- คำนำ
- ๑๙๘ ประกาศสงกรานต์ ปีจอจัตวาศก
- ๑๙๙ ประกาศเรื่องการถวายทองเงินพระเจ้าลูกเธอในการโสกันต์
- ๒๐๐ ประกาศเรื่องเกณฑ์ทรายโรยถนนในการพระศพ
- ๒๐๑ ประกาศห้ามมิให้กราบบังคมทูลทักอ้วนผอมขาวดำ
- ๒๐๒ ประกาศวางโทษเรื่องทักอ้วนผอม
- ๒๐๓ ประกาศให้เรียกคลองวัดไชยพฤกษ ว่าคลองมหาสวัสดิ์คลองเข้าไปพระปฐม ว่าคลองเจดีย์บูชา
- ๒๐๔ ประกาศให้ชำระตัวเลขพระคลังสุภรัต ซึ่งไปแอบอิงอยู่ในกรมต่างๆ ส่งให้คลังสุภรัต
- ๒๐๕ ประกาศให้คัดเรื่องความที่ราษฎรร้องฟ้องขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย
- ๒๐๖ ประกาศให้เก็บภาษีหัวเบี้ยรวมอยู่ในบ่อน
- ๒๐๗ ประกาศให้ใช้กะแปะอัฐแลโสฬศที่ทำขึ้นใหม่
- ๒๐๘ ประกาศห้ามไม่ให้ตื่นกันเรื่องกะแปะอัฐแลโสฬศจะใช้ไม่ได้
- ๒๐๙ ประกาศห้ามมิให้นับอัฐโสฬศลงที่พื้นแขงๆ
- ๒๑๐ ประกาศขยายสถานที่จำหน่ายแลรับกะแปะอัฐแลโสฬศ
- ๒๑๑ ต้นประกาศพระราชทานแลกเปลี่ยนที่วิสุงคามสีมาเมืองลพบุรี
- ๒๑๒ ประกาศการพระราชพิธีลงสรงโสกันต์พระเจ้าลูกเธอ
- ๒๑๓ ประกาศให้ข้าราชการที่ทำการวิวาหมงคลโกนจุกบุตร นำความกราบบังคมทูล ฯ แลข้าราชการในทำเนียบถึงแก่กรรมให้บอกกระทรวงวัง
- ๒๑๔ ประกาศไม่ให้หม่อมเจ้าหม่อมราชวงศ์ตลอดจนบุตรหลานเหลนไปเที่ยวตามหัวเมืองโดยไม่ได้ทูลลา
- ๒๑๕ ประกาศเรื่องการนุ่งขาวแลกระแสพระราชดำรัสในการที่ทรงแจกพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
- ๒๑๖ ประกาศมหาสงกรานต์ ปีกุนเบญจศก
- ๒๑๗ ประกาศพระราชบัญญัติรับฟ้องความเจ้า แลห้ามเจ้ามิให้ไปไกลพระนคร
- ๒๑๘ ประกาศการทรงปฏิสังขรณ์พระเจดีย์วัดชุมพลนิกายารามที่เกาะบางปอิน
- ๒๑๙ ประกาศพระราชทานอนุญาตให้ข้าราชการฝ่ายในทูลลาออกนอกราชการได้
- ๒๒๐ ประกาศพิกัดราคาทองแปทศพิศพัดดึงศ์
- ๒๒๑ ประกาศห้ามไม่ให้เชื่อถือข้าราชการเก่านอกตำแหน่ง
- ๒๒๒ พระราชปรารภเรื่องเดินเปนผู้ว่าราชการเมือง
- ๒๒๓ ประกาศว่าด้วยการเดินเปนเจ้าเมือง
- ๒๒๔ ประกาศงานพระเมรุเจ้าฟ้าจันทรมณฑล แลงานฉลองวัด
- ๒๒๕ ประกาศพิกัดภาษี เรือ ตึก แพ โรงร้าน
- ๒๒๖ ประกาศสงกรานต์ ปีชวดฉศก
- ๒๒๗ ประกาศให้ผู้ที่ได้กู้ยืมเงินในพระเจ้าลูกเธอมาสารภาพต่อกรมวัง
