๑๙๘ ประกาศสงกรานต์ ปีจอจัตวาศก

มีพระบรมราชโองการ ให้ประกาศแก่ชนทั้งปวงบรรดาที่นับถือพระพุทธสาสนา แลธรรมเนียมปีเดือนวันคืนอย่างเช่นใช้ในเมืองไทยให้รู้ทั่วกันว่า ในปีจอจัตวาศกนี้ วันศุกร เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เปนวันมหาสงกรานต์ พระอาทิตย์จะขึ้นราศีเมษ เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เวลาตีสองยามกับ ๒๔ นาที วันเสาร์ เดือน ๕ ขึ้น ๑๓ ค่ำ วันอาทิตย์ เดือน ๕ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ๒ วันนี้เปนวันเนาว์ ในวันอาทิตย์ เดือน ๕ ขึ้น ๑๔ ค่ำนี้ เวลา ๑๐ ทุ่มกับ ๑๓ นาที ๔๘ วินาที เปนเวลาเถลิงศกขึ้นศักราชใหม่ แต่ในคราวที่เปนเช่นนี้เคยใช้เถลิงศกตกอยู่ในวันหน้าเปนธรรมเนียมมา เพราะตามตำราโหรทำปฏิทินอย่างไทยใช้กำหนดเวลาล่วงเที่ยงคืนแล้วเปนวันหน้าเถลิงศกนั้นภายหลัง เวลาพระอาทิตย์ขึ้นราศีเมษ ๕ โมงกับ ๕๐ นาทีทุกปี แต่เวลาอาทิตย์ยกเลื่อนไป ๖ โมงกับ ๑๒ นาที ๓๖ วินาที ทุกปี ครั้นเวลาอาทิตย์ยกไปราศีเมษเปนกลางคืนดึกไปในวันมหาสงกรานต์แล้ว เวลาเถลิงศกก็ไปตกในวันที่ ๔ ต้องมีวันเนาว์สองวัน ด้วยเหตุนี้จึงยกวันจันทร์ เดือน ๕ ขึ้น๑๕ ค่ำ เปนวันเถลิงศกขึ้นศักราชใหม่เปน ๑๒๒๔ เพราะฉนั้นในปีนี้สงกรานต์เปน ๔ วันให้พระราชวงศานุวงศ์ ข้าราชการแลราษฎรชาวพระนคร แลชาวหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือทั้งปวงทราบทั่วพร้อมกันแล้ว จงประพฤติการทำบุญให้ทานแลเล่นนักขัตฤกษ์ในวันสงกรานต์เปน ๔ วันตามอย่างเคยมีมาแต่ก่อนนั้นเทอญ

คนฟั่นๆ เฟือนๆ ไหลๆ เล่อๆ จำการหลังไม่ได้อย่าตื่นถามว่าสงกรานต์ทำไมจึงเปน ๔ วัน สงกรานต์ ๔ วันนี้ แต่ก่อนลางปีดังในปีมะเมียสัมฤทธิศกก็เคยมีเปนอย่างมาแล้วเปนหลายครั้ง อย่าสงสัยสนเท่ห์ถามไถ่กันวุ่นไปเพราะเหตุนี้เลย

ปีนี้สงกรานต์ทรงพาหนะอะไร ภักษาหารอะไร ถืออะไร จะว่ามาก็ไม่ต้องการ ใครจะใคร่ทราบก็มาดูรูปที่เขียนแขวนไว้ในพระบรมมหาราชวังเทอญ

