- คำนำ
- ๑๙๘ ประกาศสงกรานต์ ปีจอจัตวาศก
- ๑๙๙ ประกาศเรื่องการถวายทองเงินพระเจ้าลูกเธอในการโสกันต์
- ๒๐๐ ประกาศเรื่องเกณฑ์ทรายโรยถนนในการพระศพ
- ๒๐๑ ประกาศห้ามมิให้กราบบังคมทูลทักอ้วนผอมขาวดำ
- ๒๐๒ ประกาศวางโทษเรื่องทักอ้วนผอม
- ๒๐๓ ประกาศให้เรียกคลองวัดไชยพฤกษ ว่าคลองมหาสวัสดิ์คลองเข้าไปพระปฐม ว่าคลองเจดีย์บูชา
- ๒๐๔ ประกาศให้ชำระตัวเลขพระคลังสุภรัต ซึ่งไปแอบอิงอยู่ในกรมต่างๆ ส่งให้คลังสุภรัต
- ๒๐๕ ประกาศให้คัดเรื่องความที่ราษฎรร้องฟ้องขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย
- ๒๐๖ ประกาศให้เก็บภาษีหัวเบี้ยรวมอยู่ในบ่อน
- ๒๐๗ ประกาศให้ใช้กะแปะอัฐแลโสฬศที่ทำขึ้นใหม่
- ๒๐๘ ประกาศห้ามไม่ให้ตื่นกันเรื่องกะแปะอัฐแลโสฬศจะใช้ไม่ได้
- ๒๐๙ ประกาศห้ามมิให้นับอัฐโสฬศลงที่พื้นแขงๆ
- ๒๑๐ ประกาศขยายสถานที่จำหน่ายแลรับกะแปะอัฐแลโสฬศ
- ๒๑๑ ต้นประกาศพระราชทานแลกเปลี่ยนที่วิสุงคามสีมาเมืองลพบุรี
- ๒๑๒ ประกาศการพระราชพิธีลงสรงโสกันต์พระเจ้าลูกเธอ
- ๒๑๓ ประกาศให้ข้าราชการที่ทำการวิวาหมงคลโกนจุกบุตร นำความกราบบังคมทูล ฯ แลข้าราชการในทำเนียบถึงแก่กรรมให้บอกกระทรวงวัง
- ๒๑๔ ประกาศไม่ให้หม่อมเจ้าหม่อมราชวงศ์ตลอดจนบุตรหลานเหลนไปเที่ยวตามหัวเมืองโดยไม่ได้ทูลลา
- ๒๑๕ ประกาศเรื่องการนุ่งขาวแลกระแสพระราชดำรัสในการที่ทรงแจกพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
- ๒๑๖ ประกาศมหาสงกรานต์ ปีกุนเบญจศก
- ๒๑๗ ประกาศพระราชบัญญัติรับฟ้องความเจ้า แลห้ามเจ้ามิให้ไปไกลพระนคร
- ๒๑๘ ประกาศการทรงปฏิสังขรณ์พระเจดีย์วัดชุมพลนิกายารามที่เกาะบางปอิน
- ๒๑๙ ประกาศพระราชทานอนุญาตให้ข้าราชการฝ่ายในทูลลาออกนอกราชการได้
- ๒๒๐ ประกาศพิกัดราคาทองแปทศพิศพัดดึงศ์
- ๒๒๑ ประกาศห้ามไม่ให้เชื่อถือข้าราชการเก่านอกตำแหน่ง
- ๒๒๒ พระราชปรารภเรื่องเดินเปนผู้ว่าราชการเมือง
- ๒๒๓ ประกาศว่าด้วยการเดินเปนเจ้าเมือง
- ๒๒๔ ประกาศงานพระเมรุเจ้าฟ้าจันทรมณฑล แลงานฉลองวัด
- ๒๒๕ ประกาศพิกัดภาษี เรือ ตึก แพ โรงร้าน
- ๒๒๖ ประกาศสงกรานต์ ปีชวดฉศก
- ๒๒๗ ประกาศให้ผู้ที่ได้กู้ยืมเงินในพระเจ้าลูกเธอมาสารภาพต่อกรมวัง
- ๒๒๘ ประกาศวันธรรมสวนะแก้ความในประกาศสงกรานต์ที่ผิด
- ๒๒๙ ประกาศเตือนสติให้สงวนเข้าไว้ให้พอกินตลอดปี
- ๒๓๐ ประกาศพิกัดเงินเหรียญนอก
- ๒๓๑ ประกาศเลิกภาษีผลมะพร้าว
- ๒๓๒ ประกาศว่าด้วยแจกเบี้ยหวัดเปนทองทศ ทองพิศ ทองพัดดึงศ์ แทนเงิน
- ๒๓๓ ประกาศเฉลิมพระชนม์พรรษา
- ๒๓๔ ประกาศว่าด้วยการเล่าฦๅกันว่าพระพุทธทำนายเกิดขึ้นที่เมืองเขมร
- ๒๓๕ ประกาศว่าด้วยเรื่องมีผู้ทำอัฐปลอม
- ๒๓๖ ประกาศด้วยเรื่องมีผู้ทำเงินปลอม
- ๒๓๗ ประกาศเพิ่มเติมเรื่องอัฐโสฬศอ่อนแลบางไป
