๒๐๒ ประกาศวางโทษเรื่องทักอ้วนผอม

ณวันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีจอจัตวาศก

มีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ให้ประกาศการที่มีผู้ปราไสยทักทายเจ้านายผู้มีบรรดาศักดิ์สูง ด้วยการในพระกายทักว่าอ้วนว่าผอมนี้เปนอัปมงคล ไม่ควรตามเหตุที่อ้างเปนหลายประการ คือคำว่าอ้วน ว่าผอม เปนคำหยาบคำต่ำคำเลวประการหนึ่ง คือเอาการที่ควรจะวิตกเปนประมาณว่าดีว่าชั่วในสัตว์เดียรฉานมาพูดมาเจรจาในมนุษย์มีศักดิ์สูงไม่มีประโยชน์ประการหนึ่ง คือทำให้กำเริบมิ่งขวัญของกายผู้มีสิริ ด้วยการเจรจาขัดแก่การที่โบราณห้ามมาประการหนึ่ง ซึ่งคำว่าอ้วน ว่าผอม เปนคำต่ำคำเลวหยาบนั้นฟังเอาเถิด ปากผู้ดีๆ ที่มีอัธยาศรัยเมื่อเขาจะต้องพูดว่าเจ้านายผอมไปแลอ้วนขึ้น เขาก็ย่อมว่าซูบพระองค์แลทรงพระเจริญหรือพ่วงพีดังนี้โดยมาก เขาไม่ว่าอ้วนว่าผอมมิใช่หรือ อนึ่งเปรียบความให้เห็นตัวอย่างในถ้อยคำ เหมือนเจ้าจอมมารดาศรี ในพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์เจ้าบุบผา คือเจ้าจอมที่เปนบุตรเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช แลเปนน้องเจ้าพระยาอภัยภูธร แลพระยาอนุชิตชาญไชยขุนทอง แลเปนอาว์เจ้าพระยายมราช พระยาเสนาภูเบศรบัดนี้ แลพระยาอนุชิตชาญไชยหนูแลอื่นๆ นั้น เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เจ้าจอมมารดาศรีเปนเจ้าจอมมารดาผู้ใหญ่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ว่าราชการฝ่ายในต่างโดยมาก ท่านทั้งหลายทั้งปวงตลอดลงไปจนไพร่เลวยำเยงเกรงกลัวนับถือมาก เมื่อจะเรียกออกชื่อเดิมว่าคุณศรี เจ้าคุณศรีก็กระดากปาก จึงอาศรัยเอาสัณฐานกายเจ้าจอมมารดานั้น ซึ่งแปลกกันกับสัณฐานกายคุณนุ่นพระบรมญาติ ที่เรียกว่าเจ้าคุณวังหลวง ผู้ว่าราชการในพระราชวังโดยมากเหมือนกันนั้นเปนที่อ้าง แล้วจึงเรียกนามแปรไปว่าเจ้าคุณพี ชื่อนี้ก็ยังแจ้งอยู่แก่เหล่าหลานแลญาติสืบมา คิดดูเถิด ถ้าคำว่าอ้วนว่าผอมเปนคำดีเขาจะยักว่าเจ้าคุณพีทำไม เขาจะมิเรียกว่าเจ้าคุณอ้วนหรือ อนึ่งเมื่อเรียกข้างเจ้าจอมมารดาศรีว่าเจ้าคุณพีแล้ว คุณนุ่นพระบรมญาติผู้ว่าราชการตั้งเปนคู่กัน ก็ควรจะเรียกว่าเจ้าคุณผอม เพราะคำว่าผอมเปนคำต่ำ จึงเรียกว่าเจ้าคุณวังหลวง โดยเทียบกับคุณคุ้มผู้น้องท่านนั้น ซึ่งเปนผู้ใหญ่ว่าราชการในพระบวรราชวัง มีผู้เรียกว่าเจ้าคุณวังหน้า แลคุณกระต่ายน้องท่านซึ่งในเวลานั้นได้เปนผู้ใหญ่ในข้าหลวงในเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพยวดี ซึ่งเสด็จอยู่ที่ปรัดซ้ายแลพระที่นั่งวิมานรัตยา ซึ่งนับเนื่องในหมู่พระมหาปราสาทนั้น เจ้าคุณปราสาท