- คำนำ
- ๑๙๘ ประกาศสงกรานต์ ปีจอจัตวาศก
- ๑๙๙ ประกาศเรื่องการถวายทองเงินพระเจ้าลูกเธอในการโสกันต์
- ๒๐๐ ประกาศเรื่องเกณฑ์ทรายโรยถนนในการพระศพ
- ๒๐๑ ประกาศห้ามมิให้กราบบังคมทูลทักอ้วนผอมขาวดำ
- ๒๐๒ ประกาศวางโทษเรื่องทักอ้วนผอม
- ๒๐๓ ประกาศให้เรียกคลองวัดไชยพฤกษ ว่าคลองมหาสวัสดิ์คลองเข้าไปพระปฐม ว่าคลองเจดีย์บูชา
- ๒๐๔ ประกาศให้ชำระตัวเลขพระคลังสุภรัต ซึ่งไปแอบอิงอยู่ในกรมต่างๆ ส่งให้คลังสุภรัต
- ๒๐๕ ประกาศให้คัดเรื่องความที่ราษฎรร้องฟ้องขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย
- ๒๐๖ ประกาศให้เก็บภาษีหัวเบี้ยรวมอยู่ในบ่อน
- ๒๐๗ ประกาศให้ใช้กะแปะอัฐแลโสฬศที่ทำขึ้นใหม่
- ๒๐๘ ประกาศห้ามไม่ให้ตื่นกันเรื่องกะแปะอัฐแลโสฬศจะใช้ไม่ได้
- ๒๐๙ ประกาศห้ามมิให้นับอัฐโสฬศลงที่พื้นแขงๆ
- ๒๑๐ ประกาศขยายสถานที่จำหน่ายแลรับกะแปะอัฐแลโสฬศ
- ๒๑๑ ต้นประกาศพระราชทานแลกเปลี่ยนที่วิสุงคามสีมาเมืองลพบุรี
- ๒๑๒ ประกาศการพระราชพิธีลงสรงโสกันต์พระเจ้าลูกเธอ
- ๒๑๓ ประกาศให้ข้าราชการที่ทำการวิวาหมงคลโกนจุกบุตร นำความกราบบังคมทูล ฯ แลข้าราชการในทำเนียบถึงแก่กรรมให้บอกกระทรวงวัง
- ๒๑๔ ประกาศไม่ให้หม่อมเจ้าหม่อมราชวงศ์ตลอดจนบุตรหลานเหลนไปเที่ยวตามหัวเมืองโดยไม่ได้ทูลลา
- ๒๑๕ ประกาศเรื่องการนุ่งขาวแลกระแสพระราชดำรัสในการที่ทรงแจกพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
- ๒๑๖ ประกาศมหาสงกรานต์ ปีกุนเบญจศก
- ๒๑๗ ประกาศพระราชบัญญัติรับฟ้องความเจ้า แลห้ามเจ้ามิให้ไปไกลพระนคร
- ๒๑๘ ประกาศการทรงปฏิสังขรณ์พระเจดีย์วัดชุมพลนิกายารามที่เกาะบางปอิน
- ๒๑๙ ประกาศพระราชทานอนุญาตให้ข้าราชการฝ่ายในทูลลาออกนอกราชการได้
- ๒๒๐ ประกาศพิกัดราคาทองแปทศพิศพัดดึงศ์
- ๒๒๑ ประกาศห้ามไม่ให้เชื่อถือข้าราชการเก่านอกตำแหน่ง
- ๒๒๒ พระราชปรารภเรื่องเดินเปนผู้ว่าราชการเมือง
- ๒๒๓ ประกาศว่าด้วยการเดินเปนเจ้าเมือง
- ๒๒๔ ประกาศงานพระเมรุเจ้าฟ้าจันทรมณฑล แลงานฉลองวัด
- ๒๒๕ ประกาศพิกัดภาษี เรือ ตึก แพ โรงร้าน
- ๒๒๖ ประกาศสงกรานต์ ปีชวดฉศก
