สถานการณ์เงินปัจจุบัน

(๑) คำนำ

๑. การเงินในขณะนี้ตกอยู่ในความยุ่งยากยิ่งกว่าในสมัยใด ๆ สถานการณ์ปัจจุบันสรุปลงได้ย่อ ๆ ว่า ค่าของเงินตกต่ำลงไม่หยุดยั้ง และที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเหตุ ๓ ประการ เรียงตามลำดับความสำคัญ คือ (ก) การใช้จ่ายของทหารญี่ปุ่น (ข) รัฐบาลจ่ายเงินเกินกว่ารายได้ และ (ค) อัตราแลกเปลี่ยนบาทกับเย็น

เหตุข้อ (ข) คือรัฐบาลจ่ายเงินเกินกว่ารายได้นั้น ได้เสนอข้อความและตัวเลขไว้ในบันทึกว่าด้วย “สถานการณ์คลังปัจจุบัน” ฉะนั้น ในบันทึกนี้จะได้เสนอข้อความและตัวเลขว่าด้วยการใช้จ่ายของทหารญี่ปุ่น และอัตราแลกเปลี่ยนบาทกับเย็น แล้วจะได้เสนอให้เห็นสถานการณ์เงินตราปัจจุบัน

(๒) การใช้จ่ายของทหารญี่ปุ่น

๒. เนื่องจากที่ได้มีกติกาพันธไมตรีกับญี่ปุ่น รัฐบาลได้ตกลงกับฝ่ายญี่ปุ่นในหลักการว่า จะจัดให้กองทัพญี่ปุ่นได้เงินเพื่อใช้จ่ายในการทหารในประเทศไทย จำนวนเงินที่จัดหาให้นั้นได้ตกลงกันเป็นคราว ๆ สำหรับการใช้จ่ายในระยะเวลาหกเดือนหนึ่ง ๆ การปฏิบัติตามข้อตกลงที่กระทำกันทุกๆ ครึ่งปีนั้นได้ใช้วิธีต่อไปนี้ คือ รัฐบาลญี่ปุ่นเครดิตบัญชีธนาคารแห่งประเทศไทยที่ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น แล้วธนาคารแห่งประเทศไทยก็เครดิตบัญชีโยโกฮามาสปีซีแบงก์กรุงเทพ ฯ เป็นเงินเท่ากัน เมื่อโยโกฮามาสปีซีแบงก์ถอนเงินไปใช้จ่าย และเงินสดของธนาคารแห่งประเทศไทยลดน้อยลง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฝ่ายการธนาคาร) ก็โอนเย็นให้แก่ฝ่ายออกบัตรธนาคาร แล้วจำหน่ายธนบัตรแลกเปลี่ยนกับเย็นเหล่านั้น

๓. เงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เครดิตให้โยโกฮามาสปีซีแบงก์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการทหารญี่ปุ่น ตั้งแต่ธันวาคม ๒๔๘๔ ถึงมิถุนายน ๒๔๘๘ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น ๑,๒๓๐,๗๐๑,๐๘๓ บาท เย็นเครดิตที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับเป็นการแลกเปลี่ยนกันนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นได้ยอมให้ใช้ซื้อทองคำได้บ้าง ตัวเลขเมื่อ ๓๐ มิถุนายน ๒๔๘๘ จึ่งปรากฏดั่งต่อไปนี้

บาทที่ได้เครดิตให้เพื่อกองทัพญี่ปุ่น เป็นเครดิตที่ได้รับ (หักที่ได้จ่ายในการซื้อทองคำออกแล้ว) ทองคำที่ได้ซื้อ
ปริมาณ ราคา
บาท เย็น กรัมบริสุทธิ์ เย็น
1,230,701,083 1,106,699,988 25,838,433.8 124,001,095

๔. การจัดให้กองทัพญี่ปุ่นมีเงินใช้จ่ายดังกล่าวแล้วนั้นเป็นการบังคับให้เครดิตธนาคารต้องขยายตัว ธนบัตรที่จำหน่ายจึงต้องเพิ่มขึ้นเป็นธรรมดา (คือเครดิตและธนบัตร) เพิ่มขึ้น แต่ปริมาณสินค้าและบริการไม่ได้เพิ่มขึ้นด้วยตามส่วน ค่าของเงินย่อมตกต่ำลง หรืออีกนัยหนึ่งระดับราคาสินค้าต้องสูงขึ้น

