บันทึกและโครงการควบคุมการปริวรรตเงิน

บันทึกที่ ๓๒๖/๒๔๘๔

สำนักงานที่ปรึกษาฝ่ายไทย กระทรวงการคลัง

๒๔ ธันวาคม ๒๔๘๔

เรื่อง ควบคุมการปริวรรตเงิน (EXCHANGE CONTROL)

ขอประทานเสนอ

๑. ตามที่ได้มีบัญชาเมื่อ ๒๒ ธันวาคมว่าให้พิจารณาเรื่องควบคุมการปริวรรตเงินนั้น ข้าพเจ้าขอเสนอบันทึกโครงการ ๑ ฉบับ และร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจควบคุมการปริวรรตเงิน ๑ ฉบับมาเพื่อโปรดพิจารณา และขอเสนอคำชี้แจงประกอบ ดั่งต่อไปนี้

๒. การควบคุมการปริวรรตเงินนั้น เมื่อประเทศอยู่ในภาวะแห่งสงครามก็เป็นประโยชน์ในทางที่จะได้ควบคุมการใช้ “อำนาจการซื้อ” (purchasing power) ในเมืองต่างประเทศ มิให้ใช้ในทางที่เสียหาย หรือไม่เป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง และเมื่อการค้าของประเทศมีสินค้าเข้ามากกว่าออก ก็เป็นประโยชน์ในทางที่จะได้รักษาค่าแห่งเงินตราในเมืองต่างประเทศ (external value of the currency) ให้พอยืนที่ได้และอยู่ในระดับอันควร โดยมิให้ทุนทองคำร่อยหรอหมดสิ้นไป

๓. แต่การควบคุมการปริวรรตเงินนั้น เมื่อจะให้ดำเนินไปได้โดยมีสมรรถภาพพอสมควร ก็ควรต้องมีการควบคุมการส่งสินค้าเข้าออกด้วย เพราะการซื้อขายค่าปริวรรตเงินต่างประเทศ (foreign exchange) นั้น ย่อมเนื่องมาจากการค้าเป็นส่วนใหญ่

อนึ่ง การควบคุมการค้าและการควบคุมการปริวรรตเงินนั้น แม้เป็นงานเกี่ยวเนื่องกัน ก็มีลักษณะแตกต่างกัน เช่นผู้ควบคุมการค้าจะต้องพิจารณาว่าของสิ่งใดจะให้ส่งเข้ามาและสิ่งใดไม่ให้ส่ง โดยคำนึงถึงเหตุการณ์ที่เป็นอยู่และความจำเป็นที่จะต้องใช้ของสิ่งนั้น ฝ่ายผู้ควบคุมการปริวรรตเงินจะต้องพิจารณาว่า การซื้อค่าปริรรรคเงินต่างประเทศนั้น จะซื้อเพื่อการค้าหรือการอื่นใดก็ตาม จะสมควรอนุญาตได้หรือไม่เพียงไร โดยคำนึงถึงค่าปริวรรตเงินต่างประเทศที่รวบรวมมาไว้ได้เป็นทุน

๔. อนึ่ง การควบคุมการปริวรรตเงินนั้นย่อมเกี่ยวกับกิจการภายนอกประเทศเท่านั้น ส่วนค่าแห่งเงินตราภายในประเทศ (internal value of the currency) นั้น จะรักษาไว้ได้ก็ด้วยวิธีการอย่างอื่น

๕. การควบคุมการปริวรรตเงินนั้นแม้ในเมืองต่างประเทศก็นับว่าเป็นของใหม่ ในประเทศอังกฤษปรากฏว่าต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายและวิธีการอยู่เนือง ๆ เมื่อเราจะริเริ่มทำขึ้นบ้าง โดยยังไม่มีผู้มีความรู้ชำนาญในการนี้เลย ก็คงจะมีความยุ่งยากและบกพร่องไม่น้อยในชั้นต้น จึ่งเห็นควรเลือกสรรบุคคลที่สามารถให้เป็นหัวหน้างานสัก ๒-๓ คน เพื่อให้ศึกษาหาความรู้เอาเองจากการปฏิบัติงาน

๖. ร่างพระราชบัญญัติที่เสนอมาท้ายนี้ เป็นร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจรัฐมนตรีไว้อย่างกว้าง ๆ เพราะวิธีดำเนินการนั้น คงจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมกันอีกมาก ถ้าบัญญัติไว้เสียในกฎหมายก็จะแก้ไขได้ยาก ในประเทศญี่ปุ่นปรากฏว่ามีกฎหมายให้อำนาจไว้กว้าง ๆ เหมือนกัน และในประเทศอังกฤษมีกฎหมายให้อำนาจไว้กว้างไปยิ่งกว่าร่างนี้

๗. ถ้าชอบด้วยดำริที่จะออกพระราชบัญญัติตามร่างนี้แล้ว ข้าพเจ้าจะได้เตรียมร่างข้อบังคับที่จะต้องออกตามพระราชบัญญัติ รวมตลอดถึงระเบียบการและแบบฟอร์ม และเตรียมร่างกฎกระทรวงตามความในพระราชบัญญัติเงินตราในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งจะต้องออกไปพร้อมกันด้วย

ในการตระเตรียมงานอันนี้ ใคร่ขอประทานคำสั่งให้ได้ยืม......................................................มาช่วยด้วย ๑ นาย เพราะเป็นผู้ที่ได้เคยศึกษาเรื่องเงินตรามาบ้างแล้ว คงจะสามารถศึกษาเรื่องควบคุมการปริวรรตเงินขึ้นได้.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

วิวัฒน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