ข้อที่ควรสังเกตนั้นคือ การกักเงินไว้นั้นไม่ได้ผลตามความมุ่งหมาย แต่ก็ได้เป็นประโยชน์ไม่น้อย

๑๔. ผลที่ได้รับจากการปฏิบัติตามวิธีการที่กำหนดเมื่อปี ๒๔๙๑ นั้น เป็นอันสรุปลงได้โดยย่อว่า ขณะนี้มีทุนสำรองเป็นจำนวนมากและเกินความจำเป็นแล้ว ค่าของบาทก็สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสเตอรลิงก์ และสูงขึ้นจนเห็นได้ถนัด แต่ปริมาณชองเงินได้เพิ่มขี้นมาก เพราะการหน่วงเหนี่ยวไว้ไม่ได้ผล อนึ่ง การเพิ่มปริมาณของเงินยอมเป็นการดึงให้ค่าของเงินลดลง ไม่ว่าจะเทียยกับสินค้าหรือกับเงินต่างประเทศ ที่ค่าของบาทกลับสูงขึ้น เมื่อเทียบกับสเตอร์ลิงก์ควรสันนิษฐานได้ว่าเป็นเพราะเหตุต่าง ๆ หลายประการ รวมตลอดถึงการขายสเตอร์ลิงก์เข้าไปในตลาดด้วย เหตุอื่น ๆ นอกจากการขายสเตอร์ลิงก์เข้าไปในตลาดนั้นจะคงมีอยู่ต่อไป หรือว่าจะเปลี่ยนแปลงไปประการใดเมื่อใดก็ยากที่จะคาดคะเนได้ถูกต้อง

ถ้าจะดำเนินการ

ตามวิธีการนั้นต่อไป

จะเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ

๑๕. เมื่อพิเคราะห์ดูผลของการปฏิบัติตามที่เสนอมาแล้วข้างบนนี้ ก็เห็นว่า ถ้าจะคงควบคุมการปริวรรตเงินต่างประเทศตามวิธีการที่ใช้อยู่ในขณะนี้ต่อไปอีก เงินต่างประเทศที่จะดึงเอาออกมาจากตลาดโดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องซื้อเอาไว้นั้นในปีหนึ่ง ๆ คงจะมีจำนวนไม่น้อย ธนาคารจึ่งจะต้องโอนเข้าทุนสำรองเพื่อแลกเปลี่ยนเอาธนบัตรออกมาใช้อยู่ร่ำไป แต่เพราะเหตุว่าในขณะนี้มีทุนสำรองอยู่พอแล้ว การเพิ่มทุนสำรองขึ้นอีกจึ่งจะเกิดโทษได้บางประการ ดั่งจะเสนอต่อไป

๑๖. ในขณะนี้ไม่มีความจำเป็นแล้วที่จะต้องเพิ่มทุนสำรองขึ้นอีก ถ้าจะให้เพิ่มขึ้น จำนวนที่เพิ่มก็นับว่าถูกกักไว้เฉย ๆ ไม่ได้ประโยชน์อันใดนอกจากดอกเบี้ยเล็กน้อย อนึ่ง การกักเอาเข้าไว้นั้นย่อมเป็นการลดอุปทาน (supply) เงินต่างประเทศในตลาด อันเป็นเหตุอย่างหนึ่งที่ดึงค่าของเงินไทยลงเมื่อเทียบกับเงินต่างกระเทศ อีกประการหนึ่ง เมื่อเพิ่มทุนสำรองขึ้นเรื่อยๆ ปริมาณของเงินก็ต้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไปด้วย จะเป็นเหตุอย่างหนึ่งที่ดึงค่าของเงินบาทลง ไม่ว่าจะเทียบกับสินค้าหรือกับเงินต่างประเทศ

๑๗. วิธีการที่ใช้อยู่ในขณะนี้จะเป็นคุณได้แต่ทางเดียว คือจะทำให้มีเงินในบัญชีเสถียรภาพเพิ่มขึ้น ผลเสียของการขยายเครดิตของธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อเป็นรายจ่ายของรัฐบาลในการลงทุนนั้นอาจลบล้างเสียได้ด้วยเงินในบัญชีเสถียรภาพดั่งกล่าวแล้วในข้อ ๑๓

๑๘. โดยเหตุว่าการขยายเครดิตของธนาคารเพื่อเป็นรายร่ายของรัฐบาลในการลงทุนนั้นมีทางที่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ แต่ความเสียหายบางประการดั่งกล่าวในข้อ ๑๖ นั้น ตราบใดที่ยังคงปฏิบัติตามวิธีการในปัจจุบันนี้อยู่ความเสียหายก็จะยังคงมีอยู่ตราบนั้น ฉะนั้นจึ่งควรลงความเห็นว่าวิธีการที่กล่าวนี้สมควรแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยเร็ว และจะควรแก้ไขเป็นอย่างใดเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเป็นขั้นที่สอง.

๑๕ มกราคม ๒๔๙๕

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