(๓) อัตราแลกเปลี่ยนบาทกับเย็น

๕. เมื่อเมษายน ๒๔๘๕ รัฐบาลจำต้องลดค่าของบาทลงราวร้อยละ ๓๖ และต้องดำรงค่านั้นไว้ให้ยืนที่อยู่เท่ากับเย็น การดำรงค่าของบาทไว้เท่ากับเย็นนั้นได้กระทำให้การชำระเงินระหว่างประเทศเป็นอสมดุลย์ (disequilibrium) ดั่งจะเห็นได้จากตัวเลขต่อไปนี้

ดุลย์แห่งการชำระเงิน พ.ศ. ๒๔๘๗

เงินเข้า หรือ เครดิต เงินออก หรือ เดบิต
  บาท   บาท
๑. สินค้าและเงินที่ส่งเข้ามาเพื่อรัฐบาลและบุคคลอื่นๆ ๑๓๖,๔๙๗,๕๒๑ สินค้าและเงินที่ส่งออกไปเพื่อรัฐบาล และบุคคลอื่นๆ ๖๓,๕๘๐,๑๐๖
๒. เงินส่งเข้ามาเพื่อการใช้จ่ายทหารญี่ปุ่น ๕๑๔,๐๐๐,๐๐๐    
  ๖๕๐,๔๙๗,๕๒๑   ๖๓,๕๘๐,๑๐๖

(หมายเหตุ รายการที่ ๒. คือเงินที่ส่งเข้ามาเพื่อการใช้จ่ายทหารญี่ปุ่นนั้น ได้รวมไว้ในข้อ ๓. ข้างบนนี้แล้ว ที่นำมาแสดงในตารางนี้ด้วยก็เพื่อให้ตัวเลขของดุลย์แห่งการชำระเงินนั้นเป็นตัวเลขบริบูรณ์)

๖. ตัวเลขในตารางข้างบนแสดงว่า เงินที่ประเทศญี่ปุ่นต้องชำระให้แก่ประเทศไทยมีจำนวนสูงกว่าที่ประเทศไทยต้องชำระให้แก่ประเทศญี่ปุ่น ฉะนั้นเงินบาทที่มีผู้ต้องการจากธนาคารจึ่งเป็นจำนวนมากกว่าเงินบาทที่ธนาคารได้มาจากผู้ต้องการเย็น เมื่อดุลย์แห่งการชำระเงินตกอยู่ในลักษณะเช่นนี้ โดยปกติก็ควรขึ้นอัตราแลกเปลี่ยนบาทกับเย็น เพื่อให้การชำระเงินกลับเป็นสมดุล (equilibrium) แต่เมื่อได้มีความตกลงไว้กับฝ่ายญี่ปุ่น ว่าจะต้องดำรงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ ๑ บาทต่อ ๑ เย็น จึ่งแก้ไขอัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้ อนึ่ง แม้รัฐบาลญี่ปุ่นได้ยินยอมให้ไทยควบคุมการปริวรรตเงินได้ก็ตาม แต่ก็ใช้การควบคุมเป็นเครื่องมือแก้ไขอสมดุลย์ไม่ได้เต็มที่ เพราะมีสัญญาข้ออื่นเปนเครื่องผูกพันอยู่ ฉะนั้น เมื่อมีผู้ต้องการเงินบาทเป็นจำนวนมากกว่าที่ธนาคารได้มา ธนาคารก็จำต้องจำหน่ายธนบัตรแลกเปลี่ยนกับเป็นอยู่เรื่อยไป นี่เป็นเหตุอีกอันหนึ่งที่กระทำให้ค่าของเงินตกต่ำลง

(๔) สถานการณ์เงินตรา

๗. เมื่อ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๘๔ สถานการณ์ธนบัตรปรากฏดั่งต่อไปนี้

  บาท   บาท
ธนบัตรที่จำหน่าย ๒๗๕,๓๓๑,๖๘๘ ทองคำ ๑๒๓,๑๑๐,๔๘๕
    หลักทรัพย์สเตอร์ลิงก์ ๔๑,๐๖๕,๒๒๕
    ปอนด์สเตอร์ลิงก์ ๑๐๖,๔๒๒,๒๓๘
    เหรียญบาท ๑,๑๖๙,๘๒๕
  ๒๗๕,๓๓๑,๖๘๘   ๒๗๑,๗๖๗,๗๗๓

ตัวเลขข้างบนนี้แสดงให้เห็นว่า เงินตราตั้งอยู่ในฐานะมั่นคงดีเพราะมีสินทรัพย์เหลว (liquid assets) เป็นทองคำและปอนด์จำนวนประมาณร้อยละ ๘๔ ของธนบัตรที่จำหน่าย