- ๒๒๗ ประกาศให้ผู้ที่ได้กู้ยืมเงินในพระเจ้าลูกเธอมาสารภาพต่อกรมวัง
- ๒๒๘ ประกาศวันธรรมสวนะแก้ความในประกาศสงกรานต์ที่ผิด
- ๒๒๙ ประกาศเตือนสติให้สงวนเข้าไว้ให้พอกินตลอดปี
- ๒๓๐ ประกาศพิกัดเงินเหรียญนอก
- ๒๓๑ ประกาศเลิกภาษีผลมะพร้าว
- ๒๓๒ ประกาศว่าด้วยแจกเบี้ยหวัดเปนทองทศ ทองพิศ ทองพัดดึงศ์ แทนเงิน
- ๒๓๓ ประกาศเฉลิมพระชนม์พรรษา
- ๒๓๔ ประกาศว่าด้วยการเล่าฦๅกันว่าพระพุทธทำนายเกิดขึ้นที่เมืองเขมร
- ๒๓๕ ประกาศว่าด้วยเรื่องมีผู้ทำอัฐปลอม
- ๒๓๖ ประกาศด้วยเรื่องมีผู้ทำเงินปลอม
- ๒๓๗ ประกาศเพิ่มเติมเรื่องอัฐโสฬศอ่อนแลบางไป
- ๒๓๘ ประกาศว่าด้วยเรื่องราคาเข้า
- ๒๓๙ ประกาศพระราชทานโอวาทแก่ผู้ซื้อเข้าขายเข้า
- ๒๔๐ ประกาศให้ผู้ถูกใช้อัฐปลอมนำมาทูลเกล้าฯ ถวาย
- ๒๔๑ ประกาศห้ามมิให้เรียกหม่อมราชวงศ์แลหม่อมหลวงว่าเจ้า
- ๒๔๒ ประกาศไม่ให้จำหน่ายเข้าออกไปนอกประเทศ
- ๒๔๓ ประกาศให้เรียกค่าธรรมเนียมเรือลูกค้าในเมืองที่มีกงสุลสยาม
- ๒๔๔ ประกาศพระราชบัญญัติเรื่องนาตราแดงแลนาคู่โค
- ๒๔๕ ประกาศตั้งกงสุลปรุศเสียน
- ๒๔๖ ประกาศเรื่องทำพระศพเจ้านายแลศพเสนาบดี ที่พระเมรุกลางเมือง
๒๐๗ ประกาศให้ใช้กะแปะอัฐแลโสฬศที่ทำขึ้นใหม่
ณวันจันทร์ เดือน ๑๐ ขึ้นค่ำ ๑ ปีจอจัตวาศก
[๑]มีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ให้ประกาศแก่ท่านทั้งหลายชายหญิงใหญ่น้อย ในพระนครนอกพระนครทั้งปวง ทั่วทั้งพระราชอาณาเขตรให้ทราบทั่วกัน โดยความที่ประกาศชี้แจงมาบัดนี้ แต่ก่อนในบ้านเมืองไทยลาว ฯลฯ เหล่านี้ นานมาแล้วแต่โบราณ ราชกาลใช้หอยอย่างหนึ่งที่เรียกว่าเบี้ย มาแตกปลีกออกไปจากเงินปลีก ซื้อจ่ายขายแลกแก่กันอยู่ดังเช่นรู้เช่นเห็นด้วยกันนั้น ก็โดยประมาณตามพระราชกำหนดกฎหมายโบราณ ว่าให้คิดเบี้ยแปดร้อยต่อเฟื้อง แลคำโบราณก็เล่าว่าครั้งกรุงเก่าราษฎรซื้อขายแลกเปลี่ยนเบี้ยแปดร้อยต่อเฟื้องจริง ครั้นยกบ้านย้ายเมืองมาตั้งกรุงเทพมหานครอยู่ในส่วนนี้หอยเบี้ยสาปสูญมีน้อยไป เงินเฟื้องหนึ่งแตกเปนเบี้ยได้แต่เพียงสองร้อย คนที่เที่ยวไปมาเห็นเบี้ยตกที่ไหนเบี้ยหนึ่งสองเบี้ยก็เก็บ เมื่อผู้มีศรัทธาโปรยเบี้ยให้เปนทานก็กลุ้มรุมแย่งชิงกัน ลูกค้าต่างประเทศเห็นว่ามีผู้ต้องการเบี้ยมาก ก็เก็บหอยอย่างนั้นในทเลใส่กระสอบเข้ามาซื้อขายทุกปี เบี้ยมีมากขึ้นราษฎรซื้อจ่ายแตกเปนปลีกจากเงินเฟื้องมากขึ้นไป เปนสองร้อยยี่สิบห้าต่อเฟื้อง แล้วสองร้อยห้าสิบต่อเฟื้อง แล้วขึ้นไปห้าร้อยต่อเฟื้อง แล้วขึ้นไปแปดร้อยต่อเฟื้อง เมื่อเบี้ยยังแพงอยู่ไม่ถึงแปดร้อยต่อเฟื้องนั้น คนสูงอายุเปนอันมากบ่นว่า บ้านเมืองเราเดี๋ยวนี้ขัดสน เงินเฟื้องแตกเบี้ยไม่ถึงแปดร้อยเหมือนเมื่อครั้งกรุงเก่า ครั้นเมื่อเบี้ยขึ้นถึงแปดร้อยต่อเฟื้องแล้ว ท่านทั้งปวงที่รู้พระราชกำหนดกฎหมายแลกาลโบราณก็ชื่นชมยินดีว่า บัดนี้บ้านเมืองสมบูรณ์ขึ้นจนเบี้ยขึ้นไปถึงแปดร้อยต่อเฟื้อง ต้องตามกฎหมายเหมือนกาลก่อน ครั้นลูกค้านำหอยที่เรียกว่าเบี้ยมาขายมากขึ้นไป ราคาเบี้ยก็ถูกมากไปถึงพันหนึ่งต่อเฟื้อง พันสองร้อยพันสามร้อยต่อเฟื้อง ก็เมื่อเบี้ยถูกมากไปกว่าแปดร้อยต่อเฟื้องก็ดี เบี้ยแพงไม่ถึงแปดร้อยต่อเฟื้องก็ดี การคิดเบี้ยปรับไหมในการพิพากษาความตามพระราชกำหนดกฎหมาย ก็คงคิดเบี้ยแปดร้อยต่อเฟื้องยืนเสมออยู่ไม่ยักย้าย ทั้งในกรุงเทพมหานครแลหัวเมือง ก็เมื่อเวลาเบี้ยพันหนึ่งพันสองร้อย พันสามร้อย ต่อเฟื้องนั้น มีผู้บ่นว่าแต่ก่อนมีเบี้ยห้าเบี้ยสิบเบี้ยก็ซื้อของกินได้อิ่มหนึ่ง บัดนี้มีถึงร้อยเบี้ยซื้อกินก็ไม่ใคร่จะได้เต็มอิ่ม ของแพงไปกว่าจะซื้อกินได้ต้องทนแสบท้องนับอยู่นาน ในบ่อนถั่วย่อยเมื่อเวลาเบี้ยแพงนับเบี้ยแทงถั่วกัน ครั้นเวลาเบี้ยถูกเกียจคร้านที่จะนับ เอาชามตวงแทงถั่วกันบ้าง บอกเบี้ยละร้อยเบี้ยละห้าสิบแทงถั่วกันเปนคแนนบ้าง ก็ในแผ่นดินปัตยุบันนี้ ลูกค้านำของสิ่งอื่นมาค้าขายเสียมากไม่เก็บเบี้ยมา เบี้ยเก่าแตกตกหกหายสาบสูญไป ราคาเบี้ยลดลงมา จนบัดนี้คงแปดร้อยต่อเฟื้อง เหมือนอย่างที่ว่าในกฎหมาย ก็เมื่อราคาเบี้ยได้ดังกฎหมายที่คิดเบี้ยปรับอยู่ดังนี้ นักปราชญ์ที่ถือกฎหมายก็เห็นว่าเปนดีอยู่แล้ว แต่คนบางพวกก็ยังบ่นว่าเอาเงินไปแตกเบี้ยบัดนี้ได้น้อยไป