ลักษณะจดหมายวันคืนเดือนปีใช้ดังนี้ คือตั้งแต่วันจันทร์ เดือน ๕ ขึ้นค่ำ ๑ ไปจนขึ้น ๑๕ ค่ำ จดหมายลงชื่อปีในที่ทั้งปวงให้ว่าปีจอยังเปนตรีศก ถ้าจะจดจุลศักราชให้คงเปน ๑๒๒๓ อยู่ ตั้งแต่วันจันทร์ เดือน ๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ไปจนถึงวันพฤหัสบดี เดือน ๔ แรม ๑๕ ค่ำ ซึ่งเปนวันตรุษสุดปีนั้นให้ใช้ว่าปีจอจัตวาศก ลงเลขจุลศักราชว่า ๑๒๒๔ แก้เลข ๑๑ ตามปีแผ่นดินซึ่งเขียนไว้บนศกนั้น เมื่อเปลี่ยนจัตวาศกแล้ว ให้เขียนเปนเลข ๑๒ ดังนี้ ปีจอจัต๑๒วาศก ไปกว่าจะเปลี่ยนศกใหม่เถิด

ใน ปีจอจัต๑๒วาศกนี้ วันพุธ เดือน ๕ ขึ้น ๓ ค่ำ วันหนึ่ง วันอาทิตย์ เดือน ๑๐แรม ๑๓ ค่ำ วันหนึ่ง เปนวันประชุมถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา

วันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๓ ค่ำ เปนวันจะทำพระราชพิธีจรดพระนังคัล ให้ราษฎรลงมือทำนาภายหลังวันนั้น ตั้งแต่วันศุกร เดือน ๖ ขึ้น ๔ ค่ำไป ห้ามมิให้ลงมือทำนาก่อน ฤๅในวันนั้นตลอดพระราชอาณาเขตร์

พระราชพิธีจองเปรียงในปีจอจัตวาศกนี้ ยกโคมวันพุธ เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ลดโคมวันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๓ ค่ำ ณวันอาทิตย์ เดือนอ้าย แรมค่ำ ๑ เปนวันชีพ่อพราหมณ์จะได้ทำพระราชพิธีกฤติเกยาณพระเทวสถาน พระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน ๒ ครั้ง แลพระราชพิธีสารท แลพระราชพิธีตรียัมพวายตรีปวาย แลพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ คงทำในวันคืนแลเดือนขึ้นแรมนั้นๆ ตามเคยเหมือนอย่างทุกปี

ในปีจอจัตวาศกนี้ วันเสาร์เปนวันธงไชยเปนวันดี วันศุกรเปนวันอุบาทว์ แลเปนวันโลกวินาศ ห้ามฤกษ์การมงคลทั้งปวง

อนึ่งวันเสาร์ เดือน ๘ แรมค่ำ ๑ เปนวันเข้าปุริมพรรษา วันจันทร์ เดือน ๙ แรมค่ำ ๑ เปนวันเข้าปัจฉิมพรรษา วันพุธ เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เปนวันมหาปวารณาคงอยู่ตามที่ไม่ยักเยื้องอะไร

อนึ่งวันวิสาขบูชาที่ถือตามลัทธิในอรรถกถาว่าเปนวันประสูติ แลได้ตรัสรู้แลปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ปีนี้นักขัตฤกษ์วิสาขบุรณมีคงอยู่ในวันอังคาร เดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ใครที่มีศรัทธาเชื่อถือแก่การกุศล ซึ่งจะได้ทำตามลัทธิของชนที่ถือพระพุทธสาสนา ว่าเปนนักขัตฤกษ์เหมือนวันประสูติแลได้ตรัสรู้แลปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็จงทำการกุศลตามชอบใจให้สมควรแก่ความเลื่อมใสนั้นเทอญ

ในพระบรมมหาราชวังจะมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตรที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท วันจันทร์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ วันอังคาร เดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำที่พระที่นั่งอนันตสมาคม วันพุธ เดือน ๖ แรมค่ำ ๑ เปนการมงคลสำหรับพระราชวังตามเคยอย่างทุกปี