- ๒๓๘ ประกาศว่าด้วยเรื่องราคาเข้า
- ๒๓๙ ประกาศพระราชทานโอวาทแก่ผู้ซื้อเข้าขายเข้า
- ๒๔๐ ประกาศให้ผู้ถูกใช้อัฐปลอมนำมาทูลเกล้าฯ ถวาย
- ๒๔๑ ประกาศห้ามมิให้เรียกหม่อมราชวงศ์แลหม่อมหลวงว่าเจ้า
- ๒๔๒ ประกาศไม่ให้จำหน่ายเข้าออกไปนอกประเทศ
- ๒๔๓ ประกาศให้เรียกค่าธรรมเนียมเรือลูกค้าในเมืองที่มีกงสุลสยาม
- ๒๔๔ ประกาศพระราชบัญญัติเรื่องนาตราแดงแลนาคู่โค
- ๒๔๕ ประกาศตั้งกงสุลปรุศเสียน
- ๒๔๖ ประกาศเรื่องทำพระศพเจ้านายแลศพเสนาบดี ที่พระเมรุกลางเมือง
๒๒๐ ประกาศพิกัดราคาทองแปทศพิศพัดดึงศ์
ณวันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ แรม ๒ ค่ำ ปีกุนเบญจศก ๑
มีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ให้ประกาศแก่พระราชวงศานุวงศ์ แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายหน้าฝ่ายใน แลราษฎรในกรุงแลหัวเมืองให้ทราบทั่วกันว่า ในพระราชอาณาจักร์นี้แต่ก่อนทองคำมีน้อย เปนแต่ใช้ทำรูปพรรณต่างๆ เปนเครื่องยศเครื่องประดับ ก็บัดนี้ทองคำใบของจีนบ้าง ทองแท่งจีนบ้าง ทองคำเมืองกาสฟอเนียบ้าง ทองเหรียญเมืองยุโรปเมืองอเมริกาบ้าง มีเข้ามามากในพระราชอาณาจักร์ จนเกินการที่จะใช้สอยทำรูปพรรณแลเครื่องประดับ ผู้มีทรัพย์เก็บทองไว้มากร้องขอขายแลขอส่งแทนภาษีอากรก็มี ด้วยเหตุนี้จึงทรงพระราชดำริห์ว่า ตามอย่างเมืองอื่นที่เปนเมืองแผ่นดินใหญ่นั้นๆ หลายเมือง เมื่อทองคำมีมากขึ้นผู้ครองแผ่นดินเมืองนั้นๆ ก็คิดทำเปนทองเหรียญมีตราหลวงเปนสำคัญ ให้ราษฎรใช้ในกำหนดราคานั้นๆ ไม่ต้องเถียงน้ำหนักแลเนื้อทองตีราคากัน ผู้ได้ทองตราทองเหรียญไป เมื่อต้องการเงินมาขอขึ้นเงินต่อคลังหลวง ฤๅเศรษฐีเจ้าทรัพย์ก็ได้ตามกำหนดซึ่งพิกัดไว้ จนเมืองนั้นๆ ใช้ทองตราทองเหรียญแก่กันอยู่เปนปรกติเหมือนใช้เงินตราแลเบี้ยแปะทั้งปวง ก็ในกรุงเทพฯ นี้ทองตราใช้กับเงินตราเช่นนั้นยังหามีไม่ จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้เจ้าพนักงานโรงจักร์ ซึ่งเปนที่ทำเงินเหรียญแลเบี้ยอัฐเบี้ยโสฬศนั้น คิดทำทองเหรียญทองแปด้วยทองคำเนื้อแปดเศษสอง คือทองใบยี่ห้ออันเสงเปน ๓ ขนาด ขนาดใหญ่ตีราคาแปละ ๘ บาท ขนาดกลางตีราคาแปละ ๔ บาท ขนาดน้อยตีราคาแปละ ๑๐ สลึง ขนาดใหญ่ขนาดกลางนั้นเทียบตามอย่างทองเหรียญอังกฤษคือเหรียญใหญ่ของอังกฤษที่เรียกว่าทองปอนด์ ฤๅอิกชื่อหนึ่งว่าเสตอร์ลิงก์ ฤๅอิกชื่อหนึ่งเรียกว่าสอเวอร์เรนด์ แลเหรียญขนาดย่อมเรียกว่าทองฮาฟปอนด์ ฤๅอิกชื่อหนึ่งว่าสเมิสเตอร์ลิงก์ ฤๅอีกชื่อหนึ่งว่าฮาฟสอเวอร์เรนด์ จะว่าตามการซึ่งคิดมาตราเงินในเมืองอังกฤษนั้น อังกฤษคิดนับว่าปอนด์หนึ่งเปน ๒๐ ชิลิงๆ หนึ่งเปน ๑๒ เปล แลในการสั่งสิ่งของซื้อขายอยู่ เมื่อได้บิลคือหนังสือกำหนดราคาของมาแต่เมืองอังกฤษก็ยอมคิดนับเปนจำนวนปอนด์มา ๙ ปอนด์ ๑๐ ปอนด์ ๑๐๐ ปอนด์ แลอื่นๆ ครั้นมาที่กรุงเทพฯ นี้ ถ้าผู้ซื้อมีทองปอนด์ เอาทองปอนด์ใช้ให้ก็ได้ ถ้าไม่มีทองปอนด์ นายห้างผู้รับสั่งของคิดเอาเงินแต่ผู้สั่งปอนด์ละ ๘ บาทเสมอไป ถ้าจำนวนเปนฮาฟปอนด์ คือครึ่งปอนด์ก็คิดเอา ๔ บาทเสมอไป คงคิดราคากัน ๑๐ ปอนด์เปนเงินชั่งหนึ่ง แล ๒๐ ฮาฟปอนด์เปนเงินชั่งหนึ่ง แต่ตัวทองปอนด์ทองฮาฟปอนด์นั้นไม่เปนทองบริสุทธิ์ เปนทองขวางลิ่มประสมทองแดงส่วน ๑ ใน ๑๒ ส่วน ปอนด์หนึ่งหนัก ๒ สลึง เมื่อคิดราคาปอนด์ละ ๘ บาทก็เปน ๑๖ หนัก ฮาฟปอนด์นั้นหนัก ๑ สลึง คิดราคาฮาฟปอนด์ละ ๔ บาทก็เปน ๑๖ หนักเหมือนกัน ทองปอนด์ทองฮาฟปอนด์นั้นได้เอามาหุงคัดเอาทองแดงออกเสีย ก็คงเนื้อทองคำเนื้อแปดปอนด์ ๑ แต่สลึง ๑ กับเฟื้อง ๑ กับ ๒ ไพ คิดราคาปอนด์ละ ๘ บาท ก็เปน ๑๘ หนักเกินสักหน่อย ทองในฮาฟปอนด์ที่หุงแล้วก็คงแต่เฟื้อง ๑ กับ ๓ ไพ คิดฮาฟปอนด์ละ ๔ บาท ก็เปน ๑๘ หนักเกินหน่อยหนึ่งเหมือนกัน จึงทรงพระราชดำริห์ว่า ซึ่งทองตราทองเหรียญเมืองอื่นเจือทองแดงให้ขวางลิ่มนั้น เพื่อจะให้มีเนื้อกระด้างใช้ทนได้นานตราไม่ใคร่เลือนไป ไม่ต้องยุบทำใหม่บ่อยๆ ให้เสียสูญเพลิง อนึ่งจะให้ล่อใจคนที่ไม่รู้ดูทองว่าคงลิ่มขวางลิ่มยินดี ว่าคิดราคาแต่ ๑๖ หนัก ในกรุงเทพฯ นี้จะทำเช่นนั้นให้เหมือนกันก็ได้ แต่ครั้นจะทำอย่างนั้น ทองในบ้านในเมือง ก็จะเปนทองขวางลิ่มไปเสียมาก ราษฎรที่ไม่นับถือก็จะรังเกียจไป จึงโปรดฯ ให้คงทำด้วยเนื้อทองล้วน คิดราคา ๑๘ หนักตามเนื้อทองบริสุทธิ์ ก็เมื่อคิดแปละ ๑๘ หนักทั้ง ๓ อย่าง ขนาดใหญ่ทองน้ำหนักสลึงเฟื้องกับ ๓ ไพเท่านี้ราคา ๘ บาท ขนาดกลางน้ำหนักทองเฟื้องกับ ๓ ไพกึ่งเท่านี้ราคา ๔ บาท ขนาดน้อยน้ำหนักทองเฟื้องกับ ๑ ไพเท่านี้ราคา ๑๐ สลึง ขนาดใหญ่ขนาดกลางนั้นใช้ในที่ทองปอนด์แลฮาฟปอนด์ของอังกฤษดังว่าแล้ว แต่ขนาดน้อยราคา ๑๐ สลึงนั้นใช้แทนตำลึงอย่างจีน ที่จีนเรียกว่าเตล์ก็ดี ว่าเนียะก็ดี
ทองแปที่ทำขึ้นใหม่จำพวก ๓ อย่างนี้ล้วนเปนทองคำเนื้อบริสุทธิ์ ไม่ได้ผสมเงินผสมทองแดงเลย แต่คิดราคา ๑๘ นั้นตามราคาเนื้อทองในทองปอนด์แลทองฮาฟปอนด์ของอังกฤษ ซึ่งจะพึงคำนึงเอาว่าไม่ได้ผสมทองแดงนั้นเลย ก็ในกาลทุกวันนี้ เพราะทองคำมีเข้ามามากล้นเหลือไป ผู้มีทองคำมากอยากขายเอาเงินใช้ ก็บอกขายราคาต่ำลงมาจนทองมีราคาถูก เนื้อแปดเศษสองก็หย่อนกว่า ๑๖ หนัก ก็การที่ทองราคาต่ำไปนี้ เพราะทองมีมากเข้ามา ประมาณเนื้อทองซึ่งเรียกกันอยู่ว่า เนื้อสี่ เนื้อห้า เนื้อหก เนื้อเจ็ด เนื้อแปด ฤๅอิกคำหนึ่งว่านพคุณเก้าน้ำ ฤๅอิกเล่าคำคนที่พูดละเอียดบอกเศษขาเนื้อหกเนื้อเจ็ดสองขาสามขา