ก็คำบ่นของคนที่ไม่คิดหน้าคิดหลังนั้นไม่เปนประมาณ เมื่อเบี้ยมากก็บ่นว่ามากลำบากที่ต้องนับซื้อขายกันช้าไป มีเบี้ยน้อยก็ซื้อของอิ่มท้องไม่ได้ ครั้นเมื่อเบี้ยแพงขึ้นก็กลับบ่นเล่าว่าเงินปลีกไปแตกเบี้ยได้น้อยไป ราษฎรบ่นทั้งเมื่อเบี้ยมากเบี้ยน้อยเบี้ยถูกเบี้ยแพงดังนี้ จะเอาเปนประมาณก็ไม่ได้ จะว่าให้เปนหลักหลายแล้ว เห็นว่าถ้าเบี้ยเปนแปดร้อยต่อเฟื้อง ต้องตามกฎหมายนั้นเปนดี สืบไปภายหน้าแต่นี้ ถ้าว่าไม่มีลูกค้านอกประเทศนำเบี้ยมาขายมากขึ้นก็เห็นว่าเบี้ยจะแพงขึ้น เฟื้องหนึ่งไม่ได้ถึงแปดร้อย แลคำคนที่บ่นว่าเบี้ยมากต้องนับช้าอยู่ลำบากไปเสียเวลานั้น ก็ควรจะเห็นชอบด้วยบ้างอยู่ บัดนี้ในกรุงเทพมหานครคิดประกอบการกลไฟทำกะแปะดีบุกผสมด้วยทองแดงแลดีบุกดำ ทำให้แขงกว่าดีบุกปรกติ มีพื้นเกลี้ยงเกลาดี แลลวดลายเรียบร้อย หน้าหนึ่งมีตราจักรรูปช้างอยู่กลาง มีอักษรไทยบอกประมาณอยู่ข้างบน เลขแลอักษรอังกฤษบอกประมาณกระหนาบอยู่สองข้าง มีอักษรจีนบอกประมาณอยู่ข้างล่าง เพื่อจะให้รู้ง่ายทั้งสามภาษา ซึ่งเปนจำพวกขายค้าโตใหญ่ได้รู้เสมอกัน หน้าหนึ่งมีตราประจำปัตยุบันนี้ เพื่อจะให้รู้ว่าเปนของเกิดขึ้นในแผ่นดินปัตยุบันนี้ทุกแผ่น กะแปะอย่างนี้ก็หมดจดดีเกลี้ยงเกลากว่ากะแปะทองเหลืองจีน แลกะแปะสังกะสีของญวน แลปี้ทองเหลืองหล่อเช่นใช้ในบ่อนเบี้ยทั้งปวง เห็นเปนแน่ว่าผู้อื่นไม่ทำปลอมได้ ควรจะใช้ทั่วทั้งพระราชอาณาเขตร กะแปะอย่างใหม่นี้มีเปนสองขนาด เพื่อจะให้ใช้แทนเบี้ยร้อยแลเบี้ยห้าสิบ ในเบี้ย ๘๐๐ ต่อเฟื้อง ตามพระราชกำหนดกฎหมาย ราษฎรจะได้ซื้อขายแก่กันง่ายๆ ไม่ช้าต้องเสียเวลานั่งนับเบี้ยอยู่อย่างก่อน กะแปะอย่างใหญ่ซึ่งมีริ้วใช้แทนเบี้ยร้อย ๘ กะแปะเปนเฟื้องให้เรียกว่าอัฐ นับกันว่าอัฐหนึ่งสองอัฐขึ้นไปจนแปดอัฐเปนเฟื้อง กะแปะอย่างน้อยข้างเกลี้ยง ใช้แทนเบี้ยห้าสิบ ๑๖ กะแปะเปนเฟื้อง ให้เรียกว่าโสฬศ นับกันว่าโสฬศหนึ่งสองโสฬศขึ้นไปจนสิบหกโสฬศเปนเฟื้อง กะแปะอัฐแลโสฬศทั้งปวงนี้ จะทำเพิ่มเติมขึ้นให้มากแล้ว จะแจกจ่ายจำหน่ายไป ก็ผู้ใดได้ไปครบ ๘ อัฐแล้ว ๑๖ โสฬศ ตามกำหนดที่นับว่าเปนเฟื้องขึ้นไปจนมากเท่าใดๆ ควรจะคิดเปนเงินชั่งหนึ่งสองชั่งสิบชั่งร้อยชั่งก็ดี ให้รวมกะแปะนั้นมาขึ้นรับเงินไปแต่ชาวพระคลังมหาสมบัติ เหมือนเช่นมาขึ้นเงินด้วยกระดาษหมายใช้แทนเงินนั้นเถิด จะไม่มีขัดขวางอย่างหนึ่งอย่างใด จะได้โดยสดวก ถ้ามีข้อขัดขวางอย่างไรก็ให้มาร้องถวายฎีกาโดยเร็วเถิดจะชำระให้ หอยเบี้ยที่เคยใช้อยู่แต่ก่อน ก็คงใช้กันอยู่ตามเคยเถิดไม่ห้าม เพื่อจะได้ใช้ในปลายในเศษต่ำกว่าห้าสิบเบี้ยลงมา ก็เมื่อราคาเบี้ยเปน ๘๐๐ ต่อเฟื้อง อยู่อย่างเช่นบัดนี้ก็เปนดีอยู่แล้ว เพราะต้องตามกฎหมาย ถ้าสืบต่อไปเบี้ยน้อยลงราคาไม่ถึง ๘๐๐ ต่อเฟื้อง ราคากะแปะอัฐแลโสฬศก็จะคงให้ขึ้นเงินแต่พระคลัง ๘ อัฐเปนเฟื้อง ๑๖ โสฬสเปนเฟื้องยั่งยืนอยู่ ไม่คิดลดไปตามเบี้ยเลย ถ้าหากว่าลูกค้าต่างประเทศจะเก็บเบี้ยมาขายมากมายขึ้นดังก่อน จนราคาเบี้ยถูกมากกว่า ๘๐๐ ต่อเฟื้องขึ้นไป ก็เห็นว่าผู้เก็บหอยเบี้ยมาขายแลผู้ซื้อหอยเบี้ยไว้จับจ่ายใช้สอยให้แพร่หลาย จนราคาเบี้ยถูกเกินกว่าพระราชกำหนดกฎหมายไปนั้นเปนอันขัดขวางแก่ทางที่จะทำกะแปะใช้ เมื่อเปนดังนี้จะต้องตั้งภาษีใหม่ คิดชักภาษีแต่ผู้ที่ขายเบี้ยมากไปกว่า ๘๐๐ ต่อเฟื้อง เปนประโยชน์แก่แผ่นดินบ้าง
อนึ่งดีบุกย่อยในบ้านในเมือง คือเครื่องรูปพรรณต่างๆ ที่ช่างดีบุกทำในเมืองนี้ ฤๅมาแต่เมืองจีนคือถ้ำชาแลอื่นๆ ผู้ซื้อไปใช้สอยชำรุดแล้วทอดทิ้งเสียก็มีอยู่มาก ไม่เปนประโยชน์ ถ้าผู้ใดจะใคร่ได้กะแปะแทนเบี้ยร้อยเบี้ยห้าสิบไปใช้ ฤๅจะใคร่ได้เงินก็ให้รวบรวมดีบุกย่อยนั้นมาขายที่โรงจักรทำกะแปะในพระบรมมหาราชวัง คิดน้ำหนักเจ็ดตำลึงต่อเฟื้อง จะต้องการเงินก็จะได้เงิน จะต้องการกะแปะแทนเบี้ยร้อยเบี้ยห้าสิบ ก็จะได้กะแปะ ๘ อัฐฤๅ ๑๖ โสฬศ แล ๔ อัฐ กับ๘ โสฬศ แลอัฐกับโสฬศเจือจานกันอย่างอื่นพอเฟื้องหนึ่ง เท่าราคาดีบุกหนักเจ็ดตำลึง ให้ได้ไปตามชอบใจ ถ้าแม้นดีบุกที่มาแลกไม่ถึง ๗ ตำลึง ฤๅมีเศษเกิน ๗ ตำลึงไป ไม่ถึง ๑๔ ตำลึงแลชั่งกับตำลึงหนึ่ง แลอื่นๆ ต่อขึ้นไป ราคาดีบุกเศษนั้นก็จะต้องคิดเปนกะแปะ อัฐแลโสฬศกระจัดกระจายให้ดังนี้ คือถ้าเศษเพียงบาทเดียวไม่คิดให้ ถ้าเศษเปนกึ่งตำลึงสามบาทก็ดีจะให้ราคาโสฬศหนึ่ง สี่บาทฤๅห้าบาทจะให้สองโสฬศ หกบาทจะให้สามโสฬศ เจ็ดบาทแปดบาทจะให้สี่โสฬศ เก้าบาทสิบบาทจะให้ห้าโสฬศ สิบเอ็ดบาทหรือสามตำลึงจะให้หกโสฬศ สิบสามบาทจะให้เจ็ดโสฬศ สิบสี่บาทสิบห้าบาทจะให้แปดโสฬศ สิบหกบาทสิบเจ็ดบาทจะให้เก้าโสฬศ สิบแปดบาทสิบเก้าบาทจะให้สิบโสฬศ ยี่สิบบาทจะให้สิบเอ็ดโสฬศ ยี่สิบเอ็ดบาทฤๅห้าตำลึงกึ่งจะให้สิบสองโสฬศ ยี่สิบสามบาทยี่สิบสี่บาทจะให้สิบสามโสฬศ ยี่สิบห้าบาทยี่สิบหกบาทจะให้สิบสี่โสฬศ ยี่สิบเจ็ดบาทจะให้สิบห้าโสฬศ ยี่สิบแปดบาทครบเจ็ดตำลึงแล้วจะให้เฟื้องหนึ่ง โดยอย่างนี้คิดต่อขึ้นไปทุกระยะละเจ็ดตำลึง เทอญ
กะแปะอัฐแลโสฬศจำพวกนี้ เมื่อราษฎรได้รับไปใช้สอยลากไสไปมา ถึงจะสึกร่อยหรอขาดน้ำหนักไปบ้างก็ดี ลายลบเลือนบู้บี้ไปบ้างก็ดี ถ้ายังเห็นปรากฎอยู่พอเชื่อได้ ว่าเปนของที่ทำไปจากในหลวงแท้ มิใช่ของผู้อื่นทำปลอมแล้ว เมื่อจะนำมาเปลี่ยนขอรับเงินแต่คลังมหาสมบัติไป ก็คงจะให้เต็มตามกำหนด ๘ อัฐเฟื้อง ๑๖ โสฬศเฟื้องไม่ลดหย่อน แต่ถ้าผู้ได้กะแปะไปเจาะทำให้ทลุเสีย ฤๅตัดฟันให้ขาดบิ่นเปนท่อนเสียรูปสัณฐานไป จะมาขอขึ้นเงินตามจำนวนนับกะแปะ ที่ขาดที่ตัดเปนท่อนเปนชิ้นแลทลุเสียแล้วนั้น ตามกำหนด ๘ อัฐ ๑๖ โสฬศเปนเฟื้องไม่ได้ ถึงลวดลายตราเดิมยังเหลืออยู่บ้างก็รับไม่ได้ เพราะถ้ายอมรับก็เปนทางที่จะให้มีผู้คิดแกล้งตัดกะแปะหนึ่งให้เปนสองท่อนสามท่อน มาขึ้นเงินให้ได้เงินมากมีกำไรไป จะรับได้แต่กะแปะที่คงรูปเดิมไม่ต้องตัดต้องเจาะ ถึงจะสึกหรอบู้บี้เสียลวดลายก็ไม่ว่า ถ้าลายตรายังปรากฎอยู่พอเชื่อได้ก็จะรับ ก็กะแปะที่เจาะทลุแลถูกตัดฟันขาดวิ่นเสียสัณฐานแล้วนั้น ถ้าจะใคร่ขอแลกกะแปะดีไปให้ได้ ก็จะยอมให้ชั่งกะแปะที่ยับเยินนั้นเปนน้ำหนักเท่าไร ก็จะชั่งกะแปะดีคิดให้ไปแต่กึ่งหนัก คือถ้ากะแปะเสียหนัก ๒ ตำลึง จะชั่งกะแปะดีหนักเพียงตำลึงหนึ่ง ฤๅมีเศษเล็กน้อยพอครบจำนวนแผ่นให้ไป เพราะกะแปะเสียจะต้องหลอมทำใหม่ขาดเนื้อสูญเพลิงไปมาก จะแลกหนักต่อหนักไม่ได้