๘. เมื่อ ๓๑ สิงหาคม ๒๔๘๘ สถานการณ์ธนบัตรปรากฏดั่งต่อไปนี้

  บาท   บาท
ธนบัตรที่จำหน่าย   ทองคำ  
ออกใช้ ๑,๗๕๙,๑๑๔,๔๙๒ ในประเทศไทย ๑๔๔,๙๐๑,๕๑๖
    ในประเทศญี่ปุ่น ๑๙๔.๐๕๗,๕๗๗
ในฝ่ายการธนาคาร ๒๓๓,๕๓๕,๘๕๖ เย็น ๑,๒๘๔,๔๒๙,๙๘๘
    พันธบัตรคลัง ๒๕๒,๕๐๐,๐๐๐
      ๑,๘๗๕,๘๘๙,๐๘๑
    ทองคำถูกยึดในอเมริกา ๓๘,๓๙๐,๕๔๕
    หลักทรัพย์สเตอร์ลิงก์และปอนด์สเตอร์ลิงก์ถูกยึดในอังกฤษ ๒๖๕,๗๕๓,๘๙๖
  ๑,๙๙๒,๖๕๐,๓๔๘   ๒,๑๘๐,๐๓๓,๕๒๒

๙. ถ้าเทียบตัวเลขปัจจุบันกับตัวเลขเมื่อ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๘๔ จะเห็นได้ว่าธนบัตรที่จำหน่ายได้เพิ่มขึ้นกว่า ๑,๗๑๗ ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ ๖๒๓ ที่ค่าของเงินได้ตกต่ำไปมากจึ่งไม่น่าประหลาดใจ อนึ่ง ควรสังเกตด้วยว่าฐานะเงินตราได้เสื่อมโทรมลงมาก สินทรัพย์เหลวมีแต่ทองคำในประเทศไทยและญี่ปุ่นประมาณร้อยละ ๑๗ ของธนบัตรที่จำหน่ายเท่านั้น และถึงหากว่าอเมริกาและอังกฤษจะปล่อยสินทรัพย์ที่ยึดไว้ สินทรัพย์เหลวรวมทั้งสิ้น (ทองคำและปอนด์สเตอร์ลิงก์) จะมีเพียงประมาณร้รอยละ ๒๗ ของธนบัตรที่จำหน่าย

(๕) ค่าของเงิน

๑๐. ได้กล่าวแล้วว่า เมื่อปริมาณแห่งเงินเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณสินค้าและบริการไม่เพิ่มขึ้นด้วยตามส่วน ค่าของเงินก็ย่อมจะเสื่อมลง ค่าของเงินมีทางพอวัดได้เป็นเลา ๆ โดยอาศัยเลขดัชนีราคาขายส่งและอัตราค่าครองชีพเท่าที่มีอยู่ ซึ่งปรากฏดังต่อไปนี้

ธันวาคม ๒๔๘๔ = ๑๐๐

เดือนปี ราคาขายส่ง อัตราค่าครองชีพ
(กระทรวงพาณิชย์) (หอการค้าญี่ปุ่น)
ธันวาคม ๒๔๘๕ ๑๑๑ ๑๓๓ ๒๐๖
ธันวาคม ๒๔๘๖ ๑๕๒ ๒๑๙ ๓๓๒
ธันวาคม ๒๔๘๗ ๒๑๔ ๓๖๒ ๙๐๕

ถ้าจะว่าตามความสังเกตทั่วไป ตัวเลขค่าครองชีพซึ่งหอการค้าญี่ปุ่นเป็นผู้จัดทำนั้นน่าจะใกล้ความจริงอยู่มาก

(๖) สรุปความ

๑๑. เสถียรภาพแห่งค่าของเงินย่อมเป็นรากฐานแห่งการบุรณะบ้านเมือง การจัดให้เงินเป็นเสถียรภาพจึงเป็นกิจการสำคัญที่สุดอันหนึ่ง เหตุที่กระทำให้เสถียรภาพเสื่อมเสียไปมีอยู่สามประการดังกล่าวไว้ในข้อ ๑. บัดนี้ก็ใกล้วันที่จะหมดไปแล้วสองประการ จะเหลืออยู่ก็แต่ประการเดียว คือการจ่ายเงินเกินกว่ารายได้ เหตุประการนี้อยู่ในอำนาจของรัฐบาลที่จะแก้ไขให้หมดสิ้นไปได้ และเมื่อแก้ไขได้แล้วก็จะจัดให้เงินเป็นเสถียรภาพได้.

สำนักงานที่ปรึกษา กระทรวงการคลัง

๒ กันยายน ๒๔๘๘

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