ฤๅลางอย่างที่เศษอย่างคำว่าเนื้อแปดเศษสอง ก็คำว่าเหล่านี้จะมีต้นเดิมรากของคำมาแต่ไหน ท่านทั้งหลายเข้าใจฤๅไม่ ซึ่งวางประมาณเปนจำนวนนับมีแต่สี่ขึ้นไปหาเก้า แลนับต่ำใต้สี่ลงมาก็ไม่มี คือไม่มีว่าเนื้อหนึ่งเนื้อสองเนื้อสาม แต่บางทีก็มีอยู่บ้างเปนคำโบราณคำลาวแต่ก่อน ได้ยินอยู่ว่าเนื้อหนึ่งเนื้อสอง แต่เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีใครพูดแล้ว แลจำนวนนับเนื้อทองคำเกินกว่าเก้าขึ้นไป คือใครจะว่าเนื้อสิบ เนื้อสิบเอ็ด เนื้อสิบสอง เนื้อยี่สิบสามสิบ เนื้อร้อย เนื้อพัน ไม่มีทีเดียว ก็ซึ่งเหตุให้เรียกอย่างนี้นั้นคืออย่างไร ท่านทั้งปวงเข้าใจฤๅไม่ จะว่าให้ท่านทั้งปวงฟังตามที่ได้รู้มา ท่านผู้ใดรู้แล้วก็อย่าล่อออเลย จะว่าทั้งนี้เพราะเห็นว่าผู้ที่ไม่รู้มีโดยมาก ให้รู้มากๆ ด้วยกัน จึงจะขอว่าให้เข้าใจ
ประมาณเนื้อทองคำตั้งแต่สี่ขึ้นไปจนเนื้อนพคุณเก้าน้ำนั้น เปนธรรมเนียมเมืองลาวเชียงแสนซึ่งเปนต้นเดิมของไทยชาวเหนือสืบมา ครั้งนั้นที่เมืองเชียงแสนบ่อแร่ทองมีมากเงินมีน้อย เพราะเปนบ้านดอนเมืองเขินอยู่ไกลทเล กำปั่นแลสำเภาเข้าไม่ถึง มีเงินใช้แต่เงินที่คัดออกจากทองเนื้อต่ำด้วยการหุงบ้าง แลมีเงินจีนเงินญวนมาแต่ลูกค้าทางบกบ้าง มีเงินใช้ในพื้นบ้านพื้นเมืองน้อย เจ้าบ้านเจ้าเมืองอยากให้แร่เงินเกิดในแผ่นดินเปนของบ้านเมืองนั้นเอง แต่งคนให้ออกเที่ยวสืบเสาะหาบ่อแร่ที่จะถลุงเปนเงินได้ก็ได้เนื้อแร่ปลาดๆ มาบ้าง สำคัญว่าเปนเงินแล้วทำพดด้วงประทับตราใช้สอยกันก็มีบ้าง แต่ครั้นนานเข้าเก่าแล้วก็ดำไป เงินตราของเก่าที่ทำด้วยแร่อย่างนั้นทุกวันนี้ก็ยังมีหาได้อยู่บ้าง พวกแปรธาตุเรียกว่าเงินดำ คือเงินที่มีเนื้อละเอียดกว่าเงินปรกติ แต่สีดำคล้ายทองสัมฤทธิ เงินลาวอิกอย่างหนึ่งเรียกว่าเงินขาเกวียน น้ำเนื้อเงินดีกว่าเนื้อเงินที่ใช้อยู่โดยปรกติ เนื้อละเอียดดีแลขาว เงินพวกนั้นประมาณการดูเห็นจะคัดออกจากทองคำเนื้อต่ำ ฤๅอย่างหนึ่งจะทำแต่เงินเนื้อนุ่มมาแต่เมืองจีนทางบก ก็เพราะในเมืองเชียงแสนใช้เงินเนื้อสูงกว่าเงินเหรียญ เงินตราในทุกวันนี้ก็ดี แลเพราะมีเงินใช้ในบ้านในเมืองน้อย เหมือนบ้านเมืองที่มีเบี้ยน้อยก็ใช้เบี้ยร้อยสองร้อยต่อเฟื้องบางแห่งบางคราวฉันใด ในเมืองเชียงแสนแต่ก่อนมีเงินใช้น้อยมีทองคำมาก ทองคำจึงราคาถูก ทองคำที่เนื้อต่ำซื้อขายกันหนักหนึ่งเปนเงิน ๔ บาทจึงเรียกว่าเนื้อสี่ ที่เนื้อสูงขึ้นไปกว่านั้น ทองคำหนักบาทหนึ่งเปนราคาเงิน ๕ บาทเรียกว่าเนื้อห้า ทองคำหนักบาทหนึ่งเปนราคาเงิน ๖ บาทเรียกว่าเนื้อหก ทองคำหนักบาทหนึ่งเปนราคาเงิน ๗ บาทเรียกว่าเนื้อเจ็ด ทองคำหนักบาทหนึ่งเปนราคาเงิน ๘ บาทเรียกว่าเนื้อแปด ทองคำหนักบาทหนึ่งเปนราคาเงิน ๘ บาท ๒ สลึง เรียกว่าเนื้อแปดสองขา ฤๅอิกคำหนึ่งเรียกว่าเนื้อแปดเศษสอง ตามการที่ราษฎรใช้ซื้อขายกันในเวลานั้น ทองคำเนื้อสุกสูงอย่างเอกเช่นทองบางตะพาน ขายกันหนักบาทหนึ่งเปนราคาเงิน ๙ บาทเรียกว่านพคุณเก้าน้ำ ก็ที่ว่าสองขาสามขาก็ดี ฤๅที่ว่าเศษสองเศษสามก็ดี โดยละเอียดนั้น คือว่าเศษสลึงแต่หน้าชั้นนั้นขึ้นไป
ทองผสมสีเหลืองๆ ให้ดินไม่ขึ้นทุกวันนี้เรียกกันว่าทองเนื้อริน แต่ก่อนลาวเรียกว่าเนื้อสองเพราะขายกัน ๒ หนัก ทองเนื้อรินอย่างเลว ฤๅทองสีดอกบวบซึ่งในเวลานั้นขายกันหนักราคาต่อหนัก ลาวเรียกว่าทองเนื้อหนึ่งแต่โบราณได้ยินว่าบ้างอยู่ ก็ประมาณชื่อเนื้อทองเหล่านี้ทั้งปวง เดิมเปนธรรมเนียมของลาวชาวเชียงแสนแลใช้เปนโวหารในการเทียบน้ำทอง ครั้นสืบมาถึงบ้านเมืองใกล้ทเล เงินมีเข้ามามากราคาทองก็แพงขึ้นไปถึง ๒ เท่าพิกัดนั้น คือบางทีทองคำเนื้อนพคุณบางตะพานราคาถึง ๒๐ หนัก ถึง ๑๙ หนัก ทองคำเนื้อแปดสามัญที่เรียกว่าเนื้อแปดตลาด ราคาถึง ๑๘ หนัก ๑๗ หนักกึ่ง คนโบราณว่ากันอิกคำหนึ่งว่าเข้ากับทองโต้ราคากัน เมื่อไรเข้าถูกทองแพง เมื่อไรเข้าแพงทองถูก ซึ่งว่าดังนี้ก็จริงอยู่บ้าง ในเวลาเมื่อในกรุงมีธรรมเนียมปิดเข้าไม่ให้มีผู้เอาออกไปค้าขายนาๆ ประเทศเปนนิตย์ เมื่อนั้นชาวนาเมื่อทำนาได้เข้ามากจะขายราคาแพงก็ขายไม่ใคร่ได้ จะเก็บไว้กลัวจะผุผะเสีย ต้องขายไปราคาต่ำๆ เพียงเกวียนละ ๕ บาท ๔ บาท ๓ บาท ถึงกระนั้นไม่ใคร่มีผู้ซื้อ ต้องเอาเข้าออกแลกของต่างๆ บรรดาที่จะใช้จะกิน เมื่อขายดังนี้ก็ไม่ได้ทรัพย์สินมากเปนกำไรสมกับแรงเหนื่อย ที่ชาวนาคู่โคกลัวต้องเสียค่านาเปล่าเวรนาเสีย นาน้ำฝนฟางลอยก็ทิ้งไม่ทำ ชาวนาที่ทำอยู่ก็คอยจ้องมองหาเวลาที่จะกดราคาเข้าให้สูงขึ้น เมื่อเวลาคนตื่นกันซื้อ ก็เมื่อใดฝนแล้งสักเดือนหนึ่งครึ่งเดือน ฤๅมีข่าวศึกเสือเหนือใต้อะไรมา คนที่มีครอบครัวบุตรภรรยาทาสชายหญิงมาก ก็เกิดความสดุ้งตกใจกลัวเข้าจะแพง ตื่นกันเที่ยวซื้อเข้ามาไว้ ตื่นอย่างนั้นหลายสิบแห่งเข้าด้วยกัน ราคาเข้าก็แพงขึ้นไปในสองวันสามวัน ก็เพราะนามีน้อยตัวเข้าก็น้อย เมื่อตื่นกันซื้อมากเอาไปกักเสีย เข้าก็ไม่พอประสงค์ของคนที่ตื่นนั้น ต้องขอซื้อขอปันกันอยู่ ที่มีเข้ามากอยากได้กำไรก็ยิ่งกดราคาเข้าให้สูงขึ้นไป จนเงินของคนบางจำพวกจะใช้ราคาเข้าไม่มี ต้องเอาทองออกตีให้แทนราคาเข้า ฝ่ายผู้จะรับเอาทองไว้ก็เกี่ยงเลี่ยงให้ลดราคาทองต่ำลงไป ด้วยเหตุนี้เมื่อไรเข้าแพงราคาทองจึ่งต่ำลงมา ก็เพราะตื่นความที่ปีหลังฝนน้อยน้ำน้อยก็ดี ฝนมากน้ำมากเกินไปก็ดี ครั้นฤดูทำนาปีใหม่ชาวนาเห็นว่าเข้าแพงอยากจะขายเข้าให้มีกำไร ตื่นกันทำนามากทุกแห่งทุกตำบล คนที่ทิ้งนาไปทำมาหากินอย่างอื่นแล้วก็กลับไปทำนา