เรื่อง การบังคับธนาคารต่างๆให้มีเงินฝากในธนาคารกลาง

บันทึกที่ ๑๑๓/๒๔๘๕

ขอประทานเสนอ

(๑) ร่างพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งอาจมีผู้ทักท้วงบทบัญญัติให้ธนาคารต่าง ๆ ต้องมีเงินฝากในธนาคารกลางนั้น ขอเสนอคำชี้แจงย่อ ๆ ตามทฤษฎี คือ

๑. จุดประสงค์ใหญ่ยิ่งอันหนึ่งแห่งธนาคารกลางก็คือ จะรักษาค่าภายในแห่งเงินให้ยืนที่มั่นคง

๒. ค่าภายในแห่งเงินจะยืนที่มั่นคงอยู่ก็ต่อเมื่อเงินที่หมุนเวียนมีจำนวนไม่มากหรือไม่น้อยกว่าที่ต้องการใช้เพื่อการซื้อสิ่งของและจ้างแรงงาน จึงต้องควบคุมจำนวนเงินที่หมุนเวียนให้มีพอดีแก่ความต้องการอยู่เป็นนิตย์

๓. การที่ธนาคารต่าง ๆ ให้เครดิตแก่บุคคลย่อมมีผลเท่ากับการเพิ่มจำนวนเงินหมุนเวียน

๔. ธนาคารต่างๆ จะให้เครดิตแก่บุคคลได้มากหรือน้อย ก็อาศัยจำนวนเงินสดที่มีมากหรือน้อยเป็นมูลฐาน และธนาคารกลางจะให้เครดิตแก่ธนาคารอื่น ๆ ได้มากหรือน้อยก็อาศัยจำนวนเงินสดในธนาคารกลางเป็นมูลฐานเหมือนกัน

๕. ถ้าเงินสดที่เป็นมูลฐานแห่งเครดิตกระจัดกระจายอยู่ในมือธนาคารต่าง ๆ การให้เครดิตก็เป็นอันไม่มีใครจะควบคุมได้ และอาจมีผลเป็นการเพิ่มจำนวนเงินหมุนเวียนขึ้นเกินความต้องการ ค่าภายในแห่งเงินก็จะตกต่ำไป

๖. แต่ถ้ารวบรวมเงินสดที่เป็นมูลฐานแห่งเครดิตเข้ามาไว้ในมือธนาคารกลาง ธนาคารกลางก็สามารถควบคุมเครดิตได้ คือควบคุมจำนวนเงินหมุนเวียนไว้ให้พอดีแก่ความต้องการ

(๒) ในกฎหมายธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ จึ่งมีบทบัญญัติให้ธนาคารอื่น ๆ ต้องมีเงินฝากในธนาคารกลาง หรือถ้าไม่มีบทกฎหมายบัญญัติไว้ (เช่นอังกฤษ) ในทางปฏิบัติธนาคารอื่น ๆ ก็ฝากเงินในธนาคารกลาง

(๓) ในใบแนบท้ายบันทึกนี้ได้คัดสำเนาความเห็นของผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ เสนอมาด้วย คือ

๑. รายงานของ Royal Commission on Indian Currency and Finance.

๒. รายงานของ Sir Otto Niemeyer (Director of the Bank of England) ว่าด้วยการปรับปรุงคลังแห่งประเทศบราซิล

๓. ความในหนังสือ Central Banks ของ Sir Cecil Kisch & W.A. Elkin.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

วิวัฒน

๙ มีนาคม ๒๔๘๕.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