- ๒๒๘ ประกาศวันธรรมสวนะแก้ความในประกาศสงกรานต์ที่ผิด
- ๒๒๙ ประกาศเตือนสติให้สงวนเข้าไว้ให้พอกินตลอดปี
- ๒๓๐ ประกาศพิกัดเงินเหรียญนอก
- ๒๓๑ ประกาศเลิกภาษีผลมะพร้าว
- ๒๓๒ ประกาศว่าด้วยแจกเบี้ยหวัดเปนทองทศ ทองพิศ ทองพัดดึงศ์ แทนเงิน
- ๒๓๓ ประกาศเฉลิมพระชนม์พรรษา
- ๒๓๔ ประกาศว่าด้วยการเล่าฦๅกันว่าพระพุทธทำนายเกิดขึ้นที่เมืองเขมร
- ๒๓๕ ประกาศว่าด้วยเรื่องมีผู้ทำอัฐปลอม
- ๒๓๖ ประกาศด้วยเรื่องมีผู้ทำเงินปลอม
- ๒๓๗ ประกาศเพิ่มเติมเรื่องอัฐโสฬศอ่อนแลบางไป
- ๒๓๘ ประกาศว่าด้วยเรื่องราคาเข้า
- ๒๓๙ ประกาศพระราชทานโอวาทแก่ผู้ซื้อเข้าขายเข้า
- ๒๔๐ ประกาศให้ผู้ถูกใช้อัฐปลอมนำมาทูลเกล้าฯ ถวาย
- ๒๔๑ ประกาศห้ามมิให้เรียกหม่อมราชวงศ์แลหม่อมหลวงว่าเจ้า
- ๒๔๒ ประกาศไม่ให้จำหน่ายเข้าออกไปนอกประเทศ
- ๒๔๓ ประกาศให้เรียกค่าธรรมเนียมเรือลูกค้าในเมืองที่มีกงสุลสยาม
- ๒๔๔ ประกาศพระราชบัญญัติเรื่องนาตราแดงแลนาคู่โค
- ๒๔๕ ประกาศตั้งกงสุลปรุศเสียน
- ๒๔๖ ประกาศเรื่องทำพระศพเจ้านายแลศพเสนาบดี ที่พระเมรุกลางเมือง
๒๒๕ ประกาศพิกัดภาษี เรือ ตึก แพ โรงร้าน
ณวันจันทร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีกุนเบญจศก
มีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ให้ประกาศข้าราชการในกรุงเทพฯ แลผู้สำเร็จราชการเมืองกรมการณหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือทั้งปวงแลเจ้าภาษีนายอากร แลผู้รับช่วงไปทำแทนเจ้าภาษีนายอากรทุกเรื่องทุกราย แลกำนันนายอำเภอแลราษฎรในกรุงนอกกรุงทั้งปวงให้ทราบทั่วกัน ว่าด้วยเรื่องภาษีเรือแลที่บ้านเรือนโรงร้านตึกแพ ภาษีเรือแลที่บ้านเรือนโรงร้านตึกแพนี้ แต่ก่อนเปนอากรเบิกตลาดแก่ผู้ที่ลูกค้านั่งเดินเที่ยวค้าขายของต่างๆ จึงทรงพระราชดำริห์เห็นว่า ราษฎรที่มีทุนรอนน้อยทำของต่างๆ คือขนมแลอื่นๆ ขึ้นแล้ว หาผลไม้แลผักต่างๆ มาแล้วเดินขายวางขาย เมื่อขายไม่หมดก็ย่อมเน่าบูดเหี่ยวแห้งไปเสียต้องขาดทุนเปล่า เพราะของเก็บไว้นานไม่ได้ แล้วผู้เก็บตลาดเทลาะกับไพร่คนยากคนจน เพราะเบี้ย ๙ เบี้ย ๑๐ เบี้ยอึงๆ น่ารำคาญ จะคิดอ่านผ่อนผันฉันใดจะดี จะให้ราษฎรที่ยากจนไม่ต้องลำบากด้วยทุ่งเถียงกับผู้เก็บตลาดเพราะเบี้ยเล็กน้อย แลเสียเบี้ยเล็กน้อยวุ่นวายไป ให้ท่านเสนาบดีปฤกษาหาฤๅกันจัดการเสียใหม่ให้สมควร ท่านเสนาบดีปฤกษาพร้อมกันให้เลิกอากรตลาดนั้นเสีย เปลี่ยนเรียกเปนภาษีซื้อขาย เพราะเห็นว่าผู้ที่มีทรัพย์ตั้งโรงร้านไว้ใส่สินค้าของตัวบ้าง ให้เช่าบ้าง หาเรือไปบรรทุกสินค้าบ้าง รับจ้างบ้าง มีผลประโยชน์มากไม่ต้องเสียค่าที่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เลิกอากรเบิกตลาดเสีย เปลี่ยนเรียกเปนภาษีเรือค้าขายแลที่บ้านเรือนโรงร้านตึกแพที่ค้าขายขึ้นใหม่ ความทั้งปวงแจ้งอยู่ในตราตั้งเจ้าภาษี แลราชกิจจานุเบกษาแผ่นที่ ๑๑ นั้นแล้ว ครั้นภาษีเรียกสืบๆ มาหลายปี จึงมีผู้กราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทราบใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทเปนหลายครั้งว่า เจ้าภาษีรับทำภาษีแล้วขายช่วงให้ผู้อื่นเปนตอนๆ ไปตามระยะแขวงในกรุงเทพฯ แลหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือ แลผู้ที่ซื้อช่วงไปนั้นหาเรียกภาษีตามพิกัดท้องตรานั้นไม่ ไปยักย้ายเรียกภาษีให้เหลือๆ เกินๆ เอารัดเอาเปรียบแก่ราษฎรๆ ที่ไม่ได้รู้พิกัดในท้องตรา ก็ต้องยอมเสียให้ตามใจผู้เก็บที่รับช่วงไปจากเจ้าภาษีใหญ่ เพราะผู้รักษาเมืองกรมการนายบ้านนายอำเภอถึงลอกท้องตราตั้งไว้แล้ว ก็มิได้คัดพิกัดในท้องตราหมายประกาศให้ราษฎรรู้ทั่วกัน บัดนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำกำหนดตามพิกัดภาษีตีพิมพ์ประกาศแจกให้ราษฎรทั้งปวงได้รู้ทั่วกันว่า เจ้าภาษีซึ่งจะเรียกภาษีในจังหวัดกรุงเทพฯ ก็ดี หัวเมืองก็ดี ทำผิดท้องตราแลหมายประกาศนี้ ห้ามอย่าให้ราษฎรยอมเสียภาษีให้ตามใจเจ้าภาษี ให้ราษฎรดูตามพิกัดที่ประกาศมานี้ แล้วเอาหนังสือพิมพ์ประกาศออกเถียงเถิด ถ้ามิฟังให้ร้องทุกข์กล่าวโทษผู้เก็บภาษีเถิด