ฝ่ายผู้ที่ซื้อเข้าไว้เกินประมาณ เห็นว่าปีใหม่เข้าใหม่จะมีมาก เข้าที่ตัวตื่นซื้อไว้แพง จะเก็บไว้กลัวจะผุผะเสีย ฤๅจะขายต่อเมื่อเข้าใหม่มีมามาก ก็กลัวว่าราคาเข้าจะตกลงหนัก จะขาดทุนมากไป ก็รีบร้อนเร่งขายเข้าของตัวที่เก็บไว้เสียโดยเร็ว สู้ขายขาดทุนแต่น้อย ด้วยเห็นว่าดีกว่าจะขายเมื่อเวลาเข้าใหม่มี ราคาจะตกมากนั้น ก็เมื่อขายเข้าขาดทุนไปดังนี้แล้ว ก็กลับไปหากำไรในทองซึ่งตัวได้เอาเข้าแลกไว้ ฤๅเอาเงินซื้อไว้ด้วยราคาต่ำๆ ดังว่าแล้วนั้น ก็พากันกดราคาทองให้สูงขึ้นไป ก็ทองนั้นเปนของเก็บไว้ไม่ผุผะเมื่อราคายังต่ำอยู่ไม่ขาย เมื่อราคาทองกลับสูงขึ้นไปจึงขาย ก็ด้วยเหตุนี้เมื่อไรราคาเข้าถูกทองจึงแพง คำที่ว่ามาก่อนนั้นก็ชอบด้วยเหตุบ้างโดยจริง แต่บัดนี้เพราะเปิดเข้าให้นานาประเทศขนเข้าไปจำหน่ายเมืองอื่นไม่ห้าม ก็มีผู้ทำนามากเต็มที่แลนาเกิดขึ้นใหม่ๆ ทุกปี เมล็ดเข้ามีในบ้านในเมืองล้นเหลือเฟือฟาย คนต่างประเทศเอาเรือเข้ามาบรรทุกเข้าไปขายเมืองอื่นมากมายหลายลำ ปีหนึ่งขนเข้าไปหลายหมื่นเกวียน ราษฎรก็กดราคาเข้าให้แพงอยู่เปนนิตย์ ด้วยคิดจะขายเอาเงินให้มาก ฝ่ายลูกค้านานาประเทศเมื่อเห็นเข้าในกรุงเทพฯ ราคาแพงเพียงพอจะซื้อเอาไปขายมีกำไรได้ ก็เอาเงินมาบ้างเอาทองมาบ้างแต่เมืองอื่นมาซื้อเข้าไป ก็เงินทองเมื่อเข้ามาในบ้านในเมืองก็ไม่หมดไม่สูญไปเหมือนดังเข้าที่คนกินเสีย เงินทองในพื้นบ้านพื้นเมืองก็มากขึ้นทุกปี ตั้งแต่เปิดเข้ามาแปดปีนี้เงินเมืองอื่นเข้ามาในกรุงเทพฯ นี้หลายหมื่นชั่ง ทองคำเข้ามาในกรุงเทพฯ นี้หลายสิบหาบ เพราะฉนั้นถึงเข้ามีมากราคาก็คงแพงอยู่ คือเกวียนละ ๔ ตำลึง ๕ ตำลึงเสมอไป เหมือนกับของสิ่งอื่นๆ ราษฎรขายอยู่ถูกๆ ราคาก็แพงขึ้นหมดทุกอย่าง เพราะเงินทองมีเข้ามามาก เมื่อเปนดังนี้การก็เปนอัศจรรย์อยู่อย่างหนึ่ง กาลล่วงมาถึง ๙ ปี ๑๐ ปีแล้ว โดยปีใดปรากฎว่าฝนน้อยน้ำป่าก็มาช่วยนาไม่ให้เสีย เหมือนอย่างปีมะแมเอกศก ปีระกาตรีศก ปีจอจัตวาศกนั้น แลในปีกุนเบญจศกนี้ ตั้งแต่เดือน ๕ เดือน ๖ มาจนสิ้นเดือน ๑๐ ดูฝนตกชุกมากนัก เปนที่น่ากลัวว่าจะเปนน้ำไหญ่มาท่วมเข้าเสีย แต่เมื่อสืบไปในเมืองฝ่ายเหนือก็ได้ความว่าน้ำในปีนี้น้อยกว่าน้ำในปีหลังอิก ต้นเข้าทุกแห่งทุกตำบลเปนชุ่มชื่นอยู่ด้วยน้ำฝน เข้าก็คงจะได้ไม่เสียทุกแห่ง ก็เมื่อการเปนดังนี้อยู่ จะว่าอย่างเก่าว่าเมื่อไรข้าวถูกทองแพง เมื่อไรเข้าแพงทองถูก เห็นจะหาชอบไม่แล้ว ด้วยเข้าเปิดเสียแก่นานาประเทศแล้ว ราษฎรทำนาเต็มมืออยู่เสมอ ผู้ที่ไม่ได้ทำนาก็ไม่ได้ตื่นชิงกันซื้อเข้าอย่างแต่ก่อนมานานแล้วมิใช่ฤๅ เพราะฉนั้นจะต้องว่าใหม่ ว่าเมื่อใดชาวต่างประเทศเอาทองเข้ามาใช้เปนราคาสินค้าในกรุงเทพฯ มาก