ในปีจอจัตวาศกนี้ วันอุโบสถเปนที่รักษาอุโบสถศีลแลมีมหาธรรมสวนะนั้น ผิดกับวันที่นับว่าวันอุโบสถฤๅวันพระตามเคยรู้ด้วยกันในชาวสยามทั้งปวงนั้นมีอยู่ ๔ วัน คือวันอาทิตย์เดือนยี่ ขึ้นค่ำ ๑ วันจันทร์ เดือนยี่ ขึ้น ๙ ค่ำ วันพุธ เดือน ๔ ขึ้นค่ำ ๑ วันพฤหัสบดี เดือน ๔ขึ้น ๙ ค่ำ ๔ วันเท่านี้ วันอุโบสถแลวันธรรมสวนะนอกจาก ๔ วันนี้แล้วก็คงในวันตามเคย คือขึ้น ๘ ค่ำ แรม ๘ ค่ำ แลขึ้น ๑๕ ค่ำ ทุกเดือน แลแรม ๑๕ ค่ำ ในเดือน ๖ เดือน ๘ เดือน ๑๐ เดือน ๑๒ เดือนยี่ เดือน ๔ แลแรม ๑๔ ค่ำ ในเดือน ๕ เดือน ๗ เดือน ๙ เดือน ๑๑ แต่แรม ๑๔ ค่ำ ในเดือนอ้าย เดือน ๓ นั้นไม่นับเปนวันอุโบสถ เพราะปักษ์นั้นเปนปักษ์ถ้วน วันอุโบสถตกในวันขึ้นค่ำ ๑ ณเดือนยี่ เดือน ๔ ในกาลบัดนี้พระสงฆ์ก็มีคฤหัสถ์ก็มีเปนอันมาก ที่มีอุสาหจะใคร่ทำธรรมสวนะแลรักษาอุโบสถศีลให้ถูกต้องตรงวันเพ็ญวันดับตามดิถีประสงค์ แลวันที่ ๘ นับแต่วันเพ็ญวันดับนั้นไป ก็เพื่อจะอนุเคราะห์แก่ชนพวกนั้นให้รู้วันเพ็ญวันดับแลวันที่ ๘ ตามดิถีประสงค์ จึ่งได้เขียนรายวันเพ็ญวันดับแลขึ้น ๘ ค่ำ แรม ๘ ค่ำ ตามดิถีประสงค์ไว้ตลอดชั่วปี

ในปีจอจัตวาศกนี้เดือน ๕ ขึ้น ๘ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำเปนวันจันทร์ แรม ๘ ค่ำ เปนวันอังคาร แรม ๑๔ ค่ำ เปนวันจันทร์ เดือน ๖ วันขึ้น ๘ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เปนวันอังคาร แรม ๘ ค่ำ แรม ๑๕ ค่ำ เปนวันพุธ เดือน ๗ วันขึ้น ๘ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เปนวันพฤหัสบดี แรม ๘ ค่ำ เปนวันศุกร แรม ๑๔ ค่ำ เปนวันพฤหัสบดี เดือน ๘ วันขึ้น ๘ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เปนวันศุกร แรม ๘ ค่ำ แรม ๑๕ ค่ำ เปนวันเสาร์ เดือน ๙ วันขึ้น ๘ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เปนวันอาทิตย์ แรม ๘ ค่ำ เปนวันจันทร์ แรม ๑๔ ค่ำ เปนวันอาทิตย์ เดือน ๑๐ วันขึ้น ๘ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เปนวันจันทร์ แรม ๘ ค่ำ แรม ๑๕ ค่ำ เปนวันอังคาร เดือน ๑๑ วันขึ้น ๘ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เปนวันพุธ แรม ๘ ค่ำ เปนวันพฤหัสบดี แรม ๑๔ ค่ำ เปนวันพุธ เดือน ๑๒ ขึ้น ๘ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำเปนวันพฤหัสบดี แรม ๘ ค่ำ แรม ๑๕ ค่ำ เปนวันศุกร เดือนอ้าย วันขึ้น ๘ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เปนวันเสาร์ แรม ๘ ค่ำ แลวันขึ้นค่ำ ๑ เดือนยี่ เปนวันอาทิตย์ เดือนยี่ ขึ้น ๙ ค่ำ เปนวันจันทร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เปนวันอาทิตย์ แรม ๘ ค่ำ แรม ๑๕ ค่ำ เปนวันจันทร์ เดือน ๓ ขึ้น ๘ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เปนวันอังคาร แรม ๘ ค่ำ แลขึ้นค่ำ ๑ เดือน ๔ เปนวันพุธ เดือน ๔ ขึ้น ๙ ค่ำ เปนวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เปนวันพุธ แรม ๘ ค่ำ แรม ๑๕ ค่ำ เปนวันพฤหัสบดี ให้สังเกตวันเหล่านี้ให้แน่นอนแล้ว จงทำธรรมสวนะแลรักษาอุโบสถศีลให้สมควรแก่ความเลื่อม