พิกัดนั้นดังนี้ แพที่ไว้สินค้าขาย ฤๅตั้งบ่อนเล่นเบี้ยต่างๆ แลให้เช่านั้น ในพิกัดเดิมว่า ถึงจะทำหลังคาเปนหลังหนึ่งก็ดี ๒ หลังก็ดี ให้เรียกภาษีแต่หลังเดียว ปีหนึ่งกำหนดแพ ๓ ห้องเปนเงิน ๒ ตำลึงบาท ๒ ห้องเปนเงินตำลึง ๒ บาท ห้องหนึ่งเปนเงิน ๓ บาท ครั้นเจ้าภาษีไปเรียกราษฎรชาวแพที่ไว้สินค้าขาย แลให้เช่าไว้สินค้าขาย ฤๅตั้งบ่อนเล่นเบี้ยต่างๆ ร้องว่า ไว้สินค้าน้อยบ้าง ให้เช่าค่าเช่าไม่ถึงห้องละ ๓ บาทบ้าง สินค้าไม่เสมอกันอย่างนี้ จึงให้เจ้าภาษีเรียกลดหย่อนลง ให้เรียกภาษีแพที่มีสินค้าขาย ฤๅให้เช่าไว้สินค้าสิ่งหนึ่งสองสิ่งสามสิ่งที่ราคาน้อยแต่ห้องละ ๖ สลึง ๒ ห้องเปนเงิน ๓ บาท ๓ ห้องเปนเงินตำลึง ๒ สลึง แต่แพที่ตั้งบ่อนต่างๆ แลให้เช่า ฤๅแพของตัวไว้สินค้าขายราคามาก มีผ้าลายแลผ้าแพรเครื่องทองเหลืองทองขาวแลอื่นๆ ที่มีราคาคล้ายๆ กัน ให้เรียกภาษีห้องละ ๓ บาท แพ ๒ ห้องเปนเงินตำลึง ๒ บาท แพ ๓ ห้อง เปนเงิน ๒ ตำลึงบาทตามพิกัดเดิม ถ้าราษฎรตีเหล็กแลหล่อเครื่องทองเหลืองทองขาว ปั้นหม้อ ทำคราม ทำปอ ทำใต้ ทำตลุ่ม แลที่ไว้ไต้แลทำของสิ่งหนึ่งสิ่งใดๆ อันซึ่งเปนสินค้าแต่สิ่งเดียวไว้ในที่ในโรงร้านของตัวไว้ขายราคามากกว่าตำลึงขึ้นไป โรงร้านนั้นให้เรียกภาษีห้องละ ๒ สลึง ถ้ามีสินค้า ๒ สิ่ง ๓ สิ่งให้เรียกภาษีห้องละบาท ถ้ามีสินค้า ๔ สิ่ง ๕ สิ่งเหมือนสินค้าในแพ ให้เรียกภาษีห้องละ ๒ บาท ถ้าเช่าที่โรงร้านตึกไว้สินค้าขาย ถึงสินค้าจะมีมากเท่าใดๆ ก็ดี ฤๅเช่าที่โรงร้านตึกบ่อนต่างๆ แลทำสิ่งของขายในที่โรงร้านตึก ถึงผู้ให้เช่าจะคิดอุบายว่าให้เช่าแต่โรงเท่านั้น แบ่งเปนค่าเช่าเครื่องใช้ต่างๆ ในโรงเสียเท่านั้นก็ดี ผู้ได้ค่าเช่าที่โรงร้านตึกแลเครื่องใช้ในโรงร้านตึก รวมปีหนึ่งเปนเงินค่าเช่าเท่าใด ให้เรียกภาษีตามราคาเช่า ๑๒ ชัก ๑ ราษฎรทำโรงเคี่ยวน้ำมันขาย ทำเรือขาย สีเข้าขาย แลตั้งบ่อนต่างๆ เปนที่โรงของตัวไม่ได้เช่า ให้เจ้าภาษีเรียกห้องละบาท ถ้าเปนเพิงหน้าเดียวให้เรียกภาษีห้องละ ๒ สลึง ราษฎรเช่าแต่ที่ดินแล้วปลูกโรงเอาเองตั้งบ่อนไว้สินค้าขาย ให้เจ้าภาษีเรียกภาษี ๑๒ ชัก ๑ เทียบเหมือนกันกับโรงเช่า ให้เรียกภาษี ๑๒ ชัก ๑ แต่เจ้าของผู้ที่ได้ค่าเช่าที่ดินตามราคามากแลน้อย ถ้าได้ค่าเช่าที่ดินยังไม่เท่าที่เทียบกับค่าเช่าโรง ให้เรียกเอาแต่ผู้ซึ่งปลูกโรงตั้งบ่อนไว้สินค้าขายเพิ่มเข้าให้เท่ากับค่าเช่าโรงอย่างก่อน