ก็ซึ่งข้อที่ว่าเอาการที่ควรจะวิตกเปนประมาณ ว่าดีชั่วว่าในสัตว์เดียรฉานมาพูดมาเจรจาว่าในมนุษย์มีศักดิ์สูงไม่มีประโยชน์นั้น คือว่าให้เห็นด้วยกันว่า การที่จะวิตกแล้วติว่าผอมเปนชั่ว สรรเสริญว่าอ้วนเปนดีเปนประมาณของประโยชน์นั้น ต้องการในสัตว์เดียรฉานสองจำพวก คือสัตว์ที่เปนพาหนะจำพวกหนึ่ง สัตว์ที่จะต้องการเนื้อที่เรียกว่ามังสะเปนอาหารจำพวกหนึ่ง เมื่อผู้ใดจะซื้อหาช้างม้าโคกระบืออูฐลา ซึ่งเปนพาหนะจะใช้แรง ก็ย่อมสรรเสริญสัตว์ที่อ้วนติสัตว์ที่ผอม สัตว์ที่อ้วนมีราคามากสัตว์ที่ผอมมีราคาน้อย ถึงสัตว์ที่เปนอาหาร คือสุกรแพะแกะแลสมันกวางทรายตลอดลงไปจนเป็ดไก่แลปลา บรรดาที่จะใช้เนื้อเปนอาหารผู้ซื้อหาต้องการก็เลือกหาสัตว์ที่อ้วนเพราะมีเนื้อมาก สัตว์ที่อ้วนมีราคามาก เพราะสัตว์ที่ผอมเปนสัตว์สงสัยว่าเปนสัตว์มีโรค ก็ความอ้วนความผอมนั้น เมื่อมาพิจารณาในมนุษย์ แม้นในคนที่จะใช้แรงเปนทาสกรรมกร หรือทหารแลคนมวยคนปล้ำต่างๆ มัชฌิมบุรุษคือคนสัณฐานกลางนั้นเปนดี คนอ้วนนักเมื่อเปนทาสวิ่งตามนายไม่ไหว ใช้ปีนป่ายขึ้นร่างร้านหลังคาไม่ได้มักหอบฮ่อเฮ่ออยู่ ถ้าเปนมวยเปนปล้ำถูกเตะถูกชกหกล้มลงลุกไม่ขึ้น ถ้าผอมนักใช้แบกใช้หามของใหญ่ของหนักไม่ใคร่ได้โรเรนัก ถ้าเปนมวยเปนปล้ำแรงน้อยไปชกเขาไม่แตกเตะเขาไม่ล้ม แต่ผู้สรรเสริญคนอ้วนติคนผอมนั้น ดูเหมือนที่จะว่าคนอ้วนอายุยืนคนผอมอายุสั้น การนั้นก็ไม่จริงไม่เปนประมาณ จีนชื่นที่เปนพระยาพิศาลศุภผลที่เปนผู้อ้วนอย่างเอก อายุอ่อนกว่ามหาคงที่เปนพระราชกระวี ซึ่งเปนผู้ผอมอย่างเอกนั้น ถึง๓๒ ปี ก็เหตุไรเล่าพระยาพิศาลศุภผลจึงตายไปก่อนพระราชกระวี ข้อซึ่งว่าทำให้กำเริบมิ่งขวัญของกายผู้มีสิริด้วยการเจรจาขัดแก่การที่โบราณห้ามมานั้น ให้สืบสังเกตเอาเถิด คนที่เลี้ยงเด็กต่อหน้าเด็กนั้นเขาไม่ว่าอ้วนว่าหนักว่าน่ารักน่าชม เพราะว่าดีมักกลับเปนร้าย แต่ซึ่งว่าซูบว่าผอมไปนั้นบิดามารดาแลญาติพี่เลี้ยงเด็กมักวิตก เพราะเหตุที่ว่าเด็กไม่รู้จักรักษาตัว การที่รักษาตัวเด็กนั้นเปนธุระของผู้ใหญ่ ที่จะได้หาหมอมาประกอบยา แลขู่เขนขืนใจให้เด็กกิน ก็ผู้ใหญ่ทั้งปวงนั้นชีวิตของเขาๆ ก็รัก เมื่อจะสบายไม่สบายตัวเขารู้ก่อนผู้อื่น กายของเขาๆ ก็เห็นอยู่เปนนิตย์ด้วยส่องกระจกอยู่ทุกวัน ถึงที่ไหนจะไม่มีกระจกหาน้ำใส่ขันส่องดูหน้าดูรูปของตัวเปนธรรมดาไม่ต้องการที่ผู้อื่นจะปราไสยล่วงเกินเข้ามา ถ้าทักหลอกว่าศีร์ษะล้านดีกว่า เพราะพูดเปนการเล่น ไม่เอื้อมถึงชีวิตชีวัง ก็การทักว่าอ้วนว่าผอมนั้น เมื่อพิเคราะห์ไปเปนการเอื้อมถึงชีวิตชีวัง แลผู้พูดไว้ตัวสูงเปนเหมือนดังบิดามารดา สบประมาทเจ้าของกายผู้ที่ต้องทักนั้น ให้เปนเหมือนดังเด็กๆ ไม่รู้จักรักษาตัว