อนึ่งถ้าจะทำพิธีมาฆบูชาตามนิยมซึ่งมีกำหนดในคัมภีร์อรรถกถาว่า เปนวันที่ชุมนุมพระสาวก ๑๒๕๐ แลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดงโอวาทปาฏิโมกข์นั้น ปีนี้นักขัตฤกษ์มาฆบุรณมี ตกในวันพุธ เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ไม่อยู่ในวันอังคาร เดือน ๓ ขึ้น ๑๕ ค่ำ นั้นเลย ในวันนั้นถึงชื่อเรียกว่าเปนวันเพ็ญเดือน ๔ ก็ดี นักขัตฤกษ์พระจันทร์จะเหมือนกับฤกษ์วันเพ็ญเดือน ๓ ทุกปี ซึ่งมีมาแต่หลังแลจะมีต่อไปข้างหน้า ให้สังเกตดูดวงพระจันทร์ในอากาศนั้นเปนพยาน การนี้เปนแน่แล้ว

อนึ่งวันเวลาพระอาทิตย์ยกเปลี่ยนขึ้นราษีใหม่ ที่เรียกว่าสงกรานต์เดือนในปีจอจัตวาศกนี้ คือวันศุกร เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เวลา ๒ ยามกับ ๒๔ นาที วันจันทร์ เดือน ๖ขึ้น ๑๔ ค่ำ เวลา ๔ ทุ่ม วันศุกร เดือน ๗ แรมค่ำ ๑ เวลาเช้า ๒ โมง ๔๘ นาที วันจันทร์เดือน ๘ แรม ๓ ค่ำ เวลา ๕ ทุ่ม ๑๒ นาที วันศุกร เดือน ๙ แรม ๔ ค่ำ เวลาเช้า ๕ โมง๓๖ นาที วันจันทร์ เดือน ๑๐ แรม ๗ ค่ำ เวลาบ่าย ๒ โมง วันพุธ เดือน ๑๑ แรม ๗ ค่ำเวลา ๗ ทุ่ม ๑๒ นาที วันศุกร เดือน ๑๒ แรม ๘ ค่ำ เวลา ๕ ทุ่ม ๓๖ นาที วันอาทิตย์เดือนอ้าย แรม ๘ ค่ำ เวลาเช้า ๕ โมง ๑๖ นาที วันจันทร์ เดือนยี่ แรม ๘ ค่ำ เวลาทุ่มหนึ่งกับ ๓๖ นาที วันอังคาร เดือน ๓ แรม ๗ ค่ำ เวลา ๑๑ ทุ่ม ๑๒ นาที วันพฤหัสบดี เดือน ๔ แรม ๘ ค่ำ เวลา ๕ ทุ่ม ๑๒ นาที แลซึ่งกล่าวมานี้เพื่อประโยชน์แก่ท่านผู้ที่ต้องการหาฤกษ์ดีวันดี เมื่อรู้ว่าวันพระอาทิตย์ยกนี้เปนวันห้ามมงคลทั้งปวง จะได้หลีกเลี่ยงเสียแล้ว จะได้ประพฤติการมงคลในวันอื่นๆ นอกจากวันดังว่านี้

ว่าด้วยจันทรุปราคา สุริยุปราคาในปีจอจัตวาศกนี้ ถ้าจะว่าไปทั่วทั้งมนุษยโลกมีสุริยุปราคาถึง ๓ ครั้ง จันทรุปราคา ๒ ครั้ง วันพฤหัสบดี เดือน ๗ ขึ้น ๑๕ ค่ำ มีจันทรุปราคาครั้งหนึ่ง เปนเวลากลางวันในกรุงนี้ไม่เห็น วันพฤหัสบดี เดือน ๗ แรม ๑๔ ค่ำ มีสุริยุปราคาครั้งหนึ่ง ถึงเปนเวลากลางวันในพระราชอาณาจักรนี้จะไม่เห็นเลย วันศุกร เดือน ๑๒ แรม ๑๕ ค่ำ มีสุริยุปราคาอิกครั้งหนึ่ง ถึงเปนเวลากลางวันในพระราชอาณาจักรนี้ ก็จะไม่เห็นเหมือนกัน

วันเสาร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๑๕ ค่ำ จะมีจันทรุปราคาอิกครั้งหนึ่ง เปนเวลากลางวันในพระราชอาณาจักรนี้ก็จะไม่เห็น จันทรุปราคา ๒ ครั้ง สุริยุปราคา ๒ ครั้ง ซึ่งว่าทั้งนี้ในเมืองไทยก็ไม่ต้องการดอก เพราะจะไม่เห็นเลยทั้งนั้น แต่ถ้าผู้ที่ต้องการหาฤกษ์ดีวันดีรังเกียจว่าวันใกล้อุปราคาไม่เปนมงคล ก็จะได้หลีกเลี่ยงเสีย ยังจะมีสุริยุปราคาอีกคราวหนึ่งคือวันอาทิตย์ เดือนยี่ ขึ้นค่ำ ๑ เวลาใกล้เที่ยง สุริยุปราคาครั้งนี้ในกรุงเทพฯ ก็ไม่เห็นเลย แต่ถ้าจะว่าไปทั้งพระราชอาณาจักร ตั้งแต่เมืองปักษ์ใต้ฝ่ายทเลทั้งปวงขึ้นมาจนถึงกรุงเทพฯ แต่กรุงเทพฯ ขึ้นไปจนเมืองไชยนาท เมืองอุไทยธานี แต่ตวันตกไปจนเมืองกาญจน์บุรี แลตวันออกไปจนเมืองปราจิณบุรี เมืองกระบินทรเมืองพระตะบอง จะไม่ได้เห็นเลย คงจะเห็นพระอาทิตย์บริบูรณ์อยู่แต่เวลาพระอาทิตย์ขึ้น จนเวลาพระอาทิตย์ตกทุกเมือง แต่เมืองฝ่ายเหนือ ตั้งแต่เมืองนครสวรรค์ขึ้นไป ฝ่ายตวันออกตั้งแต่เมืองนครราชสีมาขึ้นไปข้างเหนือ ถ้าชาวเมืองนั้นรู้อยู่แล้ว ถ้ามีแว่นกระจกสีเขียวสีแดงบังตาคอยเพ่งดูพระอาทิตย์ เมื่อเวลาพระอาทิตย์เที่ยงแล้วไม่ช้า ก็จะได้เห็นสุริยุปราคาจับดวงพระอาทิตย์แหว่งข้างเหนือสักน่อยสักครู่หนึ่ง แล้วจะโมกขบริสุทธิ์ แต่ในเมืองฝ่ายเหนือสูงขึ้นไป คือเมืองพิษณุโลก เมืองพิไชย เมืองสุโขทัย เมืองกำแพงเพ็ชร เมืองตาก เมืองอุตรดิฐ เมืองสวางคบุรี จะได้เห็นสุริยุปราคาจับมากกว่าเมืองฝ่ายใต้หน่อยหนึ่ง ถ้าขึ้นไปถึงเมืองลาวพุงขาว คือเมืองนครพนม เมืองหนองคาย เมืองหลวงพระบาง แลอื่นๆ เมืองลาวพุงดำ คือเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองนครลำพูน เมืองน่าน เมืองแพร่ แลเมืองอื่นๆ จะได้เห็นสุริยุปราคาสนัดเข้าแลจับอยู่นานกว่าหัวเมืองฝ่ายไทย จนลางเมืองจะจับก่อนเที่ยงน่อยหนึ่ง ก็จะมีสุริยุปราคาซึ่งจะได้เห็นนั้นในเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองนครลำพูน เมืองน่าน เมืองแพร่ แลเมืองอื่นๆ ที่ทายไว้ว่าจะได้เห็นนั้น เวลาเห็นนั้นก็จะไม่เห็นพร้อมกัน แต่คงอยู่ในเวลาใกล้เที่ยงดังว่ามา ในเมืองที่เห็นสนัด แรกจับจะเห็นข้างทิศอุดร แล้วจะเยื้องไปข้างทิศอิสาณน่อยหนึ่งแล้วก็จะหลุดไป