เมื่อนั้นราคาทองก็จะตก เมื่อใดลูกค้าชาวต่างประเทศเอาเงินเข้ามาใช้เปนราคาสินค้าในกรุงเทพฯ มาก เมื่อนั้นราคาทองก็จะกลับขึ้นไป ก็แต่ทองนั้นมีแต่เปนทองลิ่มทองใบจะซื้อขายกันก็ยาก ผู้จะซื้อมักกดราคาให้ต่ำไม่ใคร่จะซื้อ ทองมาเหลือเฟืออยู่มาก จึงได้คิดทำเปนทองแปมีตราให้ใช้ประจำราคาสินค้าที่ซื้อขายกันได้เหมือนกับเงิน เมื่อผู้จะเอาไปทางไกลใส่พกไปเล็กน้อย ก็ได้ราคาหลายตำลึงหลายชั่ง ไม่หนักบ่า หนักพก หนักหาบ หนักเรือเหมือนอย่างพาเอาเงินไป ฤๅจะเก็บไว้ในหีบในที่น้อยๆ ไว้ข้างที่หลับที่นอนก็จะเก็บไว้ได้มากๆ ง่ายๆ บัดนี้ซึ่งตั้งราคา ๑๘ หนักไปนั้นเพราะเปนทองมีตรา เมื่อผู้ใดได้ไปซื้อไปเมื่อไม่พอใจเอาไว้ เห็นไปว่าเสียเปรียบจะใคร่ได้เงินก็จงเอามาคืนขึ้นรับเงินไปจากพระคลังหลวงตามราคา ๑๘ หนักนั้นเถิด ถ้าทองไม่ถูกเจาะถูกตัดยับเสียถึงลายจะเลือนลบสึกหรอไปบ้าง ถ้ายังสังเกตได้ว่าเปนตราเดิมแท้มิใช่ของปลอมแล้ว ชาวพระคลังก็จะรับใช้ราคา ๘ บาท ๔ บาท ๑๐ สลึง ตามเดิมนั้นให้ ก็เพราะในหลวงรับจะใช้ราคาเท่านี้ยั่งยืนไม่ลดหย่อนดังนี้แล้ว ผู้ที่ได้ไปไม่ควรรังเกียจควรรับใช้ตามพิกัดประกาศมา เหมือนกับเงินตราพดด้วงบาท กึ่งบาทแลสลึง แลเฟื้องก็ดี เงินเหรียญกึ่งตำลึง เงินเหรียญบาท กึ่งบาทแลสลึง แลเฟื้องก็ดี เบี้ยอัฐเบี้ยโสฬศก็ดี เงินเหรียญของมาแต่เมืองนอกซึ่งคิดกันตามประกาศไว้ใช้ ๓ เหรียญ ๕ บาท แลเงินรูเปียที่แขกมลายูฤๅชาวปักษ์ใต้เรียกว่าย่ำไป ราคาแปละ ๓ สลึงนั้นก็ดี เมื่อมีตราเปนที่สังเกตแล้วราษฎรก็ใช้กันง่ายๆ ไม่เลือกน้ำเงินไม่เลือกน้ำหนัก แลไม่คิดราคาดีบุกแลทองแดงนั้นเลย ใช้ยืนตามพิกัดประกาศแต่ก่อนฉันใด ทองแปมีตรา ๓ ขนาดนี้ก็ให้ใช้ตามพิกัดแปใหญ่แปละ ๘ บาท แปกลางแปละ ๔ บาท แปน้อยแปละ ๑๐ สลึง เหมือนกันดังนั้นเถิด แต่ถ้าผู้มีเนื้อทองคำเปล่าจะมาให้ทำแป ๓ อย่างนั้นให้ จะต้องหักค่าถ่านค่าสูญเพลิงตามแต่เจ้าพนักงานจะคิดให้ตามสมควรแก่งาน ถ้าจะเอาทองเปล่าฤๅทองรูปพรรณมาแลกเอาทองแปจะคิดหนักต่อหนักไม่ได้ ต่อให้ขายราคาทองคำแลราคารูปพรรณที่เอามานั้น ตกลงว่าเปนราคาเท่าใดตามราษฎรซื้อขายกันนั้นแล้ว จึงจะคิดราคาทองแปตามพิกัดนี้ใช้ราคาทองคำเปล่าแลรูปพรรณนั้นให้ เพราะจะต้องเสียแรงแลเสียถ่านเสียฟืนแลสูญเพลิงไป ทองแปมีตราที่ไปเจาะไปตัดทำยับเยินเสียแล้วราคาก็ตกเหมือนราคาทองคำเปล่าที่ราษฎรซื้อขายกันขึ้นๆ ลงๆ ตามเวลานั้นๆ แต่ราคาทองแปนั้นเมื่อมีผู้เอาทองแปมีตราเปนสำคัญอยู่นั้นมาขึ้นเอาเงินฤๅมาส่งแทนภาษีอากรเงินพินัยใดๆ ก็ดี คงจะคิดราคาพิกัด ๒ ตำลึง แลตำลึง ๑ แล ๑๐ สลึงนั้นยั่งยืนเสมออยู่ ถึงทองคำที่ราษฎรซื้อขายกันราคาจะต่ำลงก็ดี จะสูงขึ้นกว่า ๑๘ หนักก็ดี ก็จะไม่ยักย้ายราคาเลยคงจะใช้ให้หักให้ตามราคานี้ เมื่อราษฎรรับทองแปทั้ง ๓ ขนาดนี้ใช้ได้ทั่วกันมากๆ แล้ว ในหลวงจะสั่งตามหัวเมืองนั้นๆ ว่า ถ้ามีผู้เอาทองแปทั้ง ๓ จำพวกนี้ไปขอขึ้น ก็ให้กรมการคอยรับตามหัวเมืองนั้นทุกๆ เมืองไป