ก็ท่านทั้งหลายทั้งปวงบัดนี้ ไม่ใคร่จะสังเกตการเรื่องนี้ทักได้ทักเอา จนถึงในพระเจ้าแผ่นดินที่มีพระเดชานุภาพเปนที่ล้นที่พ้น ก็ยังล่วงเกินกราบทูลทักทายเนืองๆ ไม่ระวังว่าเปนการต่ำสูงเกินเลย การทักทายอย่างนี้ มักมีมาแต่พระสงฆ์แลหมอแลท่านผู้ใหญ่ๆ ข้างในข้างหน้า เพราะฉนั้นบัดนี้จึงมีพระบรมราชโองการ ให้ประกาศห้ามอย่าให้ล่วงเกินทักทายอย่างที่ว่าแล้ว ทั้งพระสงฆ์แลคฤหัสถ์ชาววัดชาววา ถ้าพระสงฆ์จะเข้ามาในพระราชฐานวันใดเวลาใด ให้สังฆการีเชิญพระราชบัญญัตินี้ มาว่ากล่าวเตือนสติให้ระวัง ด้วยพระสงฆ์มักฟั่นๆ เฟือนๆ ใหลๆ เลื่อนๆ ฝ่ายข้าราชการผู้ใหญ่ๆ สูงอายุเล่า ก็ให้กรมวังคอยเตือนห้ามปราม อย่าให้กราบทูลทักทายเกินเลยได้ หมอถวายอยู่งานถวายพระโอสถ มักใกล้ที่จะกราบทูลอย่างนี้ เมื่อเวลาไรเรียกหมอ ให้ชาวที่คอยกำชับให้ระวัง อย่าให้กราบทูลทักทายได้ ถ้าผู้ใดมิฟังขืนกราบทูลทักทายดังนี้ จะให้ลงพระราชอาญาทวนด้วยหวาย ๕๐ ที สังฆการีแลชาวที่แลกรมวังอยู่ในเวรที่เกิดเหตุขึ้นนั้น จะต้องให้รับพระราชอาญาด้วยคนละ ๓๐ ที ๒๐ ที ตามโทษานุโทษที่ได้ตักเตือนบ้าง แลไม่ได้ตักเตือนเลย ตามสถานที่ผู้กำกับนั้น คือถ้าในพระสงฆ์จะลงโทษแก่สังฆการี ถ้าในหมอจะลงโทษแก่ชาวที่ ถ้าในข้าราชการจะลงโทษแก่กรมวัง ถ้าท่านผู้ใดที่ไม่ควรจะรับพระราชอาญาคือพระสงฆ์ก็จะให้มีเบี้ยปรับถ่ายโทษตน ถึงในข้าราชการฝ่ายในเล่า เมื่อท้าวนางหรือท่านอื่นๆ จะพาผู้ใดเข้าเฝ้า ก็ให้คอยตักเตือนห้ามปรามกำชับผู้นั้นก่อน ถ้าเกิดเหตุขึ้นเพราะผู้ที่เข้าเฝ้า จะลงโทษแก่ท่านผู้นำเฝ้านั้นด้วย ตามโทษานุโทษ

ประกาศมาณวันเสาร์ เดือน ๖ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีจอจัตวาศก ศักราช ๑๒๒๔ เปนวันที่ ๔๐๐๗ ในรัชกาลปัตยุบันนี้

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