ว่าวันคืนเดือนปีล่วงไปๆ ดังนี้ อายุของมนุษยชนในโลกทั้งปวงณกาลบัดนี้มีประมาณเพียง ๘๐ ปี แลต่ำลงมากว่า ๘๐ ปีนั้นก็หมดไปสิ้นไป ใกล้ต่อเวลาที่จะถึงแก่ความตายเข้าไปทุกวันๆ ด้วยกันทุกคนๆ ความตายนั้นไม่เลือกหน้าว่าผู้ใดๆ เปนคนจนคนมี ผู้ดีแลไพร่เปนคฤหัสถ์บรรพชิตไม่มีใครล่วงพ้นจากความตายนั้นได้เลย ก็แลสัตว์ทั้งปวง คนทั้งปวงมีชีวิตของตัวเปนที่รักหมดด้วยกัน กลัวตายไม่อยากตายโดยมากเปนธรรมดา แต่ว่าหาเสมอกันไม่ ลางคนได้ความทุกข์ความยากมาก เบื่อหน่ายในชีวิตของตัวบ้าง คลั่งไคล้ฟั่นเฟือนเห็นวิปริตไปต่างๆ บ้าง ศรัทธาล้นเหลือเฟือฟายคิดจะทำบุญด้วยชีวิตบ้าง ผูกคอตายเชือดคอตายกินยาตายแลเผาตัวเสียก็มี ฤๅอวดกล้าหาญแข็งแรงเกินประมาณไป ขึ้นไม้สูงแล้วเข้าใกล้ไฟใกล้ดินปืนแลเข้าปล้ำปลุกกับสัตว์ร้ายว่ายน้ำฦกแล่นเรือเล็กฝ่าคลื่นฝ่าลม แลเข้าชกต่อยตีรันฟันแทงแย้งยิงกับผู้อื่น ไม่อาลัยในชีวิตคิดว่าตายไหนตายลง ฤๅกล้าเสพสุรามากเกินประมาณ ฤๅกินยากล้าแรงยิ่งนักด้วยอยากจะให้โรคหายเร็ว คนเช่นนี้ลางทีก็เพลี่ยงพล้ำทำให้ชีวิตตัวเสียไปก็มีบ้าง ถึงกระนั้นมีอยู่ห่างๆ ก็ผู้ที่รักชีวิตไม่อยากตายกลัวตายนั้นมีโดยมาก ถึงกระนั้นลางคนยากจนไม่มีทรัพย์สินเย่าเรือนเคหา บุตรภรรยาซึ่งเปนที่ห่วงใยอาลัย แลเห็นว่าชาติสกุลตัวก็ต่ำ พาหนะเปนกำลังก็ไม่มี สติปัญญาตัวก็น้อย อายุแลวัยก็ล่วงไปมากแล้ว ก็บ่นอยู่อึงๆ ว่าจะอยู่ก็อยู่จะตายก็ตาย ตามแต่กำลังบุญแลบาปกรรม ฤๅตามแต่ผีสางเทวดาจะอนุเคราะห์แลไม่อนุเคราะห์ดังนี้ก็มีโดยมาก ก็ในผู้ที่มีห่วงใยที่อาลัยอาวรณ์โตใหญ่นั้นเล่า บางพวกก็มีปัญญาอันอบรมด้วยพระไตรลักษณปัญญาเห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา รู้ว่าเกิดมาคงถึงแก่ความตาย ไม่เที่ยง แลการทั้งปวงย่อมแปรผันไปต่างๆ ในชีวิตสัตว์ทั้งปวงแล้วความทุกข์เปนพื้น ความสุขเปนดอกดวงมีแต่ละเมื่อละขณะ ถึงเวลาปลายคงกลายลงหาทุกข์ ความสุขที่ได้แล้วฤๅที่หมายว่าจะได้ คงจะกลับมาเปนอารมณ์แก่ใจ ให้เกิดความเศร้าโศกทุกข์โทมนัสมากในเวลานั้น