ทองแป ๓ ขนาดนี้ ถ้าจะเรียกชื่อว่าแปทองใหญ่ แปทองกลาง แปทองเล็ก ก็จืดหนักไป แลเมื่อเวลาจะใส่เข้ากับคำนับว่า ๓ แปทองใหญ่ ๔ แปทองกลาง ๕ แปทองเล็ก ก็ฟังยากไป อนึ่งแปทองใหญ่ แปทองกลาง แปทองเล็ก เปนเถาเปนขนาดต่างๆ ของเมืองอื่นก็มีมาปะปนอยู่ เมื่อเรียกดังนั้นก็จะเลอะเทอะไป ไม่รู้ว่าแปทองใหญ่ แปทองกลาง แปทองเล็กของเมืองไร ถ้าจะเอาชื่ออังกฤษมาเรียก ขนาดใหญ่ว่าทองปอนด์ ขนาดกลางว่าทองฮาฟปอนด์ ลักษณก็ไม่เหมือนกันแท้เปนแต่ราคาเท่ากัน ด้วยทองปอนด์แลฮาฟปอนด์ของอังกฤษนั้น เปนทองขวางลิ่มเข้าทองแดง คิด ๑๖ หนักตามทองขวางลิ่มนั้น ก็เมื่อคัดทองแดงออกคงแต่ทองก็เปนราคา๑๘ หนักกว่าไปหน่อยหนึ่ง เพราะฉนั้นถ้าจะเรียกว่าทองปอนด์ทองฮาฟปอนด์ตามอังกฤษ ก็จะปนไปกับทองที่ไม่เหมือนกัน ถ้าจะเรียกอย่างนั้นให้ได้ ก็จะต้องเอาคำว่าไทยใส่เข้า ว่าทองปอนด์ไทยฮาฟปอนด์ไทยจึงจะเข้าใจถนัด ทองขนาดเล็กนั้นเล่า เพราะทำตามราคาตำลึงจีนจะเรียกว่าทองเตล์ฤๅทองเนียะก็ได้ แต่ข้างหนึ่งเปนชื่ออังกฤษข้างหนึ่งเปนชื่อจีน จะเรียกของที่ทำขึ้นในเมืองไทยก็ไม่ชอบกล ก็เหมือนอย่างแปดีบุกใหญ่น้อย ซึ่งใช้แทนเบี้ยร้อยเบี้ยห้าสิบนั้น ครั้นจะเรียกเบี้ยร้อยเบี้ยห้าสิบ เมื่อมาใส่เข้ากับนับก็ขัดหูฟังยากไป เหมือนจะว่าร้อยร้อย สองร้อยร้อย ห้าสิบห้าสิบ ร้อยห้าสิบ สองร้อยห้าสิบ ก็ฟังยากไม่รู้ว่าคำไรเปนคำนับคำไรเปนชื่อเบี้ย เพราะฉนั้นจึงได้ให้ชื่อเปนคำศัพท์สูงว่าอัฐว่าโสฬศ คำนั้นเดี๋ยวนี้ก็ใช้คล่องแล้วทั้งบ้านทั้งเมืองฉันใด ถ้าจะเรียกชื่อทอง ๓ ขนาดนี้ จะเรียกให้เข้าศัพท์สูงอย่างอัฐอย่างโสฬศก็ได้ ให้เรียกทองขนาดใหญ่ว่า (ทศ) แปลว่า ๑๐ แปเปนเงินชั่งหนึ่ง ขนาดกลางเรียกว่า (พิศ) แปลว่า ๒๐ แปเปนเงินชั่งหนึ่ง ขนาดน้อยเรียกว่า (พัดดึงศ์) แปลว่า ๓๒ แปเปนเงินชั่งหนึ่ง อิกอย่างหนึ่งแปทองขนาดใหญ่ ให้เรียกว่า (ทุกกังส์) แปลว่าสองตำลึง ขนาดกลางให้เรียกว่า (เอกกังส์) แปลว่าตำลึงเดียว ขนาดน้อยให้เรียกว่า (จีนกังส์) แปลว่าตำลึงจีน ตามแต่จะชอบใจเถิด แต่เห็นว่าอย่างก่อนนั้นเปนดี ด้วยคล้ายกับชื่ออัฐชื่อโสฬศซึ่งบอก ๘ แล ๑๖ แบ่งแต่เฟื้อง ในทองนี้ให้เรียกว่า (ทองทศ) (ทองพิศ) (ทองพัดดึงศ์) ซึ่งแบ่งเปน ๑๐ แล ๒๐ แล ๓๒ แต่ราคาชั่งหนึ่งนั้นเทอญ
ประกาศมาณวันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ แรม ๒ ค่ำ ปีกุนเบญจศก ศักราช ๑๒๒๕ ฤๅเปนวันที่ ๔๕๕๐ ในรัชกาลปัตยุบันนี้