ราษฎรทำโรงทำร้านบรรทุกปลาไว้ขายตามชายทเลนั้น ราษฎรเจ้าของโรงเจ้าของร้านมีเรือไปหาปลามาแต่รั้ว ในลำเรือไม่ได้ขายเปนแต่บรรทุกมาส่งขึ้นโรงขึ้นร้านไว้ขาย ให้เรียกภาษีโรงห้องละ ๒ สลึง ราษฎรสานงอบสานเสื่อลำแพนเย็บจากเย็บกระแชงไว้ที่โรงร้านวางขาย ถ้าไม้จากของตัวทำขายไม่ต้องเสียภาษี ถ้าไปรับมาแต่ที่อื่นรวมไว้ขายราคามากกว่าตำลึงขึ้นไป จึงให้เรียกภาษีเปนที่ไว้สินค้าห้องละ ๒ สลึง โรงเลี้ยงสุกรขายสุกรตั้งแต่ ๑๐ ตัวขึ้นไป โรงเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ขายเป็ดไก่ตั้งแต่ ๕๐ ตัวขึ้นไป จึงให้เรียกภาษีเปนที่ไว้สินค้าขายบาทหนึ่ง ถ้าสุกรต่ำกว่า ๑๐ ตัว เป็ดไก่ต่ำกว่า ๕๐ ตัว แลเปนที่เลี้ยงกลางแจ้งไม่มีโรงไม่ให้เรียกภาษี ถ้าแลโรงทำน้ำมันมีสุกรอยู่ในโรงนั้นมากน้อยเท่าใด ให้เสียแต่ภาษีโรงทำน้ำมันอย่างเดียว ถ้าแลปลูกโรงห่างๆ โรงน้ำมันออกไปวาหนึ่งเลี้ยงสุกรไว้ขาย โรงนั้นก็ต้องเสียภาษีเหมือนโรงที่ไว้สินค้าเหมือนกัน ถ้าเรือบรรทุกสินค้าขายราคาสินค้าในลำเรือไม่ถึงตำลึง แลเรือใหญ่เรือน้อยที่ไม่ได้เช่าเจ้าของไปเอง ฤๅใช้คนไปบรรทุกเข้าแลสิ่งของทั้งปวงมาใช้มากิน เจ้าของฤๅคนรับใช้สาบาลได้ว่าไม่ได้ขายเองด้วยเรือลำนั้น ฤๅเรือของตัวไปบรรทุกสินค้ามาส่งขึ้นแพแลที่โรงร้านไว้ขาย แพแลที่เสียภาษีแล้วไม่ได้ขายในเรือด้วย ก็ไม่ต้องเสียภาษีเรือ แต่เรือที่บรรทุกสินค้าขายราคาสินค้ามากกว่าตำลึงขึ้นไป ฤๅเรือใหญ่เรือน้อยซึ่งเจ้าของให้เช่าใช้ แลเรือรับจ้างบรรทุกสินค้านอกจากเรือบรรทุกน้ำตาลทราย พริกไทย ไม้แดง ๓ สิ่งแล้วก็ให้เรียกภาษีเสมอศอกละสลึงเปนจำนวนปี แต่เรือซึ่งบรรทุกน้ำตาลทรายพริกไทยไม้แดงนั้น ครั้นจะให้เรียกภาษีเปนวาเปนศอกตามจำนวนนี้ ลางลำก็บรรทุกมากเที่ยว ลางลำก็บรรทุกน้อยเที่ยวไม่เสมอกัน จึงให้เรียกภาษีเปนเที่ยวตามราคาที่รับจ้าง ๑๒ ชัก ๑ เรือ โรงร้าน ตึก แพ ที่ๆ ไม่ได้ให้เช่า เจ้าของไม่ได้ไว้สินค้าวางขาย ฤๅโรงร้านตึกแพที่บรรทุกสินค้าไว้สำหรับจะได้บรรทุกเรือของตัวที่จะไปค้าต่างประเทศ ไม่ได้ขายในที่นั้น