สรรพสิ่งทุกอันในตัวนอกตัวไม่เปนตนไม่อยู่ในใต้อำนาจความอยากความปราถนา ผู้ใดปลงปัญญาเห็นดังนี้จริงๆ ผู้นั้นถึงมีห่วงใยที่อาลัยอาวรณ์มากก็อาจไว้อัทธยาศรัยเปนกลางๆ อยู่ได้ ก็ผู้ใดมีใจไม่ได้อบรมในทางปัญญาอย่างนี้ มีจิตรไม่ได้จำเริญอย่างนี้ ก็ย่อมรักชีวิตมากกลัวความตายมาก ถึงจะแก่ชราทุพลภาพ มีโรคมีภัยอย่างไรไปแล้ว ถ้ามีความปราถนาความมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ในใจในความคิด ก็ย่อมหวาดหวั่นพรั่นพรึงแต่ความตายมากนัก ผู้ใดกลัวตายแล้วถ้าจะหลบหลีกเลี่ยงไม่เข้าใกล้เข้าเคียงช้างร้ายเสือร้ายสัตว์ร้าย แลไม่ขึ้นไม้สูงไม่ว่ายน้ำฦกไม่แล่นเรือเล็กออกทเลฦกไม่เข้าป่าเข้าดงเข้าศึกสงครามแลการชกตีฟันแทงกับผู้อื่น แลไม่เข้าใกล้ไฟใกล้ดินปืนไม่กินสุรามากไม่กินยาร้ายยาแรงไม่กินของแสลงเมื่อหน้าไข้หน้าเจ็บ แลไม่ประพฤติการผิดๆ ที่เปนเหตุจะให้ต้องราชทัณฑ์ การดังว่ามานี้นั้นเปนการอันสมควรที่จะเห็นจริงด้วยกัน ว่าเปนทางที่จะหลีกหนีความตายอยู่แล้ว แต่ความกลัวของคนบางพวกยังยิ่งขึ้นไปกว่านี้ ถึงหลีกเลี่ยงดังว่ามานี้แล้วก็ยังมีความระแวงว่าตัวตั้งอยู่ในที่ใกล้แห่งความตาย ยังพรั่นพรึงว่าอันตรายแห่งชีวิตจะมีมา ยังคิดหาเครื่องกันความตายแลทางหลีกเลี่ยงอย่างอื่นอีกมากพ้นที่จะพรรณนา แต่การทั้งปวงนั้นไม่อาจที่จะเห็นจริงพร้อมกันได้ แต่ในคำนักปราชญ์ที่สั่งสอนสืบมาในพระคัมภีร์ ที่มีในพระพุทธสาสนาที่เปนทางกรรมวาทกิริยวาทนั้น ท่านสรรเสริญทานบางอัน ศีลวัตรบางอย่าง กุศลกรรมบถบางตัว แลการขวนขวายบางทาง ภาวนาบางอารมณ์ บูชาบางวิธี ว่าเปนที่จะให้ออกผลให้อายุยืนในทิฏฐธรรมชาตินี้ แลสัมปรายภพชาติหน้า แต่ที่จะห้ามความตายให้ขาดไม่ให้มีมานั้นไม่ได้ ถ้ายังเกิดเปนกายเปนใจอยู่ตราบใดก็คงยังต้องอยู่ใต้อำนาจความตายจะประหารอยู่ตราบนั้นไม่มีใครพ้นเลย ถึงใครอายุยืนมากแล้วก็ไม่ไกลกว่าคนอายุสั้นนัก เหมือนไม้แก่นไกลกว่าต้นกล้วยต้นอ้อย ทานนั้นคือให้เครื่องกันอันตรายชีวิตสัตว์ คือผ้ากรองน้ำเครื่องกรองน้ำแลอื่นๆ แลเครื่องอุดหนุนชีวิตสัตว์คืออาหารแลสิ่งอื่นๆ แลยาฤๅเครื่องยารักษาไข้เจ็บแลบริจาคทรัพย์จ้างหมอให้รักษาโรคต่างๆ แลเสียทรัพย์ช่วยให้สัตว์ที่จะตายเร็วๆ ให้รอดตายไปคราวหนึ่งๆ ศีลนั้นคือเว้นจากปาณาติบาต แลวิหิงสาการเบียดเบียนท่านผู้อื่นแลเบียดเบียนสัตว์ กรรมบถนั้นคืออนภิชฌา อพยาบาท การที่ไม่มุ่งหมายทรัพย์สิ่งของๆ ท่านผู้อื่นด้วยความโลภจนถึงแช่งให้ผู้นั้นตาย เพื่อประสงค์จะได้ของท่านมาเปนของตัว การขวนขวายนั้นคืออุสาหรักษาพยาบาลคนไข้ ขวนขวายหาหมอมารักษาคนไข้ แลขวนขวายหายาแลแต่งอาหารที่ชอบโรคให้คนไข้ แลให้กำลังช่วยผู้รักษาไข้เจ็บ แลภาวนาวิธีนั้นคือประกอบความเมตตากรุณาในผู้อื่นทั่วไป เสมอกับตัวแลผู้ที่เปนที่รักของตัว แลบูชาวิธีนั้น คือว่าด้วยการปฏิสังขรณ์ในวัดถุสถานที่บูชานับถือแลที่อยู่ที่อาศรัย ที่สำเร็จสุขประโยชน์ทั่วไปแก่ชนเปนอันมากนั้นๆ ให้เปนปรกติดำรงอยู่สิ้นกาลนาน การทั้งปวงดังกล่าวมานี้ท่านได้สรรเสริญว่าเปนเหตุจะให้สำเร็จเปนสภาคผล เปนเครื่องจะให้ชนมายุของสัตว์ยืนยาว ในทิฏฐธรรมชาตินี้แลสัมปรายภพชาติหน้า ก็แต่การที่หลบผีหนีสางล้างจังไร ไม่เยี่ยมเยียนใกล้กลายผู้ตายผู้ไข้ หลีกเลี่ยงไปไม่ขอได้ยินข่าวไข้ข่าวตาย ด้วยกลัวว่าจะเปนอวมงคลความร้ายความอุบาทว์ จะพลอยตามมาถึงตัวด้วยดังนี้ ก็ผู้ที่ถือความสอาดดังว่านี้ เมื่อพิเคราะห์สืบสาวไปก็เห็นว่าตายไปๆ ต้องให้คนที่คลุกคลีอยู่กับทรากศพกินนอนอยู่ในป่าช้าฝังเผาเสียเนืองๆ ไม่รู้ขาด เพราะการที่ถืออย่างนั้นไม่เห็นจริงพร้อมกัน แลไม่ถูกต้องตามคำนักปราชญ์ที่กล่าวสอนไว้ดังว่าแล้วในข้างต้นนั้น

เพราะฉนั้นขอท่านผู้มีปัญญาจงรีบร้อนขวนขวายประพฤติการบุญการกุศลเปนความสุจริตให้มาก ด้วยกายวาจาแลใจโดยเปนการเร็วเหมือนอย่างชนที่ศีร์ษะเพลิงไหม้ แล้วรีบร้อนจะดับไฟในศีร์ษะของตนฉนั้น สรรพการกุศลทั้งปวงพึงส่ำสมทำให้พร้อมมูลในสันดาน ด้วยความไม่ประมาทด้วยประการทั้งปวง เทอญ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