อนึ่งเมื่อเจ้าพนักงานจ่ายกะแปะไปในการจำเปนต่างๆ ตามราชการ ให้ผู้ซึ่งจะรับกะแปะไปนั้นเลือกสรรตรวจตราเสียต่อหน้าเจ้าพนักงาน ถ้าเห็นว่าร่อยหรอใกล้จะยับเยิน ฤๅมีลายลบเลือนไปไม่ชอบใจ ในเวลาเมื่อแลกรับต่อหน้าเจ้าพนักงานนั้น เมื่อรับไปพ้นที่ต่อหน้าเจ้าพนักงานแล้ว จะกลับมาแลกเปลี่ยนไม่ได้อิก แต่กะแปะที่สึกหรอบู้บี้เสียลวดลายบ้าง ถ้าจะไปเปลี่ยนกะแปะที่ทลุขาดหักแล้ว มาสารภาพว่ากะแปะนั้นได้รับไปจากเจ้าพนักงานจะขอเปลี่ยนใหม่จะยอมให้เปลี่ยนไม่ได้ เพราะเปนที่สงสัยว่าจะรับกะแปะดีไปเปลี่ยนกะแปะเสียมาเปลี่ยนเล่า จะต้องให้ชั่งกะแปะเสียแลกกะแปะดีไป แต่ตามน้ำหนักเพียงกึ่งหนักดังว่าแล้ว
ซึ่งว่ามาทั้งนี้เพื่อจะกันความคิดคนพาลที่จะหักจะเจาะกะแปะหนึ่งให้เปนสองมาพาโลแลกเงิน เพราะการที่กะแปะใช้มาใช้ไปคงจะร่อยหรอห้ามไม่ได้ เมื่อมีผู้มาขอแลกก็ต้องยอมให้แลกนั้นเปนเหตุ ถ้ากะแปะที่สึกหรอเสียลวดลายบ้าง ไม่มีรอยเจาะรอยตัดรอยต่อแล้ว ก็คงจะให้ขึ้นเหมือนกะแปะดี
อนึ่งเมื่อกะแปะอัฐกะแปะโสฬศนี้แพร่หลายไปมากราษฎรซื้อขายแก่กัน เมื่อมีผู้ร้อนรนต้องการถึงจะขายกันแพงขึ้นไป จนถึงอัฐละสองร้อยเบี้ย ๔ อัฐเปนเฟื้อง โสฬศละร้อยเบี้ย ๘ โสฬศเปนเฟื้องก็ดี ฤๅผู้ใดมีกะแปะมากอยากจะขายเสียง่ายๆ อยากได้เงินเร็วๆ จะขายถูกจนถึงอัฐละ ๕๐ เบี้ย ๑๖ อัฐเปนเฟื้อง โสฬศละ ๒๕ เบี้ย ๓๒ โสฬศเปนเฟื้องก็ดี เมื่อการผันแปรไปในราษฎรอย่างไร ผู้ที่จะมาแลกเงินไปจากท้องพระคลัง คงจะได้ ๘ อัฐเฟื้อง ๑๖ โสฬศเฟื้อง ยั่งยืนอยู่อย่างเดียวตามราคาหลวง จะไม่ให้ยักย้ายไปตามราษฎรเลย ให้เชื่อฟังคำประกาศนี้เปนประมาณ
ประกาศมาณวันจันทร์ เดือน ๑๐ ขึ้นค่ำ ๑ ปีจอจัตวาศก ศักราช ๑๒๒๔ เปนปีที่ ๑๒ ฤๅเปนวันที่ ๔๑๒๑ ในรัชกาลปัตยุบันนี้
[๑] ประกาศเรื่องนี้มี ๓ ฉบับ ลงวันเดียวกัน ฉบับหนึ่งพิสดาร ฉบับหนึ่งเปนปานกลาง ฉบับหนึ่งความย่อสันนิษฐานว่า ฉบับพิสดารเห็นจะประกาศในกรุงเทพฯ ฉบับที่ตัดความสั้นลงมาทั้ง ๒ ฉบับ เห็นจะสำหรับส่งไปประกาศตามหัวเมือง นำมาพิมพ์ไว้ในประชุมประกาศนี้แต่ฉบับพิสดารฉบับเดียว ด้วยความอีก ๒ ฉบับนั้นก็อย่างเดียวกัน เปนแต่ตัดให้สั้นลง