ที่โรงร้านตึกแพไม่ได้วางของขายก็ไม่ต้องเสียภาษีที่ไว้ เพราะจะต้องเสียภาษีปากเรือขาออกแล้ว ถ้าเจ้าของตึกแพโรงร้านเรือเปนไพร่หลวงมีตราภูมิ์เอาตราภูมิ์ออกสู้ ในตราภูมิ์ว่าคุ้มค่าตลาดได้เท่าใด ก็ให้ยกภาษีเรือโรงร้านตึกแพที่ไว้สินค้าที่ตั้งบ่อนต่างๆ ให้ตามพิกัดตลาดในตราภูมิ์ ถ้าเงินภาษีมากกว่ากำหนดในตราภูมิ์ที่คุ้มได้มากน้อยเท่าใด เงินภาษีที่เหลือจากกำหนดในตราภูมิ์นั้น ก็ให้ผู้มีตราภูมิ์เสียภาษีให้แก่เจ้าภาษีเท่านั้นตามมากแลน้อย แลพิกัดในท้องตราก็กำหนดให้เรียกดังกล่าวมานี้ แต่เจ้าภาษีคิดยักย้ายเรียกภาษีเหลือเกินอยู่ ให้ราษฎรผู้ที่มีเรือแลที่บ้านเรือนโรงร้านตึกแพทั้งปวง พิเคราะห์ดูในพิกัดหมายประกาศนี้ให้ถ้วนถี่ จะได้เสียภาษีให้ตามพิกัดกำหนดในท้องตราตามพิกัด ถ้าเจ้าภาษีจะเรียกเกินขึ้นไปอย่าให้ราษฎรยอมเสียให้ ให้ร้องฟ้องเอาเถิด
ให้ผู้สำเร็จราชการเมืองกรมการมีใจเมตตากรุณาแก่ราษฎร รับหมายประกาศตีพิมพ์นี้แจกไปให้ราษฎรรู้ทั่วกัน อย่าให้เปนใจด้วยเจ้าภาษีแลยอมให้เจ้าภาษียักย้ายเก็บภาษีให้เหลือๆ เกินๆ ให้ผิดท้องตราแลหมายประกาศไป ถ้าผู้สำเร็จราชการเมืองกรมการคุมเหงราษฎรให้เสียภาษีเกินพิกัดตามใจเจ้าภาษี ถ้าได้ความว่าทำจริงจะให้มีโทษด้วย ฝ่ายเจ้าภาษีเล่าจงมีความเมตตากรุณาแก่ราษฎร ภาษีจะมีประโยชน์กำไรก็เพราะราษฎรทำมาหากินโดยคล่องโดยสดวกจะได้ทำมากขึ้น ให้เจ้าภาษีเก็บภาษีโดยซื่อสัตย์ตามพิกัดท้องตรา อย่าให้เรียกเหลือเกินผิดจากพิกัดท้องตราแลหมายประกาศนี้ ให้ราษฎรได้ความเดือดร้อนสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ แลฝ่ายราษฎรทั้งปวงเล่าก็ให้ยอมเสียภาษีให้เจ้าภาษีตามพิกัดในหมายประกาศนี้แต่โดยดีจงทุกประการ เปนอันช่วยราชการแผ่นดินซึ่งเปนที่พึ่งของท่านทั้งปวงอยู่ ถ้าสงสัยข้อใดก็ให้ไปถามผู้รักษาเมืองกรมการเสียให้เข้าใจ จะได้เสียภาษีให้เจ้าภาษีตามพิกัด แลให้เจ้าภาษีกับราษฎรจงมีความอ่อนน้อมต่อกัน ความฉะเลาะวิวาทก็จะไม่บังเกิดมีต่อกัน
ประกาศมาณวันจันทร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีกุนเบญจศก ศักราช ๑๒๒๕ ฤๅเปนวันที่ ๔๖๙๕ ในรัชกาลปัตยุบันนี้